คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
Remove ads
โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า โรค LPR[1] (อังกฤษ: laryngopharyngeal reflux, LPR) หรือ โรคกรดไหลย้อนออกนอกหลอดอาหาร (อังกฤษ: extraesophageal reflux disease, EERD)[2] หรือ กรดไหลย้อนเงียบ (อังกฤษ: silent reflux)[3] หรือ กรดไหลย้อนออกเหนือหลอดอาหาร (อังกฤษ: supra-esophageal reflux)[4] เป็นการไหลย้อนของน้ำกรดน้ำย่อยของกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองขึ้นไปถึงกล่องเสียงและคอหอยโดยไปกระทบกับทางเดินอาหาร-ลมหายใจส่วนบน[1][5] ซึ่งเป็นเหตุของอาการต่าง ๆ เช่น ไอและหายใจเสียงหวีด[6] โดยบ่อยครั้งสัมพันธ์กับปัญหาอื่น ๆ ที่ศีรษะและคอ เช่น ออกเสียงลำบาก เหมือนมีก้อนในลำคอ กลืนลำบาก[7] โรคอาจมีบทบาทในความผิดปกติอื่น ๆ รวมทั้งโพรงอากาศอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ, เยื่อจมูกอักเสบ[7], กล่องเสียงอักเสบเหตุกรดไหลย้อน, ช่องหว่างสายเสียงตีบ, มะเร็งกล่องเสียง, แกรนูโลมากล่องเสียง, แผลเปื่อยกล่องเสียง, ปุ่มที่สายเสียง[5], กล่องเสียงกระตุก, การหยุดหายใจขณะหลับเหตุอุดกั้น (OSA), โรคหลอดลมพอง, และเยื่อจมูกและโพรงอากาศอักเสบ[8] โรคอาจเกิดร่วมกับโรคหืด[6]

ปัจจัยเสี่ยงของโรครวมทั้งเป็นโรคกรดไหลย้อนในหลอดอาหารแบบเรื้อรังหรือแบบมีแผล (ERD), มีเยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหารแบบ Barrett's esophagus, กระเพาะอาหารเลื่อนผ่านกะบังลม (hiatus hernia), โรคหืด, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, การหยุดหายใจขณะหลับเหตุอุดกั้น (OSA), โรคอ้วน, การสูบบุหรี่, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้น[9] อาการเหนือหลอดอาหารมาจากทางเดินลมหายใจ-ทางเดินอาหารส่วนบนซึ่งถูกกับสิ่งที่ไหลย้อนมาจากกระเพาะอาหาร หรือเป็นการตอบสนองทางรีเฟล็กซ์เนื่องกับเส้นประสาทเวกัสที่จุดชนวนโดยกรดที่ถูกหลอดอาหาร[10] โดยสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารสามารถไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหารได้อาจเป็นเพราะหูรูดหลอดอาหารด้านล่างปิดได้ไม่ดี คือคลายตัวบ่อยเกิน บวกกับหูรูดหลอดอาหารด้านบนและหลอดอาหารที่บีบตัวอย่างบกพร่อง[11]
คนไข้โรคนี้อาจต้องทุกข์ทรมานอยู่กับโรคนานเพราะวินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากอาการต่าง ๆ ของโรคอาจมีสมุฏฐานอื่น ๆ รวมทั้งการติดเชื้อ การใช้เสียงเกิน ภูมิแพ้ การสูบบุหรี่ การสูดสิ่งที่ทำให้ระคายเคือง การดื่มสุราจัด และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ไม่ใช่โรค[5] นอกจากการสอบอาการแล้ว แพทย์อาจวินิจฉัยโรคโดยการลองรักษาด้วยยา การส่องกล้อง และการวัดความเป็นกรดด่างของหลอดอาหาร แต่สิ่งที่พบด้วยวิธีการตรวจเหล่านี้ บ่อยครั้งไม่ชัดเจนพอให้กำหนดได้ว่า เป็นโรคนี้หรือเป็นโรคอื่น
การรักษาปกติคือให้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต การใช้ยายับยั้งการหลั่งกรด หรือบางครั้งการผ่าตัด การเปลี่ยนวิถีชีวิตอาจรวมไม่นอนในระยะ 2-3 ชม. หลังทานอาหาร, ลดน้ำหนัก, เลี่ยงอาหารบางประเภท, เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
โรครายงานว่า มีผลต่อประชากรสหรัฐและยุโรประหว่าง 7-30%[1] แพทย์หูคอจมูกตรวจคนไข้โรคนี้เพิ่มขึ้นถึง 500% ระหว่างปี 1990-2001 และเกิดกับบุคคลที่ออกเสียงลำบากถึง 50%[5][12] โรคที่ไม่ได้รักษาอาจเกิดอาการเรื้อรัง เกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจแย่ลง ทำให้ต้องไปหาแพทย์บ่อย ๆ ทำให้สังคมโดยรวมมีภาระค่าใช้จ่ายสูง และมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและบุคลิกภาพของคนไข้อย่างสำคัญ[1]
