Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ในการศึกษาทางจิตวิทยา วิตกจริต (Neuroticism) เป็นลักษณะบุคลิกภาพ (personality trait) ที่แสดงออกเป็นความวิตกกังวล ความหวาดกลัว การมีอารมณ์แปรปรวน ความกลุ้มใจ ความอิจฉาริษยา ความขัดข้องใจ และความเหงา[1] คือมีอารมณ์ไม่เสถียร บุคคลที่ได้คะแนนสูงในลักษณะบุคลิกภาพนี้ จะมีโอกาสสูงกว่าโดยเฉลี่ยที่จะประสบกับอารมณ์เชิงลบต่าง ๆ เช่น ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว ความอิจฉาริษยา ความรู้สึกผิด และความซึมเศร้า[2] จะมีปฏิกิริยาที่แย่กว่าต่อสิ่งที่ก่อความเครียด และมีโอกาสสูงกว่าที่จะเห็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาว่าเป็นภัย และความขัดข้องใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเป็นเรื่องยากถึงให้สิ้นหวัง บ่อยครั้งจะมีความรู้สึกสำนึกตนหรือประหม่ามากเกินไป และขี้อาย และอาจจะมีปัญหาห้ามอารมณ์ชั่ววูบและผัดผ่อนการสนองความต้องการ ลักษณะบุคลิกภาพเช่นนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความผิดปกติทางจิต (mental disorder) หลายอย่างที่สามัญที่สุด[3] รวมทั้งภาวะซึมเศร้า โรคกลัว โรคตื่นตระหนก (panic disorder) โรควิตกกังวลอื่น ๆ และการติดสารเสพติด ซึ่งเป็นอาการที่เคยวินิจฉัยว่าเป็นโรคประสาท (neurosis)[3][4][5][6][7]
ในนัยตรงกันข้าม บุคคลที่ได้คะแนนต่ำทางลักษณะบุคลิกภาพนี้ จะมีอารมณ์ที่เสถียรกว่า และมีปฏิกิริยาน้อยกว่าต่อความเครียด มักจะเป็นบุคคลที่นิ่ง ๆ มีอารมณ์สม่ำเสมอ และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะรู้สึกตึงเครียดหรือว้าวุ่น แม้ว่าจะไม่มีอารมณ์เชิงลบมาก แต่ก็ไม่แน่ว่าจะมีอารมณ์เชิงบวกมาก เพราะว่า การมีอารมณ์เชิงบวกมากเป็นลักษณะบุคลิกภาพอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion หรือ extroversion) คือ เป็นผู้ที่มักใส่ใจในเรื่องภายนอก[8] ดังนั้น ผู้ที่มักใส่ใจในเรื่องภายนอกที่มีลักษณะบุคลิกภาพนี้ด้วย จะมีทั้งอารมณ์เชิงบวกและเชิงลบสูง บุคคลที่มีคะแนนต่ำในลักษณะบุคลิกภาพนี้ (โดยเฉพาะผู้ที่มักใส่ใจในเรื่องภายนอก) มักจะรายงานว่ามีความสุขความพอใจในชีวิตที่ดีกว่า[9]
โดยเหมือนกับลักษณะบุคลิกภาพอื่น ๆ วิตกจริตถูกมองว่ามีระดับต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นแบบ "เป็น" หรือ "ไม่เป็น" คะแนนที่ได้ในการวัดลักษณะนี้ กระจายออกเป็นการแจกแจงปรกติ ถ้ามีตัวอย่างผู้ทำข้อสอบมากพอ
การวัดโดยทั่วไปเป็นแบบแจ้งเอง (self-report) แม้ว่า การวัดโดยให้คนอื่นแจ้ง เช่น โดยคนที่อยู่ในสถานะเดียวกัน ก็มีได้เหมือนกัน การวัดแบบแจ้งเองอาจเป็นแบบใช้คำ (lexical)[1] หรือใช้บทความ (statement)[10] ส่วนการตัดสินใจว่าจะใช้การวัดแบบไหนเพื่อใช้ในงานวิจัย จะกำหนดโดยค่าวัดทางจิตวิทยาอื่น ๆ (psychometric property) เวลา และพื้นที่ที่มีให้ใช้ในงานศึกษา
