Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฉลียง เป็นชื่อของวงดนตรีสัญชาติไทย ที่มีผลงานระหว่างปี พ.ศ. 2525 - 2534 มีอัลบั้มเป็นจำนวนทั้งหมด 6 ชุด เฉลียงเป็นวงดนตรีวงแรก ๆ ที่บุกเบิกเพลงแนวแปลกใหม่ ทั้งด้านเนื้อหาและท่วงทำนองให้กับวงการเพลงไทย มีผู้ก่อตั้งและผู้แต่งเพลงส่วนใหญ่ของวงเฉลียงคือ ประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ พวกเขาได้รับการขนานนามว่าเป็น "กลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดี" และ "ต้นแบบบอยแบนด์วงแรกของไทย"[1]
เฉลียง | |
---|---|
ข้อมูลพื้นฐาน | |
ที่เกิด | กรุงเทพ ประเทศไทย |
แนวเพลง | ป็อป, แจ๊ส, สตริง |
ช่วงปี | 2524 - 2534 2537 - ปัจจุบัน |
ค่ายเพลง | เจเอสแอล ครีเอเทีย อาร์ตติส คีตา เรคคอร์ดส |
สมาชิก | วัชระ ปานเอี่ยม นิติพงษ์ ห่อนาค ภูษิต ไล้ทอง เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ ศุ บุญเลี้ยง ฉัตรชัย ดุริยประณีต |
อดีตสมาชิก | สมชาย ศักดิกุล |
เว็บไซต์ | www.chaliang.com |
จิก - ประภาส ชลศรานนท์ ต้องการชื่อวงดนตรีที่สื่อถึงมนุษย์ เป็นบ้าน เป็นจิตใจ และต้องการสื่อถึง ตรงกลาง ที่อยู่ระหว่างข้างนอกและข้างใน (จิตใจ) จึงนึกถึงชื่อเฉลียงที่เป็นส่วนที่เชื่อมต่อข้างนอกกับข้างในบ้าน ประกอบกับชื่อเฉลียงมีเสียงคล้ายกับ เฉียง ๆ ไม่ค่อยตรง เป็นการสะท้อนภาพ แต่ไม่ใช่สะท้อนภาพสังคม เป็นการสะท้อนภาพจิตใจ[2]
แบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
เฉลียงเกิดจากการรวมกันของกลุ่มนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย จิก - ประภาส ชลศรานนท์ และ เจี๊ยบ - วัชระ ปานเอี่ยม ทำเพลงตัวอย่างให้ ดี้ - นิติพงษ์ ห่อนาค นำไปขับร้อง ก่อนจะนำไปขอให้ เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์ อำนวยการผลิตให้
หลังจากเต๋อได้ฟังแล้วพบว่าดี้ร้องเสียงเพี้ยนต่ำไม่เหมาะกับการเป็นนักร้องนำ จึงเสนอให้เล็ก - สมชาย ศักดิกุล ที่ขณะนั้นเป็นนักดนตรีอาชีพ มาเป็นนักร้องคู่กับเจี๊ยบในผลงานชุดแรก ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีชื่อชุด แต่เนื่องจากหน้าปกที่ออกแบบโดยจิกมีรูปฝน จึงถูกเรียกว่าชุด ปรากฏการณ์ฝน ตามชื่อเพลงที่ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุดนั้น แต่หลังจากผลงานชุดแรกออกมาไม่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงตอบรับ มียอดขายไม่เกิน 4,000 - 5,000 ม้วน[3] เฉลียงจึงไม่ได้ออกผลงานอีกเป็นระยะเวลา 4 ปี
ในปี พ.ศ. 2529 จิกมีผลงานเพลงอยู่ชุดหนึ่งที่เคยมีความคิดให้เกี๊ยง - เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ รุ่นน้องร่วมคณะที่เคยร่วมร้องเพลงประกอบโฆษณาที่จิกแต่ง ออกผลงานเป็นศิลปินเดี่ยว แต่เนื่องจากอุปสรรคด้านผู้สนับสนุน จึงทำให้โครงการไม่เกิดขึ้น จนกระทั่ง จุ้ย - ศุ บุญเลี้ยง หนึ่งในผู้ที่ซื้ออัลบั้ม ปรากฏการณ์ฝน ประทับใจในเพลงเที่ยวละไมที่อยู่ในอัลบั้มนั้น จึงติดต่อกับจิกเพื่อนำผลงานเพลงของตัวเองไปให้พิจารณา และไปชนกับผลงานเพลงเดี่ยวที่ถูกพับไว้ของเกี๊ยง จึงเกิดความคิดที่จะรวมตัวเป็นศิลปินคู่ในชื่อ ไปยาลใหญ่ แต่จิกยังไม่พอใจในบางเพลง จึงเสนอให้เจี๊ยบและดี้กลับมารวมวงอีกครั้งเป็นวงเฉลียงในยุคที่สอง ซึ่งเป็นยุคคลาสสิกของวง แต่เนื่องจากในหลายบทเพลงมีเสียงของแซกโซโฟน จึงได้ชักชวนให้แต๋ง - ภูษิต ไล้ทอง เพื่อนนักดนตรีเครื่องเป่าจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยร่วมงานกันเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตมาร่วมเป็นสมาชิกวงอีกคน ก่อนจะออกผลงานชุดแรกในยุคที่สองกับค่ายครีเอเทียคือ อื่น ๆ อีกมากมาย อำนวยการดนตรีโดย ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักฟังเพลง มีการออกแสดงคอนเสิร์ตและมิวสิกวีดีโอ และได้เคยแสดงคอนเสิร์ตถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ต้นปี พ.