Loading AI tools
ตัวละครรามเกียรติ์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราวณะ (สันสกฤต: रावण, Rāvaṇa) เป็นตัวละครหลักฝ่ายร้ายในมหากาพย์เรื่อง รามายณะ ของศาสนาฮินดู โดยเป็นราชารากษสแห่งนครลงกา ซึ่งเชื่อกันว่า ตรงกับประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน[1][2]
ราวณะมักเป็นที่พรรณนาว่า มีศีรษะสิบศีรษะ เป็นสาวกของพระศิวะ เป็นมหาปราชญ์ ปกครองบ้านเมืองอย่างเปี่ยมสามารถ ชำนาญบรรเลงวีณา (वीणा vīṇā) และมุ่งหมายจะเป็นใหญ่เหนือทวยเทพ ศีรษะทั้งสิบของเขายังเป็นเครื่องสำแดงถึงศาสตร์ทั้งหกและเวททั้งสี่ นอกจากนี้ ตามความใน รามายณะ ราวณะลักพาสีดา ภริยาของพระราม เพื่อล้างแค้นที่พระรามและพระลักษณ์อนุชาตัดจมูกศูรปณขา กนิษฐาของราวณะ
ชาวฮินดูในหลายส่วนของประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา และประเทศอินโดนีเซีย เคารพบูชาราวณะ[3][4][5] และถือเป็นสาวกพระศิวะที่ได้รับความเคารพยำเกรงที่สุด เทวสถานพระศิวะหลายแห่งยังตั้งรูปราวณะคู่กับรูปพระศิวะด้วย
คำว่า "ราวณ" ในภาษาสันสกฤต หมายความว่า "กู่ร้อง" เป็นศัพท์ตรงข้ามของ "ไวศรวณ" (वैश्रवण vaiśravaṇa) ที่แปลว่า "เงี่ยหูฟัง"[6]
เอฟ. อี. พาร์กิเทอร์ (F. E. Pargiter) ข้าราชการชาวอังกฤษ เห็นว่า คำ "ราวณ" อาจมาจากการแปลงคำ "อิไรวน" (Iraivan) ในภาษาทมิฬ ที่แปลว่า "เจ้า" หรือ "ราชา" ให้เป็นสันสกฤต[7]
ราวณะยังเป็นที่รู้จักด้วยชื่ออื่น เช่น "ทศกัณฐ์" แปลว่า "สิบคอ", "ทศพักตร์" แปลว่า "สิบหน้า", "ลงเกศวร" แปลว่า "เจ้าลงกา", "ราวเณศวร" แปลว่า "ท้าวราวณะ" ฯลฯ[8]
ราวณะมักได้รับการพรรณนาว่า มีศีรษะสิบศีรษะ แต่บางรูปก็แสดงเพียงเก้าศีรษะ เพราะเชื่อว่า ถวายศีรษะหนึ่งศีรษะให้พระศิวะไปแล้ว คัมภีร์ต่าง ๆ ว่า เขาเป็นสาวกพระศิวะ เป็นมหาบัณฑิต เป็นผู้ปกครองที่มากสามารถ เป็นนักบรรเลงวีณามือฉกาจ เป็นผู้ทรงภูมิด้านแพทยศาสตร์และรัฐศาสตร์ เป็นเจ้าของงานประพันธ์หลายเรื่อง เช่น ราวณสงฺหิตา ซึ่งว่าด้วยดาราศาสตร์ฮินดู และ อารกปฺรกาศม ซึ่งว่าด้วยการแพทย์สิทธะ ทั้งยังเป็นเจ้าของน้ำอมฤตซึ่งเขากักเก็บไว้ภายในท้องของตัวโดยอาศัยพรจากพระพรหม[9] นอกจากนี้ รามายณะ ของวาลมิกิยังว่า เขามีลิ้นสองแฉก[10]
รามายณะ ของอินเดียว่า ราวณะเป็นบุตรของมหาฤๅษีวิศรพ (विस्रव Visrava) มารดาเป็นแทตย์ชื่อ ไกกสี (कैकसी Kaikasī) ชาวเกรตเทอร์โนเอฑา (ग्रेटर नोएडा; Greater Noida) ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย อ้างว่า ท้องถิ่นของตัวเป็นบ้านเกิดราวณะ[11]
รามายณะ ฉบับไทย คือ รามเกียรติ์ ว่า ราวณะเป็นอสูร เป็นบุตรของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เป็นเจ้านครลงกา ชาติก่อนเป็นยักษ์ชื่อ "นนทก" มีหน้าที่ล้างท้าวเทวดา แต่ถูกเทวดากลั่นแกล้ง จึงตอบโต้ด้วยนิ้วเพชรสังหารที่ได้มาจากพระศิวะ พระศิวะจึงส่งพระวิษณุไปปราบ นนทกแค้นว่า พระวิษณุมีสี่กร ตนมีสองกร จึงสู้ไม่ได้ พระวิษณุสาปให้ชาติหน้าไปเกิดเป็นอสูรมีสิบหน้ายี่สิบมือ แล้วพระวิษณุจะตามไปเกิดเป็นมนุษย์สองแขน คือ พระราม แล้วเข่นฆ่าให้ตายอีก ก็เป็นไปตามนั้นทุกประการ
ท้าวลัสเตียน | นางรัชฎา | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นางมณโฑ | ทศกัณฐ์ | กุมภกรรณ | พิเภก | ขร | ทูษณ์ | ตรีเศียร | นางสำมนักขา | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นางเบญกาย | มังกรกัณฐ์ | วิรุณจำบัง | กุมภกาศ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
นางสีดา | อินทรชิต | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
บรรลัยกัลป์ | ทศคีรีวัน | ทศคีรีธร | สุพรรณมัจฉา | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
รามายณะ ฉบับศาสนาเชน ว่า ทั้งราวณะและพระรามนับถือเชน[12] ราวณะเป็นราชาของชาววิทยาธร[13] และสุดท้ายแล้วถูกพระลักษณ์ น้องชายพระราม สังหาร[14]
ชาวฮินดูในหลายส่วนของประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา และประเทศอินโดนีเซีย เคารพบูชาราวณะ[3][4][5]
วัดไศวนิกายหลายแห่งในประเทศอินเดียบูชาราวณะ และตั้งรูปราวณะไว้คู่กับรูปพระศิวะ[15][16][17]
ในประเทศศรีลังกาก็มีสถานที่เกี่ยวข้องกับราวณะและนางแทตย์ผู้เป็นมารดา เช่น วัดโกเนศวรัม (Koneswaram Temple) เดิมอุทิศแด่พระศิวะ แต่ภายหลังกลายเป็นที่เซ่นสรวงบูชาราวณะกับมารดา และน้ำพุร้อนกันนิยา (Kanniya Hot water spring) เชื่อว่า เกิดจากราวณะเอาดาบทิ่มดินพวยพุ่งขึ้นเป็นสายน้ำในช่วงพิธีศพของมารดา
สกุลพราหมณ์สโชระ (Sachora Brahmin) ในรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย อ้างว่า พวกตัวสืบเชื้อสายมาจากราวณะ และนิยมใช้นามสกุล "ราวณะ" (Ravan)[18]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.