Loading AI tools
ขุนนางฝ่ายทหารชาวไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาพิชัยดาบหัก เป็นขุนนางในสมัยอยุธยาตอนปลายและธนบุรี ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารเนื่องจากเป็นทหารเอกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นผู้มีส่วนกอบกู้เอกราชของชาติไทยหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มีชื่อเสียงอย่างยิ่งจากความกตัญญูกตเวทีและความกล้าหาญ[1] หนึ่งในสี่ทหารเสือของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้แก่ หลวงราชเสน่หา (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท), หลวงพิชัยอาสา (พระยาพิชัยดาบหัก), พระยาเชียงเงิน (พระยาสุโขทัย), หลวงพรหมเสนา (เจ้าพระยานครสวรรค์)[2]
พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี) | |
---|---|
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ | |
เกิด | พ.ศ. 2284 บ้านห้วยคา เมืองพิชัย อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา |
เสียชีวิต | 7 เมษายน พ.ศ. 2325 (41 ปี) เมืองธนบุรี อาณาจักรธนบุรี |
สัญชาติ | สยาม |
ชื่ออื่น | จ้อย, นายทองดีฟันขาว |
อาชีพ | ขุนนางฝ่ายทหารในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, เจ้าเมืองพิชัย |
ยุคสมัย | พ.ศ. 2310 – 2325 |
ผลงานเด่น | ขุนศึกสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในการร่วมกอบกู้เอกราชหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (พ.ศ. 2310 - 2313), เจ้าเมืองพิชัย (พ.ศ. 2313-2325), ออกสู้รบกับกองทัพโปสุพลาจนดาบหักเป็นสองท่อน (พ.ศ. 2316), สละชีวิตตนเองเป็นราชพลี (พ.ศ. 2325) |
ตำแหน่ง | ขุนนางชั้นพระยาพานทองในสมัยธนบุรี |
คู่สมรส | พระนางสะวิสุตา (ลำยง) |
หมวดหมู่:ขุนนางในสมัยกรุงธนบุรี |
เดิมท่านชื่อ จ้อย เกิดที่บ้านห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถและชื่อเสียงอย่างยิ่งทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ จนได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองครักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ
ภายหลังข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงได้รับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"
พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดในปี พ.ศ. 2284 ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพี่น้อง 4 คน แต่เสียชีวิตไป 3 คน เด็กชายจ้อยมีนิสัยชอบชกมวยมาตั้งแต่เยาว์วัย บิดาได้พร่ำสอนเสมอ ถ้าจะชกมวยให้เก่งต้องขยันเรียนหนังสือด้วย เมื่ออายุได้ 14 ปี บิดานำไปฝากกับท่านพระครูวัดมหาธาตุ เมืองพิชัย จ้อยสามารถอ่านออกเขียนได้จนแตกฉานและซ้อมมวยไปด้วย
ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตร (ชื่อเฉิด) มาฝากที่วัดเพื่อร่ำเรียนวิชา เฉิดกับพวกมักหาทางทะเลาะวิวาทกับจ้อยเสมอ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากวัดขึ้นไปทางเหนือโดยมิได้บอกพ่อแม่และอาจารย์ เดินตามลำน้ำน่านไปเรื่อยๆ เมื่อเหนื่อยก็หยุดพักตามวัด ที่วัดบ้านแก่ง จ้อย ได้พบกับครูฝึกมวยคนหนึ่งชื่อ เที่ยง จึงฝากตัวเป็นศิษย์แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี ครูเที่ยงรักนายทองดีมากและมักเรียกนายทองดีว่านายทองดี ฟันขาว (เนื่องจากท่านไม่เคี้ยวหมากพลูดังคนสมัยนั้น) ด้วยความสุภาพเรียบร้อย และขยันขันแข็งเอาใจใส่การฝึกมวยช่วยการงานบ้านครูเที่ยงด้วยดีเสมอมา ทำให้ลูกหลานครูเที่ยงอิจฉานายทองดีมาก จนหาทางกลั่นแกล้งต่างๆ นานา นายทองดี ฟันขาว เห็นว่าอยู่บ้านแก่งต่อไปคงลำบาก ประกอบครูเที่ยงก็ถ่ายทอดวิชามวยให้จบหมดสิ้นแล้วจึงกราบลาครูขึ้นเหนือต่อไป[3]
เมื่อเดินถึงบางโพได้เข้าพักที่วัดวังเตาหม้อ (ปัจจุบันคือวัดท่าถนน) พอดีกับมีการแสดงงิ้ว จึงอยู่ดูอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน นายทองดี ฟันขาว สนใจงิ้วแสดง ท่าทางหกคะเมน จึงจดจำไปฝึกหัดจนจดจำท่างิ้วได้ทั้งหมดสามารถกระโดดข้ามศีรษะคนยืนได้อย่างสบาย จากนั้นก็ลาพระสงฆ์วัดวังเตาหม้อขึ้นไปท่าเสา ขอสมัครเป็นลูกศิษย์ครูเมฆซึ่งมีชื่อเสียงในการสอนมวย ครูเมฆรักนิสัยใจคอจึงถ่ายทอดวิชาการชกมวยให้จนหมดสิ้น[4]
ขณะนั้นนายทองดี ฟันขาว อายุได้ 18 ปี ต่อมาได้มีโอกาสชกมวยในงานไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ กับนายถึก ศิษย์เอกของครูนิล นายถึกไม่สามารถป้องกันได้ ถูกเตะสลบไปนานประมาณ 10 นาที ครูนิลอับอายมากจึงท้าครูเมฆชกกัน นายทองดี ฟันขาว ได้กราบอ้อนวอนขอร้อง ขอชกแทนครูเมฆและได้ตะลุยเตะต่อยจนครูนิลฟันหลุดถึง 4 ซี่ เลือดเต็มปากสลบอยู่เป็นเวลานาน ชื่อเสียงนายทองดี ฟันขาว กระฉ่อนไปทั่วเมืองทุ่งยั้ง ลับแล พิชัย และเมืองฝาง นายทองดีอยู่กับครูเมฆประมาณ 2 ปี ก็ขอลาไปศึกษาการฟันดาบที่เมืองสวรรคโลก ด้วยความฉลาดมีไหวพริบ เขาใช้เวลาเพียง 3 เดือน ก็เรียนฟันดาบสำเร็จเป็นที่พิศวงต่อครูผู้สอนยิ่งนัก หลังจากนั้นก็ไปเที่ยวเมืองสุโขทัยและเมืองตากระหว่างทางได้รับศิษย์ไว้ 1 คน ชื่อบุญเกิด (หมื่นหาญณรงค์)[5][6] โดยเมื่อครั้งที่บุญเกิดถูกเสือคาบไปนั้น ทองดีได้ช่วยบุญเกิดไว้โดยการแทงมีดที่ปากเสือ จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่ว[7]
เมื่อท่านเดินทางถึงเมืองตาก ขณะนั้นได้มีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่เจ้าเมืองตาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจัดให้มีมวยฉลองด้วย นายทองดี ฟันขาว ดีใจมากเข้าไปเปรียบมวยกับครูห้าวซึ่งเป็นครูมวยมือดีของเจ้าเมืองตากและมีอิทธิพลมาก นายทองดี ฟันขาว ใช้ความว่องไวใช้หมัดศอกและเตะขากรรไกรจนครูห้าวสลบไป เจ้าเมืองตากจึงถามว่าสามารถชกนักมวยอื่นอีกได้หรือไม่ นายทองดี ฟันขาว บอกว่าสามารถชกได้อีก เจ้าเมืองตากจึงให้ชกกับครูหมึกครูมวยร่างสูงใหญ่ ผิวดำ นายทองดี เตะซ้ายเตะขวา บริเวณขากรรไกร จนครูหมึกล้มลงสลบไป[8]
เจ้าเมืองตากพอใจมากให้เงิน 3 ตำลึง และชักชวนให้อยู่ด้วย นายทองดี ฟันขาว จึงได้ถวายตัวเป็นทหารของเจ้าเมืองตาก (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ตั้งแต่บัดนั้น เป็นที่โปรดปรานมากและได้รับยศเป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อเจ้าเมืองตากได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาวชิรปราการ ครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาได้ติดตามไปรับใช้อย่างใกล้ชิดและเป็นเวลาเดียวที่พม่ายกทัพล้อม กรุงศรีอยุธยา[8]
พระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสา และทหารเข้าสู้รบกับทัพพม่าหลายคราวจนได้รับชัยชนะ ได้ช้างม้าอาหารพอสมควร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับการต้อนรับจากประชาชนและยกย่องขึ้นเป็นผู้นำ เมื่อกอบกู้เอกราชได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงธนบุรีและได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิชัยอาสา เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เป็นทหารเอกราชองครักษ์ในพระองค์[9]
ในปี พ.ศ. 2311 พม่าได้ยกทัพมาอีก 1 หมื่นคน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนแตกพ่าย และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น "พระยาสีหราชเดโช" มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย[10]
ในปี พ.ศ. 2313 - พ.ศ. 2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย "ศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน ณ สมรภูมิบริเวณ วัดเอกา จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน" กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316)[8]
พระยาพิชัย สมรสกับสตรีท่านใดไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ แต่มีความเชื่อจากคำบอกเล่าและร่างทรงในยุคร่วมสมัย ว่าพระยาพิชัยดาบหักเมื่อได้ขึ้นปกครองเมืองพิชัย ได้สมรสกับนางลำยง[11]
ท่านมีลูกหลานที่สืบทอดวงศ์ตระกูล มาจนถึงปัจจุบัน โดยในสมัย ร.6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานนามสกุล "วิชัยขัทคะ" ให้ลูกหลานของท่าน มีความหมายโดยอนุโลมว่า ดาบวิเศษ นับเป็นเชื้อสายสกุลไทยที่เก่าแก่อีกสกุล ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา[12]
เมื่อปี พ.ศ. 2325 หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกสำเร็จโทษ[13] สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเล็งเห็นว่าพระยาพิชัยเป็นขุนนางคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่มีฝีมือและซื่อสัตย์ จึงชวนพระยาพิชัยเข้ารับราชการในแผ่นดินใหม่ แต่พระยาพิชัยไม่ขอรับตำแหน่งด้วยท่านเป็นคนจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และถือคติที่ว่า "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนายมิดี" จึงขอให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสำเร็จโทษตนเป็นการถวายชีวิตตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[14] ซึ่งทายาทของพระยาพิชัยดาบหัก ก็ได้รับราชการสืบมา โดยท่านเป็นต้นตระกูลของนามสกุล วิชัยขัทคะ วิชัยลักขณา ศรีศรากร พิชัยกุล ศิริปาลกะ ดิฐานนท์ เชาวนปรีชา[15]
หลังจากท่านได้ถูกสำเร็จโทษ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเฉลิมพระนามว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงได้มีรับสั่งให้สร้างพระปรางค์นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ ณ วัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งพระปรางค์นี้ก็ยังปรากฏสืบมาจนปัจจุบัน[16]
พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญ รวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป[17]
พระยาพิชัยดาบหัก นับเป็นวีรชนของชาติ ผู้ร่วมกู้เอกราชของชาติไทยในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและเป็นชาวอุตรดิตถ์ ดังนั้นจึงได้มีการสร้างอนุสรณ์สถาน รวมถึงการนำนามของท่านไปใช้ตั้งชื่อสถานที่ราชการสำคัญเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของท่านขึ้น ตัวอย่างของอนุสรณ์สถานและสถานที่เหล่านี้ เช่น
เพื่อระลึกถึงเกียรติในเรื่องความองอาจ กล้าหาญ รักชาติ และเสียสละของท่าน ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักแห่งแรก เพื่อประดิษฐานหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งต่อมาอนุสาวรีย์ดังกล่าวได้เป็นภาพจำตัวแทนบุคคลของพระยาพิชัยในวัฒนธรรมร่วมสมัย
โดยอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์มาช้านาน ต่อมาในสมัยนายเวทย์ นิจถาวร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีพ่อค้า ประชาชน ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็นทุนก่อสร้าง โดยไม่มีงบประมาณแผ่นดินของทางหน่วยงานราชการมาเกี่ยวข้อง ทุนทรัพย์ทั้งหมดเกิดจากกำลังศรัทธาของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีพิธีอัญเชิญโกศดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก (แทนอัฐิ) ตามโบราณประเพณี เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2510 มีพิธีวางแผ่นศิลาฤกษ์แท่นฐานอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2511 โดยมี นายถวิล สุนทรศารทูล ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธี
สำหรับองค์พระยาพิชัยดาบหักนั้น ปั้นโดยกรมศิลปากร โดยมีอาจารย์สนั่น ศิลากร เป็นประติมากร และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีนายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี[18]
ในระหว่างวันที่ 7 - 13 มกราคม ของทุกปี จังหวัดอุตรดิตถ์ได้กำหนดให้มีการจัดงานเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของท่าน ถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดอุตรดิตถ์ เรียกชื่องานว่า "งานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาด" โดยจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ถือเอาวันที่ 7 มกราคม ของทุกปี เป็นวันเปิดงานพระยาพิชัยดาบหักฯ โดยอ้างอิงตามพระราชพงศาวดาร ที่ระบุวันซึ่งพระยาพิชัยออกสู้รบกับกองทัพโปสุพลาจนดาบหักสองท่อนตามปฏิทินสุริยคติ
ในปี พ.ศ. 2545 ประชาชนได้ร่วมใจกันจัดสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ปางนั่งครองเมือง ประดิษฐานด้านหน้าสถูปทรงปรางค์ ณ พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก แห่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอำเภอพิชัย ในหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 บ้านห้วยคา ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อรำลึกถึงเมื่อครั้งที่ท่านได้เป็นผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี นอกจากนี้ในวันที่ 7 เมษายน หน่วยงานราชการพร้อมทั้งประชาชนชาวพิชัยจะมีการจัดพิธีสักการะบวงสรวงดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก เป็นประจำทุก ๆ ปี เพื่อรำลึกถึงวันที่พระยาพิชัยดาบหักถูกประหารชีวิตเมื่อครั้งสิ้นแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย[19]
เพื่อระลึกถึงวีรกรรมและความกล้าหาญของท่าน ที่ได้เคยร่วมรบเคียงคู่พระวรกายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักแกะสลักจากไม้ตะเคียนโบราณองค์แรก ประดิษฐานบริเวณหน้าวัดคุ้งตะเภาหันหน้าสู่ทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี เพื่อรำลึกถึงอดีตเมืองสวางคบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งเคยเป็นพื้นที่ ๆ ท่านได้มาฝึกมวยกับครูเมฆแห่งบ้านท่าเสา-คุ้งตะเภา ในวัยเด็ก และเป็นพื้นที่เกิดวีรกรรมการปรามชุมนุมเจ้าพระฝางแห่งเมืองสวางคบุรี เป็นชุมนุมสุดท้ายในสมัยธนบุรี รวมถึงยังเป็นสถานที่ท่านได้รับเลื่อนยศเป็นพระยาพิชัยผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย รับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในพระราชพงศาวดาร[20]
โดยอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ หัวทุ่งสมรภูมิสวางคบุรี เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนและผู้เคารพศรัทธาในความกล้าหาญของท่านมาช้านาน ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ประชาชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้พร้อมใจกันจัดพิธีเชิญดวงวิญญาณพระยาพิชัยดาบหัก (แทนอัฐิ) ตามโบราณประเพณี และมีพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ฯ โดยมี ฯพณฯ ศาสตราจารย์ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ต่อมาประชาชนได้นำไม้โบราณมาแกะสลักเป็นอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักจากไม้ตะเคียนองค์แรกขนาดเท่าครึ่งเพื่อประดิษฐานในบริเวณดังกล่าวให้ประชาชนผู้เคารพศรัทธาได้ระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญเสียสละของท่าน ในปี พ.ศ. 2561[21] และเททองหล่อประดิษฐานในปี พ.ศ. 2563 ในวาระครบรอบ 250 ปี ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลื่อนยศให้ท่านเป็นพระยาพิชัยครองเมืองพิชัยบ้านเกิด
ในอำเภอพิชัยซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหักในสมัยอยุธยาตอนปลาย และเป็นเมืองที่ท่านเคยผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ประชาชนชาวอำเภอพิชัยต่างยังคงมีความเคารพศรัทธาในวีรกรรมและความกล้าหาญของท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการสร้างศาลเพื่อระลึกถึงพ่อพระยาพิชัยดาบหักในสถานที่ต่าง ๆ
อย่างไรก็ดีศาลที่มีความเก่าแก่และสำคัญกับชาวพิชัยมายาวนานมี 2 แห่ง คือ ศาลท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ณ วงเวียนหลังสถานีรถไฟพิชัย อำเภอพิชัย สร้างเป็นมณฑปจตุรมุขเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน และศาลท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก ณ หน้าวัดมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย ทั้งสองแห่งมีความเก่าแก่และเป็นที่เคารพนับถือของชาวพิชัยมาช้านาน สันนิษฐานว่าสร้างมาก่อนปี พ.ศ. 2513
ในบริเวณด้านข้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ณ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย โดยงบประมาณภาครัฐบางส่วน และบางส่วนจากจิตศรัทธาของประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2539 ด้านซ้ายของอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก สร้างอาคาร "พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก" โดยจัดสร้างและแสดงดาบเหล็กน้ำพี้ขนาดใหญ่ ที่มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักลาย และด้านขวาของอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก สร้างอาคาร "พิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย" ภายในเก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลองสนามรบ และวิถีชีวิตผู้คนเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ โดยสถาปัตยกรรมภายนอกนั้นเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ โดยมีจุดเด่นที่กรอบซุ้มประตูทางเข้านำมารูปแบบมาจากวิหารวัดดอนสัก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นวิหารเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
แม้ในตำนานประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก จะระบุบ้านเกิดของท่านว่าอยู่ที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย แต่ก็ไม่เหลือร่องรอยตำแหน่งบ้านเกิดของท่านแล้วในปัจจุบัน ทำให้ต่อมาเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 หน่วยงานภาครัฐและประชาชนที่เคารพศรัทธาในวีรกรรมของท่าน จึงได้พร้อมใจกันสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก ในเนื้อที่สาธารณประโยชน์ ประมาณ 326 ไร่ บนพื้นที่ หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 บ้านห้วยคา ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ภายในพื้นที่จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนทรงไทย มีการจัดแสดงชีวประวัติพระยาพิชัยดาบหักและมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และมีการจัดสร้างสถูปทรงปรางค์ที่จำลองจากพระปรางค์ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานอัฐิของท่านในวัดราชคฤห์ กรุงเทพมหานคร[22]
แม้ปัจจุบัน จะมีการอัญเชิญเถ้าอัฐิของท่านจากวัดราชคฤห์กลับบ้านเกิดท่านที่อุตรดิตถ์แล้ว แต่เป็นการอัญเชิญทางพิธีนามเท่านั้น ด้วยว่าเจดีย์ที่บรรจุเถ้าอัฐิ ทางวัดราชคฤห์ไม่อนุญาตให้ขุดค้น
หลังการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ได้มีการแต่งคาถาขึ้นเพื่อใช้เป็นบทสวดบูชาเพื่อระลึกถึงท่านจนเป็นที่แพร่หลายในวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยคาถาที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันนั้นสันนิษฐานว่าอาจารย์พิเชษฐ์ แก้วเกตุ เป็นผู้เรียบเรียง[a] ต่อมาศาลและอนุสาวรีย์ที่จัดสร้างโดยผู้ศรัทธาในสถานที่ต่างๆ ได้ใช้คำบูชาแตกต่างกันไป จังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้จัดประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับคำบูชาพระยาพิชัยดาบหัก ในปี พ.ศ. 2566 เพื่อให้ได้คำกล่าวที่สอดคล้องทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย และได้ประกาศใช้คำกล่าวบูชาฉบับปี พ.ศ. 2566 (วิชะยะคุณะปูชาคาถา) และมีการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปได้พิจารณานำคำกล่าวบูชาที่แต่งใหม่ไปใช้ประโยชน์อีกด้วย[26]
ท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหักผู้เป็นทหารเอก ผู้กล้า ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้สละชีพเพื่อชาติไทย เป็นผู้กตัญญู และจงรักภักดี ข้าพเจ้าขอรำลึกถึง อุปการะคุณ และขอนอบน้อมแด่ดวงวิญญาณท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก
ด้วยอานุภาพของท่านพ่อพระยาพิชัยดาบหัก นั้น ขอความทุกข์ทั้งหลาย อุปสรรค และอันตรายทั้งปวงจงพินาศไป ขอความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวง จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ขอสิริมงคล อายุ ชื่อเสียง ลาภ ยศ และชัยชนะ จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ[27]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.