แกรนด์ดัชชีเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แกรนด์ดัชชีเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน (เยอรมัน: Großherzogtum Mecklenburg-Schwerin) เป็นดินแดนทางตอนเหนือของเยอรมนีที่ปกครองโดยราชวงศ์เมคเลินบวร์ค ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองชเวรีน ดินแดนแห่งนี้เป็นรัฐเอกราชภายในสมาพันธรัฐเยอรมัน และต่อมาได้เข้าร่วมเป็นรัฐสมาชิกของสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมันในปีค.ศ. 1871
แกรนด์ดัชชีเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ค.ศ. 1815–ค.ศ. 1918 | |||||||||
![]() แกรนด์ดัชชีเมคเลินบวร์ค-ชเวรีนภายในจักรวรรดิเยอรมัน | |||||||||
![]() แผนที่เมคเลินบวร์ค-ชเวรีน (สีส้ม) | |||||||||
สถานะ |
| ||||||||
เมืองหลวง | ชเวรีน | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาเยอรมัน | ||||||||
ศาสนา | โปรเตสแตนต์ | ||||||||
การปกครอง | ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ | ||||||||
แกรนด์ดยุก | |||||||||
• ค.ศ. 1815–1837 | ฟรีดริช ฟรันทซ์ที่ 1 | ||||||||
• ค.ศ. 1837–1842 | เพาล์ ฟรีดริช | ||||||||
• ค.ศ. 1842–1883 | ฟรีดริช ฟรันทซ์ที่ 2 | ||||||||
• ค.ศ. 1883–1897 | ฟรีดริช ฟรันทซ์ที่ 3 | ||||||||
• ค.ศ. 1897–1918 | ฟรีดริช ฟรันทซ์ที่ 4 | ||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||
14 มิถุนายน ค.ศ. 1815 | |||||||||
14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 | |||||||||
พื้นที่ | |||||||||
• รวม | 13,161 ตารางกิโลเมตร (5,081 ตารางไมล์) | ||||||||
|
ภูมิศาสตร์
เช่นเดียวกับดัชชีเมคเลินบวร์ค-ชเวรีนในอดีต ดินแดนของชเวรีนหลังการรวมดัชชีเมคเลินบวร์ค-กึสโทรในปีค.ศ. 1701 ประกอบด้วยพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของภูมิภาคเมคเลินบวร์ค ส่วนพื้นที่ขนาดเล็กทางตะวันออกเฉียงใต้ถูกปกครองโดยดัชชีเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ ซึ่งเป็นสายหนึ่งของราชวงศ์แกรนด์ดยุก พวกพระองค์ยังปกครองดินแดนเดิมของราชรัฐมุขนายกรัทเซอบวร์คในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
แกรนด์ดัชชีนี้มีพรมแดนทางเหนือจรดทะเลบอลติก ทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับจังหวัดพอเมอเรเนียของปรัสเซีย โดยมีแม่น้ำเร็คนิทซ์, แม่น้ำพีเนอ และทะเลสาบคุมเมอเวอร์เป็นแนวพรมแดน ทางใต้ติดกับจังหวัดบรันเดินบวร์คของปรัสเซีย (ซึ่งรวมถึงดินแดนแยกของรอสโซว์และเชินแบร์คใกล้วิทท์ชต็อค) และทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับอำเภออัมท์ นอยเฮาส์ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรฮันโนเฟอร์ ต่อมาได้ถูกรวมเข้ากับจังหวัดฮันโนเฟอร์ของปรัสเซียหลังสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียในปีค.ศ. 1866 ทางตะวันตก รัฐนี้เคยมีพรมแดนติดกับดัชชีฮ็อลชไตน์ ก่อนที่ดัชชีจะถูกรวมเข้าเป็นจังหวัดชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ ส่งผลให้เมคเลินบวร์คถูกล้อมรอบด้วยดินแดนของปรัสเซียเกือบทั้งหมด
นอกจากเมืองหลวงชเวรีน เมคเลินบวร์ค-ชเวรีนยังรวมถึงเมืองชายฝั่งอย่างรอสต็อกและวิสมาร์ ซึ่งเคยเป็นของสวีเดนจนกระทั่งปีค.ศ. 1803 รวมถึงเมืองภายในแผ่นดินอย่างพาร์คิมและกึสโทร
ประวัติศาสตร์
สรุป
มุมมอง
ในช่วงแรกของสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส ดยุกฟรีดริช ฟรันทซ์ที่ 1 ยังคงวางตัวเป็นกลาง และในปีค.ศ. 1803 พระองค์ได้รับวิสมาร์คืนมาจากสวีเดน หลังจากชัยชนะของนโปเลียนในยุทธการที่เอาส์เทอร์ลิทซ์ และการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปีค.ศ. 1806 พระองค์เข้าร่วมสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ภายใต้สนธิสัญญาวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1808