ในภาษาอังกฤษ การวัดโดยใช้คำ (lexical) จะใช้คำวิเศษณ์แต่ะละคำที่สะท้อนถึงลักษณะต่าง ๆ ของนิสัย เช่น ความวิตกกังวล ความอิจฉาริษยา การมีอารมณ์แปรปรวน ซึ่งมีประสิทธิผลทางด้านเวลาและพื้นที่ในงานวิจัยเป็นอย่างดี ในปี 1992 ศ.ดร.ลิวอิส โกลด์เบอร์ก ได้พัฒนาคำ 20 คำที่ใช้วัดลักษณะบุคลิกภาพ โดยเป็นส่วนของคำ 100 คำที่ใช้วัดลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง (Big Five personality traits)[11] ต่อมาในปี 1994 จึงมีการพัฒนาคำเพียง 8 คำที่ใช้วัด โดยเป็นส่วนของคำ 40 คำ[12] ต่อมาในปี 2008 จึงมีการปรับปรุงวิธีการวัดอย่างเป็นระบบ โดยเปลี่ยนไปใช้คำภาษาอังกฤษสากล ซึ่งมีความสมเหตุสมผล (validity) และความสม่ำเสมอ (reliability) ที่ดีกว่าในประชากรทั้งภายในและภายนอกทวีปอเมริกาเหนือ[1] โดยมีความสม่ำเสมอหรือความเชื่อถือได้ภายใน (internal consistency/reliability) ในการวัดระดับวิตกจริต สำหรับผู้พูดภาษาอังกฤษแต่กำเนิดที่ .84 และสำหรับผู้พูดภาษาอังกฤษพวกอื่นที่ .77[1]
การวัดโดยใช้บทความ (statement) มักจะใช้คำมากกว่า ดังนั้นก็จะใช้เนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมากกว่าการวัดโดยใช้คำ ตัวอย่างเช่น จะมีการถามผู้รับสอบว่า ตนสามารถ "สงบนิ่งภายใต้แรงกดดัน" ได้เท่าไร หรือ "มีการแปรปรวนของอารมณ์" หรือไม่[10] แม้ว่าการวัดโดยวิธีนี้จะมีคุณลักษณะทางจิตวิทยาต่อประชากรอเมริกาเหนือเหมือนกับการวัดโดยคำ แต่การพัฒนาระบบวัดที่แฝงอยู่ใต้วัฒนธรรม ทำให้ใช้กับประชากรกลุ่มอื่นไม่ได้ดีเท่า[13] ยกตัวอย่างเช่น บทความอังกฤษที่เป็นภาษาปากในอเมริกาเหนือเช่น "Seldom feel blue" (แทบไม่เคยรู้สึกซึมเศร้า) และ "Am often down in the dumps" (บ่อยครั้งรู้สึกซึมเศร้า) บางครั้งเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษแต่กำเนิดจะเข้าใจ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของวลีภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลที่ใช้ในการทดสอบ
ยังมีการศึกษาลักษณะบุคลิกภาพเช่นนี้เปรียบเทียบกับ "ทฤษฎีบุคลิกภาพจิตชีวภาพของเกรย์" (Gray's biopsychological theory of personality) ด้วย โดยเทียบกับค่าวัดบุคลิกภาพของทฤษฎีในสองมิติ คือ Behavioural Inhibition System (ตัวย่อ BIS เป็นระบบที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ทำให้วิตกกังวล) และ Behavioural Activation System (ตัวย่อ BAS เป็นระบบที่ตอบสนองต่อความทะยานอยากเพื่อทำเป้าหมายให้สำเร็จ)[15][16] โดยที่ระบบ BIS เป็นระบบที่ไวต่อการถูกลงโทษ (punishment) และที่ให้แรงจูงใจเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยง (avoidance motivation) ในขณะที่ระบบ BAS เป็นระบบที่ไวต่อรางวัล (reward) และให้แรงจูงใจเพื่อจะเข้าไปหา (approach motivation) งานศึกษาพบว่า ระดับวิตกจริต มีสหสัมพันธ์เชิงบวกกับค่าวัด BIS และเชิงลบกับค่าวัด BAS[17][18]
