Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลูธิเอน (Lúthien Tinúviel) เป็นเจ้าหญิงเอลฟ์ ในจินตนิยายเรื่อง ซิลมาริลลิออน ประพันธ์โดย เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน มีชีวิตอยู่ในยุคบรรพกาลจนถึงยุคที่หนึ่งของมิดเดิ้ลเอิร์ธ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอลฟ์ที่งดงามที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลกอาร์ดา นางถูกกล่าวถึงในบทประพันธ์เรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในฐานะที่เป็นเอลฟ์ผู้ยอมสละชีวิตอมตะเพื่อได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนรักที่เป็นชาวมนุษย์ (คือเบเรน) เรื่องราวโดยละเอียดของนางถูกประพันธ์ไว้ใน ซิลมาริลลิออน โดย เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน บอกว่า เป็นเรื่องเอกเรื่องหนึ่งของตำนานนั้น บนหลุมฝังศพของโทลคีนและภรรยายังจารึกชื่อ "เบเรน" และ "ลูธิเอน" ไว้ด้วย โดยโทลคีนสมมุติว่าตัวเองคือเบเรน และภรรยาคือลูธิเอน
ลูธิเอน | |
---|---|
ตัวละครจากปกรณัมของเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน
ลูธิเอนเต้นรำในป่าเนลโดเร็ธ ภาพวาดโดย เท็ด แนสมิธ | |
ชื่ออื่น | ทินูเวียล |
ตำแหน่ง | บุตรแห่งอิลูวาทาร์ที่งามที่สุด |
เผ่าพันธุ์ | ลูกครึ่ง เอลฟ์-ไมอาร์ |
วัฒนธรรม | ซินดาร์ |
วันเกิด | ปีที่ 4700 ยุคแห่งพฤกษา |
วันตาย | ปีที่ 503 ยุคที่หนึ่งแห่งตะวัน |
อาณาจักร | โดริอัธ |
ปรากฏใน | ซิลมาริลลิออน |
ลูธิเอน เป็นบุตรีเพียงคนเดียวของกษัตริย์ธิงโกล เจ้าผู้ครองโดริอัธ กับราชินีเมลิอัน ไมอาเทวี เรื่องราวความรักของลูธิเอนกับเบเรนชาวมนุษย์เป็นหนึ่งในสามงานประพันธ์เอกแห่งยุคบรรพกาล ซึ่งโทลคีนเรียกว่าเป็น "มหาตำนาน" ในบรรดาตำนานซิลมาริลลิออนทั้งหมด[1] บทบาทแห่งการกระทำของนางได้ส่งผลสืบเนื่องบนโลกมิดเดิลเอิร์ธอย่างต่อเนื่องยาวนานไปจนกระทั่งถึงยุคที่สามซึ่งเป็นยุคของเหตุการณ์ในเรื่อง ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ทั้งอารากอร์นและบรรดากษัตริย์แห่งแดนตะวันตกรวมถึงผู้สืบราชบัลลังก์นูเมนอร์ทุกคนล้วนเป็นเชื้อสายของนางผ่านทางเอลรอส แม้เอลรอนด์ มนุษย์กึ่งเอลฟ์ เจ้าแห่งอิมลาดริสผู้ทรงปัญญายิ่งก็เป็นเหลนของนางนี้เอง ลูธิเอนได้รับฉายาว่าเป็น "ดวงดาวแห่งอรุณรุ่ง" ซึ่งมีความหมายแสดงถึงความสูงส่งและงดงามอย่างหาที่เปรียบมิได้ในหมู่ชนแห่งมิดเดิลเอิร์ธ อาร์เวนแห่งลอร์ดออฟเดอะริงส์ได้รับฉายาว่า "ดาราสนธยา" เป็นการสะท้อนความสูงส่งและงดงามเสมอกันกับลูธิเอนผู้เป็นเจ้าหญิงเอลฟ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอดีต แต่อาร์เวนเป็นเจ้าหญิงเอลฟ์แห่งยุคสุดท้ายซึ่งจะไม่มีผู้ใดเสมอนางอีกแล้วในยุคต่อไป
ในภาษาซินดารินสำเนียงเบเลริอันด์ คำว่า ลูธิเอน มีความหมายถึง "หญิงผู้เปี่ยมเสน่ห์" และยังอาจหมายถึง "ดอกไม้เบ่งบาน" ก็ได้[2] ที่มาของคำว่า "ดอกไม้บาน" คือคำว่า ลอธ (loth) เช่นในคำว่า ลอธลอริเอน ส่วนคำว่า ลูธ (luth) โทลคีนได้แสดงความหมายไว้ชัดเจนว่าหมายถึง "มนตร์เสน่ห์" ซึ่งทำให้มีความสับสนในการตีความอยู่บ้าง ส่วนชื่อ ทินูเวียล เป็นชื่อที่เบเรนตั้งให้แก่นาง มีความหมายตรงตัวว่า "บุตรีแห่งสนธยาอันดาษดาว" ซึ่งมีความหมายถึง "นกไนติงเกล"
