Loading AI tools
นักแสดงชาวไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม (เกิด 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525) ชื่อเล่น จ่อย[1] เป็นนักแสดงลูกครึ่งออสเตรเลีย-ลาว เข้าวงการบันเทิงเมื่ออายุ 14 ปี โดยคำชักชวนของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กับภาพยนตร์เรื่องแรก อันดากับฟ้าใส และ 303 กลัว/กล้า/อาฆาต หลังจากไม่มีผลงานบันเทิงระยะหนึ่ง ได้กลับมาอีกครั้งกับละครเรื่อง ทะเลฤๅอิ่ม ของหม่อมน้อย หลังจากนั้นก็มีผลงานการแสดงเรื่อยมา
อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม | |
---|---|
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | ณิชชา ธนาลงกรณ์ (2566–ปัจจุบัน) |
อาชีพ |
|
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2540–ปัจจุบัน |
ผลงานเด่น | อันดามัน – อันดากับฟ้าใส (2540) กุศลสร้าง – 303 กลัว/กล้า/อาฆาต (2541) ธรรม์ – ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) ส่างหม่อง – ชั่วฟ้าดินสลาย (2553) โรม ฤทธิไกร (อินทรีแดง) – อินทรีแดง (2553) อธิน – เกมรักทรยศ (2566) ขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) – ขุนพันธ์ (2559) / ขุนพันธ์ 2 (2561) / ขุนพันธ์ 3 (2566) |
สุพรรณหงส์ | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม พ.ศ. 2551 – แฮปปี้เบิร์ธเดย์ พ.ศ. 2553 – ชั่วฟ้าดินสลาย |
ชมรมวิจารณ์บันเทิง | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม พ.ศ. 2551 – แฮปปี้เบิร์ธเดย์ พ.ศ. 2553 – ชั่วฟ้าดินสลาย |
นาฏราช | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม พ.ศ. 2566 – เกมรักทรยศ |
พิฆเนศวร | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม พ.ศ. 2567 – เกมรักทรยศ |
คมชัดลึก | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2553 – ชั่วฟ้าดินสลาย |
จนใน พ.ศ. 2547 อนันดาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผลงานบันเทิงยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. 2547 หรือ สตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส 2004 จากเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ [2] และจากภาพยนตร์เรื่อง Me Myself อนันดาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลถึง 6 สถาบัน ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2551 อนันดามีผลงานการแสดงภาพยนตร์ถึง 10 เรื่อง และในปี พ.ศ. 2552 อนันดาได้รางวัลด้านการแสดงในสาขานักแสดงนำจาก 6 สถาบัน จากผลงานภาพยนตร์เรื่อง แฮปปี้เบิร์ธเดย์
ทางด้านธุรกิจ ได้ร่วมทำธุรกิจกับ ตั้งบริษัท เฮโล โปรดักส์ชั่น รับทำงานอีเวนต์เกี่ยวกับงานศิลปะ อีกทั้งยังเคยมีธุรกิจร้านอาหารกึ่งผับกึ่งรีสอร์ตที่เกาะเสม็ด อนันดายังได้ร่วมลงทุน รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ และยังเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับโฆษณาจักรยานยนต์ ซูซูกิ รุ่น “มาโช โชกุน 125” และเป๊ปซี่ แม็กซ์
