Remove ads
สถูปในพุทธศาสนา ในย่างกุ้ง ประเทศพม่า จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจดีย์ชเวดากอง (พม่า: ရွှေတိဂုံစေတီတော်, ออกเสียง: [ʃwèdəɡòʊ̯ɰ̃ zèdìdɔ̀] ชเวดะโกนเซดีดอ ; มอญ: ကျာ်ဒဂုၚ်) ตั้งอยู่บนเนินเขาสิงคุตตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยคำว่า ชเว (ရွှေ) หมายถึง ทอง, ดะโกน (ဒဂုံ แผลงเป็น တိဂုံ, ภาษามอญเรียกชื่อว่า ตะเกิง) คือชื่อดั้งเดิมของเมืองย่างกุ้ง[2] เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ 8 เส้นของพระโคตมพุทธเจ้า ยอดสุดขององค์เจดีย์บริเวณลูกแก้วหรือหยาดน้ำค้างประดับด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ และเพชร 5,448 เม็ด ชั้นบนสุดมีทับทิม 2,317 เม็ดและเพชรเม็ดใหญ่ 76 กะรัต เพื่อรับลำแสงแรกและลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์[3] ผู้ที่เข้ามานมัสการหรือเยี่ยมชมจะต้องถอดรองเท้าทุกครั้ง
เจดีย์ชเวดากอง | |
---|---|
ရွှေတိဂုံစေတီတော် | |
ศาสนา | |
ศาสนา | พุทธ |
นิกาย | เถรวาท |
เทศกาล | เทศกาลเฉลิมฉลองเจดีย์ชเวดากอง |
หน่วยงานกำกับดูแล | คณะกรรมาธิการผู้ดูแลเจดีย์ชเวดากอง |
สถานะ | เปิด |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | ย่างกุ้ง ภาคย่างกุ้ง พม่า |
พิกัดภูมิศาสตร์ | 16.798354°N 96.149705°E |
สถาปัตยกรรม | |
เสร็จสมบูรณ์ | ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 |
ลักษณะจำเพาะ | |
ความสูงสูงสุด | 99 เมตร (325 ฟุต)[1] |
ความสูงยอดแหลม | 112 เมตร (367 ฟุต)[1] |
เว็บไซต์ | |
www |
ตามตำนาน เจดีย์ชเวดากองนั้นสร้างเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว แต่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเชื่อกันว่าชาวมอญสร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6–10 โดย[4] ตามตำนานนั้นกล่าวว่ามีพี่น้องพ่อค้า 2 คนคือ ตปุสสะและภัลลิกะ จากตอนเหนือของเนินเขาสิงคุตตระ ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงประทานพระเกศาให้พ่อค้าทั้งสองมา 8 เส้น พ่อค้าทั้งสองกลับมายังพม่าและได้ความช่วยเหลือจากผู้ปกครองท้องถิ่น พระราชาโอะกะลาปะ ในการประดิษฐานพระเกศาธาตุบริเวณเนินเขาสิงคุตตระ
องค์เจดีย์ได้ถูกทิ้งร้างทรุดโทรมจนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระยาอู่ (ค.ศ. 1323–1384) ได้ทรงบูรณะเจดีย์ให้มีความสูง 18 เมตร (59 ฟุต) ศตวรรษต่อมาพระนางเชงสอบู (ค.ศ. 1453–1472) ได้ทรงบูรณะเจดีย์ให้มีความสูงถึง 40 เมตร (131 ฟุต) ได้ทำการปรับเปลี่ยนเนินซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์เจดีย์ให้เป็นฐานเจดีย์ลาดเป็นชั้น ๆ แบบขั้นบันได และปูพื้นด้านบนของฐานด้วยแผ่นหิน พระนางรับสั่งให้มีการบำรุงรักษาองค์เจดีย์ต่อไปแก่พระเจ้าธรรมเจดีย์ ซึ่งครองราชสมบัติต่อหลังพระนางสละราชสมบัติ ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพพระนางประชวรและมีพระบัญชาให้วางแท่นบรรทมในจุดที่พระองค์สามารถมองเห็นเจดีย์ได้ทุกเวลา มีการจารึกภาษามอญบันทึกการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1436 จนบูรณะเสร็จสิ้นในรัชสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อมาเจดีย์ชเวดากองได้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญของพุทธศาสนิกชนที่มีชื่อเสียงที่สุดในพม่า[5]
