ฟลูอ็อกเซทีน

ยาแก้ซึมเศร้าชนิดหนึ่ง จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฟลูอ็อกเซทีน

ฟลูอ็อกเซทีน (อังกฤษ: Fluoxetine) หรือชื่อทางการค้าคือ โปรแซ็ค (Prozac) และ ซาราเฟ็ม (Sarafem) เป็นยาแก้ซึมเศร้าแบบรับประทานประเภท selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI)[1] ใช้รักษาโรคซึมเศร้า (MDD) โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน (bulimia nervosa) โรคตื่นตระหนก (panic disorder) และความละเหี่ยก่อนระดู (premenstrual dysphoric disorder ตัวย่อ PMDD) เป็นยาที่อาจลดความเสี่ยงการฆ่าตัวตายในคนไข้อายุเกิน 65 ปี และเป็นยาที่ใช้รักษาการหลั่งน้ำอสุจิเร็ว (premature ejaculation) ได้ด้วย[1]

ข้อมูลเบื้องต้น ข้อมูลทางคลินิก, ชื่อทางการค้า ...
ฟลูอ็อกเซทีน
Thumb
Thumb
ฟลูอ็อกเซทีนเออาโออิ (บน),
(R) -fluoxetine (กลาง), (S) -fluoxetine (ล่าง)
ข้อมูลทางคลินิก
ชื่อทางการค้าProzac, Animex-On, Sarafem, Adofen, Deprex
AHFS/Drugs.comโมโนกราฟ
MedlinePlusa689006
ข้อมูลทะเบียนยา
ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
  • AU: C
  • US: C (ยังไม่ชี้ขาด)
    Dependence
    liability
    ทางกาย: ต่ำ
    ทางใจ: ต่ำ
    Addiction
    liability
    ไม่มี
    ช่องทางการรับยารับประทาน
    รหัส ATC
    กฏหมาย
    สถานะตามกฏหมาย
    • AU: S4 (ต้องใช้ใบสั่งยา)
    • CA: ℞-only
    • UK: POM (Prescription only)
    • US: ℞-only
    ข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์
    ชีวประสิทธิผล60-80%[1]
    การจับกับโปรตีน94-95%[2]
    การเปลี่ยนแปลงยาตับ (อำนวยโดยระบบ CYP2D6)[3]
    ครึ่งชีวิตทางชีวภาพ1-3 วัน (ระยะสั้น)
    4-6 วัน (ระยะยาว)[3][4]
    การขับออกปัสสาวะ (80%), อุจจาระ (15%)[3][4]
    ตัวบ่งชี้
    • N-methyl-3-phenyl-3-[4- (trifluoromethyl) phenoxy]propan-1-amine
    เลขทะเบียน CAS
    PubChem CID
    IUPHAR/BPS
    DrugBank
    ChemSpider
    UNII
    KEGG
    ChEBI
    ChEMBL
    ECHA InfoCard100.125.370
    ข้อมูลทางกายภาพและเคมี
    สูตรC17H18F3NO
    มวลต่อโมล309.33 g·mol−1 g·mol−1
    แบบจำลอง 3D (JSmol)
    ไครัลลิตีRacemic mixture
    จุดหลอมเหลว179 ถึง 182 องศาเซลเซียส (354 ถึง 360 องศาฟาเรนไฮต์)
    จุดเดือด395 องศาเซลเซียส (743 องศาฟาเรนไฮต์)
    การละลายในน้ำ14 mg/mL (20 °C)
    SMILES
    • CNCCC (c1ccccc1) Oc2ccc (cc2) C (F) (F) F
    InChI
    • InChI=1S/C17H18F3NO/c1-21-12-11-16 (13-5-3-2-4-6-13) 22-15-9-7-14 (8-10-15) 17 (18,19) 20/h2-10,16,21H,11-12H2,1H3 Y
    • Key:RTHCYVBBDHJXIQ-UHFFFAOYSA-N Y
      (verify)
    สารานุกรมเภสัชกรรม
    ปิด

    ผลข้างเคียงที่สามัญก็คือนอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร ปากแห้ง เป็นผื่น และฝันผิดปกติ ผลข้างเคียงที่รุนแรงรวมทั้งเซโรโทนินเป็นพิษ (serotonin syndrome) อาการฟุ้งพล่าน การชัก โอกาสเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้นสำหรับคนอายุต่ำกว่า 25 ปี และความเสี่ยงการเลือดออกสูงขึ้น ถ้าหยุดแบบฉับพลัน อาจมีอาการหยุดยา ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับความวิตกกังวล ความเวียนหัวคลื่นไส้ และการรับรู้สัมผัสที่เปลี่ยนไป[1] ยังไม่ชัดเจนว่า ยาปลอดภัยสำหรับหญิงมีครรภ์หรือไม่ แต่ว่าถ้าทานยาอยู่แล้ว ก็ยังเหมาะสมที่จะทานต่อไปเมื่อให้นมลูก[5] กลไกการทำงานของยายังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่ายาเพิ่มการทำงานของระบบเซโรโทนินในสมอง[1]

    บริษัท Eli Lilly and Company ค้นพบยาในปี พ.ศ. 2515 และเริ่มใช้ในการแพทย์เมื่อปี 2529[6] เป็นยาที่อยู่ในรายการยาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก คือยาที่จำเป็นที่สุดในระบบดูแลสุขภาพพื้นฐาน[7] ในปัจจุบันมียาสามัญแล้ว[1] และจัดเป็นยาอันตรายในประเทศไทย

    การแพทย์

    สรุป
    มุมมอง
    Thumb
    แผงยาฟลูอ็อกเซทีน 20 มก.

