Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรคริดสีดวงทวาร (อังกฤษ: hemorrhoids (อังกฤษอเมริกัน) หรือ haemorrhoids (อังกฤษบริติช) หรือ piles) เป็นโครงสร้างหลอดเลือดในช่องทวารหนัก[7][8] ในสภาพปกติจะมีลักษณะเป็นนวมและช่วยในการกลั้นอุจจาระ[2] เมื่อบวมหรืออักเสบจะมีพยาธิสภาพเป็น หัวริดสีดวง[8] อาการของโรคริดสีดวงทวารขึ้นอยู่กับชนิดที่เป็น[4] แบบภายในมักจะเลือดออกเป็นสีแดงสดโดยไม่เจ็บเมื่อถ่ายอุจจาระ[3][4] ขณะที่แบบภายนอกบ่อยครั้งจะเจ็บและบวมที่บริเวณทวารหนัก และถ้าเลือดออกก็จะสีคล้ำกว่า[4] อาการบ่อยครั้งจะดีขึ้นหลังจาก 2-3 วัน[3] แต่แบบภายนอกอาจจะเหลือติ่งหนัง (acrochordon) แม้หลังจากอาการหายแล้ว[4]
โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Haemorrhoids, piles,[1] hemorrhoidal disease[2] |
แผนภาพแสดงกายวิภาคของโรคริดสีดวงทวารทั้งแบบภายในและภายนอก | |
สาขาวิชา | ศัลยกรรมทั่วไป |
อาการ | แบบภายใน: ไม่เจ็บ เลือดออกจากทวารหนักเป็นสีแดงสด[3] แบบภายนอก: เจ็บและบวมรอบ ๆ ทวารหนัก[4] |
การตั้งต้น | อายุ 45-65 ปี[5] |
ระยะดำเนินโรค | 2-3 วัน[3] |
สาเหตุ | ไม่ชัดเจน[4] |
ปัจจัยเสี่ยง | ท้องผูก ท้องร่วง นั่งถ่ายเป็นเวลานาน ตั้งครรภ์[3] |
วิธีวินิจฉัย | การตรวจร่างกาย การกันเหตุที่รุนแรงกว่าอื่น ๆ ออก[2][3] |
การรักษา | เพิ่มใยอาหาร ดื่มน้ำ ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ พักผ่อน การรัดหนังยาง ผ่าตัด[6][1] |
ความชุก | 50–66% ในช่วงชีวิต[1][3] |
แม้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคริดสีดวงทวาร แต่ก็เชื่อว่าปัจจัยที่เพิ่มแรงดันในท้องหลายอย่างมีส่วนเกี่ยวข้อง[4] รวมทั้งท้องผูก ท้องร่วง และนั่งถ่ายเป็นเวลานาน[3] ริดสีดวงทวารยังสามัญกว่าในช่วงตั้งครรภ์ด้วย[3] การวินิจฉัยจะเริ่มที่การตรวจดูที่บริเวณ[3] หลายคนเรียกอาการทุกอย่างที่เกิดรอบบริเวณทวารหนัก-ไส้ตรงอย่างผิด ๆ ว่า "โรคริดสีดวงทวาร" แต่ก็ควรตัดสาเหตุร้ายแรงของอาการให้แน่นอนก่อน[2] การส่องกล้องแบบ Colonoscopy หรือ sigmoidoscopy บางครั้งสมควรใช้เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและกันเหตุที่ร้ายแรงกว่า[9]
บ่อยครั้ง อาการไม่จำเป็นต้องรักษา[9] การรักษาเริ่มต้นจะเป็นการเพิ่มการรับประทานใยอาหาร, ดื่มน้ำให้มาก ๆ, ทานยา NSAID เพื่อลดเจ็บ, และพักผ่อน[1] ยาที่เป็นครีมอาจใช้ทาที่บริเวณ แต่ประสิทธิผลของยาเช่นนี้ไม่มีหลักฐานที่ดี[9] อาจทำหัตถการเล็กน้อยได้จำนวนหนึ่งหากอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นด้วยการรักษาแบบอนุรักษ์[6] โดยการผ่าตัดจะสงวนไว้สำหรับโรคที่ไม่ดีขึ้น[6]
ประชากรประมาณ 50%-66% จะมีปัญหาริดสีดวงทวารอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต[1][3] ชายและหญิงพบบ่อยพอ ๆ กัน[1] คนอายุ 45-65 ปีจะมีปัญหามากที่สุด[5] เป็นปัญหาสำหรับคนมั่งมีมากกว่า[4] และปกติจะหายได้ดี[3][9]