แผ่นดินไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่อยมาทำให้เจดีย์ได้รับความเสียหาย และเมื่อปี ค.ศ. 1768 ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างหนัก ทำให้ยอดของเจดีย์หักถล่มลงมา แต่ได้มีการบูรณะให้สูงขึ้นถึง 99 เมตร (325 ฟุต) ฉัตรองค์ใหม่สำหรับประดับยอดเจดีย์ได้รับการถวายจากพระเจ้ามินดง เมื่อปี ค.ศ. 1871 หลังการผนวกดินแดนพม่าตอนล่างโดยอังกฤษ แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงปานกลางในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1970 ทำให้เพลาฉัตรบนยอดองค์เจดีย์ได้รับความเสียหาย มีการสร้างโครงและซ่อมแซมครั้งใหญ่
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม ค.ศ. 2012 มีเทศกาลเฉลิมฉลองประจำปีของเจดีย์ชเวดากองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 หลังถูกห้ามโดยสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ที่ปกครองประเทศในขณะนั้น[6][7] เทศกาลเจดีย์ชเวดากองเป็นเทศกาลเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนดะบ้องตามปฏิทินพม่า[7]
ฐานเจดีย์เป็นแบบสี่เหลี่ยมยกเก็จสามชั้น ด้านบนฐานมีเพียงพระภิกษุและผู้ชายเท่านั้นที่สามารถขึ้นได้ ถัดมาเป็นชั้นฐานแปดเหลี่ยมยกเก็จ ต่อมาเป็นชั้นฐานเขียงกลม ถัดไปด้านบนคือส่วนองค์ระฆัง, รัดอกคาดองค์ระฆัง, บัวคอเสื้อลายเฟื่องอุบะ, ปล้องไฉน, ปัทมบาท, ปลียาว, ฉัตร, ธงใบพัด และลูกแก้วหรือหยาดน้ำค้าง ประกอบด้วยเพชร 5,448 เม็ดและทับทิม 2,317 เม็ด บนสุดเป็นเพชรปลายแหลมหนัก 76 กะรัต[8]
แผ่นทองที่ใช้ปิดโครงสร้างอิฐถูกยึดด้วยหมุดแบบดั้งเดิม ประชาชนทั่วประเทศได้บริจาคเงินทองเพื่อบูรณะเจดีย์ การปฏิบัติยังคงมีมาจนถึงทุกวันนี้หลังจากพระนางเชงสอบู ได้บริจาคทองคำเท่าน้ำหนักของพระองค์ในการบูรณะเจดีย์
มีบันไดทางขึ้นไปยังลานเนินเขาสิงคุตตระสี่ทาง ในแต่ละทางขึ้นมีรูปปั้นคล้ายสิงห์ที่เรียกว่าชีนเต่ ประดับไว้เป็นคู่หน้าทางขึ้นเพื่อปกปักรักษาองค์เจดีย์ตามความเชื่อ ทางทิศตะวันออกและทางใต้มีร้านขายธูปเทียน ทองคำเปลว หนังสือ และวัตถุมงคลต่าง ๆ
ผู้ที่เข้ามานมัสการหรือเยี่ยมชมมักนิยมเดินตามเข็มนาฬิกาวนรอบเจดีย์ เริ่มต้นที่วิหารทางทิศตะวันออกซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปพระกกุสันธพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์แรกในภัทรกัปนี้ ถัดไปเป็นวิหารทางทิศใต้ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปพระโกนาคมนพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สองในภัทรกัปนี้ ถัดไปทางทิศตะวันตกเป็นวิหารของพระกัสสปพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์ที่สามในภัทรกัปนี้ สุดท้ายทางทิศเหนือเป็นวิหารของพระโคตมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน[9]