อนันดาเกิดในประเทศไทย เป็นลูกชายของจอห์น เอเวอริงแฮม ช่างภาพชาวออสเตรเลีย กับแก้วสิริ สมพร หญิงชาวลาว[3] ปัจจุบันอนันดาถือสัญชาติไทย (เดิมถือสัญชาติออสเตรเลีย) เขาใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย หลังจากนั้นกลับมาประเทศไทยเมื่ออายุได้ 9 ปี เข้าศึกษาที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา และกลับไปบริสเบนระหว่างปิดภาคเรียนที่ประเทศไทย สมัยเด็ก ๆ เป็นคนดื้อมาก เรียนหนังสือเก่งแต่ไม่ยอมเรียน จนเมื่ออายุได้ 13 - 14 ปี โดนไล่ออกจากโรงเรียน ทำให้คุณพ่อต้องการดัดนิสัยโดยจะส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่ประเทศอินเดีย แต่มีวันหนึ่งขณะรอเดินทางไป อนันดาได้ช่วยงานร้านอาหารอินเดียชื่อ “หิมาลัย ชา ช่า”[4] ที่บิดาเปิดอยู่ย่านสุริวงศ์ ได้พบมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เข้ามาถามว่าต้องการเป็นดาราหรือไม่ และด้วยความที่ไม่อยากไปอินเดียจึงตอบตกลง อนันดาจึงเข้าสู่วงการบันเทิงโดยเริ่มงานกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ จากนั้นก็ได้มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกคือ อันดากับฟ้าใส[5]
ภาพยนตร์เรื่องแรก เรื่อง อันดากับฟ้าใส กำกับโดยหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล[6] ในตอนนั้นอนันดายังพูดภาษาไทยไม่ได้เลย แต่อนันดาก็เล่าถึงตัวเองว่า ผมเข้าใจภาษาไทยนะ แต่ว่าไม่ได้ใช้และเพื่อนฝูงเป็นฝรั่งหมด[7] หลังจากนั้นอนันดาก็มีงานเข้ามาเรื่อย และเป็นที่รู้จัก แต่ด้วยความเป็นคนรักในการท่องเที่ยว จึงหายไปจากวงการช่วงหนึ่ง
หลังว่างเว้นจากวงการบันเทิง 3 ปีอนันดาก็หวนกลับเข้าวงการอีกครั้งหนึ่งกับละครของหม่อมน้อย ในเรื่อง "ทะเลฤๅอิ่ม" ส่วนเรื่องการเรียน อนันดาเรียนที่บ้าน[8] จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์เรื่อง คนสั่งผี ตามมาด้วย ภาพยนตร์เรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทำรายได้สูงมากเป็นประวัติการณ์ในขณะนั้น[9] ด้วยรายได้ 120 ล้านบาท[10] อนันดาให้สัมภาษณ์ภายหลังเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "ชัตเตอร์ก็มีผลต่อเราค่อนข้างมากนะ จะเรียกว่าเป็นหนังแจ้งเกิดอีกรอบหนึ่งก็ได้...แต่ก่อน ที่เล่นหนังป็อป ๆ ที่เป็นป็อปไอดอล...งานที่เข้ามาหลังจากนั้นก็แตกต่างเยอะ ด้านการแสดงก็คิดว่าเป็นสเต็ปแรกที่ทำให้เรากว้างไปสู่งานที่มีเนื้อหาที่โตขึ้น"[11] จากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดสสาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม[12] หลังจากนั้นอนันดาได้แสดงภาพยนตร์ เรื่อง Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ กำกับโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ในภาพยนตร์เรื่องนี้เขารับบทเป็นกะเทยชีวิตรันทด[13] โดยได้ไปเรียนการแสดงเพิ่มเติมกับหม่อมน้อย ให้รู้จักใช้ร่างกาย "หม่อมน้อยไม่ได้สอนให้ผมเป็นผู้หญิง หรือว่าทำตัวให้เป็นกะเทย"[14] ในส่วนคำวิจารณ์การแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ข่าวสดวิจารณ์ไว้ว่า "ด้วยลักษณะตัวละครที่ค่อนข้างซับซ้อน มีปัญหาทั้งทางด้านความทรงจำ ความเป็นชายและหญิง และปัญหาทางด้านความรัก ทำให้ตัวละครที่อนันดารับบท เป็นตัวละครที่เล่นยาก (คือถ้าเล่นเป็นกะเทยไปเลยทั้งเรื่องคงไม่ยากเท่านี้) แต่อนันดาก็สามารถสวมบทบาทเป็นตัวละครตัวนั้นได้อย่างเข้าถึงและน่าเชื่อในทุกมิติ"[15]
