ฟรีดริช เอเบิร์ท (เยอรมัน: Friedrich Ebert) เป็นนักการเมืองชาวเยอรมันสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศเยอรมนีระหว่างปี 1919 จนกระทั่งอสัญกรรมในปี 1925

ข้อมูลเบื้องต้น ฟรีดริช เอเบิร์ท, ประธานาธิบดีเยอรมนี คนที่ 1 ...
ฟรีดริช เอเบิร์ท
Friedrich Ebert
Thumb
ประธานาธิบดีเยอรมนี คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
11 กุมภาพันธ์ 1919 – 28 กุมภาพันธ์ 1925
หัวหน้ารัฐบาลฟิลลิพ ไชเดอมัน
กุสทัฟ เบาเออร์
แฮร์มัน มึลเลอร์
ค็อนสตันทีน เฟเรินบัค
โยเซ็ฟ เวียร์ท
วิลเฮ็ล์ม คูโน
กุสทัฟ ชเตรเซอมัน
วิลเฮ็ล์ม มาคส์
ฮันส์ ลุทเทอร์
ก่อนหน้าไม่มี; เป็นคนแรก
ถัดไปเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
(โดยพฤตินัย)
ดำรงตำแหน่ง
9 พฤศจิกายน 1918  13 กุมภาพันธ์ 1919
กษัตริย์จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2
ก่อนหน้ามัคซีมีลีอานแห่งบาเดิน
ถัดไปฟิลลิพ ไชเดอมัน
(ในตำแหน่งมุขมนตรีไรช์)
มุขมนตรีเสรีรัฐปรัสเซีย
ดำรงตำแหน่ง
9 พฤศจิกายน 1918  11 พฤศจิกายน 1918
ก่อนหน้ามัคซีมีลีอานแห่งบาเดิน
ถัดไปเพาล์ เฮียร์ช
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1871
ไฮเดิลแบร์ค จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1925(1925-02-28) (54 ปี)
เบอร์ลิน สาธารณรัฐไวมาร์
พรรคการเมืองพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี
บุตร5 คน
ลายมือชื่อThumb
ปิด

ประวัติ

ฟรีดริช เอเบิร์ท เกิดที่เมืองไฮเดิลแบร์ค จักรวรรดิเยอรมัน เมื่อปี 1871 เป็นบุตรคนที่เจ็ดในบรรดาเก้าคนของนายคาร์ล เอเบิร์ท ช่างตัดเสื้อ[1][2][3] ฟรีดริชอยากเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย แต่ครอบครัวของเขาไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ[4] ฟรีดริชจึงเลือกศึกษาการทำอานม้าระหว่างปี 1885 ถึง 1888 หลังจากนั้นเขาก็เป็นนักพเนจรผู้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วแผ่นดินเยอรมัน เพื่อแสวงหาลู่ทางทำมาค้าขาย

เมื่อเขาอยู่ในเมืองมันไฮม์ เขาถูกแนะนำให้รู้จักกับลุงคนหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมพรรคดังกล่าวในปี 1889 แม้ว่าเอเบิร์ทเคยศึกษางานเขียนของคาร์ล มาคส์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ เขากลับไม่ค่อยมีความสนใจในอุดมคติดังกล่าว แต่กลับมีความสนใจในประเด็นที่ขึ้นอยู่บนความเป็นจริงและสามารถใช้พัฒนากรรมกรในองค์กรได้จริง เอเบิร์ททำกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างจนชื่อของเขาอยู่ในบัญชีดำของตำรวจ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงย้ายเมืองหลายครั้งในเวลาเพียงสามปี เขาย้ายมาอาศัยที่นครเบรเมินในปี 1891