    ฟลูอ็อกเซทีนมักใช้รักษาโรคซึมเศร้า (MDD) โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) โรคหิวไม่หาย (bulimia nervosa) โรคตื่นตระหนก (panic disorder) ความละเหี่ยก่อนระดู (PMDD) อาการถอนผม (trichotillomania)[8][9][10][11] และยังใช้รักษาภาวะปวกเปียก (cataplexy) โรคอ้วน การติดเหล้า[12] โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วไม่อาเจียน (binge eating disorder)[13] และได้ลองใช้สำหรับโรคออทิซึมสเปกตรัมอย่างสำเร็จโดยปานกลางในผู้ใหญ่[14][15][16][17]

    โรคซึมเศร้า

    ประสิทธิผลของฟลูอ็อกเซทีนและยาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ ในการรักษาโรคซึมเศร้าหนักน้อยถึงปานกลางยังไม่มีข้อยุติ งานวิเคราะห์อภิมานปี 2551 เสนอว่า ในอาการจากเบาจนถึงปานกลาง ประสิทธิผลของฟลูอ็อกเซทีนและยา SSRI ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก[18] งานวิเคราะห์อภิมานปี 2552 ที่วิเคราะห์ข้อมูลระดับคนไข้จากงานทดลองหกงานที่ใช้ยา SSRI คือ paroxetine และยา non-SSRI คือ imipramine เป็นหลักฐานอีกอย่างว่า ยาแก้ซึมเศร้ามีประสิทธิผลน้อยในกรณีที่เบาจนถึงปานกลาง[19] ส่วนงานวิเคราะห์อภิมานปี 2555 ที่วิเคราะห์ข้อมูลระดับคนไข้ของฟลูอ็อกเซทีนที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าสรุปว่า มีผลที่มีนัยสำคัญทั้งทางสถิติและทางคลินิกไม่ว่าโรคจะอยู่ในระดับไหน และความรุนแรงของโรคไม่มีผลที่สำคัญต่อประสิทธิผลของยา[20]

    งานปฏิทัศน์เป็นระบบปี 2552 ขององค์กรสาธารณสุขสหราชอาณาจักร (National Institute for Health and Care Excellence ตัวย่อ NICE) ซึ่งรวมงานปี 2551 แต่ไม่รวมงานภายหลัง สรุปว่า มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า SSRI มีประสิทธิผลต่อโรคซึมเศร้าตั้งแต่ปานกลางจนถึงหนัก และมีหลักฐานบ้างว่ามีผลต่อโรคขั้นอ่อน[21] การวิเคราะห์ของ NICE และงานปี 2552 สรุปว่า มีหลักฐานสำหรับประสิทธิผลของยาแก้ซึมเศร้าสำหรับโรคซึมเศร้าแบบอ่อนเรื้อรัง (dysthymia) ที่ชัดเจนกว่าโรคซึมเศร้าขั้นอ่อนที่เพิ่งเกิดขึ้น

    NICE แนะนำให้รักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าแบบ SSRI บวกกับการแทรกแทรงทางจิต-สังคมเป็นการรักษาลำดับสองสำหรับโรคซึมเศร้าขั้นอ่อนระยะสั้น และเป็นการรักษาลำดับแรกสำหรับโรคปานกลางหรือหนัก และสำหรับโรคเบาแต่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ หรือมีมานานแล้ว ส่วนสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) รวมการรักษาด้วยยาเป็นทางเลือกการรักษาลำดับแรกสำหรับโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะเมื่อ "มีประวัติตอบสนองที่ดีต่อยาแก้ซึมเศร้า มีอาการระดับปานกลางจนถึงรุนแรง มีปัญหาสำคัญในการนอนหรือความอยากอาหาร มีกายใจไม่สงบ เป็นความต้องการของคนไข้ และคาดหวังว่าจะต้องรักษาเพื่อดำรงสภาพ (maintenance)"[22]

    ส่วนในแนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ (CPG-MDD-GP) ปี 2553 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขไทย สำหรับการรักษาโรคด้วยยาแก้ซึมเศร้าแนะนำให้พิจารณายา SSRI เป็นลำดับแรกในขนาดที่ต่ำโดยเริ่มต้นที่ฟลูอ็อกเซทีนขนาด 20 มก./วัน ในบรรดายา 3 อย่างที่แนะนำ โดยควรให้ยาสำหรับโรคขั้นปานกลางจนถึงหนัก[23]

    โรคย้ำคิดย้ำทำ

    ประสิทธิผลของฟลูอ็อกเซทีนในการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ได้แสดงแล้วในการทดลองทางคลินิกระยะ 3 ที่จัดกลุ่มคนไข้โดยสุ่มและทำที่หลายศูนย์ ผลรวมกันที่ได้แสดงว่า 47% ที่ได้รับการรักษาจนจบ 13 สัปดาห์ด้วยขนาดยาสูงสุด "ดีขึ้นมาก" หรือ "ดีขึ้นมาก ๆ " เทียบกับ 11% ในกลุ่มยาหลอก[2] ส่วนบัณฑิตยสถานจิตเวชเด็กและวัยรุ่นอเมริกัน (American Academy of Child and Adolescent Psychiatry) แจ้งว่า SSRI รวมทั้งฟลูอ็อกเซทีนควรใช้เป็นการรักษาลำดับแรกสำหรับเด็กร่วมกับจิตบำบัดคือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT) เพื่อรักษา OCD ในระดับปานกลางถึงรุนแรง[24]

    โรคตื่นตระหนก

    ประสิทธิผลของฟลูอ็อกเซทีนในการรักษาโรคตื่นตระหนกแสดงแล้วในงานทดลองทางคลินิกระยะ 3 ที่จัดกลุ่มคนไข้โดยสุ่มและทำที่หลายศูนย์เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ที่รับสมัครคนไข้โรคตื่นตระหนก ไม่ว่าจะมีโรคกลัวที่ชุมชนหรือไม่ ในการทดลองแรก 42% ของคนไข้ที่ได้ยาไม่มีอาการตื่นตระหนกหลังจากจบงาน เทียบกับ 28% ในกลุ่มยาหลอก ในงานที่สอง 62% ของคนไข้ที่ได้ยาไม่มีอาการตื่นตระหนกหลังจากจบงาน เทียบกับ 44% ในกลุ่มยาหลอก[2]

    โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน

    งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2554 ที่ตรวจงานทดลอง 7 งานที่เปรียบเทียบฟลูอ็อกเซทีนกับยาหลอกในการรักษา โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน (bulimia nervosa) มี 6 งานที่พบการลดอาการที่มีนัยสำคัญทางสถิติ อาการเช่น การอาเจียนและการทานมากเกินไป[25] แต่ว่า ไม่มีผลต่างเมื่อเทียบการรักษาด้วยฟลูอ็อกเซทีนบวกกับจิตบำบัด กับการรักษาด้วยจิตบำบัดอย่างเดียว

    ความละเหี่ยก่อนระดู

    ฟลูอ็อกเซทีนสามารถใช้รักษา premenstrual dysphoric disorder (ความละเหี่ยก่อนระดู ตัวย่อ PMDD) ได้ด้วย[26][27]

    กลุ่มพิเศษ

    ในเด็กและวัยรุ่น ฟลูอ็อกเซทีนเป็นยาแก้ซึมเศร้าที่นิยมเพราะหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงประสิทธิผลและความทนรับได้[28][29] สำหรับหญิงมีครรภ์ ประเทศสหรัฐอเมริกาพิจารณาว่าเป็นยาประเภท C คือ ความเสี่ยงยังไม่ได้ชี้ขาด (Risk not ruled out) หลักฐานที่สนับสนุนว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นในพัฒนาการสำคัญที่ผิดปกติ (major fetal malformation) ของทารกในครรภ์ จากการใช้ฟลูอ็อกเซทีนยังจำกัด แม้ว่า องค์กรควบคุมของสหราชอาณาจักร (Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency ตัวย่อ MHRA) จะเตือนผู้สั่งยาและคนไข้ถึงโอกาสที่การใช้ฟลูอ็อกเซทีนในช่วงไตรมาสแรก (ช่วงกำเนิดอวัยวะ) จะเป็นเหตุให้เสี่ยงสูงขึ้นในการมีหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดสำหรับเด็กที่เพิ่งคลอด[30][31][32]

    นอกจากนั้นแล้ว มีงานศึกษาหนึ่งที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ฟลูอ็อกเซทีนในช่วงไตรมาสแรก กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของพัฒนาการรองที่ผิดปกติ (minor fetal malformation) ของทารกในครรภ์[31] แต่ว่า งานปริทัศน์เป็นระบบต่องาน 21 งาน สรุปว่า "ความเสี่ยงที่ปรากฏสูงขึ้นสำหรับการเกิดหัวใจผิดปกติของทารกในครรภ์ที่สัมพันธ์กับการใช้ฟลูอ็อกเซทีนของมารดา ก็พบเร็ว ๆ นี้ด้วยในหญิงซึมเศร้าที่ผัดผ่อนการรักษาด้วย SSRI เมื่อตั้งครรภ์ และดังนั้น มีโอกาสมากที่สุดว่าเป็นอคติที่เกิดจากการเลือกตัวอย่าง (ascertainment bias) โดยทั่วไปแล้ว หญิงที่รักษาด้วยฟลูอ็อกเซทีนในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ไม่ปรากฏกว่า ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อพัฒนาการสำคัญที่ผิดปกติ (major fetal malformations)"[33]

    ตามองค์การอาหารและยาสหรัฐ ทารกที่รับยา SSRI ในช่วงปลายครรภ์อาจเสี่ยงสูงขึ้นต่อความดันสูงเรื้อรังในเด็กเกิดใหม่ (persistent pulmonary hypertension of the newborn) แม้จะมีข้อมูลจำกัดที่สนับสนุนความเสี่ยงนี้ แต่องค์การแนะนำให้แพทย์พิจารณาลดยา SSRI เช่นฟลูอ็อกเซทีนในช่วงไตรมาสที่ 3[2] งานทบทวนวรรณกรรมปี 2552 แนะนำไม่ให้ใช้ฟลูอ็อกเซทีนเป็นยาลำดับแรกในช่วงมีนม โดยแจ้งว่า "[ฟลูอ็อกเซทีน] ควรพิจารณาว่าเป็นยา SSRI ที่ควรเลือกน้อยกว่า (less-preferred) สำหรับมารดาเลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะต่อทารกที่เกิดใหม่ และสำหรับมารดาผู้ทานฟลูอ็อกเซทีนในช่วงมีครรภ์"[34] Sertraline บ่อยครั้งจะเป็นยา SSRI ที่เลือกมากกว่าในช่วงมีครรภ์ เพราะหลักฐานว่าทารกได้รับน้อยและเพราะโพรไฟล์ความปลอดภัยที่พบเมื่อเลี้ยงลูกด้วยนม[35]

    ส่วนในแนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ (CPG-MDD-GP) ปี 2553 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขไทย มีข้อแนะนำสำหรับคนไข้กลุ่มพิเศษดังต่อไปนี้[23]

    • สำหรับคนไข้โรคไตระยะสุดท้าย ยา SSRI ปลอดภัยต่อผู้ป่วยโดยเริ่มต้นแนะนำฟลูอ็อกเซทีน 20 มก./วัน
    • สำหรับผู้ป่วยโรคตับ ควรรักษาด้วยยา SSRI ในขนาดต่ำ โดยเริ่มต้นแนะนำฟลูอ็อกเซทีน 20 มก./วัน ในบรรดายา 3 อย่างที่แนะนำ และไม่แนะนำยาประเภท TCA หรือ MAOI
    • สำหรับคนไข้เด็กและวัยรุ่น ฟลูอ็อกเซทีนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ควรเริ่มด้วยยาขนาดต่ำ ในช่วงแรกของการรักษา ควรนัดและติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในเดือนแรก ควรระวังการเพิ่มความเสี่ยงฆ่าตัวตาย
    • สำหรับคนสูงอายุ เมื่อให้ยา SSRI เป็นการรักษาลำดับแรกในผู้สูงอายุ และในผู้ป่วยที่มีโรคทางกายร่วมด้วย (comorbid) ควรระวังภาวะมีโซเดียมในเลือดน้อยเกิน (hyponatremia) และเลือดออกในทางเดินอาหาร (gastro-intestinal bleeding) แนะนำให้ยาแก่ผู้สูงอายุโดย "เริ่มด้วยขนาดต่ำ ปรับยาขึ้นช้า ๆ คงรักษานานกว่าปกติ" และพิจารณาผลข้างเคียงของยาแต่ละชนิดก่อนทุกครั้ง
    • สำหรับหญิงมีครรภ์ ยากลุ่ม SSRI ปลอดภัยกว่ายากลุ่ม Tricyclic antidepressant (TCA) แต่บางรายอาจเสี่ยงต่อทารกคลอดก่อนกำหนด เกิดกลุ่มอาการหยุดยาแก้ซึมเศร้าในไตรมาสที่สาม และทารกเกิดหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart defect)