แม้ชื่อโรคอาจใช้โดยแลกเปลี่ยนกับโรคกรดไหลย้อน (GERD) แต่ก็มีลักษณะของโรค/พยาธิสรีรวิทยา ที่ต่างกัน[13]
Remove ads
อาการ
สรุป
มุมมอง
อาการเหนือหลอดอาหารมาจากทางเดินลมหายใจ-ทางเดินอาหารส่วนบนซึ่งถูกกับสิ่งที่ไหลย้อนมาจากกระเพาะอาหาร หรือเป็นการตอบสนองทางรีเฟล็กซ์เนื่องกับเส้นประสาทเวกัสที่จุดชนวนโดยกรดที่ถูกหลอดอาหาร[10] โดยอาการที่สามัญที่สุดก็คือมีเสมหะหรือเมือกในลำคอมาก อาจต้องขับออกบ่อย ๆ, ไอ, เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน และเหมือนมีอะไรติดค้างหรือจุกแน่นที่ลำคอ อาการอาจไม่เท่ากันทั้งวันโดยทั่วไปจะแย่สุดตอนเช้าและดีขึ้นต่อ ๆ มา[14] และอาจไม่เท่ากันในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น อาจเกิดเมื่อนั่ง ยืน เดิน มากกว่าเมื่อนอนราบ[15]
อาการอื่น ๆ อาจรวมทั้ง คอเจ็บ, กลืนลำบาก, แน่นท้องเหมือนอาหารไม่ย่อย, ไอเรื้อรัง, หายใจเป็นเสียงหวีด[16], แสบคอ แสบร้อนช่องปากหรือโคนลิ้นโดยเฉพาะในตอนเช้า, ไอหรือขับเสมหะบ่อย ๆ หลังทานอาหารหรือเอนตัวนอน, สำลักน้ำลายหรือหายใจลำบากตอนกลางคืน ซึ่งกวนการนอน, มีน้ำลายมาก, มีกลิ่นปาก, เรอเปรี้ยว, เรอขม, รู้สึกกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้น, แน่นกลางอก, และอาการโรคภูมิแพ้ที่โพรงจมูกหรือโรคหืดหอบแย่ลง[15] คนไข้บางคนจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก แต่คนอื่น ๆ ก็แทบจะไม่มี เพราะสิ่งที่ไหลย้อนจากกระเพาะไม่อยู่ในหลอดอาหารเป็นเวลานานพอที่จะระคายเคืองเนื้อเยื่อรอบ ๆ[16] บุคคลที่มีอาการรุนแรงอาจมีเคลือบฟันกร่อน เนื่องจากมีกรดในปากเป็นบางครั้งบางคราว[17]
อนึ่ง โรคยังอจาทำให้ช่องเสียง (vocal tract) อักเสบซึ่งทำให้เสียงแหบ โดยเสียงแหบพิจารณาว่า เป็นอาการหลักของโรค และสัมพันธ์กับปัญหาความเหนื่อยล้าในการออกเสียง ตึงกระดูกและกล้ามเนื้อ และการกระแทกลมออกเสียง (hard glottal attack)[18] ซึ่งล้วนอาจทำให้สื่อสารได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ[19] คนไข้อาจพยายามชดเชยเสียงแหบโดยเกร็งกล้ามเนื้อในช่องเสียง การเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบเพราะโรคเช่นนี้ อาจนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า การออกเสียงลำบากเพราะกล้ามเนื้อตึง (muscle tension dysphonia) ซึ่งอาจคงสภาพแม้หลังจากเสียงแหบและการอักเสบได้หายไปแล้ว และอาจต้องอาศัยผู้บำบัดปัญหาทางการพูด-ภาษาเพื่อแก้ปัญหาการชดเชยที่มีผลเสียนี้[20]
ปัญหาการวินิจฉัยโรคนี้ก็คือ อาการต่าง ๆ ไม่จำเพาะพอที่จะกันว่า ไม่ใช่โรคอื่น ๆ งานวิจัยหลายงานพบสหสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างอาการของโรค สิ่งที่พบเมื่อส่องกล้องในกล่องเสียง และค่าวัดความเป็นกรดด่างใต้กล่องเสียง[21]
การสอบอาการแบบ RSI
งานวิจัยปี 2002 ได้พัฒนาแบบสอบถามคนไข้ 9 คำถามที่สามารถทำเสร็จได้ภายใน 1 นาที โดยแต่ละคำถามจะตอบให้ค่าตั้งแต่ 0 (ไม่มีปัญหา) จนถึง 5 (ปัญหามากสุด) รวมค่าได้ทั้งหมด 45 คะแนน งานสรุปว่า ผลที่ได้จะคงเส้นคงวาและสมเหตุสมผลถ้าจัดค่าเกิน 13 ว่าเป็นโรค[22] โดยค่าเกิน 10 จัดว่า อาจเป็นโรค[23] ผู้พัฒนาเรียกแบบสอบถามนี้ว่า Reflux Symptom Index (RSI)
แบบบอกให้คนไข้กำหนดค่าที่อาการต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาในระดับ 0-5 ภายในเดือนที่ผ่านมา คือ[22]
- เสียงแหบหรือปัญหาการออกเสียงอื่น ๆ
- กระแอมขับเสมหะบ่อย ๆ