การกล่าวถึงโรคนี้เป็นครั้งแรกที่รู้มาจากบันทึกในกระดาษปาปิรัสของชาวอิยิปต์ช่วง 1700 ปีก่อน ค.ศ.[10]
ผู้ที่มีโรคริดสีดวงทวาร 40% จะไม่มีอาการที่สำคัญ[4] ริดสีดวงภายในและภายนอกอาจมีอาการต่างกัน แต่หลายคนก็จะมีริดสีดวงสองแบบผสมกัน[8] การมีเลือดออกจนเกิดภาวะเลือดจางมีน้อย[5] และการมีเลือดออกจนอันตรายถึงชีวิตก็ยิ่งน้อยกว่า[11] หลายคนจะรู้สึกอายเมื่อมีปัญหา[5] และบ่อยครั้งจะไปหาแพทย์ก็ต่อเมื่ออาการหนักแล้ว[8]
โรคริดสีดวงทวารแบบภายนอกจะเกิดบริเวณใต้ dentate line (หรือ pectinate line) ถ้าไม่มีลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) ก็อาจสร้างปัญหาน้อยมาก[12] แต่ถ้ามีลิ่มเลือดก็อาจจะเจ็บมาก[8][1] อย่างไรก็ดี ความเจ็บปวดมักจะหายเองภายใน 2-3 วัน[5] แต่อาการบวมอาจใช้เวลา 2-3 อาทิตย์กว่าจะหาย[5] อาจจะมีติ่งหนังเหลืออยู่แม้หายแล้ว[8] ถ้าริดสีดวงใหญ่จนมีปัญหาเรื่องความสะอาด มันอาจจะทำให้ระคายเคืองและคันรอบ ๆ ทวารหนัก[12]
โดยปกติ โรคริดสีดวงทวารภายในจะปรากฏอาการเลือดออกเป็นสีแดงสดที่ปลายลำไส้โดยไม่เจ็บ ไม่ว่าในระหว่างหรือหลังจากถ่ายอุจจาระ[8] ปกติเลือดจะอาบก้อนอุจจาระ ติดกระดาษชำระ หรือเลือดหยดลงในโถส้วม[8] ส่วนก้อนอุจจาระเองมีสีปกติ[8] อาการอื่น ๆ ที่อาจมีคือ มีเมือกไหล มีก้อนรอบปากทวารหนักหากหัวริดสีดวงเลื่อนยืดออกมาข้างนอก คันทวารหนัก และกลั้นอุจจาระไม่อยู่[11][13] โรคริดสีดวงภายในปกติจะเจ็บก็ต่อเมื่อเกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือเนื้อตาย (necrosis)[8]
เนื่องจากไม่มีอาการปวด บางคนอาจไม่สนใจถึงแม้เป็น ถ้าไม่รักษาอาจกลายเป็นริดสีดวงได้สองแบบ คือแบบมีก้อนยื่นออกทวาร (prolapsed hemorrhoids) หรือแบบบีบรัด (strangulated hemorrhoids) ถ้าหูรูดทวารหนักหดตัวและบีบก้อนริดสีดวงจนขาดเลือดไปเลี้ยง ริดสีดวงจะกลายเป็นแบบบีบรัด ยังสามารถจัดโรคริดสีดวงภายในได้เป็น 4 ระยะ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
สาเหตุที่แน่นอนของโรคริดสีดวงที่มีอาการยังไม่ชัดเจน[14] มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้เกิดก้อนริดสีดวงทวาร อาทิ การถ่ายผิดปกติ (ท้องผูก ท้องเสีย) การไม่ออกกำลังกาย ปัจจัยทางอาหาร (รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย) ความดันเพิ่มภายในช่องท้อง (เช่น เบ่งนาน ท้องมาน ก้อนเนื้อในช่องท้อง หรือตั้งครรภ์) กรรมพันธุ์ ไม่มีลิ้นในเส้นเลือดบริเวณทวารหนัก อายุ[1][5] สาเหตุอื่น ๆ ที่เชื่อว่าเพิ่มความเสี่ยงรวมทั้งโรคอ้วน นั่งเป็นเวลานาน ๆ[8] การไอเรื้อรัง และฐานเชิงกรานผิดปกติ (pelvic floor dysfunction)[2] การนั่งยอง ๆ เมื่อถ่ายอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคริดสีดวงที่รุนแรง[15] อย่างไรก็ดี หลักฐานแสดงความสัมพันธ์ของโรคกับปัจจัยเหล่านี้ค่อนข้างไม่ดี[2]