ลูธิเอนเป็นราชธิดาของกษัตริย์ธิงโกล ชาวซินดาร์ ผู้ปกครองอาณาจักรโดริอัธ กับเทพีเมลิอัน ผู้เป็นเทพไมอา มีฉายาว่า ทินูเวียล ซึ่งหมายถึง สกุณาสายัณห์ หรือนกไนติงเกล เนื่องด้วยนางมีเสียงอันไพเราะ นางได้พบรักกับชายชาวมนุษย์ชื่อว่า เบเรน แต่ความรักของทั้งสองมีอุปสรรค ด้วยกษัตริย์ธิงโกลไม่ต้องการให้บุตรสาวสูงศักดิ์ของตนต้องแปดเปื้อนกับวงศ์มนุษย์ซึ่งพระองค์เห็นว่าต่ำต้อย จึงแสร้งใช้ให้เบเรนไปชิงซิลมาริลดวงหนึ่งมาจากมงกุฎของมอร์กอธเพื่อเป็นของหมั้น ขณะเดียวกันก็จับตัวลูธิเอนขังไว้ไม่ให้ไปช่วย
เบเรนฝ่าอันตรายนานัปการ โดยลูธิเอนหนีออกจากที่คุมขังไปให้ความช่วยเหลือ ในภารกิจเสี่ยงตายครั้งนี้ ฟินร็อด เจ้าผู้ครองนาร์โกธรอนด์ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เบเรน ผู้เป็นบุตรของบาราเฮียร์สหายของพระองค์ จนฟินร็อดเองต้องถึงแก่ชีวิต ในที่สุดเบเรนและลูธิเอนก็ชิงซิลมาริลออกมาได้ แต่เบเรนถูกคาร์คาร็อธ สุนัขป่าของมอร์กอธ กัดมือจนขาดแล้วกลืนซิลมาริลเข้าไป อาณาจักรโดริอัธจึงต้องออกตามล่าคาร์คาร็อธ ที่ถูกดวงมณีซิลมาริลทรมานจนอาละวาดไปทั่วแว่นแคว้น โดยเบเรนเข้าร่วมในภารกิจตามล่าครั้งนี้ด้วย ในที่สุดซิลมาริลถูกชิงกลับคืนมาได้ แต่เบเรนต้องสิ้นชีพ ลูธิเอนตรอมใจจนสิ้นชีวิตไปพร้อมกัน นางได้ไปยังท้องพระโรงแห่งการรอคอย อันเป็นสถานที่ซึ่งเอลฟ์ทั้งปวงต้องไปถึงหลังจากสิ้นชีวิต เพื่อรอการกลับคืนมาเกิดใหม่ แต่ลูธิเอนคร่ำครวญร่ำไห้ถึงเบเรนจนเทพมานดอส เจ้าแห่งความตาย เมตตาสงสาร เหล่าเทพจึงให้ทางเลือกแก่นางว่า จะฟื้นคืนชีพไปมีชีวิตอมตะดุจเดิมโดยลืมเรื่องของเบเรนไปทั้งหมด หรือจะคืนชีพพร้อมกับเบเรนโดยต้องสูญเสียชีวิตอมตะของเอลฟ์ ลูธิเอนเลือกทางเลือกที่สอง นางกับเบเรนจึงได้คืนชีพมาอีกครั้ง และใช้ชีวิตร่วมกันที่โทลกาเลนอย่างสงบสุขจนสิ้นชีวิต เบเรนและลูธิเอนมีบุตรหนึ่งคนคือ ดิออร์ ภายหลังได้เป็นผู้ครองโดริอัธต่อจากธิงโกล
โทลคีนได้ประพันธ์ตำนานเบเรน-ลูธิเอนไว้นานแล้ว และมีการปรับแก้อยู่หลายครั้งหลายหน ฉบับแรกสุดที่เขาเขียนถึงนางอยู่ในหนังสือเรื่อง Book of Lost Tales โดยชื่อดั้งเดิมของนางคือ ทินูเวียล (ลูธิเอนเป็นชื่อที่คิดขึ้นภายหลัง) ในต้นฉบับชุดแรกนั้น เบเรนก็เป็นเอลฟ์ด้วย (กล่าวให้ชัดคือเป็นชาวโนลดอร์ ซึ่งในต้นฉบับเก่าเรียกว่า โนม (Gnome)) ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับเซารอนยังไม่มีปรากฏ ข้อขัดแย้งระหว่างความรักของคนทั้งสองคือการที่ฝ่ายหนึ่งเป็นซินดาร์ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นโนลดอร์ อันเป็นที่จงเกลียดจงชังของกษัตริย์ธิงโกลอย่างยิ่ง ภารกิจดั้งเดิมของพวกเขาคือการประจันหน้ากับ เทวิลโด (Tevildo) เจ้าชายแห่งแมวปีศาจซึ่งเป็นศัตรูเก่าแก่ของฮูอัน สุนัขล่าเนื้อแห่งวาลินอร์ อย่างไรก็ดี โทลคีนเคยมีแนวคิดในการกำหนดลักษณะตัวละครของเบเรนให้เป็นมนุษย์มาก่อนแล้วมาเปลี่ยนเป็นเอลฟ์ภายหลัง
