Loading AI tools
เทพปกรณัมจากตะวันออกกลาง จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อะลาดิน (อังกฤษ: Aladdin) เป็นเทพปกรณัมเรื่องหนึ่งในแถบตะวันออกกลาง ว่าด้วยยาจกหนุ่มชาวจีนชื่อ อะลาดิน ซึ่งกลายเป็นราชาเพราะความช่วยเหลือของทาสยักษ์ เรื่องราวนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้นเมื่ออ็องตวน กาล็อง (Antoine Galland) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ประมวลเข้าเป็นนิทานตอนหนึ่งในหนังสือชุด พันหนึ่งราตรี (One Thousand and One Nights) หรือ อาหรับราตรี (The Arabian Nights)[1]
"อะลาดิน" หรือในภาษาอาหรับว่า "อะลาอัดดีน" (อาหรับ: علاء الدين, ʻAlāʼ ad-Dīn) และภาษาจีนว่า "อาลาติง" (จีน: 阿拉丁; พินอิน: Ālādīng) เป็นเด็กหนุ่มในกรุงจีน วันหนึ่ง พ่อมดแห่งแคว้นมักเริบ (Maghreb) ในแอฟริกา ปลอมตัวเป็นพ่อค้าภูมิฐานมายังบ้านของอะลาดิน อ้างว่า เป็นน้องชายหรือพี่ชายของช่างเสื้อมุสตาฟา (Mustapha) บิดาผู้ล่วงลับแล้วของอะลาดิน แล้วขอให้อะลาดินไปเอาตะเกียงน้ำมันดวงหนึ่งซึ่งอยู่ในถ้ำกล (booby-trapped cave) มาให้ เมื่ออะลาดินเข้าไปในถ้ำแล้วก็ติดอยู่ในนั้น ไม่รู้จะทำเช่นไร ก็ลูบมือตนเองอยู่ พลันยักษ์ซึ่งสิงอยู่ในแหวนที่พ่อมดมอบให้ใส่นั้นก็ผุดออกมาและเสนอตัวเป็นข้ารับใช้ อะลาดินจึงให้ยักษ์พาเขาและตะเกียงออกจากถ้ำกลับไปยังเมืองชี่ตัน
ต่อมาเมื่อมารดาของอะลาดินเช็ดถูตะเกียงที่บุตรชายนำกลับมาด้วยนั้น ยักษ์อีกตนหนึ่งซึ่งสิงสู่อยู่ในตะเกียงและมีพลังอำนาจเหนือกว่ายักษ์ตนแรกก็ปรากฏโฉมและเสนอตัวเป็นข้าช่วงใช้เช่นกัน ด้วยความช่วยเหลือของยักษ์ตนนั้น อะลาดินก็มั่งมีบารมีและทรัพย์สินขึ้นมา เมื่อทราบว่า องค์หญิงบัดร์อุลบาดูร์ (Badroulbadour) ราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน กำลังจะสมรสกับบุตรชายของเสนาบดี (vizier) อะลาดินจึงให้ยักษ์ขัดขวางการสมรสนั้น และให้ตนได้สมรสกับองค์หญิงแทน ยักษ์ยังเนรมิตปราสาทราชมนเทียรให้อะลาดินเสียใหญ่โตยิ่งกว่าราชวังพระเจ้ากรุงจีน
ฝ่ายพ่อมดแห่งแคว้นมักเริบ เมื่อทราบว่า อะลาดินออกจากถ้ำไปได้ ทั้งได้เป็นใหญ่เป็นโตเพราะฤทธิ์ตะเกียง จึงกลับมายังกรุงจีน ปลอมตัวเป็นพ่อค้าเร่รับแลกตะเกียงเก่าด้วยตะเกียงใหม่ องค์หญิงบัดร์อุลบาดูร์เอาตะเกียงของอะลาดินไปแลกตะเกียงใหม่มา พ่อมดจึงบัญชาให้ยักษ์ในตะเกียงนำปราสาทและทรัพย์สินทั้งหมดของอะลาดิน รวมถึงองค์หญิงผู้ชายา ไปยังแคว้นมักเริบ แต่พ่อมดลืมไปว่า อะลาดินยังมีแหวนวิเศษที่ตนเคยให้ไว้อยู่
อะลาดินสั่งให้ยักษ์ในแหวนช่วยเหลือ แต่ยักษ์แหวนไม่อาจสู้อำนาจยักษ์ตะเกียง ทำได้แต่เพียงนำพาอะลาดินไปยังแคว้นมักเริบ เมื่อไปถึงแคว้นนั้นแล้ว อะลาดินฆ่าพ่อมดตาย จึงได้กลับครอบครองตะเกียง และให้ยักษ์ในตะเกียงนำปราสาทราชสมบัติและคนรักของตนกลับคืนไปกรุงจีน
น้องชายหรือพี่ชายของพ่อมดทราบว่า พ่อมดถูกฆ่าตาย ก็แค้นใจ ปลอมตนเป็นหญิงชรามายังกรุงจีน อ้างว่า สามารถเยียวยารักษาโรคภัยทั้งปวงได้ องค์หญิงบัดร์อุลบาดูร์จึงรับไว้เป็นนางข้าหลวง ยักษ์ตะเกียงเตือนอะลาดินถึงภัยจากนางผู้แปลกปลอมนั้น อะลาดินจึงฆ่านางตาย ทุกคนก็อยู่อย่างสุขสันต์สืบมา ครั้นพระเจ้ากรุงจีนสิ้นพระชนม์แล้ว อะลาดิน ในฐานะราชบุตรเขย จึงได้ครองบัลลังก์ต่อ