ที่เบรเมิน เอเบิร์ทหาเลี้ยงชีพโดยการทำงานจิปาถะ[1] ซึ่งในปี 1893 เขาได้รับตำแหน่งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Bremer Bürgerzeitung ต่อมาในปี 1894 เขาสมรสกับนางสาวลูอีเซอ รุมพ์ บุตรสาวกรรมกร[1][5] หลังจากนั้น เอเบิร์ทก็เป็นเจ้าของผับ ซึ่งผับแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางของนักสังคมนิยมและสมาชิกสหภาพแรงงานในนครเบรเมิน และแล้วเอเบิร์ทก็ได้รับเลือกเป็นประธานพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนีสาขาเบรเมิน[1]

งานการเมือง

ในปี 1900 เอเบิร์ทได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสหภาพการค้า และได้รับเลือกเป็นสมาชิกประชาคมเบรเมิน ในฐานะผู้แทนของพรรคสังคมประชาธิปไตย ต่อมาในปี 1912 เอเบิร์ทได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไรชส์ทาค ต่อมาในปี 1903 เอากุสท์ บาเบิล หัวหน้าพรรคถึงแก่กรรม เอเบิร์ทจึงได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งหลังเป็นหัวหน้าพรรคได้หนึ่งปี สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ปะทุขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

พรรคสังคมประชาธิปไตยในเวลานั้นครองที่นั่งมากที่สุดในไรชส์ทาค สงครามดังกล่าวแบ่งสมาชิกพรรคออกเป็นสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่คัดค้านการกู้เงินเพื่อทำสงคราม เอเบิร์ทผู้เป็นนักเมืองสายกลาง สนับสนุนนโยบายบวร์คฟรีเดิน (Burgfriedenspolitik) ซึ่งต้องการระงับความบาดหมางระหว่างกลุ่มการเมืองในประเทศในยามศึกสงคราม เพื่อรวมรวมสมาธิของสังคมเยอรมันไว้ที่ความสำเร็จในสงคราม เอเบิร์ทพยายามนำเสนอนโยบายดังกล่าวในพรรค แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความร้าวฉาน ต่อมาในปี 1905 เขาได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคและย้ายไปกรุงเบอร์ลิน[4] ซึ่งในเวลานั้น เขาเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในคณะผู้บริหารพรรค[5]

ความปราชัยในหลายยุทธการส่งผลให้ความนิยมในตัวจักรพรรดิเยอรมันตกต่ำ ส่งผลให้ในปี 1918 ขณะที่สงครามดำเนินอยู่นั้นเอง จอมพลฮินเดินบวร์ค หัวหน้าคณะเสนาธิการใหญ่ กลายเป็นผู้นำจักรวรรดิเยอรมันโดยพฤตินัย[6] และเมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของปี ก็เริ่มเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเยอรมนีกำลังจะแพ้สงคราม พลเอกลูเดินดอร์ฟ จึงเริ่มส่งมอบอำนาจรัฐให้แก่พรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในไรชส์ทาค หวังจะให้นักการเมืองกลายเป็นเป้ารับเสียงก่นด่าแทนคณะเสนาธิการใหญ่

29 กันยายน พลเอกลูเดินดอร์ฟแจ้งต่อนายฮินท์เซอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าแนวรบตะวันตกสามารถพังได้ทุกเมื่อ และขอให้กระทรวงการต่างประเทศหาลู่ทางเจรจาหยุดยิงโดยเร็ว แต่ก็สำทับว่า การเจรจาหยุดยิงควรกระทำภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองเสียงข้างมาก ซึ่งในเบื้องต้น นายกรัฐมนตรีแฮร์ทลิง และจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ยินยอมที่จะลงจากตำแหน่งทั้งคู่ในเวลาอันใกล้[6]:36–40

ต้นเดือนตุลาคม จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แต่งตั้งเจ้าชายมัคซีมีลีอานแห่งบาเดินเป็นนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิคนใหม่ เพื่อทำหน้าที่เจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร นี่ถือเป็นครั้งแรกที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประกอบด้วยบุคคลจากพรรคสังคมประชาธิปไตย อาทิ ฟิลลิพ ไชเดอมัน และกุสทัฟ เบาเออร์ รัฐบาลชุดใหม่ส่งคำร้องขอหยุดยิงถึงฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 4 ตุลาคม[6]:44 และออกแถลงการณ์ต่อประชาชนในวันถัดมา แต่ในเบื้องต้น ประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐปฏิเสธการหยุดยิง เนื่องจากมองว่ารัฐบาลเยอรมันมีการปฏิรูปยังไม่เพียงพอ อีกหนึ่งข้อสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาคือการที่จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ยังคงนั่งอยู่บนบัลลังก์[6]:52–53