งานวิจัยพบว่า ความผิดปกติทางจิตมากมายสัมพันธ์กับระดับวิตกจริตที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรทั่วไป[3][19][20] รวมทั้งความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) ต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล ความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทาน (eating disorder) และโรคจิตเภท, และความผิดปกติอื่น ๆ รวมทั้ง schizoaffective disorder, dissociative identity disorder, และ hypochondriasis แต่ความผิดปกติทางอารมณ์ (mood) สัมพันธ์กับระดับวิตกจริต สูงกว่าความผิดปกติอย่างอื่น ๆ[3]
ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality disorder) ดังที่มีรายชื่ออยู่ใน DSM-IV โดยทั่วไปสัมพันธ์กับระดับวิตกจริต ที่สูงขึ้น[3][21] งานวิเคราะห์อภิมานหนึ่งพบว่าความผิดปกติทางบุคลิกภาพต่าง ๆ รวมทั้งแบบก้ำกึ่ง แบบหวาดระแวง (paranoid) แบบจิตเภท (schizotypal) แบบหลีกเลี่ยง (avoidant) และแบบพึ่งพา (dependent) ล้วนแต่สัมพันธ์กับระดับวิตกจริตอย่างมีนัยสำคัญ (คือมีระดับสหสัมพันธ์ระหว่าง .28-.49) ส่วนความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่เหลือ คือ แบบหลงตัวเอง (narcissistic) และแบบ histrionic มีสหสัมพันธ์น้อยหรือไม่สำคัญกับระดับวิตกจริต
ระดับวิตกจริต ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับความแตกต่างทางกายภาพของสมอง ศ.จิตวิทยาทรงอิทธิพล ดร. ไอเซ็งก์ ตั้งทฤษฎีว่า วิตกจริต เป็นหน้าที่การงานของระบบลิมบิก และงานวิจัยของเขาบอกเป็นนัยว่า บุคคลที่มีคะแนนสูงทางวิตกจริต จะมีระบบประสาทซิมพาเทติกที่ไวปฏิกิริยา และดังนั้น บุคคลนั้นจะไวต่อสิ่งเร้าของสิ่งแวดล้อมมากกว่า[22] ส่วนนักวิจัยทางพันธุศาสตร์พฤติกรรมพบว่า ระดับต่าง ๆ กันของวิตกจริต ส่วนหนึ่งมีเหตุมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม[23]
งานศึกษาปี 2007 ที่สร้างภาพสมองโดยใช้ PET พบว่า บุคคลปกติ (ที่ไม่เป็นโรคจิต) ที่ได้คะแนนสูงทางวิตกจริต (วัดโดย Revised NEO Personality Inventory) มีการยึดเหนี่ยวกับสารประกอบ altanserin ที่บริเวณด้านหน้าของระบบลิมบิก (frontolimbic region) ในระดับสูงกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นตัวชี้ว่าบุคคลเหล่านี้มีหน่วยรับความรู้สึกประเภท 5-HT2A มากกว่าในบริเวณสมองนั้น[24] และงานวิจัยปี 1996 ก็แสดงว่า คนฆ่าตัวตายและคนไข้โรคซึมเศร้ามีหน่วยรับความรู้สึกประเภท 5-HT2A มากกว่าคนไข้อื่น ซึ่งบอกเป็นนัยว่า การมีหน่วยรับความรู้สึกประเภทนี้มากเกินไปอาจจะเกี่ยวข้องกับพยาธิกำเนิดของโรคซึมเศร้า[25]
