Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุษบา อธิษฐาน (2 เมษายน พ.ศ. 2510 - 18 กันยายน พ.ศ. 2544) เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย มีชื่อจริงว่า "ละเอียด ชารีภา" ชื่อเล่น อ้อม เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน พื้นเพเดิมเป็นคนบ้านคลองเดื่อ ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร
บุษบา อธิษฐาน | |
---|---|
ชื่อเกิด | ละเอียด ชารีภา |
รู้จักในชื่อ | อ้อม |
เกิด | 2 เมษายน พ.ศ. 2510 |
ที่เกิด | จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 18 กันยายน พ.ศ. 2544 (34 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
แนวเพลง | ลูกทุ่ง |
อาชีพ | นักร้อง |
ช่วงปี | พ.ศ. 2527 - 2544 |
ค่ายเพลง | เอไอเดีย นพพรซิลเวอร์โกลด์ |
บุษบา อธิษฐาน มีชื่อจริงว่า "ละเอียด ชารีภา" มีชื่อเล่นว่า "อ้อม" เป็นชาวจังหวัดพิจิตรโดยกำเนิด โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบในการร้องเพลงและได้ผ่านการประกวดร้องเพลงหลาย ๆ ที่ จนกระทั่ง "นางฝ้าย สุวิเศษ" ผู้เป็นยายของบุษบาเองได้เห็นแววในการเป็นนักร้องจึงช่วยสนับสนุนเธอในการเข้าวงการลูกทุ่ง บุษบาเดินทางเข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งเมื่ออายุ 17 ปี จากการแนะนำของ ครูเพลง "ชลธี ธารทอง" และ นักร้องดังอย่าง "พนม นพพร" และได้ชื่อในวงการว่า "บุษบา อธิษฐาน" โดยคาดว่ามีที่มาจากวรรณคดีอิเหนาในเรื่องของ "นางบุษบาเสี่ยงเทียน"
เส้นทางชีวิตของเธอนั้นไม่ได้มีรายละเอียดมากมายในหน้าข่าวสารวงการบันเทิง รู้แต่เพียงว่าเธอเป็นบุคคลมาจากจังหวัดพิจิตร ซึ่งนักร้องอย่าง "สันติ ดวงสว่าง" และ "ยอดรัก สลักใจ" ก็เกิดที่จังหวัดนี้ด้วยเช่นกัน
ในปี พ.ศ. 2527 บุษบาได้ออกผลงานอัลบั้มชุดแรกชื่อ "สาวนครชัยศรี" ในสังกัดเอไอเดีย (นพพรโปรโมชั่น) มีเพลงดังในชุดคือ สาวนครชัยศรี , สาวนาหาแฟน เป็นเพลงเปิดตัว ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ฟัง แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในวงการเพลงลูกทุ่ง
ในปี พ.ศ. 2529 ได้ออกอัลบั้ม "ท้ารัก" โดยเพลงอัลบั้มชุดนี้เป็นการร้องเพลงสไตล์สนุกสนานและเป็นชุดที่สร้างชื่อเสียงให้กับบุษบาเป็นอย่างมาก และเป็นตัวตนที่แท้จริงของเธอที่เหมาะกับการร้องเพลงเร็ว จึงทำให้ชื่อของเธอนั้นกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการเพลงลูกทุ่งไทย มีเพลงดังในชุด เช่น ท้ารัก , ชอบคนมีตังค์ , โอ้โฮ..บางกอก , หนีรัก , เห็นแวบเดียว ในปี 2529 นี้เอง บุษบา อธิษฐาน ก็ได้ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรก เช่นคอนเสิร์ตติดแอร์ คอนเสิร์ตการกุศลเพื่อเยาวชนในชุมชนแออัด เป็นต้น ซึ่งเพลง ท้ารัก ถือเป็นหนึ่งในเพลงประจำตัวของเธอ
