Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลุ่มอาการหยุดยาแก้ซึมเศร้า (อังกฤษ: Antidepressant discontinuation syndrome) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากการขัดจังหวะ การลดขนาด หรือการหยุดยาแก้ซึมเศร้า รวมทั้งกลุ่ม Selective serotonin re-uptake inhibitors (SSRIs) หรือ serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) โดยมีอาการต่าง ๆ รวมทั้งอาการคล้ายเป็นหวัด และปัญหาทางการนอน ทางประสาทสัมผัส ทางการเคลื่อนไหว ทางอารมณ์ และทางความคิด ในกรณีโดยมาก อาการจะอ่อน ไม่คงอยู่นาน และหายเองโดยไม่ต้องรักษา ส่วนกรณีที่รุนแรง บ่อยครั้งจะรักษาได้โดยให้กลับไปทานยาอีก ซึ่งปกติจะหายภายใน 1 วัน
กลุ่มอาการหยุดยาแก้ซึมเศร้า Antidepressant discontinuation syndrome | |
---|---|
ชื่ออื่น | Antidepressant withdrawal syndrome[1] |
สาขาวิชา | จิตเวชศาสตร์ |
อาการ | Flu-like symptoms, trouble sleeping, nausea, poor balance, sensory changes[2] |
การตั้งต้น | ภายใน 3 วัน[2] |
ระยะดำเนินโรค | ไม่กี่สัปดาห์ถึงเป็นเดือน[3][4] |
สาเหตุ | Stopping of an antidepressant medication[2][3] |
วิธีวินิจฉัย | ตามอาการ[2] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | ความวิตกกังวล, อาการฟุ้งพล่าน, โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน[2] |
การป้องกัน | ค่อย ๆ ลดขนาดยา[2] |
ความชุก | 20-50% (with sudden stopping)[3][4] |
ผู้ที่มีภาวะนี้คือคนที่ทานยาแก้ซึมเศร้าอย่างน้อย 4 อาทิตย์และพึ่งหยุดยาเร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นแบบทันทีทันใด แบบลดขนาดอย่างรวดเร็ว หรือว่าทุกครั้งที่ลดขนาดยาเมื่อกำลังค่อย ๆ ลดยา[2] อาการที่สามัญทั่วไปรวมทั้งอาการคล้ายเป็นหวัด (อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดหัว เหงื่อออก) ปัญหาในการนอน (นอนไม่หลับ ฝันร้าย ง่วงนอนตลอด) ปัญหาทางประสาทสัมผัสหรือการเคลื่อนไหวก็อาจมีได้รวมทั้งเซ สั่น หมุน เวียนหัว และการรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อตในสมอง ปัญหาทางอารมณ์รวมทั้ง ละเหี่ยใจ วิตกกังวล อยู่ไม่สุข และปัญหาทางการรู้คิด เช่น สับสน ตื่นตัวผิดปกติ
ในกรณีที่หยุดยาประเภท Monoamine oxidase inhibitor กะทันหัน อาการโรคจิต (psychosis) ก็อาจมีด้วย[2][5][6] มีอาการกว่า 50 อย่างที่พบแล้ว[7]
กรณีโดยมากเกิดขึ้นเป็นระยะ 1-4 สัปดาห์ อาการอ่อน และหายเอง มีกรณีน้อยที่อาการรุนแรงหรือยาวนานกว่านั้น[2] paroxetine และ venlafaxine ดูยากเป็นพิเศษที่จะหยุด มีคนไข้ที่มีอาการหยุดยาถึง 18 เดือนสำหรับ paroxetine[8][9][10]
อาการหยุดยาสามารถป้องกันได้โดยทานยาตามหมอสั่ง เมื่อจะหยุด ให้ค่อย ๆ หยุด และเมื่อหยุดยาที่มีระยะครึ่งชีวิตสั้น ให้เปลี่ยนไปทานยาที่มีระยะครึ่งชีวิตนานกว่า (เช่น ฟลูอ๊อกซิติน หรือ citalopram) แล้วค่อย ๆ หยุดยานั้น ซึ่งอาจช่วยลดโอกาสการเกิดหรือมีอาการรุนแรง[5] การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และขึ้นอยู่ว่า ควรจะรักษาด้วยยาต่อหรือไม่ ในกรณีที่ต้องรักษาต่อ ก็เพียงแค่เริ่มทานยาอีก ซึ่งมักจะเป็นกรณีที่คนไข้ไม่ทำตามคำหมอ ถ้าไม่ต้องรักษาด้วยยาต่อ การรักษาจะขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการ อาการที่เบาอาจไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่ให้กำลังใจ อาการปานกลางอาจจะต้องบริหาร ถ้าอาการรุนแรง หรือว่าคนไข้ไม่ตอบสนองต่อวิธีบริหาร อาจจะเริ่มยาอีกแล้วหยุดโดยให้เวลาเพิ่มขึ้นในการค่อย ๆ ลด[8] ในกรณีที่รุนแรงจริง ๆ ที่มีน้อย อาจจะต้องเข้าโรงพยาบาล[2]
ยาแก้ซึมเศร้ารวมทั้งแบบ SSRIs สามารถดำเนินข้ามรกไปถึงทารกได้และมีโอกาสมีผลต่อเด็กในครรภ์และทารกเกิดใหม่ จึงเป็นปัญหาว่า หญิงมีครรภ์ควรจะทานยาแก้ซึมเศร้าหรือไม่ และถ้าทาน ควรจะค่อย ๆ หยุดยาในช่วงครรภ์แก่เพื่อให้ผลป้องต่อทารกที่จะเกิดหรือไม่[11]
