Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง (จีน: 五丈原之战) เป็นสงครามระหว่างรัฐจ๊กก๊กกับวุยก๊กในปี ค.ศ. 234 ในยุคสามก๊กของจีน ยุทธการนี้เป็นการบุกขึ้นเหนือครั้งที่ห้าและถือเป็นครั้งสุดท้ายที่นำโดยจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กเพื่อโจมตีรัฐวุยก๊ก[3] จูกัดเหลียงล้มป่วยและเสียชีวิตระหว่างการตั้งคุมเชิงระหว่างทั้งสองฝ่าย จ๊กก๊กจึงจำต้องล่าถอยกลับไป
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งที่ห้า | |||||||
ภาพวาดจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊กฉบับตีพิมพ์ในยุคราชวงศ์ชิงแสดงเหตุการณ์ที่หุ่นไม้ของจูกัดเหลียงหลอกสุมาอี้ให้ตกใจกลัวและหนีไป | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
วุยก๊ก | จ๊กก๊ก | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
สุมาอี้ จีนล่ง กุยห้วย |
จูกัดเหลียง # เกียงอุย เอียวหงี บิฮุย อุยเอี๋ยน | ||||||
กำลัง | |||||||
ไม่ทราบ | 60,000 นาย[2] | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
ไม่ทราบ | ไม่ทราบ | ||||||
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง | |||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 五丈原之戰 | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 五丈原之战 | ||||||
|
ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงนำทัพจีกก๊กมากกว่า 60,000 นายออกทางหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) และตั้งค่ายอยูทางฝั่งใต้ของแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) ใกล้กับอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอฝูเฟิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[4] จูกัดเหลียงกังวลอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการขาดแคลนเสบียงของกองทัพเพราะเสบียงมักไม่ส่งไปถึงแนวหน้าได้ทันเวลาเนื่องจากความยากลำบากในการขนส่งตามเส้นทาง จูกัดเหลียงจึงใช้นโยบายถุนเถียนเพื่อสร้างแหล่งเสบียงแห่งใหม่ โดยการสั่งให้กำลังทหารไปปลูกพืชผลทางฝั่งใต้ของแม่น้ำอุยโหรวมกับราษฎรที่อาศัยในพื้นที่ จูกัดเหลียงยังสั่งห้ามไม่ให้ทหารแย่งชืงพืชผลของราษฎรอีกด้วย[5]
โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กทรงกังวลจึงให้ขุนพลจีนล่งนำทหารราบและทหารม้ารวม 20,000 นายไปยังกวนต๋ง (關中 กวานจง) ไปสมทบกับสุมาอี้ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ (大都督 ต้าตูตู) ของทัพวุยก๊กในภูมิภาค เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้ต้องการตั้งค่ายอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำอุยโห แต่สุมาอี้กล่าวว่า "ราษฏรจำนวนมากรวมตัวอยู่ที่ฝั่งใต้ของแม่น้ำอุยโห ที่นั่นจะกลายเป็นตำแหน่งที่มีการรบดุเดือดเป็นแน่" สุมาอี้จึงนำกำลังทหารข้ามแม่น้ำมาตั้งค่ายโดยมีแม่น้ำอยู่ด้านหลัง สุมาอี้กล่าวว่า "หากจูกัดเหลียงกล้าพอ จะต้องเคลื่อนกำลังออกจากอำเภอบุกอง (武功縣 อู่กงเซี่ยน; ทางตะวันออกของอำเภอเหมย์ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และมุ่งหน้าไปทางตะวันออกตามแนวภูเขา แต่หากเขาเคลื่อนกำลังไปทางตะวันตกไปยังทุ่งราบอู่จ้าง (五丈原 อู่จ้าง-ยฺเหวียน) เราก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป"[6]