อย่างไรก็ตาม นโปเลียนเพิกเฉยต่อพันธมิตรนี้ และในปีค.ศ. 1812 ก่อนการรุกรานรัสเซีย โดยพระองค์เสนอให้มอบดินแดนของดยุกให้แก่รัชทายาทสวีเดน ฌ็อง-บาติสต์ แบร์นาด็อต เพื่อแลกกับการสนับสนุนของสวีเดน ดยุกฟรีดริช ฟรันทซ์จึงเป็นสมาชิกพระองค์แรกของสมาพันธรัฐแห่งไรน์ที่ละทิ้งนโปเลียน พระองค์ส่งกองกำลังไปร่วมรบกับกองทัพฝรั่งเศส แต่ในสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หก พระองค์หันมาสนับสนุนปรัสเซียและรัสเซีย ส่งผลให้พันธมิตรใหม่ของพระองค์เสนอมอบดินแดนของพระองค์ให้เดนมาร์ก อย่างไรก็ตาม ตามสนธิสัญญาสันติภาพแห่งคีลในปี 1814 เดนมาร์กได้รับดินแดนพอเมอราเนียสวีเดนแทน และอำนาจการปกครองของดยุกแห่งเมคเลินบวร์คยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ที่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาในปีค.ศ. 1815 ฟรีดริช ฟรันทซ์เข้าร่วมสมาพันธรัฐเยอรมันที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น แกรนด์ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน เช่นเดียวกับพระญาติของพระองค์ คาร์ลที่ 2 แกรนด์ดยุกแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ ในปีค.ศ. 1819 ระบบทาสถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในดินแดนของพระองค์ อย่างไรก็ตาม การปกครองของเมคเลินบวร์คยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายมรดกปีค.ศ 1755 ซึ่งยังคงรักษาลำดับชั้นทางสังคมแบบศักดินา และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองแกรนด์ดัชชี
ในช่วงการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 ในแกรนด์ดัชชีเกิดกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญเสรีนิยมขึ้น แกรนด์ดยุกฟรีดริช ฟรันทซ์ที่ 2 ได้ประกาศใช้กฎหมายพื้นฐานฉบับใหม่ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1849 แต่ต่อมา ในปีค.ศ. 1851 และ 1852 ขุนนางเมคเลินบวร์คที่ได้รับการสนับสนุนจากแกรนด์ดยุกเกออร์คแห่งชเตรลิทซ์ ได้ยกเลิกสิทธิทางประชาธิปไตยที่ได้รับมา
ในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียปีค.ศ. 1866 ฟรีดริช ฟรันทซ์ที่ 2 สนับสนุนปรัสเซียและส่งทหารเข้าร่วมรบ ภายหลังสงคราม เมคเลินบวร์ค-ชเวรีนได้รับอิทธิพลจากปรัสเซียมากขึ้น และเข้าร่วมสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือในปีค.ศ. 1867 ต่อมาในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (ค.ศ. 1870–1871) พระองค์มีบทบาทสำคัญในกองทัพปรัสเซีย และเมื่อจักรวรรดิเยอรมันก่อตั้งขึ้นในปี 1871 เมคเลินบวร์ค-ชเวรีนก็กลายเป็นรัฐสมาชิกของจักรวรรดิ และได้มีการเคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไรชส์ทาคได้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ในระดับหนึ่ง[1]
ฟรีดริช ฟรันทซ์ที่ 4 ขึ้นครองบัลลังก์ในปีค.ศ. 1897 พระองค์ให้คำมั่นว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปีค.ศ. 1907 แต่แกรนด์ดัชชีแห่งนี้ยังคงอยู่ภายใต้ระบบศักดินา รัฐสภา (Landtag) มีการประชุมเพียงช่วงสั้นๆ ทุกปี และในช่วงเวลาที่เหลือ อำนาจการปกครองอยู่ในมือของกลุ่มขุนนาง หลังการสิ้นพระชนม์ของอดอล์ฟ ฟรีดริชที่ 6 แห่งชเตรลิทซ์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 ฟรีดริช ฟรันทซ์ที่ 4 เข้ารับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน แต่หลังจากการปฏิวัติเยอรมันในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 พระองค์ถูกบังคับให้สละบัลลังก์ แกรนด์ดัชชีแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีนถูกเปลี่ยนเป็นรัฐอิสระเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐไวมาร์
การสิ้นสุดของแกรนด์ดัชชีในปีค.ศ. 1918 ถือเป็นจุดจบของการปกครองโดยราชวงศ์เมคเลินบวร์คที่มีมายาวนานเกือบแปดศตวรรษ โดยมีต้นกำเนิดจากเจ้าชายนิคลอทแห่งชาวโอโบไทรท์ในปีค.ศ. 1160 จนถึงปีค.ศ. 1918 แกรนด์ดยุกยังคงใช้พระอิสริยยศ "เจ้าชายแห่งเวนด์" (Prince of the Wends)
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.