Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การใช้เวทมนตร์คาถาในยุโรป เป็นความเชื่อและการฝึกฝนคาถาของมด (บุคคล) ในทวีปยุโรป ที่สามารถเกี่ยวโยงไปถึงสมัยคลาสสิก และมีประวัติศาสตร์สืบเนื่องในช่วงสมัยกลาง จนถึงการล่าแม่มดในช่วงสมัยใหม่ตอนต้น ก่อให้เกิดเทพนิยายและวัฒนธรรมประชานิยมว่าด้วยตัวละคร "แม่มด" ในสมัยใหม่ เช่นเดียวกับแนวคิด "แม่มดสมัยใหม่" ของวิคคา ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการใช้เวทมนตร์คาถาร่วมสมัย
บทความนี้เป็นการผสมผสานเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของแพทย์พื้นบ้าน ความเชื่อพื้นบ้าน ความเชื่อโบราณทางไสยศาสตร์ในลัทธิเพแกนของยุโรป มุมมองของศาสนาคริสต์ที่มีต่อพวกนอกรีต การประกอบเวทมนตร์พิธีกรรมในสมัยกลางและสมัยใหม่ตอนต้น และนิยายพื้นบ้านในคติชนวิทยาและวรรณกรรม
ตัวอย่างการล่าแม่มดในสมัยคลาสสิกได้ถูกบันทึกในเอกสาร หลักฐานเปรียบเทียบจากตะวันออกใกล้ยุคโบราณและพันธสัญญาเดิม ตัวอย่างของกรีซโบราณ ได้แก่ ธีโอริส สตรีชาวเลมนอส ถูกดำเนินคดีในข้อหาใช้เวทมนตร์คาถาและใช้ยาอันตราย[1] เธอถูกประหารชีวิตพร้อมกันกับครอบครัวของเธอ[2]
ในโรมโบราณ เวทมนตร์ดำถูกตราไว้เป็นความผิดร้ายแรงตามกฎหมายสิบสองโต๊ะ ซึ่งกำหนดขึ้นในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล และตามบันทึกของลิวี ได้ระบุถึงกฎเกณฑ์ของดราโคเนียนเป็นครั้งคราว ได้ต่อต้านผู้ที่ทำลายพืชผลและไร่องุ่น หรือผู้ที่แพร่กระจายโรคระบาดในหมู่ฝูงสัตว์และวัวควาย ภายใต้จักรวรรดิโรมัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 มีบทลงโทษด้วยการเผาทั้งเป็นซึ่งตราขึ้นโดยรัฐในการปราบปรามแม่มดพ่อมดซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายด้วยเวทมนตร์คาถา[3] อย่างไรก็ตามในขณะที่กฎหมายปกติได้ประณามการใช้เวทมนตร์คาถาและผลของมนตร์เหล่านั้น กฎหมายกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงจัง เป็นเพียงแค่ข้อความในกระดาษเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นกฎหมายเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากจักรพรรดิบางพระองค์เช่น จักรพรรดิเกลาดิอุส จักรพรรดิวิแต็ลลิอุส และจักรพรรดิแว็สปาซิอานุส
ในสมัยจักรวรรดิมีหลักฐานเด่นชัดจากนักเขียนชาวละตินหลายคนและจากนักประวัติศาสตร์ที่บันทึกว่า กรุงโรมพลุกพล่านไปด้วยพวกไสยเวทและนักพยากรณ์ ทั้งๆที่มีกฎหมายเล็กซ์ คอร์เนเลีย แต่การซื้อขายยาพิษนั้นแทบจะเป็นไปอย่างเปิดเผยและการลอบสังหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ความย้อนแย้งปรากฏขึ้นดังเช่นจักรพรรดิอย่าง จักรพรรดิเอากุสตุส จักรพรรดิติแบริอุส และจักรพรรดิแซ็ปติมิอุส แซเวรุส ซึ่งทรงเนรเทศนักทำนายและพ่อมดหมอผีออกจากจักรวรรดิทั้งหมด และบางส่วนถูกประหารชีวิต แต่พวกโหราจารย์และผู้วิเศษกลับถูกไว้ชีวิตเป็นผู้ติดตามเพื่อความรื่นรมย์ส่วนพระองค์ เป็นที่ปรึกษาด้านงานศิลปะในวาระสำคัญๆ และพบปะบ่อยครั้งในทุกวันและชีวิตประจำวัน การดำเนินการกวาดล้างพ่อมดแม่มดนี้มีความสำคัญ การตั้งกฎหมายและบทลงโทษที่มีความรุนแรงที่สุดคือ การประหารชีวิต จะเห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นผลผลิตของคริสต์ศาสนา แต่มีการกำหนดกฎหมายเหล่านี้มาอย่างยาวนานในสังคมที่นับถือพระเจ้าหลายพระองค์
กฎหมายทางศาสนาเป็นไปในแนวทางที่คล้ายคลึงกัน แต่ละมุนละม่อมกว่า การสังคยานาเอลบีรา (ค.ศ. 306) กฎหมายศาสนจักรที่ 6 ปฏิเวธการให้วีอาติคัม (ศีลมหาสนิทที่ไม่มีการเจิม) แก่ผู้ที่ฆ่ามนุษย์ด้วยกันด้วยวิธี "เปอ มาเลฟีซีอุม" (per maleficium) ซึ่งแปลว่า "ผลจากเจตนาร้ายที่มองเห็นได้" และเพิ่มเหตุผลที่ว่าอาชญากรรมดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้ "หากไม่มีรูปเคารพ" ซึ่งอาจหมายความว่า หากปราศจากความช่วยเหลือจากปีศาจ การบูชาปีศาจ และรูปเคารพ ซึ่งการบูชาสิ่งเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนทำให้อาชญากรรมนี้เกิดขึ้นได้ คล้ายคลึงกับกฎหมายศาสนจักรที่ 24 ในการสังคายนาอังไซรา (ค.ศ. 314) กำหนดให้มีการปลงอาบัติหรือการสำนึกผิด 5 ปี สำหรับผู้ที่ไปปรึกษาหารือกับพวกผู้วิเศษ อันเป็นอาบัติฐานไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติลัทธินอกศาสนา กฎหมายนี้แสดงถึงแนวคิดของศาสนจักรมายาวนานหลายศตวรรษ คล้ายคลึงกับบทลงโทษของสภาสังคายนาตะวันออกทรูโล (ค.ศ. 692) ในขณะที่กฎหมายศาสนจักรของชาวไอริชทางตะวันตกในยุคแรกๆ ตีตราว่าการใช้เวทมนตร์เป็นอาชญากรรมซึ่งจะต้องถูกการตัดขาดจากศาสนาจนกว่าจะมีการปลงอาบัติอย่างเพียงพอ