ส่วนงานศึกษาอีกงานหนึ่งที่สร้างภาพสมองโดยใช้สารประกอบ DASB ที่ประกอบกับคาร์บอนกัมมันตรังสี (carbon-11) พบว่า บุคคลปกติ (ไม่มีโรคซึมเศร้า) ที่มีระดับวิตกจริต สูงมักจะมีการยึดเหนี่ยวกับ DASB ในบริเวณทาลามัส (ซึ่งมีส่วนของระบบลิมบิก) ในระดับที่สูงกว่า สาร DASB เป็นลิแกนด์ที่ยึดเหนี่ยวกับโปรตีนขนส่งเซโรโทนิน (serotonin transporter protein) อย่างเฉพาะเจาะจง[26] ดังนั้นจึงเป็นตัวชี้ว่า บุคคลปกติที่มีระดับวิตกจริต สูง มีโปรตีนขนส่งเซโรโทนินในทาลามัสในระดับที่สูงกว่า และโอกาสความเสี่ยงต่ออารมณ์เชิงลบอาจเกิดสัมพันธ์กันกับการทำงานในทาลามัส
งานศึกษาปี 2001 ที่สร้างภาพสมองด้วย MRI เพื่อวัดปริมาตรสมองพบว่า ปริมาตรสมองมีสหสัมพันธ์เชิงลบกับค่า วิตกจริต (วัดโดย Revised NEO Personality Inventory) แม้ว่าจะได้ควบคุมแก้ผลที่อาจมาจากปริมาตรของกะโหลกศีรษะ จากเพศ และจากอายุ[27] ส่วนงานศึกษาในปี 2009 พบว่า ระดับวิตกจริต ที่สูงกว่าสัมพันธ์กับการสูญเสียปริมาตรของสมองที่สูงกว่าเมื่อสูงวัยขึ้น[28]
มีงานศึกษาอื่น ๆ ที่สัมพันธ์ วิตกจริต กับความแตกต่างกันทางพันธุกรรม เช่น กับ 5-HTTLPR ซึ่งเป็นยีนที่มีภาวะพหุสัณฐาน โดยมีหน้าที่เข้ารหัสโปรตีนขนส่งเซโรโทนิน[29] ซึ่งเป็นโปรตีนเป้าหมายของยา selective serotonin reuptake inhibitor ที่ใช้สำหรับคนไข้โรคเศร้าซึมอย่างรุนแรง แต่ว่า ก็ยังมีงานศึกษาอื่น ๆ ที่ไม่พบความสัมพันธ์เช่นนี้[30] งานศึกษา GWA study หนึ่ง ได้สัมพันธ์นิวคลีโอไทด์เดียวที่มีภาวะพหุสัณฐาน (single-nucleotide polymorphism) ในยีน MDGA2 กับความวิตกจริต[31] แต่ขนาดผลต่าง (effect size) ที่พบค่อนข้างจะน้อย งานศึกษา GWA study อีกงานหนึ่งให้หลักฐานเป็นบางส่วนว่า ภาวะพหุสัณฐานของ rs362584 ในยีน SNAP25 สัมพันธ์กับระดับวิตกจริต[32]
งานทดลองปี 2008 ตรวจสอบการตอบสนองทางประสาทต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน (ที่บุคคลที่มีคะแนนสูงทางวิตกจริต จะไม่ชอบ) มีการให้ผู้ร่วมการทดลองข้อมูลป้อนกลับแบบเชิงบวก แบบเชิงลบ และแบบไม่แน่นอน เกี่ยวกับงานที่ทำ และวัด feedback-related negativity (FRN) ซึ่งเป็นสัญญาณทางประสาทที่เกิดขึ้นประมาณ 250 มิลลิวินาทีหลังจากที่ได้รับข้อมูลป้อนกลับ สำหรับผู้ร่วมการทดลองทุกคน FRN หลังจากการได้ข้อมูลป้อนกลับเชิงลบจะมากกว่าหลังจากที่ได้ข้อมูลเชิงบวก แต่ว่า สำหรับผู้ร่วมการทดลองที่มีความวิตกจริต ในระดับสูง ข้อมูลแบบไม่แน่นอนทำให้เกิดปฏิกิริยาสูงกว่าข้อมูลเชิงลบ[33]
