เดอะ ไวร์เลส เฮาส์

อาคารอนุรักษ์สถานีวิทยุศาลาแดง ในโครงการ วัน แบงค็อก จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เดอะ ไวร์เลส เฮาส์map

เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ (อังกฤษ: The Wireless House) เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ภายในโครงการ วัน แบงค็อก ตั้งอยู่ภายในสวนไวร์เลส พาร์ค ถนนวิทยุ หน้าศูนย์การค้าเดอะ สตอรีส์ ใต้อาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 4 ในพื้นที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยปฏิสังขรณ์มาจากอาคารสถานีวิทยุศาลาแดงที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งถูกรื้อถอนเมื่อปี พ.ศ. 2544 แต่ขยับออกจากที่ตั้งจริงของสถานีวิทยุเดิมเล็กน้อย โดยมีเสาส่งสัญญาณวิทยุของสถานีวิทยุเดิมจัดแสดงอยู่ด้านข้าง ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรทั้งหมด 4 ส่วน รวมถึงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่สถาปนิกและนักโบราณคดีค้นพบระหว่างทำฐานรากของโครงการ วัน แบงค็อก และผลงานศิลปะชิ้นอื่น ๆ มีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568 โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 10:00 – 20:00 น.

ข้อมูลเบื้องต้น ก่อตั้ง, ที่ตั้ง ...
เดอะ ไวร์เลส เฮาส์
The Wireless House
Thumb
Thumb
Thumb
ก่อตั้ง13 มกราคม พ.ศ. 2568; 40 วันก่อน (2568-01-13)
ที่ตั้งวัน แบงค็อก ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
พิกัดภูมิศาสตร์13.726574059451512°N 100.54582991455231°E / 13.726574059451512; 100.54582991455231
ประเภทพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์
ผลงานสำคัญเสาสัญญาณวิทยุของอดีตสถานีวิทยุศาลาแดง
ผลงานโบราณวัตถุมากกว่า 1,500 ชิ้น
ผู้อำนวยการจรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย
ภัณฑารักษ์นันทกานต์ ทองวานิช
สถาปนิกวทัญญู เทพหัตถี
เอกชัย ศิริเจริญกุล
นักประวัติศาสตร์กษมา เกาไศยานนท์
เจ้าของวัน แบงค็อก
ขนส่งมวลชน ลุมพินี
ที่จอดรถ12,000 คัน (ใต้ดินในโครงการ)
ปิด

ภูมิหลัง

สรุป
มุมมอง
Thumb
อาคารสถานีวิทยุศาลาแดงหลังเดิม

เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ เป็นอาคารที่โครงการวัน แบงค็อก สร้างขึ้น เนื่องจากต้องการให้ความสำคัญและวางแนวทางในการผสานองค์ประกอบทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ของโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และต้องการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต[1] โดยอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุศาลาแดง สถานีวิทยุแห่งแรกของประเทศไทย ที่กระทรวงทหารเรือ (ปัจจุบันคือกองทัพเรือไทย) จัดตั้งขึ้น และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 (พ.ศ. 2457 หากนับแบบปัจจุบัน) ก่อนจะพระราชทานนามถนนที่ตัดผ่านหน้าสถานีวิทยุว่า ถนนวิทยุ และ Wireless Road ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม สถานีวิทยุศาลาแดงเริ่มลดบทบาทลงหลังกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งทำให้กองสัญญาณทหารเรือต้องย้ายออกจากพื้นที่ ก่อนที่โรงเรียนเตรียมทหารจะเข้ามาใช้พื้นที่ต่อตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504[2] ในช่วงนี้ตัวอาคารสถานีวิทยุพร้อมกับเสาส่งสัญญาณวิทยุได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2526[3] แต่หลังจากโรงเรียนเตรียมทหารย้ายออกไปตั้งในสถานที่ใหม่ที่จังหวัดนครนายก และบริษัท พี.คอน. ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด ทำสัญญาเช่าพื้นที่พัฒนาเป็นตลาดกลางคืนในชื่อสวนลุมไนท์บาซาร์ในปี พ.ศ. 2544 ก็ได้ดำเนินการรื้อถอนอาคารสถานีวิทยุศาลาแดงออกทั้งหมด คงเหลือเพียงฐานรากและเสาวิทยุโบราณไว้[2]