ระหว่างตั้งครรภ์ ความดันจากตัวอ่อนในท้องและการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนจะทำให้เส้นเลือดริดสีดวงทวารมีขนาดใหญ่ขึ้น การคลอดก็จะเพิ่มความดันภายในช่องท้องด้วย[16] การผ่าตัดมักไม่จำเป็นสำหรับหญิงมีครรภ์ เพราะอาการมักหายเองหลังคลอด[1]
ริดสีดวงทวารเป็นนวมป้องกันอันหนึ่งของร่างกาย และจะกลายเป็นโรคก็ต่อเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น[8] ในช่องทวารหนักที่ปกติดีจะมีนวมป้องกันหลัก ๆ อยู่สามจุด[1] ซึ่งปกติอยู่ที่ตำแหน่งซ้ายด้านข้าง (left lateral) ขวาด้านหน้า (right anterior) กับขวาด้านหลัง (right posterior)[5] เป็นนวมป้องกันที่ไม่ใช่หลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำ แต่ประกอบด้วยหลอดเลือดที่เรียกว่าไซนูซอยด์ (sinusoids) เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน กับกล้ามเนื้อเรียบ[2]: 175 ไซนูซอยด์จะไม่มีเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อในผนังเหมือนกับหลอดเลือด[8] กลุ่มเส้นเลือดเหล่านี้เรียกรวมกันว่า hemorrhoidal plexus[2]
ริดสีดวงที่เป็นนวมป้องกันจะสำคัญในการกลั้นอุจจาระ ในช่วงหยุดพักอยู่เฉย ๆ จะช่วยเป็นแรงปิดทวารหนักร้อยละ 15-20 และในขณะถ่ายอุจจาระ จะช่วยปกป้องกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักทั้งภายในภายนอก[8] เมื่อเบ่ง แรงดันภายในช่องท้องก็จะเพิ่ม ซึ่งทำให้นวมริดสีดวงโป่งใหญ่ขึ้นเพื่อปิดทวารหนักให้อยู่[5]
เชื่อกันว่า อาการริดสีดวงทวารเป็นผลจากเมื่อส่วนที่เต็มไปด้วยหลอดเลือดนี้เลื่อนลง หรือเมื่อแรงดันที่หลอดเลือดดำเพิ่มมากเกินไป[11] แรงดันที่หูรูดทวารหนักทั้งภายในภายนอกที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจมีส่วนด้วย[5] โรคริดสีดวงทวารจะมีสองประเภท คือแบบภายในโดยเกิดที่กลุ่มหลอดเลือดของริดสีดวงด้านบนคือ superior hemorrhoidal plexus กับแบบภายนอกโดยเกิดที่กลุ่มหลอดเลือดของริดสีดวงด้านล่างคือ inferior hemorrhoidal plexus[5] แนวรอยต่อระหว่างลำไส้ตรงกับทวารหนักหรือ dentate/pectinate line จะเป็นแนวแบ่งบริเวณทั้งสองนี้[5]
โรคริดสีดวงทวารโดยปกติแล้วจะวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจร่างกาย[6] การตรวจดูปากทวารและบริเวณใกล้เคียงอาจทำให้วินิจฉัยได้ว่า เป็นโรคริดสีดวงภายนอกหรือแบบยื่นย้อยออกมา (prolapsed)[8] การตรวจปลายลำไส้ตรงอาจทำเพื่อแยกว่าเป็นเนื้องอกในลำไส้ตรง ติ่งเนื้อเมือก ต่อมลูกหมากโต หรือฝี หรือไม่[8] โดยอาจต้องใช้ยาระงับประสาทที่เหมาะสมเพื่อระงับความเจ็บ แม้ริดสีดวงภายในส่วนมากจะไม่เจ็บ[1] เพื่อให้แน่ชัดว่าเป็นโรคริดสีดวงภายใน อาจต้องส่องกล้องทวารหนัก (anoscopy) โดยใช้อุปกรณ์เป็นท่อกลวงซึ่งมีไฟติดที่ข้างหนึ่ง[5]
โรคริดสีดวงทวารมีสองประเภทคือ ภายนอกและภายใน โดยต่างกันตรงตำแหน่งเมื่อเทียบกับแนวรอยต่อระหว่างปลายลำไส้กับทวารหนัก (dentate line)[1] คนไข้บางรายอาจมีอาการของทั้งสองประเภทในเวลาเดียวกัน[5] หากรู้สึกเจ็บหรือมีแผลปริที่ปากทวาร โรคริดสีดวงภายนอกจะเป็นไปได้มากกว่าแบบภายใน[5]
