ในสาขาจิตวิทยา ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง[1][2] (อังกฤษ: Big Five personality traits) หรือ แบบจำลองมีปัจจัย 5 อย่าง (อังกฤษ: five factor model ตัวย่อ FFM) เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับมิติหรือปัจจัยใหญ่ ๆ 5 อย่างที่ใช้อธิบายบุคลิกภาพและสภาพทางจิตใจของมนุษย์[3][4] โดยมีนิยามของปัจจัย 5 อย่างว่า

รหัสย่อเพื่อจำปัจจัย 5 อย่างนี้ คือ OCEAN (แปลว่า มหาสมุทร) และ CANOE (แปลว่า เรือแคนู) ภายใต้ปัจจัยใหญ่ที่เสนอเหล่านี้แต่ละอย่าง ๆ ก็ยังมีปัจจัยหลักจำเพาะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ยกตัวอย่างเช่น ความสนใจต่อสิ่งภายนอกรวมคุณลักษณะที่สัมพันธ์กันคือ ความชอบสังคม (gregariousness) ความมั่นใจในตน (assertiveness) การสรรหาเรื่องตื่นเต้น การให้ความสนิทสนม (warmth) การไม่ชอบอยู่เฉย ๆ และอารมณ์เชิงบวก[5]

ปัจจัย 5 อย่าง

  • ความเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) โดยเป็นพิสัยระหว่างการทำอะไรแปลกใหม่-ความอยากรู้อยากเห็น กับความสม่ำเสมอ-ความระมัดระวัง เป็นการหยั่งรู้คุณค่าของศิลปะ ความเปิดรับอารมณ์ต่าง ๆ การผจญภัย ความคิดที่แปลก ๆ ความอยากรู้อยากเห็น และความเปิดรับประสบการณ์ต่าง ๆ ความเปิดรับเป็นตัวสะท้อนปัญญาที่อยากรู้อยากเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และความชอบใจต่อทั้งสิ่งใหม่ ๆ ต่อทั้งความหลายหลากที่บุคคลนั้นมี นอกจากนั้น ยังกล่าวได้ว่าเป็นระดับที่บุคคลนั้นมีจินตนาการและเป็นตัวของตัวเอง และที่แสดงความชอบใจต่อกิจกรรมที่หลากหลายมากกว่าการทำอะไรเป็นประจำอย่างเคร่งครัด แต่ว่า ถ้ามีระดับความเปิดรับสูง ก็อาจจะมองได้ว่าเป็นคนเอาแน่อะไรไม่ได้ หรือไร้เป้าหมาย และอาจจะพยายามเข้าถึงศักยภาพของตน (self-actualization) โดยหาประสบการณ์แบบสุด ๆ ที่ให้ความคลึ้มใจความตื่นเต้น เช่น กระโดดร่มชูชีพจากเครื่องบิน ไปอยู่ต่างประเทศ เล่นการพนัน และอื่น ๆ ในนัยตรงกันข้าม คนที่เปิดรับน้อยจะพยายามทำชีวิตให้สมบูรณ์โดยความบากบั่นอุตสาหะ มีนิสัยที่ชอบทำชอบปฏิบัติและทำตามข้อมูลที่มีโดยไม่คิดมาก บางครั้งอาจมองได้ว่าเป็นคนหัวรั้นและปิดใจ แต่ก็มีสิ่งที่ตกลงกันไม่ได้ว่า ควรจะตีความหมายและควรจะอธิบายปัจจัยนี้ให้เข้ากับบริบทต่าง ๆ ได้อย่างไร
  • ความพิถีพิถัน (conscientiousness) โดยเป็นพิสัยระหว่างความมีประสิทธิภาพ-ความเป็นคนมีระเบียบ กับความเป็นคนสบาย ๆ-ความเป็นคนไร้กังวล เป็นความโน้มเอียงที่จะเป็นคนเจ้าระเบียบที่เชื่อถือได้ มีวินัยในตน ทำตามหน้าที่ ตั้งเป้าหมายเพื่อความสำเร็จ และชอบใจพฤติกรรมตามแผนมากกว่าจะทำอะไรแบบทันทีทันใด แต่คนที่มีลักษณะเช่นนี้สูงอาจจะมองได้ว่าเป็นคนดื้อและหมกมุ่น และคนที่มีลักษณะเช่นนี้ต่ำแม้จะยืดหยุ่นได้และทำอะไรได้โดยไม่ต้องคิด แต่ก็อาจมองได้ว่าเป็นคนไม่เอาใจใส่และเชื่อถือไม่ได้[6]
  • ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion) โดยเป็นพิสัยระหว่างคนเปิดรับสังคม-คนกระตือรือร้น กับคนชอบอยู่คนเดียว-คนสงวนท่าที เป็นพลัง อารมณ์เชิงบวก surgency ความมั่นใจในตน ความชอบเข้าสังคม และความโน้มเอียงที่จะสืบหาสิ่งเร้าร่วมกับผู้อื่น และชอบพูด คนที่มีลักษณะนี้สูงอาจมองได้ว่าเรียกร้องความสนใจและเผด็จการ ลักษณะนี้ต่ำทำให้มีบุคลิกภาพเป็นคนสงวนท่าที ช่างไตร่ตรอง ซึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นคนหยิ่ง หรือคิดถึงแต่ตน[7]
  • ความยินยอมเห็นใจ (agreeableness) โดยเป็นพิสัยระหว่างความเป็นมิตร-เห็นอกเห็นใจผู้อื่น กับความเป็นคนช่างวิเคราะห์-ไม่ค่อยยุ่งกับผู้อื่น เป็นความโน้มเอียงที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและร่วมมือกับผู้อื่น แทนที่จะระแวงและตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้อื่น เป็นระดับที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อใจผู้อื่นและความต้องการช่วยผู้อื่น และความอารมณ์ดีตามปกติ แต่ลักษณะเช่นนี้ในระดับสูงมองได้ว่า เป็นคนซื่อ ๆ หรือยอมคนอื่น และลักษณะเช่นนี้ในระดับต่ำมองได้ว่าชอบแข่งหรือท้าท้ายผู้อื่น และว่าชอบเถียงหรือเชื่อใจไม่ได้[6]
  • ความไม่เสถียรทางอารมณ์ (neuroticism) โดยเป็นพิสัยระหว่างความอ่อนไหว-ความกังวลใจ กับความไร้กังวล-ความมั่นใจ เป็นความโน้มเอียงที่จะประสบกับอารมณ์เชิงลบได้ง่าย เช่นความโกรธ ความวิตกกังวล ความเศร้าซึม และความรู้สึกอ่อนแอ เป็นคำที่อาจหมายถึงระดับความเสถียรทางอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ชั่ววูบได้ ซึ่งอาจจะเรียกโดยคำตรงกันข้ามคือ ความเสถียรทางอารมณ์ (emotional stability) คนที่อารมณ์เสถียรจะปรากฏเป็นคนนิ่ง ๆ และสม่ำเสมอ แต่ก็อาจมองได้ว่าเป็นคนที่ไม่สร้างกำลังใจหรือไม่ค่อยสนใจ ส่วนคนที่มีอารมณ์ไม่เสถียรอาจจะไวปฏิกิริยาและขี้ตื่น บ่อยครั้งมีพลังแบบอยู่นิ่งไม่ได้ แต่ก็อาจมองได้ว่าเป็นคนอารมณ์ไม่เสถียรและไม่มั่นใจในตน[6]

คนที่อยู่ในช่วงกลาง ๆ ของลักษณะทั้ง 5 อย่าง อาจเป็นคนที่ยืดหยุ่นปรับสภาพได้ เป็นคนกลาง ๆ และมีบุคลิกภาพที่พอดี ๆ แต่ก็อาจจะมองได้ว่า เป็นคนไม่มีหลักการ เข้าใจได้ยาก หรือคิดแต่ทางได้ทางเสีย[6]

มีนักวิจัยหลายพวกที่ตั้งแบบจำลองนี้ได้โดยต่างหาก ๆ[8] เริ่มจากการศึกษาลักษณะบุคลิกภาพที่รู้ แล้ววิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) ค่าวัดลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นร้อย ๆ (จากข้อมูลที่ได้จากคำถามที่ผู้ร่วมการทดลองแจ้งเอง จากการให้คะแนนของคนในสถานะเดียวกัน และจากการวัดที่เป็นกลาง ๆ ในการทดลอง) เพื่อที่จะหาปัจจัยมูลฐานของบุคลิกภาพ[9][10][11][12][13] งานปี 2009 ได้ใช้แบบจำลองนี้เพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและพฤติกรรมเกี่ยวกับการศึกษา[14]

นักวิชาการของกองทัพอากาศสหรัฐเสนอแบบจำลองเบื้องต้นในปี 1961[12] แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักต่อนักวิชาการในสถาบันวิจัยต่าง ๆ จนกระทั่งถึงคริสต์ทศวรรษ 1980 ในปี 1990 ศ.ดิกแมนเสนอแบบจำลองบุคลิกภาพมีปัจจัย 5 อย่าง ซึ่งต่อมาในปี 1993 ศ.ลิวอิส โกลด์เบอร์กได้ใช้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดในแบบจำลอง[15] นักวิจัยพบว่า ปัจจัย 5 อย่างนี้ครอบคลุมบุคลิกภาพอื่น ๆ ที่รู้จักโดยมาก และเชื่อว่า เป็นโครงสร้างพื้นฐานของลักษณะบุคลิกภาพทั้งหมด[16] เป็นโครงสร้างที่สมบูรณ์พอที่จะรวมข้อมูลที่ค้นพบและทฤษฎีเกี่ยวกับจิตวิทยาบุคลิกภาพทั้งหมด

มีกลุ่มนักวิจัยอย่างน้อย 4 กลุ่มที่ทำงานต่างหากจากกันเป็นทศวรรษ ๆ ในประเด็นปัญหานี้ แล้วโดยทั่ว ๆ ไป ก็สรุปลงที่ปัจจัย 5 อย่างเหล่านี้ โดยมีนักวิชาการกองทัพอากาศเป็นกลุ่มแรก ตามมาด้วย ศ.โกลด์เบอร์ก[17][18][19][20][21] ศ.แค็ตเทลล์ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์[11][22][23][24] และ ดร.คอสตาและแม็คเครที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ[25][26][27][28] แม้ว่ากลุ่มนักวิจัยทั้ง 4 นี้จะใช้วิธีต่างกันเพื่อค้นหาลักษณะทั้ง 5 อย่าง และดังนั้นจึงได้ให้ชื่อต่างกันและมีนิยามต่างกัน แต่ว่า ทั้งหมดสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีและลงตัวกันทางการวิเคราะห์ปัจจัย[29][30][31][32][33] แต่ว่า มีงานศึกษาที่แสดงว่า ลักษณะใหญ่ 5 อย่างนี้ ไม่มีกำลังในการพยากรณ์และอธิบายพฤติกรรมในชีวิตจริงได้ เท่ากับลักษณะย่อย ๆ (facet) ของลักษณะใหญ่เหล่านี้[34][35]

ปัจจัยแต่ละอย่างมี aspect ทางบุคลิกภาพที่สัมพันธ์กัน 2 อย่างภายใน ที่อยู่เหนือ facet ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนของแบบจำลองนี้[36] โดยที่ aspect มีชื่อดังต่อไปนี้[36]

  • Neuroticism - Volatility (ความเปลี่ยนแปลงง่าย) และ Withdrawal (การถอนตัวจากสังคม)
  • ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion) : Enthusiasm (ความกระตือรือร้น) และ Assertiveness (ความมั่นใจในตน)
  • ความเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) : Intellect (ปัญญา) และ Openness (ความเปิดรับ)
  • ความพิถีพิถัน (conscientiousness) : Industriousness (ความอุตสาหะ) และ Orderliness (ความมีระเบียบ)
  • ความยินยอมเห็นใจ (agreeableness) : Compassion (ความเห็นใจผู้อื่น) และ Politeness (ความสุภาพ)