ภาพยนตร์เรื่องถัดมาคือ พลอย ออกฉายในปี พ.ศ. 2550 กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งอนันดาเคยร่วมงานกับเป็นเอก มาแล้วกับภาพยนตร์สั้น เรื่อง Twelve Twenty ในภาพยนตร์เรื่องนี้อนันดารับบทเป็นนัท บาร์เทนเดอร์หนุ่ม ที่มีบทพูดเพียงประโยคเดียวในเรื่องคือ “ เด็กมันติดยา ครับพี่” [16] นอกนั้นเป็นบทเลิฟซีนกับ พรทิพย์ ปาปะนัย ต่อมาเขายังได้รับเลือกให้เป็น นักแสดงดาวรุ่งที่มีศักยภาพสูง และกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในเอเชีย หรือ สตาร์ ซัมมิท เอเซีย ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน[17] และอนันดาก็ได้แสดงในภาพยนตร์นอกกระแส อย่าง ดึกแล้วคุณขา[11] ที่อนันดาไม่รับค่าตัวและช่วยออกเงินทำภาพยนตร์ และปลายปี 2550 อนันดามีผลงานภาพยนตร์เรื่อง Pleasure Factory หรือ Kuaile Gongchang ของเอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้กำกับ Beautiful Boxer เป็นโปรเจกต์หนังนานาชาติของเอกชัย[18] ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่แคนาดา ณ เทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงมอนทรีอัล และยังได้รับเลือกให้เข้าฉายใน สาย Midnight Passion ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงปูซานครั้งที่ 12 ด้วย[19]
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2551 อนันดามีผลงานการแสดงภาพยนตร์ถึง 10 เรื่อง โดยเริ่มรับแสดงเรื่อง The Coffin ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และต่อด้วย ปืนใหญ่จอมสลัด แต่เนื่องจากรอเปิดกล้องอยู่นานไม่ได้ถ่ายทำ จึงไปรับถ่ายเรื่อง The Leap Years[20] ซึ่งใช้เวลาถ่ายทำนานกว่า 3 ปี
ในปี พ.ศ. 2551 นี้ อนันดาได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง เมมโมรี่ รัก...หลอน โดยอนันดารับบทเป็น กฤช มีอาชีพเป็นจิตแพทย์ อนันดาได้พูดถึงตัวละครนี้ว่า "หมอกฤชเป็นจิตแพทย์ที่มีปัญหา เป็นจิตแพทย์ที่ควรจะพบจิตแพทย์เสียเอง"[21] ต่อมาอนันดามีผลงาน แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง สะบายดี หลวงพะบาง เป็นภาพยนตร์เอกชนลาวเรื่องแรกในรอบ 33 ปี โดยได้ผู้กำกับไทย ศักดิ์ชาย ดีนาน และผู้กำกับลาว อนุสอน สิริสักดา โดยครั้งแรกที่ได้รับการติดต่อมาเพื่อแสดงในเรื่องนี้ แต่เมื่ออ่านบทและทำการถ่ายทำได้สักพักจึงตัดสินใจหาเงินระดมทุนสร้างกว่า 10 ล้านบาท รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้[22]
ภาพยนตร์เรื่อง โลงต่อตาย (The Coffin) ภาพยนตร์ร่วมทุนไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง กำกับโดยและเขียนบทโดยเอกชัย เอื้อครองธรรม ที่ได้รับรางวัล Best Project และเงินรางวัลจากกองทุน Hubert Bal ในงาน HAF ฮ่องกง เอเชี่ยน ไฟแนนซ์เชี่ยล ฟอรัม[23] ภาพยนตร์เรื่องนี้อนันดารับบทเป็น คริส สถาปนิก ที่กลัวความแคบอย่างรุนแรง แต่มานอนโลงเพื่อสะเดาะห์เคราะห์ให้แฟนชาวญี่ปุ่นที่ป่วยเข้าขั้นโคม่า[24] ในบทบาทของ "คริส" อภินันท์ บุญเรืองพะเนา จากผู้จัดการออนไลน์วิจารณ์ว่า "บทของคริสก็คืออีกหนึ่งบทบาทซึ่งขับรัศมีแห่งความเป็นนักแสดงมืออาชีพในตัวของอนันดาออกมาให้คนดูได้เห็นอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้นอีก"[25] ต่อมาในภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด ภาพยนตร์ทุนสร้างสูงแนวแอกชัน-แฟนตาซี เขารับบทเป็นปารี ชาวเล ผู้มีวิชาดูหลำ สามารถบังคับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลได้ โดยนนทรีย์ นิมิบุตรและเอก เอี่ยมชื่นได้กล่าวว่าออกแบบตัวละครตัวนี้จากตัวอนันดา ซึ่งเขาก็สงสัยว่าคล้ายกับเขาตอนไหน[26]
