แบทแมน บีกินส์ (อังกฤษ: Batman Begins) เป็นภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร ฉายเมื่อปี ค.ศ. 2005 กำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน เขียนบทโดย โนแลนและเดวิด เอส. โกเยอร์ สร้างจากตัวละคร แบทแมน ของ ดีซีคอมิกส์ แสดงนำโดย คริสเตียน เบล เป็น บรูซ เวย์น / แบทแมน ร่วมกับ ไมเคิล เคน, เลียม นีสัน, แคที โฮล์มส์, แกรี โอลด์แมน, คิลเลียน เมอร์ฟี, ทอม วิลกินสัน, รุทเทอร์ ฮาวเวอร์, เคน วาตานาเบะและมอร์แกน ฟรีแมน ในบทบาทสมทบ ภาพยนตร์เป็นการรีบูตภาพยนตร์ชุด แบทแมน โดยเล่าเรื่องราวต้นกำเนิดของ บรูซ เวย์น ตั้งแต่การเสียชีวิตของพ่อแม่ของเขาจนถึงการเดินทางสู่การเป็นแบทแมน และต่อสู้เพื่อหยุดยั้ง ราส์ อัล กูลและสแกร์โครว เพื่อไม่ให้เมืองกอตแทมเข้าสู่ความโกลาหล

ข้อมูลเบื้องต้น แบทแมน บีกินส์, กำกับ ...
แบทแมน บีกินส์
ไฟล์:ใบปิดหนังแบทแมน บีกินส์.jpg
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน
บทภาพยนตร์
  • คริสโตเฟอร์ โนแลน
  • เดวิด เอส. โกเยอร์
เนื้อเรื่องเดวิด เอส. โกเยอร์
สร้างจากตัวละครที่ปรากฏตัวในหนังสือการ์ตูนที่ตีพิมพ์
โดย ดีซีคอมิกส์
อำนวยการสร้าง
  • ชาร์ลส์ โรเวน
  • เอ็มมา ทอมัส
  • แลร์รี แฟรงโก
นักแสดงนำ
กำกับภาพวอลลี ฟิสเตอร์
ตัดต่อลี สมิท
ดนตรีประกอบ
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สพิกเชอส์
วันฉาย
  • 15 มิถุนายน ค.ศ. 2005 (2005-06-15) (สหรัฐ)

  • 17 มิถุนายน ค.ศ. 2005 (2005-06-17) (สหราชอาณาจักร)
ความยาว140 นาที[1]
ประเทศ
  • สหรัฐ[2]
  • สหราชอาณาจักร[2]
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[3]
ทำเงิน373.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[3]
ปิด

โนแลนและโกเยอร์เริ่มพัฒนาภาพยนตร์ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2003 เป้าหมายหลักสำหรับวิสัยทัศน์ของพวกเขาคือ การมีอารมณ์ร่วมของผู้ชมในตัวตนของแบทแมนและบรูซ เวย์น ในฐานะตัวละครหลัก และต้องการให้โทนของภาพยนตร์นั้นมืดมนกว่าและสมจริงกว่าภาพยนตร์แบทแมนก่อนหน้านี้ ภาพยนตร์ถ่ายทำที่สหราชอาณาจักร, ไอซ์แลนด์และชิคาโก ภาพยนตร์ใช้การแสดงโลดโผนแบบดั้งเดิมและเอฟเฟกต์ย่อส่วนอย่างมาก โดยใช้ภาพที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ในปริมาณที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภาพยนตร์โลดโผนอื่น ๆ เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ได้รับแรงบันดาลใจจากเนื้อเรื่องในหนังสือการ์ตูน เช่น เดอะแมนฮูฟอลส์, แบทแมน: เยียร์วัน และ แบทแมน: เดอะลองฮาโลวีน

แบทแมน บีกินส์ เปิดตัวในโรงภาพยนตร์สหรัฐจำนวน 3,858 โรง เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2005 ทำเงินมากกว่า 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันเปิดวันหยุดสุดสัปดาห์ในอเมริกาเหนือ ภาพยนตร์ทำเงินทั่วโลกมากกว่า 373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักวิจารณ์ โดยชมในเรื่องของโทน, ฉากโลดโผน, ดนตรีประกอบ, การกำกับและน้ำหนักทางอารมณ์เมื่อเทียบกับภาพยนตร์แบทแมนเรื่องก่อน ๆ แบทแมน บีกินส์ ได้รับการเสนอชื่อในรางวัลออสการ์ สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม และมักได้รับอ้างอิงว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดเรื่องหนึ่งในทศวรรษ 2000 ภาพยนตร์ตามมาด้วยภาคต่อ แบทแมน อัศวินรัตติกาล (2008) และ แบทแมน อัศวินรัตติกาลผงาด (2012) ทั้งสามภาครวมกันเป็น อัศวินรัตติกาลไตรภาค

โครงเรื่อง

เมื่ออายุ 8 ขวบ บรูซ เวย์น (กัส เลวิส) ได้พลัดตกลงไปในถ้ำใต้ดินแห่งหนึ่งบริเวณคฤหาสน์ที่เขาอาศัย ณ ที่นั้น เขาได้เผชิญหน้ากับฝูงค้างคาวขนาดใหญ่ พวกมันได้ฝังความกลัวค้างคาวในใจของเขาตั้งแต่นั้นมา วันหนึ่ง พ่อและแม่ของเขาได้พาเขาไปชมละครเวที ในละครเรื่องนั้นประกอบไปด้วยตัวละครที่มีลักษณะคล้ายค้างคาว เมื่อพวกมันปรากฏตัว เวย์นก็เกิดความกลัวและเร่งเร้าให้พ่อและแม่พาเขากลับบ้าน หลังจากที่เดินออกจากโรงละครแห่งนั้น พ่อและแม่ของเวย์นก็ถูกสังหารโดยโจรจี้ปล้นที่ชื่อ โจ ชิลล์ (ริชาร์ด เบรก) ซึ่งถูกจับกุมอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นไม่นาน จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เวย์นเฝ้าโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อและแม่ของเขาเสียชีวิต

หลายปีต่อมา หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน บรูซ เวย์น (คริสเตียน เบล) ก็เดินทางกลับมายังเมืองกอตแทม บ้านเกิดของเขาอีกครั้งเพื่อมาฆ่าชิลล์ ที่ขณะนั้นถูกศาลเลื่อนการตัดสินคดีฆาตกรรมพ่อและแม่ของเขาไป เพื่อใช้เป็นพยานให้การในคดีความของผู้ทรงอิทธิพลที่ชื่อ คาร์ไมน์ ฟัลโคนี (ทอม วิลคินสัน) แต่ก่อนที่เวย์นจะลงมือ หนึ่งในลูกน้องของฟัลโคนีก็ชิงสังหารชิลล์ไปเสียก่อน เวย์นได้เล่าแผนการที่ล้มเหลวของเขาให้ แรเชล ดอวส์ (แคที โฮล์มส์) เพื่อนสนิทหญิงตั้งแต่วัยเด็กฟัง เมื่อได้รับรู้แผนการดังกล่าว เธอก็แสดงความรังเกียจต่อแผนการแก้แค้นอันหน้ามืดตามัวและไม่ตระหนักถึงความยุติธรรมของเขา

ครั้งหนึ่ง เวย์นได้ไปเผชิญหน้ากับฟัลโคนี ผู้ซึ่งกล่าวกับเขาว่า ตัวเขานั้นไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติของอาชญากรรมเลย จากคำพูดดังกล่าว เวย์นได้ตัดสินใจที่จะเดินทางไปในมุมต่าง ๆ ของโลก เพื่อทำความเข้าใจจิตวิญญาณของการเป็นอาชญากร ประมาณ 7 ปีหลังจากนั้น เวย์นก็ถูกจับกุมที่ประเทศจีนโทษฐานที่เป็นขโมยและถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำของชาวภูฏาน ณ ที่แห่งนั้น เขาได้พบกับ เฮนรี ดูคาร์ด (เลียม นีสัน) ผู้ซึ่งเชิญให้เขาไปเข้าร่วมกับกลุ่มศาลเตี้ยชั้นนำที่ชื่อ สหพันธ์แห่งเงา (League of Shadows) ที่นำโดยหัวหน้ากลุ่มที่ชื่อ ราส์ อัลกูห์น (เคน วะตะนะเบะ) เวย์นได้เดินทางไปเข้าร่วมกับกลุ่มตามคำเชิญ เขาได้รับการต้อนรับ เลี้ยงอาหาร และฝึกวิชาการสู้รบร่วมกับกลุ่มทุกรูปแบบ โดยมีดูคาร์ดเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอน จนเขาสามารถขจัดความกลัวในวัยเด็กของเขาได้ แต่เมื่อเขาได้รู้ว่า กลุ่มตั้งใจจะใช้เขาเพื่อเป็นเครื่องมือทำลายเมืองกอตแทม เขาจึงปฏิเสธความตั้งใจนั้นด้วยการทำลายฐานบัญชาการของกลุ่มและสังหารราส์ อัลกูล ขณะที่ฐานบัญชาการถล่มจนเป็นซากหักพัง เวย์นได้ช่วยชีวิตดูคาร์ดที่กำลังหมดสติเอาไว้ และนำเขาไปพักรักษาตัวในหมู่บ้านแถบนั้น

บรูซ เวย์น กลับมาสู่เมืองกอตแทมอีกครั้ง ขณะนั้น เมืองเกือบทั้งเมืองกำลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของฟัลโคนี เวย์นจึงวางแผนที่จะทำสงครามกับระบบฉ้อฉลของฟัลโคนีด้วยตัวคนเดียว เขาได้แลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกับดอวส์ ที่กำลังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอัยการเขต และจ่า จิม กอร์ดอน (แกรี โอลด์แมน) นายตำรวจที่เคยปลอบขวัญเขาหลังจากที่พ่อและแม่ของเขาถูกฆ่า และหลังจากที่เวย์นสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับบริษัท เวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของ วิลเลียม เออรล์ (Rutger Hauer) เขาก็ได้รับความช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นรถหุ้มเกราะ ชุดเกราะ รวมไปถึงนวัตกรรมจากอดีตกรรมการของบริษัทที่ชื่อ ลูเซียส ฟอกซ์ (มอร์แกน ฟรีแมน) เพื่อนำมาใช้สร้างชุดเครื่องแบบแบทแมน

