Loading AI tools
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทางทหารของไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี (อังกฤษ: The Honourable Order of Rama) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สำหรับบำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้ทำความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์ รามาธิบดี | |
---|---|
เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร และแพรแถบย่อ | |
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย | |
ประเภท | สายสะพายพร้อมดารา, ดวงตราพร้อมดารา, ดวงตรา, เหรียญ (6 ชั้น) |
วันสถาปนา | พ.ศ. 2461 |
ประเทศ | ราชอาณาจักรไทย |
จำนวนสำรับ | ไม่จำกัดจำนวน |
ผู้สมควรได้รับ | ข้าราชการทหาร, ผู้มีเกียรติของต่างประเทศ |
มอบเพื่อ | ความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่าในยามสงบหรือยามสงคราม |
สถานะ | ยังพระราชทานอยู่ |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ประธาน | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สถิติการมอบ | |
รายแรก | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 |
รายล่าสุด | พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า |
รองมา | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก |
หมายเหตุ | ผู้ได้รับพระราชทานจะต้องเข้าร่วมพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย |
ปัจจุบัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี แบ่งออกเป็น 6 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยชั้นเสนางคะบดีจัดเป็นชั้นสูงสุด พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีนั้น ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งเก่าและใหม่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย[2] การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ควรสวมสายสะพายรามาธิบดีเฉพาะงานที่เกี่ยวกับราชการทหาร ซึ่งมีหมายกำหนดการระบุไว้โดยเฉพาะว่าให้สวมสายสะพายรามาธิบดี [3]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า "ราชการทหารเป็นกิจพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ปฏิบัติราชการอย่างนั้นต้องออกกำลังแรงและปัญญาอย่างอุกฤษฐ์ ทั้งต้องพร้อมอยู่เสมอที่จะสละชีวิตเป็นราชพลีและเพื่อรักษาอิสรภาพบำรุงความรุ่งเรืองแก่ชาติบ้านเมือง สมควรจะมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบสำหรับผู้ทำดีในราชการแผนกนี้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่ง" ดังนั้น พระองค์จึงทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อบำเหน็จความชอบแก่ผู้ทำดีในราชการทหาร ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 โดยพระราชทานครั้งแรกให้กับ ทหารและอาสาสมัคร ผู้ไปปฏิบัติภารกิจในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยกำหนดให้แบ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็น 4 ชั้น พร้อมด้วยเหรียญราชอิสริยาภรณ์ โดยมอบหมายให้กระทรวงมุรธาธรเป็นผู้จัดทำ พร้อมกันนี้ โปรดเกล้าฯ ให้มีคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประกอบด้วย
สำหรับเป็นที่ปรึกษาประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีหน้าที่พิจารณาว่าผู้ใดสมควรที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอรับพระราชทานต่อไป[1]
คณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีการแต่งตั้งขึ้น 2 ครั้ง โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์มีพระบรมราชโองการให้[4]
ส่วนคณะที่ปรึกษาประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชุดที่ 2 นั้น แต่งตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์มีพระบรมราชโองการให้[5]
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ก็ได้ระงับไปชั่วคราว จนกระทั่ง มีการตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2503 ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่ภาวะการปัจจุบัน รวมทั้งได้ยกเลิกคณะที่ปรึกษาแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลงด้วย[6] และมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ขึ้นอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ประกอบด้วย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นเสนางคะบดี, ชั้นมหาโยธิน, ชั้นโยธิน, ชั้นอัศวิน และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ 2 ชั้น ได้แก่ เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร เหรียญรามมาลา โดยมีลักษณะและลำดับชั้น ดังต่อไปนี้[6]
แพรแถบย่อ | ดุมเสื้อ | ชั้น | ชื่อ | อักษรย่อ | ตำแหน่งการบังคับบัญชาทางทหาร ในราชการสงคราม[1] | ลำดับเกียรติ[7] |
---|---|---|---|---|---|---|
ชั้นที่ 1 | เสนางคะบดี | ส.ร. | 7 | |||
ชั้นที่ 2 | มหาโยธิน | ม.ร. |
|
14 | ||
ชั้นที่ 3 | โยธิน | ย.ร. |
|
19 | ||
ชั้นที่ 4 | อัศวิน | อ.ร. |
|
22 | ||
ไม่มี | ชั้นที่ 5 | เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร | ร.ม.ก. | ผู้ใดแสดงความองอาจส่วนตัวเป็นพิเศษอย่างยิ่งยวด ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อกระทำการให้สำเร็จตามหน้าที่ หรือกระทำการเกินกว่าความจำเป็นในหน้าที่ | 37 | |
ชั้นที่ 6 | เหรียญรามมาลา | ร.ม. | ผู้ใดกระทำการรบเข้มแข็งน่าชมเชย แต่มิอาจกระทำการเช่นนั้นแต่เพียงผู้เดียว ทำพร้อมกันหลาย ๆ คน เช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน | 38 |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 มีชื่อว่า เสนางคะบดี และมีอักษรย่อว่า ส.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดสายสะพาย มีดารา มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 7 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 2 มีชื่อว่า มหาโยธิน และมีอักษรย่อว่า ม.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดคล้องคอ มีดารา มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 14 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 3 มีชื่อว่า โยธิน และมีอักษรย่อว่า ย.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดคล้องคอ ไม่มีดารา มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 19 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 4 มีชื่อว่า อัศวิน และมีอักษรย่อว่า อ.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดประดับหน้าอกเสื้อ มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 22 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 5 มีชื่อว่า เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร และมีอักษรย่อว่า ร.ม.ก. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับสูงสุดในหมู่เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ[8] มีลักษณะ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 6 มีชื่อว่า เหรียญรามมาลา และมีอักษรย่อว่า ร.ม. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติรองจากเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมรในหมู่เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ[8] มีลักษณะ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ผู้ทำความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม หรือผู้มีเกียรติของต่างประเทศ ในอดีตนั้นจะมีคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับทำหน้าที่พิจารณาว่าผู้ใดสมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแล้วจึงนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอรับพระราชทานต่อไป[1] แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลง และกำหนดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและและเรียกคืนได้ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร แต่ยังคงไว้สำหรับพระราชทานสำหรับผู้ทำความดีความชอบเป็นพิเศษและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในราชการทหาร ไม่ว่าในยามสงบหรือในยามสงครามดังเช่นที่เคยเป็นมา[6]
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีตั้งแต่ชั้นที่ 4 ขึ้นไปนั้น จะได้รับใบประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกร ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้นที่ 5 และ 6 นั้น จะได้รับการประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา[6] การรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งเก่าและใหม่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย[2][9]
นอกจากนี้ ยังมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นพิเศษให้ใช้ประดับที่ธงชัยของกองทหารบกรถยนต์เพื่อเป็นเกียรติยศพิเศษ[10] รวมทั้ง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้น 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร สำหรับประดับธงชัยเฉลิมพล กองพันทหารราบที่ 1 กองพันทหารราบที่ 2 กองพันทหารราบที่ 3 และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ[11]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มอบให้แก่ผู้ทำความดีในราชการทหาร โดยพระราชทานให้ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตและผู้วายชนม์ โดยที่ผ่านมานั้นผู้ได้รับพระราชทานจะเป็นบุรุษทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2503 นั้นจะไม่ได้ระบุว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานให้แก่บุรุษเท่านั้น[6] อย่างไรก็ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย พ.ศ. 2541 นั้น มีการระบุถึงการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเฉพาะบุรุษเท่านั้น[3] ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีมีจำนวนมาก อาทิ[12]
ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร
การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ควรสวมสายสะพายรามาธิบดี (ชั้นเสนางคะบดี) เฉพาะงานที่เกี่ยวกับราชการทหาร ซึ่งมีหมายกำหนดการระบุไว้โดยเฉพาะว่าให้สวมสายสะพายรามาธิบดีเท่านั้น[3] อาทิเช่น พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ส่วนผู้ที่เคยได้รับพระราชทานเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมรมาก่อนนั้น สามารถประดับเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมรได้ทุกโอกาสที่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือที่มีกำหนดนัดหมายทางการให้ประดับเหรียญ รวมทั้งมีสิทธิประดับเครื่องหมายเข็มกล้ากลางสมรสอดบนแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ตลอดไป แม้จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นที่สูงขึ้นไปชั้นใดก็ตาม โดยให้ประดับในโอกาสที่มิได้ประดับเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร ในกรณีที่แต่งเครื่องแบบให้ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา ส่วนในกรณีแต่งสากลให้ประดับที่คอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้ายใต้ดุมเครื่องราชอิสริยาภรณ์[13]
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ตั้งแต่ชั้นอัศวินขึ้นไปนั้น จะมีเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องหมายที่ใช้เป็นดุมเสื้อเป็นรูปดอกไม้จีบด้วยแพรแถบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเครื่องสากลโดยให้ประดับที่รังดุมคอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้าย[14] และสามารถใช้ประดับเมื่อสวมชุดไทย โดยบุรุษมีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยสีสุภาพ โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย บริเวณปากกระเป๋าเสื้อ[15]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.