อนันดาและฉายนันท์ มโนมัยสันติภาพ กลับมาแสดงร่วมกันอีกครั้งใน แฮปปี้เบิร์ธเดย์ หลังจากเจอกันใน Me Myself ขอให้รักจงเจริญ กับผู้กำกับคนเดิม พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ซึ่งเขาส่งอนันดาและฉายนันท์เข้าไปพัฒนาการแสดงกับหม่อมน้อย ที่อนันดาเคยแสดงในภาพยนตร์กำกับโดยหม่อมน้อยใน อันดากับฟ้าใส หม่อมน้อยพูดถึงอนันดาว่า "ถามว่าอนันดาเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางด้านการแสดงมั๊ย ก็ตอบเลยว่าไม่ แต่ว่ามีความมานะ มีความพยายาม แล้วก็ขัดเกลาตัวเองอยู่เสมอ ทำให้ฝีมือการแสดงของเขาขึ้นไปทีละขั้นช้า ๆ แต่มั่นคง..."[27] ซึ่งการแสดงของอนันดาเรื่องนี้ก็ได้รับคำชมว่า "อนันดาในหนังเรื่องนี้ “บทเด่น” และ “เล่นดี” มากจนหาที่ตำหนิไม่เจอ"[28] จากผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้อนันดาได้รับรางวัลในสาขานักแสดงนำจาก 4 สถาบัน
อนันดามีส่วนร่วมในโครงการภาพยนตร์ เสน่ห์กรุงเทพ ที่เป็นโครงการภาพยนตร์สั้นถ่ายทอดจากผู้กำกับ 9 คน โดยอนันดาแสดงในตอน "Bangkok Blues" กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์[29] ในปี พ.ศ. 2553 เขายังได้กลับมาร่วมงานแสดงภาพยนตร์ในการกำกับของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุลอีกครั้งในเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย[30] ในปีเดียวกันเขาแสดงในภาพยนตร์ทุนสร้างสูง 150 ล้านบาทเรื่อง อินทรีแดง ในบทบาท อินทรีแดง จากบทบาทนี้ รัชชพร เหล่าวานิช นักวิจารณ์เห็นว่า บทบาทนี้อยู่แค่สอบผ่าน เพราะไม่มีรังสีอำมหิต[31]
อนันดาเป็นลูกครี่งออสเตรเลีย-ลาว บิดาชื่อ จอห์น เอเวอริงแฮม เป็นนักข่าวออสเตรเลีย สมัยสงครามเวียดนาม ด้วยการไปดำน้ำใช้แท็งก์ (สกุ๊ปบ้าไดฟ์วิง) พามารดาของอนันดาชื่อว่า แก้วสิริ สมพร หนีข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวมาอยู่ฝั่งไทย[32] และเรื่องราวของทั้งคู่เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก ฮอลลีวูดนำไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง Love Is Forever ในปี พ.ศ. 2526 กำกับโดย ฮอลล์ บาร์ตเล็ตต์ หลังจากนั้นทั้งคู่หย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2540 จอห์นแต่งงานใหม่และมีลูกชื่อ เชสเตอร์ เจย์ เอเวอริงแฮม และ ซีนิธ ลี เอเวอริงแฮม[4] ปัจจุบันจอห์นทำนิตยสารภาษาอังกฤษ ส่วนแก้วสิริทำธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไทย[33] ทางด้านชีวิตครอบครัว อนันดาเล่าว่า "ถูกเลี้ยงมาแบบอิสระมาก ๆ ปล่อยให้เราอิสระมาก ๆ คืออย่างจะทำอะไรก็ไปทำซะ ให้เราค้นหาเอาเอง"[34] โครงการสำหรับครอบครัว คือซื้อบ้าน เนื่องจากตั้งแต่เด็กมาไม่เคยซื้อบ้าน มีแต่บ้านเช่า จึงอยากซื้อบ้านอาจเป็นที่เชียงใหม่หรือกรุงเทพเพื่อเป็นศูนย์รวมของครอบครัว[35]