- มีเสมหะหรือเมือกในลำคอมาก
- มีปัญหากลืนของแข็ง ของเหลว หรือของที่เป็นเม็ด
- ไอหลังจากทานอาหารหรือเมื่อเอนนอน
- สำลักหรือหายใจลำบากเป็นครั้งเป็นคราว
- ไอย่างน่ารำคาญหรือรบกวนชีวิตประจำวัน
- เหมือนมีก้อนหรือสิ่งแปลกปลอมในคอ
- แสบร้อน แสบร้อนกลางอก เจ็บปวดหรือแน่นหน้าอก อาหารไม่ย่อย หรือมีกรดไหลย้อน
การส่งต่อหาแพทย์เฉพาะทาง
อาการที่ทำให้ควรส่งต่อแพทย์เฉพาะทางโดยเร็วเพื่อส่องกล้องดูกล่องเสียงรวมทั้ง[24]
- มีปัจจัยเสี่ยงอย่างสำคัญให้เกิดเนื้อร้ายที่ศีรษะและคอ (เช่น สูบบุหรี่หนัก/ดื่มเหล้า)
- มีประวัติเนื้อร้ายที่ศีรษะและคอ
- เสียงแหบอย่างต่อเนื่องที่เพิ่งเกิดสำหรับผู้สูบบุหรี่
- น้ำหนักลดอย่างไม่มีสาเหตุ
- การไอเป็นเลือด
- อาการเป็นข้างเดียวในร่างกายอย่างมาก
- เจ็บปวดมาก
- อาการปวดหูแบบเกิดต่างที่
- การกลืนลำบากแบบติดขวาง โดยเรอเปรี้ยวหรือไม่ก็ตาม
ภาวะแทรกซ้อน
โรคอาจก่อภาวะแทรกซ้อนรวมทั้งเสียงแหบ, เสียงเปลี่ยน, ไอเรื้อรัง, เพิ่มความเสี่ยงการเกิดการอักเสบเรื้อรังในโพรงจมูกและโพรงอากาศ, ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรดหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหยุดหายใจเหตุอุดกลั้น ให้แย่ลง, และดูเหมือนจะเพิ่มโอกาสเกิดเนื้องอกและมะเร็งที่กล่องเสียง[25]
อาการในเด็ก
โรคนี้สามารถเป็นแบบเรื้อรังหรือแบบบางครั้งบางคราวในเด็ก[26] เด็กและทารกมักจะมีอาการโรคที่พิเศษ[27] อาการในเด็กรวมทั้งไอ, เสียงแหบ, หายใจเข้าเสียงฮื้ด (stridor), คอเจ็บ, โรคหืด, อาเจียน, เหมือนมีอะไรติดคอ, หายใจเสียงหวีด, สูดสิ่งต่าง ๆ (มีอาหารและเครื่องดื่มเป็นต้น) เข้าทางเดินลมหายใจ (aspiration), และปอดบวมซ้ำ ๆ[27] ส่วนอาการในทารกที่สามัญรวมทั้งหายใจมีเสียงหวีด, หายใจเข้าเสียงฮื้ด, ไอเรื้อรังหรือเป็นซ้ำ ๆ, การหยุดหายใจ, มีปัญหาการทาน, สูดสิ่งต่าง ๆ เข้าทางเดินลมหายใจ, การขย้อน, และน้ำหนักไม่สมวัย[27] อนึ่ง โรคในเด็กมักเกิดอย่างสามัญคู่กับความผิดปกติทางกล่องเสียงอื่น ๆ เช่น กล่องเสียงอ่อน (laryngomalacia) ช่องหว่างสายเสียงตีบ (subglottic stenosis) และเนื้องอกแบบพาพิลโลมาที่กล่องเสียง (laryngeal papillomatosis)[A][26]
Remove ads
ความสัมพันธ์กับโรคกรดไหลย้อน

โรคบ่อยครั้งพิจารณาว่าเป็นแบบหนึ่งของโรคกรดไหลย้อน ที่เกิดเมื่อของในกระเพาะอาหารไหลผ่านหลอดอาหารขึ้นไปถึงกล่องเสียงและคอหอย แต่โรคก็มีอาการที่ต่างกัน[17] เช่น ในเรื่องความชุกของการแสบร้อนกลางอกและการกระแอมขับเสมหะ คือ การแสบร้อนกลางอกจะเกิดในโรคกรดไหลย้อนถึง 80% แต่เกิดเพียงแค่ 20% สำหรับโรคนี้ ส่วนการกระแอมแสดงความชุกในรูปแบบที่กลับกัน คือเกิด 87% ในโรคนี้ และ 5% ในโรคกรดไหลย้อน[12] อาการหลัก ๆ ของโรคกรดไหลย้อนคือแสบร้อนกลางอก แน่นกลางอก เรอเปรี้ยว อาหารไม่ย่อย และไม่สบายท้องส่วนบน จะพบเพียงแค่ 40% ของผู้ป่วยโรคนี้[15] โดยไม่เหมือนโรคกรดไหลย้อน โรคนี้ยังเสี่ยงให้เกิดหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ (pneumonitis) เพราะกรดกระเพาะอาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจนถึงทางเดิมอาหาร-ลมหายใจ อาจสูดเข้าไปในปอดได้[29]
โรคยังสัมพันธ์อย่างสามัญกับความแดง (erythema) และการบวมน้ำของเนื้อเยื่อในกล่องเสียงที่ถูกกับกรด[17] โดยเทียบกับแล้ว โรคกรดไหลย้อนโดยมากไม่ก่อแผลในหลอดอาหาร คือไม่ปรากฏปัญหาต่อเยื่อเมือกที่บุหลอดอาหารเนื่องจากถูกกรด[30]