กลุ่มอาการปรับตัวหลังคลอด (Postnatal adaptation syndrome) ซึ่งเดิมเรียกว่า “neonatal behavioral syndrome”, “poor neonatal adaptation syndrome”, หรือ "neonatal withdrawal syndrome" สังเกตเห็นเป็นครั้งแรกในปี 2516 ในทารกเกิดใหม่ที่มารดาทานยาแก้ซึมเศร้า อาการในทารกรวมทั้งหงุดหงิดง่าย หายใจเร็ว ตัวเย็นเกิน และปัญหาน้ำตาลในเลือด ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นตั้งแต่หลังคลอดจนกระทั่งเป็นวัน ๆ หลังคลอด และมักจะหายภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด[11]
กลไกลของอาการหยุดยายังระบุไม่ได้อย่างชัดเจน[2][6] สมมติฐานหัวแถวก็คือ หลังจากที่หยุดยา จะมีความบกพร่องของสารสื่อประสาทอย่างหนึ่งหรือมากกว่านั้นชั่วคราวในสมอง ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นในการควบคุมอารมณ์ เช่น เซโรโทนิน โดพามีน นอร์เอพิเนฟริน และกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก และเนื่องจากว่าระบบสื่อประสาทเป็นระบบที่พึ่งกันและกัน การทำงานบกพร่องในระบบหนึ่งก็จะมีผลต่อระบบอื่น ๆ ด้วย[2][12]
รายงานแรกเกี่ยวกับอาการหยุดยาเกิดกับยา imipramine ซึ่งเป็นยาแก้ซึมเศร้าแบบ tricyclic ชนิดแรก เริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 และประเภทของยาแก้ซึมเศร้าใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นก็มีรายงานคล้าย ๆ กัน รวมทั้ง monoamine oxidase inhibitor, SSRIs, และ SNRIs โดยปี 2544 มียาอย่างน้อย 21 ชนิดซึ่งรวมยาแก้ซึมเศร้าจากกลุ่มสำคัญทุกกลุ่ม ล้วนเป็นเหตุให้เกิดอาการ[8] แต่ว่าเป็นปัญหาที่มีการศึกษาน้อย และวรรณกรรมโดยมากเป็นรายงานผู้ป่วยหรืองานศึกษาทางคลินิกขนาดเล็ก ความชุกของอาการยากที่จะกำหนดและมักก่อความขัดแย้ง[8] พร้อมกับการระเบิดใช้และสนใจยาประเภท SSRIs ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะในยาโปรแซ็ก (ฟลูอ๊อกซิติน) ทั้งความสนใจในปัญหาและตัวปัญหาเองก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[13] อาการบางอย่างปรากฏจากกลุ่มอภิปรายทางอินเทอร์เน็ต ที่คนไข้กล่าวถึงประสบการณ์ของตนเกี่ยวกับโรคและยาที่ใช้ การเหมือนถูกไฟช็อตในสมอง (ที่เรียกว่า "brain zaps" หรือ "brain shivers") เป็นอาการหนึ่งที่ปรากฏทางเว็บไซต์[14][15]
ความสนใจที่เพิ่มขึ้นจากสื่อและความเป็นห่วงของสาธารณชนทำให้มีการตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องความปลอดภัยของ SSRI ในประเทศอังกฤษ เพื่อประเมินงานวิจัยทั้งหมดที่มีก่อนปี 2547[16]: iv โดยคณะได้รายงานว่า ความชุกของกลุ่มอาการอยู่ระหว่าง 5-49% ขึ้นอยู่กับชนิดของยา SSRI ระยะเวลาที่ทานยา และการหยุดยาแบบกะทันหันหรือค่อย ๆ หยุด[16]: 126–136
เพราะไม่มีเกณฑ์อาการที่มีมติร่วมกัน คณะผู้เชี่ยวชาญคณะหนึ่งประชุมกันในปี 2540 เพื่อร่างคำนิยาม[17] โดยมีกลุ่มอื่น ๆ ที่เกลาคำนิยามนั้นต่อมา[18][19]
ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ผู้ตรวจสอบบางท่านคิดว่า เนื่องจากอาการเกิดหลังจากหยุดยา นี่หมายถึงว่ายาทำให้เกิดการติด และบางครั้งใช้คำว่า "อาการขาดยา (withdrawal syndrome)" เพื่อเรียก เนื่องจากว่าสารเสพติดบางอย่างก่อให้เกิดการติดทางสรีรภาพ และดังนั้นอาการขาดยาจึงทำให้เป็นทุกข์ ต่อมาทฤษฎีเหล่านี้ตกไป เพราะว่าการติดก่อให้เกิดพฤติกรรมหายา และคนที่ทานยาแก้ซึมเศร้าไม่มีพฤติกรรมนี้ ดังนั้น คำว่า withdrawal syndrome จึงไม่ได้ใช้ต่อไปสำหรับยาแก้ซึมเศร้า เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจาการติดยา[2]
ในปี 2556 มีการฟ้องคดีแบบเป็นตัวแทนกลุ่ม (class action) ชื่อว่า "Jennifer L Saavedra v. Eli Lilly and Company"[20] ต่อบริษัท Eli Lilly and Company โดยอ้างว่าป้ายยา Cymbalta ขาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับอาการเหมือนถูกไฟช็อตในสมองและอาการอื่น ๆ เมื่อหยุดยา[21] ส่วนบริษัทร้องให้ศาลยกฟ้องเนื่องจาก "หลักคนกลางมีความรู้ (learned intermediary doctrine)" ที่แพทย์ผู้สั่งยาได้รับคำเตือนถึงปัญหาที่อาจมี และเป็นผู้สื่อความเห็นทางการแพทย์ต่อคนไข้ แต่ว่าในเดือนธันวาคม 2556 ศาลปฏิเสธคำร้องของบริษัท[22]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.