Loading AI tools
วิธีการใช้ยา สรรพคุณและประเภทของยาแก้ซึมเศร้า จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยาแก้ซึมเศร้า[1] (อังกฤษ: Antidepressant) เป็นยาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรคอื่น ๆ รวมทั้ง dysthymia, โรควิตกกังวล, โรคย้ำคิดย้ำทำ, ความผิดปกติในการรับประทาน (eating disorder), ความเจ็บปวดเรื้อรัง, ความเจ็บปวดเหตุประสาท (neuropathic pain), และในบางกรณี อาการปวดระดู การกรน โรคไมเกรน โรคสมาธิสั้น การติด การติดสารเสพติด และความผิดปกติในการนอน โดยสามารถใช้เดี่ยว ๆ หรือรวมกับยาชนิดอื่น ๆ ตามที่แพทย์สั่ง
กลุ่มยาแก้ซึมเศร้าที่สำคัญที่สุดรวมทั้ง selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs), serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs), tricyclic antidepressants (TCAs), monoamine oxidase inhibitors (MAOIs), reversible monoamine oxidase A inhibitors (rMAO-A inhibitors), tetracyclic antidepressants (TeCAs), และ noradrenergic and specific serotonergic antidepressant (NaSSAs)[2] โดยมียาสมุนไพรจากพืช Hypericum perforatum (St John's wort) ที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าเหมือนกัน[2][3]
สำหรับความซึมเศร้า ผู้พยาบาลบ่อยครั้งใช้แบบวัด Hamilton Depression Rating Scale (HAM-D) เพื่อวัดความหนักเบาของโรคซึมเศร้า[4] คะแนนสูงสุดของแบบวัดที่มี 17 คำถามก็คือ 52 และคะแนนยิ่งสูงเท่าไร โรคก็รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตกำหนดให้สถานพยาบาลขั้นปฐมภูมิใช้แบบวัดทั้งแบบ 2 คำถาม และ 9 คำถาม โดยคะแนนที่สูงกว่า 7 ในแบบวัด 9 คำถามแสดงว่าต้องมีการตรวจสอบอย่างอื่น ๆ ต่อไป[5]
แนวทางขององค์การสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (NICE) ปี 2552 ชี้ว่า ยาแก้ซึมเศร้าไม่ควรใช้รักษาเป็นปกติในขั้นเบื้องต้นสำหรับโรคขั้นเบา เพราะว่า อัตราส่วนความเสี่ยง-ประโยชน์ไม่ดี และแนะให้พิจารณาใช้ยาในกรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
แนวทางยังกล่าวเพิ่มว่า ยาควรใช้ร่วมกับการแทรกแซงทางจิต-สังคมในกรณีโดยมาก และควรใช้ยาต่ออย่างน้อย 6 เดือนหลังโรคบรรเทาเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และว่า คนไข้ทนยอมรับยากลุ่ม SSRIs ได้ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ[6]
ส่วนแนวทางรักษาของสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) แนะนำว่า การรักษาลำดับต้นควรจะปรับให้เหมาะสมกับปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งความรุนแรงของอาการ โรคที่มีร่วมกัน ประสบการณ์การรักษาในอดีต และความชอบใจของคนไข้ ทางเลือกการรักษารวมทั้งการใช้ยา จิตบำบัด การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (ECT) การกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กผ่านกะโหลก (TMS) หรือการรักษาด้วยแสง และแนะนำให้ใช้ยาเป็นทางเลือกลำดับต้นสำหรับโรคขั้นเบา ปานกลาง และหนัก แต่ควรให้กับคนไข้หนักทุกคนยกเว้นถ้าจะรักษาด้วย ECT[7]
ในปี 2553 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดพิมพ์ แนวทางการจัดการโรคซึมเศร้าสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ (CPG-MDD-GP) ซึ่งมีข้อแนะนำที่สรุปเกี่ยวกับยาแก้ซึมเศร้าดังจะกล่าวต่อไป[8] ให้สังเกตว่า อักษรโรมันหน้ารายการเป็นตัวบ่งความหนักแน่นของหลักฐานตามลำดับ โดย A มีหลักฐานหนักแน่นที่สุด และ D น้อยที่สุด[9]
มีผลขัดแย้งกันจากงานที่วิเคราะห์ประสิทธิผลของยาแก้ซึมเศร้าเปรียบเทียบกับยาหลอกในบุคคลที่มีโรคขั้นอ่อนถึงปานกลาง แต่มีหลักฐานที่ชัดเจนกว่าสำหรับโรคขั้นหนัก หรือว่า dysthymia ที่เรื้อรัง
งานวิจัยปี 2545 ค้านว่ายามีผลบรรเทาความซึมเศร้า โดยอ้างว่า หลักฐานแสดงว่ามีฤทธิ์เหมือนยาหลอก[10] นี่เป็นงานวิเคราะห์อภิมานที่รวมข้อมูลจากทั้งงานศึกษาที่ตีพิมพ์ และข้อมูลที่ไม่ได้ตีพิมพ์แต่ได้จากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เป็นข้อมูลที่ได้ผ่านกฎหมายบังคับให้เปิดเผยข้อมูลควบคุมโดยรัฐบาล (Freedom of Information Act) ซึ่งสรุปว่า โดยทั่วไปแล้ว ยาแก้ซึมเศร้าทำงานได้ดีกว่ายาหลอก 18% ซึ่งแม้จะมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก[11] และในปี 2551 นักวิจัยคนเดียวกันก็สรุปอีกว่า ผลทั่วไปของยาแก้ซึมเศร้ารุ่นใหม่ก็ยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ว่ามีนัยสำคัญทางคลินิก[12]
งานศึกษาปี 2553 ที่พุ่งความสนใจไปที่ paroxetine และ imipramine พบว่า ยาแก้ซึมเศร้าดีกว่ายาหลอกเพียงแค่เล็กน้อยในกรณีของโรคขั้นอ่อนจนถึงปานกลาง แต่ว่ามีผลสำคัญ (substantial) ในโรคขั้นหนัก[13]
ในปี 2557 FDA สหรัฐพิมพ์งานปฏิทัศน์เป็นระบบของการทดลองใช้ยาแก้ซึมเศร้าเพื่อดำรงสภาพ (maintenance) ที่ส่งให้กับองค์การในช่วงปี 2528-2555 ซึ่งผู้เขียนสรุปว่า การรักษาเพื่อดำรงสภาพลดความเสี่ยงการเกิดโรคอีก 52% เทียบกับยาหลอก และผลต่างที่ว่านี้เป็นเพราะการเกิดโรคซ้ำ ๆ ในกลุ่มยาหลอก ไม่ใช่ผลจากการหยุดยา[14]
ส่วนงานทบทวนวรรณกรรมปี 2552 ที่องค์การสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (NICE) มอบหมายให้ทำสรุปว่า มีหลักฐานที่เข้มแข็งว่า SSRIs มีประสิทธิผลลดอาการซึมเศร้ามากกว่ายาหลอก 50% ในโรคขั้นปานกลางและหนัก และมีหลักฐานบ้างถึงผลคล้าย ๆ กันในโรคขั้นอ่อน แนวทางการรักษาที่พัฒนาร่วมกับงานทบทวนแสดงว่า ยาควรพิจารณาใช้ในคนไข้ที่มีโรคขั้นกลางจนถึงหนัก และที่มีโรคขั้นอ่อนแต่ว่าคงยืนหรือว่าดื้อการรักษาแบบอื่น ๆ[15]
งานปริทัศน์เป็นระบบแบบคอเครนในปี 2555 ที่ตรวจการทดลองทางคลินิกของยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม tricyclic คือ amitriptyline สรุปว่า แม้ว่าจะมีหลักฐานพอสมควรว่ามีความเอนเอียงในการตีพิมพ์ (คืองานที่แสดงผลบวกมักจะตีพิมพ์มากกว่า) แต่ก็ยังมีหลักฐานที่เข้มแข็งว่าประสิทธิผลของ amitriptyline ดีกว่ายาหลอก[16]
งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2558 ที่ตรวจดูการรักษาแบบเพิ่มสำหรับโรคที่ดื้อการรักษาสรุปว่า ยา quetiapine และ aripiprazole มีหลักฐานที่เข้มแข็งที่สุดว่ามีประสิทธิผล แต่ว่าก็สัมพันธ์กับผลข้างเคียงที่เพิ่มขึ้นด้วย[17]
งานทบทวนวรรณกรรมแบบคอเครนปี 2551 ของยาสมุนไพรจากพืชสปีชีส์ Hypericum perforatum (St John's wort) และงานวิเคราะห์อภิมานปี 2558 ที่ทำโดยผู้เขียนเดียวกันบางส่วน ทั้งสองสรุปว่ายามีประสิทธิผลที่ดีกว่ายาหลอกเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า และมีประสิทธิผลเท่ากับยาแก้ซึมเศร้ามาตรฐานทั่วไป โดยมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาอื่น ๆ แต่ก็ยังสรุปด้วยว่า ยากที่จะแสดงคุณค่าของสมุนไพรเพื่อรักษาโรคเนื่องจากข้อจำกัดทางหลักฐาน รวมทั้งความแตกต่างทางประสิทธิผลในงานทดลองที่ทำในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันซึ่งมากกว่าเทียบกับที่ทำในประเทศอื่น ๆ[2][3] ส่วน Reversible monoamine oxidase A inhibitor (rMAO-A inhibitors) ก็มีหลักฐานแสดงว่ามีประสิทธิผลในการรักษาโดยคนไข้อดทนรับได้ดีกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ[2] ถึงอย่างไรก็ดี มีหลักฐานแสดงประสิทธิผลของยากลุ่ม SSRIs, tricyclic และ tetracyclic เพื่อรักษาโรคซึมเศร้ามากกว่ามากเมื่อเทียบกับยาอื่น ๆ รวมทั้ง St John's wort, rMAO-A inhibitors, serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor, serotonin antagonist and reuptake inhibitors, noradrenaline reuptake inhibitors, และ noradrenergic and specific serotonergic antidepressant[2]
แต่ก็มีงานปี 2545 ในวารสาร JAMA ที่แสดงว่า แม้ว่าผลต่างของยาหลอกในการทดลองทางคลินิกของโรคซึมเศร้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่าผลต่างของยาที่ใช้ทดลองกลับค่อนข้างจะสม่ำเสมอ ผู้เขียนเสนอว่า คำอธิบายที่เป็นไปได้ว่าทำไมผลต่างของยาหลอกจึงเพิ่มขึ้นในการทดลองก็คือ การรวมผู้ร่วมการทดลองจำนวนมากที่มีโรคแบบสั้น ๆ ขั้นอ่อน หรือการหายเองเพราะตราบาปทางสังคมเหตุใช้ยาแก้ซึมเศร้าได้ลดลง[18] ผลยาหลอกในการทดลองทางคลินิกของการรักษาทางเลือก (CAM) ต่ำกว่าที่พบในการทดลองยาแก้ซึมเศร้าแผนปัจจุบันอย่างสำคัญ[19]
งานทบทวนวรรณกรรมปี 2547 สรุปว่า งานศึกษาที่ไม่สนับสนุนข้ออ้างว่ายาแก้ซึมเศร้ามีประสิทธิผล จะมีโอกาสน้อยกว่ามากที่จะตีพิมพ์เทียบกับที่สนับสนุน[20] ซึ่งก็พบคล้าย ๆ กันในงานทบทวนการทดลองยาแก้ซึมเศร้าในเด็ก[21] งานวิเคราะห์อภิมานปี 2558 ที่ตรวจดูงานศึกษายาแก้ซึมเศร้าพบว่า 79% "ได้การสนับสนุนจากอุตสาหกรรม หรือผู้เขียนเป็นลูกจ้างของอุตสาหกรรม และ/หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์"[22]