โรคริดสีดวงภายในจะเกิดเหนือแนวรอยต่อระหว่างลำไส้ตรงกับทวารหนัก (dentate line)[12] ซึ่งปกคลุมด้วยเนื้อเยื่อ columnar epithelium ที่ไร้ตัวรับความรู้สึกเจ็บปวด[2] ในปี ค.ศ. 1985 ได้มีการจัดโรคเป็นสี่ระยะ โดยขึ้นกับขนาดการยื่นออกมา (prolapse)[2][1]
โรคริดสีดวงทวารภายนอกจะเกิดใต้แนวรอยต่อระหว่างลำไส้ตรงกับทวารหนัก (dentate/pectinate line)[12] และปกคลุมด้วยเยื่อบุรูทวารหนัก (anoderm) ใต้แนวรอยต่อ และด้วยผิวหนังเหนือแนวรอยต่อ โดยทั้งสองส่วนจะสามารถรู้สึกเจ็บและร้อนเย็นได้[2]
ปัญหาบริเวณปลายลำไส้และทวารหนัก รวมทั้งแผลปริที่ปากทวาร แผลชอนทะลุทวารหนัก ฝี มะเร็งลำไส้ตรง เส้นเลือดขอดบริเวณลำไส้ตรง และอาการคันทวารหนัก ต่างก็มีอาการคล้ายคลึงกัน ทำให้อาจระบุผิด ๆ ว่า เป็นโรคริดสีดวงทวาร[1] อาการเลือดออกในลำไส้ตรง อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันจากมะเร็งลำไส้ตรง, จากลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis) รวมทั้งแบบไม่ทราบสาเหตุ (inflammatory bowel disease), จากโรคถุงลำไส้ใหญ่ (diverticular disease), และจากความผิดปกติของเส้นเลือด (angiodysplasia)[6] หากมีภาวะโลหิตจาง ควรพิจารณาความเป็นไปได้ของสาเหตุอื่น ๆ ด้วย[5]
ภาวะอื่น ๆ ที่เกิดก้อนเนื้อบริเวณปากทวารหนักได้แก่ผิวหนังเป็นติ่ง (acrochordon) หูดทวารหนัก ลำไส้ตรงยื่น (rectal prolapse) ติ่งเนื้อเมือก และปุ่มพองออกบริเวณทวารหนัก (enlarged anal papillae)[5] เส้นเลือดขอดบริเวณลำไส้ตรงกับทวารหนัก (Anorectal varices) ซึ่งเกิดจากความดันโลหิตสูงในระบบเส้นเลือด Hepatic portal system อาจมีอาการคล้ายกับโรคริดสีดวงทวาร แต่จริง ๆ เป็นภาวะอีกอย่างหนึ่งต่างหาก[5] และอาการนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของริดสีดวงทวาร[4]
วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวารที่แนะนำรวมทั้ง
การรักษาแนวอนุรักษ์ปกติหมายถึงการทานอาหารที่มีใยอาหารมาก ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อไม่ให้ขาดน้ำ ใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAID) การนั่งแช่น้ำอุ่น และการพักผ่อน[1] การบริโภคใยอาหารเพิ่มมีหลักฐานว่า ทำให้ได้ผลดีขึ้น[19] ซึ่งทำได้โดยเปลี่ยนอาหารหรือทานผลิตภัณฑ์เสริมใยอาหาร[1][19] แต่ประโยชน์ของการนั่งแช่น้ำอุ่นในระหว่างการรักษา ยังขาดหลักฐานอยู่[20] หากใช้วิธีนี้ ควรจำกัดเวลาแต่ละครั้งไม่ให้เกิน 15 นาที[2]: 182