เมื่อจูกัดเหลียงมาถึงแม่น้ำอุยโห กองหน้าที่นำโดยเมิ่ง เยี่ยน (孟琰) ได้ข้ามแม่น้ำไปตั้งค่ายที่ปลายน้ำด้านตะวันออกของแม่น้ำบุกอง (武功水 อู่กงฉุ่ย)[7] สุมาอี้นำทหารม้า 10,000 นายเข้าโจมตีกองหน้า จูกัดเหลียงให้ทหารสร้างสะพานจากไม้ไผ่และสั่งให้ยิงเกาทัณฑ์ใส่ทหารม้า[7] สุมาอี้เห็นสะพานที่สร้างเสร็จแล้วจึงล่าถอยทันที [8][9][10]
เมื่อสุมาอี้นำกำลังทหารมาตั่งมั่นอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำอุยโห กุยห้วยโน้มน้าวให้เคลื่อนกำลังไปยังที่ราบทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเพราะกุยห้วยคาดการณ์ว่าจูกัดเหลียงพยายามจะยึดทุ่งราบ เมื่อนายทหารคนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย[11] กุยห้วยจึงว่า "หากจูกัดเหลียงข้ามแม่น้ำอุยโหและยึดทุ่งราบได้ กำลังทหารของเขาก็จะสามารถเข้าถึงภูเขาทางเหนือได้ หากพวกเขาสกัดเส้นทางผ่านภูเขา จะทำให้ราษฎรที่อาศัยในภูมิภาคเกิดความกวาดกลัวและตื่นตระหนัก ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐของเราเลย"[12] สุมาอี้เห็นด้วยกับกุยห้วยจึงส่งกุยห้วยไปยึดทุ่งราบ ขณะที่กุยห้วยและทหารสร้างค่ายอยู่บนทุ่งราบก็ถูกทัพจ๊กก๊กโจมตี แต่กุยห้วยก็สามารถขับไล่ทัพจ๊กก๊กไปได้[13]
จูกัดเหลียงเคลื่อนกำลังไปยังทุ่งราบอู่จ้างและเตรียมจะข้ามไปยังฝั่งเหนือของแม่น้ำอุยโห สุมาอี้่ส่งโจว ตาง (周當) ไปประจำอยู่ที่หยางซุ่ย (陽遂; พื้นที่ทางเหนือของแม่น้ำอุยโห อยู่ในอำเภอเหมย์และอำเภอฝูเฟิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และล่อให้จูกัดเหลียงเข้าโจมตีตน แต่จูกัดเหลียงไม่เคลื่อนกำลังเป็นเวลาหลายวัน สุมาอี้กล่าวว่า "จูกัดเหลียงต้องการยึดทุ่งราบอู่จ้างและจะไม่รุดหน้าไปยังหยางซุ่ย เจตนาของเขาชัดเจน" แล้วสุมาอี้จึงส่งอ้าวจุ๋น (胡遵 หู จุน) และกุยห้วยไปป้องกันหยางซุ่ย หลายวันต่อมากุยห้วยได้รับข่าวว่าจูกัดเหลียงกำลังวางแผนที่จะโจมตีทางตะวันตก เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาต้องการเสริมกำลังป้องกันในพื้นที่นั้น กุยห้วยเป็นคนเดียวที่มองว่านี่เป็นอุบาย และแท้จริงจูกัดเหลียงวางแผนจะโจมตีหยางซุ่ย ปรากฏว่าการคาดการณ์ของกุยห้วยถูกต้องเมื่อทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีหยางซุ่ยตอนกลางคืน แต่กุยห้วยก็ได้เตรียมการป้องกันไว้ก่อนแล้ว ทัพจ๊กก๊กจึงยึดหยางซุ่ยไม่สำเร็จ จูกัดเหลียงไม่สามารถรุดหน้าต่อไปได้จึงถอยกลับไปยังทุ่งราบอู่จ้าง[14][15]
คืนหนึ่งสุมาอี้เห็นดาวดวงหนึ่งตกลงไปยังบริเวณค่ายจ๊กก๊กจึงทำนายว่าจูกัดเหลียงจะพ่ายแพ้ สุมาอี้ออกคำสั่งลอบโจมตีที่หลังค่ายทัพจ๊กก๊ก ทหารจ๊กก๊กถูกสังหาร 500 นาย ที่ยอมจำนน 600 นาย และปศุสัตว์ในทัพจ๊กก๊กมากกว่า 1,000 ตัวถูกทัพวุยก๊กยึดไป[16]
