Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การยึดกรุงไซ่ง่อน (หรือเรียกว่า การเสียกรุงไซ่ง่อน โดยผู้สนับสนุนเวียดนามใต้[1][2] หรือ การปลดปล่อยไซ่ง่อน โดยผู้สนับสนุนเวียดนามเหนือ)[3] คือการยึดกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ โดยกองทัพประชาชนเวียดนาม (PAVN) และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 เหตุการณ์นี้ทำให้สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง และทำให้ช่วงถ่ายโอนอำนาจไปยังรัฐบาลเวียดนามเหนือเริ่มต้นขึ้น ทำให้เวียดนามทั้งสองฝ่ายกลับมารวมประเทศกันอีกครั้งอย่างเป็นทางการ[4]
การยึดกรุงไซ่ง่อน | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ การรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1975 แห่งสงครามเวียดนาม | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
เวียดนามเหนือ เวียดกงและรัฐบาลปฏิวัติชั่วคราว |
เวียดนามใต้ สนับสนุนโดย: สหรัฐ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
เล สวน หวอ เงวียน ซ้าป หวั่น เตี๋ยง จุ๋ง ทราน แวน ทรา เลอ ดุ๊ค แองห์ เหงียน หั่ว อัน เลอ ทรอง ตัน |
เซือง วัน มิญ หวู่ ฟาน เมา เหงียน ฮู ฮันห์ เหงียน เฟื้อก วิน ห์ล็อก เล เหงียน วี แลม แวน พัต ลี ตง บา | ||||||
กำลัง | |||||||
120,000 | 31,000 | ||||||
|
กองกำลังเวียดนามเหนือที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพลเอกอาวุโสหวั่น เตี๋ยง จุ๋ง เริ่มดำเนินการโจมตีกรุงไซ่ง่อนเป็นครั้งสุดท้าย โดยเริ่มจากการเปิดฉากระดมยิงอย่างหนักจากกองปืนใหญ่ของพลเอกเหวียน วัน ต่วนในวันที่ 29 เมษายน ในตอนบ่าย ทหารเวียดนามเหนือก็สามารถยึดจุดสำคัญ ๆ ภายในเมือง และเชิญธงชาติเวียดนามเหนือขึ้นเหนือทำเนียบประธานาธิบดีแห่งเวียดนามใต้ได้สำเร็จ หลังจากนั้นไม่นานเวียดนามใต้ก็ยอมจำนน กรุงไซ่ง่อนถูกเปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์ ตามชื่อผู้นำการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ โฮจิมินห์ โดยก่อนที่เมืองจะถูกยึด มีการอพยพบุคลากรอเมริกันแทบทั้งหมด ทั้งพลเรือนและทหารออกจากไซ่ง่อน อีกทั้งยังอพยพพลเรือนเวียดนามใต้อีกหลายหมื่นคนที่ทำงานให้กับรัฐบาลเวียดนามใต้ออกจากกรุงไปด้วย การอพยพครั้งนี้ริเริ่มปฏิบัติการฟรีเควียนท์วินด์ (Operation Frequent Wind) ซึ่งเป็นการอพยพทางเฮลิคอปเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์[5] เมื่อสิ้นสุดสงคราม หลังจากที่มีผู้อพยพลี้ภัยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ทำให้จำนวนประชากรของเมืองลดน้อยลงไปอีก ด้วยการให้ประชากรบางส่วนให้ไปอยู่นอกเมือง โดยการบังคับหรือเพื่อแลกกับอาหาร
มีการตั้งชื่อเหตุการณ์นี้อย่างหลากหลาย โดยรัฐบาลเวียดนามมักจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "วันปลดปล่อยภาคใต้เพื่อรวมชาติ" (Giải phóng miền Nam, thống nhất đất nước) หรือ "วันปลดปล่อย" (Ngày Giải Phóng) แต่รายงานตะวันตกมักเรียกเป็น "การเสียกรุงไซ่ง่อน" ชาวเวียดนามลี้ภัยไปยังประเทศอื่นหลายคนเรียกเหตุการณ์นี้เป็น "Ngày mất nước" (วันที่เราเสียประเทศ), "Tháng Tư Đen" (เมษาทมิฬ),[6][7][8][9][10][11] "วันแห่งความอัปยศของชาติ" (Ngày Quốc Nhục) หรือ "วันแห่งความขุ่นเคืองใจของชาติ" (Ngày Quốc Hận)[7][12][13][14][15]
