Remove ads
เทพเจ้าในศาสนาฮินดู จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพรหม (สันสกฤต: ब्रह्मा พฺรหฺมา; อังกฤษ: Brahma; เตลูกู: బ్రహ్మ; ) เป็นมหาเทพองค์หนึ่งในตรีมูรติตามคติของศาสนาฮินดู เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ ความเมตตา เป็นพระผู้สร้างโลกและให้กำเนิดสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาล และให้กำเนิดคัมภีร์พระเวท[1]
พระพรหม | |
---|---|
การสร้างสรรค์, สติปัญญา และ พระเวท | |
ส่วนหนึ่งของ ตรีมูรติ | |
เทวรูปพระพรหมที่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งถอดแบบมาจากเทวรูปของศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ | |
ชื่ออื่น | เวทนาถ, คยเนศวร, จตุรมุข, สวายัมพู |
ชื่อในอักษรเทวนาครี | ब्रह्म |
ชื่อในการทับศัพท์ภาษาสันสกฤต | Brahma |
ส่วนเกี่ยวข้อง | ปรพรหมัน, ตรีมูรติ, เทวะ,พระประชาบดี |
ที่ประทับ | พรหมโลก |
มนตร์ | ।। ॐ वेदात्मनाय विद्महे हिरण्यगर्भाय धीमही तन्नो ब्रह्मा प्रचोदयात् ।। (โอม เวทาตมนายะ วิทมะหิ หิรัญญะครรภายะ ธีมาหิ ตันโน พรหมา ปรโกทยาตะ), โอม พรหมยะ นะมะ |
อาวุธ | พรหมาสตร์, พรหมศิราสตร์ |
สัญลักษณ์ | พระเวท |
พาหนะ | หงส์ นามว่า หงสกุมาร/หงสราช |
เทศกาล | Kartik Purnima, Srivari Brahmotsavam |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
คู่ครอง | พระสุรัสวดี (พระชายา) และ คยาตรี (ตาม สกันทปุราณะ) |
บุตร - ธิดา | พระมนู, จตุรกุมาร, ฤๅษีนารัท, ทักษะ, Marichi ฯลฯ |
พี่น้อง | พระลักษมี (ตาม สกันทปุราณะ) |
พระพรหมมีสี่พักตร์ พระศอสวมลูกประคำ พระหัตถ์แต่ละข้างถือดอกบัว, คัมภีร์ และหม้อน้ำ ทรงหงส์เป็นพาหนะ พระสุรัสวดีเป็นพระชายา เทพีแห่งศิลปะวิทยาการและความรอบรู้
ในคัมภีร์มัตสยปุราณะเล่าว่า พระพรหมเดิมทีมีถึงห้าพักตร์ การที่มีห้าพักตร์เกิดจาก การที่พระพรหมให้ได้กำเนิดผู้หญิงนางหนึ่งชื่อ ศตรูป ขึ้นมา ความงามของศตรูปทำให้พระองค์หลงใหล เมื่อศตรูปนี้เคลื่อนไปทางใด พระพรหมก็จะหันพระพักตร์เพื่อมองตามไปด้วย แต่ว่ามีครั้งหนึ่งที่พระพรหมไปดูแคลนพระศิวะเข้า ทำให้พระศิวะพิโรธ และใช้ไฟบรรลัยกัลป์จากพระเนตรที่สามที่กลางพระนลาฏเผาพระพักตร์ที่อยู่ด้านบนเศียรของพระพรหม จนเหลือเพียงสี่พักตร์ แต่อีกความเชื่อหนึ่งเล่าว่า เพราะพักตร์ด้านบนของพระพรหมนั้นเจิดจรัสมาก ทำให้พวกสุระและอสุระทนไม่ได้ จึงขอร้องให้พระศิวะเป็นผู้ตัดให้ [2]
และยังเชื่อด้วยว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างบุคคลในวรรณะต่าง ๆ จากอวัยวะแต่ละส่วน ได้แก่ พราหมณ์เกิดจากพระโอษฐ์, กษัตริย์เกิดจากอก, แพศย์เกิดจากท้อง และศูทรเกิดจากเท้า[3]