การปฏิวัติเยอรมัน

เอเบิร์ทไม่ชอบการเปลี่ยนจากจักรวรรดิเป็นสาธารณรัฐ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็กลัวว่าจะเกิดการปฏิวัติสังคมเหมือนที่เกิดขึ้นในจักรวรรดิรัสเซีย และแล้วในวันที่ 28 ตุลาคม ธรรมนูญจักรวรรดิก็ถูกแก้ไขเพื่อถ่ายโอนอำนาจแก่ไรชส์ทาค ในจุดนี้ เอเบิร์ทและนักการเมืองคนอื่นค่อนข้างพอใจกับสถานการณ์ สิ่งที่ทุกคนต้องการในเวลานี้ คือช่วงเวลาแห่งความสงบเพื่อเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร[7]

เพื่อป้องกันไม่ให้ทั่วทั้งประเทศตกอยู่ใต้อนาธิปไตย พรรคของเอเบิร์ทต้องการเสียงสนับสนุนจำนวนมากในไรชส์ทาคเกี่ยวกับการขยายอำนาจของไรชส์ทาคเข้าสู่ส่วนการปกครองของปรัสเซีย ตลอดจนการสละราชบัลลังก์โดยจักรพรรดิและมกุฎราชกุมาร ส่วนตัวของเอเบิร์ทยังอยากรักษาระบอบจักรพรรดิภายใต้ผู้ปกครองคนใหม่ แต่เขาก็ตระหนักดีว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ดังข้อความที่เขากล่าวต่อนายกรัฐมนตรีบาเดินว่า "ถ้าองค์ไคเซอร์ไม่สละราชบัลลังก์ การปฏิวัติสังคมก็เลี่ยงไม่ได้ แต่ผมไม่ต้องการมัน ผมเกลียดมันยังกับบาป"[8] ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มผู้นำแรงงานในเบอร์ลินกำลังเตรียมการปฏิวัติในเมืองหลวงแล้ว[7]:7

9 พฤศจิกายน การปฏิวัติปะทุขึ้นในกรุงเบอร์ลินในรูปแบบของการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ อาคารสำคัญถูกบุกยึด ขณะที่กลุ่มฝูงชนเดินขบวนผ่านใจกลางเมือง สมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยก็เริ่มกลัวว่าพวกเขาจะเสียการควบคุมการปฏิวัติ ขณะเดียวกัน เจ้าชายแห่งบาเดินก็ไม่อาจโน้มน้าวจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ให้สละราชบัลลังก์สำเร็จ พระองค์ยินยอมสละตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมัน แต่จะขอเป็นกษัตริย์แห่งปรัสเซียต่อไป อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญจักรวรรดิบัญญัติว่าตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมันถือเป็นหนึ่งเดียวกับตำแหน่งกษัตริย์แห่งปรัสเซีย ไม่สามารถสละเพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง

หัวหน้ารัฐบาลเยอรมนีโดยพฤตินัย

ท้ายที่สุด ในวันเดียวกันนั้นเอง เจ้าชายแห่งบาเดินในฐานะนายกรัฐมนตรีจักรวรรดิ จึงออกประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวว่า "องค์จักรพรรดิและองค์กษัตริย์ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติแล้ว นายกรัฐมนตรีจักรวรรดิจะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าการสละราชสมบัติโดยจักรพรรดิ การสละสิทธิ์สืบราชสมบัติโดยมกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิเยอรมันและแห่งปรัสเซีย และการตั้งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จะเรียบร้อย"[9]