ประมวลกฎหมายยุคแรกๆ ของชาติยุโรปโดยส่วนใหญ่มีกฎหมายต่อต้านการใช้เวทมนตร์คาถา ตัวอย่างเช่น เอกสารที่เก่าแก่ที่สุดของประมวลกฎหมายแฟรงค์ คือ กฎหมายแซลิก ซึ่งมีการปรับปรุงเป็นรุปแบบลายลักษณ์อักษรและประกาศใช้ภายใต้กษัตริย์โคลวิสที่ 1 ซึ่งสวรรคตในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 511 พระองค์ทรงลงโทษผู้ใช้เวทมนตร์ด้วยการจ่ายค่าปรับโทษต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อพิสูจน์ได้ว่า ผู้ต้องหาใช้คำสาปมรณะหรือทำสัญลักษณ์ปมแม่มด กฎหมายของชาววิซิกอท ตราขึ้นตามกฎหมายโรมัน ซึ่งทำการลงโทษพ่อมดแม่มดที่สังหารผู้คนด้วยเวทมนตร์มรณะ เมื่อมีการพิสูจน์ได้ว่าปฏิบัติตนเป็นแม่มดและใช้เวทมนตร์มานานก็จะถูกบทลงโทษที่รุนแรงด้วยการเป็นทาสตลอดชีวิต
ในแพ็คตัส เลจีส อลามันโนรุม เป็นประมวลกฎหมายในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ของชนอลามันน์เป็นหนึ่งในชนเผ่าเยอมานิก ได้แสดงกฎหมายเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาที่มีบทลงโทษเท่าเทียมกับการวางยาพิษ หากชายใดกล่าวหาหญิงใดว่าใช้เวทมนตร์คาถาหรือวางยาพิษ ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกปลดเปลื้องจากข้อหาก็ต่อเมื่อมีคนสิบสองคนให้สัตย์สาบานต่อความบริสุทธิ์ของเธอ หรือญาติคนใดคนหนึ่งของเธอออกมาปกป้องเธอจากข้อกล่าวหาด้วยการขอตัดสินโดยการประลอง ในกรณีนี้ผู้กล่าวหาจะต้องจ่ายค่าปรับ (แพ็คตัส เลจีส อลามันโนรุม 13)
ในทางศาสนาคริสต์ ความเชื่อเรื่องการใช้เวทมนตร์คาถาถูกมองว่าเป็นความงมงาย การสังคยานาเลปตินเนส ในค.ศ. 744 ได้มีการจัดทำ "รายการสิ่งงมงาย" ซึ่งห้ามการประกอบการบูชายัญแก่นักบุญและการสร้างแนวทางพิธีบัพติศมาที่กำหนดให้ละทิ้งการบูชาปีศาจ โดยเฉพาะการขานชื่อ ทอร์หรือโอดินน์ อย่างไรก็ตรมการปราบปรามการใช้เวทมนตร์คาถายังคงมีตลอดในช่วงยุคกลางตอนต้นจนถึงศตวรรษที่ 10
เมื่อชาร์เลอมาญทรงกำหนดให้ประชาชนในแซกโซนีนับถือศาสนาคริสต์ ในปีค.ศ. 789 พระองค์ทรงประกาศว่า
หากใครก็ตามถูกหลอกลวงโดยปีศาจ หรือเชื่อตามธรรมเนียมของศาสนานอกรีต ชายหรือหญิงเหล่านั้นจะเป็นพ่อมด-แม่มดยามวิกาล และกินมนุษย์ ดังนั้นจะต้องมีการเผาบุคคลนั้นให้ตาย...เขาจะต้องถูกประหารชีวิต[4]
คล้ายคลึงกับประมวลกฎหมายลอมบาร์ด ค.ศ. 643 ที่มีความว่า
อย่าให้ใครถือสิทธิเอาเองในการสังหารหญิงรับใช้ต่างชาติหรือทาสหญิงในฐานะแม่มด เพราะมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และไม่ควรมีความเชื่อเหล่านั้นในจิตใจของคริสเตียน[4]
สิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดของนักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป ซึ่งสอนว่าการใช้เวทมนตร์คาถาไม่มีอยู่จริงและความเชื่อนี้เป็นความเชื่อของพวกนอกรีต[5]
ในปีค.ศ. 814 จักรพรรดิหลุยส์ผู้ศรัทธาขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงใช้มาตรการที่แข็งขันในการจัดการพวกพ่อมดและหมอผี และทรงใช้พระราชอำนาจและอิทธิพลของพระองค์ในการประชุมสภาปารีส ในปีค.ศ. 829 ทรงเรียกร้องให้ศาลฆราวาสดำเนินการตัดสินคดีตามที่เหล่าบิชอปได้วินิจฉัยแล้ว ผลที่ตามมาคือ โทษของการใช้เวทมนตร์คาถาคือความตาย และมีหลักฐานว่าหากองค์กรที่มีการจัดตั้งขึ้นไม่ว่าเป็นของทางสงฆ์หรือทางพลเรือน ก็ดูเหมือนจะพยายามลดอำนาจในการใช้กฎหมายของประชาชนจึงทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่ากลัวอย่างมาก