ความเปิดรับประสบการณ์

ความเปิดรับประสบการณ์ (อังกฤษ: openness to experience) โดยทั่วไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหยั่งรู้คุณค่าและความยินดีชอบใจในศิลปะ การได้อารมณ์ต่าง ๆ การผจญภัย ไอเดียที่แปลกใหม่ จินตนาการ ความอยากรู้อยากเห็น และประสบการณ์ต่าง ๆ คนที่เปิดรับประสบการณ์จะเป็นคนอยากรู้อยากเห็นแบบมีสติปัญญา เปิดรับอารมณ์ ไวต่อสุนทรียภาพ และยินดีที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ปิด มักจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า เข้าใจความรู้สึกตัวเองมากกว่า และมีโอกาสที่จะมีความเชื่อที่ไม่ทั่วไป

แต่ว่าบางคนแม้จะมีลักษณะนี้โดยทั่วไปในระดับสูง และอาจสนใจเรียนรู้และสำรวจวัฒนธรรมใหม่ ๆ แต่จะไม่สนใจศิลปะหรือกวีนิพนธ์มากนัก งานวิจัยพบว่า ความเปิดรับประสบการณ์สัมพันธ์อย่างมีกำลังกับจริยธรรมแบบเสรีนิยม (liberal ethics) เช่น การสนับสนุนนโยบายยอมรับความต่างทางผิวพรรณ[37]

ลักษณะอีกอย่างของไสตล์การคิดแบบเปิดก็คือ ความสามารถในการคิดเป็นสัญลักษณ์เป็นนามธรรมที่ห่างจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมมาก ผู้ที่มีคะแนนต่ำในเรื่องนี้มักจะสนใจในสิ่งที่ธรรมดา ที่เป็นเรื่องตามประเพณี และชอบสิ่งที่ง่าย ๆ ตรงไปตรงมา เห็นได้ชัด มากกว่าสิ่งที่ซับซ้อน คลุมเครือ หรือละเอียดเห็นได้ยาก และอาจจะเห็นศิลปะและวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องน่าสงสัย หรือเห็นว่าไม่น่าสนใจ คนที่ไม่เปิดจะชอบใจสิ่งที่คุ้นเคยมากกว่าสิ่งใหม่ ๆ และเป็นคนอนุรักษนิยม และไม่ชอบที่จะเปลี่ยน[27]

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันรู้จักใช้คำศัพท์ต่าง ๆ มาก (I have a rich vocabulary)
  • ฉันเป็นคนมีจินตนาการชัดแจ้ง (I have a vivid imagination)
  • ฉันมีไอเดียต่าง ๆ ที่ดีมาก (I have excellent ideas)
  • ฉันเข้าใจอะไรได้ง่าย (I am quick to understand things)
  • ฉันใช้คำศัพท์ที่ยาก (I use difficult words)
  • ฉันเต็มไปด้วยไอเดีย (I am full of ideas)
  • ฉันไม่สนใจเรื่องที่เป็นนามธรรม (I am not interested in abstractions) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่มีจินตนาการที่ดี (I do not have a good imagination) - แบบตรงข้าม
  • ฉันมีปัญหาเข้าใจเรื่องที่เป็นนามธรรม (I have difficulty understanding abstract ideas) - แบบตรงข้าม[29]

ความพิถีพิถัน

ความพิถีพิถัน (conscientiousness) เป็นความโน้มเอียงที่จะมีวินัย ทำตามหน้าที่ และตั้งเป้าหมายความสำเร็จโดยมีเกณฑ์ หรือโดยเทียบกับที่คนอื่นคาดหวัง เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับวิธีที่บุคคลควบคุม ปรับระดับ และจัดการอารมณ์ชั่ววูบหรือความหุนหันพลันแล่น บุคคลที่มีคะแนนในเรื่องนี้สูงบ่งชี้ความชอบใจพฤติกรรมที่วางแผนไว้ไม่ใช่พฤติกรรมที่ทำแบบทันทีทันใด[38] และโดยเฉลี่ยแล้ว ระดับความพิถีพิถันจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวัยต้นผู้ใหญ่ แล้วจะลดลงเมื่อสูงวัยขึ้น[39]

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันเตรียมพร้อมอยู่เสมอ (I am always prepared)
  • ฉันให้ความสนใจกับรายระเอียด (I pay attention to details)
  • ฉันจะทำงานบ้านงานหยุมหยิมให้เสร็จก่อน (I get chores done right away)
  • ฉันชอบความเป็นระเบียบ (I like order)
  • ฉันทำอะไรตามตาราง (I follow a schedule)
  • ฉันชอบทำอะไรเป๊ะ ๆ มาก (I am exacting in my work)
  • ฉันทิ้งของ ๆ ฉันไว้เรี่ยราด (I leave my belongings around) - แบบตรงข้าม
  • ฉันทำอะไรเละเทะ (I make a mess of things) - แบบตรงข้าม
  • ฉันมักจะลืมเก็บของเข้าที่บ่อย ๆ (I often forget to put things back in their proper place) - แบบตรงข้าม
  • ฉันหลบหน้าที่ (I shirk my duties) - แบบตรงข้าม[29]

ความสนใจต่อสิ่งภายนอก

ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion) มีลักษณะเป็นการชอบความหลายหลากของกิจกรรม (เทียบกับการทำอะไรให้ลึกซึ้ง) surgency (คือความโน้มเอียงเพื่อจะได้ความยินดีความพอใจ) ที่มาจากสถานการณ์หรือกิจกรรมภายนอก และการได้พลังและแรงจูงใจจากภายนอก[40] ลักษณะนี้ ชัดเจนตรงที่การทำกิจกรรมพัวพันกับโลกภายนอก คนเช่นนี้ชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และมักจะมองว่าเป็นคนมีพลังมาก มักจะเป็นคนกระตือรือร้น และชอบทำมากกว่าชอบคิด มักจะเป็นคนเด่นในกลุ่ม ชอบพูดคุย และแสดงตัวเอง[41]

ในนัยตรงกันข้าม คนที่สนใจต่อสิ่งภายใน ชอบทำกิจกรรมทางสังคมและมีพลังน้อยกว่าคนที่สนใจต่อสิ่งภายนอก โดยดูจะเป็นคนเงียบ ๆ ไม่เด่น รอบคอบระมัดระวัง และเกี่ยวข้องกับสังคมน้อยกว่า แต่ความไม่เกี่ยวข้องทางสังคมไม่ควรตีความว่า เป็นเพราะความอายหรือเกิดจากความเศร้าซึม เพราะว่า เป็นคนที่สามารถอยู่เป็นอิสระจากสังคมได้ดีกว่าคนสนใจภายนอก คือ คนพวกนี้ต้องการสิ่งเร้าน้อยกว่า และต้องการเวลาเป็นของตัวเองมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่เป็นกันเองหรือต่อต้านสังคม อาจเพียงแต่เป็นคนที่สงวนท่าทีมากกว่าในวงสังคม[42]

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันเป็นคนสนุกในงานปาร์ตี้ (I am the life of the party)
  • ฉันไม่ขัดข้องในการเป็นศูนย์ความสนใจ (I don't mind being the center of attention)
  • ฉันรู้สึกสบายอยู่กับคนอื่น ๆ (I feel comfortable around people)
  • ฉันเป็นคนเริ่มคุย (I start conversations)
  • ฉันคุยกับคนหลายหลากมากมายในงานปาร์ตี้ (I talk to a lot of different people at parties)
  • ฉันไม่คุยมาก (I don't talk a lot) - แบบตรงข้าม
  • ฉันคิดเยอะก่อนที่จะพูดหรือทำ (I think a lot before I speak or act) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่ชอบดึงความสนใจมาที่ตัวเอง (I don't like to draw attention to myself) - แบบตรงข้าม
  • ฉันมักจะเงียบถ้ามีคนแปลกหน้า (I am quiet around strangers) - แบบตรงข้าม[29]
  • ฉันไม่สนใจที่จะเป็นคนคุยในหมู่คน (I have no intention of talking in large crowds.) - แบบตรงข้าม

ความยินยอมเห็นใจ

ความยินยอมเห็นใจ (agreeableness) สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในการให้ความสนใจต่อความกลมกลืนกันทางสังคม บุคคลเช่นนี้ให้คุณค่ากับการเข้ากับผู้อื่นได้ มักจะเป็นคนที่เกรงใจผู้อื่น ใจดี ใจกว้าง เชื่อใจผู้อื่น เชื่อใจได้ ขนขวายช่วยเหลือผู้อื่น และยอมที่จะประนีประนอมประโยชน์และเรื่องที่ตนสนใจเพื่อที่จะเข้ากับผู้อื่น[42] บุคคลเช่นนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ดี

ส่วนบุคคลตรงกันข้ามให้ความสำคัญต่อประโยชน์หรือความสนใจของตนเหนือกว่าการเข้ากับผู้อื่นได้ มักจะไม่สนใจความเป็นสุขของผู้อื่น และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น บางครั้ง ความไม่มั่นใจถึงเจตนาของผู้อื่นทำให้บุคคลนี้ขี้ระแวง ไม่เป็นมิตร และไม่ร่วมมือ[43]

เพราะว่าการยินยอมเห็นใจผู้อื่นเป็นลักษณะทางสังคม งานวิจัยแสดงว่ามันมีสหสัมพันธ์เชิงบวกกับคุณภาพความสัมพันธ์กับคนในทีมของตน และสามารถใช้พยากรณ์ทักษะความเป็นผู้นำบางอย่างได้ (เช่น transformational leadership ที่ผู้นำร่วมมือกับลูกน้องเพื่อกำหนดสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยน สร้างวิสัยทัศน์เป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงโดยเป็นแรงดลใจ แล้วผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปกับลูกน้องผู้ตกลงที่จะร่วมมือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น) ในงานศึกษากับผู้ร่วมการทดลอง 169 คนที่เป็นหัวหน้าในอาชีพต่าง ๆ ผู้ร่วมการทดลองทำข้อทดสอบบุคลิกภาพ แล้วให้ลูกน้องที่ตนคุมโดยตรงสองคนประเมินความเป็นผู้นำ ผู้นำที่ยินยอมเห็นใจผู้อื่นในระดับสูง มีโอกาสสูงกว่าที่ลูกน้องจะมองว่าเป็นผู้นำประเภท transformational มากกว่าประเภท transactional (ผู้เพ่งความสนใจไปที่การควบคุม การจัดองค์การ และผลงานของกลุ่ม เป็นสไตล์ผู้นำที่โปรโหมตให้ลูกน้องทำตามคำของตนโดยใช้ทั้งรางวัลและการลงโทษ) แม้ว่าค่าความสัมพันธ์จะไม่สูง (r=0.32, β=0.28, p<0.01) แต่ก็มีค่าสูงสุดในบรรดาลักษณะใหญ่ทั้ง 5 อย่าง แต่ว่า งานวิจัยเดียวกันแสดงว่าลักษณะไม่สามารถใช้พยากรณ์ประสิทธิภาพของความเป็นผู้นำที่ประเมินโดยหัวหน้างานโดยตรงของผู้นำ[44] นอกจากนั้นแล้ว การยินยอมเห็นใจผู้อื่น มีความสัมพันธ์เชิงลบกับผู้นำทหาร คืองานวิจัยกับหน่วยทหารในเอเชียพบว่า ผู้นำที่ยินยอมเห็นใจผู้อื่นมีโอกาสสูงกว่าที่จะได้คะแนนต่ำสำหรับทักษะความเป็นผู้นำแบบ transformational[45] และดังนั้น งานวิจัยต่อไปอนาคตอาจจะให้องค์กรต่าง ๆ สามารถกำหนดศักยภาพของบุคคล โดยอาศัยลักษณะบุคลิกภาพได้

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันสนใจผู้อื่น (I am interested in people)
  • ฉันเห็นใจความรู้สึกของผู้อื่น (I sympathize with others' feelings)
  • ฉันเป็นคนใจอ่อน (I have a soft heart)
  • ฉันให้เวลากับผู้อื่น (I take time out for others)
  • ฉันรู้สึกถึงอารมณ์ของผู้อื่น (I feel others' emotions)
  • ฉันทำให้คนรู้สึกสบายใจ (I make people feel at ease)
  • ฉันไม่ค่อยสนใจผู้อื่น (I am not really interested in others) - แบบตรงข้าม
  • ฉันพูดดูหมิ่นผู้อื่น (I insult people) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่สนใจปัญหาของผู้อื่น (I am not interested in other people's problems) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่ค่อยรู้สึกเป็นห่วงผู้อื่น (I feel little concern for others) - แบบตรงข้าม