ในการรักษาโรคริดสีดวง อาจใช้ยาใช้เฉพาะที่และยาเหน็บทางทวารหนักได้ แต่ก็ยังมีหลักฐานยืนยันประโยชน์จากยาเหล่านี้น้อยอยู่[1] ยาที่มีสเตอรอยด์ ไม่ควรใช้นานกว่า 14 วัน เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุให้ผิวหนังยิ่งบางลง[1] ยาส่วนใหญ่จะเป็นยาออกฤทธิ์ต่าง ๆ ที่นำมาผสมกัน[2] ซึ่งอาจรวมครีมป้องกันแผลเช่นวาสลีน (ปิโตรเลียมเจลลี่) หรือซิงค์ออกไซด์ รวมยาระงับปวด เช่นไลโดเคน และรวมยาบีบหลอดเลือด เช่นเอพิเนฟรีน[2] บางอย่างอาจมียาหม่องเปรู (Balsam of Peru) ที่บางคนอาจแพ้[21][22] การรักษาอีกวิธีหนึ่งคือ การทานยาในรูปแบบแคปซูลสมุนไพร ซึ่งมีส่วนประกอบที่มาจากสมุนไพรต่างๆ อาทิเช่น เพชรสังฆาต อัคคีทวาร ว่านหางจระเข้ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร[23]
ส่วนเฟลวานอยด์ (Flavonoids) นั้น ยังไม่ปราฏประโยชน์ที่ชัดเจน อีกทั้งยังอาจมีผลข้างเคียงได้ด้วย[2][24] ปกติแล้ว อาการจะหายไปเองเมื่อผ่านช่วงตั้งครรภ์ บ่อยครั้งจึงเลื่อนการรักษาอย่างแอคทีฟไปจนหลังคลอดบุตรแล้ว[25] หลักฐานไม่สนับสนุนการใช้ยาจีน[26]
บางครั้งอาจต้องใช้หัตถการต่าง ๆ ที่กระทำในสถานพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปจะปลอดภัย และนาน ๆ ครั้งจึงเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ภาวะพิษเหตุติดเชื้อรอบขอบทวารหนัก[6]
เทคนิคการผ่าตัดอื่น ๆ อาจใช้ถ้าแนวทางการรักษาแบบอนุรักษ์ธรรมดา ๆ ไม่ได้ผล[6] การผ่าตัดทุกกรณีก็จะสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนอยู่บ้าง รวมทั้งเลือดออก ติดเชื้อ ช่องทวารหนักตีบ (anal stricture) และปัสสาวะคั่งค้าง (urinary retention) เนื่องจากลำไส้ตรงอยู่ใกล้กับเส้นประสาทของกระเพาะปัสสาวะ[1] บางครั้งอาจเสี่ยงกลั้นอุจจาระไม่อยู่บ้าง โดยเฉพาะอุจจาระเหลว[2][28] อัตราที่รายงานอยู่ระหว่างร้อยละ 0-28[29] การปลิ้นออกนอกของเยื่อเมือก (Mucosal ectropion) อาจเกิดหลังจากตัดหัวริดสีดวงทวารออก (hemorrhoidectomy) โดยบ่อยครั้งเกิดร่วมกับภาวะทวารหนักตีบ (anal stenosis)[30] เป็นการปลิ้นออกของเยื่อเมือกออกจากปากทวาร คล้ายกับภาวะไส้ตรงยื่นย้อย (rectal prolapse) แบบอ่อน ๆ[30]
โรคริดสีดวงทวารหนักสามัญแค่ไหนยากที่จะกำหนดได้ เนื่องจากคนไข้จำนวนมากจะไม่ไปพบแพทย์[11][14] แต่เชื่อว่าอย่างน้อยร้อยละ 50 ของประชากรชาวอเมริกัน จะเป็นโรคริดสีดวงทวารในช่วงหนึ่งของชีวิต และประมาณร้อยละ 5 กำลังเป็นอยู่[1] หญิงชายจะเป็นพอ ๆ กัน[1] โดยอัตราการเป็นจะสูงสุดในช่วงอายุระหว่าง 45-65 ปี[5] โรคจะพบบ่อยมากกว่าในคนผิวขาว (Caucasians)[34] และผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงกว่า[2] โดยทั่วไปแล้วจะได้ผลดีในระยะยาว แม้บางคนอาจกลับมาเป็นอีก[11] และมีส่วนน้อยมากที่ลงท้ายต้องผ่าตัด[2]
เท่าที่ทราบ ครั้งแรกที่มีการกล่าวถึงโรคอันสร้างความทรมานนี้ อยู่ในบันทึกกระดาษต้นกกปาปิรุสของชาวอียิปต์ ในปี 1,700 ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งให้คำแนะนำว่า “...สูเจ้าพึงให้สูตรยา ยาวิเศษสำหรับทากันแผล เอาใบอาเคเชียมาบด ตำ แล้วหุงให้สุกด้วยกัน ป้ายที่แถบผ้าลินินละเอียด จากนั้นใส่เข้าไปในทวารหนัก ทำเช่นนี้ ก็จะหายทันที"[10]