ประชาชนชาวพม่าส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่บางส่วนก็ยังมีความเชื่อในทางโหราศาสตร์ เช่นโหราศาสตร์พม่าที่เกี่ยวข้องกับดวงดาว 7 ดวงได้แก่ ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, ดาวอังคาร, ดาวพุธ, ดาวพฤหัสบดี, ดาวศุกร์และดาวเสาร์ นอกจากนี้ยังตระหนักถึงดาวอีกสองดวงคือราหูและเกตุ ความเชื่อเรื่องดวงดาวล้วนได้รับอิทธิพลมาจากโหราศาสตร์ฮินดู แต่ดาวราหูและเกตุของโหราศาสตร์พม่าต่างจากดาวราหูและเกตุของฮินดู โดยโหราศาสตร์พม่าพิจารณาให้เป็นดวงดาวที่แตกต่างและแยกกัน ในขณะที่โหราศาสตร์ฮินดูพิจารณาว่าเป็นหัวและหางของนาคหรือเป็นจุดขึ้นและลง ส่วนในโหราศาสตร์พม่าดาวเกตุเป็นราชาของดวงดาวทั้งมวล เช่นเดียวกับภาษาอื่น ๆ อีกมากมายชาวพม่าตั้งชื่อวันทั้งเจ็ดในสัปดาห์ตามดวงดาวทั้งเจ็ดดวง แต่โหราศาสตร์ของพม่ามีการแบ่งสัปดาห์เป็นแปดวันโดยแบ่งวันพุธเป็นสองวัน คือ เที่ยงคืนจนถึง 18:00 น. เป็นวันพุธ แต่หลังเวลา 18.00 น. จนถึงเวลาเที่ยงคืนเป็นวันของราหู[10]
เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวพม่าที่จะต้องรู้ว่าวันเกิดของตนได้รับอิทธิพลจากดาวเคราะห์ดวงใด นองจากนี้ยังมีการกำหนดสัญลักษณ์ของรูปสัตว์ต่าง ๆ แทนในแต่ละวัน เช่น ครุฑสำหรับวันอาทิตย์, เสือสำหรับวันจันทร์, สิงโตสำหรับวันอังคาร, ช้างมีงาสำหรับวันพุธครึ่งวันแรก, ช้างไม่มีงาสำหรับวันพุธครึ่งวันหลัง, หนูสำหรับวันพฤหัสบดี, หนูตะเภาสำหรับวันศุกร์และนาคสำหรับวันเสาร์ สัญลักษณ์ของวันต่าง ๆ กระจายไปรอบองค์เจดีย์แต่ละจุดจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ ผู้ศรัทธามักนำดอกไม้ ธงต่าง ๆ ไปบูชาและทรงน้ำพระพร้อมคำอธิษฐานและความปรารถนา ด้านหลังองค์พระเป็นรูปปั้นของเทวดาผู้พิทักษ์และด้านล่างจะเป็นสัตว์ที่เป็นตัวแทนในแต่ละวัน ชาวพุทธมักนิยมเดินสำรวจเวียนรอบฐานเจดีย์ตามเข็มนาฬิกา
ผู้แสวงบุญและผู้ศรัทธามักซื้อดอกไม้ธูปเทียนธงสีและธงริ้วต่าง ๆ ตามทางขึ้นมานมัสการและไว้รอบเจดีย์ มีกล่องบริจาคอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ รอบองค์เจดีย์ เพื่อมอบให้โดยสมัครใจซึ่งอาจมอบให้เจดีย์เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการให้ทานอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในคำสอนของศาสนาพุทธ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ชาวต่างชาติจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า 10,000 จัต (ประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐ)
รัดยาร์ด คิปลิง ได้บรรยายในปี ค.ศ. 1889 ถึงการเยี่ยมชมเจดีย์ชเวดากอง อีกสิบปีต่อมาได้ลงพิมพ์ในหนังสือ From Sea to Sea and Other Sketches, Letters of Travel[11]