ความแตกต่างทางโครงสร้างระดับโมเลกุลของเนื้อเยื่อบุผิวที่เขตกล่องเสียงและคอหอย อาจเป็นเหตุให้มีอาการแตกต่างระหว่างโรคนี้กับโรคกรดไหลย้อน คือเทียบกับเยื่อบุผิวแบบ stratified squamous epithelium ของหลอดอาหาร กล่องเสียงจะบุโดย respiratory epithelium ที่มีซิเลีย ซึ่งบอบบางกว่าและเสี่ยงเสียหายมากกว่า ในขณะที่เยื่อบุผิวของหลอดอาหารสามารถทนการถูกกับกรดจากระเพาะถึง 50 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นค่าประเมินสูงสุดที่พิจารณาว่าอยู่ในพิสัยการทำงานทางสรีรภาพที่ปกติ เยื่อบุกล่องเสียงอาจเสียหายหลังจากถูกกรดกระเพาะอาหารไม่กี่ครั้ง[31]
Remove ads
เหตุทางพยาธิสรีรวิทยา
สรุป
มุมมอง
ร่างกายมีกลไกป้องกันไม่ให้สิ่งในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นโดยธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (LES) ที่ปิดกันน้ำกรดน้ำย่อยไม่ให้ไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหาร, หลอดอาหารซึ่งบีบตัวจากบนลงล่างซึ่งกันไม่ให้เกิดการไหลย้อนขึ้น, และหูรูดหลอดอาหารส่วนบน โครงสร้างเหล่านี้ช่วยป้องกันสิ่งในกระเพาะอาหารรวมทั้งน้ำย่อยเพปซิน น้ำดี และฟองแก๊สไม่ให้ไหลขึ้นไปทำอันตรายต่อเยื่อบุหลอดอาหาร ลำคอ และกล่องเสียง ซึ่งอวัยวะเหล่านี้อยู่ติดกันรวมเป็นโครงสร้างที่เรียกว่าทางเดินอาหาร-ลมหายใจ คนไข้โรคนี้จะมีความผิดปกติของกลไกป้องกันดังกล่าว โดยมีทฤษฎีอธิบาย 2 อย่างดังต่อไปนี้[11]
- ทฤษฎีไหลย้อน - รวมความบกพร่องของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างซึ่งคลายตัวบ่อยกว่าปกติ จึงทำให้ของในกระเพาะไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหารได้ และความผิดปกติในการบีบตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนบนและหลอดอาหาร จึงทำให้น้ำกรดและน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปถึงกล่องเสียงและคอได้
- ทฤษฎีรีเฟล็กซ์ - สิ่งที่ไหลย้อนไปกระตุ้นประสาทเวกัส ทำให้เกิดรีเฟล็กซ์คือหลอดลมหดเกร็ง จึงเกิดอาการไอเรื้อรังและอาการคล้ายโรคหืดตามมา
การวินิจฉัย
สรุป
มุมมอง
โรคปรากฏโดยอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจงคือคาบเกี่ยวกับของโรคอื่น ๆ ซึ่งทำให้วินิจฉัยได้ยาก เพราะอาการต่าง ๆ ทางลมหายใจและกล่องเสียงอาจมีสมุฏฐานได้หลายอย่าง การวินิจฉัยโรคนี้โดยอาการเพียงอย่างเดียวจึงอาจยังเชื่อถือไม่ได้[24]
ก่อนจะวินิจฉัยโรคนี้ แพทย์จะต้องบันทึกประวัติคนไข้และถามรายละเอียดถึงอาการที่มี แบบสอบถามเช่น Reflux Symptom Index (RSI), Quality-of-Life Index (QLI) for LPR, Glottal Closure/Function Index (GCI), และ Voice Handicap Index (VHI) สามารถใช้เพื่อสอบประวัติคนไข้และอาการ[13] แล้วก็จะต้องตรวจร่างกายโดยเล็งจุดสนใจไปที่ศีรษะและคอ
วิธีวินิจฉัยที่ใช้อย่างแพร่หลายอย่างหนึ่งก็คือการทดลองรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) โดยให้ยา 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 2-3 เดือน[B] ซึ่งถ้าอาการโรคหายไปก็จะเป็นการยืนยันวินิจฉัยของโรค[34] แต่วิธีการนี้ดีที่สุดก็เพื่อวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนธรรมดา[13]
การใช้กล้องส่องต่อกับเส้นใยนำแสงสามารถค่อย ๆ ใส่ลงไปในคอแล้วแสดงภาพบนจอภาพ ซึ่งให้ภาพที่ชัดเจนของคอและกล่องเสียง อาการปรากฏของโรครวมทั้งความแดง ความบวม และความระคายเคืองที่ปรากฏชัด[13]
การตรวจสอบอื่น ๆ รวมทั้ง, 24-hour ambulatory dual probe pHmetry (การวัดความเป็นกรดด่างของหลอดอาหารที่จุดสองจุดโดยใช้ชีวิตเป็นปกติ 24 ชม), pharyngeal pHmetry (การวัดความเป็นกรดด่างที่คอหอย), transnasal esophagoscopy (TNE, การส่องกล้องดูหลอดอาหารผ่านจมูก) และการตัดเนื้อออกตรวจ ก็สามารถใช้ได้ด้วย[13][35] ส่วนการทดสอบที่ไม่เจ็บของโรคก็คือ การเก็บของที่ไหลย้อนขึ้นมาเพื่อนำไปวิเคราะห์[13]