งานวิเคราะห์อภิมานปี 2556 พบว่า ฟลูอ๊อกซิติน และ venlafaxine มีประสิทธิผลต่อโรคซึมเศร้าในคนทุกวัย และไม่พบหลักฐานว่า ความรุนแรงของโรคสัมพันธ์กับระดับประโยชน์ที่ได้จากยานอกเหนือจากปรากฏการณ์ยาหลอก[23]
งานวิเคราะห์อภิมานปี 2551 ที่ตรวจการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCT) สรุปว่า อาการที่ดีขึ้นเนื่องจากยากลุ่ม SSRIs เกิดขึ้นมากที่สุดโดยสิ้นอาทิตย์แรกของการใช้ยา แต่ว่ามีอาการบางอย่างที่ดีขึ้นต่อ ๆ ไปจนถึงอาทิตย์ที่ 6[24]
สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐ (National Institute of Mental Health) ได้ทำงานที่ใหญ่สุดและมีค่าใช้จ่ายสูงสุดในเรื่องประสิทธิผลของยาต่อโรคซึมเศร้าโดยปี 2555[25] เป็นงานที่เรียกว่า "ทางเลือกการรักษาตามลำดับเพื่อบรรเทาโรคซึมเศร้า (The Sequenced Treatment Alternatives to Relieve Depression)" (STAR*D) โดยผลที่ได้[26][27] จะแสดงย่อ ๆ ในที่นี้
คนไข้มาจากทั้งผู้ที่ไปหาหมอทั่วไปและหมอจิตเวช ไม่มีการโฆษณาหาคนไข้เพื่อที่จะให้ผลที่ได้สามารถขยายใช้ได้โดยทั่วไป ผู้ร่วมการทดลองต้องได้คะแนนอย่างน้อย 14 คะแนนจากแบบวัดความซึมเศร้า Hamilton Depression Scale แบบ 17 คำถาม (HAM-D17) เพื่อจะเข้าร่วม โดยทั่วไปแล้ว คะแนนระหว่าง 7-17 หมายถึงโรคขั้นอ่อน 18-24 เป็นโรคขั้นกลาง และ ≥ 24 เป็นโรคขั้นรุนแรง[28] และคะแนนเฉลี่ยของผู้ร่วมการทดลองอยู่ที่ 22
จุดสิ้นสุดหลักของการทดลองที่ได้กำหนดล่วงหน้าก็คือการทุเลาโรคตามกำหนดคะแนนจากแบบวัด โดยคนไข้ที่วัดไม่ครบจะกำหนดว่าไม่ตอบสนอง (non-responder) แต่หลังการทดลอง ผู้ตรวจสอบได้แสดงผลตามจุดทุเลาทุติยภูมิตามแบบวัด QIDS-SR16 Score เป็นหลัก ซึ่งมักจะมีค่าสูงกว่าแบบวัดแรก
บุคคลที่ใช้ยารักษาประมาณ 30-50% ไม่ตอบสนองต่อยา[34][35] ในงานศึกษาทางคลินิก คนไข้ประมาณ 1/3 มีโรคทุเลา 1/3 ตอบสนองต่อยา และที่เหลือไม่ตอบสนอง ผู้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ทุเลาก็คือ ยังมีอาการที่กำหนดไม่ชัดเจนหลงเหลืออยู่ ซึ่งปกติรวมทั้งอารมณ์ซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความผิดปกติในการนอนหลับ ความอ่อนเปลี้ย และความสนใจและความสุขที่ลดน้อยลง
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นตัวพยากรณ์ว่าคนไข้จะทุเลาแค่บางส่วน แต่ก็ชัดเจนว่า อาการที่หลงเหลือเป็นตัวพยากรณ์ทรงพลังว่าโรคจะกลับเกิดอีก โดยมีอัตรา 3-6 เท่ามากกว่าผู้ที่ทุเลาลงอย่างสมบูรณ์[36] นอกจากนั้นแล้ว ยาแก้ซึมเศร้ามักจะสูญประสิทธิผลหลังจากรักษามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง[37] แต่ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) คนอเมริกันที่กำลังทานยาแก้ซึมเศร้าน้อยกว่า 1/3 ได้เข้าพบหมอพยาบาลภายในปีที่ผ่านมา[38]
มีกลยุทธ์จำนวนหนึ่งที่ใช้รักษาเพื่อข้ามข้อจำกัดและความต่าง ๆ กันเหล่านี้[39] รวมทั้งการเปลี่ยนยา การเพิ่มยา และการให้ยารวม
แนวทางการปฏิบัติปี 2543 ของสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) แนะนำว่า ถ้าไม่ตอบสนองภายใน 6-8 อาทิตย์หลังจากรักษาด้วยยา ให้เปลี่ยนใช้ยาในกลุ่มเดียวกัน แล้วจึงไปเปลี่ยนใช้ยากลุ่มอื่นในภายหลัง งานวิเคราะห์อภิมานปี 2549 พบความแตกต่างกันมากมายในงานศึกษาก่อน ๆ คือ คนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม SSRI 12-86% จะตอบสนองต่อยาอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่า ยิ่งได้ลองยาแก้ซึมเศร้ามามากแล้วเท่าไร โอกาสก็น้อยลงเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์กับยาที่ลองใหม่[35] แต่ว่า งานวิเคราะห์อภิมานปี 2553 ไม่พบความแตกต่างระหว่างการเปลี่ยนยาและการใช้ยาเดิมต่อไป คือ แม้ว่า 34% ของคนไข้ที่ดื้อการรักษาจะตอบสนองเมื่อเปลี่ยนไปใช้ยาใหม่ แต่ว่า 40% ก็จะตอบสนองแม้ไม่ได้เปลี่ยนยา[40]
ถ้ามีการตอบสนองบ้าง แนวทางของ APA เสนอให้เพิ่มยากลุ่มอื่น (augmentation) รวมทั้ง Lithium, thyroid augmentation, dopamine agonist, sex steroid, Norepinephrine reuptake inhibitor, glucocorticoid-specific agent หรือยาแก้ชักรุ่นใหม่ ๆ[41]
ส่วนกลยุทธ์รวมยา (combination) หมายถึงการเพิ่มยาแก้ซึมเศร้าอีกอย่างหนึ่ง โดยปกติเป็นอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อจะได้มีผลในด้านอื่น ๆ แม้ว่าวิธีนี้อาจจะใช้รักษา แต่ก็มีหลักฐานน้อยมากเกี่ยวกับประสิทธิผลสัมพัทธ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์จากยาเนื่องจากการใช้วิธีนี้[42]
การทดลองที่ทำเมื่อไม่นานนี้รวมการใช้ยากระตุ้น (psychostimulant) เป็นยาเพิ่ม งานศึกษาหลายงานพบประสิทธิผลเมื่อให้ modafinil เป็นยารวมสำหรับโรคที่ดื้อการรักษา เพื่อช่วยบรรเทาความอ่อนเปลี้ยที่เกิดจากยา SSRI[43]
ผลรักษาของยาแก้ซึมเศร้าปกติจะไม่ดำเนินต่อหลังจากการใช้ยาสักระยะหนึ่ง ทำให้อัตราโรคกลับอยู่ในระดับสูง งานวิเคราะห์อภิมานปี 2546 ในงานทดลองยาแก้ซึมเศร้าที่ควบคุมด้วยยาหลอก โดยมากจำกัดในงานที่มีระยะ 1 ปี พบว่า คนไข้ 18% ที่ตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้าเกิดโรคอีกแม้ยังทานยาอยู่ เทียบกับ 41% ที่เกิดโรคอีกเมื่อเปลี่ยนจากยาแก้ซึมเศร้ามาเป็นยาหลอก[44]
ประโยชน์การรักษาแบบค่อย ๆ ลดจะเกิดขึ้นในคนกลุ่มน้อยในช่วงรักษา[45][46] มีงานศึกษาที่เสนอกลยุทธ์ใช้ยารักษาในระยะรุนแรง (acute) ตามด้วยจิตบำบัดในช่วงที่ดีขึ้น (residual)[47][48]
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด | น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic | ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร | SD |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
[3][49][50][51][52] | [3][51][52][53] | [49][50][54] [3][51][52][53] |
[3][51][52][54][55] | [3][50][51][52][54] | [3][50][51][52][54][56] | [3][50][51][52][54][56] | [3][50][51][52][54] | [50][54] [3][51][52][56] |
[3][50][51][52][54] | [3][50][51][52][54] | [3][50][51][52][54] |
Tricyclic antidepressants (TCAs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด | น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic | ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร | SD |
Amitriptyline | 3 | 1 | 3 | 4 | 3 | 4 | v | 4 | 3 | 1 | 4/3 |
Amoxapine | 2 | 2 | 4 | 2 | 2 | 2 | 2 | 2 | 2 | v | ND |
Clomipramine | 3 | 2/1 | 2 | 2 | 2 | 4/3 | v | 4 | 2 | 1 | 4 |
Desipramine | 2 | 2/1 | 3 | 1 | 1 | 1/v | 1 | 1 | 2 | 1/v | ND |
Dosulepin (Dothiepin) | 2 | 1 | 4[56] | ? | 3/2 | 3/2 | v | 3/2 | 2 | v | 3/2 |
Doxepin | 2 | 2/1 | 3 | 3 | 4 | 3 | v | 3 | 3 | v | 3 |
Imipramine | 3[57][58] | 1 | 3 | 4 | 4/3 | 3 | 1 | 3 | 3 | 1 | 3 |
Lofepramine | 2 | 3 | 1 | 1 | 1 | 1 | 1 | 2 | 1 | ? | ? |
Maprotiline | 2 | 2/1 | 4 | 2 | 2 | 3 | v | 2 | 3 | v | ND |
Nortriptyline | 2 | 2 | 2 | 1 | 2 | 1 | v | 1 | 2 | v | ND |
Protriptyline | 2 | 2/1 | 2 | 1 | 2 | 1 | 1 | 2 | 3 | 1 | 4/3 |
Tianeptine | 2 | 4 | ? | ? | ? | ? | ? | ? | ? | ? | ? |
Trimipramine | 2 | 1 | 2 | 4 | 3 | 4 | 1 | 4 | 2 | 2 | v |
Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด | น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic | ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร | SD |
Isocarboxazid | 2 | 1 | 3 | 1 | 2 | 1 | 2 | 1 | v | 1 | 4 |
Moclobemide | 2 | 3 | 1 | v | v | v | ? | v | v | v | 1/v |
Phenelzine | 2 | 1 | 3 | 2 | 3 | 1 | 1 | 1 | v | 1 | 4 |
Seligiline | ? | 3 | 2 | v | 1 | v | 1 | 1 | v | v | v |
Tranylcypromine | 2 | 1 | 3 | 1 | 2 | v | 2 | 1 | v | 1 | 4 |
Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด | น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic | ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร | SD |
Citalopram | 2 | 3 | 2 | 1 | 1 | v | 1 | v | 2 | 1 | 3 |
Escitalopram | 3 | 3 | 1 | 1 | 1 | v | 1 | v | 1 | 1 | 3 |
ฟลูอ๊อกซิติน | 2 | 3 | 1 | 1 | 1 | v | 2 | v | 1 | 1 | 3 |
Fluvoxamine | 2 | 3 | 2 | 1 | 1 | 1 | 1 | v | 1/v | 2 | 3 |
Paroxetine | 2 | 3 | 1 | 2 | 2 | 1 | 1 | 1 | 1/v | 1 | 4 |
Sertraline | 3 | 3 | 1 | 1 | 1 | v | 2 | v | 1/v | 2 | 3 |
Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด | น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic | ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร | SD |