ความไม่เสถียรทางอารมณ์

Neuroticism เป็นความโน้มเอียงที่จะประสบอารมณ์เชิงลบ เช่น ความโกรธ ความวิตกกังวล หรือความซึมเศร้า[46] ซึ่งบางครั้งเรียกว่าความไม่เสถียรทางอารมณ์ (emotional instability) หรืออาจจะเรียกกลับกันว่า ความเสถียรทางอารมณ์ ตามทฤษฎีปี 1967 ของ ศ.จิตวิทยาทรงอิทธิพล ดร. ไอเซ็งก์ neuroticism สัมพันธ์กับความอดทนต่อความเครียดและสิ่งเร้าที่ไม่น่าชอบใจต่ำ[47] คือคนที่ได้คะแนนสูงในลักษณะนี้ มีอารมณ์ไวและเสี่ยงต่อความเครียด มีโอกาสสูงกว่าที่จะเห็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาว่าเป็นภัย และความขัดข้องใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเป็นเรื่องยากถึงให้สิ้นหวัง และปฏิกิริยาเชิงลบของคนเหล่านี้มักจะคงอยู่เป็นเวลายาวนานกว่าปกติ ซึ่งก็หมายความว่ามักจะมีอารมณ์ไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น neuroticism สัมพันธ์กับการมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับการงาน ความมั่นใจว่างานเป็นตัวขัดขวางความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น และความวิตกกังวลเกี่ยวกับงาน[48] นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีคะแนนสูงในเรื่องนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของการนำไฟที่ผิวหนัง (skin conductance) ที่ไวกว่าคนที่มีคะแนนต่ำกว่า[47][49] (ซึ่งเป็นตัวชี้ความไวอารมณ์) ปัญหาในการควบคุมอารมณ์เหล่านี้อาจจะทำให้ไม่สามารถคิด ตัดสินใจ หรือจัดการกับความเครียดได้ดี[ต้องการอ้างอิง] ความไม่พอใจในความสำเร็จในชีวิตของตนเอง อาจจะสัมพันธ์กับคะแนนที่สูงในเรื่องนี้ และอาจเพิ่มโอกาสที่จะเกิดโรคซึมเศร้า นอกจากนั้นแล้ว คนที่มีลักษณะนี้สูงมักจะมีประสบเหตุการณ์เชิงลบในชีวิตมากกว่า เช่น ความไม่สำเร็จทางการงาน การหย่าร้าง และความตาย[46][50] แต่ว่าระดับของลักษณะนี้ก็สามารถเปลี่ยนได้โดยเป็นการตอบสนองต่อประสบการณ์เชิงบวกและลบในชีวิต[46][50]

ส่วนในทางตรงกันข้าม คนที่มีคะแนนต่ำในเรื่องนี้ไม่หัวเสียง่าย ๆ และอารมณ์ไม่ไว เป็นคนมักจะนิ่ง ๆ มีอารมณ์เสถียร และปราศจากความรู้สึกเชิงลบที่ทนอยู่นาน ๆ แต่ว่าการปราศจากอารมณ์เชิงลบไม่ได้หมายความว่าจะประสบกับอารมณ์เชิงบวกมากด้วย[51]

Neuroticism คล้ายกับแต่ไม่ใช่อย่างเดียวกันกับโรคประสาท (neurosis) และนักจิตวิทยาบางพวกชอบเรียก neuroticism ว่า "ความเสถียรทางอารมณ์" (emotional stability) เพื่อจะทำให้แตกต่างจากคำว่า "neurotic" ที่ใช้ในอาชีพ

คำถามที่ใช้บ่งลักษณะ

  • ฉันอารมณ์เสียง่าย (I am easily disturbed)
  • อารมณ์ฉันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา (I change my mood a lot)
  • ฉันหงุดหงิดง่าย (I get irritated easily)
  • ฉันเครียดง่าย (I get stressed out easily)
  • ฉันรำคาญง่าย (I get upset easily)
  • อารมณ์ฉันกลับไปกลับมาบ่อย (I have frequent mood swings)
  • ฉันกังวลกับเรื่องต่าง ๆ (I worry about things)
  • ฉันวิตกกังวลมากกว่าคนอื่น ๆ (I am much more anxious than most people)[52]
  • ฉันรู้สึกสบาย ๆ โดยมาก (I am relaxed most of the time) - แบบตรงข้าม
  • ฉันไม่ค่อยซึมเศร้า (I seldom feel blue) - แบบตรงข้าม[29]

ประวัติ

ในปี 1884 เซอร์ฟรานซิส กอลตัน เป็นบุคคลแรกที่รู้ที่ตรวจสอบสมมติฐานว่า มันเป็นไปได้ที่จะสร้างอนุกรมวิธานที่สามารถครอบคลุมลักษณะบุคลิกภาพมนุษย์โดยการตรวจสอบตัวอย่างคำที่ใช้ในภาษา เป็นสมมติฐานที่เรียกว่า lexical hypothesis (สมมติฐานคำศัพท์)[9] ในปี 1936 ดร.ออลพอร์ตและอ็อดเบิร์ตตรวจสอบสมมติฐานของเซอร์กอลตันโดยดึงคำวิเศษณ์ 4,504 คำจากพจนานุกรมที่มีอยู่ในสมัยนั้น เป็นคำที่พวกเขาเชื่อว่า ครอบคลุมบุคลิกที่สังเกตได้และค่อนข้างจะถาวร[53] ในปี 1940 ศ.แค็ตเทลล์ธำรงคำวิเศษณ์เหล่านั้น แต่ว่ากำจัดคำไวพจน์จนเหลือคำหลักเพียงแค่ 171 คำ[11] แล้วสร้างชุดคำถามเกี่ยวกับลักษณะบุคลิกภาพที่พบจากคำวิเศษณ์เหล่านั้น ซึ่งเขาเรียกว่า Sixteen Personality Factor Questionnaire (แบบสอบถามปัจจัยบุคลิกภาพ 16 ออย่าง) ต่อมาในปี 1961 โดยตั้งมูลฐานในเซตย่อยมี 20 มิติ จาก 36 มิติ ที่ ศ.แค็ตเทลล์ได้ค้นพบก่อน ดร.ทิวพ์สและคริสตัลอ้างว่า ได้พบปัจจัยกว้าง ๆ 5 อย่างที่พวกเขาตั้งชื่อว่า surgency, agreeableness (ความยินยอมเห็นใจ), dependability (ความเชื่อใจได้), emotional stability (ความเสถียรทางอารมณ์), และ culture (วัฒนธรรม)[12] ต่อมาในปี 1963 นอร์แมนจึงเปลี่ยนชื่อ dependability เป็น conscientiousness (ความพิถีพิถัน)[13]

ช่องเว้นว่างของงานวิจัย

ในช่วง 2 ทศวรรษต่อมา กระแสความคิดหลักทางวิชาการ ทำให้การตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับบุคลิกภาพยากมาก เช่นในปี 1968 ในหนังสือ บุคลิกภาพและการประเมิน (Personality and Assessment) ผู้เขียนยืนยันว่า ค่าวัดบุคลิกภาพสามารถพยากรณ์พฤติกรรมโดยมีสหสัมพันธ์ไม่เกิน 0.3 (ซึ่งค่อนข้างน้อย) คือนักจิตวิทยาสังคมรวมทั้งผู้เขียนหนังสืออ้างว่า ทัศนคติและพฤติกรรมของมนุษย์ไม่เสถียร แต่จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ดังนั้น การพยากรณ์พฤติกรรมจากค่าวัดบุคลิกภาพจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ต่อมาพบโดยหลักฐานว่า ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างค่าที่วัดกับพฤติกรรมในชีวิตจริง สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างสำคัญภายใต้สถานการณ์ที่อารมณ์เกิดความตึงเครียด (เทียบกับสถานการณ์ที่เป็นกลาง ๆ เมื่อวัดบุคลิกภาพ)[54]

นอกจากนั้นแล้ว ระเบียบวิธีที่เกิดขึ้นใหม่เริ่มจะคัดค้านมุมมองเช่นนี้ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 คือแทนที่จะพยายามพยากรณ์พฤติกรรมหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะ ซึ่งทำไม่ได้อย่างสม่ำเสมอ นักวิจัยพบว่า สามารถพยากรณ์รูปแบบพฤติกรรมโดยรวมเอาพฤติกรรมเป็นจำนวนมาก[55] และดังนั้น ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและพฤติกรรมจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญ และปรากฏชัดเจนแล้วว่า มนุษย์มี "บุคลิกภาพ" จริง ๆ[56] ทั้งนักจิตวิทยาบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคมปัจจุบัน โดยรวมมีมติร่วมกันว่า พฤติกรรมมนุษย์จะอธิบายได้ก็ต้องใช้ทั้งตัวแปรที่มีเป็นส่วนบุคคล และตัวแปรที่เป็นไปตามสถานการณ์[57] ดังนั้น ทฤษฎีเกี่ยวกับลักษณะบุคลิกภาพจึงปรากฏว่ามีเหตุผล และจึงเกิดความสนใจในการวิจัยเรื่องนี้เพิ่มขึ้น[58] ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ศ.ลิวอิส โกลด์เบอร์ก ได้เริ่มโปรเจ็กต์วิเคราะห์คำของเขาเอง โดยเน้นปัจจัยกว้าง ๆ 5 อย่าง[59] แล้วต่อมาจึงบัญญัติคำว่า "Big Five" โดยเป็นชื่อของปัจจัยเหล่านั้น

ความใส่ใจที่เพิ่มขึ้นใหม่

ในงานประชุมเอกสารัตถ์ปี 1980 ในเมืองโฮโนลูลู นักวิจัยที่มีชื่อเสียง 4 คนรวมทั้ง ศ.โกลด์เบอร์ก และ ศ.ดิกแมน ได้ทบทวนการวัดบุคลิกภาพที่มีอยู่ในเวลานั้น[60] หลังจากเหตุการณ์นี้ นักวิจัยเรื่องบุคลิกภาพได้ยอมรับแบบจำลองมีปัจจัย 5 (FFM) อย่างกว้างขวาง[61] ศ. ดร. ซาวิล์ล และคณะใช้แบบจำลองนี้ในการสร้าง Occupational Personality Questionnaire (แบบสอบถามบุคลิกภาพเพื่ออาชีพ) ดั้งเดิมในปี 1984 แล้วต่อมา ดร.คอสตาและแม็คเคร จึงสร้าง Revised NEO Personality Inventory (แบบคำถามเก็บข้อมูลบุคลิกภาพ ตัวย่อ NEO-PI-R) ในปี 1985 แม้ว่าระเบียบวิธีที่ใช้สร้างแบบคำถามนี้จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์หลายอย่าง[62]:431–33

ปัจจัยทางชีวภาพและพัฒนาการ

กรรมพันธุ์

Thumb
งานวิจัยบุคลิกภาพในคู่แฝดแสดงนัยว่า ทั้งกรรมพันธุ์และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมีผลต่อลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้ง 5 อย่าง

งานวิจัยบุคลิกภาพในคู่แฝดแสดงนัยว่า ทั้งกรรมพันธุ์และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมีผลต่อลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างเท่า ๆ กัน[63] งานวิจัยในคู่แฝดสี่งาน คำนวณเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยที่เกิดจากกรรมพันธุ์สำหรับลักษณะแต่ละอย่าง แล้วสรุปว่า กรรมพันธุ์มีอิทธิพลต่อปัจจัยทั้ง 5 อย่างกว้างขวาง การวัดที่ผู้ร่วมการทดลองแจ้งมีผลให้ประเมินได้ว่า ความเปิดรับประสบการณ์มีส่วนจากกรรมพันธุ์ 57%, ความสนใจต่อสิ่งภายนอก 54%, ความพิถีพิถัน 49%, neuroticism 48%, และความยินยอมเห็นใจ 42%[64]