ภายใต้เครื่องแบบใหม่และความสามารถของอุปกรณ์ช่วยเหลือที่ได้เปรียบ เวย์นได้ลอบทำลายกระบวนการขนส่งยาเสพติดทางเรือของฟัลโคนี และจับตัวฟัลโคนีไปมัดไว้กับไฟฉายดวงใหญ่บนยอดอาคารสูง และช่วยเหลือดอวส์จากการถูกลอบสังหารโดยคนของฟัลโคนี และได้ทิ้งหลักฐานที่จะใช้เอาผิดเกี่ยวกับบัญชีเงินเดือนของฟัลโคนีให้เธอ

วันหนึ่ง ขณะที่บรูซ เวย์น ในคราบแบทแมนกำลังออกสืบสวนหายาที่ "ผิดปกติ" อยู่นั้น เขาก็ถูกพ่นสารเคมีหลอนประสาทที่มีฤทธิ์รุนแรงใส่ โดยนักจิตเภสัชวิทยาที่ชื่อ ดร. โจนาทาน เครน (ซิลเลียน เมอร์ฟี) ฤทธิ์ยาทำให้เขาประสาทหลอน แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจาก อัลเฟรด เพนนีเวิร์ท (ไมเคิล เคน) หัวหน้าคนรับใช้ประจำตระกูล ด้วยยาแก้พิษที่พัฒนาโดยฟอกซ์

ต่อมา หลังจากที่ดอวส์ออกสืบหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับฟัลโคนีจนไปพบแผนการของ ดร. เครน ที่จะละลายสารพิษไปตามระบบประปาของเมืองกอตแทม เธอก็ถูกสารเคมีหลอนประสาทจากเครน แต่แบทแมนก็เข้ามาช่วยเธอไว้ได้ทัน และจัดการกับเครนด้วยสารเคมีของเขาเอง ตำรวจเข้ามาจับกุมเคนไว้ได้ ขณะที่แบทแมนพาดอวส์รบหนีไปที่ถ้ำค้างคาว หลังจากที่แบทแมนฉีดยาถอนพิษให้แก่ดอวส์แล้ว เขาก็ฝากยาถอนพิษอีก 2 ขวดให้เธอนำไปให้จ่ากอร์ดอน โดยขวดหนึ่งฉีดเข้าตัวของจ่ากอร์ดอนเอง ส่วนอีกขวดให้นำไปผลิตเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชน

ขณะที่เวย์นจัดงานฉลองวันเกิดของเขาที่คฤหาสน์เวย์น เขาได้เผชิญหน้ากับดูคาร์ดและกลุ่มนินจาจากสหพันธ์แห่งเงา ดูคาร์ดได้เปิดเผยว่าตัวเขาเองคือราส์ อัลกูล ส่วนคนที่เวย์นฆ่านั้นเป็นตัวปลอม ราส์ได้กล่าวถึงแผนการที่จะล้างเมืองกอตแทมให้ปลอดจากมลทินและความฉ้อฉล ด้วยการแพร่สารพิษของเครนลงสู่ระบบประปาของเมือง และทำให้มันละเหยเป็นไอด้วยเครื่องยิงคลื่นไมโครเวฟที่ขโมยมาจากเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ เมื่อได้ยินดังนั้น เวย์นจึงล่อให้แขกในงานทั้งหมดออกไปจากคฤหาสน์โดยการทำทีว่าเมาและกล่าวคำไม่สุภาพ หลังจากนั้น เขาจึงต่อสู้กับราส์ในขณะที่คฤหาสน์ถูกวางเพลิงโดยกลุ่มสหพันธ์แห่งเงา เวย์นเสียท่าแก่ราส์และคฤหาสน์ก็เริ่มพังทลาย แต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลเฟรดทำให้เขารอดชีวิตมาได้

หลังจากเปลี่ยนตัวตนเป็นแบทแมน เขาได้เดินทางไปในเขตแออัดของเมืองเพื่อช่วยเหลือตำรวจในการปะทะกับกลุ่มคนไข้วิกลจริตจากสถานพักฟื้นอาร์กแฮม ซึ่งได้รับการปล่อยตัวโดยสหพันธ์แห่งเงา เครน (ซึ่งตอนนี้เรียกตนเองว่า หุ่นไล่กา หรือ สแกร์โครว์) ซึ่งเป็นหนึ่งในคนไข้เหล่านั้นได้เข้าทำร้ายดอวส์ที่เดินทางมามอบยาถอนพิษให้กับกอร์ดอน แต่ดอวส์สามารถป้องกันตัวไว้ได้ แต่เมื่อคนไข้คนอื่น ๆ เริ่มติดตามเธอเข้ามา แบทแมนก็มารับตัวเธอไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและเปิดเผยอัตลักษณ์ที่แท้จริงของเขาให้เธอทราบ

แบทแมนได้มอบหมายให้กอร์ดอนนำรถแบทโมบิลของเขาไปหยุดการเดินทางของรถไฟฟ้าที่บรรทุกเครื่องยิงคลื่นไมโครเวฟไปสู่จุดศูนย์กลางระบบประปาของเมือง บนรถไฟฟ้า แบทแมนได้ขึ้นไปต่อสู้กับราส์อีกครั้ง เมื่อราส์เสียท่า แบทแมนจึงได้หลบหนีออกจากรถไฟ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่กอร์ดอนใช้มิสไซล์จากแบทโมไบล์ยิงโค่นเสาค้ำรางรถไฟฟ้าพอดี ส่งผลให้ราส์และรถไฟฟ้าขบวนนั้นตกลงมายังพื้นและระเบิดไปพร้อมเครื่องยิงคลื่นไมโครเวฟในที่สุด

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไป แบทแมนก็กลายเป็นวีรบุรุษของสาธารณะ เวย์นได้ซื้อหุ้นของเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์คืนมาจนสามารถควบคุมองค์กรทั้งหมดได้และแต่งตั้งฟอกซ์ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนเออรล์ แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่สามารถจะปรองดองความรักกับดอวส์ได้อย่างสนิทใจ เนื่องจากชีวิตสองด้านของเขาระหว่างความเป็นเวย์นและความเป็นแบทแมน

ท้ายเรื่อง กอร์ดอน ที่ขณะนี้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นร้อยตำรวจโท ได้เรียกแบทแมนมารับทราบเกี่ยวกับอาชญากรคนใหม่ โดยมีหลักฐานในที่เกิดเหตุเป็นไพ่โจกเกอร์ กอร์ดอนกล่าวว่า อาชญากรผู้นี้ "หลงใหลมายา" เหมือนกับแบทแมน เมื่อรับทราบข้อมูลทั้งหมด แบทแมนก็สัญญาว่าจะสืบสวนหาตัวอาชญากรผู้นี้ให้ กอร์ดอนกล่าวทิ้งท้ายว่าเขายังไม่ได้ขอบคุณในสิ่งที่แบทแมนทำลงไป ซึ่งแบทแมนได้กล่าวตอบว่า "คุณไม่ต้องทำเช่นนั้น" ก่อนที่เขาจะบินออกไปสู่ความมืดมิด

นักแสดง

Thumb
แบทแมน (คริสเตียน เบล)
ข้อมูลเบื้องต้น

"เราจะใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปในตัวแบทแมน เขามีพละกำลังก็เพราะวิดพื้น แล้วเขาเอาอาวุธทั้งหมดนั่นมาจากไหนน่ะเหรอ? ก็เพราะเขาเป็นเศรษฐีพันล้าน แล้วทำไมต้องใส่ชุดบ้านั่นน่ะเรอะ? ก็จะได้หลอกให้คนกลัวไง เพราะจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้อยากสู้กับใครสักเท่าไรหรอก"

- คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์[4]

ปิด

มหาเศรษฐีพันล้านแห่งเมืองกอตแทม ผู้ซึ่งเสียบิดามารดาไปจากการถูกสังหารโดยโจรจี้ปล้นตั้งแต่อายุแปดขวบ เขาออกท่องเที่ยวไปในโลกกล้วเป็นเวลาหลายปีเพื่อค้นหาวิธีที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรม เมื่อเขากลับมาสู่เมืองกอตแทม ในยามค่ำคืน เขาได้กลายเป็นแบทแมน ผู้ที่คอยปกป้องเมืองอย่างลับ ๆ จากเหล่าร้ายต่าง ๆ

ในการคัดเลือกผู้แสดงเป็นแบทแมนภาคนี้ ผู้กำกับคริสโตเฟอร์ โนแลน ได้วางตัวนักแสดงเอาไว้จำนวนหนึ่ง เช่น บิลลี ครูดับ, เจค จิลเลนฮาล, ฮิวจ์ แดนซี, โจชัว แจ็กสัน, เอียน ไบลีย์ และซิลเลียน เมอร์ฟี เป็นต้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกที่แท้จริง คือ คริสเตียน เบล โดยได้รับเลือกเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2546[5] เบลแสดงความสนใจที่จะเล่นบทนี้ตั้งแต่ช่วงที่ผู้กำกับภาพยนตร์ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี วางแผนว่าจะสร้างภาพยนตร์แบทแมนตามฉบับของเขาขึ้นมา[6] เบลรู้สึกว่าภาพยนตร์แบทแมนเรื่องก่อนหน้านั้นสนใจตัวละครแบทแมนน้อยเกินไป แต่กลับทุ่มเทความสำคัญให้กับตัวละครวายร้ายเสียมากกว่า[7]