ในปี พ.ศ. 2530 ได้ออกผลงานถึง 2 ชุดด้วยกัน คือ ชุดที่ 3 ชุด "ยิ้มรับคุณ" มีเพลงดัง เช่น "ยิ้มรับคุณ (ร้องแก้เพลง ยิ้มให้คุณ ของ ยอดรัก) , สนคนหัวล้าน , อย่าลืมป้าลืมลุง , ได้ไม่ดี ดีไม่ได้ , เดี๋ยวเดี๊ยะ
และอัลบั้มชุดที่ 4 "รักกันไม่ได้" มีเพลงดัง เช่น "รักกันไม่ได้ , คนรอบจัด , นักรบนิรนาม , ชอบลืม , เจอแน่" ส่งให้ บุษบา อธิษฐาน ก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องแถวหน้าของวงการเพลงลูกทุ่งไทยได้อีกคนหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2531 ได้ออกผลงานถึง 2 ชุดด้วยกัน คือ อัลบั้มชุดที่ 5 "จีบสาว" มีเพลงดัง เช่น "จีบสาว , เอาอย่างผี , สมควรตัดใจ , เอ๊ะอ๊ะ (เลือกไม่ถูก)" เป็นต้น
และอัลบั้มชุดที่ 6 "จอห์นนี่ที่รัก" มีเพลงดัง เช่น "จอห์นนี่ที่รัก , อยากกอดต้องกล้า , รักจริงหรือหลอก , รักต้องจากใจ , ชักจะรักนิด ๆ , แรกพบ" อัลบั้มชุดนี้ถือเป็นชุดที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของ บุษบา อธิษฐาน โดยเฉพาะเพลง "จอห์นนี่ที่รัก" ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงอย่างสูงสุดของเธอ และถือเป็นเพลงประจำตัวของเธอ ซึ่งหากพูดถึง "บุษบา อธิษฐาน" ทุกคนจะต้องนึกถึงเพลงนี้
และเธอได้ออกอัลบั้มติดต่อกันเรื่อยมาอีกหลายอัลบั้ม รวมทั้งอัลบั้มพิเศษ เช่น อัลบั้มพิเศษ "อนุสรณ์...แด่ พุ่มพวง ดวงจันทร์" ในปี 2535 และมีคอนเสิร์ตเรื่อย ๆ มาหลายครั้ง
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2538 บุษบาได้ออกอัลบั้มชุดที่ 12 "ความช้ำจำแม่น" ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายในค่ายเอไอเดีย ก่อนที่เธอได้ตรวจพบว่าเธอเป็นโรคภูมิแพ้จึงได้พักการทำเพลงไปนานถึง 2 ปี ก่อนจะหวนกลับมาอีกครั้งในสังกัด "นพพร ซิลเวอร์โกลด์" ในปี พ.ศ. 2541 ในสังกัดนี้บุษบาได้ออกอัลบั้ม 2 ชุด คือ "ปัดฝุ่นรุ่นพิเศษ 2" (พ.ศ. 2541) และ "บุษบา...ลีลาใหม่" (พ.ศ. 2543) ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอดในปี พ.ศ. 2544 ในวัยเพียง 34 ปี
หลังจากนั้น แมงปอ ชลธิชา , ยุ้ย ญาติเยอะ และนักร้องท่านอื่น ได้นำเพลงของบุษบามาขับร้องใหม่ในภายหลัง[1][2]
อัลบั้มที่ 1 สาวนครชัยศรี (ตุลาคม พ.ศ. 2528)
อัลบั้มที่ 2 ท้ารัก (สิงหาคม พ.ศ. 2529)
อัลบั้มที่ 3 ยิ้มรับคุณ (เมษายน พ.ศ. 2530)
อัลบั้มที่ 4 รักกันไม่ได้ (กันยายน พ.ศ. 2530)
อัลบั้มที่ 5 จีบสาว (มีนาคม พ.ศ. 2531)
อัลบั้มที่ 6 จอห์นนี่ที่รัก (ธันวาคม พ.ศ. 2531)
อัลบั้มที่ 7 ไม่รักอย่าหลอก (กรกฎาคม พ.ศ. 2532)
อัลบั้มที่ 8 หนุ่มคอนโด (พ.ศ. 2533)