Desvenlafaxine | 2 | 3/2 | 1/2 | v | v | v | 2 | v | v | 2/1 | 3 |
Duloxetine | 2 | 3 | 1 | v | v | v | 2 | v | v | 2 | 3 |
Milnacipran | 2 | 3 | ? | v | v | v | 2 | 1 | v | 2 | v |
Venlafaxine | 3 | 2 | 2 | v | v | v | 2 | v | 1 | 2 (IR) 1 (XR) | 3 |
Noradrenergic and specific serotonergic antidepressants (NaSSAs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด | น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic | ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร | SD |
Mianserin | 2 | 3 | ? | 4 | v | 4 | v | 1 | 1 | v | 1 |
Mirtazapine | 3 | 3 | 1 | 4 | v | 4 | v | 1 | 1 | v | 1 |
Serotonin antagonist and reuptake inhibitors (SARIs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด | น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic | ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร | SD |
Nefazodone | 2 | 3 | 2/1 | v | 1 | 2 | v | 1 | v | 2 | v |
Trazodone | 2[59] | 3 | 1 | 1 | 3 | 4 | v | v | 2 | 3 | 1 |
Serotonin modulator and stimulators (SMSs) | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด | น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic | ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร | SD |
Vilazodone | 2 | 3/2 | ? | v | v | v | 2 | v | v | 4 | 2 |
Vortioxetine | 2 | 3 | ? | v | v | v | 1/v | v | v | 3 | 1 |
อื่น ๆ | |||||||||||
ยา | ประสิทธิผลสัมพัทธ์ | การทนรับได้ | อันตราย เมื่อเกินขนาด | น้ำหนักเพิ่ม | ความดันต่ำเมื่อยืน | ผลระงับ | ผลกระตุ้น | Anti- cholinergic | ระยะ QT ยาว | พิษต่อ ทางเดินอาหาร | SD |
Agomelatine | 2[60] | 3 | 1 | v | v | 1 | 1 | v | v | 1 | 1/v |
Bupropion | 2 | 3 | 3/2 | v | v | v | 2/1 | v | 1 | 1 | v |
Reboxetine | 1 | 3 | 1 | v | v | v | 2 | v | v | 1 | 1 |
St John's wort | 3/2 | 4 | 1 | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v | 1/v |
หมายเหตุ:
สำหรับผลไม่พึงประสงค์/พิษเมื่อใช้เกินขนาด
สำหรับการทนรับได้ (tolerability)
สำหรับประสิทธิผล
ตัวย่อ/คำที่ใช้ในตาราง:
Tricyclic antidepressants (TCAs) | |
ยา | หมายเหตุ |
---|---|
Amitriptyline | ยับยั้งการนำเซโรโทนิน (serotonin reuptake) ไปใช้ใหม่ในอัตรา 8 เท่าของนอร์เอพิเนฟริน แต่การยับยั้งนอร์เอพิเนฟรินก็ยังมีนัยสำคัญทางคลินิก[49] งานทบทวนวรรณกรรมปี 2557 แสดงว่ามีพิษต่อตับ (hepatotoxic) มากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ[61] |
Amoxapine | บางครั้งจัดเป็นพวกเดียวกับยากลุ่ม tetracyclic มีฤทธิ์รักษาโรคจิตที่ไม่ทั่วไปด้วย (atypical antipsychotic) อาจออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า ยังไม่อนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลีย แคนาดา หรือสหราชอาณาจักร แต่มีใช้ในสหรัฐอเมริกา |
Clomipramine | ยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะ (~120x) มีโอกาสทำให้เกิดอาการลมชักมากกว่า TCA ชนิดอื่น ๆ[49] |
Desipramine | ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ (norepinephrine reuptake) เป็น 22 เท่าของเซโรโทนิน[49] |
Dosulepin (Dothiepin) | ไม่มีขายในสหรัฐอเมริกา มีในออสเตรเลีย (ซึ่งมักจะเรียกว่า dothiepin) และสหราชอาณาจักร
น้ำหนักเพิ่ม น่าจะอยู่ที่ 2 |
Doxepin | ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ (norepinephrine reuptake) โดยเฉพาะเป็น 2.3 เท่าของเซโรโทนิน |
Imipramine | เป็นยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม Tricyclic ที่วางตลาดเป็นยาแรก ยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่ (serotonin reuptake) โดยเฉพาะเป็น 26 เท่าของนอร์เอพิเนฟริน เป็นพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Lofepramine | ไม่ได้รับอนุมัติในออสเตรเลีย สหรัฐ หรือแคนาดา ได้ในสหราชอาณาจักรและประเทศยุโรปอื่น ๆ ระยะ QT ยาวอยู่ที่ 1 ขึ้นอยู่กับขนาดที่ใช้ |
Maprotiline | ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะเป็น ~90 เท่าของโดพามีน[49] |
Nortriptyline | เป็นเมแทบอไลต์ออกฤทธิ์ของ amitriptyline ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะ (4.2x) |
Protriptyline | ยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะเป็น 14 เท่าของเซโรโทนิน |
Tianeptine | เพิ่มการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่และเพิ่มการสื่อสารทางประสาทแบบโดพามีนและกลูตาเมต
ไม่ได้อนุมัติให้ใช้เพื่อรักษาในออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไอร์แลนด์ มีพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Trimipramine | มีฤทธิ์ระงับระบบโดพามีน (antidopaminergic) และดังนั้น สามารถเป็นเหตุต่อผลข้างเคียงแบบ extrapyramidal side effects คือ อาการยึกยือเหตุยา (tardive dyskinesia) และกลุ่มอาการร้ายจากยารักษาโรคจิต (neuroleptic malignant syndrome) |
Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Isocarboxazid | ไม่อนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลีย |
Moclobemide | เป็นยารักษาชนิดเดียวในกลุ่ม reversible inhibitor of monoamine oxidase A (RIMA) ไม่อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ใช้รักษาในออสเตรเลีย แคนาดา ประเทศยุโรปโดยมาก (รวมทั้งประเทศเช็กเกีย ฟินแลนด์ และไอร์แลนด์) นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และสหราชอาณาจักร ผลกระตุ้น ? (แต่การนอนไม่หลับเป็นผลสามัญตาม AMH) |
Phenelzine | มีแนวโน้มมากกว่า tranylcypromine และยาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมากที่จะทำตับให้เสียหาย[61] |
Seligiline | ดั้งเดิมใช้รักษาโรคพาร์คินสันเนื่องจาก ยับยั้ง MAO-B แบบกลับไม่ได้ แต่ว่าในขนาดที่สูงขึ้นก็จะยับยั้ง MAO-A ด้วย |
Tranylcypromine | สลายเป็น analogue ของแอมเฟตามีนภายในกาย สามารถทำให้ตับเสียหาย[56] |
Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Citalopram | เป็น SSRI ที่มีโอกาสที่จะทำให้ระยะ QT ของคลื่นหัวใจยาวขึ้น เป็นพิษมากที่สุดเมื่อใช้เกินขนาดในบรรดา SSRI มีพิษต่อตับน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] ระยะ QT อยู่ที่ 2 (ขึ้นอยู่กับขนาด มากกว่า 40 mg/วัน อันตรายเป็นพิเศษ) |
Escitalopram | เป็น S-enantiomer ที่มีฤทธิ์แรงกว่าของ citalopram
อาจเป็นยา SSRI ที่มีผลมากที่สุด แม้ว่าจะยังไม่พบประสิทธิผลที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่าง sertraline และ escitalopram ตามหลักฐานที่มีอยู่ ถ้าใช้เกินขนาดจะมีพิษน้อยกว่ายาในรูปแบบแรซีมิกของมัน คือ (R,S) -citalopram และมีพิษต่อตับน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
ฟลูอ๊อกซิติน | ยา SSRI แรกที่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐในปี 2530
งานศึกษาบางงานพบว่า คนไข้ที่ทานยาจะมีน้ำหนักลงนิดหน่อย (บ่อยครั้งโดยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) มีระยะครึ่งชีวิตสุทธิที่นานที่สุด (โดยนับผลของเมแทบอไลต์ออกฤทธิ์ของมันคือ norfluoxetine ด้วย) ของยาแก้ซึมเศร้าทั้งหมดที่ใช้รักษา และดังนั้น เมื่อหยุดทานอย่างกะทันหัน ปกติจะมีอาการหยุดยาน้อยมากและที่มีก็เบา ปฏิกิริยาทางผิวหนังเกิดขึ้นบ่อยกว่าเทียบกับ sertraline[51] |
Fluvoxamine | ไม่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐให้ใช้รักษาโรคซึมเศร้า แต่ให้ใช้เพื่อโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ในบรรดายา SSRI มี affinity กับตัวรับ sigma-1 มากที่สุดโดยเป็นตัวทำการ[64][65] มีพิษต่อตับน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Paroxetine | เป็นยา SSRI ประเภทเดียวที่ไม่ได้อยู่ในยาหมวด C สำหรับหญิงมีครรภ์ของประเทศออสเตรเลียแต่อยู่ในหมวด D เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตในปอดสูงยังคงอยู่ในทารกแรกเกิด (PPHN)
องค์การอาหารและยาสหรัฐก็จัดอยู่ในหมวด D ด้วย เป็นยาที่สัมพันธ์กับโอกาสเสี่ยงของความผิดปกติทางเพศ การเพิ่มน้ำหนัก และผลข้างเคียงแบบ anticholinergic รวมทั้งความง่วงนอนมากกว่า SSRI อื่น ๆ ในบรรดายา SSRI มีระยะครึ่งชีวิตที่สั้นที่สุด จึงเสี่ยงอาการหยุดยามากที่สุดเมื่อไม่ได้ทานยา มี affinity ในระดับต่ำสุดต่อตัวรับ sigma-1[64] และเป็นยาที่เสี่ยงที่สุดต่อผลข้างเคียงแบบ extrapyramidal symptoms[63] มีพิษต่อตับน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Sertraline | เสี่ยงสูงสุดต่อผลข้างเคียงทางจิตเวช (เช่น อาการฟุ้งพล่าน พฤติกรรม/ความคิดฆ่าตัวตาย โรคจิต เป็นต้น)[51]