“ | ขณะนั้นสีทองลึกลับปรากฎขึ้นที่ขอบฟ้า อัศจรรย์สวยงามเมื่อต้องแสงอาทิตย์ มีรูปทรงที่ไม่ใช่โดมมุสลิมหรือยอดแหลมวิหารฮินดู ตั้งอยู่บนเนินเขาสีเขียวและด้านล่างเป็นแนวภัณฑาคาร เพิงไม้และโรงไม้ ภายใต้พระเจ้าองค์ใหม่หรือ ที่ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าพวกเราชาวอังกฤษยังต้องมานั่งที่นี่ ? | ” |
“ | นั้นคือชเวดากองเก่า สหายร่วมเดินทางของฉันกล่าว 'ช่างเถอะ!' แต่นั่นไม่ใช่ที่คิดสาบานตรงนี้ มันอธิบายเป็นอย่างแรกว่าทำไมพวกเรายึดย่างกุ้ง และเหตุที่สองพวกเราผลักดันให้เห็นถึงดินแดนที่มั่งคั่งและหาได้ยาก จนตอนนั้นที่ฉันไม่ได้ศึกษามามองไม่เห็นว่าดินแดนนี้มีลักษณะต่างจากสุนทรวัน แต่เจดีย์สีทองบอกว่านี่คือพม่า และนั่นต่างจากดินแดนที่คุณเคยรู้จัก สหายร่วมเดินทางของฉันกล่าวว่า นั้นเป็นศาสนสถานโบราณที่มีชื่อเสียง และตอนนี้เส้นทาง ตองอู–มัณฑะเลย์ มีการเปิด คณะผู้จาริกแสวงบุญนับพันได้เดินทางลงมาชม ยอดทองขนาดใหญ่บนสุดที่พวกเขาเรียกว่า ที่ (ထီး) สูญหายไปจากแผ่นดินไหว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงถูกปิดด้วยงานไม้ไผ่อยู่สามส่วนของความสูง คุณจะเห็นเมื่อทั้งหมดถูกเปิดออก พวกเขากำลังปิดทองอยู่ในตอนนี้ | ” |
ในปี ค.ศ. 1608 ฟีลีปึ ดึ บรีตู อี นีโกตึ นักผจญภัยชาวโปรตุเกส หรือที่รู้จักในนามของ งะซีนกา เมื่ออยู่ในพม่า ได้เข้าปล้นชิงสมบัติของเจดีย์ชเวดากอง และได้เอาระฆังพระเจ้าธรรมเจดีย์ขนาด 300 ตัน ซึ่งถวายโดยพระเจ้าธรรมเจดีย์เมื่อปี ค.ศ. 1485 เจตนาของฟีลีปือคือการหลอมระฆังเพื่อสร้างปืนใหญ่ แต่ระฆังได้ตกลงไปในแม่น้ำพะโคขณะกำลังขนย้าย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการกู้คืน
สองศตวรรษต่อมาจักรวรรดิบริติชเริ่มเข้าครอบครองพื้นที่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1824 ช่วงสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง ทันทีที่ยึดครองเจดีย์ชเวดากองได้พวกเขาได้ใช้เป็นป้อมปราการจนสละทิ้งในอีกสองปีต่อมา มีการปล้นสะดมการทำลายทรัพย์สิน และข้ออ้างของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในการขุดอุโมงค์เข้าไปในส่วนลึกของเจดีย์ คือการหาว่าสามารถใช้เป็นที่เก็บดินปืนได้หรือไม่ ระฆังมหาฆัณฏา ระฆังสัมฤทธิ์หนัก 23 ตัน สร้างในปี ค.ศ. 1779 โดยได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าจิงกูจาและเป็นที่รู้จักในชื่อระฆังพระเจ้าจิงกูจา ถูกขนย้ายลงเรือปรารถนาที่จะส่งไปยังโกลกาตา และได้พบเหตุการณ์เช่นเดียวกับระฆังพระเจ้าธรรมเจดีย์คือตกลงไปในแม่น้ำ เมื่อชาวอังกฤษล้มเหลวในความพยายามที่จะกู้ระฆังขึ้นมา จึงมีประชาชนเสนอที่จะกู้ระฆังโดยมีเงื่อนไขว่าถ้ากู้ขึ้นมาได้ให้ถวายคืนไปยังเจดีย์ ชาวอังกฤษคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้ประโยชน์จึงตอบตกลง ต่อมานักดำน้ำได้นำเสาไม้ไผ่หลายร้อยต้นผูกเข้ากับระฆังด้านล่างและปล่อยให้ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ระฆังใบนี้มักมีคนสับสนกับระฆังพระเจ้าแสรกแมง ขนาด 42 ตัน ซึ่งได้รับการถวายในปี ค.ศ. 1841 โดยพระเจ้าแสรกแมงพร้อมกับชุบทองคำ 20 กก. ระฆังขนาดใหญ่นี้แขวนอยู่ในศาลามุมตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์ ส่วนระฆังพระเจ้าจิงกูจาแขวนในศาลาตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์[12]
ในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สอง จักรวรรดิบริติชเข้ายึดครองเจดีย์ในเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1852 แต่คราวนี้เจดีย์อยู่ภายใต้การควบคุมทางทหารเป็นเวลานานถึง 77 ปีจนถึงปี ค.ศ. 1929 อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถเข้าไปสักการะองค์เจดีย์ได้
ระหว่างการยึดครองเจดีย์และเป็นป้อมปราการของบริติช หม่อง ทอ เล ซึ่งเป็นชาวมอญเชื้อสายพม่า ประสบความสำเร็จในการป้องกันการปล้นทรัพย์สมบัติจากกองทัพบริติช ท้ายที่สุดเขาก็สามารถบูรณะเจดีย์ให้มีชื่อเสียงดังเดิมได้ ทั้งยังได้รับเงินสนับสนุนจากผู้ปกครองชาวอังกฤษ บทความบางส่วนได้ถูกบันทึกลงในหนังสือ “A Twentieth Century Burmese Matriarch” (ปูชนียบุคคลของพม่าในคริสต์ศตวรรษที่ 20) ซึ่งเขียนโดยทายาทสายตรงที่สืบเชื้อสายมาจากหลานสาวของเขา คีน ธีดา[13]
“ | หลังจากเกษียณแล้วเขาย้ายกลับไปยังภาคย่างกุ้งซึ่งยังคงอยู่ในมือพม่า ไม่นานนักก่อนที่นั้นจะถูกยึดครอง เขาเคยถูกจับอีกครั้งในช่วงสงคราม แต่เขาโชคดีที่สนับสนุนกิจการทางศาสนาและได้รับบุญอันยิ่งใหญ่ ความสามารถในการเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมของเขา ทำให้เขาได้รับหน้าที่ในการบูรณะเจดีย์ชเวดากองครั้งใหญ่ จากการถูกทำลายและปล้นทรัพย์สมบัติของกองทัพบริติชช่วงสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สอง
ศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ของพุทธถูกใช้เป็นป้อมปราการโดยกองทัพบริติชช่วงสงครามในปี ค.ศ. 1824 และใช้เป็นป้อมปราการอีกครั้งในปี ค.ศ. 1852 เมื่อเขาได้ยินการเปลี่ยนศาสนสถานเป็นป้อมปราการและปล้นทรัพย์สมบัติ เขาจึงส่งจดหมายอุทธรณ์ทันทีไปยังสำนักงานบริติชอินเดียในลอนดอนให้หยุดทำลายศาสนสถาน เขาได้รับค่าชดเชยจากข้าหลวงพม่าแห่งบริติช มิสเตอร์เพเลย์ (Arthur Purves Phayre) และเริ่มบูรณะเจดีย์ในปี ค.ศ. 1855 พร้อมการสนับสนุนการบริจาคจากประชาชน เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลเจดีย์ชเวดากอง และได้รับยศ KSM จากบริติชราช สำหรับการบริการสาธารณะของเขา เขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 95 ปี มรดกที่เขาทิ้งไว้คือเกียรติประวัติและกิตติศัพท์สูงสุดแก่วงศ์ตระกูลและทายาทรุ่นหลังของเขา |
” |