โนแลนกล่าวถึงเบลว่า "เขาเป็นคนที่มีความสมดุลระหว่างด้านมืดกับด้านสว่างที่เด่นชัดอย่างที่เรากำลังตามหาอยู่"[8] ส่วนเดวิด เอส. โกเยอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์กล่าวว่า ขณะที่นักแสดงบางคนสามารถแสดงเป็นบูรซ เวย์น หรือแบทแมนที่ยิ่งใหญ่ (ด้านเดียว) ได้ เบลสามารถแสดงเป็นแบทแมนที่มี 2 บุคลิกที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่งได้[9] โดยเบลได้อธิบายว่า ในเรื่องนี้เขาต้องแสดงเป็นบรูซ เวย์น ถึง 4 อารมณ์ด้วยกัน ได้แก่ 1) เป็นคนหนุ่มที่เต็มไปด้วยความแค้น 2) สวมบทบาทเป็นแบทแมนที่เกรี้ยวกราดเดือดดาล 3) แสร้งทำเป็นหนุ่มเจ้าสำราญที่โง่เง่าเพื่อปกปิดตัวตน และ 4) เป็นผู้ใหญ่ที่ค้นพบจุดมุ่งหมายของชีวิต[10] ความไม่ชอบชุดแบทแมนของเบลที่ใส่แล้วร้อนเป็นประจำ ยิ่งทำให้เบลเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกทั้งสี่ได้ดีขึ้น โดยเขาได้กล่าวว่า "ชุดแบทแมนสื่อความหมายถึงความน่ากลัว และ (เวลาคุณใส่มัน) คุณจะกลายเป็นสัตว์ร้ายในชุดนั้น อย่างที่แบทแมนควรจะเป็น ไม่ใช่แค่คนที่ใส่ชุดอยู่ แต่ (ต้องกลายเป็น) สัตว์ประหลาดอีกชนิดหนึ่งไปเลย"[11]

เนื่องจากเบลได้ลดน้ำหนักไปเป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมแสดงภาพยนตร์เรื่อง หลอน...ไม่หลับ (The Machinist) ก่อนหน้าการถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาจึงไปจ้างผู้ฝึกสอนด้านฟิตเนสส่วนตัวมาช่วยเพิ่มน้ำหนักให้แก่เขาเป็นจำนวนหนึ่งร้อยปอนด์ ภายในเวลา 2 เดือน เพื่อให้ร่างกายพร้อมในการรับบทบาทแบทแมน ในช่วงแรก การเพิ่มนำหนักของเขาเป็นไปด้วยดี แต่หลังจากที่เขาตระหนักว่าการมีเรือนร่างที่ใหญ่โตไม่น่าจะเหมาะสมกับการเป็นแบทแมนที่อาศัยความเร็วและการวางกลยุทธ์เป็นหลัก เขาจึงตัดสินใจลดกล้ามเนื้อบางส่วนที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นลง[9] ส่วนเรื่องของการวางท่าทางต่าง ๆ ในภาพยนตร์ เบลได้ศึกษาจากภาพวาดและการ์ตูนแบทแมนเพื่อนำมาเป็นต้นแบบ[11]

นอกจากคริสเตียน เบล ที่มารับบทบาทของบรูซ เวย์น วัยหนุ่มแล้ว ก็ยังมีกัส เลวิส ที่มารับบทบาทของบรูซ เวย์น วัยเด็กเมื่อมีอายุ 8 ปี อีกด้วย

หัวหน้าคนรับใช้ประจำตระกูลเวย์นตั้งแต่รุ่นบิดามารดาของบรูซ เวย์น ซึ่งหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว อัลเฟรดก็ได้แสดงความภักดีด้วยการเลี้ยงดูบรูซ เวย์น ต่อ เขาคือคนที่บรูซสนิทสนมและไว้วางใจมากที่สุด โนแลนได้มอบบทบาทนี้ให้กับไมเคิล เคน เนื่องจากเขารู้สึกว่าเคนมีองค์ประกอบที่สามารถแสดงเป็นพ่อเลี้ยงได้[9]

แม้ว่าในภาพยนตร์จะพรรรนาถึงปูมหลังของครอบครัวของอัลเพรดไว้ว่า ทำหน้าที่รับใช้ตระกูลเวย์นมาหลายรุ่นหลายสมัย เคนก็ยังสร้างปูมหลังเพิ่มเติม โดยก่อนที่อัลเฟรดจะมารับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้รับใช้ เขาได้ทำงานให้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศมาก่อน ซึ่งหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ โทมัส เวย์น ก็ได้เชิญเขามาทำงานด้วย เพราะ "เขาต้องการหัวหน้าคนรับใช้ แต่ต้องเป็นคนที่แข็งแกร่งกว่าหัวหน้าคนรับใช้ทั่วไป..."[12]

แม้ว่าจะเรียกตัวเองว่า "เฮนรี ดูคาร์ด" แต่แท้จริงแล้วเขาคือ "ราส์ อัลกูล" ตัวร้ายของเรื่อง เขาคือผู้นำกลุ่มสหพันธ์แห่งเงาและผู้ฝึกสอนบรูซ เวย์น ให้รู้จักศิลปะป้องกันตัวแบบนินจิสึ

โกเยอร์แสดงความรู้สึกต่อตัวละครตัวนี้ว่า เขามีความซับซ้อนมากที่สุดในบรรดาตัวละครตัวร้ายทั้งหมดของการ์ตูนชุดแบทแมน โดยเขาได้นำราส์ อัลกูล ไปเปรียบกับอุซามะห์ บิน ลาดิน แล้วกล่าวว่า "เขาไม่ได้บ้าหรือหมกมุ่นอยู่กับความแค้นเหมือนกับตัวร้ายตัวอื่นในเรื่องแบทแมน ที่จริงแล้วเขาพยายามจะเยียวยาโลกใบนี้ แต่วิธีการที่เขาเลือกใช้ ดันเป็นวิธีที่หยาบกระด้างและอันตรายมากเท่านั้นเอง"[13]

ในด้านของเลียม นีสัน ผู้ที่สวมบทบาทนี้ ในตอนแรกเขาได้รับเลือกให้มารับบทเป็นผู้ฝึกสอนของบรูซ เวย์น เท่านั้น แต่หลังจากที่มีการเปิดเผยข่าวว่า เขาจะต้องแสดงเป็นตัวร้ายของเรื่องด้วย ก็ทำให้เกิดความประหลาดใจในหมู่นักวิจารณ์และผู้ชมภาพยนตร์อย่างมาก[9]

เธอเป็นเพื่อนของบรูซ เวย์น ตั้งแต่เด็ก ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอัยการเขตของเมืองกอตแทม และคอยต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นในเมือง ในตอนแรก โกเยอร์ตั้งใจจะใส่ตัวละคร ฮาร์วีย์ เดนต์ ลงไปแทนแรเชล แต่ทางทีมงานก็เปลี่ยนใจเสียก่อน โดยได้กล่าวว่า "เราไม่สามารถทำให้ฮาร์วีย์ (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ทูเฟส ตัวร้ายอีกตัวในการ์ตูนแบทแมน) เป็นความยุติธรรมได้"[14]

โนแลนกล่าวถึงโฮล์มส์ว่า เขาค้นพบ "ความอบอุ่นอันมหาศาลและแรงดึงดูดทางอารมณ์อันยิ่งใหญ่" ในตัวเธอ และยังรู้สึกว่า "เธอมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าอายุของเธอเอง...ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นแก่นที่นำไปสู่ความคิดที่ว่า แรเชลคือบางสื่งที่เป็นตัวแทนของสำนึกผิดชอบชั่วดีของบรูซ"[15]

นักจิตเภสัชวิทยาที่ทำงานให้กับสถานพักฟื้นอาร์กแฮม เขามักใช้สารพิษชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์หลอนประสาทให้เกิดความกลัว และหน้ากากหุ่นไล่กาของเขา เพื่อข่มขู่คนอื่น ๆ และเพื่อศึกษาความกลัวและโรคที่เกี่ยวกับความกลัวต่าง ๆ

ในการเตรียมตัว ซิลเลียน เมอร์ฟี ผู้แสดง ได้หาหนังสือการ์ตูนที่มีตัวละครสแกร์โครว์มาอ่านหลายเล่ม และนำไปถกเถียงกับโนแลนเพื่อที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวละครสแกร์โครว์ในภาพยนตร์ เมอร์ฟีได้อธิบายว่า "ผมไม่ต้องการภาพลักษณ์ของหุ่นไล่กาแบบในเรื่องวอร์เซล กัมมิดจ์ (นิยายเด็กของอังกฤษที่เล่าถึงหุ่นไล่กาที่พูดได้และเดินได้) เพราะสแกร์โครว์ในแบทแมนไม่เก่งในด้านการใช้กำลังเอาเปรียบ เขามีความสนใจในการควบคุมจิตใจและอะไรที่สามารถทำได้นอกจากนั้นมากกว่า"[16]

หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ฉ้อฉลที่เหลืออยู่ไม่กี่คนในเมืองกอตแทม เขามีสายใยพิเศษกับบรูซ/แบทแมน เพราะเขาเคยปฏิบัติหน้าที่และดูแลบรูซในคืนที่พ่อและแม่ของบรูซถูกฆาตกรรม

แต่เดิมนั้น คริส คูเปอร์ ได้รับเลือกให้มาแสดงในบทบาทนี้ แต่ก็ถูกปฏิเสธไปเพราะเขาต้องการจะใช้เวลากับครอบครัวมากกว่า[17] ส่วนโอลด์แมนนั้น ในช่วงแรก ทางโนแลนต้องการให้เขาแสดงเป็นตัวละครตัวร้าย[18] แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจให้มาแสดงเป็นตัวละครฝ่ายดีในบทนี้แทน โดยโอลด์แมนถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่[19]

โอลด์แมนกล่าวถึงการมาแสดงในบทจิม กอร์ดอน ว่า "ผมได้รวบรวมหลักต่าง ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าของครอบครัว ความกล้าหาญและความเห็นใจ และความตระหนักในเรื่องถูกและผิด ดีและเลว และความยุติธรรม เข้าด้วยกัน และทำมันให้กลายเป็นรูปธรรม" ส่วนโกเยอร์กล่าวถึงโอลด์แมนว่า เขามีส่วนคล้ายกับกอร์ดอนที่วาดโดย เดวิด มัซซุกเกลลี ในหนังสือการ์ตูนแบทแมน : เยียร์วัน อย่างมาก[9]

พนักงานระดับสูงของเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ที่ถูกลดชั้นมาทำงานในแผนกวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่ซึ่งเขาได้ศึกษาวิจัยทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลและชีวเคมี ฟอกซ์ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณืต่าง ๆ แก่บรูซเพื่อให้สำเร็จภารกิจต่าง ๆ ของแบทแมน หลังจากที่บรูซกลับมาเป็นเจ้าของเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ ฟอกซ์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท

สำหรับมอร์แกน ฟรีแมน นั้น โกเยอร์ถือว่าเขาเป็นตัวเลือกแรกที่จะให้มารับบทบาทนี้[9]

  • คาร์ไมน์ ฟัลโคนี (Carmine Falcone) แสดงโดย ทอม วิลคินสัน

เจ้าพ่ออาชญากรไร้ความปราณี ผู้ควบคุมสังคมของคนนอกกฎหมายและผู้มีอำนาจหลาย ๆ คนในเมืองกอตแทม

  • วิลเลียม เออรล์ (William Earle) แสดงโดย Rutger Hauer

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไร้ศีลธรรม ผู้ดูแลกิจการของเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ช่วงที่บรูซหายตัวไป

  • ราส์ อัลกูล (ตัวปลอม) แสดงโดย เคน วะตะนะเบะ

ผู้ที่ถูกเฮนรี ดูคาร์ด ว่าจ้างให้แสดงเป็นราส์ อัลกูล แทนเขา เพื่อปกปิดอัตลักษณ์ที่แท้จริงเอาไว้

  • นักสืบอาร์โนลด์ แฟรสส์ (Detective Arnold Flass) แสดงโดย มาร์ก บูน จูเนียร์

ตำรวจฉ้อฉลผู้เป็นคู่หูของกอร์ดอนในกรมตำรวจเมืองกอตแทม เขาทำงานให้ฟัลโคนีในการคุ้มกันการลักลอบขนถ่ายยาเสพติด

  • โทมัส เวย์น (Thomas Wayne) และ มาร์ทา เวย์น (Martha Wayne) แสดงโดย ลินัส รอช และ ซารา สจวต

บิดามารดาที่แสนดีของบรูซ เวย์น ที่ถูกสังหารโดยโจ ชิลล์ เมื่อบรูซอายุได้ 8 ปี

  • โจ ชิลล์ (Joe Chill) แสดงโดย ริชาร์ด เบรก

อาชญากรผู้สังหารบิดามารดาของบรูซ

  • คนไร้บ้าน แสดงโดย Rade Šerbedžija

ชาวเมืองกอตแทมคนสุดท้ายที่พบบรูซก่อนที่เขาจะหนีออกจากเมืองไป และเป็นคนแรกที่ได้เห็นการปรากฏตัวของแบทแมน

การผลิต

การพัฒนา

Thumb
คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้

แบทแมน บีกินส์ ผลิตโดยบริษัทวอร์เนอร์บราเธอร์ส ด้วยงบประมาณการสร้าง 150,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ กำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลนด์ และประพันธ์บทภาพยนตร์ร่วมโดยโนแลนและเดวิด เอส. โกเยอร์[20][21]

โนแลนด์กล่าวถึงการทำงานครั้งนี้ว่า เขาตั้งใจที่จะนำเสนอภาพยนตร์แบทแมนในรูปแบบใหม่ โดย "จะสร้างเรื่องราวที่เป็นต้นกำเนิดของตัวละคร ที่ไม่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อน" (ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจในส่วนนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง ซูเปอร์แมน (Superman, พ.ศ. 2521) ของ ริชาร์ด ดอนเนอร์ ที่เน้นการเล่าเรื่องถึงการเติบโตของตัวละครเป็นหลัก[6]) และยังจะนำความเป็นมนุษย์และความเหมือนจริงมาใช้เป็นพื้นฐานอีกด้วย ตามที่เขาได้กล่าวว่า "โลกของแบทแมนจะต้องมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริงที่สามารถรับรู้ได้ ร่วมสมัย และฝืนจินตนาการความเป็นวีรบุรุษเกินจริง" ส่วนโกเยอร์กล่าวว่า เป้าประสงค์ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการทำให้ผู้ชมสนใจทั้งตัวแบทแมนและบรูซ เวย์น อย่างเท่าเทียมกัน[22]

เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูนแบทแมนตอนต่าง ๆ ได้แก่ แบทแมน : เดอะแมนฮูฟอลส์ เรื่องสั้นที่เล่าถึงการเดินทางทั่วโลกของบรูซ เวย์น ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดฉากที่บรูซในวัยเด็กพลัดตกลงไปในบ่อน้ำ ในช่วงแรก ๆ ของภาพยนตร์[23] เนื้อเรื่องของ แบทแมน : เดอะลองฮัลโลวีน ประพันธ์โดย เจฟ โลบ และวาดโดย ทิม เซล ก็ส่งอิทธิพลต่อโกเยอร์ในการประพันธ์บทภาพยนตร์ และการออกแบบตัวละคร คาร์ไมน์ ฟัลโคนี[23] ส่วน แบทแมน : ดาร์กวิคทอรี (Batman : Dark Victory) ภาคต่อของภาค เดอะลองฮัลโลวีน ก็ส่งอิทธิพลมาถึงภาพยนตร์ไม่แพ้กัน[24] นอกจากนั้น โกเยอร์ยังได้นำรายละเอียดหลาย ๆ ส่วนจาก แบทแมน : เยียร์วัน ของ แฟรงก์ มิลเลอร์ ทั้งโครงเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาตำรวจคอร์รัปชันที่บีบบังคับให้จ่า จิม กอร์ดอน และเมืองกอตแทมต้องการคนอย่างแบทแมนมาช่วยเหลือ, เนื้อเรื่องตอนที่บรูซหายตัวไปจากเมืองกอตแทมอย่างขาดสติ[25], รวมไปถึงรายละเอียดของตัวละครจิม กอร์ดอน[23] มาใส่ไว้ในบทภาพยนตร์ด้วย

การถ่ายทำและสถานที่ถ่ายทำ

Thumb
หอคอยเมนต์มอร์ (ฉากหลัง) : สถานที่ถ่ายทำฉากคฤหาสน์ประจำตระกูลเวย์นในภาพยนตร์

ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ โนแลนต้องการที่จะดึงดูดใจผู้ชมได้ทุกรุ่นทุกวัยโดยการที่เขาตัดสินใจไม่ถ่ายทำฉากโชกเลือดใด ๆ เพื่อให้เหมาะสำหรับเยาวชน โดยเขาได้กล่าวว่า "ผมคิดว่าหนังของพวกเรามีเนื้อหาค่อนข้างเข้มข้นรุนแรงไปสำหรับเด็ก ๆ อยู่ไม่น้อย แต่ผมก็ไม่อยากที่จะกันเด็กอายุ 10-12 ปี ไม่ให้มาดูหนังเรื่องนี้ เพราะตอนผมเด็ก ผมก็รักที่จะดูหนังประเภทที่ผมทำเหมือนกัน"[15]

การถ่ายทำภาพยนตร์เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 ที่ภูเขาน้ำแข็งวัตนาโจคุลในประเทศไอซ์แลนด์ เพื่อถ่ายทำฉากของภูเขาหิมะในประเทศภูฏาน[26] ที่นี่ ทีมงานต้องสร้างฉากหมู่บ้าน ถนนเดินเท้า และประตูหน้าของวัดของราส์ อัลกูลเพิ่ม[26][27] อุปสรรคในการถ่ายทำฉากนี้อยู่ที่สภาพอากาศที่มีทั้งลมความเร็ว 121 กิโลเมตร/ชั่วโมง (75 ไมล์/ชั่วโมง)[26] ฝน รวมถึงหิมะที่มีปริมาณน้อยกว่าความต้องการ วิธีการถ่ายทำในฉากนี้ วัลลี พิฟ์สเตอร์ ผู้กำกับภาพ ได้ใช้เครนและกล้องมือถือในการถ่ายทำ[27]

สถานที่ถ่ายทำส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่อังกฤษ โดยเฉพาะที่สตูดิโอเชปเพอร์ตัน[28] ฉากที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถ่ายทำที่นี่คือฉากถ้ำค้างคาว ซึ่งมีความยาว 76 เมตร (250 ฟุต) กว้าง 37 เมตร (120 ฟุต) และสูง 12 เมตร (40 ฟุต) พร้อมด้วยโขดหินที่หล่อมาจากถ้ำจริง ๆ และเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่องที่แนทาน โครวลีย์ ผู้ออกแบบงานสร้าง ติดตั้งเอาไปเพื่อใช้สร้างน้ำตก 12,000 แกลลอน[29]

นอกจากที่สตูดิโอแห่งนี้แล้ว ยังมีสถานที่อื่น ๆ ในอังกฤษที่ใช้เป็นฉากในการถ่ายทำด้วย ได้แก่ โรงเก็บเครื่องบินที่คาร์ดิงตัน เบดฟอร์ดไชร์ ใช้ถ่ายทำฉากรถไฟฟ้าในเมืองกอตแทม[30] โดยทางกองถ่ายได้สร้างรางรถไฟรางเดี่ยวบนฉากยาว 270 เมตร (900 ฟุต) ขึ้นที่นี่[29], หอคอยเมนต์มอร์ ใช้ถ่ายทำฉากคฤหาสน์เวย์น โดยโนแลนและโครวลีย์เปิดเผยว่าที่เลือกที่นี่เพราะชอบพื้นสีขาวของมัน ที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับบิดามารดาของบรูซ[31], ส่วนอาคารที่ถูกเลือกเป็นฉากสถานพักฟื้นอาร์กแฮมคืออาคารของสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ ในมิลล์ฮิลล์ บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน[32], สถานีรถไฟเซนต์แพนครัสกับสถานีจ่ายน้ำแอบบีย์มิลล์สก็ถูกใช้เป็นฉากภายในอาคารของอาร์กแฮม[29], ส่วนฉากห้องพิจารณาคดีนั้น ทีมงานได้ใช้มหาวิทยาลัยลอนดอนเป็นสถานที่ในการถ่ายทำ[29]

ในบางฉาก เช่นฉากขับรถไล่ล่า[26] ทางทีมงานก็ใช้สถานที่ถ่ายทำในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอย สหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นที่ถนนแวคเกอร์ไดรฟ์และอาคาร 35 อีสต์แวคเกอร์[33] นอกจากนั้น ทางการของชิคาโกยังอนุญาตให้ยกสะพานถนนแฟรงคลินเพื่อถ่ายทำฉากเส้นทางที่เข้าสู่เขตแออัดของเมืองกอตแทมด้วย[26]