ในอังกฤษ การรับผิดทางศาสนาในยุคแรกจะเป็นการปราบปรามประเพณีนอกรีต ซึ่งอยู่ภายใต้ประเพณีการเฉลิมฉลองของชาวคริสต์โดยส่วนใหญ่ที่ถือปฏิบัติกันในวันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ พิธีกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการใช้เวทมนตร์คาถา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามคำสอนของนักบุญธีโอดอร์แห่งทาร์ซัส นักบุญอัลด์เฮล์ม และอักเบิร์ตแห่งยอร์ก รวมถึงพระราชาคณะคนอื่นๆ ห้ามไม่ให้ผู้คนสวมหน้ากากสัตว์ที่มีเขา เช่น กวาง หรือ กระทิง ซึ่งนักบุญเซซาเรียสแห่งอาร์ล ได้ประณามว่าเป็น "ประเพณีที่ไม่ดี" "ประเพณีที่ชั่วร้าย" "สิ่งที่น่ารังเกียจที่สุด" ตามกฎหมายของพระเจ้าแอเทลสแตนแห่งอังกฤษ (924 - 940) มีความสอดคล้องกับกฎหมายฝรั่งเศสในยุคแรก ที่ให้มีการลงโทษบุคคลใดๆ ก็ตามที่ร่ายมนตร์ซึ่งส่งผลให้ถึงแก่ความตาย จะต้องโทษที่รุนแรงสูงสุด
ในบรรดากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ชาวพิคท์ พระเจ้าเคนเนธ แม็กอัลปิน (ครองราชย์ค.ศ. 843 ถึง 858) เป็นกฎหมายสำคัญที่บัญญัติถึงเรื่องพ่อมดและแม่มดทั้งหมด และรวมถึงพวกที่เซ่นสรวงเรียกวิญญาณ "และแสวงหาความช่วยเหลือจากเขาเหล่านั้น พวกมันจะต้องถูกเผาทั้งเป็น" แม้จะเห็นได้ชัดว่าบทลงโทษนี้ไม่ใช่บทลงโทษใหม่ แต่ก็เป็นกฎหมายที่มีการตราและใช้มาอย่างยาวนาน ดังนั้นเมื่อเหล่าแม่มดแห่งฟอร์เรส พยายามจะปลงพระชนม์พระเจ้าดัฟแห่งสกอตแลนด์ ในปีค.ศ. 968 โดยใช้สารพิษละลายรูปขี้ผึ้งอย่างช้าๆ เมื่อแผนการถูกเปิดโปงจึงถูกเผาทั้งเป็นตามกฎหมาย
ตามคานอน เอพิสโคปี ซึ่งเขียนขึ้นราวค.ศ. 900 (แม้ว่าบางหลักฐานบอกว่าเขียนขึ้นในปี 314) ได้มีบทกฎหมายตามคำสอนของนักบุญออกัสติน ซึ่งประกาศว่าพ่อมดแม่มดไม่มีอยู่จริง ใครก็ตามที่นับถือในพวกเขาถือว่าเป็นพวกนอกรีต ข้อความสำคัญของคานอน เอพิสโคปี มีดังนี้
เราไม่ควรมองข้ามเหล่าผู้หญิงที่ไร้พันธนาการบางคน ที่ถูกล่อลวงโดยซาตาน ด้วยภาพลวงตาและสิ่งลวงหลอกของปีศาจ ซึ่งนางเชื่อและนับถืออย่างเปิดเผย พวกนางขี่สัตว์ร้ายบางตัวในตอนกลางคืนร่วมกับเทพีของพวกนอกรีตอย่าง ไดอานา พวกผู้หญิงเหล่านั้นยกโขยงอย่างนับไม่ถ้วน และในความเงียบงันของยามค่ำคืน พวกนางบินไปตามแผ่นดินอันกว้างใหญ่ และปฏิบัติตามคำสั่งของเทพีเสมือนนายหญิงของพวกนาง และจะถูกเรียกตัวไปรับใช้ในคืนอื่นๆด้วย แจ่จะดีกว่าถ้าพวกนางสิ้นชีพอย่างลำพังด้วยความนอกรีตของพวกนาง และไม่ล่อลวงให้คนอื่นๆ จำนวนมากมาตกหลุมพรางแห่งความไร้ศรัทธาของพวกนาง สำหรับคนจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกล่อลวงด้วยความเห็นผิดเป็นชอบนี้ และเชื่อว่าสิ่งนี้คือความจริง ความเชื่อเช่นนั้นเป็นการหลงทางจากศรัทธาที่ถูกต้องและหวนกลับไปสู่ความผิดพลาดของพวกนอกรีต เมื่อพวกเขามองว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจอื่นใดที่ทรงพลังนอกเหนือจากพระเจ้าพระองค์เดียว[5]
ในโลกของสมัยโบราณตอนปลายหรือสมัยกลางตอนต้น มันเป็นไปไม่ได้ที่จะนิยามว่าใครเป็นแม่มด (ในทางตรงกันข้ามกลับมีพวกนักสมุนไพรมือสมัครเล่น คนนอกศาสนา หรือนักเทศนา) และไม่มีกฎหมายใดๆ ในช่วงเวลานั้นที่ระบุอย่างชี้ชัด จำเลยจะถูกไต่สวนว่าเป็นผู้กระทำความผิดด้วยวัดจากการกระทำต่างๆ หรือสวมใส่วัตถุต่างๆที่กฎหมายประณามหรือสั่งห้าม โดยจากการปฏิบัติ คำว่า "แม่มด" ยังไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น จะมีเพียงแต่ผู้ฝึกฝนเวทมนตร์ประเภทต่างๆ ทั้งชายและหญิง ซึ่งอาจอยู่ในตำแหน่งใดๆ ทั้งในทางสงฆ์และฆราวาส และการกระทำเหล่านั้นจะถูกเข้ามาตัดสินในเข็มทิศศีลธรรมของกฎหมายทางโลกหรือทางธรรม ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น หรือเรื่องทั่วไป
— พี.จี. แม็กซ์เวลล์-สจวต, ดิเอเมอเกนซ์ออฟคริสเตียนวิช
จุดเริ่มต้นการกล่าวหาแม่มดในสมัยใหม่ตอนต้น มาจากการพิจารณาคดีต่อต้านพวกนอกรีต ซึ่งเป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการประชุมลับ การมีเพศสัมพันธ์แบบรวมหมู่ และการกินทารก ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 แนวคิดเรื่องการทำสัญญามีความสำคัญ โดยมองว่าใครๆ ก็สามารถถูกปีศาจเข้าครอบงำได้ และไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเพราะถูกปีศาจสิงสู่ แต่ในการเป็นแม่มดนั้นต้องทำสัญญากับมาร โดยต้องบูชาปีศาจบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นพิธีกรรมนอกรีตและต้องถูกประณาม แนวคิดเกี่ยวกับการทำสัญญาเชิงพิธีกรรมที่ชัดเจนกับปีศาจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทางแนวคิดการใช้เวทมนตร์คาถา เพราะมันเป็นการอธิบายความแตกต่างระหว่างบุคคลภาพของแม่มดที่แตกต่างจากผู้วิเศษที่คงแก่เรียน