อัลบั้มที่ 9 คนใจร้าย (พ.ศ. 2535)
อัลบั้มพิเศษ "อนุสรณ์...แด่ พุ่มพวง ดวงจันทร์" (กรกฎาคม พ.ศ. 2535)
อัลบั้มที่ 10 แค่ครั้ง (ธันวาคม พ.ศ. 2536)
อัลบั้มที่ 11 หุ่นชวนฝัน (พ.ศ. 2537)
อัลบั้มที่ 12 ความช้ำจำแม่น (พ.ศ. 2538)
ปัดฝุ่น รุ่นพิเศษ 2 (11 เมษายน พ.ศ. 2541)
อัลบั้มที่ 13 บุษบา...ลีลาใหม่ (19 มีนาคม พ.ศ. 2543)
ที่สุด สุดท้าย (1 ธันวาคม พ.ศ. 2544)
เมื่อช่วงสายของวันที่ 18 กันยายน 2544 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "บุษบา อธิษฐาน" นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่ห้อง 506 โรงพยาบาลบางโพ หลังเข้ารักษาโรคมะเร็งในปอดมานานร่วม 1 เดือน ท่ามกลางความเศร้าสลดของญาติพี่น้องและคนในวงการเพลงลูกทุ่ง ด้านนายเสริมเวช ช่วงยรรยง อดีตนักร้องวงรอยัล สไปรท์ส และนักจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่ง กล่าวว่า "อ้อม บุษบา" ล้มป่วยมานานจนญาติต้องนำส่งโรงพยาบาล นายเคน สองแคว นักจัดรายการวิทยุคลื่นลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม.กล่าวว่า เดิม "บุษบา" ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ภายหลังถึงมารู้ว่าถูกโรคมะเร็งรุมเร้าจนต้องเข้านอนโรงพยาบาล
สาเหตุที่คนในวงการส่วนใหญ่ไม่ทราบการล้มป่วยของนักร้องสาว เนื่องจาก "บุษบา" เป็นคนที่เกรงใจคน ไม่ยอมเอ่ยปากบอกใครเพราะไม่อยากให้เป็นห่วง และไม่ต้องการรบกวนใคร ตามปกติ "บุษบา" เป็นคนสนุกสนานร่าเริง พลอยทำให้คนรอบข้างมีความสนุกสนานไปด้วย
บุษบาได้ออกอัลบั้มหลายชุดตั้งแต่ปี 2527 จนเมื่อปี 2539 ได้อำลาวงการไปชั่วคราวเนื่องจากป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ กระทั่งปี 2541 ได้หวนกลับมาสู่วงการอีกครั้งในสังกัดของ "นพพร ซิลเวอร์โกลด์" ของ "พนม นพพร" ออกอัลบั้มชุด "ปัดฝุ่นรุ่นพิเศษ 2" เป็นการรวมเพลงดังในอดีตของคุณบุษบาที่เคยขับร้องจากหลาย ๆ อัลบั้ม นำมาร้องใหม่และทำดนตรีขึ้นมาใหม่ และปี 2543 ออกอัลบั้มชุด "บุษบา..ลีลาใหม่" โดยเปลี่ยนสไตล์การร้องจากเพลงเร็วมาเป็นเพลงช้า ออกเดินสายเล่นคอนเสิร์ตไปทั่วประเทศจนไม่มีเวลาพักผ่อน ภายหลังล้มป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาลจนเสียชีวิต ส่วนศพของ "บุษบา อธิษฐาน" ญาติได้นำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดเซิงหวาย ย่านบางซื่อ กรุงเทพมหานคร โดยได้ทำพิธีสวดอภิธรรมในวันที่ 19 กันยายน 2544 และได้ทำพิธีฌาปนกิจในวันที่ 23 กันยายน 2544 จากนั้นจึงได้นำอัฐิของ "บุษบา อธิษฐาน" ไปไว้ที่บ้านเกิดของเธอ ณ วัดวังแดง ต.เขาทราย อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร [3]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.