มีผลยับยั้งการนำโดพามีนไปใช้ใหม่เล็กน้อย (แต่มีนัยสำคัญทางคลินิก)[66][67]
ในบรรดายา SSRI มี affinity สูงเป็นอันดับสองต่อตัวรับ sigma-1 โดยเป็นตัวทำการ[65] พิษต่อทางเดินอาหารอยู่ที่ระดับ 2 โดยมากเป็นอาการท้องร่วง[54] |
Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Desvenlafaxine | เป็นเมแทบอไลต์ออกฤทธิ์ของ venlafaxine |
Duloxetine | โดยไม่เหมือนยา SNRI ที่กล่าวถึงในที่นี้ duloxetine ไม่มีผลข้างเคียงสามัญเป็นความดันสูงโดยขึ้นอยู่กับขนาดที่ใช้ เป็นยาที่ใช้บรรเทาความเจ็บปวดเหตุประสาท (neuropathic pain) ด้วย และมีพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ โดยมาก[61] |
Milnacipran | ใช้โดยหลักเพื่อรักษาความเจ็บปวดเหตุประสาท (neuropathic pain) อันตรายเมื่อใช้เกินขนาด ? (ยังไม่มีการรายงานเสียชีวิตเนื่องจากใช้ยานี้อย่างเดียว) |
Venlafaxine | ยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่โดยเฉพาะเป็น 116 เท่าของนอร์เอพิเนฟริน |
Noradrenergic and specific serotonergic antidepressants (NaSSAs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Mianserin | ไม่อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
อนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร สามารถก่อ blood dyscrasias (รวมทั้ง agranulocytosis) คือ การลดระดับของ Neutrophils รวมทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาว ดังนั้นทั้ง British National Formulary และ AMH จึงแนะนำให้คอยตรวจสอบโดยการตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์[56][68] |
Mirtazapine | อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และแคนาดา เป็นทั้ง analogue และยาที่ใช้แทน Mianserin ต่อมา |
Serotonin antagonist and reuptake inhibitors (SARIs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Nefazodone | มีความเสี่ยงต่อการเป็นพิษต่อตับ อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐ แต่ไม่ได้อนุมัติในแคนาดา ออสเตรเลีย หรือยุโรป |
Trazodone | ไม่อนุมัติให้ใช้ในออสเตรเลีย มีพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น[61] |
Serotonin modulator and stimulators (SMSs) | |
ยา | หมายเหตุ |
Vilazodone | มีโอกาสให้ผลข้างเคียงเป็นเซโรโทนินเป็นพิษ อันตรายเมื่อใช้เกินขนาด ? (น่าจะต่ำนอกเหนือไปจากเซโรโทนินเป็นพิษ) |
Vortioxetine | วางตลาดในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายน 2556 และดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจึงน้อย แต่ผลข้างเคียงคือเซโรโทนินเป็นพิษเป็นไปได้แม้จะน้อย |
อื่น ๆ | |
ยา | หมายเหตุ |
Agomelatine | ไม่อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐหรือแคนาดา อนุมัติในออเสตรเลียและสหราชอาณาจักร |
Bupropion | อนุมัติให้ใช้ในสหราชอาณาจักรและออเสตรเลียเพื่อช่วยหยุดบุหรี่เท่านั้น แต่สหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ใช้รักษาโรคซึมเศร้า เป็นพิษต่อตับมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น[61] |
Reboxetine | ไม่อนุมัติให้ใช้ในสหรัฐหรือแคนาดา อนุมัติในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร |
St John's wort | ไม่ใช่ยาต้องใช้ใบสั่งยาในประเทศโดยมาก มีขายโดยเป็นยาสมุนไพร |
องค์การสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร NICE แนะนำให้ใช้ยาแก้ซึมเศร้ารักษาโรควิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder ตัวย่อ GAD) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอนุรักษ์เช่นการให้การศึกษาและช่วยตนเอง GAD เป็นโรคสามัญที่อาการสำคัญก็คือ ความวิตกกังวลเกินไปเกี่ยวกับเหตุการณ์และปัญหาหลายอย่าง และความลำบากในการควบคุมความคิดที่ทำให้เป็นห่วงที่คงยืนอย่างน้อยเป็นระยะ 6 เดือน
ยาแก้ซึมเศร้าลดความวิตกกังวลใน GAD ได้ในระดับพอประมาณจนถึงปานกลาง[69] และมีผลดีกว่ายาหลอก[70] ประสิทธิผลของยาแก้ซึมเศร้าต่าง ๆ ล้วนคล้ายคลึงกัน[69][70]
SSRIs ใช้เป็นการรักษาลำดับสองสำหรับโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ในผู้ใหญ่ที่มีความพิการขั้นอ่อน และลำดับหนึ่งสำหรับผู้มีความพิการปานกลางจนถึงรุนแรง ในเด็ก SSRIs พิจารณาว่าเป็นการรักษาลำดับสองสำหรับเด็กพิการปานกลางจนถึงรุนแรง โดยต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อเช็คผลที่ไม่พึงประสงค์ทางจิตเวช[71] SSRIs มีประสิทธิผลในการรักษา OCD คือ คนไข้มีโอกาสสองเท่าที่จะตอบสนองเทียบกับยาหลอก[72][73] ประสิทธิผลปรากฏทั้งในงานทดลองระยะสั้นเป็นเวลา 6-24 สัปดาห์และงานทดลองแบบ discontinuation เป็นระยะ 28-52 สัปดาห์[74][75][76]
NICE แนะนำให้ใช้ยาแก้ซึมเศร้าเป็นการรักษาทางเลือกหรือการรักษาเพิ่มในขั้นแรก ที่ใช้โปรแกรมช่วยตัวเองในการรักษาโรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน (bulimia nervosa)[77] ยากลุ่ม SSRIs โดยเฉพาะฟลูอ๊อกซิตินเป็นยาที่นิยมมากกว่ายาแก้ซึมเศร้าแบบอื่น ๆ เนื่องจากการยอมรับได้ การอดทนได้ และการลดระดับอาการที่ดีกว่าในการทดลองระยะสั้น แม้ว่าประสิทธิผลระยะยาวยังไม่ชัดเจน Bupropion ไม่แนะนำให้ใช้รักษาความผิดปกติในการรับประทาน เนื่องจากเสี่ยงต่อการชัก[78]
NICE แนะนำแบบเดียวกันสำหรับ binge eating disorder (โรคหิวไม่หายแบบไม่อาเจียน)[77] โดย SSRIs ลดพฤติกรรมทานมากเกินไปในระยะสั้น แต่ไม่สัมพันธ์กับการลดน้ำหนักอย่างสำคัญ[79]
งานทดลองทางคลินิกโดยมากแสดงผลลบในการใช้ SSRIs เพื่อรักษาโรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ (anorexia nervosa)[80] NICE[77] แนะนำไม่ให้ใช้ SSRIs สำหรับโรคนี้ ส่วนแนวทางจากสมาคมจิตเวชอเมริกัน (APA) ให้ข้อสังเกตว่า SSRIs ไม่มีผลเพิ่มน้ำหนัก แต่อาจใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคย้ำคิดย้ำทำที่เป็นไปด้วยกัน[79]
งานวิเคราะห์อภิมานปี 2555 สรุปว่า ยาแก้ซึมเศร้าสามารถปรับปรุงเรื่องความเจ็บปวด คุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพ ความซึมเศร้า และปัญหาการนอนหลับในโรคไฟโบรไมอัลเจียได้ ยากลุ่ม Tricyclic ดูจะมีประสิทธิผลดีสูงสุด โดยมีผลพอสมควรต่อความเจ็บปวดและการนอนหลับ และมีผลน้อยต่อความอ่อนเปลี้ยและคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพ อัตราของบุคคลที่ความเจ็บปวดลดลง 30% เนื่องจากรับยา tricyclics อยู่ที่ 48% เทียบกับ 28% สำหรับยาหลอก สำหรับคนที่ได้ SSRIs อัตราอยู่ที่ 36% เทียบกับ 20% ที่ได้ยาหลอก และสำหรับ SNRIs อยู่ที่ 42% เทียบกับ 32% ที่ได้ยาหลอก แต่ว่า การเลิกยาเพราะผลข้างเคียงเป็นเรื่องสามัญ[81] องค์กร European League Against Rheumatism (EULAR) แนะนำยาแก้ซึมเศร้ารวมทั้ง amitriptyline, ฟลูอ๊อกซิติน, duloxetine, milnacipran, moclobemide, และ pirlindole เพื่อบำบัดไฟโบรไมอัลเจีย โดยอาศัย "หลักฐานที่จำกัด"[82]
งานวิเคราะห์อภิมานแบบคอเครนปี 2557 พบว่า ยาแก้ซึมเศร้า duloxetine มีประสิทธิผลในการบำบัดความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (diabetic neuropathy)[83] นักวิจัยกลุ่มเดียวกันทบทวนข้อมูลของยา amitryptyline เพื่อรักษาโรคเดียวกันแต่พบข้อมูลงานศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มที่สำเร็จประโยชน์น้อยมาก แต่สรุปว่า ประวัติอันยาวนานในการใช้รักษาไฟโบรไมอัลเจียและความเจ็บปวดเหตุประสาทได้อย่างสำเร็จ เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะใช้รักษาต่อไป[84]
การทนอาการที่ไม่พึงประสงค์จากยาไม่ได้เป็นเหตุผลสามัญที่สุดในการเลิกยาแก้ซึมเศร้า
ยาที่ควบคุมเซโรโทนินเกือบทุกอย่างมีโอกาสให้เกิดเซโรโทนินเป็นพิษ หรือที่รู้จักกันว่า serotonin syndrome การมีเซโรโทนินมากเกินทำให้เกิดอาการหลัก ๆ คือ อาการฟุ้งพล่าน (mania) การอยู่ไม่เป็นสุข กายใจไม่สงบ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย การนอนไม่หลับ และความสับสน[85][86] แม้ว่าจะเป็นอาการที่หนัก แต่ก็ไม่ค่อยสามัญ และมักจะพบเมื่อใช้ในขนาดสูงหรือว่าเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ และถ้ารักษาอย่างถูกต้องภายใน 24 ชม. ก็มีโอกาสน้อยที่จะถึงชีวิต[87][88]
ส่วนยากลุ่ม MAOIs มักจะมีปฏิสัมพันธ์ที่เด่นชัด (และบ่อยครั้งถึงชีวิต) กับยามากมายทั้งที่หมอสั่งและที่ซื้อเอง ถ้าทานกับอาหารที่มี tyramine สูงมาก (เช่น ชีสที่ต้องหมักบ่ม เนื้อผ่านกรรมวิธีไม่ให้เสีย ยีสต์สกัด) ก็อาจเป็นเหตุของความดันโลหิตสูงวิกฤตที่อาจทำให้ถึงตาย และในขนาดที่ต่ำกว่า อาจจะปวดหัวเพราะความดันโลหิตสูงขึ้น[89]
เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ จึงมีการพัฒนา MAOI แบบอื่น คือ reversible inhibitor of monoamine oxidase A (RIMA) ซึ่งมีข้อดีหลักคือไม่บังคับให้ต้องทานอาหารพิเศษ และก็ยังมีประสิทธิภาพที่อ้างว่า เท่ากับยากลุ่ม SSRI และ tricyclics เพื่อรักษาโรคซึมเศร้า[90]
การใช้ SSRI ระหว่างมีครรภ์สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่าง ๆ โดยมีหลักฐานแบบแสดงยาเป็นเหตุที่มีน้ำหนักต่าง ๆ กัน เนื่องจากความซึมเศร้าสัมพันธ์อย่างเป็นอิสระกับผลลบที่เกิดจากการตั้งครรภ์ การกำหนดยาแก้ซึมเศร้าที่สัมพันธ์โดยเป็นเหตุกับผลที่ไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะ ๆ เป็นเรื่องยากในบางกรณี[91] แต่ในกรณีอื่น การแสดงผลลบว่ามียาเป็นเหตุค่อนข้างจะชัดเจน
การใช้ SSRI เมื่อมีครรภ์สัมพันธ์กับความเสี่ยงการแท้งบุตรแบบเกิดเอง (spontaneous) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เท่า[92][93] และสัมพันธ์กับการคลอดบุตรก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักน้อย[94]
งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2555 ที่ตรวจความผิดปกติแต่กำเนิดที่สำคัญของทารกที่มารดาใช้ยาแก้ซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (3%-24%) ของสภาพวิรูปสำคัญ (major malformation) แต่ความเสี่ยงความผิดปกติหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิดไม่ต่างจากมารดาที่ไม่ได้ใช้[95] งานศึกษามารดามีครรภ์ที่ใช้ฟลูอ๊อกซิตินงานหนึ่ง พบความเสี่ยงของสภาพวิรูปสำคัญเพิ่มขึ้น 12% ที่เกือบถึงขีดนัยสำคัญทางสถิติ[96] งานอื่น ๆ พบความเสี่ยงความผิดปกติหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นในบรรดามารดาที่ซึมเศร้าแต่ไม่ได้รักษาโดย SSRI ซึ่งแสดงว่างานต่าง ๆ อาจมีความเอนเอียงในการสุ่มตัวอย่าง คือ มารดาที่กังวลอาจจะให้ตรวจดูทารกของตนเองมากกว่า[97] ส่วนอีกงานหนึ่งไม่พบความเสี่ยงความผิดปกติหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิดที่เพิ่มขึ้น แต่พบความเสี่ยงสภาพวิรูปสำคัญที่เพิ่มขึ้น 27% ในมารดามีครรภ์ที่ใช้ SSRI[93]
องค์การอาหารและยาสหรัฐแนะนำว่า ทารกมีความเสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิดเนื่องจากมารดาใช้ paroxetine ในช่วงมีครรภ์[98] และหญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยง MAOI
งานปริทัศน์เป็นระบบปี 2556 พบว่า การใช้ยาแก้ซึมเศร้าระหว่างมีครรภ์สัมพันธ์กับผลบางอย่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ เช่น ระยะมีครรภ์และการเกิดก่อนกำหนด แต่ไม่มีผลอย่างอื่น ๆ แต่ก็เตือนว่า เพราะว่าความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้ยากับที่ไม่ได้ยาน้อยมาก จึงเป็นข้อน่าส่งสัยว่าข้อมูลมีนัยสำคัญทางคลินิกหรือไม่[99]
ทารกเกิดใหม่อายุน้อยกว่า 28 วันอาจประสบอาการหยุดยาเหตุหยุดยากะทันหันเพราะคลอด มีหลักฐานว่ายาแก้ซึมเศร้าปรากฏในนมมารดา แต่ว่าผลต่อทารกยังไม่ชัดเจน[100]
นอกจากนั้นแล้ว SSRI ยังยับยั้งการสังเคราะห์ไนตริกออกไซด์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมความตึงตัวของเส้นเลือด งานศึกษาหลายงานชี้ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับการคลอดบุตรก่อนกำหนดที่สัมพันธ์กับการใช้ SSRI ซึ่งอาจเกิดจากความเสี่ยงของโรคพิษแห่งครรภ์ระยะก่อนชัก[101]
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของการใช้ยาแก้ซึมเศร้าคือโอกาสที่จะมีอาการฟุ้งพล่าน (mania) ในคนไข้โรคอารมณ์สองขั้ว ผู้อาจมีอาการคล้ายคนไข้โรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว (unipolar) มาก และดังนั้น อาจจะได้วินิจฉัยที่ผิดว่าเป็นโรคแบบขั้วเดียวแล้วให้ยาแก้ซึมเศร้า งานศึกษาต่าง ๆ แสดงว่า อาการฟุ้งพล่านที่เกิดจายาแก้ซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นในคนไข้โรคอารมณ์สองขั้วได้ถึง 20-40%[102] สำหรับโรคนี้ ยาแก้ซึมเศร้า ซึ่งบ่อยที่สุดเป็นยากลุ่ม SSRI สามารถจุดชนวนหรือทำอาการฟุ้งพล่านหรืออาการเกือบฟุ้งพล่าน (hypomania) ให้แย่ลง[103]
งานศึกษาต่าง ๆ แสดงสหสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาแก้ซึมเศร้ากับพฤติกรรมหรือความคิดฆ่าตัวตายมากขึ้นในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 25 ปี[104] ซึ่งเป็นปัญหาเพียงพอที่องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้บังคับให้ติดป้ายยาเกี่ยวกับความเสี่ยงความคิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในช่วงรักษาด้วยยา[105] ตามข้อมูลของ FDA ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 1-2 เดือนแรกของการรักษา[106][107][108] ส่วนองค์การสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร (NICE) แจ้งว่า ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอยู่ใน "ช่วงต้น ๆ ของการรักษา"[109] งานวิเคราะห์อภิมานแสดงว่า ความสัมพันธ์ที่มีขึ้นอยู่กับอายุ[104] เมื่อเทียบกับยาหลอก การใช้ยาแก้ซึมเศร้าสัมพันธ์กับความคิดพฤติกรรมฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 25 ปี (odds ratio = 1.62) ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้กับที่พบในเด็กและวัยรุ่น แต่ว่าไม่มีผล หรือว่ามีผลป้องกันเล็กน้อยสำหรับบุคคลอายุ 25-64 ปี (OR=0.79) และมีผลป้องกันต่อบุคคลอายุมากกว่า 65 ปี (OR=0.37)[104][110]
ผลข้างเคียงทางเพศก็สามัญด้วยสำหรับการใช้ยากลุ่ม SSRI เช่นการเสียความต้องการทางเพศ การไม่สามารถถึงจุดสุดยอด และอวัยวะเพศไม่ตอบสนอง (erectile dysfunction)[111] แม้ว่าจะผันกลับได้ ผลข้างเคียงทางเพศเช่นนี้ในน้อยกรณี สามารถมีเป็นเดือน ๆ หรือปี ๆ หลังจากที่หยุดยาแล้ว[112]
ในงานศึกษาผู้ป่วยนอก 1,022 คน ความผิดปกติทั่วไปทางเพศจากยาแก้ซึมเศร้าทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยที่ 59.1% (604 คน)[113] โดย SSRIs มีค่าระหว่าง 57-73%, mirtazapine 24%, nefazodone 8%, amineptine 7%, และ moclobemide 4% ส่วนยา Moclobemide ซึ่งเป็นยากลุ่ม selective reversible MAO-A inhibitor ไม่มีผลข้างเคียงทางเพศ[114] และอาจมีผลทางเพศทั่วไปที่ดี[115]
กลไกทางชีวภาพเคมีที่เสนอเป็นเหตุมีหลายอย่างรวมทั้งการเพิ่มเซโรโทนิน โดยเฉพาะที่มีผลต่อตัวรับ 5-HT2 และ 5-HT3, การลดโดพามีน, การลดนอร์เอพิเนฟริน, การสะกดตัวรับแบบ cholinergic และ α1 adrenergic, การยับยั้งเอนไซม์ nitric oxide synthase ที่มีบทบาทในการสังเคราะห์ไนตริกออกไซด์, และระดับโพรแลกตินที่เพิ่มขึ้น[116] มีรายงานว่า Mirtazapine มีผลข้างเคียงทางเพศน้อยกว่า น่าจะเป็นเพราะว่ามันเป็นตัวต้าน (antagonist) ของตัวรับ 5-HT2 และ 5-HT3 และในบางกรณี อาจจะแก้ความผิดปกติทางเพศที่เกิดจากยากลุ่ม SSRIs ผ่านกลไกเดียวกัน[117]
Bupropion ซึ่งเป็นยา Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor ฤทธิ์อ่อนและตัวต้านแบบ nicotinic antagonist อาจช่วยบำบัดความต้องการทางเพศที่ลดลงเนื่องจากการรักษาด้วย SSRI[118]
ความเปลี่ยนแปลงความอยากอาหารและน้ำหนักตัวเป็นเรื่องสามัญในการใช้ยาแก้ซึมเศร้า แต่ขึ้นอยู่กับยาและระบบสารสื่อประสาทที่มีผล ยกตัวอย่างเช่น ยา Mirtazapine และ paroxetine มีผลให้น้ำหนักเพิ่มและ/หรือความอยากอาหารเพิ่ม[119][120][121] ในขณะที่อย่างอื่น (เช่น bupropion และ venlafaxine) มีผลตรงกันข้าม[122][123]
ฤทธิ์ต้านฮิสทามีนของยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม tricyclic และ tetracyclic มีหลักฐานว่ามีส่วนต่อการเพิ่มความอยากอาหารและน้ำหนักซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่สามัญของยากลุ่มนี้
อาการหยุดยาแก้ซึมเศร้า (Antidepressant discontinuation symptoms) รายงานเป็นครั้งแรกในยา imipramine ซึ่งเป็นยากลุ่ม tricyclic ชนิดแรกในปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 และยาแก้ซึมเศร้าแต่ละชนิดใหม่ ๆ ที่ออกมาก็มีผลคล้าย ๆ กัน รวมทั้ง monoamine oxidase inhibitors (MAOIs), SSRIs, และ SNRIs โดยปี 2544 มียาแก้ซึมเศร้าอย่างน้อย 21 ชนิด ซึ่งรวมยาทุกกลุ่ม (classes) ที่เป็นเหตุอาการหยุดยา[124] แต่ว่าปัญหาไม่มีการศึกษาที่ดี เพราะวรรณกรรมโดยมากอยู่ในรูปแบบรายงานผู้ป่วยหรือการศึกษาทางคลินิกขนาดเล็ก ดังนั้น ความชุกของอาการยากที่จะกำหนดและมักสร้างความขัดแย้ง[124] ผู้ที่มีอาการจะเป็นพวกที่ใช้ยามาอย่างน้อย 4 สัปดาห์และพึ่งหยุดยา ไม่ว่าจะแบบทันทีทันใดหรือแบบลดลงอย่างรวดเร็ว[125] อาการสามัญรวมทั้งอาการเหมือนเป็นหวัด (คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดหัว เหงื่อออก) ปัญหาการนอน (นอนไม่หลับ ฝันร้าย ง่วงนอนตลอด) ความผิดปกติทางประสาทสัมผัสหรือการเคลื่อนไหว (เช่น เสียดุล สั่น รู้สึกหมุน เวียนศีรษะ เหมือนถูกไฟช็อต) ความผิดปกติทางอารมณ์ (เช่น ละเหี่ย วิตกกังวล อยู่ไม่เป็นสุข) และความผิดปกติทางการรู้คิด (เช่น สับสนหรือตื่นตัวมาก)[125][126][127] มีรายงานกว่า 50 อาการแล้ว[128]