อนันดามีข่าวคบหากับ แสงทอง เกตุอู่ทอง และยอมรับว่าอยู่ด้วยกัน[36] ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "เราไม่พยายามหลอกคน คือทั้งผมและจี๊ดรับผิดชอบตัวเองได้ เราตรงไปตรงมา เราก็รักกันคบกัน ถึงจุดจุดหนึ่งก็อยู่ด้วยกัน"[37] แต่ท้ายสุด ในเดือนมกราคม 2553 ทั้งคู่ก็ออกมายอมรับว่าเลิกกัน หลังคบกันมานาน 4 ปี[38] ต่อมาได้คบหากับมนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล หลังจากคบหาดูใจกันมาได้ถึง 2 ปี ได้เลิกกันช่วงกลางปี พ.ศ. 2556[39]
ด้วยเพราะพ่อของเขาเป็นช่างภาพ เขาเริ่มถ่ายรูปพ่อของเขาตั้งแต่ยังเด็กด้วยกล้อง "Nikon FM2"[40] และเขามีความสนใจอยากจะทำงานเบื้องหลัง คืออยากเป็นตากล้อง เพราะมีพื้นฐานทางนี้มาก่อน ในช่วงที่ถ่ายทำหนัง อนันดามีความรู้สึกอยากอยู่ใกล้กล้อง จึงวิเคราะห์ตัวเองว่าคงชอบในจุดนี้[41] ภาพยนตร์ที่อนันดาชอบดู หลายคนคงคิดว่าอนันดาชอบดูหนังอาร์ตที่เข้าใจยาก แต่เขาดูหนังได้ทุกประเภท เขาเสริมว่า "ภาพยนตร์ที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นภาพยนตร์ที่ดูไม่รู้เรื่อง"[42]
ส่วนความสนใจตั้งแต่เด็ก คือ อยากเป็นนักชีววิทยาทางทะเล ชอบดำน้ำ ชอบทะเล[43] และยังมีโครงการอีกหลายโครงการเช่น เรื่องการเรียน เรื่องธุรกิจ ส่วนในยามว่างอนันดาชอบการท่องเที่ยว เคยขี่มอเตอร์ไซค์ไปประเทศลาวกับ กมล สุโกศล แคลปป์ มาแล้ว [41] สถานที่อนันดาหลงใหลมากคือที่ประเทศเนปาล[44]
นักแสดงที่อนันดาชื่นชอบในบทบาทการแสดงคือ เจฟฟรีย์ รัช, แกรี โอลด์แมน, จอห์นนี เด็ปป์, แดเนียล เดย์-ลูอิส และ เคต วินสเลต [11] เขายังชื่นชมนักแสดงฮอลลีวูดในตำนานอย่างออเดรย์ เฮปเบิร์น และ ฮัมฟรีย์ โบการ์ต ผู้กำกับที่เขาชื่นชอบเช่น คลิ้นต์ อีสต์วูด, มาร์ติน สกอร์เซซี และ เปรโด อัลโมโดวาร์[42] อนันดาเป็นคนชอบฟังเพลงมาก โดยเฉพาะเพลงที่มีเสียงธรรมชาติ พวกทะเล ลม น้ำตก จำพวกเพลงแนวเวิลด์มิวสิก[44] วงดนตรีที่เขาชอบฟังเช่น เดอะโรลลิงสโตนส์และเวลเวตอันเดอร์กราวด์ เขายังชอบอ่านหนังสือ Steppenwolf ของ แฮร์มันน์ เฮสเซอ
อนันดาเป็นคนมีโลกส่วนตัว เป็นคนตรงไป ตรงมา เกลียดการโกหก ไม่ชอบอยู่ในสถานที่ที่คนเยอะ[34] และเป็นคนเครียด จากบุคลิกที่ไม่ปล่อยวางอะไรง่าย เขาเล่าว่าที่เขาคิดเยอะ เพราะมีเรื่องต้องรับผิดชอบเยอะ อีกทั้งชีวิตส่วนตัว ซึ่งเป็นผลทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับ ซึ่งอนันดาเคยไปปรึกษาจิตแพทย์มาแล้ว 2 ครั้ง ใน 4 ปี[45]
อนันดาพูดถึงตัวเอง เกี่ยวกับการใช้เงินว่า ถึงแม้จะมีผลงานภาพยนตร์มาหลายเรื่อง แต่อนันดาก็บอกว่า "ตนเองใช้เงินเก่ง"[46]
เอกชัย ผู้กำกับเรื่อง โลงต่อตาย พูดถึงอนันดาว่า "เขาทำงานง่าย เป็นคนที่แคร์กับคาแร็กเตอร์ เข้าใจว่าตัวละครตัวนี้ เลือดเนื้อวิญญาณของมันคืออะไร"[47]
ในช่วงที่เข้าวงการใหม่ ๆ อนันดามีภาพลักษณ์ในลักษณะ "นักแสดงติสต์แตก" สาเหตุมาจากแรก ๆ เป็นคนคุยกับใครไม่ค่อยเป็น คุยไม่รู้เรื่อง จึงทำให้ดูเป็นคนมีโลกส่วนตัว ไม่คบกับใคร แต่อนันดาเล่าว่า "ผมก็แคร์นะ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง อาจเพราะยังเด็กก็ได้"[6] และอธิบายว่า "ผมว่า ติสท์ มันจะออกแนวไม่ค่อยมีเหตุผล แต่ชีวิตผมเป็นชีวิตที่มีเหตุผลค่อนข้างสูง ...ผมไม่ได้เข้าถึงยาก เพียงแต่ว่าถ้าอันไหนที่ผมคิดว่ามันถูกต้อง นี่คือสิ่งที่ผิด ผมก็จะยืนยันอย่างนั้น"[34]