ศ. 2530 เฉลียงออกผลงานเพลงชุดที่สามกับค่ายคีตาแผ่นเสียงและเทป (ต่อมาคือคีตา เรคคอร์ดสและคีตา เอนเตอร์เทนเมนท์) ในชุด เอกเขนก มีเพลง เร่ขายฝัน ที่ถูกทำเป็นมิวสิกวีดีโอยาว 9 นาที และได้รับรางวัลมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมจากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ (B.A.D. Awards) ประจำปี พ.ศ. 2530 นอกจากผลงานบทเพลงแล้ว ชื่อเสียงของเฉลียงทำให้ได้เล่นโฆษณาของน้ำอัดลมเป๊ปซี่ ซึ่งเพลงประกอบโฆษณาที่ดัดแปลงมาจากเพลง รู้สึกสบายดี ก็ได้รับรางวัลจากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน [4]
ปลายปี พ.ศ. 2530 เฉลียงออกผลงานเพลงชุดที่สี่คือ เฉลียงหลังบ้าน ที่ผลงานเพลงส่วนใหญ่เป็นบทเพลงประกอบละครเรื่องต่าง ๆ ที่จิกเป็นผู้แต่ง และได้จัดแสดงคอนเสิร์ต หัวบันไดไม่แห้ง ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เป็นการปิดอัลบั้ม เฉลียงหลังบ้าน
หลังจากคอนเสิร์ต หัวบันไดไม่แห้ง ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตปิดอัลบั้ม เฉลียงหลังบ้าน แล้ว จุ้ยที่งานส่วนตัวเริ่มรัดตัวและดี้ที่ต้องกลับไปเป็นนักแต่งเพลงให้กับ แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ได้ตัดสินใจขอยุติบทบาทกับวง จิกจึงชักชวนให้นก - ฉัตรชัย ดุริยประณีต นักแต่งเพลงที่เคยส่งเพลงมาให้เขาพิจารณาเข้ามาเพิ่มเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งในเฉลียงยุคที่สาม ที่มีสมาชิก 4 คน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2532 และมีผลงานชุดแรกในยุคที่สามคือ แบ-กบาล มิวสิกวีดีโอที่มีชื่อเสียงของชุดนี้คือ ใจเย็นน้องชาย ที่ได้รับรางวัลชมเชยประเภทมิวสิกวีดีโอดีเด่นของคณะกรรมการโทรทัศน์ทองคำ[5] เฉลียงมี คอนเสิร์ตปิดท้ายทอย ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2532
และผลงานชุดสุดท้ายของเฉลียงซึ่งออกในปี พ.ศ. 2533 คือ ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า มีเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของแนวเพลงจากสวิงแจ๊สมาเป็นโฟล์กร็อก ทำให้เฉลียงได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ถึง 2 รางวัล คือรางวัลเพลงยอดเยี่ยมในเพลง โลกาโคม่า และรางวัลศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม แต่เนื่องจากภาระและหน้าที่การงานส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนทำให้การทำการตลาดและการออกแสดงคอนเสิร์ตเป็นไปได้ยาก เฉลียงจึงประกาศยุบวงในที่สุด โดยมีเพลงสุดท้ายของเฉลียงที่อยู่ในอัลบั้มตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า คือ ฝากเอาไว้[6]
ภายหลังจากออกผลงานชุดสุดท้ายในปี พ.ศ. 2533 เฉลียงยังคงมีการรวมตัวกันเล่นคอนเสิร์ตและออกผลงานเพลงเฉพาะกิจเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งกองทุนเฉลียง เพื่อมอบทุนสนับสนุนกิจกรรมการศึกษาสำหรับเด็ก