ในประเทศเวียดนาม มีชื่อเรียกแบบเป็นกลางว่า "เหตุการณ์ 30 เมษายน ค.ศ. 1975" (Sự kiện 30 tháng 4 năm 1975) หรือสั้น ๆ ว่า "30 เมษาฯ" (30 tháng 4)
การที่ฐานที่ตั้งของเวียดนามใต้ถูกทำลายติดต่อกันอย่างรวดเร็วใน พ.ศ. 2518 ทำให้ผู้สังเกตการณ์ชาวอเมริกันและเวียดนามใต้ประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง และแม้แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือและแนวร่วมเองก็ยังประหลาดใจ จากบันทึกข้อความที่เขียนโดยหน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (CIA) กับหน่วยข่าวกรองของกองทัพบกที่ตีพิมพ์ในวันที่ 5 มีนาคมแจ้งว่าเวียดนามใต้จะยังสามารถรักษาอธิปไตยไว้ได้ไปตลอดฤดูแล้งฝน คือจนถึงอย่างน้อย พ.ศ. 2519 [16] การคาดการณ์นี้ผิดพลาดไปมาก เพราะในขณะที่บันทึกข้อความถูกปล่อยออกมา พลเอกจุ๋งก็กำลังเตรียมการรุกครั้งใหญ่ตรงบริเวณภูมิภาคที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งการรุกครั้งนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม และนำไปสู่การยึดเมืองบานเมทวด ทำให้กองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) หรือกองทัพเวียดนามใต้ต้องล่าถอยไปอย่างวุ่นวายและได้รับความเสียหายมาก โดยตั้งใจที่จะวางกำลังใหม่ที่ทางตอนใต้สุดของเวียดนาม ซึ่งอาจเป็นดินแดนเวียดนามที่เหลือที่อยู่ทางใต้ของเส้นแวงที่ 13[17]
ด้วยการสนับสนุนจากปืนใหญ่และยานเกราะ ฝ่ายเวียดนามเหนือจึงสามารถเคลื่อนทัพรุกคืบมายังไซ่ง่อน โดยทำการยึดเอาหัวเมืองหลักๆ ของเวียดนามใต้ทางตอนเหนือไว้ได้ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม โดยสามารถยึดเมืองเว้ได้ในวันที่ 25 และเมืองดานังได้ในวันที่ 28 การรุกคืบหน้าทำให้ฝ่ายเวียดนามใต้ทัพแตกและทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพ ซึ่งที่หนีมาจากดานังเมืองเดียวก็มีมากกว่า 300,000 คนแล้ว[18] โอกาสที่จะพลิกโอกาสตีโต้ของเวียดนามใต้จึงลดถอยลงไปทุกวัน และเมื่อหลังจากการเสียเมืองดานังแล้ว โอกาสเหล่านั้นก็แทบจะไม่เหลือเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ CIA ในเวียดนามก็เห็นเป็นเช่นนั้น และคิดว่าคงไม่มีอะไรนอกจากการใช้เครื่องบิน B-52 ทิ้งระเบิดใส่กรุงฮานอย ที่จะทำให้การบุกของเวียดนามเหนือชะงักลงได้[19]
ในวันที่ 8 เมษายน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามเหนือ ที่แนะนำให้จุ๋งใช้ความระมัดระวังในเดือนมีนาคม ได้ส่งโทรเลขไปหาเขาเพื่อขอให้เขา "ทำการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งจนกว่าจะถึงใจกลางของไซ่ง่อน" [20] ในวันที่ 14 เมษายน ฝ่ายเวียดนามเหนือก็เปลี่ยนชื่อการทัพเป็น "การทัพโฮจิมินห์" ตามชื่อของผู้นำการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ โฮจิมินห์ โดยตั้งใจว่าจะบรรลุเป้าหมายก่อนวันเกิดของโฮจิมินห์ในวันที่ 19 พฤษภาคม[21] ขณะเดียวกัน เวียดนามใต้ก็ล้มเหลวในการหาการสนับสนุนเพิ่มเติมทางทหารจากสหรัฐฯ ในระดับที่มีความสำคัญ ดับความหวังของประธานาธิบดีเหวียน วัน เตี่ยวที่จะได้รับการสนับสนุนอีกครั้งจากอเมริกา