พัฒนาการในวัยเด็กและวัยรุ่น

งานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัย 5 อย่าง และเกี่ยวกับบุคลิกภาพโดยทั่วไป เพ่งความสนใจไปที่ความแตกต่างระหว่างผู้ใหญ่ ไม่ใช่ในเด็กหรือวัยรุ่น[65][66][67] แต่ก็เริ่มมีงานที่ตรวจสอบแหล่งกำเนิดและแนวทางพัฒนาการของปัจจัย 5 อย่างในเด็กและวัยรุ่น[65][66][67] โดยแตกต่างจากนักวิจัยบางพวกที่ตั้งความสงสัยว่า เด็กมีลักษณะบุคลิกภาพที่เสถียรหรือไม่ จะเป็นปัจจัย 5 หรืออย่างอื่นก็ดี[68] นักวิจัยโดยมากเห็นว่า ความแตกต่างทางจิตสภาพของเด็ก สัมพันธ์กับรูปแบบพฤติกรรมที่เสถียร ชัดเจน และเด่น[65][66][67] และความแตกต่างบางอย่างปรากฏตั้งแต่กำเนิด[66][67] ยกตัวอย่างเช่น ทั้งพ่อแม่เด็กและนักวิจัยรู้ว่า ทารกแรกเกิดบางพวกนิ่ง ๆ และปลอบได้ง่าย แต่บางพวกค่อนข้างงอแงและปลอบได้ยาก[67]

แม้ว่านักจิตวิทยาพัฒนาการโดยทั่วไปจะตีความแตกต่างระหว่างเด็กว่าเป็นหลักฐานของพื้นอารมณ์แต่กำเนิด (temperament) ไม่ใช่ของลักษณะบุคลิกภาพ (personality trait)[66] แต่นักวิจัยบางพวกก็อ้างว่า ทั้ง temperament และลักษณะบุคลิกภาพ เป็นการปรากฏเฉพาะวัยของสิ่งเดียวกัน[67][69] หรืออีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ temperament ในต้นวัยเด็กอาจจะกลายเป็นลักษณะบุคลิกภาพในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เมื่อลักษณะทางพันธุกรรมของบุคคลปฏิสัมพันธ์โดยเชิงรุก โดยเป็นปฏิกิริยา และโดยอยู่เฉย ๆ กับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไป[65][66][67]

มีการศึกษาโครงสร้าง การปรากฏ และพัฒนาการของปัจจัย 5 ในเด็กและวัยรุ่น โดยใช้วิธีหลายอย่างรวมทั้งการให้คะแนนจากผู้ปกครองและครู[70][71][72] การให้คะแนนตนเองและกับเพื่อนสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่นและเด็กวัยรุ่น[73][74][75] และสังเกตการณ์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็ก[65] ผลงานวิจัยเหล่านี้สนับสนุนว่า ลักษณะบุคลิกภาพค่อนข้างจะเสถียรตลอดชีวิต อย่างน้อย ๆ ก็ตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน (preschool) จนถึงวัยผู้ใหญ่[65][67][75][76] โดยเฉพาะก็คือ งานวิจัยแสดงนัยว่า ปัจจัย 4 อย่างในปัจจัยใหญ่ 5 คือ ความสนใจต่อสิ่งภายนอก Neuroticism ความพิถีพิถัน ความยินยอมเห็นใจ อธิบายความแตกต่างทางบุคลิกภาพของเด็ก ของวัยรุ่น และของผู้ใหญ่ได้อย่างสม่ำเสมอ[65][67][75][76]

แต่ว่า หลักฐานบางอย่างบอกนัยว่า ความเปิดรับประสบการณ์อาจจะไม่ใช่ส่วนของบุคลิกภาพที่เป็นพื้นฐานและเสถียรในวัยเด็ก แม้ว่าจะมีนักวิจัยที่พบว่า ความเปิดรับประสบการณ์ในเด็กและวัยรุ่นสัมพันธ์กับลักษณะต่าง ๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น จินตนาการ และความฉลาด[77] แต่ว่าก็มีนักวิจัยมากมายที่ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเปิดรับประสบการณ์ทั้งในวัยเด็กและต้นวัยรุ่น[65][67] เป็นไปได้ว่า ความเปิดรับประสบการณ์อาจจะ (1) ปรากฏเป็นลักษณะพิเศษที่ยังไม่รู้จักในวัยเด็ก (2) อาจจะปรากฏต่อเมื่อเด็กได้พัฒนาทั้งทางสังคมและทางประชาน[65][67]

มีงานศึกษาอื่น ๆ อีกที่พบหลักฐานของปัจจัยทั้ง 5 ในวัยเด็กและวัยรุ่น และพบลักษณะที่เฉพาะเด็กอีก 2 อย่างคือ ความหงุดหงิด (Irritability) และ Activity (กัมมันตภาพหรือความไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ)[78] แม้ว่าจะมีความแตกต่างที่เฉพาะเจาะจงเช่นนี้ สิ่งที่พบโดยมากแสดงนัยว่า ลักษณะบุคลิกภาพ โดยเฉพาะความสนใจต่อสิ่งภายนอก Neuroticism ความพิถีพิถัน และความยินยอมเห็นใจ เป็นสิ่งที่ปรากฏในเด็กและวัยรุ่น และสัมพันธ์กับรูปแบบพฤติกรรมทางสังคมและทางอารมณ์ ที่โดยทั่วไปสม่ำเสมอและเข้ากับลักษณะที่ปรากฏในผู้ใหญ่ผู้มีลักษณะบุคลิกภาพแบบเดียวกัน[65][67][75][76]

ความสนใจต่อสิ่งภายนอก/อารมณ์เชิงบวก

ในงานวิจัยในปัจจัยใหญ่ 5 อย่าง ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion) สัมพันธ์กับ surgency ซึ่งเป็นความไวปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่บุคคลโน้มเอียงไปในอารมณ์เชิงบวกในระดับสูง[66] เด็กที่สนใจต่อสิ่งภายนอกสูง จะมีพลัง คุยเก่ง ชอบสังคม และมีอิทธิพลต่อเด็กอื่นและผู้ใหญ่ เทียบกับเด็กที่สนใจต่อสิ่งภายนอกต่ำ ซึ่งมักจะเงียบ นิ่ง สงวนท่าที และยอมทั้งเด็กอื่นและผู้ใหญ่[65][67] ความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องนี้ ปรากฏเริ่มตั้งแต่วัยทารกโดยเป็นการแสดงอารมณ์เชิงบวกหลายอย่างหลายระดับ[79] และความแตกต่างเหล่านี้ สามารถพยากรณ์กิจกรรมทางสังคมและทางกายในวัยเด็กต่อ ๆ มา และอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง หรือสัมพันธ์กับ Behavioural Activation System (ตัวย่อ BAS เป็นระบบที่ตอบสนองต่อความทะยานอยากเพื่อทำเป้าหมายให้สำเร็จ) ใน "ทฤษฎีบุคลิกภาพจิตชีวภาพของเกรย์" (Gray's biopsychological theory of personality)[66][67] ในเด็ก ความสนใจต่อสิ่งภายนอก/อารมณ์เชิงบวกมีลักษณะย่อยรวมทั้งกัมมันตภาพ (activity) อิทธิพล (dominance) ความอาย (shyness) ความเข้าสังคมได้ (sociability) คือ

  • กัมมันตภาพหรือความไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ (activity) - เด็กที่มีกัมมันตภาพมากมักจะมีพลังสูงกว่า และเคลื่อนไหวมากกว่าและบ่อยครั้งกว่าเทียบกับเด็กอื่น ๆ[67][70][80] ความแตกต่างที่เด่นเกี่ยวกับกัมมันตภาพปรากฏตั้งแต่เป็นทารก และคงทนผ่านวัยรุ่น และลดลงเมื่อการเคลื่อนไหวลดลงในวัยผู้ใหญ่[81] หรืออาจจะพัฒนาเปลี่ยนเป็นคุยเก่ง[67][82]
  • อิทธิพล (Dominance) เด็กที่มีอิทธิพลสูงมักจะมีผลต่อพฤติกรรมของผู้อื่นโดยเฉพาะในเด็ก ๆ เพื่อที่จะได้สิ่งที่ต้องการหรือผลที่พึงประสงค์[67][83][84] เด็กเช่นนี้มักจะเก่งในการชวนเพื่อนทำกิจกรรมหรือเล่นเกม[85] และในการหลอกคนอื่นโดยควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ใช่การพูดของตน (คือควบคุมภาษากาย)[86]
  • ความอาย (shyness) เด็กขี้อายมักจะไม่ค่อยเข้าสังคม วิตกกังวล และสงวนท่าทีเมื่อมีคนแปลกหน้า[67] เมื่อเวลาผ่านไป เด็กอาจจะกลัวแม้จะอยู่ใกล้ ๆ กับเพื่อนหรือคนที่รู้จัก โดยเฉพาะถ้าไม่ได้การยอมรับจากเพื่อน[67][87]
  • ความชอบสังคม (sociability) เด็กที่ชอบสังคมมักจะชอบอยู่กับผู้อื่นมากกว่าจะอยู่คนเดียว[67][88] และเมื่อถึงกลางวัยเด็ก ความแตกต่างระหว่างการชอบสังคมในระดับสูงกับระดับต่ำจะเห็นชัดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเด็กสามารถควบคุมการใช้เวลาของตนมากยิ่งขึ้น[67][89][90]

พัฒนาการในวัยผู้ใหญ่

งานวิจัยตามยาว ที่ตรวจสอบค่าวัดบุคลิกภาพของบุคคลเป็นช่วงระยะเวลายาว และงานวิจัยตามขวาง ที่เปรียบเทียบคะแนนบุคลิกภาพข้ามกลุ่มอายุต่าง ๆ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แสดงความเสถียรภาพในระดับสูงของลักษณะบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่[91]

งานแสดงว่า บุคลิกภาพของบุคคลวัยทำงานจะเสถียรภายใน 4 ปีหลังจากที่เริ่มทำงาน มีหลักฐานน้อยมากว่า ประสบการณ์ร้ายในชีวิตจะมีผลสำคัญต่อบุคลิกภาพของบุคคล[92] แต่ว่า งานวิจัยและงานวิเคราะห์อภิมานเมื่อไม่นานแสดงว่า ลักษณะบุคลิกภาพทั้ง 5 เปลี่ยนไปเมื่อผ่านจุดต่าง ๆ ของชีวิต และแสดงหลักฐานว่า มีการปรับสภาพไปตามอายุ (เช่น ดังที่แสดงในทฤษฎี Erikson's stages of psychosocial development) คือ โดยเฉลี่ย ระดับความยินยอมเห็นใจและความพิถีพิถันมักจะเพิ่มขึ้นตามอายุ เทียบกับความสนใจต่อสิ่งภายนอก neuroticism และความเปิดรับประสบการณ์ ซึ่งมักจะลดลง[93]

งานวิจัยยังแสดงด้วยว่า ความเปลี่ยนแปลงต่อลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง ขึ้นอยู่กับระยะพัฒนาการปัจจุบันของบุคคล ยกตัวอย่างเช่น ความยินยอมเห็นใจและความพิถีพิถันมีแนวโน้มที่จะลดลงในระหว่างวัยเด็กและวัยรุ่น ก่อนที่จะกลับทิศทางตอนปลายวัยรุ่นและในวัยผู้ใหญ่[94] นอกจากจะมีผลเป็นกลุ่ม ๆ เช่นนี้ บุคคลต่าง ๆ ยังมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนกันในระยะต่าง ๆ ของชีวิตอีกด้วย[95]

นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยบางงานแสดงด้วยว่า ลักษณะใหญ่ 5 อย่างไม่ควรพิจารณาโดยแบ่งเป็น 2 ภาค (เช่น ความสนใจต่อสิ่งภายนอก กับความสนใจกับสิ่งภายใน) แต่ควรพิจารณาว่า เป็นระดับที่มีพิสัยสืบต่อกัน แต่ละคนสามารถเปลี่ยนระดับเมื่อสถานการณ์ทางสังคมหรือทางกาลเวลาเปลี่ยนไป และดังนั้น บุคคลจะไม่ใช่อยู่ที่ส่วนสุดของแต่ละลักษณะ (คือแบ่งเป็นเป็น-ไม่เป็น) แต่จะมีลักษณะของทั้งสองด้าน แม้ว่าอาจจะมีลักษณะบางด้านบ่อยครั้งมากกว่า[96]

งานวิจัยเกี่ยวกับบุคลิกภาพกับวัยที่เจริญขึ้นแสดงนัยว่า เมื่อบุคคลถึงวัยชรา (79-86 ปี) ผู้ที่มี IQ ต่ำกว่าจะสนใจต่อสิ่งภายนอกเพิ่มขึ้น แต่จะพิถีพิถันและมีสุขภาพทางกายที่ลดลง[97]

งานวิจัยปี 2012 แสดงว่า ลักษณะบุคลิกภาพโดยทั่วไปเสถียรในผู้ใหญ่วัยทำงาน โดยเหมือนกับผลที่เคยได้มาก่อน ๆ เกี่ยวกับ locus of control[98]

โครงสร้างทางสมอง

Thumb
มีงานวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับลักษณะบุคลิกภาพและโครงสร้างทางสมอง ที่แสดงสหสัมพันธ์ระหว่างลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างกับส่วนจำเพาะในสมอง

มีงานวิจัยที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ของโครงสร้างทางสมองกับลักษณะบุคลิกภาพในแบบจำลองนี้ งานวิจัยในปี 2012[99] และ 2010[100] แสดงว่า

  • Neuroticism มีสหสัมพันธ์เชิงลบกับอัตราปริมาตรสมอง:ปริมาตรในกะโหลกที่เหลือ มีสหสัมพันธ์กับปริมาตรที่ลดลงของคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าส่วน dorsomedial และของส่วนสมอง medial temporal lobe ด้านซ้ายซึ่งรวมทั้งฮิปโปแคมปัสส่วนหลัง (posterior) และมีสหสัมพันธ์กับปริมาตรที่เพิ่มขึ้นของ mid-cingulate gyrus (ซึ่งเป็นเขตสมองที่สัมพันธ์กับความไวต่อภัย, punishment และอารมณ์เชิงลบ)
  • ความสนใจต่อสิ่งภายนอกมีสหสัมพันธ์เชิงบวกกับอัตราเมแทบอลิซึมของ orbitofrontal cortex กับปริมาตรที่เพิ่มขึ้นของ medial orbitofrontal cortex (ซึ่งเป็นเขตที่ประมวลข้อมูลเกี่ยวกับ reward ดังนั้นปริมาตรที่เพิ่มอาจจะเพิ่มความไว)
  • ความยินยอมเห็นใจ มีสหสัมพันธ์เชิงลบกับปริมาตรของ left orbitofrontal lobe ในคนไข้ภาวะสมองเสื่อมที่เสื่อมในส่วน frontotemporal, กับปริมาตรที่ลดลงของ posterior left superior temporal sulcus, และกับปริมาตรที่เพิ่มขึ้นของ posterior cingulate cortex (ที่บางส่วนสัมพันธ์เกี่ยวกับการประมวลเรื่องความตั้งใจ และสภาพจิตใจของผู้อื่น ซึ่งอาจจะมีประสิทธิภาพดีกว่าสำหรับคนที่มีระดับลักษณะนี้สูง)
  • ความพิถีพิถัน มีสหสัมพันธ์กับปริมาตรที่เพิ่มขึ้นของ middle frontal gyrus ใน left lateral PFC (ซึ่งเป็นเขตที่ทำงานเกี่ยวกับการวางแผนและการควบคุมพฤติกรรม)
  • ความเปิดรับประสบการณ์ ไม่พบความแตกต่างที่สำคัญ แม้ว่าอาจจะมีความแตกต่างในสมองกลีบข้าง (parietal cortex)

ความแตกต่างระหว่างกลุ่ม

ทางเพศ

งานวิจัยข้ามวัฒนธรรมแสดงรูปแบบต่าง ๆ ของความแตกต่างระหว่างเพศในการวัดด้วย Revised NEO Personality Inventory (ตัวย่อ NEO-PI-R) และ Big Five Inventory[101] ยกตัวอย่างเช่น หญิงแจ้งการมี Neuroticism, ความยินยอมเห็นใจ, ความเป็นกันเอง (warmth) ซึ่งเป็น facet หนึ่งของความสนใจต่อสิ่งภายนอก, และความเปิดรับความรู้สึกที่สูงกว่า ในขณะที่ชายบ่อยครั้งแจ้งการมีความมั่นใจในตน ซึ่งเป็น facet หนึ่งของความสนใจต่อสิ่งภายนอก และความเปิดรับไอเดียที่สูงกว่า โดยใช้การวัด NEO-PI-R[102]

ส่วนงานศึกษาความแตกต่างระหว่างเพศในประเทศ 55 ประเทศโดยใช้ Big Five Inventory พบว่า หญิงมักจะมี neuroticism ความสนใจต่อสิ่งภายนอก ความยินยอมเห็นใจ และความพิถีพิถันสูงกว่าชายบ้าง โดยความแตกต่างของ neuroticism อยู่ในระดับสูงสุด โดยหญิงมีระดับสูงกว่าชายอย่างสำคัญใน 48 ประเทศ ความแตกต่างระหว่างเพศในลักษณะบุคลิกภาพต่าง ๆ มากที่สุดในวัฒนธรรมที่เจริญ มีสภาวะที่ดี และมีความเท่าเทียมกันทางเพศมากกว่า คำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งก็คือ การกระทำของหญิงในประเทศที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นตัวของตัวเองและที่มีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ อาจเกิดจากบุคลิกภาพส่วนบุคคล มากกว่าจะเป็นลักษณะของหญิงแบบทั่วไปดังในประเทศที่ให้ความสำคัญต่อสังคมและธรรมเนียมประเพณีมากกว่า[102]

ส่วนระดับต่าง ๆ ของความแตกต่างระหว่างเพศโดยทั่วไปมาจากความแตกต่างระหว่างชายในเขตต่าง ๆ ไม่ใช่หญิง ซึ่งก็คือ ชายในประเทศที่พัฒนาแล้วมีระดับ Neuroticism ความสนใจต่อสิ่งภายนอก ความพิถีพิถัน และความยินยอมเห็นใจ ในระดับที่ต่ำกว่าเทียบกับชายในประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า แต่หญิงมีลักษณะบุคลิกภาพที่ไม่ค่อยต่างกันในเขตต่าง ๆ[103]

ผู้เขียนงานนี้คาดว่า ประเทศที่มีระดับพัฒนาการที่ต่ำอาจจะขัดขวางการพัฒนาให้มีความแตกต่างระหว่างเพศ ในขณะที่ประเทศที่มีระดับพัฒนาการสูงอาจจะอำนวยให้มีความแตกต่างระหว่างเพศ (ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่นและกรีซ) เพราะว่า ชายอาจจะต้องอาศัยทรัพยากรมากว่าหญิงเพื่อที่จะถึงระดับพัฒนาการที่เป็นไปได้สูงสุด ผู้เขียนอ้างว่า เพราะเหตุแห่งความกดดันทางวิวัฒนาการ ชายมีวิวัฒนาการให้ทำอะไรเสี่ยงมากกว่าและให้แข่งขันเพื่ออำนาจและความเด่นทางสังคม เปรียบเทียบกับหญิงที่มีวิวัฒนาการให้ระมัดระวังมากกว่า และให้ช่วยเหลือดูแลผู้อื่นมากกว่า สังคมนักล่า-เก็บพืชผลโบราณที่เป็นแบบสังคมโดยมากในประวัติศาสตร์มนุษย์ อาจจะมีความเท่าเทียมกันทางเพศในระดับที่สูงกว่าสังคมเกษตรที่ติดตามมา ดังนั้น การเกิดความไม่เท่าเทียมกันอาจจะขัดขวางพัฒนาการความแตกต่างของบุคลิกภาพระหว่างเพศ ที่ได้วิวัฒนาการเกิดขึ้นในสังคมนักล่า-เก็บพืชผลดั้งเดิม เมื่อสังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเท่าเทียมกันมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเป็นไปได้ว่า ความแตกต่างระหว่างเพศที่มีแต่กำเนิดจึงไม่ถูกขัดขวางอีกต่อไป และดังนั้นจึงปรากฏอย่างสมบูรณ์กว่า

แต่ให้สังเกตว่า ในปัจจุบัน สมมติฐานนี้ยังไม่ได้การพิสูจน์ และความแตกต่างระหว่างเพศในสังคมปัจจุบันก็ยังไม่ได้เปรียบเทียบกับสังคมนักล่า-เก็บพืชผล[103]

ความแตกต่างในลำดับการเกิด

มีนักจิตวิทยาที่อ้างว่า ลูกคนโตพิถีพิถันมากกว่า มีอิทธิพลทางสังคมมากกว่า ยินยอมเห็นใจผู้อื่นน้อยกว่า และเปิดรับไอเดียใหม่ ๆ น้อยกว่าลูกที่เกิดทีหลัง แต่ว่างานศึกษาขนาดใหญ่ที่ใช้ตัวอย่างสุ่มและการวัดบุคลิกภาพที่แจ้งเองพบว่า ปรากฏการณ์ที่ว่าอ่อนมาก หรือว่าไม่ได้อยู่ในระดับสำคัญ[104][105]

ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม

ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างได้ทดสอบในภาษาและวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น เยอรมัน[106] จีน[107] อินเดีย[108] เป็นต้น[109]

ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยปี 2008 แสดงโครงสร้างของลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างข้ามวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยใช้แบบการทดสอบที่เป็นภาษาอังกฤษสากล[110] แต่ว่างานวิจัยปี 2001 แสดงนัยว่า ความเปิดรับประสบการณ์เป็นลักษณะที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย และบางครั้งจะมีการระบุปัจจัยที่ 5 เป็นต่างหาก[111]

งานวิจัยปี 2005 พบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางวัฒนธรรม (ดังที่พบในทฤษฎี Hofstede's cultural dimensions theory) รวมทั้งความเป็นตัวของตัวเอง (Individualism) ความแตกต่างทางอำนาจในสังคม (Power Distance) Masculinity (การทำงานเพื่อตน) และการหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน (Uncertainty Avoidance) กับลักษณะใหญ่ 5 อย่างในแต่ละประเทศ[112] ยกตัวอย่างเช่น ระดับที่ประเทศนั้นให้คุณค่ากับความเป็นตัวของตัวเองมีสหสัมพันธ์กับความสนใจต่อสิ่งภายนอก เปรียบเทียบกับคนในวัฒนธรรมที่ยอมรับความมีอำนาจไม่เท่าเทียมกันเป็นช่องว่างใหญ่ที่มักจะพิถีพิถันมากกว่า แม้ว่านี่ยังเป็นประเด็นงานวิจัยที่ยังทำกันอยู่ เหตุผลของความแตกต่างเช่นนี้ก็ยังไม่ชัดเจน[ต้องการอ้างอิง]

การพยายามทำซ้ำผลงานเกี่ยวกับปัจจัยใหญ่ 5 อย่างในประเทศอื่น ๆ โดยใช้คำจากพจนานุกรมของแต่ละที่ ประสบผลสำเร็จในบางประเทศ แต่ไม่ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น คนฮังการีปรากฏว่า ไม่มีปัจจัยอะไร ๆ เกี่ยวกับความยินยอมเห็นใจสักอย่างหนึ่ง[113] แต่ก็มีนักวิจัยกลุ่มอื่นที่พบหลักฐานเกี่ยวกับความยินยอมเห็นใจ แต่ไม่พบหลักฐานสำหรับปัจจัยอื่น ๆ[114]