หรือพวกนักพยากรณ์ (ซึ่งคนพวกนี้ถูกมองว่าใช้เวทมนตร์อันมีที่มาจากปีศาจ แต่สามารถควบคุมพลังได้โดยการประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษาอย่างเคร่งครัดและมีพิธีกรรมที่ซับซ้อน) การฝึกฝนเรื่องการใช้เวทมนตร์คาถาปรากฏเด่นชัดในศตวรรษที่ 12 ซึ่งเกิดจากการหลั่งไหลของตำราเกี่ยวกับเวทมนตร์และการเคารพบูชาภูตผีปีศาจที่มาจากโลกอิสลาม อันสร้างความตื่นตัวต่อผู้มีอำนาจในศาสนจักรให้เห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากเวทมนตร์ที่ชั่วร้าย[6] ความกังวลที่เกิดขึ้นนี้ได้แพร่ขยายไปยังความกังวลที่มีต่อพวกแม่มดทั่วไป และบาทหลวงต้องการคำอธิบายด้วยว่าเหตุใดสามัญชนที่ไม่มีการศึกษาสามารถแสดงเวทมนตร์ที่ร้ายกาจเทียบเคียงเหมือนกับเหล่าผู้วิเศษที่คงแก่เรียนและมีประสบการณ์สูง[7] แนวคิดที่ว่าแม่มดได้รับพลังเหล่านั้นผ่านการทำสัญญากับปีศาจ เป็นคำอธิบายที่น่าพอใจและสามารถทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเหตุผลที่เหมือนกันกับการกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรรมที่เกี่ยวกับพวกนอกรีต ที่เคยกวาดล้างมาแล้วในอดีต ด้วยพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกนอกรีตต่างๆ (การร่วมประเวณีในเครือญาติ การร่วมเพศสัมพันธ์แบบรวมหมู่ การกินเนื้อมนุษย์ การสังหารทารกเพื่อประกอบพิธีกรรมและการบูชาปีศาจ) เขามองว่าเป็นภัยคุกคามมาจากการใช้เวทมนตร์ที่ชั่วร้าย[8] การทำสัญญาและพิธีเหล่านี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในชื่อ สะบาโตของแม่มด[9]
ในปีค.ศ. 1300 องค์ประกอบต่างๆ ได้ถูกนำมารวมเพื่อใช้ในการล่าแม่มดและในอีกศตวรรษข้างหน้า ความกลัวแม่มดก็ค่อยๆ แพร่กระจายไปทั่วยุโรป ในตอนท้ายของสมัยกลาง (ราวค.ศ. 1450) ความกลัวแม่มดได้กลายเป็นความบ้าคลั่งที่กินเวลานานกว่า 200 ปี เมื่อแนวคิดได้แพร่หลายออกไปที่ว่า เวทมนตร์ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการทำสัญญากับปีศาจ การลงโทษทางกฎหมายในเรื่องการใช้เวทมนตร์คาถาก็เริ่มรุนแรงมากขึ้น การตัดสินว่ากระทำผิดในแต่ละครั้งได้เสริมความเชื่อทางศาสนาด้วยวิธีการต่างๆ (การทรมานและการสอบสวนแบบชี้ชัดว่าเป็นคนผิด) ถูกใช้เพื่อล่อให้รับสารภาพและเป็นการสารภาพยอมรับว่าเป็น "แม่มด" ด้วย การเพิ่มขึ้นความคลั่งกลัวแม่มดเกิดขึ้นพร้อมกับเวทมนตร์เรอเนซองส์ในหมู่นักมนุษยนิยมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (สิ่งนี้ถูกเรียกว่าเวทมนตร์ชั้นสูง และนักลัทธิเพลโตใหม่กับนักลัทธิอริสโตเติลได้ฝึกฝนเวทมนตร์เหล่านี้เพื่อขจัดความเจ็บปวด เป็นการยืนยันว่าเวทมนตร์ระดับนี้มีความฉลาดและมีเมตตา ไม่เหมือนกับเวทมนตร์คาถาของแม่มด) พวกเวทมนตร์เรอเนซองส์นี้ทำให้เกิดความคลั่งกลัวเวทมนตร์คาถาที่ไม่ใช่ของตนมากขึ้น เวทมนตร์คาถาถูกจัดให้เป็นลัทธินอกรีตที่เลวร้ายที่สุด และความฉงนสงสัยเกี่ยวกับเวทมนตร์ในช่วงแรกได้จางหายไปหมดสิ้น
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 14 มีการกล่าวหานักบวชและผู้ที่คงแก่เรียนคนอื่นๆ ซึ่งมีความสามารถในการอ่านเขียนตำราเวทมนตร์ อาทิเช่น สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิฟาซที่ 8 (สวรรคตปี 1303) ทรงถูกกล่าวหาหลังจากสวรรคตไปแล้วว่า ทรงละทิ้งจากศาสนา ก่อการฆาตกรรม และร่วมเสพสังวาสอย่างผิดธรรมชาติ นอกจากนี้ทรงถูกกล่าวหาทรงทำสัญญากับปีศาจ (แต่ก่อนมีการกล่าวหาว่าสมเด็จพระสันตะปาปาทรงก่ออาชญากรรม ถึงกระนั้นข้อหาเรื่องปีศาจถือเป็นเรื่องใหม่) อัศวินเทมพลาร์ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต โดนเรียกว่าเป็น ผู้ปลุกปีศาจ ในปีค.ศ. 1305 - 1314 ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 เรื่องราวต่างๆ ก็เงียบลง แต่ในช่วงปลายศตวรรษการล่าแม่มดก็เพิ่มขึ้นอีก มีการใช้ข้อกล่าวหาแก่สามัญชนคนธรรมดาบ่อยขึ้น ในปีค.ศ. 1398 มหาวิทยาลัยปารีสประกาศว่าสนธิสัญญากับปีศาจจะมีผลโดยชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องลงนามในเอกสารใดๆ เนื่องจากการอัญเชิญปีศาจถือเป็นนัยของสัญญานั้นอยู่แล้ว การไต่สวนนับหมื่นดำเนินไปในยุโรปจากคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า วิลเลียม เชกสเปียร์ เขียนถึงตัวละครที่ไม่โด่งดังอย่าง นางแม่มดทั้งสามในโศกนาฏกรรมอย่างแม็คเบ็ธ ที่เขียนในรัชสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ผู้ทรงเป็นที่รู้จักในฐานะการฟ้องร้องไต่สวนผู้ใช้เวทมนตร์อย่างโหดเหี้ยม[10]