    ข้อห้ามใช้

    ข้อห้ามใช้รวมทั้งในบุคคลที่รักษาด้วยยา monoamine oxidase inhibitors (MAOI) ภายในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น phenelzine และ tranylcypromine เพราะเสี่ยงต่อเซโรโทนินเป็นพิษ (serotonin syndrome)[3] ในบุคคลที่แพ้ยาฟลูอ็อกเซทีนหรือองค์ประกอบของยา[3] และไม่แนะนำให้ใช้ในบุคคลที่กำลังรักษาด้วยยาโรคจิต pimozide หรือ thioridazine[3]

    ผลที่ไม่พึงประสงค์

    ผลข้างเคียงที่พบในการรักษาด้วยฟลูอ็อกเซทีนในการทดลองทางคลินิกโดยมีความชุกมากกว่า 5% และเกิดขึ้นอย่างน้อยสองเท่าของผู้ที่รับยาหลอกรวมทั้งอาการฝันผิดปกติ หลั่งน้ำอสุจิผิดปกติ เบื่ออาหาร วิตกกังวล อ่อนเปลี้ย ท้องร่วง ปากแห้ง อาหารไม่ย่อย อาการไข้ ไร้สมรรถภาพทางเพศ นอนไม่หลับ ความต้องการทางเพศน้อยลง คลื่นไส้ ขวัญอ่อน คอหอยอักเสบ ผื่น โพรงอากาศอักเสบ ง่วงซึม เหงื่อออก สั่น หลอดเลือดขยาย และหาว[36] ฟลูอ็อกเซทีนมีฤทธิ์กระตุ้นมากที่สุดในบรรดายา SSRI (ซึ่งก็คือ มักจะทำให้นอนไม่หลับและกระวนกระวาย)[37] และดูเหมือนจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังมากที่สุด (คือ ลมพิษ ผื่น คัน เป็นต้น)[31]

    ความผิดปกติทางเพศ

    ความผิดปกติทางเพศ รวมทั้งความต้องการทางเพศน้อยลง ไม่สามารถบรรลุจุดสุดยอด (anorgasmia) ไม่มีน้ำหล่อลื่นในช่องคลอด องคชาตไม่ตอบสนอง (erectile dysfunction) เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดเมื่อรักษาด้วยฟลูอ็อกเซทีนและยา SSRI อื่น ๆ แม้ว่าผลเบื้องต้นของการทดลองทางคลินิกจะแสดงอัตราที่ค่อนข้างต่ำของความผิดปกติทางเพศ แต่ว่างานศึกษาต่าง ๆ เร็ว ๆ นี้ที่ผู้ตรวจสอบถามถึงเรื่องปัญหาทางเพศโดยตรงแสดงว่าความชุกมีมากกว่า 70%[38] มีการแจ้งว่าอาการผิดปกติยังดำรงอยู่แม้หลังเลิกใช้ยา แม้ว่าจะเชื่อว่านี้หายาก[2][39][40]

    อาการหยุดยา

    ผลข้างเคียงของการหยุดยาฟลูอ็อกเซทีนไม่สามัญและเบา โดยเฉพาะถ้าเทียบกับ paroxetine, venlafaxine, และ fluvoxamine และน่าจะเป็นเพราะระยะครึ่งชีวิต (half-life) ทางเภสัชวิทยาของยาค่อนข้างยาว[41] กลยุทธ์บริหารอาการหยุดยาที่แนะนำสำหรับยา SSRI อื่น ๆ ก็คือให้ใช้ฟลูอ็อกเซทีนแทน ถ้าการค่อย ๆ ลดขนาดยา SSRI ที่ใช้เบื้องต้นไม่ได้ผล[42][43] งานศึกษาอำพรางสองด้านที่มีกลุ่มควบคุมสนับสนุนความเห็นนี้[ต้องการอ้างอิง]

    งานศึกษาหลายงานพบว่า ไม่เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นถ้าหยุดการรักษาฟลูอ็อกเซทีนโดยอำพรางคนไข้เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ (4-8 วัน) แล้วให้ยาใหม่ ผลนี้เข้ากับทฤษฎีว่าร่างกายกำจัดยาออกอย่างช้า ๆ เทียบกับผลข้างเคียงที่มากกว่าถ้าหยุดยา sertraline และมากกว่าอย่างสำคัญถ้าหยุดยา paroxetine[44] ตามรายงานทบทวนหลักฐานปี 2550 ฟลูอ็อกเซทีนมีปัญหาชุกน้อยที่สุดเพราะหยุดยาในบรรดายาแก้ซึมเศร้ารวมทั้ง paroxetine และ venlafaxine[45]

    การฆ่าตัวตาย

    ในปี 2550 องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) บังคับให้ยาแก้ซึมเศร้าทุกชนิดแสดงป้ายเตือนว่า ยาอาจเพิ่มความเสี่ยงการฆ่าตัวตายสำหรับคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี[46] ซึ่งมีเหตุจากการวิเคราะห์ทางสถิติของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญขององค์การ 2 กลุ่มที่ทำงานเป็นอิสระจากกันและกันที่พบว่า มีความคิดและพฤติกรรมฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2 เท่าในเด็กและวัยรุ่น และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในกลุ่มคนอายุ 18-24 ปี และน้อยลงสำหรับคนอายุมากกว่า 24 และน้อยลงกว่าอย่างสำคัญในกลุ่มคนอายุมากกว่า 65[47][48][49] ศาสตราจารย์จิตเวชที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียท่านหนึ่ง (Donald Klein) คัดค้านความเห็นนี้โดยให้ข้อสังเกตว่าความคิดและพฤติกรรมฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เป็นตัวแทนการฆ่าตัวตายสำเร็จที่ดี ดังนั้น จึงยังเป็นไปได้ที่ยาแก้ซึมเศร้าอาจป้องกันการฆ่าตัวตายสำเร็จจริง ๆ แม้ว่าจะเพิ่มความคิดและพฤติกรรม[50]