ในปี ค.ศ. 1920 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยของพม่ามาพบกันที่ศาลามุมตะวันตกเฉียงใต้ของเจดีย์ชเวดากอง และวางแผนประท้วงต่อต้านพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยใหม่ ที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับการปกครองของอาณานิคมมากขึ้น ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้รับการขึ้นเป็นอนุสรณ์สถาน ผลที่ตามมาคือการคว่ำบาตรมหาวิทยาลัยและมีการจัดตั้ง "สถาบันการศึกษาแห่งชาติ" ซึ่งมีแหล่งเงินทุนและดำเนินการโดยชาวพม่า วันนี้จึงได้รับการระลึกเป็นวันชาติวันหนึ่งของพม่า ครั้งที่สองนักศึกษามหาวิทยาลัยได้หยุดประท้วงในปี ค.ศ. 1936 โดยรวมตัวกันบริเวณเชิงฐานเจดีย์ชเวดากอง
ในปี ค.ศ. 1938 คนงานเหมืองบ่อน้ำมันได้หยุดงานประท้วง และทยอยเดินทางออกจากเหมืองบ่อน้ำมันเมืองเชาะและเยนานช่องบริเวณตอนกลางของพม่าไปยังย่างกุ้ง เพื่อจัดค่ายประท้วงบริเวณเจดีย์ชเวดากอง การประท้วงครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและนักศึกษา เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'การปฏิวัติ 1300' เจ้าหน้าที่ตำรวจของบริติชได้สวมรองเท้าบูทบุกเข้าจู่โจมค่ายผู้ประท้วงบริเวณเจดีย์ ขณะที่ชาวพม่าล้วนต้องถอดรองเท้าก่อนขึ้นเจดีย์ทั้งสิ้น
ปัญหาเรื่องการสวมรองเท้าขึ้นไปบนเจดีย์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของชาวพม่าตั้งแต่สมัยอาณานิคม ชาวพม่าจะถอดรองเท้าเมื่อเข้าไปในศาสนสถานพุทธทุกแห่ง ไฮแรม ค็อกซ ทูตบริติชและเจ้าหน้าที่ศาลพม่า ในปี ค.ศ. 1796 ได้ชมประเพณีพื้นบ้านโดยไม่ได้แวะไปที่เจดีย์เพราะการที่เขาจะต้องถอดรองเท้า อย่างไรก็ตามหลังจากการผนวกพม่าตอนล่าง ผู้มาเยือนชาวยุโรปและทหารที่มายังเจดีย์ได้แสดงออกถึงการไม่เคารพประเพณีท้องถิ่น อู ธรรมโลกา เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสวมรองเท้าขึ้นไปบนเจดีย์ในปี ค.ศ. 1902 ต่อมาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของบริติชออกกฎข้อบังคับเด็ดขาดห้ามสวมรองเท้าเข้าไปในบริเวณเจดีย์ อย่างไรก็ตามพวกเขาได้ยกเว้นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลให้สวมรองเท้าได้ ระเบียบข้อบังคับและการยกเว้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มมีบทบาทในขบวนการชาตินิยม ปัจจุบันไม่อนุญาตให้สวมรองเท้าหรือถุงเท้าขึ้นไปบนเจดีย์
ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1946 นายพลอองซาน ได้จัดการชุมนุมใหญ่ที่บริเวณเจดีย์เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ โดยมีการประท้วงและการชุมนุมเป็นวงกว้าง อีกสี่สิบสองปีต่อมาในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1988 ลูกสาวของเขา อองซาน ซูจี ได้กล่าวกับผู้ชุมนุมกว่า 500,000 คนที่บริเวณเจดีย์ชเวดากองเพื่อเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากการปกครองของทหาร เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้กันกันในชื่อ การปฏิวัติ 8888 ซึ่งเป็นการประท้วงระบอบการปกครองครั้งใหญ่ครั้งที่สอง