ความสัมพันธ์ในประเด็นต่าง ๆ

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ

โดยปี 2002 มีงานศึกษาเกินกว่า 50 งานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของทฤษฎีนี้กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (personality disorder ตัวย่อ PD)[115] และตั้งแต่นั้นมา ก็มีงานวิจัยต่อ ๆ มาที่ขยายประเด็นนี้ แล้วให้หลักฐานเชิงประสบการณ์เพื่อจะเข้าใจความผิดปกติทางบุคคลลิกภาพโดยใช้แบบจำลองนี้[116]

ในงานปริทัศน์ปี 2007 ที่ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ นักจิตวิทยาผู้หนึ่งอ้างว่า "แบบจำลองบุคลิกภาพมีปัจจัย 5 อย่างยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า แสดงโครงสร้างระดับสูงของลักษณะบุคลิกภาพทั้งที่ปกติและผิดปกติ"[117] ส่วนงานปี 2008 พบว่าแบบจำลองนี้ สามารถพยากรณ์ความผิดปกติทางบุคลิกภาพทั้ง 10 อย่างได้อย่างสำคัญ และพยากรณ์ได้ดีกว่า Minnesota Multiphasic Personality Inventory (MMPI) ในเรื่องความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (borderline), แบบหลีกเลี่ยง (avoidant), และแบบพึ่งพา (dependent)[118]

ผลงานวิจัยที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่าง FFM กับความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่จัดหมวดหมู่ใน DSM มีทั่วไปอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยปี 2003 ชื่อว่า "แบบจำลองมีปัจจัย 5 และวรรณกรรมเชิงประสบการณ์เกี่ยวกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพ: งานวิเคราะห์อภิมาน (The five-factor model and personality disorder empirical literature: A meta-analytic review)"[119] ผู้เขียนได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยอื่น 15 งานเพื่อกำหนดว่า ความผิดปกติทางบุคลิกภาพต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร โดยสัมพันธ์กับลักษณะบุคลิกภาพที่เป็นมูล เกี่ยวกับความต่าง ผลงานแสดงว่า ความผิดปกติแต่ละอย่างมีโพลไฟล์ FFM โดยเฉพาะ ที่สามารถใช้อธิบายและใช้พยากรณ์ความผิดปกติได้ เพราะว่ามีรูปแบบเป็นกฎเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง เกี่ยวกับความเหมือนกัน ความสัมพันธ์ที่เด่นที่สุดและสม่ำเสมอของความผิดปกติทางบุคลิกภาพหลายอย่างกับลักษณะบุคลิกภาพ ก็คือ ความสัมพันธ์เชิงบวกกับ neuroticism และความสัมพันธ์เชิงลบกับความยินยอมเห็นใจ (agreeableness)

ความผิดปกติทางจิตสามัญ

หลักฐานที่เข้ามาบรรจบกันจากงานศึกษาประเทศต่าง ๆ ได้แบ่งความผิดปกติทางจิตออกเป็น 3 หมวดหมู่ ซึ่งสามัญเป็นพิเศษในประชากรทั่วไป คือ โรคซึมเศร้า (รวมทั้ง Major Depressive Disorder [MDD] และ Dysthymic Disorder)[120] โรควิตกกังวล (รวมทั้ง Generalized Anxiety Disorder [GAD], ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ [PTSD], โรคตื่นตระหนก, โรคกลัวที่ชุมชน, โรคกลัวสิ่งจำเพาะเจาะจง [Specific Phobia], โรคกลัวการเข้าสังคม [Social Phobia])[120] และการใช้สารเสพติด (substance use disorder ตัวย่อ SUD)[121][122]

ความผิดปกติทางจิตสามัญ (common mental disorder, ตัวย่อ CMDs) มีหลักฐานว่าสัมพันธ์กับลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง โดยเฉพาะกับ neuroticism มีงานวิจัยมากมายที่พบว่า การมี neuroticism ในระดับสูงเพิ่มความเสี่ยงในการพัฒนาเป็น CMD[123][124]

งานวิเคราะห์อภิมานขนาดใหญ่ (n > 75,000) ที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทั้ง 5 กับ CMD พบว่า ความพิถีพิถันระดับต่ำสัมพันธ์กับ CMD ที่ตรวจสอบแต่ละอย่างอย่างมีกำลัง รวมทั้ง MDD, Dysthymic Disorder, GAD, PTSD, โรคตื่นตระหนก, โรคกลัวที่ชุมชน, โรคกลัวการเข้าสังคม, โรคกลัวสิ่งจำเพาะเจาะจง, และ SUD)[125] ซึ่งเข้ากับงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพทางกายที่พบว่า ความพิถีพิถันระดับต่ำเป็นลักษณะบุคลิกภาพที่มีกำลังที่สุดในการพยากรณ์การตาย และมีสหสัมพันธ์ที่มีกำลังกับพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่ดี[126][127] ส่วนในเรื่องอื่น งานพบว่า CMD ที่ตรวจสอบทั้งหมดสัมพันธ์กับระดับ neuroticism และโดยมากสัมพันธ์กับความสนใจต่อสิ่งภายนอกในระดับต่ำ ส่วน SUD สัมพันธ์ในเชิงผกผันกับความยินยอมเห็นใจ แต่ไม่มีความผิดปกติใด ๆ ที่สัมพันธ์กับความเปิดรับประสบการณ์[125]

แบบจำลองบุคลิกภาพ-จิตพยาธิ

มีการเสนอแบบจำลอง 5 อย่างเพื่ออธิบายธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพกับโรคจิต แต่ว่าก็ยังไม่มีแบบจำลองไหนที่ดีที่สุด และแต่ละแบบก็ล้วนแต่มีหลักฐานเชิงประสบการณ์รองรับ ให้สังเกตว่า แบบจำลองเหล่านี้ไม่ใช่อยู่แยกจากเกินโดยสิ้นเชิง อาจจะมีแบบจำลองเกินกว่าหนึ่งที่ใช้อธิบายบุคคลหนึ่ง ๆ และความผิดปกติทางจิตแต่ละชนิดอาจจะอธิบายได้โดยแบบจำลองที่ไม่เหมือนกัน[128]

  • แบบจำลองโดยเป็นจุดอ่อน/ความเสี่ยง (Vulnerability/Risk Model) ในแบบจำลองนี้ บุคลิกภาพมีอิทธิพลต่อสมุฏฐานเริ่มต้นของ CMD หลายอย่าง กล่าวอีกอย่างก็คือ ลักษณะบุคลิกภาพที่มีอยู่แล้วเป็นเหตุโดยตรงของพัฒนาการของ CMD หรือเพิ่มผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงที่เป็นเหตุ[125][129][130][131]
  • แบบจำลองโดยเปลี่ยนโรค (Pathoplasty Model) เสนอว่า ลักษณะบุคลิกภาพก่อนป่วยมีผลต่อการแสดงออก การดำเนิน ความรุนแรง และ/หรือการตอบสนองต่อการรักษา ของความผิดปกติทางจิต[125][130][132] ตัวอย่างของความสัมพันธ์เช่นนี้ก็เช่น โอกาสเสี่ยงสูงขึ้นที่จะฆ่าตัวตายสำหรับบุคคลเศร้าซึมที่ยับยั้งชั่งใจได้ต่ำ[130]
  • แบบจำลองโดยมีเหตุสามัญ (Common Cause Model) ในแบบจำลองนี้ ลักษณะบุคลิกภาพสามารถพยากรณ์ CMD ได้เพราะว่า บุคลิกภาพและจิตพยาธิแชร์เหตุทางพันธุกรรมและทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เหตุผลระหว่างสิ่งสองสิ่งนี้[125][129]
  • Spectrum Model เสนอว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและจิตพยาธิมี ก็เพราะว่า สิ่งสองอย่างนี้เป็นเรื่องเดียวกันหรืออยู่ในสเปกตรัมเดียวกัน และดังนั้น จิตพยาธิจึงเป็นเพียงแค่การแสดงออกของบุคลิกภาพที่สุด ๆ[125][129][130][131] หลักฐานสนับสนุนแบบจำลองนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่ซ้อนเหลื่อมกัน ยกตัวอย่างเช่น facet หลักของ neuroticism ในการวัดแบบ NEO-PI-R ก็คือ ความเศร้าซึม (depression) และความวิตกกังวล (anxiety) และดังนั้น การที่กฎเกณฑ์วินิจฉัยของความเศร้าซึม ความวิตกกังวล และ neuroticism ประเมินสิ่งเดียวกัน ก็จะเพิ่มค่าสหสัมพันธ์ของเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้[131]
  • แบบจำลองโดยเป็นแผลเป็น (Scar Model) เสนอว่า คราวแสดงออก (episode) ของความผิดปกติทางจิตจะสร้าง "แผลเป็น" ต่อบุคลิกภาพของบุคคล เปลี่ยนการทำงานของมันอย่างสำคัญจากสภาพก่อนป่วย[125][129][130][131] ตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์แผลเป็นก็คือการลดระดับความเปิดรับประสบการณ์ หลังจากคราวแสดงออกของ PTSD[130]

การศึกษา

ความสำเร็จทางการเรียน

บุคลิกภาพมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จทางการศึกษา งานศึกษาปี 2011 ในนักศึกษาปริญญาตรี 308 คนที่ได้ทำข้อทดสอบ Five Factor Inventory กับ Inventory of Learning Processes และแจ้ง GPA ของตน แสดงนัยว่า ความพิถีพิถันและความยินยอมเห็นใจ สัมพันธ์กับสไตล์การเรียน 4 อย่างทุกอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไป และ neuroticism สัมพันธ์ในเชิงผกผันกับสไตล์การเรียนทุกอย่าง ส่วนความสนใจต่อสิ่งภายนอกบวกความเปิดรับประสบการณ์ สัมพันธ์กับสไตล์การเรียนบางอย่าง (คือ elaborative processing) ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง สามารถอธิบายความแปรปรวน (variance) 14% ของ GPA ซึ่งแสดงนัยว่า ลักษณะบุคลิกภาพมีผลต่อความสำเร็จทางการศึกษา นอกจากนั้นแล้ว สไตล์การเรียนแบบไตร่ตรอง (คือ synthesis analysis และ elaborative processing ที่จะกล่าวต่อไป) สามารถสื่อความสัมพันธ์ระหว่างความเปิดรับประสบการณ์กับ GPA ซึ่งแสดงว่า ความอยากรู้อยากเห็นเชิงปัญญาจะเพิ่มความสำเร็จในการศึกษา ถ้านักเรียนนักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้การประมวลข้อมูลที่ดีในประเด็นการศึกษา[133]

งานวิจัยปี 2012 กับนักศึกษามหาวิทยาลัยสรุปว่า ความหวังซึ่งเชื่อมกับความยินยอมเห็นใจ มีผลบวกต่อสุขภาพจิต บุคคลที่มีสภาพ neuroticism สูงมักจะแสดงความหวังที่น้อยกว่า ซึ่งมีผลลบทางสุขภาพจิต[134] บุคลิกภาพอาจจะยืดหยุ่นได้ในบางคราว และการวัดลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างเมื่อเข้าสู่ระยะบางอย่างในชีวิต อาจจะสามารถพยากรณ์เอกลักษณ์ของบุคคลนั้นเกี่ยวกับการศึกษา (educational identity) ได้ งานวิจัยปี 2012 อีกงานหนึ่งแสดงโอกาสว่า บุคลิกภาพมีผลต่อเอกลักษณ์ทางการศึกษา[135]

สไตล์การศึกษา

สไตล์การเรียนรู้ได้คำพรรณนาว่าเป็น "วิธีการที่อยู่ได้นานเกี่ยวกับการคิดและการประมวลข้อมูล"[133] แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่าบุคลิกภาพเป็นตัวกำหนดสไตล์การคิด แต่ว่าสไตล์การคิดก็อาจจะสัมพันธ์กับลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง[136] แม้ว่าจะไม่มีมติส่วนใหญ่เกี่ยวกับสไตล์การเรียนรู้ แต่ก็มีข้อเสนอหลายอย่าง งานวิจัยปี 1997 (Smeck, Ribicj, and Ramanaih) กำหนดสไตล์การเรียนรู้เป็น 4 อย่าง คือ