หลังจากออกผลงานอัลบั้มสุดท้ายคือตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า วงเฉลียงได้ยุบวงไป 3 ปี ก่อนจะกลับมารวมตัวอีกครั้งหนึ่งใน คอนเสิร์ตแก้คิดถึง...ฉลองสิบกว่าปีเฉลียง นำรายได้เพื่อการกุศล แสดงในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2537[7] ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยสมาชิก 7 คน จากทั้ง 3 ยุคขึ้นแสดงโดยพร้อมหน้ากันเป็นครั้งแรก และดี้ยังได้แต่งเพลงใหม่คือ ไม่รักแต่คิดถึง เพื่อแสดงเป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ตนี้
วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก | |
---|---|
แฟนเพลงเฉลียงปรบมือต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานในคอนเสิร์ตเรื่องราวบนแผ่นไม้ (พ.ศ. 2543) (4:05), วิดีโอยูทูบ |
ต่อมาในวันที่ 2 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2543 วงเฉลียงได้มารวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตสั่งลาอีกครั้งในชื่อ คอนเสิร์ตเรื่องราวบนแผ่นไม้ แสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์[8] และได้ออกผลงานอีกชุดเป็นชุดพิเศษที่มีจำหน่ายหน้าคอนเสิร์ต คือ ชุด นอกชาน ซึ่งเป็นการรวบรวมเพลงใหม่ที่แต่งมาใหม่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และในคอนเสิร์ต ดี้ในฐานะหัวหน้าวงได้ประกาศอำลาแฟนเพลงและบอกว่าจะไม่รวมตัวเล่นคอนเสิร์ตกันอีก การแสดงรอบสุดท้ายของคอนเสิร์ตนี้อาจเป็นประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีว่าเป็นคอนเสิร์ตที่ใช้เวลาหลังจากจบการแสดงยาวนานที่สุด เนื่องจากภายหลังแสดงเพลงสุดท้ายไปเรียบร้อยแล้ว แฟนเพลงเฉลียงปรบมือต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ทำให้ดี้ออกมาประกาศว่าจะไม่ลงจากเวทีจนกว่าแฟนเพลงคนสุดท้ายที่ต้องการลายเซ็นจะเดินทางกลับ นอกจากนั้นวงยังออกมาแสดงเพลง เรื่องราวบนแผ่นไม้ ซึ่งเป็นเพลงประจำคอนเสิร์ตอีกครั้งหนึ่ง โดยมีจิกซึ่งเป็นผู้แต่งร่วมร้องด้วยเป็นครั้งแรก
พ.ศ. 2550 สมาชิกวงเฉลียงทั้ง 6 คนใน 2 ยุคสุดหลังกลับมารวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งเพื่อจัดหารายได้ให้กับสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสนับสนุนด้านการศึกษาของคณะ มีชื่อว่า เหตุเกิดที่...เฉลียง และมีนิยามว่า "ดนตรีบำบัด ถาปัดจัด เฉลียงโชว์" ที่จุ้ยเป็นผู้ตั้ง[9] แสดงที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี จำนวน 2 รอบในวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน เวลา 13.00 น. และ 19.00 น. โดยจิกได้แต่งเพลงใหม่สำหรับแสดงในคอนเสิร์ตนี้ คือ เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ [10] ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา[11]
พ.ศ. 2559 วงเฉลียงกลับมารวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งในชื่อ ปรากฏการณ์เฉลียง แสดงที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ในวันที่ 17 - 18 กันยายน[12][13] โดยมีเพลงใหม่ที่แสดงในคอนเสิร์ตนี้ คือ เข้าใจว่าไม่เข้าใจ, คนแปลกหน้า, ไม่นานนี้เอง
พ.ศ. 2566 วงเฉลียงกลับมารวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งในชื่อ เฉลียง Rare Item แสดงที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ในวันที่ 26 - 27 สิงหาคม[14] และ เฉลียง Rare Item RESTAGE แสดงที่ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 9 - 11 ธันวาคม[15] โดยจิกได้แต่งเพลงใหม่สำหรับแสดงในคอนเสิร์ตนี้ คือ ยังคงเอกเขนก[14]
ดูแลการผลิต : เรวัต พุทธินันทน์ |
บริษัทเทป : บริษัท เจเอสแอล |
|
|
ดูแลการผลิต : ประภาส ชลศรานนท์ |
บันทึกเสียง : ซาวด์ โปรดักชั่น |
|
|