    แต่ว่า ข้อมูลที่มีเกี่ยวกับฟลูอ็อกเซทีนจะน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยทั่วไป เพื่อที่จะได้ผลดังที่ว่า FDA ต้องรวมผลการทดลอง 295 งานสำหรับยาแก้ซึมเศร้า 11 อย่างเพื่อที่จะได้ผลที่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ถ้าพิจารณาต่างหาก ฟลูอ็อกเซทีนในเด็กเพิ่มโอกาสความคิดและพฤติกรรมฆ่าตัวตายโดย 50%[51] และในผู้ใหญ่ลดโอกาสโดย 30%[48][49] โดยคล้ายคลึงกัน องค์การสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency ตัวย่อ MHRA) ทำการวิเคราะห์ในเด็กและวัยรุ่นที่ทานฟลูอ็อกเซทีนเทียบกับยาหลอก แล้วพบว่าโอกาสเสี่ยงเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นโดย 50% แม้จะยังไม่ถึงนัยสำคัญทางสถิติ และว่าในผู้ใหญ่ ฟลูอ็อกเซทีนไม่เปลี่ยนอัตราการทำร้ายตัวเองและลดความคิดการฆ่าตัวตายถึง 50% โดยมีนัยสำคัญทางสถิติ[52][53]

    ยาเกินขนาด

    เมื่อทานยาเกิน ผลลบที่พบบ่อยครั้งที่สุดรวมทั้ง[54]

    ผลต่อระบบประสาท
    • วิตกกังวล
    • ขวัญอ่อน/อยู่ไม่เป็นสุข (nervousness)
    • นอนไม่หลับ
    • ง่วงนอน
    • อ่อนเพลีย
    • สั่น
    • เวียนหัว/คลื่นไส้
    ผลต่อทางเดินอาหาร
    ผลอื่น ๆ

    ปฏิสัมพันธ์กับสารอื่น

    สรุป
    มุมมอง

    ฟลูอ็อกเซทีนและ norfluoxetine ยับยั้งไอโซไซม์หลายอย่างของระบบ cytochrome P450 ที่มีส่วนในกระบวนการเมแทบอลิซึมของยา ทั้งสองเป็นสารยับยั้งที่มีฤทธิ์สูงต่อเอนไซม์ CYP2D6 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการเมแทบอลิซึมของยาทั้งสองเองด้วย ต่อเอนไซม์ CYP2C19 และมีฤทธิ์อ่อนจนถึงปานกลางต่อเอนไซม์ CYP2B6 และ CYP2C9[55][56] ในสัตว์เป็น (in vivo) ฟลูอ็อกเซทีนและ norfluoxetine ไม่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ CYP1A2 และ CYP3A4[55] ยาทั้งสองยังยับยั้งการทำงานของโปรตีน P-glycoprotein ซึ่งเป็นโปรตีนขนส่งผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane transport protein) ที่มีบทบาทสำคัญในการขนส่ง การสร้างและสลายยา และดังนั้น ซับสเตรตของ P-glycoprotein เช่นยาแก้ท้องร่วง loperamide อาจจะมีฤทธิ์แรงขึ้น[57] ผลที่กว้างขวางต่อวิถีเมแทบอลิซึมของยาในร่างกายเช่นนี้ สร้างโอกาสที่ยาจะมีปฏิสัมพันธ์กับยาสามัญอื่น ๆ มากมาย[57][58]

    ควรจะเลี่ยงใช้ยาเมื่อคนไข้กำลังทานยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบเซโรโทนินอย่างอื่น ๆ ด้วย เช่น monoamine oxidase inhibitors, tricyclic antidepressants, methamphetamine, methylenedioxymethamphetamine (MDMA), triptan, buspirone, serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors, และยา SSRI อื่น ๆ เนื่องจากโอกาสเกิดอาการเซโรโทนินเป็นพิษ[3]

    นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับยายึดโปรตีนอื่น ๆ เพราะฟลูอ็อกเซทีนอาจกำจัดยาดังกล่าวจากพลาสมาของเซลล์ หรือฟลูอ็อกเซทีนอาจถูกกำจัดโดยนัยตรงกันข้าม และดังนั้นจะเพิ่มความเข้มข้นของฟลูอ็อกเซทีนหรือยาที่ว่าในซีรัมของเลือด[3]

    ข้อมูลเพิ่มเติม เป้าหมาย, ฟลูอ็อกเซทีน ...
    Binding affinities (Ki in nM)[59][60]
    [ต้องการตรวจสอบความถูกต้อง]
    เป้าหมาย ฟลูอ็อกเซทีน Norfluoxetine
    SERT119
    NET6602700
    DAT4180420
    5-HT2A200300
    5-HT2B50005100
    5-HT2C72.691.2
    α130003900
    M18701200
    M227004600
    M31000760
    M429002600
    M527002200
    H1325010000
    Entries with this color indicate a lower Ki bound.
    ปิด

    เภสัชวิทยา

    เภสัชพลศาสตร์

    ฟลูอ็อกเซทีนเป็นสารยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะของเซลล์ประสาท (selective serotonin reuptake inhibitor ตัวย่อ SSRI) แต่ไม่ยับยั้งนอร์เอพิเนฟรินหรือโดพามีนในปริมาณที่ใช้เพื่อรักษา ดังนั้น เมื่อเซลล์ประสาทปล่อยเซโรโทนินออก สารจะดำรงอยู่นานกว่าเพราะการนำไปใช้ใหม่ (reuptake) เกิดความล่าช้า แต่การให้ยาเป็นจำนวนมากในหนู จะเพิ่มนอร์เอพิเนฟรินหรือโดพามีนอย่างสำคัญในไซแนปส์[61][62][63][64] ดังนั้น โดพามีนและนอร์เอพิเนฟรินอาจมีส่วนในฤทธิ์ลดความซึมเศร้าของฟลูอ็อกเซทีนในมนุษย์เมื่อใช้เกินขนาดรักษา (60-80 มก.)[63][65] ผลที่ว่านี่อาจจะอำนวยโดยตัวรับ 5HT2C ซึ่งฟลูอ็อกเซทีนในระดับเข้มข้นกว่าจะมีฤทธิ์ยับยั้ง[66]