กรณีโดยมากมีระยะ 1-4 สัปดาห์ ค่อนข้างอ่อน และหายเอง มีกรณีน้อยที่รุนแรงหรือเป็นนาน[125] paroxetine และ venlafaxine ดูเหมือนยากเป็นพิเศษที่จะเลิก และมีรายงานว่าอาการหยุดยายาวนานถึง 18 เดือน สำหรับ paroxetine[124][129][130]
พร้อมกับการระเบิดขึ้นของทั้งการใช้และความสนใจในยา SSRI ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และต้น 1990 โดยเฉพาะในยายี่ห้อโปรแซ็ก (ฟลูอ๊อกซิติน) ความสนใจในเรื่องอาการหยุดยาก็เพิ่มขึ้นด้วย[131] ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ผู้ตรวจสอบบางท่านคิดว่า อาการที่เกิดขึ้นเมื่อหยุดยาอาจหมายถึงว่ายาทำให้ติด และบางคนก็เริ่มใช้คำว่า อาการขาดยา (withdrawal syndrome) เพื่อเรียกอาการเหล่านั้น แต่การติดสารเสพติดเป็นอาการทางสรีรภาพและการขาดยาก็จะทำให้เกิดความทุกข์ ทฤษฎีเช่นนี้ต่อมาจึงถูกทิ้งไป เพราะว่า การติดสารเสพติดจะก่อให้เกิดพฤติกรรมหายา แต่ว่า ผู้ที่ทานยาแก้ซึมเศร้าไม่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ดังนั้น คำว่า อาการขาดยา (withdrawal syndrome) ปัจจุบันไม่ใช้แล้วสำหรับยาแก้ซึมเศร้า เพื่อป้องกันความสับสนกับปัญหาที่เกิดจากการติด[125][132][133]
มีรายงานเค้สที่แสดงว่ามีการใช้ยาอย่างผิด ๆ แต่นี้น้อยมากและมักจะจำกัดต่อยาที่มีผลกระตุ้นและกับบุคคลที่มีปัญหาเรื่องสารเสพติดอยู่แล้ว[134] งานปี 2555 ที่ตรวจการหยุดยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีน กับยา SSRI อ้างว่า เพราะว่า อาการคล้าย ๆ กัน จึงไม่มีเหตุผลที่จะกล่าวว่า เบ็นโซไดอาเซพีนทำให้ติดและยา SSRI ไม่ทำ[135] ส่วนผู้คัดค้านให้ข้อสังเกตว่า ไม่มีหลักฐานวาคนที่หยุดยา SSRI มีพฤติกรรมหายา แต่ว่าผู้ที่หยุดยากลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีน มี และยาคนละกลุ่ม (class) ควรจะพิจารณาต่างกัน[136][137]
ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดและน่าจะเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดเกี่ยวกับฤทธิ์ของยาแก้ซึมเศร้าก็คือ สมมติฐานโมโนอะมีน (monoamine hypothesis) ซึ่งมีประวัติเริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 และกล่าวว่า ความซึมเศร้าเกิดจากความขาดดุล (บ่อยครั้งที่สุดเกิดจากการขาด) ของสารสื่อประสาทแบบโมโนอะมีน ซึ่งก็คือ เซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดพามีน[49] เป็นทฤษฎีที่เสนออาศัยสังเกตการณ์ว่า ยาต้านวัณโรคประเภท hydrazine มีผลแก้ซึมเศร้า ซึ่งภายหลังพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง monoamine oxidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของสารสื่อประสาทโมโนอะมีน[49] ยาแก้ซึมเศร้าที่วางตลาดในปัจจุบันทั้งหมดมีรากฐานในสมมติฐานโมโนอะมีน โดยยกเว้น agomelatine ซึ่งมีผลต่อวิถีประสาททั้งแบบเมลาโทนินและเซโรโทนิน[49] สมมติฐานโมโนอะมีนแม้จะยอมรับกันอย่างกว้างขวางแต่ก็มีข้อจำกัด อย่างแรกก็คือ ยาแก้ซึมเศร้าที่มีผลต่อระบบโมโนอะมีนทั้งหมดออกฤทธิ์ช้าอย่างน้อยก็เป็นอาทิตย์ และอย่างที่สองคือ มีคนไข้เป็นจำนวนมาก (>40%) ที่ไม่ตอบสนองในระดับที่ควรต่อยาแก้ซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ต่อระบบโมโนอะมีน[138][139] จึงมีสมมติฐานอื่น ๆ ที่เสนอ รวมทั้งสมมติฐานระบบกลูตาเมต สมมติฐานกำเนิดประสาท สมมติฐานอีพีเจเนติกส์ สมมติฐานคอร์ติซอลหลั่งเกิน สมมติฐานการอักเสบ[138][139][140][141]
ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) เชื่อว่าเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินนอกเซลล์โดยจำกัดการนำไปใช้ใหม่ (reuptake) ของเซลล์ประสาทก่อนไซแนปส์ (presynaptic) เป็นการเพิ่มระดับเซโรโทนินในช่องไซแนปส์ซึ่งสามารถเข้ายึดกับตัวรับของเซลล์หลังไซแนปส์ (postsynaptic) โดยมีฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนขนส่งโมโนอะมีนอื่น ๆ ในระดับต่าง ๆ ฉะนั้น SSRIs ที่บริสุทธิ์จะมีสัมพรรคภาพ (affinity) ที่อ่อนต่อโปรตีนขนส่งนอร์เอพิเนฟรินและโดพามีน
SSRIs เป็นยาแก้ซึมเศร้าที่แพทย์สั่งมากที่สุดในหลาย ๆ ปรเทศ[142] แต่ว่า ประสิทธิผลของยาแก้ซึมเศร้าต่อโรคขั้นอ่อนถึงปานกลางยังไม่ชัดเจน[143][144][145]
Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการนำไปใช้ใหม่ (reuptake) ของทั้งสารสื่อประสาทเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟริน เป็นสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญต่อพื้นอารมณ์ เป็นยาที่เทียบได้กับยากลุ่ม SSRI ที่นิยมกว่า ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบเซโรโทนินเท่านั้น
โปรตีน serotonin transporter (SERT) และ norepinephrine transporter (NET) เป็นโปรตีนเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane protein) ที่นำเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ และการยับยั้งการนำโมโนอะมีนทั้งสองแบบไปใช้ใหม่อย่างสมดุลอาจทำให้ยามีประโยชน์เหนือกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่น ๆ เพราะสามารถบำบัดอาการต่าง ๆ ได้มากกว่า[146]
SNRIs บางครั้งก็ใช้รักษาโรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคสมาธิสั้น (ADHD) ความเจ็บปวดเหตุประสาทเรื้อรัง (chronic neuropathic pain) อาการไฟโบรไมอัลเจีย (FMS) และอาการวัยหมดระดูด้วย
Serotonin modulator and stimulators (SMSs) หรือบางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า serotonin modulators เป็นยาที่มีฤทธิ์หลายอย่างต่อระบบสารสื่อประสาทเซโรโทนินโดยเฉพาะ คือ SMSs จะทั้งควบคุมตัวรับเซโรโทนินของเซลล์อย่างน้อยประเภทหนึ่ง และยับยั้งการนำเซโรโทนินไปใช้ใหม่ด้วย ชื่อของยาบัญญัติเพื่อแสดงกลไกการทำงานของยาแก้ซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ต่อระบบเซโรโทนิน คือ vortioxetine ซึ่งมีฤทธิ์เป็น serotonin reuptake inhibitor (SRI) โดยเป็นตัวทำการแบบบางส่วน (partial agonist) ของตัวรับ 5-HT1A และเป็นตัวต้าน (antagonist) ของตัวรับ 5-HT3 และ 5-HT7[147][148][149]
แต่ว่าโดยเทคนิคแล้ว ชื่อก็สามารถใช้กับยา vilazodone ได้เช่นกัน ซึ่งมีฤทธิ์เป็น SRI และเป็นตัวทำการเป็นบางส่วนของตัวรับ 5-HT1A[150] แต่ vilazodone ก็มีอีกชื่อหนึ่งที่ใช้กับยาได้โดยเฉพาะ คือ serotonin partial agonist/reuptake inhibitor (SPARI)[151]
Serotonin antagonist and reuptake inhibitors (SARIs) แม้จะใช้เป็นยาแก้ซึมเศร้าโดยหลัก แต่ก็ใช้เป็นยาคลายกังวล (anxiolytic) และยานอนหลับ (hypnotic) ด้วย โดยมีฤทธิ์ต้านตัวรับเซโรโทนิน เช่น ตัวรับ 5-HT2A และมีฤทธิ์ยับยั้งการนำเซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และ/หรือโดพามีน ไปใช้ใหม่ นอกจากนั้นแล้ว ยาโดยมากยังมีฤทธิ์ต้านตัวรับแบบ alpha-1 adrenergic ยา SARIs ที่วางตลาดโดยมากขณะนี้เป็นยากลุ่ม phenylpiperazine
Norepinephrine reuptake inhibitors (NRIs หรือ NERIs) เป็นยามีฤทธิ์ยับยั้งการนำสารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟริน (noradrenaline) ไปใช้ใหม่ โดยหยุดการทำงานของโปรตีนขนส่ง norepinephrine transporter (NET) ซึ่งมีผลเพิ่มระดับนอร์เอพิเนฟรินนอกเซลล์ประสาท NRIs ใช้อย่างสามัญเพื่อรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD) กับภาวะง่วงเกิน (narcolepsy) เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้น (psychostimulant) และรักษาโรคอ้วนเนื่องจากฤทธิ์ระงับความอยากอาหาร และก็บ่อยครั้งใช้เป็นยาแก้ซึมเศร้าสำหรับโรคซึมเศร้า (MDD) โรควิตกกังวล และโรคตื่นตระหนก นอกจากนั้นแล้ว ยาเสพติดหลายอย่าง เช่น โคเคนและ methylphenidate ก็มีฤทธิ์เป็น NRI ด้วย แม้ควรจะสังเกตว่า สาร NRI ที่ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการนำโดพามีนไปใช้ใหม่ไม่ได้ทำให้เกิดความสุขอย่างสำคัญ และดังนั้น จึงพิจารณาว่ามีโอกาสใช้เป็นสารเสพติดน้อย[152][153] แต่ว่า เมื่อยามีฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทคือนอร์เอพิเนฟรินและโดพามีนพร้อม ๆ กัน เช่น ยา norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (NDRI) ก็จะทำให้เกิดความสุขพอให้ใช้เป็นสารเสพติด[154]
ยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม tricyclic (TCA) โดยมากมีฤทธิ์เป็น serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) โดยหยุดโปรตีนขนส่ง serotonin transporter (SERT) และ norepinephrine transporter (NET) ซึ่งเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟรินในช่องไซแนปส์ และเพิ่มการสื่อประสาทที่ใช้สารนั้น ๆ[155][156] ที่น่าสังเกตก็คือ ยกเว้นยา amineptine ยากลุ่ม TCA มีสัมพรรคภาพ (affinity) ที่ต่ำมากกับโดพามีนทรานสปอตเตอร์ (DAT) และดังนั้นจึงไม่มีฤทธิ์เป็น dopamine reuptake inhibitor (DRI)[155] ทั้งเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟรินมีหลักฐานว่ามีผลต่อโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล และมีหลักฐานด้วยว่า การช่วยการทำงานของการสื่อประสาททั้งสองระบบมีประโยชน์ต่อความผิดปกติทางจิตเหล่านี้[157]
แม้ว่า แพทย์บางครั้งจะสั่งยา TCA เพื่อโรคซึมเศร้า แต่ปัจจุบันโดยมากแพทย์จะสั่งยาแก้ซึมเศร้าที่ใหม่กว่า เช่น ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI), serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI), และ norepinephrine reuptake inhibitor (NRI) โดย TCA และ SSRI มีผลข้างเคียงในระดับเดียวกัน ตามข้อมูลของงานวิเคราะห์อภิมานปี 2541[158]
Tetracyclic antidepressants (TeCAs) เป็นยาแก้ซึมเศร้ากลุ่มหนึ่งที่พัฒนาขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยมีชื่อตามโครงสร้างทางเคมี ซึ่งเป็นโมเลกุลรูปวงแหวน 4 วง และมีโครงสร้างสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับยากลุ่ม tricyclic (TCAs) ซึ่งเป็นโมเลกุลรูปวงแหวน 3 วง
Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) เป็นสารเคมีที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ตระกูล monoamine oxidase เป็นยาที่มีประวัติยาวนานในการใช้รักษาโรคซึมเศร้า โดยมีประสิทธิผลอย่างพิเศษสำหรับโรคแบบ atypical[159] และสามารถใช้รักษาโรคพาร์คินสันและโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย
แต่ว่าเพราะยาสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับอาหารและยาอื่น ๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิต จึงมักจะใช้เป็นลำดับสุดท้ายในการรักษา เมื่อยากลุ่มอื่น ๆ (เช่น SSRI และ TCA) ไม่สามารถรักษาได้[160]
MAOIs มีประสิทธิผลในการรักษาโรคตื่นตระหนกที่เป็นไปกับโรคกลัวที่ชุมชน[161], โรคกลัวสังคม (social phobia)[162][163][164], โรคซึมเศร้าแบบ atypical[165][166], โรควิตกกังวลผสมกับโรคซึมเศร้า, โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน (bulimia)[167][168][169][170], ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)[171], และความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (BPD)[172] MAOIs ดูเหมือนจะมีประสิทธิผลเป็นพิเศษกับโรคอารมณ์สองขั้วตามงานวิเคราะห์ย้อนหลังปี 2552 งานหนึ่ง[173] มีรายงานว่า MAOI มีประสิทธิผลต่อโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) โรคถอนผม (trichotillomania) โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ (dysmorphophobia) และความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง (avoidant personality disorder) แม้ว่าจะมาจากรายงานคนไข้ที่ไม่มีกลุ่มควบคุม[174]
MAOI สามารถใช้รักษาโรคพาร์คินสันเพราะออกฤทธิ์ต่อ MAO-B โดยเฉพาะ (และดังนั้น มีผลต่อเซลล์ประสาทที่สื่อประสาทโดยโดพามีน) และสามารถใช้เป็นการรักษาทางเลือกเพื่อป้องกันไมเกรน ฤทธิ์ยับยั้งทั้ง MAO-A และ MAO-B สามารถใช้เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล
การใช้ยาเสริมมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มฤทธิ์ของยาแก้ซึมเศร้า[175] โดยมีผลต่อตัวแปรใกล้ ๆ ยาแก้ซึมเศร้า บ่อยครั้งโดยมีกลไกออกฤทธิ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งสามารถลองได้ถ้าวิธีการรักษาโรคก่อน ๆ ไม่สำเร็จ
มีเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้รวมทั้ง
มีการใช้ Lithium เสริมยาแก้ซึมเศร้าในบุคคลที่ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้าอย่างเดียว[177] นอกจากนั้นแล้ว lithium ยังสามารถลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายอย่างยิ่งในโรคซึมเศร้าแบบเป็นซ้ำ ๆ[178] มีหลักฐานให้ใช้ฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ คือ ไตรไอโอโดไทโรนีน เป็นยาเพิ่มสำหรับคนไข้ที่ต่อมไทรอยด์ปกติ[179] นักวิชาการด้านจิตเภสัชวิทยาผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งอ้างว่า การใช้ยากระตุ้นทางจิต (psychostimulant) โดยเฉพาะ Dextroamphetamine (ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาบ้า) เป็น "กลยุทธ์การเพิ่มยาแบบคลาสสิกสำหรับโรคซึมเศร้าที่ดื้อการรักษา"[180] แต่ว่า การใช้ยากระตุ้นสำหรับโรคซึมเศร้าที่ดื้อการรักษาก็เป็นเรื่องขัดแย้งยังไม่ยุติ[181][182] งานทบทวนวรรณกรรมปี 2550 พบว่า ยากระตุ้นทางจิตอาจมีประสิทธิผลต่อโรคซึมเศร้าที่ดื้อการรักษาถ้าใช้กับยาแก้ซึมเศร้า แต่การสรุปที่ชัดเจนทำไม่ได้เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอเพื่อใช้พิจารณา และผลที่ได้ในหลักฐานต่าง ๆ ก็ขัดแย้งกัน[182]
ก่อนคริสต์ทศวรรษ 1950 มีการใช้สารแบบโอปิออยด์และแอมเฟตามีนเพื่อแก้ซึมเศร้าอย่างสามัญ[183][184] ต่อมาจึงจำกัดใช้เนื่องจากการติดและผลข้างเคียงอื่น ๆ[183] มีการใช้ยาที่สกัดมาจากไม้ล้มลุก Hypericum perforatum (St John's wort) เป็น "ยาบำรุงประสาท (nerve tonic)" เพื่อบรรเทาความซึมเศร้า[185]
ในปี พ.ศ. 2494 นายแพทย์ชาวอเมริกัน 2 คน (Irving Selikoff และ Edward Robitzek) เมื่อทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลวัณโรคในเกาะสแตเทนได้เริ่มงานทดลองทางคลินิกกับยาต้านวัณโรคที่พัฒนาโดยบริษัท Hoffman-LaRoche คือ isoniazid และ iproniazid คนไข้ที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีเท่านั้นที่ได้การรักษาในเบื้องต้น แต่ว่า อาการของโรคดีขึ้นอย่างสำคัญ แพทย์ทั้งสองให้ข้อสังเกตว่า "มีการกระตุ้นทั่วไปแบบละเอียดแยบยล ... คนไข้กลับมีความกระฉับกระเฉง และนี่บางครั้งกลายเป็นเรื่องสร้างปัญหาทางระเบียบวินัย"[186] และความหวังว่าวัณโรคจะรักษาได้ก็เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนพูดถึงอย่างตื่นเต้น
อีกปีต่อมา เมื่อรู้ถึงผลกระตุ้นของ isoniazid จิตแพทย์ชาวอเมริกันคนหนึ่ง (Max Lurie) จึงลองยานี้กับคนไข้ของเขา ในปีต่อมา เขากับเพื่อนอีกคนหนึ่งรายงานว่า isoniazid ทำอาการโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นในคนไข้ 2 ใน 3 และบัญญัติการออกฤทธิ์เช่นนี้ว่า "แก้ซึมเศร้า" (antidepressant)[187] หัวหน้าจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลฝรั่งเศสคนหนึ่ง (Jean Delay) ก็ได้ผลเช่นเดียวกันกับคนไข้ของเขา และได้รายงานผลบวกที่พบแม้ก่อนแพทย์อเมริกันทั้งสอง[188] กลไกของฤทธิ์แก้ซึมเศร้าของ isoniazid ก็ยังไม่ชัดเจนตราบเท่าทุกวันนี้ โดยมีสันนิษฐานว่า มาจากการยับยั้งเอนไซม์ diamine oxidase และการยับยั้งแบบอ่อน ๆ ต่อเอนไซม์ monoamine oxidase A[189]
แพทย์ทั้งสองที่เกาะสแตเทนได้ทดลองยาแก้วัณโรคอีกอย่างคือ iproniazid ซึ่งมีผลกระตุ้นทางจิตที่แรงกว่า แต่ว่ายาก็มีพิษมากกว่า[190] ต่อมา จึงมีแพทย์ที่แสดงผลของการประยุกต์ใช้ iproniazid ทางจิตเวช แล้วแสดงว่ามีฤทธิ์เป็น monoamine oxidase inhibitor (MAOI) ที่มีกำลัง[191] แต่ว่า ยาก็ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียงจนกระทั่งนายแพทย์รัฐนิวยอร์กทรงอิทธิพลท่านหนึ่ง สร้างความนิยมทั้งในวรรณกรรมทางแพทย์และทางสื่อว่าเป็นยาเพิ่มกำลังทางจิต (psychic energizer)[191][192] บริษัทจึงได้พยายามทำการตลาดอย่างจริงจังกับยานี้[191] ซึ่งยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถูกเรียกกลับในปี 2504 เพราะความเป็นพิษต่อตับที่อาจถึงตาย[191]
ในปี 2500 จิตแพทย์ชาวสวิสคนหนึ่ง (Roland Kuhn) ได้พบว่า สารประกอบ tricyclic ที่มีโครงสร้างเป็นวงแหวน 3 วง มีฤทธิ์แก้ซึมเศร้า ในขณะนั้น สารอนุพันธ์ของสารต้านฮิสทามีน เป็นยาที่ใช้เพื่อบำบัดอาการช็อคที่เกิดจากการผ่าตัดและภายหลังเป็นยารักษาโรคจิต (neuroleptics) แม้ว่าในปี 2498 จะมีหลักฐานว่า reserpine มีประสิทธิผลมากกว่ายาหลอกในการบรรเทาความซึมเศร้าแบบวิตกกังวล ยารักษาโรคจิตทั้งหมดรวมทั้ง reserpine ก็กำลังโปรโหมตเพื่อใช้เป็นยาระงับประสาท (sedatives) และยารักษาโรคจิต (antipsychotics) ไม่ใช่เพื่อเป็นยาแก้ซึมเศร้า