ดูแลการผลิต : ประภาส ชลศรานนท์ |
บันทึกเสียง : ห้องบันทึกเสียงบัตเตอร์ฟลาย |
|
|
ดูแลการผลิต : ประภาส ชลศรานนท์ และ ภูษิต ไล้ทอง |
บริษัทเทป : บริษัทคีตาแผ่นเสียง เทป จำกัด |
|
|
ดูแลการผลิต : ประภาส ชลศรานนท์ |
บันทึกเสียง : ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม |
|
|
ดูแลการผลิต : ฉัตรชัย ดุริยประณีต |
ผสมเสียง : แมง ณ ลำพู |
|
|
ชื่อคอนเสิร์ต | วันที่ | สถานที่ |
---|---|---|
คอนเสิร์ตปิดอัลบั้ม อื่น ๆ อีกมากมาย | 23 ตุลาคม พ.ศ. 2529 | หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ |
คอนเสิร์ตเอกเขนกกับเฉลียง | 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 | ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง |
คอนเสิร์ตหัวบันไดไม่แห้ง | 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 | หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ |
คอนเสิร์ตปิดท้ายทอย | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 | หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย |
คอนเสิร์ตแก้คิดถึง...ฉลองสิบกว่าปีเฉลียง | 30 เมษายน พ.ศ. 2537 | หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย |
คอนเสิร์ตเรื่องราวบนแผ่นไม้ | 2 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2543 | หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ |
เหตุเกิดที่...เฉลียง | 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550 | อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี |
คอนเสิร์ต โตโยต้า พรีเซนต์ ปรากฏการณ์เฉลียง | 17 - 18 กันยายน พ.ศ. 2559 | รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน |
คอนเสิร์ต มหรสพอารมณ์ดี เฉลียงริมเล | 12 กันยายน พ.ศ. 2563 | สวนสาธารณะสะพานหิน จังหวัดภูเก็ต |
เฉลียง Rare Item คอนเสิร์ต | 26 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566 | รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน |
เฉลียง Rare Item RESTAGE คอนเสิร์ต | 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2566 | มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล |
คอนเสิร์ตเฉลียงมีรูปแบบพิเศษเฉพาะตัวคือมีการพูดคุยหลังจากจบเพลง เรื่องที่คุยมันจะเป็นเรื่องหยอกล้อกันระหว่างสมาชิกภายในวง หรือวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ในสังคมในมุมมองที่แตกต่างและขบขัน แฟนเพลงเฉลียงบางส่วนที่เข้าไปชมคอนเสิร์ตจึงให้ความสนใจส่วนพูดคุยมากพอ ๆ กับการฟังเพลง นอกไปจากนั้นระหว่างการแสดงบางบทเพลง เช่น นิทานหิ่งห้อย ที่ร้องโดยจุ้ย จะมีการเล่านิทานโดยเจี๊ยบสลับระหว่างท่อน
ในยุคก่อนยุบวงรวมทั้งบางคอนเสิร์ตหลังยุบวง เฉลียงจะใช้บทเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นเพลงปิดคอนเสิร์ต โดยบางครั้ง มีการแก้เนื้อเพลงเพื่อสร้างความแปลกใจให้กับผู้ชม
นอกจากผลงานเพลงเฉลียง 6 ชุดแล้ว เฉลียงยังคงมีผลงานอื่น ๆ ที่เฉลียงรวมตัวกันแม้จะไม่ครบวง เช่น งานเพลงประกอบภาพยนตร์ งานคอนเสิร์ต และ เพลงประกอบสารคดี
เป็นอัลบั้มรวมเพลงที่รวบรวมศิลปินมาร้องเพลงของเฉลียง มีชื่อว่า คนอื่น ๆ อีกมากมาย ต่างบ้าน ต่างคน บนเฉลียง อำนวยการผลิตโดย โรจน์ชนา วโรภาษ ตัวอย่างศิลปินที่ขับร้อง
บทเพลงของวงเฉลียงได้ถูกนำมาดัดแปลงใหม่เป็นละครเวทีรูปแบบละครเพลงประเภทตู้เพลง (Jukebox Musical) ถึง 3 ครั้ง ดังนี้
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.