ในช่วงเวลานั้น ราชสำนักวุยก๊กเห็นว่าเนื่องจากทัพจ๊กก๊กยกมาจากไกลจากฐานที่มั่นในเมืองฮันต๋งจึงไม่น่าจะสามารถรบในอาณาเขตของวุยก๊กได้ในระยะยาว จูกัดเหลียงกังวลว่าตนจะไม่สามารถได้เปรียบในการศึกเนื่องจากการขาดแคลนเสบียง จึงแบ่งกำลังทหารและวางรากฐานของการตั้งมั่นระยะยาว ให้ทหารทำนาร่วมกับราษฎรตลอดแนวแม่น้ำอุยโห ราษฎรและทหารร่วมมือกันเป็นอย่างดีและไม่ขัดแย้งกัน[17] ในขณะเดียวกัน โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กมีรับสั่งให้สุมาอี้งดการปะทะกับข้าศึกและรอโอกาสโจมตี จูกัดเหลียงพยายามลวงให้สุมาอี้ออกมารบ แต่สุมาอี้ยังคงตั้งมั่นอยู่ในค่ายตามรับสั่งของโจยอย[18] จูกัดเหลียงเข้าใจได้ว่าสุมาอี้กำลังพยายามจะเอาชนะทัพจ๊กก๊กด้วยสงครามพร่ากำลัง จูกัดเหลียงจึงใช้ระบบถุนเถียนต่อมาเพื่อรักษาทัพจ๊กก๊กไว้
วันหนึ่ง จูกัดเหลียงส่งเสื้อผ้าสตรีไปให้สุมาอี้เพื่อยั่วยุให้สุมาอี้ออกมารบ สุมาอี้รู้สึกโกรธและต้องการโจมตีจูกัดเหลียง แต่โจยอยทรงปฏิเสธความต้องการนั้นและมีรับสั่งให้สุมาอี้ยังคงตั้งมั่นอยู่ในค่าย โจยอยยังพระราชทานคทาอาญาสิทธิ์ (สัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจของจักรพรรดิ) ให้ซินผีและส่งซินผีไปยังทุ่งราบอู่จ้างเพื่อจับตาดูสุมาอี้ เมื่อจูกัดเหลียงยั่วยุสุมาอี้อีกครั้ง สุมาอี้ต้องการโจมตีข้าศึก แต่ซินผีใช้คทาอาญาสิทธิ์ในการสั่งสุมาอี้ให้คงตั่งมั่นอยู่ในค่าย[19]
เมื่อเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กทราบข่าวเรื่องที่ซินผีอยู่ในค่ายของสุมาอี้ จึงบอกกับจูกัดเหลียงว่า "ซินผีมาพร้อมกับคทาอาญาสิทธิ์ ข้าศึกคงจะไม่ออกมาจากค่าย (เพื่อโจมตีเรา)" จูกัดเหลียงตอบว่า "สุมาอี้ไม่ต้องการรบกับเราตั้งแต่แรกแล้ว เจตนาที่แท้จริงของเขาในการขอพระราชทานราชานุญาตให้โจมตีเรานั้นแท้จริงแล้วก็เพื่อแสดงออกต่อกำลังทหารของตนว่าตนกระตือรือร้นที่จะรบและเตรียมพร้อมรบแล้ว ขุนพลที่อยู่ไกลออกไปในสนามรบไม่จำไปต้องทำตามคำสั่งของนาย หาก (สุมาอี้) สามารถเอาชนะเราได้ แล้วเหตุใดยังต้องขอพระราชทานราชานุญาตจากจักรพรรดิที่ห่างออกไปหลายพันลี้ (จากที่นี่) อีกเล่า"[20]
เมื่อสุมาหูเขียนจดหมายถึงสุมาอี้ถามถึงสถานการณ์ที่ทุ่งราบอู่จ้าง สุมาอี้ตอบว่า "จูกัดเหลียงมีความทะเยอทะยานยิ่งใหญ่ แต่เขามองโอกาสพลาด เขามีสติปัญญาแต่ไม่เด็ดขาด เขามักนำกองกำลังในยุทธการแม้ว่าเขาจะไม่มีอำนาจเหนือพวกเขามากนัก แม้ว่าเขามีกำลังพล 100,000 นายภายใต้การบังคับบัญชาของเขา แต่เขาก็ติดกับข้าเข้าแล้ว และข้าจะเอาชนะเขาได้อย่างแน่นอน"[21]
ระหว่างการคุมเชิงกัน สุมาอี้ถามทูตที่จูกัดเหลียงส่งมาพบตนว่า "ความเป็นอยู่ของจูกัดเหลียงเป็นอย่างไรบ้าง กินข้าวได้มากเท่าใด (ต่อวัน)" ทูตตอบว่า "กินได้สามถึงสี่เชิง (升)" แล้วสุมาอี้จึงถามเกี่ยวกับกิจวัตรในแต่ละวันของจูกัดเหลียง ทูตตอบว่าจูกัดเหลียงจัดการงานแทบทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่การลงโทษทหารที่มีความผิดต้องโทษโบย 20 ครั้งขึ้นไป สุมาอี้จึงกล่าวว่า "จูกัดขงเบ้งจะมีชีวิตอยู่ได้นานสักเท่าใดกันเชียว เขากำลังจะตายในไม่ช้า"[22]