ในวันที่ 9 เมษายน กองทัพเวียดนามเหนือก็มาถึงเขตซวนลค แนวป้องกันสุดท้ายก่อนจะถึงไซ่ง่อน ที่ๆ กองพลเวียดนามใต้ที่ 18 ยืนหยัดต่อสู้ทหารเวียดนามเหนืออย่างดุเดือดในยุทธการซวนลค อยู่หลายวันจนกระทั่งกองทัพเวียดนามเหนือสามารถใช้กำลังที่มีอยู่มหาศาล ยึดซวนลคได้สำเร็จในวันที่ 20 เมษายน และในวันที่ 21 เมษายน ประธานาธิบดีเตี่ยวแถลงการณ์ลาออกทางโทรทัศน์ทั้งน้ำตา พร้อมกับตำหนิสหรัฐฯ ที่ไม่ยอมมาช่วยเหลือเวียดนามใต้[22] แนวหน้าของฝ่ายเวียดนามเหนือในตอนนี้อยู่ห่างใจกลางกรุงไซ่ง่อนไปเพียง 42 กิโลเมตร[23] และชัยชนะที่ซวนลค ทำให้ทหารเวียดนามใต้เป็นจำนวนมากถอนกำลังออกไปจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง[23] เปิดทางให้กองทัพเวียดนามเหนือปิดล้อมกรุงไซ่ง่อน และในเวลาไม่นานพวกเขาก็ทำเช่นนั้น ด้วยการเคลื่อนกำลังพล 100,000 นายไปยังตำแหน่งรอบๆ เมืองในวันที่ 27 เมษายน ในเมื่อกองทัพเวียดนามใต้เองเหลือผู้ป้องกันเมืองหลวงเพียงเล็กน้อย อนาคตที่อยู่ข้างหน้าเมืองนี้ก็ชัดเจน
การรุกคืบอย่างรวดเร็วของเวียดนามเหนือในเดือนมีนาคมและต้นเมษายนทำให้เกิดความวิตกในไซง่อน ซึ่งเป็นเมืองที่เงียบสงบมาตลอดสงคราม และไม่ค่อยความลำบากใดๆ กับชาวเมือง กลับกลายเป็นเมืองที่กำลังจะถูกโจมตีโดยตรง[24] คนจำนวนมากกลัวว่าเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองเมืองแล้ว จะเกิดการล้างแค้นด้วยเลือด เมื่อปี พ.ศ. 2511 กองกำลังผสมระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือ และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (เวียดกง) สามารถยึดครองเมืองเว้มาได้เกือบเดือน หลังจากที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกตีโต้ออกไปจากเมือง กองกำลังอเมริกันและเวียดนามใต้ก็พบสุสานขนาดใหญ่ การศึกษาเพื่อเตรียมภารกิจของสหรัฐฯ ในเวียดนามระบุว่า ฝ่ายคอมมิวนิสต์พุ่งเป้าไปที่นายทหารเวียดนามใต้, ชาวแคทอลิก, ปัญญาชน, นักธุรกิจและผู้ที่ต้องสงสัยเป็นนักต่อต้านการปฏิวัติคนอื่นๆ[25] และก่อนการบุกไม่นาน ก็มีชาวอเมริกาแปดนายถูกจับตัวไปในเมืองบานเมอถวก พวกเขาหายตัวไปและมีข่าวมาถึงเมืองเว้และดานังว่าพวกเขาถูกตัดศีรษะหรือถูกประหารด้วยวิธีการอื่นๆ แต่รายงานดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธโดยโฆษณาสงครามของรัฐบาลเวียดนามใต้[26] ชาวอเมริกันและชาวตะวันตกเป็นจำนวนมากต้องการอพยพออกจากไซ่ง่อน ก่อนที่กรุงจะแตก ในขณะที่ชาวเวียดนามใต้ส่วนใหญ่ก็ต้องหนีออกจากเมืองเช่นกัน