    ฟลูอ็อกเซทีนเพิ่มความเข้มข้นของนิวโรสเตอรอยด์ allopregnanolone ที่ไหลเวียนในสมองและมีศักยภาพเพิ่มการทำงานของตัวรับ GABAA (โดยทำงานเป็น GABAA receptor positive allosteric modulator ตัวย่อ GABAA PAM) ในระบบประสาท[64][67] ความซึมเศร้าสัมพันธ์กับระดับ allopregnanolone ที่ลดลงในน้ำไขสันหลัง (cerebrospinal fluid)[68] และดังนั้น สาร GABAA PAM จึงอาจมีผลต่อความซึมเศร้า[69] Norfluoxetine ซึ่งเป็นเมแทบอไลต์ออกฤทธิ์หลักของฟลูอ็อกเซทีน ให้ผลคล้ายกันต่อระดับ allopregnanolone ที่เพิ่มขึ้นในสมองหนู[64] ฟลูอ็อกเซทีนยังเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ acid sphingomyelinase ซึ่งเป็นตัวควบคุมระดับ ceramide ที่สำคัญ โดยอำนวยการสร้าง ceramide จาก sphingomyelin ซึ่งเป็นกระบวนการที่สันนิษฐานว่ามีผลต่อความซึมเศร้า[70][71]

    ฟลูอ็อกเซทีนยังออกฤทธิ์เป็นตัวทำการของตัวรับ σ11-receptor) โดยมีฤทธิ์แรงกว่า citalopram แต่น้อยกว่า fluvoxamine แม้ว่า ความสำคัญของฤทธิ์นี้ยังไม่ชัดเจน[72][73] ฟลูอ็อกเซทีนยังมีฤทธิ์ปิดช่องไอออน anoctamin-1 ซึ่งเป็นช่องไอออนสำหรับคลอไรด์ที่เริ่มการทำงานโดยแคลเซียม (calcium-activated chloride channel)[74][75] นอกจากนั้นแล้ว ในระดับความเข้มข้นสูง ตัวฟลูอ็อกเซทีนเองก็ยังเป็นตัวเพิ่มการทำงานแบบ positive allosteric modulator ของตัวรับ GABAA และ norfluoxetine ก็เช่นกันแต่มีฤทธิ์แรงกว่า ซึ่งอาจมีผลสำคัญทางคลินิก[76] และในระดับความเข้มข้นคล้าย ๆ กัน ก็เป็นตัวยับยั้งช่องไอออนจำนวนหนึ่งรวมทั้ง nicotinic acetylcholine receptor และ 5-HT3 receptor ด้วย[76]

    Thumb
    Seproxetine (หรือ S-norfluoxetine) ซึ่งเป็น เมแทบอไลต์ออกฤทธิ์หลักของฟลูอ็อกเซทีน

    เภสัชจลนศาสตร์

    สภาพพร้อมใช้ทางชีวภาพของฟลูอ็อกเซทีนค่อนข้างสูง (72%) และความเข้มข้นสูงสุดในเลือดเกิดขึ้นภายใน 6-8 ชม. เป็นยาที่ยึดกับโปรตีนพลาสมาได้ดี โดยมากกับแอลบูมิน และไกลโคโปรตีน α1[3] ฟลูอ็อกเซทีนจะสลายในตับโดยอาศัย isoenzyme ของระบบ cytochrome P450 รวมทั้งเอนไซม์ CYP2D6[77] บทบาทของ CYP2D6 ในเมแทบอลิซึมของฟลูอ็อกเซทีนอาจสำคัญทางคลินิก เพราะว่าการทำงานของเอนไซม์นี้มีความแตกต่างทางพันธุกรรมมากในบุคคลต่าง ๆ CYP2D6 เป็นเอนไซม์ที่เปลี่ยนฟลูอ็อกเซทีนเป็นเมแทบอไลต์ออกฤทธิ์เดียวของยา ซึ่งก็คือ norfluoxetine[78] ทั้งฟลูอ็อกเซทีนและ norfluoxetine เป็นตัวยับยั้งฤทธิ์แรงต่อเอนไซม์ CYP2D6[79]

    เพราะร่างกายกำจัดฟลูอ็อกเซทีนและเมแทบอไลต์ norfluoxetine ได้ช้ามาก จึงทำให้ยาแตกต่างจากยาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ คือ เมื่อทานได้สักระยะหนึ่งฟลูอ็อกเซทีนและ norfluoxetine จะยับยั้งเมแทบอลิซึมของตนเอง ดังนั้นระยะครึ่งชีวิตในการกำจัดฟลูอ็อกเซทีนในขนาดที่ใช้รักษาจะเปลี่ยนไปจาก 1 วันไปเป็น 3 วันในเบื้องต้น และไปเป็น 4-6 วันหลังจากทานเป็นระยะเวลานาน[3] และโดยคล้าย ๆ กัน ครึ่งชีวิตในการกำจัด norfluoxetine จะยาวขึ้นเป็น 16 วัน หลังจากทานเป็นระยะเวลายาว[77][80][81] ดังนั้น ทั้งความเข้มข้นของยาและเมแทบอไลต์ออกฤทธิ์ของยาในเลือดจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการรักษา และความเข้มข้นเสถียรจะถึงก็ต่อเมื่อหลังจากทานเป็นเวลา 4 อาทิตย์[82][83]