  • synthesis analysis (การวิเคราะห์โดยสังเคราะห์)
  • methodical study (การเรียนเป็นระบบ)
  • fact retention (การจำ)
  • elaborative processing (การประมวลแบบขยายเพิ่ม)

เมื่อใช้ทั้ง 4 สไตล์ในการเรียน แต่ละอย่างก็น่าจะทำให้เรียนได้เก่งขึ้น[133] แบบจำลองนี้ยืนยันว่า นักเรียนนักศึกษาจะพัฒนาสไตล์การเรียนเป็นแบบประมวลข้อมูลอย่างตื้น ๆ (agentic/shallow processing) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สอบได้ดี หรือเป็นแบบประมวลข้อมูลอย่างลึกซึ้ง (reflective/deep processing) ผู้ที่ประมวลข้อมูลอย่างลึก บ่อยครั้งพิถีพิถัน เปิดรับความคิด และสนใจสิ่งภายนอกมากกว่า เปรียบเทียบกับผู้ประมวลข้อมูลอย่างตื้น ๆ การประมวลข้อมูลอย่างลึก สัมพันธ์กับวิธีการเรียนที่เหมาะสม (คือเป็นการเรียนอย่างเป็นระบบ) และความสามารถที่ดีกว่าในการวิเคราะห์ข้อมูล (การวิเคราะห์โดยสังเคราะห์และแบบขยายเพิ่ม) เทียบกับผู้ประมวลข้อมูลอย่างตื้น[133] หน้าที่หลักของสไตล์การเรียน 4 อย่างนี้ เป็นดังต่อไปนี้

ข้อมูลเพิ่มเติม ชื่อ, หน้าที่ ...
ชื่อ หน้าที่
Synthesis analysis: ประมวล สร้างหมวดหมู่ และจัดระเบียบข้อมูลเป็นลำดับชั้น นี่เป็นสไตล์การเรียนรู้อย่างเดียวที่แสดงผลที่สำคัญต่อความสำเร็จทางการศึกษา[133]
Methodical study: พฤติกรรมที่เป็นระบบเมื่อทำงานที่ได้รับ เช่นดูหนังสืออย่างสม่ำเสมอ ไม่ผัดผ่อนการเริ่มทำงาน
Fact retention: เพ่งความสนใจไปที่ผลลัพธ์ มากกว่าจะพยายามเข้าใจเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
Elaborative processing: เชื่อมและประยุกต์ใช้ไอเดียใหม่ ๆ กับความรู้ที่มีอยู่แล้ว
ปิด

ตามงานวิจัยในปี 2011 ความเปิดรับประสบการณ์สัมพันธ์กับสไตล์การเรียนรู้ เช่น การวิเคราะห์โดยสังเคราะห์และการเรียนเป็นระบบ ที่บ่อยครั้งนำไปสู่ความสำเร็จทางการเรียนและการได้เกรดที่สูงกว่า และเพราะว่า ความพิถีพิถันและความเปิดรับประสบการณ์ เป็นตัวพยากรณ์สไตล์การเรียนทั้ง 4 นี่แสดงนัยว่า บุคคลที่มีลักษณะต่าง ๆ เช่น วินัย ความมุ่งมั่น และความอยากรู้อยากเห็น มีโอกาสสูงกว่าที่จะใช้วิธีการเรียนทั้ง 4 อย่าง[133] ความพิถีพิถันและความยินยอมเห็นใจ สัมพันธ์กับสไตล์การเรียนทั้ง 4 อย่าง เทียบกับ neuroticism ที่สัมพันธ์ในเชิงผกผันกับสไตล์ทั้ง 4 นอกจากนั้นแล้ว ความสนใจต่อสิ่งภายนอกและความเปิดรับประสบการณ์ สัมพันธ์กับการประมวลแบบขยายเพิ่มเท่านั้น และ ความเปิดรับประสบการณ์โดยลำพังมีสหสัมพันธ์กับความสำเร็จการศึกษาที่ดี[133]

นอกจากความเปิดรับประสบการณ์ ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้ง 5 อย่าง ล้วนแต่ช่วยพยากรณ์เอกลักษณ์ทางการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาได้ ผลงานต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มจะเห็นว่า ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้ง 5 อย่างอาจมีผลต่อแรงจูงใจในการศึกษา ซึ่งก็จะทำให้สามารถพยากรณ์ความสำเร็จทางการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาได้[137]

งานวิจัยปี 2012 แสดงนัยว่า ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างประกอบกับสไตล์การเรียน สามารถช่วยให้พยากรณ์ความต่าง ๆ กันของความสำเร็จทางการศึกษา และแรงจูงใจทางการศึกษาของบุคคล ซึ่งก็จะมีผลต่อความสำเร็จทางการศึกษา[138] นี่อาจจะเป็นเพราะว่าความแตกต่างทางบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล แสดงวิธีการประมวลข้อมูลที่เสถียร ยกตัวอย่างเช่น ความพิถีพิถันปรากฏอย่างสม่ำเสมอโดยเป็นตัวพยากรณ์ของคะแนนที่ได้ในการสอบ โดยมากเพราะว่านักเรียนนักศึกษาที่พิถีพิถัน จะผัดผ่อนการดูหนังสือน้อยกว่า[137] เหตุผลที่ความพิถีพิถันสัมพันธ์กับสไตล์การศึกษาทั้ง 4 ก็เพราะว่า นักศึกษาที่พิถีพิถันจะพัฒนากลยุทธ์การเรียนที่มุ่งมั่น และดูเหมือนจะมีวินัยและความตั้งมั่นเพื่อความสำเร็จมากกว่า

แต่ว่า ในปี 2008 สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Society) ได้ว่าจ้างให้ทำรายงานที่แสดงผลว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่า การประเมินสไตล์การศึกษาควรจะใช้ในระบบการศึกษา สมาคมยังเสนออีกด้วยว่า ยังไม่ได้ค้นพบสไตล์การศึกษาทั้งหมด และอาจจะมีสไตล์อื่นที่มีคุณค่าเพื่อใช้ในระบบการศึกษา[139] ดังนั้น อาจจะเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า หลักฐานที่เชื่อมลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างกับ "สไตล์การเรียนรู้" ว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลจริง ๆ

ความสำเร็จในการงาน

Thumb
มีข้อถกเถียงกันว่า ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างมีสหสัมพันธ์กับความสำเร็จในการงานหรือไม่

เชื่อกันว่า ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างเป็นตัวยพยากรณ์การประสบความสำเร็จที่จะมีในอนาคต ความสำเร็จทางการงานรวมความชำนาญในการงาน (job proficiency) ประสิทธิภาพในการฝึกงาน (training proficiency) และข้อมูลบุคลากรอื่น ๆ[140] แต่ว่า งานวิจัยที่แสดงความสามารถในการพยากรณ์เช่นนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนหนึ่งก็เพราะค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient) ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและความสำเร็จในการงาน อยู่ในระดับต่ำ บทความปี 2007[141] ซึ่งมีผู้ร่วมเขียนเป็นบรรณาธิการของวารสารจิตวิทยาทั้งในอดีตหรือในปัจจุบัน 6 ท่าน กล่าวว่า

ปัญหาเกี่ยวกับการทดสอบบุคลิกภาพก็คือ ความสมเหตุสมผลของค่าวัดบุคลิกภาพต่าง ๆ โดยเป็นตัวพยากรณ์ความสำเร็จในงาน บ่อยครั้งต่ำอย่างน่าผิดหวัง ผมรู้สึกว่า การใช้การทดสอบบุคลิกภาพเพื่อจะพยากรณ์ความสำเร็จ ไม่น่าเชื่อถือตั้งแต่ต้น

นักจิตวิทยาทรงอิทธิพลคนหนึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์ในทำนองนี้ในปี 1968[142] ซึ่งบทความนั้น ได้ทำให้เกิดวิกฤตกาลเป็นระยะเวลา 2 ทศวรรษในการวัดบุคลิกภาพทางจิตวิทยา แต่ว่า งานต่อ ๆ มาแสดงว่า (1) ค่าสหสมพันธ์ที่นักวิจัยบุคลิกภาพได้ ความจริงอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้เมื่อเทียบกับมาตรฐานอื่น ๆ[143] และ (2) ความแม่นยำในการพยากรณ์ที่เพิ่มขึ้นแม้เล็กน้อย ก็ยังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เพราะความสำเร็จที่แตกต่างกันมากของบุคคลที่อยู่ในหน้าที่การงานระดับสูง[144]

มีงานศึกษาที่เชื่อมความช่างคิดช่างประดิษฐ์ของประเทศต่าง ๆ กับความเปิดรับประสบการณ์และความพิถีพิถัน คือบุคคลที่มีลักษณะบุคลิกภาพเหล่านี้ได้แสดงความเป็นผู้นำและเสนอความคิดใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ตนอยู่[145]

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจ องค์การ และผู้สัมภาษณ์ที่ประเมินบุคคลโดยอาศัยลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง งานวิจัยแสดงนัยว่า บุคคลที่คนอื่นเห็นว่าเป็นผู้นำ จะแสดงระดับ neuroticism ที่ต่ำกว่า ธำรงระดับความเปิดรับประสบการณ์ (คือสามารถมองเห็นโอกาสความสำเร็จ) ที่สูงกว่า มีระดับความพิถีพิถันในระดับที่สมดุล (คือเป็นคนจัดระเบียบได้ดี) และมีระดับความสนใจต่อสิ่งภายนอกในระดับที่สมดุล (คือเป็นคนสังคมแต่ไม่มากเกินไป)[146] งานวิจัยต่อ ๆ มาแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความหมดไฟในการทำงานกับระดับ neuroticism และระดับความสนใจต่อสิ่งภายนอกกับความรู้สึกบวกเกี่ยวกับงานที่ยั่งยืน[147] ในเรื่องเกี่ยวกับการหาเงิน งานวิจัยแสดงนัยว่า บุคคลที่ยินยอมเห็นใจผู้อื่นมาก (โดยเฉพาะผู้ชาย) ไม่ประสบความสำเร็จในการหาเงินเท่ากับผู้อื่น[148]

ในสัตว์

Thumb
ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างก็ปรากฏในลิงชิมแปนซีด้วย

มีการประเมินลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างในสัตว์พันธุ์อื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ ในชุดงานศึกษาหนึ่ง มนุษย์เป็นผู้ให้คะแนนลิงชิมแปนซีโดยใช้แบบคำถามบุคลิกภาพชิมแปนซี (Chimpanzee Personality Questionnaire ตัวย่อ CPQ) ที่วัดปัจจัยคือความสนใจต่อสิ่งภายนอก ความพิถีพิถัน และความยินยอมเห็นใจ โดยมีปัจจัยที่เพิ่มเกี่ยวกับความเป็นใหญ่ (dominance) โดยทำกับลิงเป็นร้อย ๆ ในสวนสัตว์ ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าธรรมชาติ และในแล็บการทดลอง แล้วพบ neuroticism และความเปิดรับประสบการณ์ ในตัวอย่างจากสวนสัตว์เบื้องต้น แต่ไม่พบในตัวอย่างสวนสัตว์ต่อ ๆ มา หรือในที่อื่น ๆ (ซึ่งอาจเป็นเพราะการออกแบบ CPQ)[149] งานทบทวนงานหนึ่งพบว่า ลักษณะ 3 อย่างคือ ความสนใจต่อสิ่งภายนอก neuroticism และความยินยอมเห็นใจ พบอย่างสม่ำเสมอมากที่สุดในสปีชีส์สัตว์ที่ตรวจสอบ ตามด้วยความเปิดรับประสบการณ์ แต่ว่าในบรรดาสัตว์ มีลิงชิมแปนซีเท่านั้นที่แสดงพฤติกรรมพิถีพิถัน[150]

การวัด

มีวิธีการวัดลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างหลายแบบ คือ

  • International Personality Item Pool (IPIP)[151]
  • Revised NEO Personality Inventory (NEO-PI-R)
  • Ten-Item Personality Inventory (TIPI) และ Five Item Personality Inventory (FIPI) เป็นแบบการให้คะแนนที่ย่อมากเพื่อวัดลักษณะทั้ง 5[152]
  • Self-descriptive sentence questionnaires[114]
  • Lexical questionnaires[153]
  • Self-report questionnaires[154]
  • Relative-scored Big 5 measure[155]