Thumb
คณะมนตรีผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของเอเบิร์ท

ไม่นานหลังออกประกาศ บรรดาผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยก็เดินทางมาที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ในการนี้ เอเบิร์ทเป็นผู้กล่าวขอให้เจ้าชายแห่งบาเดินมอบอำนาจรัฐให้แก่เขา และแล้ว เจ้าชายแห่งบาเดินก็ยอมลาออกและมอบห้องทำงานนายกรัฐมนตรีแก่เอเบิร์ท คณะของเอเบิร์ทจัดตั้งรัฐบาลที่ชื่อว่าคณะมนตรีผู้แทนราษฎร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการที่ไม่เป็นไปตามธรรมนูญจักรวรรดิ เอเบิร์ทกลายเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีและมุขมนตรีปรัสเซียโดยพฤตินัย คณะรัฐมนตรีเอเบิร์ทแทบไม่มีความแตกต่างจากคณะรัฐมนตรีบาเดิน ตำแหน่งเดียวที่เขาเปลี่ยนคนของพรรคเข้าไปดำรงตำแหน่งคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงคราม[7]:7

สิ่งแรกที่เอเบิร์ทกระทำในฐานะนายกรัฐมนตรีคือการออกประกาศหลายฉบับซึ่งร้องขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ กลับเข้าบ้านช่อง และรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่มันก็ไม่เป็นผล ระหว่างที่เอเบิร์ททานอาหารกลางวันกับไชเดอมันที่อาคารไรชส์ทาค ไชเดอมันขอให้เขาออกไปพูดคุยกับฝูงชนแต่ถูกปฏิเสธ ไชเดอมันจึงฉวยโอกาสนำสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยทำการประกาศตั้งสาธารณรัฐจากระเบียงของอาคารไรชส์ทาค เมื่อเอเบิร์ททราบข่าวก็โกรธเกรี้ยวและตะคอกว่า "คุณไม่มีสิทธิ์ประกาศตั้งสาธารณรัฐ!" เอเบิร์ทอาจมองว่าการตัดสินเรื่องนี้เป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาค แม้ว่าผลสุดท้าย ที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาคอาจจะตัดสินให้คงระบอบจักรพรรดิก็ตาม เนื่องจากในวันต่อมา เอเบิร์ทยังไปขอให้เจ้าชายแห่งบาเดินเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ได้รับการปฏิเสธ

ประธานาธิบดีเยอรมนี

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรก ซึ่งลงมติในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 หัาวันหลังการประชุมที่เมืองไวมาร์ เอเบิร์ทได้รับเลือกจากเสียงข้างมากในที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาค ให้เป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐ[10] หนึ่งในสิ่งแรกที่เขาต้องรับมือในฐานะประธานาธิบดีเฉพาะกาลคือสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งได้รับการลงนามในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน เขาอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ และเข้าสาบาตนเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1919 เขาเป็นประมุขแห่งรัฐคนแรกของเยอรมนีที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และมาจากสามัญชน

"ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนชาวเยอรมันทั้งมวล ไม่ใช่ในฐานะผู้นำพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าก็ขอสารภาพ ว่าข้าพเจ้าเป็นลูกของกรรมกร และเติบโตมากับความคิดแนวสังคมนิยม และว่าข้าพเจ้าจะไม่มีวันปฏิเสธพื้นเพและความเชื่อมั่นของข้าพเจ้า"

ฟรีดริช เอเบิร์ท สาบานตนเป็นประธานาธิบดี[11]

มูลนิธิฟรีดริช–เอเบิร์ท

มูลนิธิฟรีดริช–เอเบิร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1925 ถือเป็นมูลนิธิการเมืองที่ใหญ่สุดและเก่าแก่สุดในประเทศเยอรมนี พันธกิจคือการส่งเสริมประชาธิปไตย, การศึกษาการเมือง และนักเรียนผู้มีความสามารถและบุคลิกภาพอันเป็นเลิศ มูลนิธินี้มีการดำเนินกิจกรรมในกว่าร้อยประเทศ

อ้างอิง

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.