ขณะเดียวกัน สุมาอี้ก็กลับเป็นฝ่ายยั่วยุจูกัดเหลียงบ้าง สุมาอี้สั่งให้คน 2,000 คนส่งเสียงโห่ร้องจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณนั้น จูกัดเหลียงจึงส่งคนไปสืบว่าผู้คนโห่ร้องเรื่องอะไร สายสืบกลับมารายงานว่า "ทูตของง่อมาถึงบอกว่าจะยอมสวามิภักดิ์" จูกัดเหลียงพูดว่า "ง่อจะไม่สวามิภักดิ์ สุมาอี้เป็นคนเฒ่าที่จะมีอายุ 60 ปีในเร็ว ๆ นี้ ยังจำเป็นต้องใช้อุบายเช่นนี้อีกหรือ"[23]
ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 กันยายนถึง 10 ตุลาคม ค.ศ. 234[lower-alpha 1] จูกัดเหลียงล้มป่วยลงอย่างหนักและอาการก็แย่ลงทุกวัน เมื่อเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กทรงทราบเรื่องนี้จึงทรงส่งลิฮก (李福 หลี่ ฝู) ไปยังทุ่งราบอู่จ้างเพื่อถามเรื่องผู้สืบทอดอำนาจ จูกัดเหลียงตอบว่าเจียวอ้วนสามารถสืบทอดอำนาจต่อจากตนและบิฮุยก็สามารถสืบทอดอำนาจต่อจากเจียวอ้วน เมื่อลิฮกถามเกี่ยวกับผู้สืบทอดอำนาจถัดจากบิฮุย จูกัดเหลียงกลับไม่ตอบ ลิฮกจึงกลับไปยังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก ก่อนที่จูกัดเหลียงจะเสียชีวิตได้มอบคำสั่งลับกับเอียวหงี บิฮุย และเกียงอุยให้นำทัพจ๊กก๊กล่าถอยหลังการเสียชีวิตของตน โดยให้อุยเอี๋ยนทำหน้าที่ป้องกันด้านหลังแล้วถัดมาจึงเป็นเกียงอุย หากอุยเอี๋ยนปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง ให้พวกเขาล่าถอยไปโดยไม่ต้องมีอุยเอี๋ยน เมื่อจูกัดเหลียงเสียชีวิต ข่าวการเสียชีวิตของเขาก็ถูกปิดเป็นความลับ[25]
หลังการคุมเชิงกันมากกว่า 100 วัน สุมาอี้ก็ได้ยินจากราษฎรว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตจากอาการป่วย ทัพจ๊กก๊กเผาค่ายและล่าถอยไป สุมาอี้จึงนำทัพวุยก๊กไล่ตาม เอียวหงีผู้ช่วยของจูกัดเหลียงสั่งให้ทหารจ๊กก๊กตีกลองศึกและตั้งกระบวนทัพเพื่อต้านข้าศึก สุมาอี้ไม่รุดหน้าเข้าไปเพราะเห็นว่าทัพจ๊กก๊กเตรียมการรับมืออย่างดี เอียวหงีจึงล่าถอยไป[26]
อีกไม่กี่วันต่อมา สุมาอี้ไปสำรวจค่ายของฝ่ายจ๊กก๊กที่ยังเหลืออยู่ เก็บได้แผนที่ เอกสาร และเสบียงจำนวนมาก สุมาจึงสรุปได้ว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตแล้วจริง ๆ และกล่าวว่า "เขาเป็นผู้มากความสามารถที่หาได้ยากในแผ่นดิน" ซินผียังสงสัยว่าจูกัดเหลียงเสียชีิวิตจริงหรือไม่ แต่สุมาอี้พูดว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกองทัพคือเอกสาร กำลังพล ม้า และเสบียง [จูกัดเหลียง]กลับละทิ้งสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด คนที่เสียอวัยวะสำคัญทั้งห้าไปจะยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เราควรเร่งไล่ตาม[ข้าศึก]" พื้นดินในกวนต๋ง (關中 กวานจง) เต็มไปด้วยต้นโคกกระสุน สุมาอี้จึงส่งทหาร 2,000 นายสวมรองเท้าไม้พื้นแบนเพื่อถางเส้นทางก่อนที่จะทัพหลักจะรุดหน้า เมื่อสุมาอี้ไปไปถึงชะงันโผ (赤岸 ชื่ออ้าน) ก็ได้รับการยืนยันว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตแล้ว สุมาอี้ถามราษฎรที่อาศัยอยู่ที่นั่น เหล่าราษฎรบอกสุมาอี้ว่ามีคำกล่าวที่มีชื่อเสียงเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "จูกัดคนตายหลอกจ้งต๋า[lower-alpha 2]คนเป็น" สุมาอี้ได้ยินดังนั้นก็หัวเราะและพูดว่า "ข้าสามารถคาดเดาความคิดคนเป็นได้ แต่ไม่อาจคาดเดาความคิดคนตายได้"[27]
อุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กตกใจที่ทัพจ๊กก๊กล่าถอย "เพราะความตายของคนผู้เดียว" จึงรวบรวมทหารในหน่วยของตนและยกกลับไปยังจ๊กก๊ก ล่วงหน้ากองกำลังหลักที่นำโดยเอียวหงี บิฮุย เกียงอุย และคนอื่น ๆ ระหว่างการล่าถอย อุยเอี๋ยนสั่งทหารให้เผาสะพานเลียบเขาที่นำทางกลับไปยังจ๊กก๊ก[28]
อุยเอี๋ยนและเอียวหงีต่างก็เขียนฎีกาส่งไปถึงราชสำนักจ๊กก๊ก กล่าวหากันและกันในข้อหากบฏ ฎีกาของทั้งคู่มาถึงเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊กในวันเดียวกัน เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กตรัสถามความเห็นจากเสนาบดีตั๋งอุ๋นและเจียวอ้วน ทั้งคู่ให้ความเห็นเข้าข้างเอียวหงีและแสดงความสงสัยต่อการกระทำของอุยเอี๋ยน ในขณะเดียวกัน เอียวหงีสั่งทหารของตนให้ตัดไม้มาซ่อมแซมสะพานเลียบเขา กำลังทหารของเอียวหงีเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อไล่ตามอุยเอี๋ยน อุยเอี๋ยนมาถึงหุบเขาทางใต้และสั่งทหารของตนให้โจมตีเอียวหงี เอียวหงีส่งอองเป๋งไปต้านอุยเอี๋ยน อองเป๋งตะโกนใส่อุยเอี๋ยนว่า "นายท่าน[จูกัดเหลียง]เพิ่งจะสิ้นบุญร่างยังไม่ทันเย็น ท่านกล้าทำการเช่นนี้ได้อย่างไร!" ทหารของอุยเอี๋ยนตระหนักว่าอุยเอี๋ยนผู้บังคับบัญชาของพวกตนเป็นฝ่ายผิดจึงละทิ้งอุยเอี๋ยนไป[29]
อุยเอี๋ยนเหลือเพียงบุตรชายและผู้ติดตามเพียงไม่กี่คน ทั้งหมดหนีไปยังเมืองฮันต๋ง เอียวหงีสั่งม้าต้ายให้ไล่ตาม ม้าต้ายตามทันอุยเอี๋ยนและตัดศีรษะอุยเอี๋ยนนำกลับมาและโยนลงต่อหน้าเอียวหงี เอียวหงีจึงเหยียบบนศีรษะของอุยเอี๋ยนและพูดว่า "ไอ้ไพร่ชั้นต่ำ! ยังจะทำชั่วได้อีกไหม" สมาชิกในครอบครัวของอุยเอี๋ยนและญาติสนิทล้วนถูกประหารชีวิต ก่อนการเสียชีวิตของอุยเอี๋ยน เจียวอ้วนนำหน่วยทหารราชองครักษ์ออกจากเซงโต๋เพื่อจัดการกับข้อพิพาท เดินทางมาได้ราว 10 ลี้ [ประมาณ 5 กิโลเมตร] ก็ทราบข่าวการเสียชีวิตของอุยเอี๋ยน จึงทูลแจ้งเรื่องนี้เมื่อกลับมายังเซงโต๋[30]
หลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียง เจียวอ้วนได้สืบทอดตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี แต่เจียวอ้วนมีความสนใจในด้านราชการภายในมากกว่าการขยายทางการทหาร การเสียชีวิตของจูกัดเหลียงจึงเป็นการยุติภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ต่อวุยก๊ก และต่อมาไม่นานราชสำนักวุยก๊กก็เริ่มพัฒนาโครงการโยธาด้วยความทะเยอทะยาน
ความสำเร็จและความโดดเด่นของสุมาอี้ในยุทธการกับจ๊กก๊กได้ปูทางให้สุมาเอี๋ยนผู้หลานชายได้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นในเวลาต่อมา ซึ่งจะกลายเป็นการสิ้นสุดของยุคสามก๊กในที่สุด
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.