การวัดแบบที่ใช้บ่อยที่สุดเป็นรายการประโยคที่สามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลเพิ่ม[114] หรือถ้าเป็นแบบการวัดโดยใช้คำ ก็จะเป็นรายการคำวิเศษณ์[153] เพราะว่าการวัดทั้งสองแบบบางครั้งอาจยาวมาก จึงมีการพัฒนาแบบที่สั้นลงที่ได้ทดสอบความสมเหตุสมผลแล้ว เพื่อใช้ในงานวิจัยประยุกต์ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีพื้นที่และเวลาในการเก็บข้อมูลน้อย เช่นการวัดโดยใช้รายการ 40 อย่างคือ International English Big-Five Mini-Markers[110] หรือแม้แต่ที่สั้นยิ่งกว่านั้น เช่นการวัดโดยรายการ 10 อย่าง[156] แต่ก็มีงานวิจัยที่แสดงนัยว่า ระเบียบวิธีบางอย่างที่ใช้ในการทดสอบบุคลิกภาพสั้นเกินไปและมีรายละเอียดน้อยเกินไปที่จะประเมินบุคลิกภาพได้จริง ๆ คือโดยปกติแล้ว คำถามที่มากกว่าและละเอียดกว่าจะแสดงบุคลิกภาพได้แม่นยำกว่า[157]

นักวิจัยกลุ่มต่าง ๆ ได้ตรวจสอบทฤษฎี FFM นี้แล้ว[158] แต่ว่า สิ่งที่ค้นพบหลัก ๆ หลายอย่างมาจากหลักฐานที่วัดลักษณะบุคลิกภาพโดยใช้แบบคำถามที่ผู้ร่วมการทดลองแจ้งเอง (self-report) ดังนั้น จึงอาจมีอคติได้ เช่น self-report bias หรือแม้แต่การโกหกซึ่งยากที่จะกำหนดหรือแก้ได้[154] และมีการอ้างว่า แบบทดสอบไม่สามารถสร้างโพลไฟล์บุคลิกภาพที่แม่นยำได้จริง ๆ เพราะว่า คำตอบที่ได้ไม่จริงในทุกกรณี ยกตัวอย่างเช่น ผู้สมัครงานอาจจะเลือกตอบคำถามทำให้ตนดูดีที่สุด[159] ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเป็นพิเศษเมื่อพิจารณาว่า ทำไมคะแนนจึงต่างกันระหว่างบุคคลหรือระหว่างกลุ่มบุคคล คือความต่างของคะแนนอาจจะแสดงความต่างของบุคลิกภาพจริง ๆ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ทำขึ้น (artifact) เนื่องจากวิธีการตอบคำถาม

งานวิจัยแสดงนัยว่า การวัดโดยเปรียบเทียบที่ผู้ตอบต้องเลือกระหว่างรายการแสดงบุคลิกภาพที่น่าชอบใจพอ ๆ กัน โดยเลือกแบบซ้ำ ๆ อาจจะเป็นวิธีการวัดทางเลือกเพื่อที่จะประเมินลักษณะบุคลิกภาพได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อาจมีการโกหกหรือมีอคติ[155] เมื่อเปรียบเทียบกับการวัดบุคลิกภาพธรรมดาในการพยากรณ์ GPA และความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้สถานการณ์ปกติและภายใต้สถานการณ์ที่มีอคติ การวัดโดยเปรียบเทียบสามารถพยากรณ์ผลที่สืบหาได้อย่างสำคัญและสม่ำเสมอภายใต้สถานการณ์ทั้งสอง แต่ว่า แบบคำถามธรรมดาที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบ (Likert questionnaire) สูญเสียความสามารถการพยากรณ์ภายใต้สถานการณ์ที่มีอคติ ดังนั้น การวัดโดยเปรียบเทียบได้รับอิทธิพลจากคำตอบที่มีอคติ น้อยกว่าการวัดบุคลิกภาพแบบธรรมดา

งานศึกษาปี 2013 วิเคราะห์คำ วลี และหัวข้อ 700 รายการที่รวบรวมมาจากข้อความในเฟซบุ๊กของอาสาสมัคร 75,000 คน ผู้ที่ทำแบบทดสอบบุคลิกภาพด้วย แล้วพบการใช้ภาษาที่ต่างกันอย่างน่าสนใจโดยเปรียบเทียบกับบุคลิกภาพ เพศ และอายุ[160] งานวิจัยนี้ ต่างจากนักวิจัยพวกอื่น ๆ ตรงที่ว่า ได้ใช้ข้อมูลที่ไม่ได้เก็บโดยเฉพาะเพื่อกำหนดบุคลิกภาพ[ต้องการอ้างอิง]

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

ทฤษฎีนี้ได้มีการตรวจสอบที่แสดงผลไม่ลงรอยกับทฤษฎี[161][162][163][164][165][166][167] และที่สนับสนุน[168]

มีนักวิชาการที่อ้างว่า มีข้อจำกัดในการใช้แบบจำลองเพื่อเป็นคำอธิบายหรือเพื่อการพยากรณ์[169] และว่า สิ่งที่วัดในทฤษฎีนี้ อธิบายเพียงแค่ 56% ของบุคลิกภาพปกติเพียงเท่านั้น โดยยังไม่ได้นับบุคลิกภาพที่ผิดปกติ[62] นอกจากนั้น รายการลักษณะทั้ง 5 แบบสถิต[170] เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากทฤษฎี แต่ได้มาจากการตรวจสอบข้อมูลของอะไรบางอย่างที่มักจะเกิดขึ้นร่วมกัน และบ่อยครั้งได้จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีวิธีการไม่ค่อยสมบูรณ์[62]

ค่าลักษณะทั้ง 5 ดูจะสม่ำเสมอเมื่อวัดโดยการสัมภาษณ์ การแจ้งเอง และการสังเกต และลักษณะทั้ง 5 ก็ดูเหมือนจะมีในผู้ร่วมการทดลองต่าง ๆ กันเป็นจำนวนมากแม้ข้ามอายุและวัฒนธรรม[171] แต่ว่า ถึงแม้ว่ามนุษย์อาจจะมีลักษณะพื้นอารมณ์แต่กำเนิดตามจีโนไทป์ที่เหมือนกันข้ามวัฒนธรรมต่าง ๆ แต่ว่าการแสดงออกแบบฟีโนไทป์ของลักษณะบุคลิกภาพก็แตกต่างกันอย่างลึกซึ้งข้ามวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยเป็นฟังก์ชันของการปรับสภาวะทางสังคม-วัฒนธรรม (socio-cultural conditioning) และของการเรียนรู้โดยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายในวัฒนธรรมต่าง ๆ[172]

พิสัยที่จำกัด

ข้อวิพากษ์วิจารณ์สามัญอย่างหนึ่งก็คือว่าแบบจำลองนี้ไม่ได้อธิบายบุคลิกภาพมนุษย์ทั้งหมด นักจิตวิทยาบางพวกไม่เห็นด้วยกับแบบจำลองเพราะรู้สึกว่าแบบจำลองละเลยด้านอื่น ๆ ของบุคลิกภาพ เช่นความเคร่งศาสนา (religiosity) ความเจ้าเล่ห์ (machiavellianism) ความซื่อสัตย์ ความเซ็กซี่/ความมีเสน่ห์ ความประหยัด ความอนุรักษนิยม ความเป็นชาย/ความเป็นหญิง อติมานะ (egotism) ความมีอารมณ์ขัน และความชอบเสี่ยงชอบตื่นเต้น[173][174] นักจิตวิทยาท่านหนึ่งเรียกลักษณะใหญ่ 5 นี้ว่า "จิตสภาพของคนแปลกหน้า" เพราะว่า หมายถึงลักษณะที่ค่อนข้างจะสังเกตได้ง่ายในคนแปลกหน้า ส่วนด้านอื่น ๆ ของบุคลิกภาพที่ไม่ค่อยแสดง หรือว่าขึ้นอยู่กับบริบทมากกว่า ไม่ได้รวมอยู่ในแบบจำลองนี้[175]

งานศึกษาหลายงานพบว่า ปัจจัยทั้ง 5 ไม่ได้เป็นอิสระ (orthogonal) จากกันและกัน[176][177] และนักวิจัยบางคนมองว่า ความเป็นอิสระ (orthogonality) เป็นเรื่องที่พึงปรารถนาเพราะว่ามันลดความซ้ำซ้อนกันระหว่างมิติต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำสุด ซึ่งสำคัญโดยเฉพาะเมื่อจุดหมายการศึกษาก็เพื่อที่จะอธิบายบุคลิกภาพด้วยตัวแปรที่น้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้

ปัญหาทางระเบียบวิธี

การวิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) ซึ่งเป็นวิธีทางสถิติที่ใช้เพื่อกำหนดโครงสร้างของตัวแปรที่สังเกตเห็น ไม่มีวิธีที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเพื่อเลือกผลลัพธ์ที่ได้ผลใดผลหนึ่งโดยเฉพาะในบรรดาผลเฉลยที่มีปัจจัยจำนวนต่าง ๆ กัน[178] การเลือกผลเฉลยที่มีปัจจัย 5 ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้วิเคราะห์ในระดับหนึ่ง และความจริงอาจจะมีปัจจัยเป็นจำนวนมากที่เป็นมูลฐานของปัจจัย 5 เหล่านี้ ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงกันว่ามีปัจจัย "จริง" เท่าไรกันแน่ ส่วนผู้สนับสนุทฤษฎีตอบว่า แม้ว่าผลเฉลยอื่น ๆ อาจจะเป็นไปได้ในชุดข้อมูลหนึ่ง ๆ แต่ว่า ผลเฉลยมีปัจจัย 5 เป็นโครงสร้างที่เข้ากับข้อมูลในงานศึกษาต่าง ๆ ที่มี[179]

สถานะของทฤษฎี

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ของแบบจำลองนี้ก็คือ มันไม่ได้มีมูลฐานจากทฤษฎีพื้นฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นเพียงการค้นพบเชิงประสบการณ์ที่ปัจจัยอะไรบางอย่างเกิดรวมกันเป็นกลุ่มเมื่อวิเคราะห์โดยปัจจัย[178] แม้ว่านี่จะไม่ได้หมายความว่า ปัจจัย 5 อย่างเหล่านี้ไม่มี แต่ว่า เหตุที่เป็นมูลของปัจจัยยังไม่ชัดเจน

ศ. นักจิตวิทยาบุคลิกภาพที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้พิมพ์หนังสือในปี 2010 ก่อนจะเสียชีวิตที่แสดงทัศนวิสัยชั่วชีวิตของเขาเกี่ยวกับแบบจำลองนี้[180] เขาย่อสาระคำวิพากษ์วิจารณ์ของเขาต่อแบบจำลองเป็นประเด็นเหล่านี้ คือ

  • ปัจจัยทั้ง 5 ไม่มีพื้นฐานทางทฤษฎี (atheoretical nature)
  • มีการวัดที่ไม่ชัดเจน (cloudy measurement)
  • ไม่เหมาะสมเพื่อใช้ศึกษาวัยเด็กระยะต้น
  • ใช้การวิเคราะห์ปัจจัย (factor analysis) เป็นวิธีเดียวเพื่อกำหนดบุคลิกภาพ
  • เป็นความเข้าใจที่ยังไม่มีมติร่วมกัน
  • มีงานศึกษาอื่นที่ไม่ได้การยอมรับแต่เป็นจริง ที่กำหนดลักษณะบุคลิกภาพอื่น ๆ ที่ไม่รวมอยู่ในปัจจัยทั้ง 5

เขาเสนอว่า ปัจจัยจำนวนมากกว่าในลำดับชั้นเหนือกว่าลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ได้พบซ้ำ ๆ ในงานวิจัย มีโอกาสที่จะให้ความเข้าใจทางชีวภาพที่ลึกซึ้งกว่า ในเรื่องแหล่งกำเนิดและอิทธิพลของปัจจัยเหนือชั้นเหล่านั้น

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถและอ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.