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 มีการประท้วงทั่วประเทศต่อการปกครองของทหาร เกี่ยวกับการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พระสงฆ์ถูกห้ามเข้าเจดีย์เป็นเวลาหลายวันก่อนที่รัฐบาลจะยอมปล่อยให้เข้ามา
เมื่อวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 2007 พระภิกษุและตี่ละฉิ่น กว่า 20,000 รูป (การประท้วงครั้งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี) ได้เดินขบวนไปยังเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง ต่อมาในวันจันทร์มีประชาชนกว่า 30,000 คนและพระภิกษุ 15,000 รูป เดินขบวนจากเจดีย์ชเวดากองและผ่านสำนักงานพรรคฝ่ายค้านของนางอองซาน ซูจี คือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นักแสดงตลกและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซากะนา กับ จอ ตู มีการนำอาหารและน้ำมาถวายแด่พระสงฆ์ ในวันเสาร์มีพระภิกษุเดินทางไปทักทายนางอองซานซูจีซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมในบ้านพัก ต่อมาวันอาทิตย์มีแม่ชีจำนวน 150 คนเข้าร่วมเดินขบวน[14][15] เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2007 พระภิกษุและผู้สนับสนุน 2,000 คนขัดขืนคำขู่ของคณะผู้บริหารประเทศ เดินขบวนในถนนย่างกุ้งไปยังเจดีย์ชเวดากอง ท่ามกลางรถบรรทุกทหารและคำเตือนของ พลจัตวา มยิน มอง ไม่ให้พุทธศาสนิกชนละเมิดกฎระเบียบและข้อบังคับ[16]
วันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2007 มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังรักษาความปลอดภัยกับพระสงฆ์และผู้ประท้วงหลายพันคน มีผู้ประท้วงที่เสียชีวิตอย่างน้อย 5 รายจากกองกำลังรักษาความปลอดภัย ตามรายงานเจ้าหน้าที่มีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมอย่างสันติของพระสงฆ์จำนวนมากรอบ ๆ เจดีย์ชเวดากอง[17]
มีรายงานการประท้วงว่าพระภิกษุจำนวนอย่างน้อย 50 รูปถูกจับขึ้นไปบนรถบรรทุกของกองทัพ และถูกนำไปยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผย นอกจากนี้มีการรายงานว่าทหารใช้ปืนไรเฟิลจู่โจมและปิดศาสนสถานพุทธ มีประกาศให้ฝูงชนสลายตัวอย่างรวดเร็วก่อนจะปราบปรามอย่างรุนแรง มีการขับไล่พระภิกษุและผู้ประท้วงกว่าร้อยคนและเริ่มปิดล้อมบริเวณเจดีย์[17]
เจ้าหน้าผู้มีอำนาจได้ประกาศสั่งให้ฝูงชนสลายการชุมนุมประท้วง แต่พยานในที่เกิดเหตุกล่าวว่าพระภิกษุนั่งลงและเริ่มสวดภาวนาต่อสู้กับการห้ามชุมนุมของรัฐบาลทหาร กองกำลังรักษาความปลอดภัยที่เจดีย์ได้โจมตีผู้ชุมนุม มีการทำร้ายพระภิกษุและผู้สนับสนุนอีกหลายร้อยราย พระภิกษุถูกพาขึ้นไปยังรถบรรทุกโดยหน่วยงานท่ามกลางประชนหลายร้อยคนที่เห็นเหตุการณ์[17] มีรายงานว่าบางส่วนได้เลี่ยงและมุ่งหน้าไปยังเจดีย์ซู่เลแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนสถานพุทธที่ตั้งอยู่ในใจกลางกรุงย่างกุ้ง[18]
เจดีย์หรือสิ่งก่อสร้างที่มีการระบุชัดเจนว่าสร้างจำลองมาจากเจดีย์ชเวดากอง เช่น
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.