งานวิจัยต่าง ๆ พบว่า เวลาตอบสนองมัชฌิมของบุคคลที่มีความวิตกจริต ในระดับสูงจะไม่ต่างกับบุคคลที่มีในระดับต่ำ แต่ว่า คนที่มีความวิตกจริต ในระดับสูงจะมีค่าความผันแปร (variability) ของการตอบสนองในระหว่างการทดสอบมากกว่า โดยสะท้อนให้เห็นในค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของเวลาการตอบสนอง กล่าวอีกอย่างก็คือ ในการทดสอบบางคราว คนที่มีอารมณ์ไม่เสถียร จะตอบสนองเร็วกว่าค่ามัชฌิมมาก แต่ในการทดสอบอื่น ๆ ก็จะช้ากว่ามาก นักจิตวิทยาได้เสนอว่า ความผันแปรเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณรบกวน (noise) ในระบบประมวลข้อมูลของบุคคล หรือถึงความไม่เสถียรของการทำงานทางประชานขั้นพื้นฐานเช่นในระบบควบคุม และสัญญาณรบกวนเช่นนี้มีแหล่งเกิด 2 แหล่ง คือ การมีใจหมกหมุ่น (preoccupation) และกระบวนการไวตอบสนองต่าง ๆ (reactivity process)[34]
งานปี 2007 ศึกษาสัญญาณรบกวนในพฤติกรรมชีวิตประจำวันโดยใช้แบบคำถามวัดความขัดข้องทางประชาน (Cognitive Failures Questionnaire) ซึ่งเป็นการวัดแบบแจ้งเองของความถี่ที่เกิดการ "slip" (ผิด) และ "lapse" (พลาด) ของการใส่ใจ (และทั้งสองเป็นความขัดข้องทางประชาน) โดยการ "ผิด" เป็นการทำผิด และการ "พลาด" เป็นการไม่ได้ทำ แล้วตรวจสอบว่ามีสหสัมพันธ์กับระดับวิตกจริต วัดโดย BIS/BAS scales และ Eysenck Personality Questionnaire หรือไม่ นักวิจัยพบว่า คะแนนส่วน CFQ-UA (Cognitive Failures Questionnaire-Unintended Activation) ที่แสดงการทำงานที่ไม่ได้ตั้งใจ มีระดับสหสัมพันธ์สูงสุดกับความวิตกจริต (r = .40) เทียบกับค่าสหสัมพันธ์กับ CFQ โดยรวม (r = .26) ที่อยู่ในระดับสำคัญ หรือเทียบกับส่วนย่อยของ CFQ อื่น ๆ นักวิจัยเสนอว่า ผลที่พบ บอกเป็นนัยถึงความเป็นธรรมชาติจำกัดเฉพาะพิเศษของสัญญาณรบกวน ที่สัมพันธ์มากที่สุดกับการ "ผิด" ของการใส่ใจ ลั่นไกภายในโดยระบบความจำเชื่อมโยง (associative memory) หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ อาจจะบอกเป็นนัยว่า สัญญาณรบกวนทางใจ โดยมากเป็นการทำงานทางประชานที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำ เช่น ความกังวลใจหรือการมีใจหมกหมุ่น[35]
งานศึกษาหนึ่งพบว่า[36] โดยเฉลี่ย หญิงมีความวิตกจริต ในระดับสูงกว่าชายพอสมควร (moderate) นี่เป็นงานที่ศึกษาความแตกต่างระหว่างเพศ เกี่ยวกับลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง (Big Five personality traits) ในประเทศ 55 ประเทศ แล้วพบว่า เมื่อรวมกันทุกประเทศ ความแตกต่างระหว่างเพศที่ชัดที่สุดก็คือระดับวิตกจริต โดยมีค่าวัดแบ่งระดับเป็นมาก (large, d > .80) พอสมควร (moderate, d = .50-.80 ) น้อย (small, d = .20-.50) และไม่สำคัญ (negligible, d < .20) ในบรรดา 55 ประเทศ ไม่มีประเทศไหนเลยที่ชายมีระดับวิตกจริต สูงกว่าหญิงอย่างสำคัญ แต่หญิงมีระดับสูงกว่าชายอย่างสำคัญใน 48 ประเทศ โดย 2 ประเทศแตกต่างอย่างมาก (ประเทศอิสราเอลและโมร็อกโก), 17 ประเทศแตกต่างอย่างพอสมควร, 29 ประเทศแตกต่างกันน้อย, และ 7 ประเทศแตกต่างอย่างไม่สำคัญ (ประเทศบังกลาเทศ แทนซาเนีย เอธิโอเปีย กรีซ ญี่ปุ่น บอตสวานา และอินโดนีเซีย)