ตามมติของพราหมณาจารย์แต่โบราณกล่าวถึงตำราพรหมชาติ ว่าเป็นตำราที่มาจากพรหม[4] ตำราพุทธลักษณะที่ฤษีแต่งไว้ก็มาจากพรหม เหตุที่รู้เห็นถึงพุทธลักษณะได้เพราะพรหมเป็นผู้มีอายุยืนและได้รู้เห็นเรื่องราวต่าง ๆ อยู่ตลอดกาลนาน เมื่อเวลาพราหมณ์หนุ่มเที่ยวสืบหาที่เรียนและทำความเคารพนบนอบในผู้เฒ่าผู้แก่อยู่นั้น พระพรหมเห็นแก่ความกรุณา พอทราบเรื่อง จึงได้แปลงเพศมาเป็นพราหมณ์ฤษีแล้วบอกวิชา ทั้งเรื่องมนต์ ไสยเวท ตำราพยากรณ์ ตำราดูลักษณะของหมอดู ต่าง ๆนั้นเองพราหมณ์จึงถือว่ามาจากพรหม และจึงได้นับถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีความงดงาม แม้คัมภีร์ปิงคละดาบส ตำราโตลกจือโหราศาสตร์จีน ถึงตลอดคัมภีร์โหราศาสตร์ในรุ่นหลัง ๆ ก็ได้กล่าวว่าได้มาแต่ฤษีและเทวะบันดาล อาจารย์ผู้ที่เรียนรู้ไว้ต่างกล่าวถึงสิ่งมงคลนี้ในทำนองเดียวกัน
ในคติของชาวไทยที่รับคติความเชื่อจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้ลิขิต ชะตาชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย เรียกว่า "พรหมลิขิต" และผู้ใดที่บูชาพระพรหมอยู่เป็นนิจ พระองค์จะประทานพรให้สมหวัง เรียกว่า "พรพรหม" หรือ "พรหมพร"[1] และยังเป็นเทพประจำทิศเบื้องบนอีกด้วย[5]
ด้วยเหตุดังนี้ พระพรหมจึงมีพระนามต่าง ๆ อาทิ "พรหมธาดา" หรือ "พระประชาบดี" (ผู้สร้าง), "หงสรถ" หรือ "หงสวาหน" (ผู้มีหงส์เป็นพาหนะ), "จตุรพักตร์" (ผู้มีสี่หน้า), "ปรเมษฐ์" (ผู้ประเสริฐ) เป็นต้น[6] ส่วนในลิลิตโองการแช่งน้ำเรียกว่า "ขุนหงส์ทองเกล้าสี่"[7]
โดยความหมายของคำว่า "พรหม" หมายถึง "ความเจริญ, ความกว้างขวาง, ความขยายตัว หรือความเบิกบาน" ดังนั้นตามคติและวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ทั้งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนาจึงมีคำว่า พรหม ประกอบคำศัพท์ เช่น "พรหมจรรย์", "พรหมบุตร" หรือ "พรหมวิหาร 4" เป็นต้น[6]
พระพรหม เป็นเทวดาชั้นสูงกว่าเทวดาชั้นฉกามาพจร แต่ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ แต่ในภพชาติก่อนจุติและปฏิสนธิเป็นพรหมมีกุศลมาก มีฌาณสมาบัติเป็นอารมณ์ เมื่อตายจึงไปเกิดที่สวรรค์ชั้นนี้) อยู่ในเทวโลกที่เรียกว่าพรหมโลก ในพระพุทธศาสนาพระพรหมนั้นมีหลายองค์ซึ่งต่างจากฮินดูที่มีพระพรหมเพียงพระองค์เดียว
พระพรหมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พรหมที่มีรูป เรียกว่า "รูปพรหม" มีทั้งหมด 16 ชั้น และพรหมที่ไม่มีรูป เรียกว่า "อรูปพรหม" มีทั้งหมด 4 ชั้น โดยอรูปพรหมจะสูงกว่ารูปพรหม ไม่มีอธิบดีพรหมเพราะไม่มีรูปมีเเต่วิญญาณ อยู่ในสภาวะจิต
พระพรหมไม่มีเพศ เเต่จะเเสดงรูปลักษณ์เป็นบุรุษเพศ จึงไม่มีสตรีเพศในชั้นพรหม ไม่ต้องกินไม่ต้องบริโภคอาหาร เหมือนสัตวโลกในภูมิอื่น ด้วยว่าแช่มชื่นอิ่มเอิบโดยมีฌานสมาบัติเป็นอาหาร จึงไม่ต้องขับถ่าย
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.