งานออกแบบ

ภาพยนตร์

สำหรับงานออกแบบของ แบทแมน บีกินส์ โนแลนได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ไซไฟคัลต์เรื่อง เบลดรันเนอร์ (Blade Runner, พ.ศ. 2525) ซึ่งเขาได้กล่าวถือโลกในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "เป็นบทเรียนอันน่าสนใจแห่งการเสาะแสวงหาและอธิบายจักรวาลที่เชื่อถือได้และไร้ขอบเขต"[34] โนแลนได้ถ่ายทอด เบรดรันเนอร์ ให้วัลลี พิฟ์สเตอร์ และผู้กำกับภาพอีก 2 คนได้ชม เพื่อแสดงให้พวกเขาได้เห็นและเข้าใจทัศนคติและรูปแบบที่เขาต้องการจากภาพยนตร์เรื่องนี้

เมืองกอตแทม

Thumb
ฉากเมืองกอตแทมใน แบทแมน บีกินส์

ในการออกแบบเมืองกอตแทม โนแลนและแนทาน โครว์ลีย์ ได้ร่วมกันคิดหาภาพลักษณ์ของเมืองกอตแทมสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา โดยพิจารณาจากแบบจำลองของเมืองที่โครว์ลีย์สร้างไว้ในโรงจอดรถของโนแลน[31] ทั้งสองออกแบบเมืองกอตแทมโดยเน้นที่ความใหญ่และทันสมัย สามารถสะท้อนสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบที่เมืองนี้ได้รับอิทธิพล ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเมือง ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมืองต่าง ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเมืองนิวยอร์ก ชิคาโก และกรุงโตเกียว โดยเมืองหลังสุดนั้น ถือเป็นต้นแบบของการออกแบบฉากรถไฟฟ้ารางเดี่ยวที่อยู่ในเมือง นอกจากนั้น พวกเขายังนำภาพความแออัดของเมืองกำแพงเกาลูน ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่ถูกรื้อถอนไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2536 มาใช้ออกแบบฉากชุมชนแออัดในเมืองกอตแทมอีกด้วย[35]

รถค้างคาว

Thumb
รถค้างคาว "ทัมเบลอ" ในงานฉายภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์ รอบปฐมทัศน์ ที่สหรัฐอเมริกา

รถค้างคาว (Batmobile) ในภาพยนตร์ชุดแบทแมนภาคนี้มีชื่อว่า ทัมเบลอ (Tumbler) เป็นรถที่มีที่มีลักษณะภายนอกเหมือนกับรถถังหุ้มเกราะของทหาร ซึ่งถือว่าแตกต่างไปจากรถค้างคาวในภาพยนตร์ภาคอื่น แต่ใกล้เคียงกับรถค้างคาวในหนังสือการ์ตูนเรื่อง แบทแมน : เดอะดาร์กไนท์รีเทิร์นส์ (Batman: The Dark Knight Returns) ของ แฟรงก์ มิลเลอร์ มากที่สุด[36]

แนทาน โครว์ลีย์ เริ่มต้นการออกแบบรถคันนี้ด้วยการทดลองสร้างแบบจำลองออกมา 6 คัน ในอัตราส่วน 1:12 โดยใช้เวลาในการสร้าง 4 เดือน ต่อจากนั้นจึงนำแบบจำลองมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างสเกลโมเดล โดยใช้โฟมสไตโรขนาดใหญ่เป็นวัตถุดิบ และใช้เวลาแกะสลัก 2 เดือนโดยทีมงาน 30 คน ซึ่งในจำนวนนั้นได้รวมถึงโครว์ลีย์ และคริส คัลเวิร์ต กับแอนนี สมิท ผู้เป็นวิศวกร ด้วย ต่อมา แบบจำลองสเกลโมเดลดังกล่าว ก็ถูกนำไปสร้างเป็นรถเหล็กกล้าเพื่อใช้ทดลองขับ ผลการทดลองปรากฏว่ารถมีความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (100 ไมล์/ชั่วโมง) โดยสามารถเร่งความเร็วจาก 0 ถึง 97 กิโลเมตร/ชั่วโมง (60 ไมล์/ชั่วโมง) ได้ภายใน 5 นาที และสามารถควบคุมรถให้เลี้ยวโค้งแบบหักศอกได้ ซึ่งผลเหล่านี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่เมื่อถึงขั้นการทดสอบการกระโดดของรถ ปรากฏว่าส่วนหน้าของรถก็เกิดพังขึ้นมาในการทดสอบครั้งแรก เป็นผลให้ต้องมีการสร้างรถขึ้นมาใหม่ทั้งหมด[37]

องค์ประกอบพื้นฐานของรถทัมเบลอที่ถูกออกแบบใหม่ ประกอบด้วยเครื่องยนต์ วี8 เชวี 5.7 ลิตร เพลาของรถบรรทุกที่ติดตั้งไว้เป็นเพลาล้อหลัง ยางล้อหน้าจากฮูซิเออร์ ยางล้อหลังจากอินเตอร์โค. และระบบวางลอยของรถบรรทุกแข่งบาจา กระบวนการออกแบบและพัฒนาทั้งหมดใช้เวลา 9 เดือน และค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสิ้นสุดการออกแบบ รถทัมเบลอพร้อมขับ 4 คันก็ถูกสร้างขึ้น โดยแต่ละคันจะประกอบด้วยหน้าปัดคาร์บอนไฟเบอร์ 65 อัน จอภาพที่เชื่อมต่อกับกล้องบนตัวรถเพื่อให้ผู้ขับใช้มองเส้นทาง (เนื่องจากการมองดูเส้นทางจากภายในรถโดยตรงนั้นทำได้ยาก) และค่าใช้จ่ายในการสร้าง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ รถ 2 จาก 4 คันนี้ได้รับการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษบางประการเข้าไป คันหนึ่งติดตั้งระบบไฮโดรลิคและปีกซ่อน เพื่อให้ดูเหมือนรถมีความสามารถในการลอยตัวอยู่กลางอากาศเวลาที่ถ่ายทำฉากรถกระโดดระยะใกล้ ส่วนอีกคันติดตั้งเครื่องไอพ่นที่ใช้ได้จริง โดยเครื่องนี้ใช้แก๊สโพรเพน 6 ถังด้วยกัน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขับทัมเบลอในภาพยนตร์ คือนักขับรถมืออาชีพ ซึ่งได้รับการฝึกฝนในการขับมาแล้ว 6 เดือนด้วยกัน นอกจากนั้น ยังมีการสร้างรถบังคับวิทยุทัมเบลออัตราส่วน 1:5 เพื่อใช้ในการถ่ายทำฉากที่รถบินข้ามหุบเขาและอาคารด้วย[37]

ส่วนภายในของรถที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์นั้น เป็นฉากที่ถูกสร้างขึ้นในโรงถ่ายที่ได้รับการออกแบบใหม่ให้ต่างจากส่วนภายในของรถทัมเบลอที่ขับได้จริง โดยมีขนาดกว้างกว่าของจริงเพื่อที่จะนำกล้องเข้าไปถ่ายทำภายในได้[37]

ชุดค้างคาว

Thumb
บางส่วนของชุดค้างคาวในภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์

ชุดค้างคาวของแบทแมนในภาคนี้ เน้นการออกแบบให้ผู้สวมใส่สะดวกในการเคลื่อนที่ ทำท่าทางในการต่อสู้ต่าง ๆ รวมถึงการก้มตัว ซึ่งต่างจากภาคก่อนหน้าที่ชุดไม่ยืดหยุ่น โค้งงอลำบาก และที่สำคัญคือ มักจะจำกัดการเคลื่อนไหวของส่วนหัวของผู้ใส่ การออกแบบชุดในภาคนี้ เป็นหน้าที่ของ ลินดี เฮมมิง และทีมงานฝ่ายออกแบบเครื่องแต่งกายของเธอ พวกเธอออกแบบชุดค้างคาวในสถานที่ทำงานที่มีรหัสว่า "เคปทาวน์" โดยตั้งอยู่ในสตูดิโอเชปเพอร์ตัน กรุงลอนดอน ในขั้นแรกนั้น ชุดแบทแมนถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้ยางเทียมเป็นวัตถุดิบ และนำไปขึ้นรูปโดยการหล่อแบบครีมลาเทกซ์ โดยทีมงานได้ไปหล่อแบบจากร่างกายของคริสเตียน เบล โดยตรง เมื่อขึ้นรูปชุดแล้วจึงมาแกะสลักร่วมกับดินน้ำมันและนำแพลสทิลีนมาเกลี่ยพื้นผิวให้เรียบ นอกจากนั้นแล้ว ทีมงานยังได้ทดลองผสมโฟมที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน เพื่อหาส่วนผสมที่มีความยืดหยุ่น เบา ทนทาน และมีสีดำที่สุด เพื่อนำมาสร้างชุด แต่การทดลองนั้นก็เกิดปัญหา เมื่อส่วนผสมที่ทำให้โฟมเป็นสีดำกลับไปลดความทนทานของมัน ส่วนผ้าคลุมที่ติดอยู่กับชุดนั้น ผู้กำกับภาพยนตร์ คริสโตเฟอร์ โนแลน ต้องการให้มันสามารถ "พริ้วไหวได้เหมือนภาพในหนังสือการ์ตูนแบทแมนชั้นเยี่ยมหลาย ๆ เรื่อง" โดยทางเฮมมิงได้เลือกใช้เส้นใยไนลอนที่ใช้ทำร่มชูชีพ สามารถหดตัวได้เมื่อเกิดไฟฟ้าสถิตย์ และมีโอกาสถูกตรวจจับในที่มืดได้น้อย มาเป็นวัตถุดิบในการสร้าง ซึ่งในขั้นตอนการสร้างนั้น ทางทีมงานได้รับความร่วมมือจากทางกระทรวงกลาโหมอังกฤษด้วย[11]