    นอกจากนั้นแล้ว ความเข้มข้นของยาและเมแทบอไลต์จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดอย่างน้อย 5 สัปดาห์แรกหลังจากเริ่มรักษา[84] ซึ่งหมายความว่า ประโยชน์ที่จะได้จากขนาดยาที่ให้ในปัจจุบันจะไม่สมบูรณ์อย่างน้อย 1 เดือนหลังจากเริ่มยา ยกตัวอย่างเช่น ในงานศึกษา 6 สัปดาห์งานหนึ่ง เวลามัธยฐานที่คนไข้จะตอบสนองอย่างคงเส้นคงวาก็คือ 29 วัน[82] โดยนัยเดียวกัน การกำจัดยาโดยสิ้นเชิงอาจจะต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์ คือ ในอาทิตย์แรกหลังจากเลิก ความเข้มข้นของยาในสมองลดลงเพียงแค่ 50%[84] ระดับ norfluoxetine ในเลือด 4 อาทิตย์หลังจากเลิกยาอยู่ที่ประมาณ 80% ของระดับที่วัดได้หลังจากเริ่มการรักษา 1 อาทิตย์ และหลังจาก 7 อาทิตย์ที่เลิก ก็ยังสามารถตรวจจับ norfluoxetine ในเลือดได้อยู่[80]

    การวัดในของเหลวร่างกาย

    ฟลูอ็อกเซทีนและ norfluoxetine สามารถวัดได้ในเลือด พลาสมา หรือซีรัมเพื่อตรวจตราการรักษา เพื่อยืนยันวินิจฉัยว่าเป็นพิษในคนไข้ที่เข้าโรงพยาบาล หรือเพื่อช่วยชันสูตรศพ คือ ความเข้มข้นของยาในเลือดหรือในพลาสมาปกติอยู่ระหว่าง 50-500 μg/L สำหรับคนไข้ที่ใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า, 900-3000 μg/L สำหรับผู้รอดชีวิตจากการได้ยาเกิน, และ 1000-7000 μg/L สำหรับเหยื่อที่ได้รับขนาดถึงตาย ความเข้มข้นของ Norfluoxetine ประมาณเท่ากับฟลูอ็อกเซทีนในช่วงการรักษาระยะยาว แต่อาจจะน้อยกว่ามากถ้าได้ยาเกิน เพราะจะใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 อาทิตย์กว่าเมแทบอไลต์จะถึงจุดสมดุล[85][86][87]

    การใช้

    ในปี 2553 มีการให้ยา 24.4 ล้านชุดสำหรับยาสามัญฟลูอ็อกเซทีนในประเทศสหรัฐอเมริกา (ประชากร 309 ล้านคน คือ ~7.9% ของประชากร)[88] ทำให้เป็นยาแก้ซึมเศร้านิยมเป็นอันดับ 3 ต่อจาก sertraline และ citalopram[88] ในปี 2554 มีการให้ยา 6 ล้านชุดในสหราชอาณาจักร (ประชากร 63 ล้านคน คือ ~9.5% ของประชากร)[89]

    ประวัติ

    งานที่นำไปสู่การค้นพบฟลูอ็อกเซทีนเริ่มที่บริษัท Eli Lilly and Company ในปี พ.ศ. 2513 เป็นสมัยที่สารต้านฮิสทามีน "ไดเฟนไฮดรามีน" รู้กันว่ามีคุณสมบัติแก้ความซึมเศร้าบางอย่าง ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสังเคราะห์สารอนุพันธุ์เป็นโหล ๆ จาก 3-Phenoxy-3-phenylpropylamine ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับไดเฟนไฮดรามีน[90]

    ต่อมา โดยหวังว่าจะพบสารอนุพันธ์ที่ยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่ (reuptake) โดยเฉพาะ นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทคือ ดร. เดวิด ที วอง (ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี 2554) เสนอที่จะทดสอบสารอนุพันธุ์นอกกาย (in vitro) ว่าเป็นตัวยับยั้งเซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดพามีนหรือไม่ การทดสอบบรรดาสารสังเคราะห์ที่ทำในปี 2515[90] แสดงว่า สารประกอบที่ภายหลังตั้งชื่อว่าฟลูอ็อกเซทีนมีฤทธิ์มากที่สุดและเป็นตัวยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะ[91] ซึ่ง ดร. วองตีพิมพ์บทความแรกในปี 2517[91] และในปีต่อมา ยาก็ได้รับชื่อเป็นทางการและบริษัทได้ตั้งชื่อการค้าว่าโปรแซ็ก ในปี 2520 บริษัทในเครือข่าย (Dista Products Company) จึงยื่นคำขอเพื่อทดลองฟลูอ็อกเซทีนทางคลินิกระยะที่ 1 ต่อ FDA[92]

    ฟลูอ็อกเซทีนเริ่มวางตลาดประเทศเบลเยียมในปี 2529[93] ส่วนในสหรัฐ FDA อนุมัติให้ขายยาในปลายปี 2530[94] ซึ่งเดือนหนึ่งจากนั้น บริษัทก็เริ่มวางตลาด และภายใน 1 ปี ยอดขายโปรแซ็กต่อปีในสหรัฐได้ถึง 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[92] และในที่สุด ถึงยอดสูงสุดที่ 2,600 ล้านเหรียญต่อปี[95]

    บริษัทได้ใช้กลยุทธ์ยืดอายุสิทธิบัตรของยาหลายอย่าง รวมทั้งสูตรยาที่ออกฤทธิ์ยืดเวลาและเริ่มการทดลองทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของฟลูอ็อกเซทีนในภาวะความละเหี่ยก่อนระดู (premenstrual dysphoric disorder ตัวย่อ PMDD) โดยเปลี่ยนชื่อการค้าเป็น ซาราเฟ็ม หลังจากที่ได้อนุมัติจาก FDA ในปี 2543[96][97][98] แต่นักวิจัยอื่น (ศ. ดร. Richard Wurtman ที่ MIT) เป็นผู้ริเริ่มใช้ฟลูอ็อกเซทีนเพื่อรักษา PMDD และต่อมาขายสิทธิบัตรให้กับบริษัท[99]

    เพื่อป้องกันยอดขายที่ได้จากฟลูอ็อกเซทีน บริษัทได้สู้ความในศาลเพื่อป้องกันสิทธิกับบริษัทผลิตยาสามัญหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งต่อมาได้แพ้ความในการยืดอายุสิทธิบัตรทุกกรณียกเว้นซาราเฟ็ม ทำให้ผู้ผลิตยาสามารถผลิตยาสามัญได้เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2544[100] เมื่อสิทธิบัติรของบริษัทหมดอายุ[101] การแข่งขันจากยาสามัญได้ลดยอดขายฟลูอ็อกเซทีนของบริษัทโดย 70% ภายในสองเดือน[96]