การสำรวจและปฏิสังขรณ์

ข้อมูลเบื้องต้น วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก ...
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
One Bangkok: The Wireless House Documentary, วิดีโอยูทูบ
ปิด

อย่างไรก็ตาม ตามแผนแม่บทของการพัฒนาโครงการ วัน แบงค็อก นั้น อาคารอนุรักษ์สถานีวิทยุศาลาแดงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งจริงของสถานีวิทยุเดิม แต่ขยับออกมาตั้งอยู่ภายในสวนไวร์เลส พาร์ค หน้าศูนย์การค้าเดอะ สตอรีส์ ใต้อาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 4 ที่อยู่ใกล้กับหัวมุมแยกวิทยุมากขึ้นแทน[2] โดยการย้ายเสาวิทยุดังกล่าวเป็นแนวคิดของเจ้าของพื้นที่คือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตั้งแต่แรกเริ่ม เนื่องจากต้องการให้บุคคลภายนอกมองเห็นเสาวิทยุได้ชัดเจนขึ้น และแผนการย้ายเสาวิทยุดังกล่าวก็ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรเช่นกัน ส่วนพื้นที่ที่ตั้งจริงของสถานีวิทยุเดิมนั้นอยู่บนถนน วัน แบงค็อก บูเลอวาร์ด และศูนย์การค้าโพสต์ 1928 บริเวณใต้อาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 5 โดยอาคารดังกล่าวก็ออกแบบให้มีลักษณะของสัญญาณโทรเลขเช่นกัน[4] โดยมีหลักฐานปรากฏเป็นหมุดเขตประกาศโบราณสถานที่ฝังอยู่บริเวณดังกล่าวซึ่งกรมศิลปากรมิได้ออกประกาศเพิกถอนแต่อย่างใด

ในปี พ.ศ. 2559 ที่ วัน แบงค็อก เริ่มเข้าสำรวจพื้นที่ที่ตั้งโครงการในเบื้องต้นนั้น เดิมมีแผนจะทำงานร่วมกับกรมศิลปากรเฉพาะการขนย้ายเสาส่งสัญญาณวิทยุเท่านั้น โดยมี กษมา เกาไศยานนท์ เป็นนักโบราณคดีประจำโครงการ แต่หลังจากเริ่มขุดพื้นดินเพื่อปรับพื้นที่แล้ว ก็ค้นพบฐานรากของอาคารสถานีวิทยุที่หลงเหลืออยู่จากการรื้อถอนด้วย จึงกลับไปคุยกับกรมศิลปากรเพื่อขอย้ายฐานรากด้วย[3] และยังได้รับความร่วมมือกับกรมศิลปากรในการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมจนค้นพบส่วนอื่น ๆ ของสถานีวิทยุ คือ ตอม่อสะพานที่เชื่อมต่อกับประตูทางเข้าด้านหน้าสถานีวิทยุ รวมถึงโบราณวัตถุที่เริ่มค้นพบอีกจำนวนมาก[2]

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการในส่วนโบราณคดีแล้ว สถาปนิกอนุรักษ์คือ วทัญญู เทพหัตถี ได้นำข้อมูลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เกี่ยวกับสถานีวิทยุ ทั้งผังที่ตั้ง ฐานราก ภาพถ่าย เอกสารสำรวจ รวมถึงข้อมูลที่ได้จากนักโบราณคดี มาปฏิสังขรณ์ (Reconstruction) ขึ้นใหม่ตามรูปทรงเดิมทั้งหมด โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สเก็ตช์อัปมาช่วย ก่อนดำเนินการขุดรากถอนเสาเข็มเก่าเพื่อฝังกลบ และเคลื่อนย้ายฐานรากอาคารสถานีวิทยุและเสาส่งสัญญาณวิทยุความสูง 60 เมตร ไปตั้งในจุดที่วางไว้ในแผนแม่บทเดิม ซึ่งสถาปนิกอนุรักษ์ตกลงกับกรมศิลปากรว่าใช้วิธีตัดฐานรากออกเป็น 10 ชิ้น ก่อนย้ายออกครั้งละ 1 ชิ้นและนำมาประกอบใหม่ เช่นเดียวกับเสาวิทยุที่ตัดแบ่งออกเป็น 7 ท่อน ก่อนย้ายออกแล้วนำมาประกอบใหม่ โดยนำมาจัดแสดงเฉพาะบางส่วนเช่นกัน[2]

เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ เริ่มเปิดอย่างไม่เป็นทางการพร้อมกับพิธีเปิดโครงการ วัน แบงค็อก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ก่อนจะมีพิธีเปิดอาคารนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568[5] ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 111 ปีของการเปิดอาคารสถานีวิทยุศาลาแดง[6]

การจัดสรรพื้นที่

สรุป
มุมมอง

อาคาร เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ มีพื้นที่จัดแสดงทั้งภายนอกและภายใน โดยภายในเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร จำนวน 4 ส่วน ดังนี้[5][1]

  1. ยุควิทยุโทรเลข นำเสนอความสำคัญของสถานีวิทยุศาลาแดง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารไร้สายในประเทศไทย ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของอาคารสถานีวิทยุ เทคโนโลยีวิทยุโทรเลข และการเชื่อมต่อกับยุโรปโดยตรงเป็นครั้งแรก รวมถึงระบุความแตกต่างระหว่างโทรเลขและวิทยุโทรเลข ซึ่งในนิทรรศการส่วนนี้มีเครื่องจำลองการส่งข้อความทางโทรเลขด้วยรหัสมอร์สอีกด้วย โดยการกรอกชื่อผู้ส่งสารและผู้รับสาร จากนั้นพิมพ์ข้อความซึ่งใช้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แล้วเพื่อแปลงเป็นรหัสมอร์ส เคาะรหัสมอร์สผ่านเครื่องเคาะสัญญาณจนครบตามตัวอักษรในข้อความที่พิมพ์ จากนั้นจะส่งข้อความไปยังฝั่งตรงข้ามเป็นจดหมาย ซึ่งสามารถส่งออกได้ทั้งด้วยวิธีพิมพ์หรือดาวน์โหลด[2]
  2. ยุควิทยุกระจายเสียง บอกเล่าเรื่องราวของสถานีวิทยุศาลาแดง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับนำร่องทดลองระบบกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย แสดงพัฒนาการของวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย บรรยากาศและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการกระจายเสียงในยุคนั้น โดยผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้ลองฟังเสียงประเภทต่าง ๆ ที่ออกอากาศในสมัยนั้น รวมถึงระบุความแตกต่างระหว่างวิทยุแร่และวิทยุหลอด
  3. การขุดค้น อนุรักษ์ และปฏิสังขรณ์ ระบุความสำคัญของการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุศาลาแดงซึ่งเป็นโบราณสถาน รวมถึงจัดแสดงโบราณวัตถุจำนวนมากกว่า 1,500 ชิ้นที่ขุดค้นพบในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต นำเสนอข้อมูลในการปฏิสังขรณ์อาคารสถานีวิทยุโดยการนำหลักฐานข้อมูล และองค์ความรู้ทั้งหมดที่มีมาบูรณาการร่วมกัน ทั้งข้อมูลในเชิงโบราณคดีเมือง (Urban Archaeology) ขั้นตอนการขุดค้นและอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุ พร้อมโมเดลอาคารเดอะ ไวร์เลส เฮาส์ ที่แสดงถึงขั้นตอนการปฏิสังขรณ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลข ตั้งแต่การฝังกลบฐานอาคารเดิมเพื่อรักษาสภาพ การสร้างชั้นใต้ถุนสำหรับจัดเก็บโบราณวัตถุ และการใช้โครงสร้างสมัยใหม่ในการสร้างอาคารกลับมาตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม เป็นต้น
  4. ย่านวิทยุ – พระราม 4 อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต แสดงเรื่องราวพัฒนาการของย่านที่ตั้งโครงการ วัน แบงค็อก และพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่เป็นทุ่งศาลาแดง รวมถึงความเป็นสมัยใหม่ในแง่มุมต่าง ๆ ของย่านดังกล่าวในปัจจุบัน และระบุถึงศักยภาพในอนาคตของพื้นที่ โดยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาเมือง สถานที่สำคัญภายในย่าน และความทรงจำของผู้คนต่อย่านดังกล่าว โดยมีประติมากรรม PintONE ของวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผู้ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาการออกแบบ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ขุดพบในพื้นที่ เช่น ไหน้ำปลา และเศษกระเบื้อง และผลงาน Greeting of Times โดย นักรบ มูลมานัส ซึ่งนำภาพผู้คน สิ่งของ สถาปัตยกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ในย่านดังกล่าวมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการตัดแปะบนแม่พิมพ์ทองแดงโลหะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลขในอดีต

ส่วนภายนอกมีสิ่งก่อสร้างอีก 3 จุด ดังนี้[6]

  • ด้านหน้าอาคาร มีสะพานไม้ความยาว 12 เมตรทอดเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งเป็นการจำลองแบบจากสถานีวิทยุศาลาแดงเดิมที่สมัยโบราณจะสร้างสะพานข้ามทุ่งนาเข้าสู่สถานี โดยนำชิ้นส่วนตอม่อสะพานเดิม 2 ชิ้นที่ขุดพบมาประกอบกลับเข้าไปด้วย แต่ปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยขึ้น โดยใช้กระจกเป็นราวสะพานแทนราวไม้รูปกากบาทแบบเดิม[2]
  • ผลงาน Metropolitan Symphony เป็นประติมากรรมลำโพงสีทองและสีเงินหลายขนาด โดย ยูริ ซูซูกิ ศิลปินชาวญี่ปุ่น และออกแบบมาให้รองรับการใช้งานจริงด้วย โดยผู้เข้าชมคนหนึ่งสามารถทดลองพูดในลำโพงสีเงิน และให้ผู้เข้าชมอีกคนหนึ่งฟังเสียงที่ออกมาผ่านลำโพงสีทองได้ ซึ่งมีทั้งหมด 2 ชิ้น โดยชิ้นแรกตั้งอยู่ด้านหน้าอาคาร เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ ส่วนอีก 1 ชิ้นจัดแสดงที่โถงของอาคารวัน แบงค็อก ทาวเวอร์ 3 เป็นการชั่วคราว โดยในอนาคตหลังจากศูนย์การค้าโพสต์ 1928 เปิดให้บริการแล้ว จะถูกนำไปจัดแสดงที่อาคารดังกล่าวในพื้นที่ที่โครงการทำหมุดระบุเป็นเขตประกาศโบราณสถานของสถานีวิทยุศาลาแดง[7]
  • เสาส่งสัญญาณวิทยุโทรเลขของสถานีวิทยุศาลาแดงในอดีต โดยจากเสาจริงที่มีความสูง 7 ท่อน รวม 60 เมตร โครงการนำมาแสดงเฉพาะ 3 ท่อนด้านบนสุด ความยาว 20 เมตร ส่วนอีก 4 ท่อนล่าง ความยาว 40 เมตร โครงการนำมาประกอบและจัดแสดงไว้ใต้อาคาร

นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงยังมีห้องปฏิบัติการกระจายเสียง (Broadcasting Studio) ในชื่อ เดอะ ไวร์เลส คลับ (The Wireless Club) ซึ่งจะเป็นห้องสำหรับเปิดเพลงโดยนักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เข้าใช้บริการภายในโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับวิวัฒนาการด้านวิทยุในวิถีชีวิตของมนุษย์ จากการสื่อสารผ่านสัญญาณวิทยุด้วยรหัสโทรเลขหรือรหัสมอร์สในอดีต เป็นการเปิดวิทยุเพื่อฟังเพลงเป็นหลักในปัจจุบัน โดยในตอนกลางวันจะเป็นร้านกาแฟ และในตอนกลางคืนจะเป็นบาร์แสดงดนตรี[3]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand - on

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.