ส่วนบนของผ้าคลุมได้ถูกเชื่อมต่อกับหน้ากากค้างคาวที่ครอบทั้งศีรษะของผู้สวมใส่ ซึ่งได้รับการออกแบบร่วมกันโดยโนแลน เฮมมิง และแกรแฮม เชิร์ชยาร์ด ผู้เชี่ยวชาญเอฟฟเฟคต์เครื่องแต่งกาย หน้ากากนี้ถูกสร้างให้มีความบางเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหวศีรษะ แต่ก็หนาพอที่จะกันการฉีกขาด นอกจากนั้น ยังสามารถแสดงอารมณ์ ความรู้สึก และคาแรคเตอร์ของแบทแมนได้ชัดเจน[11]

สเปเชียลเอฟเฟคต์

สำหรับสเปเชียลเอฟเฟคต์ที่ใช้สร้างฉากต่าง ๆ ใน แบทแมน บีกินส์ ทางทีมงานได้ใช้ทั้งเทคนิคการถ่ายภาพจากสเกลโมเดล เช่น ฉากเขตแออัดในเมืองกอตแทม และวัดของราส์ อัลกูล[31][27] และการสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟิก (ซีจีไอ) และดิจิตอล อย่างฉากสิ่งปลูกสร้างในเมืองที่มีท้องฟ้าเป็นฉากหลัง ฉากที่แสดงให้เห็นด้านนอกของรถไฟฟ้าและอาคารเวย์นเอนเตอร์ไพรซส์ และฉากฝูงค้างคาวที่ตัวค้างคาวได้รับการสแกนต้นแบบมาจากซากค้างคาวจริง[31] เป็นต้น นอกจากนั้น บางฉากยังใช้เทคนิคที่ผสมผสานทั้งการแสดงสด การถ่ายทำแบบจำลอง และการสร้างภาพด้วยซีจีไอเข้าไว้ด้วยกันด้วย เช่น ฉากการต่อสู้ระหว่างแบทแมนกับราส์ อัลกูล บนรถไฟฟ้าช่วงท้ายเรื่อง[38] ส่วนฉากอื่น ๆ ที่เป็นฉากต่อสู้นั้น คริสโตเฟอร์ โนแลน มุ่งเน้นที่จะใช้การแสดงผาดโผนแบบดั้งเดิมมากกว่าการสร้างการเคลื่อนไหวของตัวละครด้วยซีจีไอ[6]

ดนตรีประกอบภาพยนตร์

ไฟล์:ซิมเมอร์และโฮเวิร์ด-แบทแมน บีกินส์.jpg
แฮนส์ ซิมเมอร์ (ซ้าย) และเจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด (ขวา) สองผู้ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้

ผู้ที่มีหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ แฮนส์ ซิมเมอร์ และ เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด ทั้งสองเริ่มต้นงานนี้ครั้งแรกในนครลอสแอนเจลิสก่อนที่จะย้ายสถานที่ทำงานไปอยู่ในกรุงลอนดอนเป็นเวลา 12 สัปดาห์[39] พวกเขาสร้างดนตรีประกอบความยาวร่วม 2 ชั่วโมง 20 นาทีขึ้นมา โดยค้นหาแรงบันดาลใจจากการไปเยี่ยมชมกองถ่ายของภาพยนตร์เรื่องนี้[40] ทั้งคู่แบ่งงานในการประพันธ์ออกเป็น 2 ส่วน โดยซิมเมอร์ได้รับหน้าที่ประพันธ์เพลงประกอบฉากแอคชัน ส่วนโฮเวิร์ดประพันธ์เพลงในส่วนที่เน้นความเป็นดรามา[41] นอกจากนั้น ยังมีการแบ่งให้คนหนึ่งประพันธ์เพลงที่สื่อถึงตัวบรูซ เวย์น และอีกคนหนึ่งประพันธ์เพลงที่สื่อถึงบรูซเวลาอยู่ภายใต้หน้ากากแบทแมนด้วย

ในส่วนของซิมเมอร์นั้น ในตอนแรกโนแลนตั้งใจจะเชิญเขาให้มาร่วมงานด้วยเพียงผู้เดียว แต่หลังจากที่ซิมเมอร์ได้เสนอว่าควรจะเชิญโฮเวิร์ดมาด้วย โนแลนก็ตอบตกลง[41] สำหรับดนตรีประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซิมเมอร์ตั้งใจที่จะผสมเสียงเพลงแบบออเคสตราให้เข้ากับเสียงเครื่องดนตรีไฟฟ้าเพื่อเป็นการสร้างแนวดนตรีที่ต่างจากแบบเดิม ๆ วงออเคสตราที่เขาใช้ในการทำงานนั้นประกอบด้วยเครื่องดนตรี 90 ชิ้นด้วยกัน[41] โดยพิเศษตรงที่มีเชลโลมากกว่าที่ใช้กันตามวงออเคสตราทั่วไป ส่วนสมาชิกในวงนั้นก็ได้รับเลือกจากวงออเคสตราที่อยู่กรุงลอนดอนหลาย ๆ วง นอกจากนั้น ยังมีนักร้องเด็กผู้ชายเสียงโซปราโนที่ซิมเมอร์เกณฑ์มาช่วย เพื่อให้มาสะท้อนอารมณ์เพลงในฉากที่แสดงถึงความทรงจำที่บรูซมีต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับบิดามารดาของเขาด้วย

ประเด็นในภาพยนตร์

Thumb
สแกร์โครว์ใช้สารพิษกับราเชล ดอวส์ เพื่อให้เธอเกิดความกลัวจากภาพหลอนประสาท

แดนนี ฟิงเกอรอท นักประพันธ์และนักวาดการ์ตูนชาวอเมริกัน กล่าวว่า ประเด็นหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ "ความกลัว" ซึ่งถูกกล่าวเป็นนัยให้เห็นตลอดเรื่อง บทบาทสำคัญของความกลัวในภาพยนตร์เรื่องนี้คือการเป็นตัวแปลสำคัญที่ทำให้ตัวละครบรูซ เวย์น กลายเป็นวีรบุรุษอย่างแบทแมน โดยคริสโตเฟอร์ โนแลน ได้กล่าวว่า แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังความเป็นแบทแมนในภาคนี้ก็คือ "บุคคลผู้หนึ่ง (บรูซ) ที่พยายามเผชิญหน้ากับความกลัวที่อยู่ในส่วนลึกที่สุดในตัวเขา และพยายามที่จะกลายเป็นความกลัวเสียเอง" นอกจากนั้น แนวคิดเรื่องความกลัวจนถึงขีดสุดยังถูกทำให้เป็นรูปธรรมผ่านทางตัวละครตัวร้ายอย่าง สแกร์โครว์ ผู้ที่ใช้สารพิษหลอนประสาทเพื่อทำให้เกิดภาพลวงตาที่น่ากลัว[42][43]

ฟิงเกอรอทยังกล่าวว่า การค้นหาตัวแทนบิดาของบรูซ เวย์น ที่เสียชีวิตไป ก็ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำมาอธิบาย โดยตัวละครที่เสมือนเป็นตัวแทนของบิดาของเขานั้น ได้แก่ อัลเฟรด เพนนีเวิร์ท, เฮนรี ดูคาร์ด และลูเซียส ฟอกซ์ ซึ่งในที่นี้ ฟิงเกอรอทได้ให้ความเห็นว่า อัลเฟรดเหมาะสมที่จะเป็นบิดาที่บรูซสามารถพึ่งพาอาศัยได้มากที่สุด ลูเซียสก็ถือเป็นหลักอันมั่นคงของชีวิตบรูซได้ เพราะความสุขุมนิ่งเงียบของเขา ส่วนเฮนรีนั้น หากเป็นบิดา ก็เป็นบิดาที่เข้มงวดและไร้ความเห็นใจ[42] ทางด้าน มาร์ก ฟิชเชอร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฟลอริดา ก็ได้กล่าวถึงฐานคติการหาตัวแทนของบิดาในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า มีสาเหตุมาจากความพยายามที่จะค้นหาความยุติธรรมของบรูซเอง ที่ทำให้เขาต้องแสวงหาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากตัวแทนบิดาของเขา ซึ่งในที่นี้ ฟิชเชอร์ให้น้ำหนักตัวแทนบิดาของบรูซไปที่เฮนรี ดูคาร์ด โดยมีตัวเปรียบเทียบเป็นโทมัส เวย์น บิดาที่แท้จริงของบรูซเอง ส่วนอัลเฟรดนั้น ฟิชเชอร์ให้ความเห็นต่างจากฟิงเกอรอทว่า เป็นตัวละครที่เหมาะกับการเป็นตัวแทนของมารดาที่ให้ความรักต่อบรูซอย่างไม่มีเงื่อนไขมากกว่า[44]

ปฏิกิริยาตอบรับ

คะแนนจากเว็บไซต์

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคะแนนความนิยมจากเว็บไซต์รอตเทนโทเมโทส์คิดเป็นร้อยละ 84 ซึ่งจัดอยู่ในระดับ "เฟรช"[45] และได้รับคะแนนความนิยมเชิงบวกจากบทวิจารณ์ 40 เรื่องของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้มีชื่อเสียงในหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ และรายการวิทยุต่าง ๆ ที่รวบรวมโดยเว็บไซต์นี้เช่นกัน คิดเป็นคะแนนร้อยละ 62[46] ส่วนเว็บไซต์เมทาคริติกได้ให้คะแนนภาพยนตร์เรื่องนี้ 70 คะแนน โดยการคำนวณคะแนนเฉลี่ยจากรีวิว 41 ชิ้น[47] สำหรับคำวิจารณ์โดยทั่วไปจากเว็บไซต์ทั้งสองนั้น ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นสัจนิยมที่อยู่เบื้องหลังตัวละครต่าง ๆ รวมไปถึงความสามารถของคริสโตเฟอร์ โนแลน ในการสร้างสรรค์ตัวละครที่มีความซับซ้อน และความสามารถของคริสเตียน เบล ในการแสดงเป็นแบทแมน