ในปี 460 ก่อนคริสต์ศักราช งานเขียนของฮิปพอคราทีส (Hippocratic corpus) ได้บรรยายวิธีรักษาพยาบาลซึ่งคล้ายเคียงกับวิธีสมัยใหม่คือการรัดหนังยางไว้ว่า “หัวริดสีดวงต่าง ๆ นั้น เมื่อรักษา ท่านอาจทำด้วยการเอาเข็มยึดตรึงพวกมันไว้ แล้วผูกพวกมันด้วยเส้นด้ายขนสัตว์ที่หนา ๆ และอย่ากวนหรือชะน้ำหรือทายา จนกว่าจะหลุดออกไปเอง โดยทิ้งหัวหนึ่งเหลือไว้เสมอ และเมื่อผู้ป่วยหายดีขึ้น จัดให้ทานยาสมุนไพรคือเฮลเลอบอร์ (Hellebore เพื่อให้ถ่าย) ”[10] คัมภีร์ไบเบิลก็อาจกล่าวถึงโรคริดสีดวงทวารไว้ด้วย[5]
นักสารานุกรม เซลซัส (25 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ 14) ได้อธิบายหัตถการผูกมัดและตัดออก อีกทั้งชี้แจงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิด[35] นายแพทย์ชาวกรีก กาเล็น สนับสนุนการตัดส่วนเชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงกับหลอดเลือดดำ โดยอ้างว่าจะลดทั้งอาการเจ็บและทั้งการแพร่ของเนื้อตายเน่า[35] คัมภีร์แพทย์สันสกฤต ซุสรูตา แซมฮิตา (Susruta Samhita คริสต์ศักราชที่ 4–5) เขียนในทำนองเดียวกับที่ฮิปโปเครติสได้กล่าวไว้ แต่ต่างโดยเน้นการรักษาแผลให้สะอาด[10]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ศัลยแพทย์ชาวยุโรป เช่น ลานฟรังค์แห่งมิลาน, กีย์ เดอ ชอลิแอค, เฮนรี เดอ มอนเดวิเล, และจอห์นแห่งอาร์ดีน ได้พัฒนาเทคนิควิธีการผ่าตัดให้ก้าวหน้าอย่างมาก[35] ในยุโรปสมัยกลาง โรคนี้เรียกว่า คำสาปของนักบุญ Fiacre เพราะนักบุญที่มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศศวรรษที่ 6 ผู้นี้ป่วยเป็นโรคนี้เมื่อไถดิน[36]
การใช้คำภาษาอังกฤษว่า hemorrhoid เกิดครั้งแรกในปี ค.ศ. 1398 โดยมาจากคำภาษาฝรั่งเศสเก่าว่า "emorroides" ซึ่งก็มาจากคำภาษาละตินว่า "hæmorrhoida"[37] โดยมาจากคำภาษากรีกว่า αἱμορροΐς (haimorrhois) ซึ่งแปลว่า "มักจะหลั่งเลือด" และก็มาจากรากศัพท์ว่า αἷμα (haima) แปลว่า "เลือด"[38] กับคำว่า ῥόος (rhoos) แปลว่า "สายธาร กระแส การไหล"[39] ซึ่งก็มาจากคำว่า ῥέω (rheo) ซึ่งแปลว่า "ไหล หลั่งไหล"[40]
นักกีฬาเบสบอลชื่อเสียงกระฉ่อน จอร์จ เบร็ตต์ ต้องออกจากการแข่งขันชิงชนะเลิศเวิลด์ซีรีส์ประจำปี 1980 กลางคันเนื่องจากเจ็บริดสีดวง หลังจากที่เบร็ตต์ได้รับการผ่าตัดเล็ก เขาก็กลับเข้าเล่นในรอบต่อไป โดยทิ้งคำพูดไว้อย่างคมคายว่า "...ปัญหาของผมก็ทิ้งไว้ข้างหลังทั้งหมดแล้วครับ"[41] เบร็ตต์ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงอีกในฤดูใบไม้ผลิต่อมา[42] นักวิเคราะห์ข่าวการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม เกล็นน์ เบ็ก ได้รับการผ่าตัดริดสีดวง ต่อมาเขาได้เล่าประสบการณ์อันไม่น่ารื่นรมย์ทางวีดิโอยูทูบ ซึ่งมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมากในปี พ.ศ. 2551[43][44] อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จิมมี คาร์เตอร์ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงในปี 2527[45]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.