อนันดาถือเป็นบุคคลในวงการภาพยนตร์ไทย คนหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าทุ่มเทให้กับการแสดงของตัวเองอย่างเต็มที่ หลายครั้งที่เขารับบทบาททางด้านการแสดงก็ต้องประสบกับความเครียดอันเนื่องจากความพยายามที่จะเข้าให้ถึงบทบาทและกลายเป็นตัวละครตัวนั้น อนันดายังเป็นคนที่เลือกบทและไม่คำนึงถึงเพียงค่าตัวในการแสดง แต่จะเลือกในงานที่น่าสนใจ รวมถึงการทำหนังเล็ก ๆ นอกกระแสอย่างหนังของ สันติ แต้พานิช เรื่อง ดึกแล้วคุณขา และ เรื่อง สะบายดี หลวงพระบาง[12] และยังตั้งเป้า ผลักดันวงการหนังไทยให้ดีขึ้น "จุดหมายในตอนนี้ของผมคืออยากเอาหนังไทยไปให้ฝรั่งดู"[48]
ในปี พ.ศ. 2551 อนันดาได้รับรางวัลพระเอกภาพยนตร์ขวัญใจประชาชน ที่จัดขึ้นโดยนิตยสารทีวีพูล[49] และยังได้รับรางวัลเซเวนทีนชอยส์แอ็กเตอร์ จากการแจกรางวัลของนิตยสารเซเวนทีน[50]
ชื่อเสียงของอนันดายังดังข้ามไปยังต่างประเทศ คาเรน ม็อก นักแสดงชื่อดังชาวฮ่องกงที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง โลงต่อตาย ก็รู้ว่าเขามีชื่อเสียง ส่วนอากิ ชิบูยะ นักแสดงชาวญี่ปุ่นที่ร่วมงานกับภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ก็เล่าว่า "อนันดา เขาดังมากที่ญี่ปุ่น"[51] นอกจากความโด่งดังแล้วยังมีดารานักแสดงชื่นชอบอนันดา คือ มาริโอ้ เมาเร่อ ที่ชอบวิธีการพูดจา การดำเนินชีวิต และแนวคิดของเขา[52]
ทางด้านธุรกิจ ได้ร่วมกันทำธุรกิจกับผู้จัดการส่วนตัว นภัสริญญ์ พรหมพิลา ตั้งบริษัท เฮโล โปรดักส์ชั่น จำกัดเปิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2547 รับทำงานอีเวนต์เกี่ยวกับงานศิลปะ[8] อีกทั้งยังเคยมีธุรกิจร้านอาหารกึ่งผับกึ่งรีสอร์ตที่เกาะเสม็ด (ปิดไปแล้ว) [43] อนันดามีผลงานถ่ายภาพบันทึกเรื่องราวการเดินทาง โดยใช้ชื่อว่า “99 Days- Photobook กับ อนันดา เอเวอริงแฮม ” (โฟโต้บุ๊ก ไดอารี่ “99 วัน”) [53]
อนันดาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับโฆษณาจักรยานยนต์ ซูซูกิ รุ่น “มาโช โชกุน 125”[54] และเป๊ปซี่ แม็กซ์ กับอีก 4 พรีเซนเตอร์ ด้วยแต่ละคนให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตและดูแลตัวเองในทุก ๆ ด้าน[55] โดยอนันดาเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงรสชาติเต็มที่ของเป๊ปซี่ แมกซ์[56] อนันดา ยังเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับโทรศัพท์มือถือโมโตโรล่า สำหรับผลิตภัณฑ์ตระกูล MOTORAZR[57] อนันดาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์เม็ดอม ดับเบิ้ลมินต์ มินต์[58] และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าสำหรับผู้ชาย การ์นิเย่[59]
ด้านงานช่วยเหลือสังคม ในปี พ.ศ. 2551 อนันดา ได้เข้าร่วมกับเอ็มทีวี เอ็กซิท เป็นแอมบาสเดอร์ประจำประเทศไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์[60] ด้านวงการวิทยุ อนันดา เอเวอริงแฮม ขึ้นแท่นบริหารนำทีม บริษัท เฮโล โปรดักส์ชั่น จำกัด ร่วมมือกับบริษัท อินดิเพนเด้นท์ คอมมิวนิเคชั่น เนทเวิร์ค จำกัด บริหารคลื่น CLICK RADIO FM.102.5 CHIANG MAI ซึ่งได้เริ่มออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 และได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา
ปี | ภาพยนตร์ | บทบาท | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
2540 | อันดากับฟ้าใส | อันดามัน | |
2541 | 303 กลัว กล้า อาฆาต | กุ
กุศลส้าง" |
|
2546 | คนสั่งผี | ปิโรญาณ | |
2547 | ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ | ธรรม์ | |
2550 | Me Myself | แทน | |
พลอย | นัท | ||
ดึกแล้วคุณขา | ผู้ชายแก้เหงาทางโทรศัพท์ | ||
โรงงานอารมณ์ | คริส | ภาพยนตร์ร่วมทุนหลายประเทศ (สิงคโปร์เป็นหลัก) | |
2551 | เมมโมรี่ รักหลอน | กฤช | |
หยุดหัวใจไว้รอเธอ | เจเรมี่ | ภาพยนตร์สิงคโปร์ | |
สะบายดี หลวงพะบาง | สอน | ภาพยนตร์ร่วมทุนไทยและลาว | |
โลงต่อตาย | คริส | ภาพยนตร์ร่วมทุนไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์ | |
ปืนใหญ่จอมสลัด | ปารี | ||
แฮปปี้เบิร์ธเดย์ | เต็น | ||
2552 | เสน่ห์กรุงเทพ | อนันดา | ตอน "Bangkok Blues" (ภาพยนตร์สั้นทางทีวีไทย) |
2553 | ชั่วฟ้าดินสลาย | ส่างหม่อง | |
อินทรีแดง | อินทรีแดง / โรม ฤทธิไกร | ||
แฟนใหม่ | แฟนเก่าของซี | รับเชิญตอนท้ายเรื่อง | |
2554 | หลุดสี่หลุด | หนึ่ง | ตอน คืนจิตหลุด |
อุโมงค์ผาเมือง | ขุนศึกเจ้าหล่าฟ้า | ||
ไฮโซ | อนันดา | ||
2555 | ชัมบาลา | ทิน | |
2556 | สะบายดีปากเซ - หลวงพะบาง | ช่างภาพ ชื่อ "สอน" | โดยนำท่อนฟิล์มภาค 1 และ 2 มาตัดต่อเป็นเรื่องใหม่ |
ห้องสมุดแห่งรัก | จิม อโนทัย | ภาพยนตร์สั้น | |
2557 | ห้องหุ่น | นพ | |
ภวังค์รัก | มัด | ||
O.T. ผี over time | บดินทร์ | เป็นภาพยนตร์ภาคต่อจาก O.T. (1 ในเรื่องสั้นของตีสาม 3D) | |
2558 | คน•อก•หัก Love H2O | โอม | |
แม่เบี้ย | เอกภพ | รับเชิญ | |
2559 | ขุนพันธ์ | ขุนพันธรักษ์ราชเดช | |
2561 | ขุนพันธ์ ภาค 2 | ขุนพันธรักษ์ราชเดช | |
7days เรารักกัน จันทร์-อาทิตย์ | เชฟก้อง | ||
สิงสู่ | เดช | ||
2566 | ทิดน้อย | มาก | |
ปรากฏการณ์ | บ็อบบี้ | ||
ขุนพันธ์ ภาค 3 | ขุนพันธรักษ์ราชเดช | ||
2567 | ปิดเมืองล่า Pattaya Heat | ไซม่อน | |
แดนสาป (The Cursed Land) | มิตร |
ปี พ.ศ. | เรื่อง | บทบาท | เครือข่าย |
---|---|---|---|
2545 | มหัศจรรย์แห่งรัก | ดอน | ช่อง 7 |
คนเริงเมือง | เปรมฤทัย | ช่อง 5 | |
ทะเลฤๅอิ่ม | เจ้าภูตะวัน | ไอทีวี | |
2549 | ในฝัน | เจ้าชายพิรียพงศ์ | ช่อง 9 |
2555 | วุ่นวายสบายดี | โก่ง / ช่างภาพถ่ายนางแบบ | ช่อง 3 |
2558 | เสือ (เลือดมังกร) | ภรพ รุ่งเรืองไพศาลศิริ (เสือ) | |
2560 | ศรีอโยธยา | พิมาน / พระพิมานสถานมงคล | ทรูโฟร์ยู |
2562 | Secret Garden อลเวงรักสลับร่าง | ธนัท | |
2564 | XYZ | ธร | ทรูเอเชียนซีรีส์ |
2566 | เกมรักทรยศ | อธิน พัฒนกิจ | ช่อง 3 HD |
ปี | รางวัล | สาขา | ผล | ผลงานที่เข้าชิง |
---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2547 | สตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[2] | ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ |
พ.ศ. 2550 | เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน | รางวัลดาวรุ่ง | ได้รับรางวัล[17] | |
พ.ศ. 2551 | คมชัดลึกอวอร์ด | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[62] | Me Myself |
สตาร์พิกส์อวอร์ด | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[62] | ||