รีวิวและบทวิจารณ์ภาพยนตร์

ภาพรวมของภาพยนตร์

เจมส์ เบราร์ดิเนลลี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ยกย่องผลงานชิ้นนี้ว่า เป็นภาพยนตร์แบทแมนที่ทำให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจในตัวแบทแมนได้มากขึ้นว่า "เขาคือใครและอะไรที่จูงใจให้เขาเป็นเช่นนั้น" ซึ่งเบราร์ดิเนลลีรู้สึกว่านี่คือส่วนที่ภาพยนตร์แบทแมนที่กำกับโดยทิม เบอร์ตัน (แบทแมน, พ.ศ. 2532 และ แบทแมนรีเทิร์น, พ.ศ. 2535) ยังขาดอยู่[48] ทางด้านไมเคิล วิลมิงตัน จากหนังสือพิมพ์ชิคาโกทริบูน ก็มีความเห็นว่าคริสโตเฟอร์ โนแลน และแฟรงก์ มิลเลอร์ สามารถสร้างส่วนผสมระหว่างเนื้อหาแนวชีวิตอันทรมานและบรรทัดฐานความแค้นให้เข้ากับลูกเล่นอันชื่นมื่นและการพาดพิงถึงหนังสือการ์ตูนได้อย่างพอเหมาะพอดี และยังเป็นการนำภาพยนตร์แบทแมนออกจากความเป็นภาพยนตร์แนวฮอลลีวูดที่เต็มไปด้วยความดุเดือนรุนแรงอันสะเพร่า อย่างที่หนังแบทแมนภาคก่อน ๆ ได้หลงเข้าไป อีกด้วย[49] ส่วนเคนเนท ทูแรน นักวิจารณ์ภาพยนตร์จากหนังสือพิมพ์ลอสเองเจลิสไทมส์ ก็กล่าวว่า การดำเนินเรื่องตอนต้นอย่างช้า ๆ ด้วย "เนื้อเรื่อง จิตวิทยา และความเป็นจริง โดยไม่ใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์" ช่วยให้ความมืดที่อยู่เบื้องหลังความคิดของแบทแมนโดดเด่นขึ้น[50]

สำหรับทรรศนะที่ต่างออกไปนั้น เจ. อาร์. โจนส์ จากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชิคาโกรีดเดอร์ ได้วิจารณ์บทภาพยนตร์ของโนแลนกับโกเยอร์ว่าไม่ทำให้เกิดความสอดคล้องในเรื่อง "การสำรวจความเสียหายทางจิตใจของแบทแมน"[51] ทางด้านเดวิด เดนบี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกันประจำนิตยสารเดอะนิวยอร์กเกอร์ ก็กล่าวต่างจากเบราร์ดิเนลลีและทูแรนว่า เขาไม่พอใจภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพยนตร์แบทแมนของเบอร์ตัน การแสดงของคริสเตียน เบล ในเรื่องนี้ก็ถูกขัดขวางโดย "บทภาพยนตร์ที่จริงจังแบบโง่ ๆ" และไคลแมกซ์ของเรื่องก็ "ต่ำชั้นและไม่ตื่นเต้น"[52]

แต่อย่างไรก็ดี ทิม เบอร์ตัน เอง กลับรู้สึกว่าโนแลนสามารถจับจิตวิญญาณที่แท้จริงที่ภาพยนตร์ประเภทนี้ควรจะมีในปัจจุบัน โดยเบอร์ตันได้อ้างถึงผลงานแบทแมนของตัวเองว่า "ตอนที่ผมสร้างหนังแบทแมนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว...เป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์ที่มาจากหนังสือการ์ตูนมีความแตกต่างจากตอนนี้ คือคุณจะไม่สามารถดึงด้านมืดของหนังสือการ์ตูนมาอยู่ในหนังได้เลย แต่เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ด้านมืดของหนังสือการ์ตูนก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น และโนแลนก็สามารถเข้าถึงรากของหนังสือการ์ตูนแบทแมนได้เป็นอย่างดี"[53]

ตัวละครและนักแสดง

Thumb
คริสเตียน เบล นักแสดงนำที่ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางในการรับบทบาทเป็นบรูซ เวย์น/แบทแมน ในภาพยนตร์เรื่องนี้

ในภาพรวม ปฏิกิริยาที่มีต่อตัวละครและนักแสดงของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับที่ถือว่าดี อย่างที่นิตยสารโททัลฟิล์มของสหราชอาณาจักรกล่าวไว้ว่า โนแลนสามารถสร้างตัวละครและเนื้อเรื่องได้อย่างแข็งแรง[54] เช่นเดียวกับเดนนิส โอนิล ผู้คัดลอกและบรรณาธิการหนังสือการ์ตูนชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่า ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าใจและสามารถแปลความหมายของตัวละครได้จริง และยกย่องภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นภาพยนตร์แบทแมนในรูปแบบคนแสดงที่ดีที่สุด[55] แต่สำหรับในระดับผู้แสดงแต่ละคนนั้น นักวิจารณ์ต่างมีทรรศนะที่แตกต่างกันไป โดยทูรันได้กล่าวว่า เลียม นีสัน กับแคที โฮล์มส์ ยังไม่เหมาะกับบทบาทที่ได้รับ ทั้งที่ "เป็นต้นแบบในหนังสือการ์ตูนและที่เป็นคนจริง ๆ" ไม่เหมือนคริสเตียน เบล ที่มีความสามารถสวมบทแบทแมนได้เข้าถึงกระดูกดำ[50] ส่วนไมค์ คลาร์ก จากหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ ก็คิดว่าเบลสามารถแสดงบทแบทแมนได้ดีเท่ากับบทแพทริก เบตแมน ที่เขาแสดงเอาไว้ในเรื่อง อเมริกัน ไซโค (American Psycho, พ.ศ. 2543)[56] ในทางกลับกัน สเตฟานี แซชาเรก จากเว็บไซต์ซาลอนดอตคอม กลับรู้สึกว่าโนแลนไม่ได้ส่งความรู้สึกว่าแบทแมนคือ "ยอดมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกและความทรมานมากที่สุด" ในเชิงลึก และเธอยังคิดว่าเบลล้มเหลวในการเชื่อมต่อบรูซ เวย์น เวลาอยู่ใต้หน้ากากแบทแมนกับผู้ชม ต่างจากแกรี โอลด์แมน ที่ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการแสดง "อารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อน"[57]

สำหรับบทโรแมนติคระหว่างเบลกับโฮล์มส์นั้น เบราร์ดิเนลลีกล่าวถึงประเด็นนี้ว่ายังดูด้อยอยู่ เนื่องจากนักแสดงทั้งสองยังขาดสิ่งที่เรียกว่าวิถีทางที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (chemistry) ในแบบที่คริสโตเฟอร์ รีฟ กับมาร์กอต คิดเดอร์ ในภาพยนตร์ ซูเปอร์แมน หรือ โทบีย์ แม็คไกวร์ กับเคิร์สเทน ดันสต์ ในภาพยนตร์ ไอ้แมงมุม (Spider-man, พ.ศ. 2545) มี[48] ทางด้านคลาร์กก็กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างบรูซ เวย์น กับราเชล ดอวส์ "ด้อยพัฒนาอย่างน่าท้อแท้"[56] ส่วนนิตยสารโททัลฟิล์มกล่าวถึงด้านบวกของประเด็นนี้ว่า โครงเรื่องเกี่ยวกับความรักระหว่างเบลและโฮล์มส์ดูไม่ครวญคราง หากเทียบกับคู่ของปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ กับแมรี เจน ใน ไอ้แมงมุม[54]

การเข้าฉายและรายได้

ไฟล์:Premierenbild 18jpeg 700x456.jpg
ผู้กำกับภาพยนตร์และนักแสดงนำบางส่วนในงานฉายรอบปฐมทัศน์ที่สหรัฐอเมริกา

แบทแมน บีกินส์ เข้าฉายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 โดยมีจำนวนโรงฉาย 3,858 โรง[58] และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ 55 โรง[59] สามารถสร้างรายได้เป็นอันดับหนึ่งประจำสัปดาห์แรกที่เข้าฉาย โดยมีรายได้รวมทั้งหมด 205,343,774 ดอลลาร์สหรัฐ[58] ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สูงเป็นอันดับ 8 สำหรับภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ประจำปี พ.ศ. 2548[60] โดยคิดเป็นรายได้รวม 5 วันแรกเท่ากับ 72.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ชุดแบทแมนทุกเรื่อง โดยทำลายสถิติของภาค แบทแมน ฟอร์เอฟเวอร์ ศึกจอมโจรอมตะ (Batman Forever) เมื่อปี พ.ศ. 2538 นอกจากนั้นยังทำลายสถิติรายได้รวม 5 วันแรกสำหรับภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ ด้วยจำนวนเงิน 3.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกด้วย[59]

สำหรับผลงานในระดับนานาชาติ รายได้รวมทั่วโลกของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่ประมาณ 371,853,783 ดอลลาร์สหรัฐ[58] ซึ่งถือเป็นอันดับสามของภาพยนตร์ชุดแบทแมนทั้งหมด โดยเป็นรองเรื่อง แบทแมน (411,348,924 ดอลลาร์สหรัฐ) และ แบทแมน อัศวินรัตติกาล (984,599,547 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่หากเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อโรงฉาย ซึ่งอยู่ที่ 12,634 ดอลลาร์สหรัฐ/โรงฉาย แล้ว ถือเป็นสถิติที่น้อยที่สุด เหตุเพราะเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายหลายโรง แต่จำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ได้น้อยกว่าภาพยนตร์แบทแมนเรื่องอื่น (โดยไม่นับรวมสถิติของเรื่อง แบทแมนแอนด์โรบิน)[61]

ในประเทศไทย แบทแมน บีกินส์ เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 สามารถเปิดตัวสัปดาห์แรกด้วยรายได้สูงสุดประจำสัปดาห์ที่ 952,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 39,098,877 บาท และยังครองอันดับหนึ่งมาอีกหนึ่งสัปดาห์ ก่อนที่จะตกไปอยู่อันดับที่สามในสัปดาห์ที่ 3 ที่เข้าฉาย[62]

รางวัลที่ได้รับ

ไฟล์:รางวัลภาพยนตร์เอ็มทีวี-เบล.jpg
คริสเตียน เบล กับรางวัลภาพยนตร์เอ็มทีวี สาขาวีรุบุรษยอดเยี่ยม