ต้นฉบับภาษาอาหรับของเรื่องอะลาดินนั้นปัจจุบันยังไม่อาจสืบค้นได้ แต่อ็องตวน กาล็อง ที่เอาเรื่องนี้ไปลงหนังสือ พันหนึ่งราตรี นั้นอ้างว่า ได้ฟังเรื่องมาจากนักเล่านิทานชาวซีเรียคนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองอะเลปโป (Aleppo) และกาล็องบันทึกในอนุทินลงวันที่ 25 มีนาคม 1709 ว่า วันนั้นเขาได้พบปราชญ์นิกายมารอไนต์ (Maronite) คนหนึ่งชื่อ โยเฮนนา ดีแอ็บ (Youhenna Diab) หรือฮันนา (Hanna) ในกรุงปารีส ปอล ลูว์กา (Paul Lucas) นักเดินทางชาวฝรั่งเศส นำพาปราชญ์ผู้นี้มาจากเมืองอะเลปโป เขายังเขียนลงอนุทินว่า เริ่มแปลเรื่องอะลาดินเป็นภาษาฝรั่งเศสในฤดูหนาวซึ่งกินเวลาระหว่างปี 1709–10 ต่อมา เรื่องอะลาดินนี้ปรากฏอยู่ใน พันหนึ่งราตรี ภาค ราตรี (Nights) เล่มที่ 4 และ 5 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1710
ในหนังสือ อะลัดดินแอนด์ดิเอนแชนเต็ดแลมป์และอัตเธอร์สตอรีส์ (Aladdin and the Enchanted Lamp and Other Stories; "อะลาดินกับตะเกียงมนตราและเรื่องราวอื่น ๆ") พิมพ์ครั้งแรกในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1901 จอห์น เพย์น (John Payne) เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับการพบกันระหว่างกาล็องและบุคคลชื่อ "ฮันนา" เอาไว้ ทั้งระบุถึงการค้นพบต้นฉบับภาษาอาหรับของเรื่องอะลาดินในหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส (National Library of France) เขาว่า ต้นฉบับนั้นมีสองชุด ชุดหนึ่งบาทหลวงชาวซีเรียที่อยู่ในกรุงปารีสชื่อ ไดโอนิเซียส ชาวิช (Dionysios Shawish) หรือหลวงพ่อเดนิส ชาวิส (Dom Denis Chavis) เขียนขึ้น อีกชุดหนึ่งเป็นเนื้อหาที่ มิคาอิล ซับบัก (Mikhail Sabbagh) อาลักษณ์หลวง คัดลอกจากต้นฉบับที่เขียนขึ้นในกรุงแบกแดดเมื่อปี 1703 หอสมุดแห่งชาติซื้อต้นฉบับทั้งสองชุดนั้นมาเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่นักวิชาการสมัยใหม่หลายคน เช่น มุห์ซิน มะห์ดี (Muhsin Mahdi) และฮุเซน ฮัดดาวี (Husain Haddawy) เชื่อว่า ต้นฉบับดังกล่าวไม่ใช้เรื่องอะลาดินดั้งเดิม เป็นแต่คำแปลเรื่องอะลาดินใน พันหนึ่งราตรี กลับเป็นภาษาอาหรับเท่านั้น[2][3]
เนื้อเรื่องว่า อะลาดินอยู่ในกรุงจีน และอะลาดินเป็นชาวจีน[4] แต่บุคคลส่วนใหญ่ในเรื่องเป็นมุสลิม มีบุคคลหนึ่งเป็นยิวซึ่งในเรื่องว่า เป็นลูกค้าของอะลาดิน แต่ไม่มีเอ่ยถึงชาวพุทธหรือขงจื่อ
นักวิจารณ์บางคนเห็นว่า ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ดังกล่าวน่าจะบ่งบอกว่า เรื่องเกิดในเตอร์กิสถาน กินพื้นที่เอเชียกลางและเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของประเทศจีนปัจจุบัน[5] ส่วนที่มีการระบุถึงชนชาติต่าง ๆ ในกรุงจีนเช่นนี้ อาจเป็นเพราะคนเล่าเรื่องไม่มีความรู้ดีพอเกี่ยวกับจีน หรือไม่ก็ประสงค์สร้างสีสันให้เนื้อหาดังที่พบบ่อยในนิทานทั้งหลาย[6]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.