การกล่าวหาแม่มดเกือบจะมีความคล้ายคลึงกับคนนับถือเพแกนในศตวรรษที่ 3 ที่ต่อต้านชาวคริสต์ในยุคแรก
ในบทที่ 6 - 11 ของ ออคเตวีอุส, ซีซิลิอุส ซึ่งเป็นเพแกนต่อต้านศาสนาคริสต์ กล่าวหาว่าชาวคริสต์ปฏิเสธความเชื่อของบรรพบุรุษ และไม่ทำตามขนบการนับถือศาสนาของชาวโรมัน (บทที่ 6) ไม่สามารถทำความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ (บทที่ 7) การปฏิเสธตัวตนของพระเจ้าหลายพระองค์และยอมรับแต่เพียงกากเดนของสังคม เป็นผู้คนที่น่าละอายใจที่สุด การชุมนุมของพวกเขาเป็นสิ่งที่น่ากลัว พวกเขาออกหากินตอนกลางคืนและมีการประชุมลับ (บทที่ 8) พวกเขาปฏิบัติกิจกรรมทางเพศตามอำเภอใจ บูชาหัวของลา บูชาอวัยวะสืบพันธุ์ของนักบวชของพวกเขา และต้อนรับผู้เข้ารีตใหม่ด้วยการให้ไปฆ่าเด็กทารกและกินเนื้อทารกเหล่านั้น (บทที่ 9) พิธีกรรมของพวกเขาถูกเก็บเป็นความลับ และไม่มีศาสนสถาน (บทที่ 10) สุดท้ายพวกเขาก็เป็นนิกายที่ถูกโค่นล้มซึ่งคุกคามความมั่นคงของโลกทั้งใบ (บทที่ 11)[11]
ความคลั่งกลัวแม่มดเกิดอีกครั้งในศตวรรษที่ 15 และในปีค.ศ. 1486 ไฮน์ริช เครเมอร์ สมาชิกคณะดอมินิกัน ได้ตีพิมพ์เรื่อง มัลเลอุส มาเลฟีคารุม ("ค้อนปราบแม่มด") หนังสือนี้ถูกสั่งห้ามเผยแพร่โดยศาสนจักรในปีค.ศ. 1490 และนักวิชาการยังไม่ชัดเจนว่าหนังสือมัลเลอุสมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใดในสมัยนั้น ไม่ถึงร้อยปีหลังงานเขียนนี้สภาไต่สวนของสเปนได้ลดความน่าเชื่อถือของงานเขียนนี้ เพราะมองว่ามีข้อผิดพลาดมากมาย
การประหัตประหารยังคงดำเนินการต่อไปในช่วงการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ในศตวรรษที่ 16 ทั้งโปรแตสแตนต์และคาทอลิกต่างยังคงมีการไต่สวนแม่มดโดยมีการประหารชีวิตในจำนวนที่แตกต่างกันไป "ประมวลกฎหมายแคโรไลน์" เป็นประมวลกฎหมายหลักของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ค.ศ. 1532) มีการกำหนดบทลงโทษอย่างหนักสำหรับการใช้เวทมนตร์คาถา เมื่อสังคมมีการเรียนรู้มากขึ้น (ส่วนใหญ่มาจากการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ในทศวรรษที่ 1440) ทำให้จำนวนหนังสือและใบปลิวเพิ่มขึ้นมากได้เติมเชื้อไฟให้เกิดความกลัวแม่มด
ความคลั่งกลัวแม่มดระหว่างค.ศ. 1560 ถึง 1660 หลังปีค.ศ. 1580 คณะเยซูอิตเข้ามาแทนที่คณะดอมินิกันในการออกล่าแม่มด และจักรพรรดิรูด็อล์ฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (1576-1612) ทรงใช้พระราชอำนาจในการกวาดล้างแม่มดในออสเตรียอย่างยาวนาน เทือกเขาจูราทางเยอรมนีตอนใต้ได้ทุเลาจากความบ้าคลั่งนี้ไปเล็กน้อย บริเวณนั้นมีการกำหนดให้การทรมานมีขอบเขตที่ชัดเจนตามประมวลกฎหมายแคโรไลน์ปีค.ศ. 1532 เท่านั้น และไม่ให้ความสนใจต่อข้อกล่าวหาเยาวชน และกำหนดให้ต้องแจ้งข้อกล่าวหาก่อนที่จะจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ความคลั่งกลัวเกิดขึ้นมากในพื้นที่นั้น
เหล่าแม่ชีแห่งลูดัง (1630) ได้ถูกนำเรื่องมาเขียนเป็นนิยายโดยอัลดัส ฮักซลีย์ และถูกนำมาสร้างภาพยนตร์โดยผู้กำกับเคน รัสเซลล์ ได้บรรยายถึงความคลั่งกลัวแม่มดที่เกิดในยุคนั้น เหล่าแม่ชีได้สมคบคิดกันกล่าวหาบาทหลวงอูร์เบน กรันดีเยร์ว่าใช้เวทมนตร์คาถาใส่พวกเธอ และแสร้งทำเป็นถูกสิงและได้รับความทุกข์ทรมาน พวกเธอแกล้งชักกระตุก และแกล้งพูดไม่รู้เรื่อง อีกทั้งกล่าวหาว่าบาทหลวงกรีนดีเยร์ทำอนาจาร กรันดีเยร์ถูกตัดสินให้เผาทั้งเป็น แต่หลังจากแผนการประสบความสำเร็จ อาการของเหล่าแม่ชีก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ และพวกเธอก็มีความต้องการทางเพศมากขึ้น เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความบ้าคลั่งที่มีอยู่ในการพิจารณาคดีแม่มด
ในปีค.ศ. 1687 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสออกพระราชกฤษฎีกาต่อต้านเวทมนตร์คาถาที่ค่อนข้างรอมชอมมากกว่าในอดีต กฎหมายนี้ไม่สนใจเรื่องแมวดำ หรือจินตนาการอื่นๆ ที่เกิดจากการคลั่งกลัวแม่มด หลังจากปีค.ศ. 1700 จำนวนของแม่มดที่ถูกกล่าวหาและถูกประณามก็ลดลงอย่างรวดเร็ว
ในอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์และไอร์แลนด์ได้มีพระราชบัญญัติเวทมนตร์คาถาสืบต่อเนื่องมา เริ่มตั้งแต่พระราชบัญญัติปีค.ศ. 1542 ของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ กฎหมายเหล่านี้ควบคุมการใช้เวทมนตร์คาถาและมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ใช้เวทมนตร์ หรือหลังจากปีค.ศ. 1700 มีบทลงโทษผู้ที่แสร้งหรือแสดงที่จะฝึกฝนคาถาเหล่านั้นด้วย
ในเวลส์ความกลัวเวทมนตร์เกิดขึ้นราวค.ศ. 1500 มีการปลุกเร้าเตือนการใช้เวทมนตร์ของพวกผู้หญิงว่าเป็นสิ่งต่อต้านรัฐและศาสนจักร คริสตจักรพยายามอย่างยิ่งในการบังคับใช้ข้อบัญญัติศาสนาเกี่ยวกับการแต่งงาน โดยเฉพาะในเวลส์ ซึ่งมีธรรมเนียมดั้งเดิมอนุญาตให้มีคู่เพศสัมพันธ์ในวงกว้าง การแต่งงานจึงเข้ามากดทับธรรมเนียมเดิมนี้ แต่ก็มีเรื่องมิติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการใส่ความเรื่องการใช้เวทมนตร์คาถาแก่ศัตรูของพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ ซึ่งทรงพยายามควบคุมแคว้นเวลส์ให้มากขึ้น[12]
บันทึกของศาลพิจารณาคดีใหญ่ในเวลส์ (Courts of Great Sessions for Wales) ในช่วงปีค.ศ. 1536-1736 แสดงให้เห็นว่าประเพณีของเวลส์มีความสำคัญกว่ากฎหมายอังกฤษ ธรรมเนียมของเวลส์ได้กำหนดกรอบในเรื่องที่เกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาในลักษณะที่เป็นการสร้างความสามัคคีระหว่างบุคคลและชุมชน แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญแก่เวทมนตร์ ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมและสถานะทางวัฒนธรรม แม้ว่าจะมีการพบว่าทำความผิดตามกฎหมาย แต่โทษก็ไม่ถึงกับการประหารชีวิต[13]
เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ได้เป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษในปีค.ศ. 1603 พระองค์ทรงนำเรื่องการใช้เวทมนตร์คาถามาสู่กรอบการอธิบายในอังกฤษและสกอตแลนด์ พระองค์ทรงกำหนดพระราชบัญญัติเวทมนตร์คาถา ค.ศ. 1604 ที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชนที่มีต่อเรื่องการรักร่วมเพศชายในหมู่ชนชั้นสูง และมุ่งเน้นความกลัวไปที่ชุมชนผู้หญิงและการชุมนุมของผู้หญิงจำนวนมาก พระองค์ทรงเกรงว่าสตรีเหล่านั้นจะคุกคามอำนาจทางการเมืองของพระองค์ พระองค์จึงวากรากฐานกฎหมายคาถาและไสยเวท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกอตแลนด์ ประเด็นความเชื่อที่แพร่หลายคือการสมคบคิดของเหล่าแม่มดและวันสะบาโตของแม่มด ด้วยปีศาจจะแย่งสิทธิทางการเมืองของเหล่าผู้หญิง อำนาจเวทมนตร์จะเป็นคุณลักษณะของผู้หญิง เพราะผู้หญิงอ่อนแอและหวั่นไหวต่อปีศาจได้ง่าย[14]
ทัศนคติของยุคเรืองปัญญาหลังค.ศ. 1700 มีการเยาะเย้ยในความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา พระราชบัญญัติเวทมนตร์คาถา ค.ศ. 1735 เป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติอย่างสิ้นเชิง บทลงโทษของการฝึกเวทมนตร์คาถามีการกำหนดขึ้นตามธรรมเนียมซึ่งในเวลานั้นมีการพิจารณาจากบุคคลผู้ทรงอิทธิพลหลายคน ที่มองว่ามันเป็นอาชญากรรมที่เป็นไปไม่ได้ จึงมีบทลงโทษฐานแสร้งทำเป็นใช้เวทมนตร์แทน บุคคลที่อ้างว่ามีอำนาจในการเรียกวิญญาณ หรือทำนายอนาคตได้ หรือร่ายเวทมนตร์ หรืออ้างว่าค้นพบตำแหน่งสินค้าที่ถูกขโมย ต่างถูกลงโทษในฐานะคนเร่ร่อนและนักต้มตุ๋น ซึ่งต้องถูกจับปรับและจำคุก[15]
นักวิจัยสมัยใหม่จำนวนมากได้ตระหนักถึงความสำคัญของพืชที่ทำให้เกิดสารหลอนประสาทในการปฏิบัติเวทมนตร์คาถาของยุโรป เหล่านักมานุษยวิทยาได้แก่ เอ็ดเวิร์ด เบอร์เน็ตต์ ไทเลอร์, เบอร์นาร์ด บาร์เน็ตต์[16] ไมเคิล ฮาร์เนอร์และฆูลิโอ กาโร บาโรฆา[17] และเภสัชกรอย่าง ลุยส์ เลวิน[18] และเอริช เฮสส์[19] นักเขียนในสมัยกลางยังมีความเห็นเกี่ยวกับการใช้พืชหลอนประสาทในการทำครีมแม่มด จากความคิดเห็นของโจเซฟ แกลนวิลล์[20], ฆอร์ดาเนส เด เบร์กาโม, ซูร์ เดอ บูวอส์ เดอ เชอแวงกูรต์, มาร์ติน เดลริโอ, ราฟาเอล ฮอลินเชด, แอนเดรส ลากูนา, โยฮันเนา นีเดอร์, ซูร์ ฌ็อง บูวอส์ เดอ เชอแวงกูรต์, อ็องรี บอเกต์, โจวันนี ปอร์ตา, นิโคลาส เรมี, บาร์โทลอมเมโอ สปีนา, ริชาร์ด โรว์แลนส์, โยฮันน์ วินเซนต์ และเปโดร ซีรูเอโล[21]