ในปี พ.ศ. 2548 ถึง 2549 แบทแมน บีกินส์ ได้รับการเสนอชื่อรับรางวัลภาพยนตร์สาขาต่าง ๆ หลายรายการ ทั้งในและนอกสหรัฐอเมริกา[63] โดยมีรางวัลและสาขาที่ได้รับทั้งหมดดังต่อไปนี้

  • รางวัลแซทเทิร์น ของสถาบันภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ แฟนตาซี และสยองขวัญ[64]
    • สาขาภาพยนตร์แฟนตาซียอดเยี่ยม
    • สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (คริสเตียน เบล)
    • สาขาประพันธ์บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (คริสโตเฟอร์ โนแลน และเดวิด โกเยอร์)
  • รางวัลภาพยนตร์เอ็มทีวี สาขาวีรบุรุษยอดเยี่ยม (Best Hero) (คริสเตียน เบล)[65]
  • รางวัลฮอลลีวูดฟิล์ม จากเทศกาลภาพยนตร์ฮอลลีวูด สาขาเสียงแห่งปี (เดวิด เอวานส์)
  • รางวัลแอสแคป ของสมาคมนักประพันธ์เพลง นักประพันธ์ และผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์อเมริกัน สาขาผู้สร้างเพลงประกอบภาพยนตร์ให้กับภาพยนตร์ทำรายได้สูง ประจำปี พ.ศ. 2548 (เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด, แฮนส์ ซิมเมอร์ และ Ramin Djawadi)[66]

สำหรับรางวัลภาพยนตร์รายการที่มีชื่อเสียงนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับการเสนอชื่อด้วย ซึ่งได้แก่ รางวัลอคาเดมี ครั้งที่ 78 สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม[67] และรางวัลบาฟตา ครั้งที่ 59 สาขาสเปเชียลวิชวลเอฟเฟคต์ยอดเยี่ยม สาขาออกแบบการสร้างยอดเยี่ยม และสาขาเสียงยอดเยี่ยม[68] นอกจากรางวัลยอดเยี่ยมดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลภาพยนตร์ประเภทยอดแย่ด้วย นั่นคือ รางวัลแรสป์เบอร์รีทองคำ สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดแย่ ของแคที โฮล์มส์[69]

ในส่วนของรางวัลและเกียรติยศที่ได้รับจากการลงคะแนนเสียงจากผู้ชมนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ 2 รายการด้วยกัน ได้แก่ ได้รับรางวัลโททัลฟิล์มรีดเดอร์ส สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการลงคะแนนของผู้อ่านนิตยสารโททัลฟิล์ม[70] และได้รับการลงคะแนนจากผู้อ่านนิตยสารเอมไพร์ให้เป็นตำแหน่งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลอันดับที่ 36[71]

สินค้าจากภาพยนตร์

Thumb
กล่องบลูเรย์กิฟต์เซ็ตของภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์

ดีวีดีและบลูเรย์

แบทแมน บีกินส์ ออกวางจำหน่ายในรูปแบบของดีวีดีเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยแบ่งจำหน่ายเป็นแบบธรรมดา ที่ประกอบด้วยดีวีดีภาพยนตร์แผ่นเดียว และแบบเดอลุกซ์ ที่ประกอบด้วยดีวีดี 2 แผ่นและของแถมอื่น ๆ เช่น หนังสือปกอ่อนเล่มเล็ก การ์ตูนแบทตอนแรกสุดที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือการ์ตูนดีเทคทีฟคอมมิคส์ ฉบับที่ 27 หนังสือการ์ตูน แบทแมน : เดอะแมนฮูฟอลส์ และบางส่วนจากหนังสือการ์ตูน แบทแมน : เดอะลองฮัลโลวีน เป็นต้น[72][73] ยอดจำหน่ายและยอดการเช่าของดีวีดีภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถทำสถิติเป็นอันดับ 1 ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 และมากที่สุดในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี พ.ศ. 2548 ในสหรัฐอเมริกา โดยมีรายรับรวมจากการเช่า 11.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[74]

วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้วางจำหน่ายอีกครั้งในรูปแบบเอชดีดีวีดี[75] และต่อมา ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ก็มีการวางจำหน่ายดีวีดีและบลูเรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ในรูปแบบกิฟต์เซ็ต เพื่อเป็นการต้อนรับ แบทแมน อัศวินรัตติกาล ภาพยนตร์ภาคต่อที่ออกฉายในวันที่ 18 กรกฎาคม ของปีเดียวกัน[76]

ซีดีเพลงประกอบภาพยนตร์

ซีดีเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 โดยภายในได้บรรจุเพลงที่บรรเลงในภาพยนตร์ ที่ประพันธ์โดยแฮนส์ ซิมเมอร์ เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด รวมถึง Ramin Djawadi และเมล เวสสัน เอาไว้จำนวน 12 เพลง ซึ่งชื่อของแต่ละเพลงนั้นถูกตั้งเป็นภาษาละตินและมีความหมายเกี่ยวข้องกับค้างคาวทั้งหมด โดยมีเพลงแรกที่ใช้ชื่อว่า "Vespertilio" ที่แปลว่า ค้างคาว และเพลงที่เหลือตั้งตามชื่อของค้างคาวสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น เพลงที่ 2 "Eptesicus" (ค้างคาวท้องสีน้ำตาล) หรือเพลงที่ 3 "Myotis" (ค้างคาวหูหนู) เป็นต้น[77]

Thumb
หน้าปกซีดีเพลงประกอบภาพยนตร์ แบทแมน บีกินส์

รายชื่อเพลงทั้งหมดในอัลบั้มมีดังต่อไปนี้[77][78]

  1. "Vespertilio" – เพลงเปิด/บรูซ เวย์น ในวัยเด็ก (2.52 นาที)
  2. "Eptesicus" – บรูซระลึกถึงบิดาและมารดา และเริ่มการฝึกฝน (4.20 นาที)
  3. "Myotis" – บรูซทำลายวัดของราส์ อัลกูล (5.46 นาที)
  4. "Barbastella" – บรูซวัยผู้ใหญ่เดินทางเข้าสู่ถ้ำค้างคาว (4.45 นาที)
  5. "Artibeus" – เพลงประกอบเพลงหลักของสแกร์โครว์ (4.19 นาที)
  6. "Tadarida" – สแกร์โครว์จู่โจมแบทแมน (5.05 นาที)
  7. "Macrotus" – (เริ่มเพลงด้วยงานเพลงของโฮเวิร์ด และต่อด้วยงานเพลงของซิมเมอร์) (7.35 นาที)
  8. "Antrozous" – แบทแมนเปิดเผยตัวต่อแรเชล ดอวส์/บินไปหาเฮนรี ดูคาร์ด (3.59)
  9. "Nycteris" – บรูซพบลูเซียส ฟอกซ์ (4.25 นาที)
  10. "Molossus" – ทัมเบลอหนีการไล่ล่าเข้าสู่ถ้ำค้างคาว (4.49 นาที)
  11. "Corynorhinus" – บทสรุปของภาพยนตร์ (5.04 นาที)
  12. "Lasiurus" – แบทแมนมองดูเมืองกอตแทมหลังเอาชนะคาไมน์ ฟัลโคนี (7.27 นาที)

หมายเหตุ : ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อเพลงที่ 4 ถึง 9 นำมาเรียงกันจะได้คำว่า แบทแมน (BATMAN)

วิดีโอเกม

Thumb
ภาพวิดีโอเกม แบทแมน บีกินส์ ระบบเอกซ์บอกซ์ เพลย์สเตชัน 2 และเกมคิวบ์
Thumb
หน้าปกวิดีโอเกม แบทแมน บีกินส์ ระบบเอกซ์บอกซ์

วิดีโอเกมจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้ชื่อว่า แบทแมน บีกินส์ เช่นเดียวกับภาพยนตร์ ตัวเกมได้รับการพัฒนาโดยบริษัท ยูโรคอม และจัดจำหน่ายโดยบริษัทอีเลคทรอนิคอาร์ตส์ ร่วมกับบริษัท วอร์เนอร์บราเธอร์ส, อินเตอร์แอคทีฟเอนเตอร์เทนเมนต์ และดีซีคอมมิคส์ โดยออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2548 (ก่อนหน้าที่ภาพยนตร์จะเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา 1 วัน) ในระบบเอกซ์บอกซ์ เพลย์สเตชัน 2 เกมคิวบ์ และเกมบอยแอดวานซ์[79]

เกมนี้จัดอยู่ในตระกูลเกมแอคชั่นแอดเวนเจอร์ ผสมกับเกมประเภทลอบกระทำ (stealth) ที่ประกอบด้วยการสอดแนมและการลอบทำร้ายศัตรูจากด้านหลังเหมือนในเกมชุด สปลินเตอร์เซลล์ (Splinter Cell) ระบบการเล่นที่ถือว่าโดดเด่นของเกมนี้ คือระบบการขู่ให้ศัตรูในเกมเกิดความกลัว ด้วยการใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมและฉากของเกม และอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ระเบิดควัน ระเบิดแสง และเครื่องรับส่งเรดาร์เอชเอฟ ที่สามารถเรียกค้างคาวให้มารวมตัวกันและขัดขวางการทำงานของศัตรู เป็นต้น

เนื้อเรื่องในเกมนั้น ยึดตามการดำเนินเรื่องในภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ โดยมีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องบางส่วนให้ต่างจากเดิม และเข้าไปเจาะลึกในรายละเอียดของบางฉากในภาพยนตร์มากขึ้น ภายในเกมนั้น ยังประกอบไปด้วยคลิปวิดีโอจากภาพยนตร์มากกว่า 20 คลิปที่มาให้บริบทของเรื่องราวในเกม และตัวละครบางตัวที่ได้ทีมงานจากภาพยนตร์มาแสดงแบบรับเชิญด้วย ซึ่งได้แก่ วัลลี พิฟ์สเตอร์ ผู้กำกับภาพ และเอมมา ทอมสัน ผู้อำนวยการสร้างและภรรยาของคริสโตเฟอร์ โนแลน

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.