Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาภิรมย์ภักดี นามเดิม บุญรอด เศรษฐบุตร เป็นบุตรของพระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) กับนางมา เศรษฐบุตร เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2415 ที่ย่านจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ให้กำเนิดเบียร์สิงห์และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
บทความนี้อาศัยการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากเกินไป |
พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2415 ณ บ้านปลายสะพานยาว วัดบพิตรพิมุข (เชิงเลน) ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เรียนหนังสือกับบิดาตอนยังเด็ก พออายุ 11 ปี เรียนกับพระอาจารย์เนียม วัดเชิงเลนได้ 1 ปีเศษก็เรียนฝึกหัดวาดเขียนที่บ้านหลวงฤทธิ์ฯ และเรียนหนังสืออังกฤษกับท่านอาจารย์หมอ เอ.ยี.แมคฟาแลนด์ ที่โรงเรียนหลวงสวนอนันต์ ได้ประมาณ 2 ปี โรงเรียนก็ย้ายมาสอนที่สุนันทาลัย สามารถสอบไล่ได้ที่ 1 ในทุกวิชาของโรงเรียน และในปี พ.ศ. 2433 ได้เป็นครูสอนนักเรียนในโรงเรียนสุนันทาลัย ต่อมาก็ได้ไปเป็นครูสอนเด็กที่โรงเลี้ยงเด็กอนาถา
ในปี พ.ศ. 2435 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้ทดลองให้ทำหน้าที่ตำแหน่งเลขานุการกระทรวงธรรมการ เมื่อจะลาออกแต่ครูใหญ่ไม่ให้ออก จึงตัดสินใจไม่เอาทั้ง 2 อย่าง จากนั้นทำงานเป็นเสมียนโต้ตอบจดหมายภาษาอังกฤษที่โรงเลื่อยของห้างกิมเซ่ง หลี และห้างเด็นนิมอตแอนด์ดิกซัน จนเห็นลู่ทางธุรกิจจึงมาเริ่มมาเป็นเจ้าของกิจการค้าไม้ เดินเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า เรือเมล์ขาว โดยตั้งเป็น บริษัทบางหลวง จำกัด แต่เนื่องจากเริ่มมีคู่แข่งมากขึ้นจากเบนเข็มทำธุรกิจอื่น พระยาภิรมย์ภักดีได้พบเอมิล ไอเซินโอเฟอร์ ผู้จัดการห้างเพาส์ปิกเคนปัก และได้ลิ้มรสเบียร์เยอรมันจนถูกใจ จึงคิดว่าน่าจะทำขายในเมืองไทยได้ ได้ยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทยในปี 2473[1] และก่อตั้งโรงงานผลิตเบียร์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยในปี 2476[2]
เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีนโยบายเรื่องการจัดตั้งโรงงานผลิตเบียร์มาก่อน จึงยุติลงที่การอนุมัติโรงเบียร์แห่งแรกรัฐบาลไทยอนุมัติให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2476 โดยมีโรงงานตั้งอยู่บนเนื้อที่ 9 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านบางกระบือ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 6 แสนบาท ในปี พ.ศ. 2477 พระยาภิรมย์ภักดีก็ได้นำเอาเบียร์สดใส่ถังไปเปิดให้ผู้คนดื่มฟรีในงานสโมสรคณะราษฎร ปรากฏว่าเป็นที่พอใจกันยิ่งนัก ข่าวได้แพร่สะพัดออกไป มีลูกค้าจับจองสินค้าออกสู่ตลาด จนได้จำหน่ายเบียร์รุ่นแรกเมื่อ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 มีตรายี่ห้อต่าง ๆ กัน ทั้งตราว่าว ตราพระปรางค์ ตรากุญแจ ตรารถไฟ ตราหมี ปรากฏว่าเบียร์ตราสิงห์ได้รับความนิยมมากที่สุด ต่อมาจึงค่อยๆ หยุดผลิตยี่ห้ออื่นไป จนเหลือเพียงเบียร์สิงห์
ท่านมีความรู้ความสามารถ แต่งตำราการคิดคำนวณ หน้าไม้สำเร็จรูป แต่งตำราว่าวพนัน ได้โปรดเกล้าเป็นนายเรือตรีราชนาวีเสือป่าและกัปตันเรือเดินทะเล ได้เป็นกรรมการสโมสร และสนาม และยังบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอย่างเช่น ได้ถวายตัวเป็นสมาชิกเสือป่า สร้างศาลาท่าน้ำ สร้างกระโจมแตรในสวนลุมพินี สร้างโรงเรียนอนาถา เป็นต้น ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นหลวงภิรมย์ภักดี มีตำแหน่งราชการในกรมท่าซ้าย ถือศักดินา 400 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 [3] ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2456 และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภิรมย์ภักดี ถือศักดินา ๑๐๐๐ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467[4]จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากบรรดาศักดิ์[5]
พระยาภิรมย์ภักดี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2493 สิริอายุรวม 77 ปี[6]
ท่านแต่งงานกับ คุณหญิงละม้าย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2441 ต่อมาภรรยาคลอดบุตรฝาแฝด ในปี พ.ศ. 2443 แต่บุตรฝาแฝดตาย ในปีต่อมาคลอดลูกอีกคนอยู่ได้ราว 2 เดือนก็ตาย ต่อมารับบุตรของน้องชาย พระประเวศวนขันธ์ (ปลื้ม เศรษฐบุตร) มาเป็นบุตรบุญธรรม ให้ชื่อว่า วิทย์ เศรษฐบุตร (วิทย์ ภิรมย์ภักดี)
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2455 ได้มีบุตรกับนางกิม ชื่อ ประจวบ เศรษฐบุตร (ประจวบ ภิรมย์ภักดี)
และเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 ได้มีบุตรอีกคนกับนางจิ้มลิ้มชื่อ ประจง เศรษฐบุตร (จำนงค์ ภิรมย์ภักดี)
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.