ความรู้ส่วนมากเกี่ยวกับสมุนไพรที่ใช้ในเวทมนตร์คาถาของยุโรปมาจากการไต่สวนศาสนาของสเปน และผู้มีอำนาจอื่นๆ ผู้ทีสามารถจดจำลักษณะจิตวิทยาทางธรรมชาติของ "การล่องลอยของแม่มด" เป็นครั้งคราว แต่พวกเขามักคิดว่าเป็นผลกระทบจากครีมแม่มดที่เกี่ยวข้องกับปีศาจหรือลัทธิซาตาน[21]
การต้มสกัดยาหลอนประสาทจากพืชวงศ์มะเขือ (อาทิเช่น เฮนเบน, เบลลาดอนนา, แมนเดรกและต้นลำโพง) มักถูกใช้ในเวทมนตร์คาถาของยุโรป[18][17] พืชเหล่านี้มีแอลคาลอยด์หลอนประสาทจากองค์ประกอบโทรเพน ซึ่งประกอบด้วยไฮออสไซยามีน อะโทรพีนและไฮออสซีน สารตัวสุดท้ายมีความโดดเด่นคือสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ การปรุงยาเหล่านี้ปรากฏตามวรรณกรรมต่างๆ เช่น การต้มสกัด, ขี้ผึ้ง, ครีม, ยาเสน่ห์, น้ำมันและยาทาภายนอก ครีมส่วนใหญ่จะใช้ทาถูบนผิวหนัง โดยเฉพาะจุดบอบบางอย่างใต้วงแขนและหัวหน่าว[22] หน้าผาก[20] เยื่อเมือกของช่องคลอดและทวารหนัก หรือบริเวณข้อเท้าข้อเข่า ครีมพวกนี้จะถูกนำไปใช้กับ "ยานพาหนะ" เพื่อ "ขี่" (วัตถุเช่น ไม้กวาด ส้อมโกยฟาง ตะกร้า หรือหนังสัตว์ที่จะต้องสัมผัสกับผิวหนังอันบอบบาง) การปรุงยาทั้งหมดนี้ทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ให้แม่มดที่มาความสามารถพิเศษในการสื่อสารกับวิญญาณ และเปลี่ยนร่างเป็นสัตว์ (มนุษย์หมาป่า)[23] ทำให้ได้รับความรัก ทำร้ายศัตรู สัมผัสกับความรู้สึกสบายและสุขสมทางเพศ[19] และที่สำคัญคือ "การบินไปสู่การสะบาโตแม่มด"[21]
แม่มดไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นสิ่งที่บิดเบี้ยวของลัทธิเพแกน แต่ผู้คนกล่าวหาในเรื่องความสามารถและความตั้งใจที่จะใช้ผลเหนือธรรมชาติในการสร้างความมุ่งร้าย ความเชื่อนี้มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมอื่นๆ และส่วนหนึ่งได้รับการสืบทอดจากลัทธิเพแกน ความเชื่อที่ว่าแม่มดมีความเมตตาบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ได้มีที่มาจากแหล่งข้อมูลในยุคแรกๆ แต่มุมมองที่มีต่อแม่มดในฐานะผู้มุ่งร้ายเกิดจากความเกลียดชังผู้หญิงที่มีในยุคสมัยนั้นอย่างโจ่งแจ้ง งานเขียนถึงแม่มดยุคแรกๆ มาจากการเทศนาของเอลฟิกแห่งไอน์แชม[24] ที่สร้างภาพแม่มดให้เป็นผู้มุ่งร้าย แนวโน้มที่ยอมรับพวกเขาในฐานะหมอรักษาเพิ่งเริ่มในศตวรรษที่ 19 ด้วยนวนิยาย ลา ซอร์เซรี ของฌูล มิเชเลต์ ที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1862 เป็นครั้งแรกที่กล่าวถึงความเมตตาของแม่มด
เรื่องแม่มดอยู่ในความสนใจของคริสตจักร และแพร่ขยายออกไป มีการปราบปรามเรื่องเวทมนตร์โดยใช้วิธีที่จัดการกับพวกเพแกน ซึ่งมีการดำเนินการด้วยการเสนอทางจักรวาลวิทยาที่มีการสร้างความชอบธรรมและความน่านับถือแก่ปาฏิหาริย์ของพระคริสต์ ในขณะสิ่งที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ถูกมองว่า "เป็นของปีศาจ" ดังกฎต่อไปนี้
เราสอนว่านักบวชทุกคนจะต้องดับไฟโลกของพวกนอกรีต และไม่ยอมให้เกิดวิลวอร์ทุนกา (การบูชาน้ำพุ) และลิชวิกลุนกา (การร่ายมนตร์แห่งความตาย) และฮวาตา (ทำนายโชคชะตา) และกัลดรา (เวทมนตร์) และการกราบสักการะมนุษย์ และสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างการที่มนุษย์ใช้เวทมนตร์ต่างๆ และในฟิตสปอทตัม (การทำสันติภาพ) กับต้นเอล์ม และต้นไม้อื่นๆ และก้อนหิน และเหล่าภูติผีมากมาย
— แหล่งที่มา:กฎหมายศาสนจักรฉบับที่ 16 ตราขึ้นในพระปรมาภิไธยกษัตริย์เอ็ดการ์แห่งอังกฤษ, คริสต์ศตวรรษที่ 10
ในขณะที่คนทั้วไปมีความตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างแม่มด ซึ่งพวกเขามองว่ามีความเต็มใจที่จะทำสิ่งชั่วร้าย คือ การสาป และแตกต่างจากแพทย์พื้นบ้านที่มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ แต่ศาสนจักรพยายามลบล้างความแตกต่างนี้ ในทำนองเดียวกันกับการมองศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์อันถูกรวมเข้าด้วยกันและเรียกว่า "คนนอกศาสนา" หรือ "เพแกน" ดังนั้นเวทมนตร์ก็ถูกเหมารวมว่าเป็นบาปและมีความน่ารังเกียจพอกัน เดโมโนโลกีของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ประณามผู้ใช้เวทมนตร์ทุกคนอย่างชัดเจนว่ามีความผิดเดียวกันในอาชญากรรมต่อพระผู้เป็นเจ้า