เมื่อถึงตอนปลายเดือนมีนาคม ก็เริ่มมีชาวอเมริกันบางส่วนหนีออกจากเมืองบ้างแล้ว อย่างในวันที่ 31 มีนาคม[27] ก็มีกว่าสิบครอบครัวที่ออกจากเมือง เที่ยวบินออกจากไซ่ง่อน ซึ่งปกติมักจะไม่มีคนจองนั้นเต็มหมด[28] ตลอดเดือนเมษายน การอพยพเป็นไปอย่างเร่งรีบยิ่งขึ้น เมื่อสำนักงานประสานงานกลาโหม (DAO) เริ่มที่จะส่งบุคลากรที่ไม่สำคัญออกไปทางเครื่องบิน ชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากที่เป็นผู้ประสานงานให้กับ DAO ปฏิเสธที่จะออกจากเมือง ถ้าไม่ได้นำเพื่อนและบริวารชาวเวียดนาม ซึ่งรวมไปถึงภรรยาตามกฎหมายและลูก การจะนำบุคคลเหล่านี้เข้าไปในสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าผิดกฎหมาย ทำให้ DAO ไม่สามารถยินยอมตามข้อเรียกร้อง และทำให้อัตราการออกเมืองช้าลงไปเล็กน้อยในช่วงแรก แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อ DAO ก็เริ่มส่งชาวเวียดนามที่ไม่มีเอกสารเข้าเมืองไปยังฐานทัพอากาศคลาร์คในฟิลิปปินส์อย่างผิดกฎหมาย[29]
ในวันที่ 3 เมษายน ประธานาธิบดีเจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ดแห่งสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศให้เริ่มปฏิบัติการเบบีลิฟท์ ซึ่งเป็นการอพยพเด็กกำพร้าประมาณ 2,000 คนออกมาจากประเทศ แต่เครื่องบิน C-5A กาแลคซี ลำหนึ่งที่เข้าร่วมปฏิบัติการเกิดตก ทำให้ผู้โดยสาย 138 คนเสียชีวิต และบั่นทอนกำลังใจของเจ้าหน้าที่อเมริกันอย่างมาก[30] นอกจากเด็กกำพร้า 2,000 คนที่ถูกอพยพในปฏิบัติการเบบีลิฟท์แล้ว ปฏิบัติการนิวไลฟ์ยังทำการอพยพชาวเวียดนามอีกกว่า 110,000 คน
เมื่อรัฐบาลของ ปธน. ฟอร์ดเริ่มวางแผนที่จะอพยพบุคลากรอเมริกันทั้งหมดออกจากเวียดนาม ก็ต้องประสบกับความยุ่งยากในด้านการนำแผนไปปฏิบัติงาน อีกทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวปัญหาทางยุทธศาสตร์และทางกฎหมาย คนในรัฐบาลเห็นไม่ตรงกันว่าควรจะดำเนินการอพยพเร็วแค่ไหน กระทรวงกลาโหมต้องการให้อพยพคนออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุอื่นๆ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเวียดนามใต้ แกรห์ม มาร์ติน ซึ่งในทางเทคนิคแล้วจะต้องเป็นผู้ควบคุมการอพยพใดๆ ในภาคสนาม เนื่องจากการอพยพนั้นตกอยู่ในขอบเขตอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศ มาร์ตินได้รับเสียงตำหนิจำนวนมากจากคนในกระทรวงกลาโหมเนื่องจากเขาต้องการให้การอพยพเป็นไปอย่างสงบและเป็นระเบียบมากที่สุด เพื่อป้องการไม่ให้เกิดความโกลาหล และลดความเป็นไปได้ของการที่ชาวเวียดนามใต้จะหันมาต่อต้านชาวอเมริกัน และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดอย่างไม่ยั้งมือ
ปธน. ฟอร์ดอนุมัติแผนที่เป็นทางสายกลาง โดยชาวอเมริกันทั้งหมด ลบ 1,250 คน (จำนวนที่ถูกลบคือจำนวนคนที่น้อยพอที่จะอพยพทางเฮลิคอปเตอร์ได้ภายในวันเดียว) จะถูกอพยพอย่างเร่งด่วน ส่วนอีก 1,250 คนทีเหลือจะอพยพก็ต่อเมื่อสนามบินถูกคุมคาม ระหว่างนั้น จะทำการอพยพชาวเวียดนามให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้[31]
ในขณะเดียวกัน มาร์ตินเริ่มทยอยปล่อยวีซ่าออกนอกประเทศมาเพื่ออนุญาตให้ทุกคนที่ต้องการจะออกจากกรุงไซ่ง่อน สามารถทำได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ นอกจากนี้ มาร์ตินกับรองเอกอัครราชทูต วูลฟ์แกง เลห์แมน ยังเริ่มปล่อยให้ชาวเวียดนามใต้ออกนอกประเทศโดยไม่แจ้งกระทรวงกลาโหม