นอกจาก "ตำนานเบเรนและลูธิเอน" ฉบับร้อยแก้วนี้แล้ว โทลคีนยังได้ประพันธ์ไว้เป็นกวีนิพนธ์ด้วย ใช้ชื่อว่า ลำนำแห่งเบเลริอันด์ (Lays of Beleriand) เป็นงานกวีนิพนธ์ที่ยาวมาก พรรณนาอย่างละเอียดถึงชีวิตของลูธิเอนและความรักของนางกับเบเรน เรื่องราวที่ปรากฏอยู่ใน ซิลมาริลลิออน เป็นแต่เพียงการสรุปใจความสำคัญมาเท่านั้น
ในจดหมายฉบับหนึ่งที่โทลคีนเขียนถึงลูกชาย คริสโตเฟอร์ โทลคีน ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1972 ได้ขอร้องให้จารึกชื่อของ ลูธิเอน บนหินประดับหลุมศพของเอดิธ ภรรยาของเขา โทลคีนกล่าวว่า "แม่เป็น (และแม่ก็รู้ว่าเป็น) ลูธิเอนของพ่อ"[1] โทลคีนยังเขียนหมายเหตุท้ายจดหมายว่า "แม่รู้เรื่องตำนานนี้ดีมาตั้งแต่แรก และยังได้อ่านบทกวีที่ตีพิมพ์เป็นลำนำของอารากอร์นด้วย" ชื่อนี้น่าจะมีที่มาจากคำภาษาอังกฤษเก่าว่า ลูฟิเอน (Lufien) ซึ่งหมายถึง "ความรัก" ตำนานของเบเรนและลูธิเอนมีองค์ประกอบของนิทานพื้นบ้านหลายแห่ง เช่นจากนิทานเวลช์เรื่อง Culhwch and Olwen และอื่นๆ อีก ในนิทานพื้นบ้านเหล่านั้น ผู้ปกครองที่ไม่ยินดีจะกำหนดภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ให้ผู้สู่ขอไปกระทำ ซึ่งในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ ตำนานในฉบับของโทลคีนนั้นฝ่ายหญิงมีส่วนช่วยให้กระทำภารกิจนั้นสำเร็จด้วยซ้ำ ตำนานเบเรนและลูธิเอนยังสะท้อนความเชื่อและความศรัทธาของโทลคีนที่มีต่อคาทอลิก ลูธิเอนเป็นสื่อสัญลักษณ์คล้ายพระเยซูคริสต์ นางยอมเสียสละตนเอง สูญเสียความเป็นอมตะ และตายในฐานะมนุษย์พร้อมกับเบเรน พระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นนิรันดร์ (เป็นอมตะ) ได้สละชีวิตของพระองค์เพื่อมนุษยชาติ ความรักของลูธิเอนที่มีต่อเบเรนกระทั่งยอมเสียสละความเป็นอมตะของเธอจึงนับเป็นการกระทำอันยิ่งใหญ่ แม้ตัวโทลคีนเองจะบอกหลายครั้งว่า เขาไม่ชอบนิยายที่มีสัญลักษณ์แฝงคติ แต่การตีความบางอย่างก็ละเอียดอ่อน และแนวคิดทางคาทอลิกหลายประการอาจจะสะท้อนออกมาในงานเขียนของเขาโดยไม่ได้ตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ใดๆ เลยก็ได้
ฟินเว | อินดิส | ตระกูลฮาดอร์ | ตระกูลเบออร์ | ธิงโกล | เทพีเมลิอัน | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ฟิงโกลฟิน | อไนเร | กัลดอร์ | บาราเฮียร์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เอเลนเว | ทัวร์กอน | ฮูออร์ | เบเรน | ลูธิเอน | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
อิดริล | ทูออร์ | นิมล็อธ | ดิออร์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เออาเรนดิล | เอลวิง | เอลลูเรด | เอลลูรีน | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
กาลาเดรียล | เคเลบอร์น | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เอลรอส | เอลรอนด์ | เคเลเบรียน | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
กษัตริย์ แห่งนูเมนอร์ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
กษัตริย์ แห่งอาร์นอร์ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
อารากอร์น | อาร์เวน | เอลลาดาน | เอลโรเฮียร์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
เอลดาริออน | ลูกสาว | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.