ลักษณะของแม่มดในยุโรปไม่ได้มาจากการอธิบายด้วยแหล่งข้อมูลเดียว เรื่องแม่มดมีความคุ้นเคยจากตำนานพื้นบ้านและความเชื่องมงานที่ได้รับความนิยมกลายมาเป็นการผสมผสานจากอิทธิพลมากมาย
ในปลายยุคกลาง ความเชื่อเกี่ยวกับแม่มดที่ถูกผลิตซ้ำได้แก่
- ขี่ไม้กวาดตอนกลางคืน
- ทำสัญญากับมาร
- ละทิ้งศาสนาคริสต์อย่างเป็นทางการ
- การพบปะอย่างลับๆ ในตอนกลางคืน
- การดูหมิ่นพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์และไม้กางเขน
- ออร์กี
- การฆ่าทารก และ
- การกินมนุษย์
ใน มัลเลอุส มาเลฟีคารุม (ค.ศ. 1486) ระบุถึงสาระสำคัญสี่ประการของการใช้เวทมนตร์คาถา ได้แก่ การละทิ้งความเชื่อของคาทอลิก การอุทิศร่างกายและจิตวิญญาณต่อความอกุศล ถวายเด็กที่ไม่ได้รับการบัพติศมาแก่ปีศาจ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศแบบรวมหมู่ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับปีศาจ นอกจากนี้มีการอ้างว่าแม่มดสามารถแปลงร่างเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ บินไปในท้องฟ้า ดูถูกเหยียดหยามศีลของชาวคริสต์และผสมครีมแม่มด
แม่มดได้รับการกล่าวถึงว่ามีพลังเวทมนตร์ที่หลากหลาย สี่งเหล่านี้แบ่งเป็นสองประเภทกว้างๆ อย่างแรกคือทำให้เกิดความอวมงคลทั้งหลาย อีกอย่างคือด้วยมีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์จริง มีการสร้างความอัศจรรย์อย่า งสิ้นเชิง
ประเภทแรกรวมถึงการทำให้ร่างกายอ่อนแอ เปลี่ยนนมสดให้เปรี้ยว ทำให้คนตาย ทำให้เกิดโรค ทำให้เกิดพายุ ทำให้ทารกเกิดออกมาตายคลอด ทำให้วัวไม่มีน้ำนมออกมา ทำให้ไก่ไม่สามารถวางไข่ได้และทำให้พืชผลเสียหาย ประเภทที่สองคือสร้างความอัศจรรย์ด้วย การบินไปในอากาศ การแปลงร่างเป็นกระต่ายป่า การดูดวิญญาณผ่านหูดไฝ การล่องเรือด้วยแผ่นไม้แผ่นเดียว และมีเรื่องไร้สาระที่สุดอย่าง ล่องทะเลด้วยเปลือกไข่
แม่มดบินด้วยไม้กวาดหรือแกนพันด้าย หรือบางครั้งบินด้วยร่างมนุษย์ที่ไม่เต็มใจ ซึ่งจะถูกเรียกว่า "แฮก-ริดเดิน" เหล่าม้าที่ถูกพบว่ามีเหงื่ออกในคอกตอนเช้าก็จะถูกมองว่าเป็นแฮก-ริดเดิน
คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดอย่าง อีโซเบล โกว์ดี ได้ใช้เวทมนตร์ทำให้ตัวเธอเองเป็นกระต่ายป่า
“ | ข้าจะเป็นกระต่าย, ด้วยความโศกเศร้าและการดูแลเอาใจใส่อย่างดี; |
” |
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อพุ่งเป้าไปที่เด็ก (เช่น เทพนิยาย) แม่มดจะถูกมองว่าเป็นหญิงชราที่ชั่วร้ายผู้มีผิวหนังเหี่ยวย่นและสวมหมวกทรงแหลม สวมชุดสีดำหรือสีม่วง มีหูดที่จมูก และบางครั้งมีเล็บยาวดั่งกรงเล็บ เช่นเดียวกับนางแม่มดทั้งสามในแม็คเบ็ธ มักถูกแสดงภาพว่ากำลังปรุงยาในหม้อขนาดใหญ่ แม่มดทั่วไปเหาะบนอากาศด้วยการขี่ไม้กวาดเหมือนชุดนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือเวอร์ชันแสดงที่ทันสมัยกว่า หรือขี่เครื่องดูดฝุ่นในเรื่องอิทธิฤทธิ์แม่มดตกกระป๋อง (ภาพยนตร์ปี 1993) เหล่านางแม่มดมักจะถูกติดตามด้วยแมวดำ หนึ่งในภาพจำที่ทันสมัยและมีชื่อเสียงมากคือ แม่มดผู้ชั่วร้ายแห่งตะวันตกในเรื่องพ่อมดมหัศจรรย์แห่งเมืองออซของลีแมน แฟรงก์ บอม
แม่มดปรากฏเป็นตัวร้ายในเทพนิยาย นิทานพื้นบ้านและเรื่องเล่าเด็กๆ ในศตวรรษที่ 19 และ 20 เช่นในเรื่อง สโนว์ไวต์ ฮันเซลกับเกรเทล เจ้าหญิงนิทรา และอีกหลายเรื่องที่ประพันธ์โดยพี่น้องตระกูลกริมม์ นิทานพื้นบ้านดังกล่าวมักแสดงให้เห็นว่าแม่มดเป็นหญิงที่น่าเกลียดน่ากลัวอย่างน่าจดจำ หรือ เป็นหญิงสาวที่สวยงามอย่างน่าตกตะลึง
ในนิยายของเฟร์นันโด เดอ โรฆัส เซเลสทินาเป็นโสเภณีชราที่ค้าประเวณีและใช้เวทมนตร์คาถา เพื่อให้ได้รับความสัมพันธ์ทางเพศ
แม่มดอาจถูกมองว่าเป็นฝ่ายดี เช่นในการ์ตูนเรื่องแม่มดสาวซาบรินาของอาร์ชีคอมิกส์ นิยายดิสก์เวิลด์ของเทอร์รี พรัตเช็ตต์ ภาพยนตร์ในปี 1989 แม่มดน้อยกิกิของฮายาโอะ มิยาซากิ หรือรายการโทรทัศน์เรื่อง ชามด์ (1998-2006) ตามมาด้วยภาพยนตร์ สี่แหววพลังแม่มด ได้พรรณนาถึงการใช้เวทมนตร์คาถาอันเป็นที่นิยมจากการปฏิบัติขิงพวกวิกคา โดยแสดงให้เห็นว่าการใช้เวทมนตร์คาถามีพื้นฐานมาจากศาสนาและแม่มดก็มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ทั่วไป
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.