เมื่อพยายามเพิ่มประสิทธิผลของยาโรคจิต chlorpromazine จิตแพทย์ชาวสวิสร่วมกับบริษัท Geigy (ปัจจุบัน Norvatis) ค้นพบสารประกอบกลุ่ม tricyclic ที่เรียกว่า "G 22355" ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น imipramine เป็นสารที่มีผลดีต่อคนไข้โรคซึมเศร้าที่มีอาการความเชื่องช้าทางจิตและการเคลื่อนไหว นายแพทย์ได้เรียกสารประกอบนี้ว่า "thymoleptic" ซึ่งแปลว่า "จับอารมณ์" เทียบกับคำว่า "neuroleptic" ซึ่งแปลว่า "จับประสาท" ในที่สุดบริษัท Häfliger and SchinderA ก็ได้จดสิทธิบัตรแล้วเริ่มผลิตในสหรัฐอเมริกาในปี 2494[193]
ยาแก้ซึมเศร้าได้กลายเป็นยาที่หมอต้องสั่งในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 มีการประเมินว่า มีคนไม่เกิน 50-100 คนในล้านคนที่มีโรคซึมเศร้าที่ยาใหม่นี้สามารถรักษา ดังนั้นบริษัทจึงไม่ค่อยอยากจะวางตลาดขายยาสำหรับกลุ่มคนจำนวนน้อยนี้ ยอดขายตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ไม่ดีเทียบกับยาสงบประสาท (tranquilizer)[194] ซึ่งวางตลาดเพื่อให้ใช้ต่างกัน[195] Imipramine จึงดำรงใช้อย่างสามัญและมียารุ่นต่อ ๆ มาที่พัฒนาขึ้นมาสืบต่อ ต่อมาการใช้ยากลุ่ม monoamine oxidase inhibitors (MAOI) จึงเพิ่มขึ้นหลังจากที่พัฒนายาแบบ reversible ซึ่งยับยั้งเอนไซม์แบบ MAO-A เท่านั้น และทำให้ยาปลอดภัยขึ้น[195][196]
โดยคริสต์ทศวรรษ 1960 เชื่อกันว่า ยากลุ่ม tricyclic ทำงานโดยยับยั้งการนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ (reuptake) แต่ว่า ต่อมา การนำนอร์เอพิเนฟรินไปใช้ใหม่ปรากฏว่าสัมพันธ์กับผลแบบกระตุ้น ต่อมาในปี 2512 จึงมีแพทย์ 2 กลุ่ม (Carlsson and Lindqvist, Lapin and Oxenkrug) ที่เสนอว่า ยามีผลต่อระบบเซโรโทนิน
นักวิจัยเริ่มใช้วิธีการค้นพบยาแบบ rational drug design (ที่ใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับโมเลกุลเป้าหมายในการเลือกยาที่จะทดลอง) เพื่อสกัดเอาสารอนุพันธ์ของสารต้านฮิสทามีนที่จะออกฤทธิ์เฉพาะต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง สารประกอบแรกที่ได้สิทธิบัตรโดยวิธีนี้ก็คือ zimelidine ในปี 2514 และยาที่วางตลาดเพื่อรักษาแรกก็คือ indalpine และในปี 2531 องค์การอาหารและยาสหรัฐได้อนุมัติยากลุ่ม SSRI ชนิดแรกคือ ฟลูอ๊อกซิติน ซึ่งเป็นยา SSRI ที่มียอดขายเกินพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีชนิดแรก กลุ่มนักวิจัยรวมทั้ง ดร. เดวิด ที วอง (ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี 2554) ได้พัฒนาฟลูอ๊อกซิตินขึ้นที่บริษัท Eli Lilly and Company ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970[197][198] SSRI จึงกลายมาเป็น "ยาแก้ซึมเศร้ารุ่นใหม่" ร่วมกับยาใหม่กลุ่มอื่น ๆ เช่น SNRI และ NRI ที่มีสัมพรรคภาพ (affinity) กับระบบเป้าหมายต่าง ๆ กัน[199]
ส่วนยาสมุนไพรจากพืชล้มลุก Hypericum perforatum (St John's wort) กลายเป็นยาที่ไม่ค่อยได้ใช้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ยกเว้นในประเทศเยอรมนีที่ในที่สุดก็มีสารสกัดที่ได้รับอนุมัติและวางขาย มีงานทดลองประสิทธิผลขนาดเล็กในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 แล้วในที่สุดก็ได้ความสนใจมากขึ้นหลังจากงานวิเคราะห์อภิมานปี 1996 งานหนึ่งที่ตรวจดูงานทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่ผ่าน ๆ มา[200] แต่ก็ยังเป็นยาที่วางขายโดยไม่ต้องอาศัยใบสั่งแพทย์ในประเทศต่าง ๆ โดยมาก และก็ยังมีงานวิจัยที่ดำเนินต่อไปเพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ของสมุนไพรคือ hyperforin และเพื่อเข้าใจกลไกการทำงานของมัน[201][202]
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ยาแก้ซึมเศร้าเป็นยาที่หมอสั่งมากที่สุดในปี 2556[203] มีคนไข้ระยะยาว (เกิน 24 เดือน) ประมาณ 16 ล้านคน โดยที่ 70% เป็นหญิง[203]
ส่วนในสหราชอาณาจักร ตัวเลขที่รายงานในปี 2553 แสดงว่า ระบบสาธารณสุข (National Health Service) เพิ่มการสั่งยาแก้ซึมเศร้าเป็นทวีคูณในช่วงทศวรรษเดียว[204] งานวิเคราะห์ที่พิมพ์ในปี 2557 แสดงว่า ในช่วง 14 ปีระหว่างปี 2541-2555 ใบสั่งยาเพิ่มจาก 15 ล้านชุดไปเป็น 40 ล้านชุด และประมาณ 50% ของจำนวนยาที่เพิ่มขึ้นเกิดภายใน 4 ปีหลังจากวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2550–2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราสั่งยาแก้ซึมเศร้าเพิ่มจาก 6.7% ไปเป็น 8.5%[205] แหล่งข้อมูลเหล่านี้เสนอว่า นอกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีอิทธิพลต่ออัตราการสั่งยารวมทั้งการวินิจฉัยที่ดีขึ้น การลดตราบาปทางสังคมเกี่ยวกับโรคจิต แนวโน้มการสั่งยาทั่วไป ลักษณะต่าง ๆ ของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เขตภูมิภาค และสถานะด้านที่อยู่อาศัย ปัจจัยอีกอย่างก็คือ ยาเหล่านี้เดี๋ยวนี้ใช้รักษาแก้โรคอื่น ๆ รวมทั้ง โรควิตกกังวลทางสังคม (social anxiety) และความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)
ประเทศสหรัฐอเมริกา - ยาแก้ซึมเศร้าที่สั่งมากที่สุดในตลาดปลีกสหรัฐปี 2553 คือ[206][207]
ชื่อยา | ชื่อการค้า | กลุ่มยา (class) | จำนวนสั่ง |
Sertraline | Zoloft | SSRI | 33,409,838 |
Citalopram | Celexa | SSRI | 27,993,635 |
Fluoxetine | Prozac | SSRI | 24,473,994 |
Escitalopram | Lexapro | SSRI | 23,000,456 |
Trazodone | Desyrel | SARI | 18,786,495 |
Venlafaxine (ทุกแบบ) | Effexor (IR, ER, XR) | SNRI | 16,110,606 |
Bupropion (all formulations) | Wellbutrin (IR, ER, SR, XL) | NDRI | 15,792,653 |
Duloxetine | Cymbalta | SNRI | 14,591,949 |
Paroxetine | Paxil | SSRI | 12,979,366 |
Amitriptyline | Elavil | TCA | 12,611,254 |
Venlafaxine XR | Effexor XR | SNRI | 7,603,949 |
Bupropion XL | Wellbutrin XL | NDRI | 7,317,814 |
Mirtazapine | Remeron | TeCA | 6,308,288 |
Venlafaxine ER | Effexor XR | SNRI | 5,526,132 |
Bupropion SR | Wellbutrin SR | NDRI | 4,588,996 |
Desvenlafaxine | Pristiq | SNRI | 3,412,354 |
Nortriptyline | Sensoval | TCA | 3,210,476 |
Bupropion ER | Wellbutrin XL | NDRI | 3,132,327 |
Venlafaxine | Effexor | SNRI | 2,980,525 |
Bupropion | Wellbutrin IR | NDRI | 753,516 |
ประเทศเนเธอร์แลนด์ - paroxetine (SSRI) โดยขายเป็นยาสามัญ เป็นยาแก้ซึมเศร้าที่สั่งมากที่สุดตามด้วย amitriptyline (TCA), citalopram (SSRI) และ venlafaxine (SNRI)[208]
นักวิชาการบางท่านเน้นความจำเป็นในการตรวจดูการใช้ยาแก้ซึมเศร้าและวิธีการรักษาโรคอื่น ๆ แบบข้ามวัฒนธรรมต่าง ๆ เพราะวัฒนธรรมต่าง ๆ มองการปรากฏ อาการ ความหมาย และความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของโรคซึมเศร้าและของโรคอื่น ๆ แตกต่างกัน[209][210] และความแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นนี้ มีผลต่อประสิทธิผลที่เห็นและต่อการใช้ยาแก้ซึมเศร้าและกลยุทธ์อื่น ๆ เพื่อรักษาโรคในวัฒนธรรมต่าง ๆ[209][210] ในประเทศอินเดีย ยาแก้ซึมเศร้ามองว่าเป็นตัวช่วยสู้การไม่มีส่วนในสังคม โดยให้สัญญากับคนไข้ว่าจะสามารถกลับคืนสู่สังคมด้วยการใช้ยา ซึ่งเป็นมุมมองที่ประเทศตะวันตกไม่มี[209]
ฟลูอ๊อกซิตินที่ใช้ทานประมาณ 10% ขับออกจากร่างกายโดยไม่เปลี่ยนแปลง หรือโดยเป็น glucuronide (เป็นสารที่ยึดกับกรด glucuronic ผ่านพันธะ glycosidic)[211][212] และเพราะว่า ยาแก้ซึมเศร้าทำงานโดยยับยั้งการนำสารสื่อประสาทเซโรโทนิน โดพามีน และนอร์เอพิเนฟริน ไปใช้ใหม่[213] ยาเหล่านี้จึงสามารถกวนระดับสารสื่อประสาทตามธรรมชาติในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ได้รับยาโดยอ้อม[214]
มีการตรวจจับยาแก้ซึมเศร้าฟลูอ๊อกซิตินและ sertraline ในสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำซึ่งมากไปด้วยน้ำเสีย[215] การพบยาแก้ซึมเศร้าในน้ำผิวดินและในสิ่งมีชีวิตในน้ำทำให้เป็นห่วงเพราะมีหลักฐานที่แสดงว่า เกิดผลเป็นพิษต่อระบบนิเวศดังที่พบในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับฟลูอ๊อกซิติน[216] เช่นมีหลักฐานว่า ปลาพืดหินปะการังควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวผ่านระบบประสาทแบบเซโรโทนิน[217] การได้รับฟลูอ๊อกซิตินเพิ่มการทำงานของระบบประสาทแบบเซโรโทนินของปลา ทำให้ลดพฤติกรรมก้าวร้าว[218]
การเพิ่มระดับเซโรโทนินที่ไม่เป็นธรรมชาติในสัตว์พวกกุ้งกั้งปูสามารถกลับสถานะสังคมของสัตว์แบบชั่วคราว โดยเปลี่ยนสัตว์ที่ด้อยกว่าให้กลายเป็นสัตว์เด่นที่ก้าวร้าวและหวงเขต[219] การได้รับฟลูอ๊อกซิตินในช่วงเวลาเกิดในระดับความเข้มข้นที่ถึงขีดทำให้การประมวลความจำของหมึกกระดองอายุ 1 เดือนเปลี่ยนไป[220] ซึ่งอาจเป็นความพิการที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์และลดระดับการรอดชีวิต
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.