ยังไม่มีเทคนิคการประเมินที่นักวิชาการมีมติร่วมกันเพื่อระบุโรคในเด็ก[26] เทคนิกการวัดความเป็นกรดด่างสองอย่างที่เสนอ คือ multichannel intraluminal impedance with pH monitoring (MII-pH) และ 24-hour dual probe pH monitoring มีค่าใช้จ่ายสูง และปกติจึงไม่ค่อยได้ใช้[26]
การทดลองรักษาด้วยยา
การตอบสนองต่อการบำบัดโดยระงับกรดได้เสนอว่า สามารถใช้ยืนยันวินิจฉัยของโรค แต่งานศึกษาต่าง ๆ ก็ได้แสดงว่า ในการทดลองที่อาศัยหลักฐาน การตอบสนองของคนไข้ต่อการรักษาประเภทนี้ (รวมทั้งยายับยั้งการหลั่งกรด) บ่อยครั้งน่าผิดหวัง[36] งานศึกษาหลายงานได้เน้นความสำคัญของการวัดการถูกกับกรดที่หลอดอาหารส่วนต้น หรือดีสุดคือที่กล่องเสียง ในคนไข้ที่มีอาการทางคลินิกของโรค เพื่อแสดงว่า กรดไหลย้อนเป็นเหตุ[37][38]
การส่องกล้อง
การส่องกล้องดูกล่องเสียง (laryngoscopy) เช่น ความแดง ความบวมน้ำ แกรนูโลมาของกล่องเสียง (เป็นการอักเสบอย่างหนึ่ง) และการโตเกินของ interarytenoid fold สามารถใช้เพื่อวินิจฉัย แต่ผลเหล่านี้ก็ยังไม่จำเพาะเจาะจง และปรากฏในบุคคลที่ไม่มีอาการของโรคโดยมากด้วย[39] ถึงกระนั้น วิธีการตรวจนี้ก็ยังอาจสำคัญเพราะความสัมพันธ์ของโรคนี้กับมะเร็งกล่องเสียง งานวิจัยแสดงว่าคนไข้ 25% จะมีแผลในหลอดอาหาร และ 7% จะมีเยื่อบุผิวเสี่ยงมะเร็งในหลอดอาหารแบบ Barrett's esophagus[35] งานหนึ่งได้เสนอว่า แผลที่กล่องเสียง (lesion) มีความจำเพาะที่ 91% โดยคนไข้ที่มีอาการนี้ 88% จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) และอีกงานหนึ่งได้สร้างแบบรวมคะแนน คือ Reflux finding score (RFS) ตามอาการต่าง ๆ ที่พบโดยส่องกล้องแบบติดเส้นใยนำแสง ซึ่งผู้พัฒนาพบว่า เมื่ออาการที่ส่องกล้องพบได้คะแนนรวมถึงระดับหนึ่ง จะเป็นตัวแสดงนัยถึงโรคนี้[40]
กล้องชนิดต่าง ๆ ที่ใช้รวมทั้งกล้องตรวจเฉพาะกล่องเสียง (indirect หรือ rigid หรือ flexible), กล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (EGD), และ fibre-optic transnasal laryngoscopy (การส่องกล้องแบบเส้นใยนำแสงผ่านจมูก)[13][35]
การวัดความเป็นกรดด่าง
การวัดการไหลย้อนของกรดที่ดีสุดก็คือวิธี multichannel intraluminal impedance pH monitoring ซึ่งสามารถตรวจสิ่งไหลย้อนทั้งที่เป็นกรด ไม่เป็นกรด และเป็นของเหลวมากไปด้วยแก๊ส[41] ถึงอย่างนั้น ค่าวัดที่ได้ก็ต่าง ๆ กันอย่างมาก จึงไม่มีมติร่วมกันว่าอะไรเป็นค่าผิดปกติ[42] โดยอาจได้ค่าต่าง ๆ กันเพราะเหตุทางชีวภาพในแต่ละบุคคล[43] มีความไวต่อโรคนี้เมื่อวัดใต้กล่องเสียงเพียงแค่ 40%[44] และเป็นตัวใช้บ่งชี้ความรุนแรงของอาการโรคนี้ได้ไม่ดี[45] อนึ่ง ยังจัดเป็นหัตถการทำให้เจ็บ (invasive) มีค่าใช้จ่ายสูง ทำได้ในบางองค์กรเท่านั้น และไม่มีเกณฑ์มาตรฐานร่วมกันในการวินิจฉัยโรค ดังนั้น จึงมักใช้ในบางกรณีเท่านั้น เช่น ในงานวิจัยหรือในคนไข้ที่ต้องการผ่าตัด[35]
ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ
อนึ่ง มีการตรวจสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarker) ของโรคหลายอย่าง ซึ่งรวมทั้งโปรตีน cytokine (ซึ่งมีบทบาทในการอักเสบ), carbonic anyhydrase, e-cadherin, และ mucin แต่ความเป็นเหตุโดยตรงของโปรตีนพวกนี้ก็ยังไม่ได้หลักฐาน[46]
การมีเพปซินซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ผลิตในกระเพาะอาหารในคอหอยส่วนกล่องเสียง (hypopharynx) ก็เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคที่ได้วิจัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[47][48] งานวิจัยแสดงว่า เพปซินมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ในกลไกอันซับซ้อนของโรค[49] เช่นพบว่ากล่องเสียงจะเสียหายได้ก็จะต้องมีกรดบวกกับเพปซิน[50] เป็นตัวก่อความเสียหายในการไหลย้อนที่ไม่เป็นกรด[51], เพราะสามารถคงสภาพอยู่ในกล่องเสียงได้แล้วทำความเสียหายอาศัยกรดจากภายในหรือแม้ภายนอกซึ่งมากระทบภายหลัง[52]
การวินิจฉัยแยกโรค
งานทบทวนหลักฐานปี 2008 ของสมาคมวิทยาทางเดินอาหารอเมริกันชี้แจงว่า วิธีการกำหนดโรคกรดไหลย้อนว่าเป็นเหตุของอาการนอกหลอดอาหารยังเป็นเรื่องที่ไม่ลงตัว และการสรุปใช้เกณฑ์วินิจฉัยต่าง ๆ อาจทำให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้มากเกินไป ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและการรักษาซ้ำ ๆ อย่างไร้ผล โรคที่เป็นปัจจัยหรือเป็นปัจจัยร่วมที่มักจะพิจารณาไม่เพียงพอรวมทั้ง[32]
- การมีเมือกหรือเสมหะไหลลงคอ
- เยื่อจมูกอักเสบเหตุภูมิแพ้
- การติดเชื้อ
- การกระแอมขับเสมหะเป็นนิสัย
- การสูบบุหรี่
- การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การใช้เสียงเกิน
- การออกกำลังกาย
- การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและภูมิอากาศ
- ปัญหาทางจิตใจ-อารมณ์
- สิ่งก่อความระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ควันพิษ
อนึ่ง โรคและสภาวะอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกับโรคนี้รวมทั้ง[53]
- โรคภูมิแพ้เรื้อรังทางหู คอ จมูก
- กล่องเสียงอักเสบเหตุติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หนองใน วัณโรค และเชื้อรา
- โรคที่มีอาการไอเรื้อรังอื่น ๆ รวมทั้งโพรงอากาศอักเสบเรื้อรัง โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และวัณโรค
- เนื้องอกกล่องเสียงหรือ postcricoid tumor
- สายเสียงพิการ (vocal cords paralysis) จากอัมพาต อุบัติเหตุ หรือมะเร็งปอด
- การใช้เสียงมากหรือไม่ถูกวิธี
- ทานอาหารหรือยาที่ก่อความระคายเคืองต่อกล่องเสียง
- กล่องเสียงอักเสบแบบเป็นแผลเปื่อยที่ไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic ulcerative laryngitis)
Remove ads
การรักษา
สรุป
มุมมอง
การรักษาอาการคนไข้กลุ่มนี้ของโรคกรดไหลย้อนเป็นเรื่องยากและอาจต้องใช้เวลานาน เมื่อกำหนดวินิจฉัยคนไข้แล้ว การรักษาที่แนะนำก็คือเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมบวกการใช้ยา[54]
การเปลี่ยนพฤติกรรมและอาหาร
การเปลี่ยนอาหารอาจรวมการจำกัดการทานช็อกโกแลต กาเฟอีน อาหารและเครื่องดื่มที่มีกรดสูง (มีรสเปรี้ยว) น้ำอัดลม อาหารมันเช่นของทอด และซอสมะเขือเทศ การเปลี่ยนพฤติกรรมอาจรวมลดน้ำหนัก หยุดสูบบุหรี่ เลี่ยงดื่มสุรา และไม่ทานอาหารก่อนนอน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้พบในงานศึกษาบางงานว่า มีผลต่อการรักษาด้วยยา[55]
การเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไข้เด็กรวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กรดไหลย้อน (เช่น ช็อกโกแลต อาหารรสเปรี้ยว อาหารเผ็ด) เปลี่ยนการวางอิริยาบถ (เช่น ให้นอนตะแคงข้างซ้าย) เปลี่ยนเนื้ออาหาร (เช่น ทำให้อาหารข้นขึ้น เพื่อเพิ่มการสำนึกการดำเนินของอาหาร) และไม่ทานอาหารก่อนนอน[27]
ยา
ยายับยั้งการหลั่งกรด
ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) เช่น โอมีปราโซล, ราบีปราโซล, esomeprazole, lansoprazole, และ pantoprazole เป็นยาอันดับแรกเพื่อระงับหรือลดอาการของโรค ปกติจะแนะนำให้ทาน 2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 3-6 เดือน และคนไข้ควรทาน 30-60 นาทีก่อนอาหาร โดยช่วงเวลาทานยาก่อนอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ระงับการหลั่งกรดได้สูงสุด[55][56] ยานี้นอกจากจะระงับไม่ให้ทางเดินอาหาร-ลมหายใจส่วนบนกระทบกับกรดจากกระเพาะแล้ว ยังช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากเพปซินซึ่งต้องอาศัยความเป็นกรดเพื่อออกฤทธิ์[57] สำหรับคนไข้ที่ต้องทานยาอื่น ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเอนไซม์ cytochrome P450 โดยเฉพาะ CYP2C19 และ CYP3A4 ควรเลือกใช้ยาราบีปราโซลและ pantoprazole แทนโอมีปราโซล[54] งานปริทัศน์เป็นระบบบวกการวิเคราะห์อภิมานปี 2016 พบว่า การใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลา 3 เดือนทำให้คนไข้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือค่าวัด RSI ดีขึ้น 70-75%[58] ซึ่งเมื่ออาการโดยรวมดีขึ้นแล้วสามารถปรับลดยาแล้วหยุดยาได้ภายใน 4-6 เดือนต่อมา โดยความผิดปกติที่กล่องเสียงซึ่งกำหนดด้วย RFS อาจต้องใช้เวลารักษาถึง 6 เดือน [54]
อย่างไรก็ดี แม้งานศึกษาที่ไม่มีกลุ่มควบคุมโดยมากจะแสดงอัตราการตอบสนองต่อยาถึง 70%[59] แต่งานศึกษาที่มีกลุ่มควบคุมโดยมากก็ได้แสดงว่า PPI ไม่มีประสิทธิผลดีกว่ายาหลอกเพื่อรักษาโรคนี้[60][61]
ยาที่ใช้เพิ่มและยาที่ซื้อเอง
สำหรับคนไข้ที่ทานยา PPI 2 ครั้งต่อวันแล้วแต่ยังมีอาการเหลือหรือมีอาการในเวลากลางคืน ยาต้านตัวรับเอช2รวมทั้งไซเมทิดีน ฟาโมทิดีน นิซาทิดีน และแรนิทิดีนที่ทานเพิ่มในช่วงกลางคืนอาจช่วย คือพบว่า การตอบสนองต่อยารวม ๆ กันจะดีขึ้นเป็น 83-90%[62] แต่ผลของยาอาจมีแค่ชั่วคราวคือเดือนเดียว[63]
สำหรับคนไข้โรคนี้ที่มีอาการตรงแบบของโรคกรดไหลย้อนด้วย คือเรอเปรี้ยวและแสบร้อนกลางอกโดยหลัก ยังสามารถพิจารณาเพิ่มยาเพิ่มความแข็งแรงของหูรูดอาหาร เช่นสารทำการต่อหน่วยรับกาบาบี (GABAB agonist) และยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก (prokinetics) ด้วย[62] โดยสารทำการต่อหน่วยรับกาบาบีคือ baclofen ได้พบว่า แม้มีผลข้างเคียงสูงจึงทำให้ใช้ต่อเนื่องได้ยาก แต่ก็มีอนาคตสำหรับคนไข้ที่ต้องเพิ่มยาในเวลากลางคืน[64] ส่วนงานทบทวนวรรณกรรมปี 2014 ไม่แนะนำให้ใช้ยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็กสำหรับโรคกรดไหลย้อน[65] และแนวทางการรักษาปี 2013 แนะนำยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก domperidone เป็นทางเลือก โดยแพทย์อาจต้องคอยตรวจตราการเปลี่ยนคลื่นหัวใจ (QT prolongation) เพราะมีความเสี่ยงเล็กน้อยเนื่องจากหัวใจเต้นเสียจังหวะและทำให้ถึงตายได้[66]
ในระยะยาว ถ้าอาการกลับกำเริบเพียงเล็กน้อย คนไข้ก็อาจใช้ยาบรรเทาอาการเช่น ยาลดกรด และ alginate (กรดอัลจินิก) ได้[62] โดยงานวิเคราะห์อภิมานปี 2007 แสดงว่า เมื่อใช้ยาที่คนไข้หาซื้อเองได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์เพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน ยาต่าง ๆ มีผลดังต่อไปนี้เมื่อเทียบกับยาหลอก[67]
- ยาลดกรดบวกกับกรดอัลจินิก (เช่นยี่ห้อกาวิสคอน) ทำให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นถึง 60% (NNT=4)
- ยาต้านตัวรับเอช2 ทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ถึง 41%
- ยาลดกรดทำให้คนไข้รู้สึกดีขึ้นได้ 11% (NNT=13)
การผ่าตัด