    ในปี 2543 บริษัทลงทุนคาดว่า ยอดขายต่อปีของซาราเฟ็มอาจถึง 250 ล้านเหรียญต่อปี[102] เมื่อยอดขายถึง 85 ล้านเหรียญต่อปีในปี 2545 บริษัทได้ขายทรัพย์สินเกี่ยวกับยาในราคา 295 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้บริษัทอื่นที่ชำนาญในยาโรคผิวหนังและสุขภาพหญิงโดยที่มีแผนกขายติดต่อกับนรีแพทย์โดยตรง ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่าสมเหตุผลเพราะว่ายอดขายต่อปีไม่สำคัญพอต่อบริษัท Eli Lilly แต่สำคัญพอสำหรับบริษัทอื่น[103][104]

    ถึงกระนั้น การวางตลาดซาราเฟ็มได้ทำชื่อเสียงของบริษัทให้เสียหายเป็นบางส่วน คือ เกณฑ์วินิจฉัยของ PMDD เป็นเรื่องสร้างความขัดแย้งเริ่มตั้งแต่เสนอในปี 2530 และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของบริษัทในการรักษาเกณฑ์นี้ไว้ในภาคผนวกของหนังสือคู่มือ DSM-IV-TR ปี 2543 ซึ่งบริษัทได้เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2541[102] คือบริษัทถูกวิจารณ์ว่า ประดิษฐ์โรคเพื่อจะหารายได้[102] ไม่พยายามสร้างนวัตกรรม แต่เพียงพยายามรักษารายได้จากยาที่มีอยู่แล้ว[105] นอกจากนั้นแล้ว FDA และกลุ่มอื่น ๆ ที่สนใจในเรื่องสุขภาพหญิงยังวิจารณ์เรื่องการวางตลาดซาราเฟ็มอย่างดุเดือดเกินไปเมื่อเริ่ม โดยโฆษณาทางทีวีแสดงหญิงที่กลุ้มใจถามตัวเองว่าตนมี PMDD หรือไม่[106]

    สังคมและวัฒนธรรม

    นักบิน

    โดยวันที่ 2 เมษายน 2553 ฟลูอ็อกเซทีนเป็นหนึ่งในยาแก้ซึมเศร้า 4 อย่างที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอนุญาตให้นักบินทานได้ ยาอื่นที่อนุญาตรวมทั้ง sertraline, citalopram, และ escitalopram[107]

    ผลต่อสิ่งแวดล้อม

    มีงานวิจัยเกี่ยวกับผลที่เป็นไปได้ของยาต่อชีวิตสัตว์ทะเล[108]

    งานวิจัย

    ความรุนแรง

    องค์กรต่าง ๆ รวมทั้งสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA)[109] NICE[110] หรือวิทยาลัยแพทย์อเมริกัน (ACP)[111] ไม่ได้กำหนดว่าความรุนแรงเป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของยาประเภท SSRI และโดยคล้าย ๆ กัน ทั้งองค์การอนามัยโลกและสมาคมจิตเวชยุโรป (AEP) ไม่ได้กำหนดว่าความรุนแรงเป็นผลข้างเคียง[112][113]

    ดังนั้น งานศึกษาแบบ Case series ในเรื่องนี้ถูกคัดค้านว่ามีปัญหาเรื่อง "confounding by indication" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนแสดงภาวะของโรคว่าเป็นผลของการรักษา[114] ส่วนงานศึกษาแบบอื่น ๆ รวมทั้งการทดลองทางคลินิกที่สุ่มจัดกลุ่มคนไข้และงานศึกษาแบบสังเกต เสนอว่า ฟลูอ็อกเซทีนและยา SSRI อย่างอื่นอาจช่วยลดแนวโน้มความรุนแรง การทดลองทางคลินิกที่สุ่มจัดกลุ่มคนไข้ที่ทำโดยองค์การกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐ (US National Institutes for Mental Health) พบว่า ฟลูอ็อกเซทีนลดความรุนแรงในบ้านของคนติดเหล้าที่ประวัติมีพฤติกรรมเช่นนั้น[115] ส่วนงานที่สองทำโดยมหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่า ฟลูอ็อกเซทีนลดพฤติกรรมก้าวร้าวในคนไข้ที่มีความผิดปกติแบบก้าวร้าวเป็นครั้งคราว[116] และมีงานทดลองทางคลินิกที่พบว่า ฟลูอ็อกเซทีนลดพฤติกรรมก้าวร้าวในคนไข้ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD)[117]

    ผลงานเหล่านี้มีหลักฐานโดยอ้อมจากงานอื่น ๆ ด้วยที่แสดงว่า ยา SSRI อื่น ๆ ลดความรุนแรงและพฤติกรรมก้าวร้าวได้[118][119][120][121] งานวิจัยหนึ่ง (ของ National Bureau of Economic Research) ที่ตรวจการใช้ยาแก้ซึมเศร้าและอัตราอาชญากรรมในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 พบว่า การสั่งยาแก้ซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับอัตราอาชญากรรมรุนแรงที่ลดลง[122]

    แม้จะมีหลักฐานคัดค้านดังที่ว่า แต่จิตแพทย์ชาวอังกฤษ นพ. เดวิด ฮีลลี ที่มหาวิทยาลัยแบงกอร์และกลุ่มปฏิบัติการเพื่อสิทธิคนไข้ ก็ได้รวบรวมกรณีรายงานผู้ป่วยของบุคคลที่ทานยาฟลูอ็อกเซทีนและ SSRI อื่นแล้วทำความรุนแรง[123][124] แล้วอ้างว่า ยาเหล่านี้มีแนวโน้มทำให้บุคคลบางพวกทำความรุนแรง

    เชิงอรรถและอ้างอิง

    แหล่งข้อมูลอื่น

    Wikiwand - on

    Seamless Wikipedia browsing. On steroids.