รางวัลสุพรรณหงส์ | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[62] | ||
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[62] | ||
สตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[62] | ||
แฮมเบอร์เกอร์อวอร์ด | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[62] | ||
พ.ศ. 2552 | สตาร์พิกส์อวอร์ด | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[63] | สะบายดี หลวงพะบาง |
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | ได้รางวัล[63] | แฮปปี้เบิร์ธเดย์ | ||
แฮมเบอร์เกอร์อวอร์ด | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
ท็อปอวอร์ดส 2008 | ดารานำชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล[64] | ||
รางวัลสุพรรณหงส์ | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล[65] | ||
ไนน์เอ็นเตอร์เทนอวอร์ดส 2009 | นักแสดงชายแห่งปี | เสนอชื่อเข้าชิง[66] | ||
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง[67] | สะบายดี หลวงพะบาง | |
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล[67] | แฮปปี้เบิร์ธเดย์ | ||
คมชัดลึกอวอร์ดส | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
สตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส 2008 | ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล[68] | ||
สยามดารา สตาร์ ปาร์ตี้ 2009 | ดารานำชายยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ | ได้รับรางวัล[69] | ||
พ.ศ. 2554 | คมชัดลึกอวอร์ด | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล[70] | ชั่วฟ้าดินสลาย |
รางวัลสุพรรณหงส์ | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | ||
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง | ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม | ได้รับรางวัล | ||
พ.ศ. 2555 | คมชัดลึกอวอร์ด | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | ไฮโซ |
สตาร์พิคส์อวอร์ดส | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง | ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
พ.ศ. 2557 | รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 24 | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | ภวังค์รัก |
สตาร์พิคส์อวอร์ด | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง | ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | ||
พ.ศ. 2559 | ดาราเดลี่ เดอะเกรต อวอร์ดส์ ครั้งที่ 5 | ดารานำชาย สาขาภาพยนตร์ที่สุดแห่งปี | เสนอชื่อเข้าชิง | O.T. ผี Over time |
เอ็มไทยท็อปทอล์กอะเบาต์ 2016 | นักแสดงชายที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด | ได้รับรางวัล[71] | เสือ | |
รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26 | นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม | เสนอชื่อเข้าชิง | ขุนพันธ์ | |
พ.ศ. 2561 | รางวัลเณศไอยรา | นักแสดงนำชายภาพยนตร์ซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี | ได้รับรางวัล[72] | ศรีอโยธยา |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.