เมื่อยาไม่ได้ผล อาจเลือกผ่าตัดผูกหูรูดกระเพาะอาหาร (fundoplication)[68] โดยควรเลือกเมื่อจำเป็นจริง ๆ เพื่อเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนและค่าใช้จ่าย[54] การผ่าตัดอาจทำได้และได้ผลเฉพาะคนไข้แค่บางกลุ่ม เช่น คนไข้ที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแต่ไม่ต้องการทานยาในระยะยาว หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยควรใช้กับผู้มีอายุน้อย มีอาการตรงแบบของโรคกรดไหลย้อน (คือแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว) และได้ตรวจด้วยการวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหารบวกการวัดการบีบตัวของหลอดอาหารแล้วเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคจริง[54] คนไข้ควรรู้ว่า การผ่าตัดอาจไม่กำจัดอาการโรคนี้ได้โดยสิ้นเชิง และแม้จะประสบความสำเร็จ การเกิดโรคซ้ำอีกในอนาคตก็ยังเป็นไปได้[69] และการผ่าตัดในประเทศไทยอาจต้องอาศัยศัลยแพทย์มือหนึ่ง ซึ่งอาจยังมีจำนวนน้อย[70]
มีการรักษาโดยผ่าตัดแบบใหม่อื่น ๆ ที่ดูจะมีอนาคตรวมทั้ง Stretta procedure และ LINX
การประเมินผล
นอกจากค่าวัด RSI แล้ววิธีการประเมินผลการรักษาของโรคอีกอย่างหนึ่งก็คือวัดคุณภาพเสียง[18] โดยสามารถใช้การวัดทั้งที่เป็นอัตวิสัยและปรวิสัย การวัดที่เป็นอัตวิสัยรวมทั้ง[18]
- Grade, Roughness, Breathiness, Asthenia, Strain Scale (GRBAS)
- Reflux Symptom Index
- Voice Handicap Index (VHI)
- voice symptom scale.
การวัดแบบปรวิสัยบ่อยครั้งวัดตัวแปรต่าง ๆ ของเสียงเช่น ความถี่มูลฐาน อัตราเสียงต่อเสียงรบกวน เป็นต้น[18] อย่างไรก็ดี ยังไม่มีมติร่วมกันว่า ค่าวัดไหนดีที่สุดในการประเมินผลการรักษา
Remove ads
ประวัติ
โรคนี้ไม่ได้กล่าวแยกจากโรคกรดไหลย้อนจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980[17] แต่ในช่วงที่ยอมรับโรคกรดไหลย้อนว่าเป็นโรคอีกชนิดหนึ่งในกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 ก็มีการเสนอความสัมพันธ์ระหว่างอาการที่ท้องกับโรคทางเดินลมหายใจ ต่อมาในปี 1968 จึงมีรายงานเรื่องแผลเปื่อยและแกรนูโลมาที่กล่องเสียงเนื่องกับกรด[71] งานศึกษาต่อ ๆ มาจึงได้เสนอว่า กรดไหลย้อนอาจเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของสภาพของกล่องเสียงและทางเดินลมหายใจอื่น ๆ ในปี 1979 จึงมีการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างอาการทางเดินลมหายใจกับกรดไหลย้อน ในงานเดียวกัน การรักษาโรคกรดไหลย้อนก็แสดงว่า ได้กำจัดอาการทางเดินลมหายใจเหล่านั้น[72]
Remove ads
เชิงอรรถ
- เนื้องอกแบบพาพิลโลมาที่กล่องเสียง (laryngeal papillomatosis) เป็นโรคที่มีน้อย (2 คนในประชากรผู้ใหญ่ 100,000 คน และ 4.5 ในประชากรเด็ก 100,000 คน)[28] แต่ถ้าไม่รักษา มันอาจทำให้ถึงตายเพราะจะมีเนื้องอกเติบโตจนปิดทางเดินลมหายใจ โรคมีเหตุจากฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส (HPV) ประเภทที่ 6 และ 11 ซึ่งทำให้เกิดเนื้องอกไม่ร้ายที่กล่องเสียงและเขตอื่น ๆ ในทางเดินลมหายใจ เนื้องอกอาจเกิดซ้ำบ่อย ๆ จึงจำเป็นต้องผ่าตัดบ่อย ๆ และอาจรบกวนการหายใจ โรคสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดและยาต้านไวรัส
- ตามงานทบทวนหลักฐานปี 2008 ของสมาคมวิทยาทางเดินอาหารอเมริกัน หลักฐานสนับสนุนการทดลองรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) สำหรับคนไข้ที่มีอาการเหนือหลอดอาหาร และ มีอาการโรคกรดไหลย้อนในหลอดอาหาร เช่น เรอเปรี้ยว แสบร้อนกลางอก เป็นต้น โดยให้ยา 1-2 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 2 เดือน แต่ไม่สนับสนุนถ้าไม่มีอาการเกี่ยวกับหลอดอาหาร[32] ถ้าหลังจากสองเดือนแล้ว และไม่มีอาการในหลอดอาหาร ควรหยุดยา PPI แล้วหาวิธีรักษาและวินิจฉัยอื่น ๆ[33]
Remove ads
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads