ประเสริฐ บุญสม (25 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535) เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 5 สมัย
ประเสริฐ บุญสม | |
---|---|
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง 17 มีนาคม พ.ศ. 2518 – 8 มกราคม พ.ศ. 2519 | |
นายกรัฐมนตรี | หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
เสียชีวิต | 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 (76 ปี) |
ประวัติ
ประเสริฐ บุญสม เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 ที่ตำบลประตูจีน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของ จ.ส.ต.หมื่นสินศักดิ์สงวน (สิน บุญสม) กับ นางสาย บุญสม มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันคือ นางศิริ วิไลจิตต์[1]
การทำงาน
ประเสริฐ บุญสม เป็นข้าราชการครู สังกัดโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ ก่อนจะเข้าสู่งานการเมือง ในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
งานการเมือง
ประเสริฐ บุญสม เป็นนักการเมืองชาวไทย ด้วยบุคลิกความเป็นคนชอบช่วยเหลือผู้คน[2] จึงได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจัดหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[3] สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน[4]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 แม้ว่าจะห่างจากการเลือกตั้งไปนานกว่าสิบปี เขาก็ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยได้ย้ายไปสังกัดพรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 จากนั้นได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคสังคมชาตินิยม ซึ่งเขาเป็นกรรมการอำนวยการพรรคด้วย[5] ในปี พ.ศ. 2518 และเขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช[6] และพ้นจากตำแหน่งในการปรับคณะรัฐมนตรี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519[7] ซึ่งมีการชักชวนพรรคเกษตรสังคม เข้ามาร่วมรัฐบาล ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในพรรคร่วมรัฐบาล จนนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร ในอีก 3 วันต่อมา
เขาว่างเว้นจากการเป็น ส.ส. ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2519 เนื่องจากเขาลาออกจากพรรคสังคมชาตินิยมซึ่งให้เหตุผลว่าอุดมการณ์ไม่ตรงกัน โดยแพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคเกษตรสังคม คือ สมพงษ์ ตรีสุขี และบุญพันธ์ แขวัฒนะ และกลับมาได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2522 ในนามพรรคชาติไทย
ผลงานที่โดดเด่นคือ การผลักดันให้มีการสร้างโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติครู[8]
นอกจากการเป็น ส.ส.แล้ว นายประเสริฐ ยังเป็นผู้สนับสนุน ผลักดันนักการเมืองหน้าใหม่หลายคน เช่น เผอิญ ศรีภูธร วิเชียร กลิ่นสุคนธ์ อนันต์ บูรณวณิช และอุทัย ชุณหะจันทน
ถึงแก่อนิจกรรม
ประเสริฐ บุญสม ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2524 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[9]
- พ.ศ. 2522 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[10]
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.