คนแอฟริกา เอเชีย และเอเชียใต้ มักจะมีความแตกต่างระหว่างเพศที่น้อยกว่าโดยทั่วไปเทียบกับประเทศตะวันตก (คือยุโรป อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้) แต่ผู้หญิงมักจะมีระดับวิตกจริต คล้าย ๆ กันในทุก ๆ เขตที่ศึกษา แต่ระดับของผู้ชายแตกต่างกันมาก คือ ชายในประเทศตะวันตกมักจะมีระดับวิตกจริต ที่ต่ำกว่า เทียบกับคนแอฟริกาและคนเอเชีย และโดยมากในประเทศที่มีระดับการพัฒนามนุษย์ที่ดี (ยกเว้นกรีซกับญี่ปุ่น) ผู้ชายจะมีระดับวิตกจริต ที่ต่ำกว่าอย่างสำคัญ
มีการสร้างแผนที่ระดับวิตกจริต และลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่างอื่น ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา คนในรัฐด้านทิศตะวันออกเช่นรัฐนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ เวสต์เวอร์จิเนีย และมิสซิสซิปปี มักจะมีระดับวิตกจริต ที่สูงกว่า ในขณะที่คนในรัฐทิศตะวันตกเช่นยูทาห์ โคโลราโด เซาท์ดาโคตา ออริกอน และแอริโซนามักจะมีระดับต่ำกว่าโดยเฉลี่ย โดยที่บุคคลในรัฐที่มีระดับวิตกจริต สูงกว่ามักจะมีโรคระบบหัวใจหลอดเลือดในอัตราที่สูงกว่า และมีอายุขัยเฉลี่ยที่ต่ำกว่า[37]
ทฤษฎีหนึ่งในทฤษฎีทางวิวัฒนาการต่าง ๆ เกี่ยวกับความซึมเศร้าพุ่งความสนใจมาที่ความวิตกจริต คือ ความวิตกจริต ในระดับพอสมควรอาจมีประโยชน์ เช่นเพิ่มความมุ่งมั่นและประสิทธิผลในการทำงาน เพราะว่าไวต่อผลลบมากกว่า แต่ถ้ามีมากเกินไป ก็อาจจะลดระดับความเหมาะสม (fitness) เช่นเพราะทำให้เกิดความซึมเศร้าซ้ำ ๆ ดังนั้น กระบวนการวิวัฒนาการจะเลือกระดับที่เหมาะสมที่สุด และคนโดยมากจะมีความวิตกจริต ใกล้ ๆ ระดับนี้ แต่ว่า เพราะว่า ค่าวัดระดับวิตกจริต น่าจะกระจายเป็นแบบการแจกแจงปกติในประชากร ดังนั้น จะมีคนส่วนน้อยที่มีระดับวิตกจริต สูง[38]
วิตกจริต เป็นมิติหนึ่งในสี่มิติของการประเมินตัวเองหลัก (core self-evaluations) ซึ่งรวม locus of control (ที่ตั้งการควบคุม), self-efficacy (ประสิทธิศักย์ของตน), และ self-esteem (การเคารพตน)[39] มีการศึกษาแนวคิดเช่นนี้เป็นครั้งแรกในปี 1997[39] และตั้งแต่นั้นมากก็ได้พบหลักฐานว่า เป็นแนวคิดที่สามารถพยากรณ์ผลต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงานในอาชีพได้ โดยเฉพาะก็คือ พยากรณ์ความพอใจในงานและประสิทธิภาพการทำงาน[39][40][41][42][43]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.