แผนการอพยพของอเมริกามีขึ้นทั้งที่ขัดแย้งกับนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล ปธน. ฟอร์ดยังหวังที่จะขอความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมให้กับเวียดนามใต้ได้ ตลอดทั้งเดือนเมษายน เขาพยายามที่จะขอให้รัฐสภาคองเกรสอนุมัติการจัดสรรงบประมาณ 722 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะนำไปใช้ในการฟื้นฟูกองกำลังเวียดนามใต้บางส่วนที่ถูกทำลายไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เฮนรี คิสซินเจอร์คัดค้านการอพยพเต็มรูปแบบตราบใดที่ตัวเลือกที่จะส่งความช่วยเหลือยังอยู่บนโต๊ะเจรจา เนื่องจากการถอนกำลังอเมริกันออกจะส่งสัญญาณออกไปว่า ปธน. เตี่ยวเสียความไว้วางใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้อำนาจทางการเมืองของเขาอ่อนแอลงอย่างยิ่ง[32]
นอกจากนี้ ยังเกิดความกังวลภายในรัฐบาลว่าการใช้กำลังทหารเพื่อสนับสนุนการอพยพนั้นถูกกฎหมายหรือไม่ ภายใต้ข้อมติอำนาจยามสงครามที่เพิ่งผ่านเป็นกฎหมายออกมา ในที่สุด นักกฎหมายของรัฐบาลก็ตีความข้อกฎหมายออกมาได้ว่า การใช้กำลังทหารอเมริกันในการช่วยเหลือพลเรือนในยามฉุกเฉินนั้นไม่น่าจะฝ่าฝืนข้อกฎหมาย แต่ประเด็นว่าด้วยการใช้ทรัพยากรทางทหารเพื่ออพยพผู้ลี้ภัยนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าผิดกฎหมายหรือไม่[33] การอพยพออกจากกรุงไซ่ง่อนยังต้องแย่งทรัพยากรกับการอพยพที่กำลังเกิดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งถูกยึดครองในวันที่ 17 เมษายน
ในขณะที่พลเมืองอเมริกันได้รับการรับรองว่าจะออกจากประเทศได้อย่างง่ายดาย แค่เพียงรายงานตัวที่ศูนย์อพยพ ชาวเวียดนามใต้ที่ต้องการออกจากไซ่ง่อนก่อนที่เมืองจะถูกยึด จำเป็นต้องไปหาทางกันเอาเอง การใช้เงินใต้โต๊ะเพื่อขอหนังสือเดินทางและวีซ่าออกนอกประเทศเพิ่มขึ้นถึงหกเท่าตัว และราคาของค่าขึ้นเรือออกทะเลเพิ่มขึ้นสามเท่า[34] ผู้ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเมืองถูกบังคับให้ขายสินทรัพย์ในราคาที่ขาดทุนจากเดิมมา หรือไม่ก็ต้องทิ้งที่ดินไปเลย ราคาสอบถามของบ้านสวยหลังหนึ่งถูกหั่นลงไปร้อยละ 75 ภายในระยะเวลาสองสัปดาห์[35] วีซ่าอเมริกันมีมูลค่ามหาศาล และคนเวียดนามที่ต้องการได้ผู้อนุเคราะห์ชาวอเมริกันต่างก็ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ นี่คือข้อความตัวอย่างจากโฆษณาเหล่านี้อันหนึ่ง "หาพ่อแม่บุญธรรม เด็กนักเรียนยากไร้ใจขยัน" ตามด้วยชื่อ, วันเกิดและเลขบัตรประจำตัวประชาชน[36]
ในขณะที่เวียดนามเหนือรุกคืบเข้ามาในเวียดนามใต้เรื่อยๆ การต่อต้านปธน. เตี่ยวจากในประเทศก็เริ่มสะสม อย่างในเดือนเมษายน เมื่อวุฒิสภาลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์เพื่อแสดงท่าทีเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ และผู้บัญชาการทหารระดับสูงสุดบางคนกดดันให้มีการก่อรัฐประหาร เพื่อลดแรงกดดัน ปธน. เตี่ยนจึงทำการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเติ่น เตียน เฟียมก็ประกาศลาออก[37] การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ค่อยช่วยลดแรงต่อต้านต่อปธน. เตี่ยวสักเท่าไรนัก และในวันที่ 8 เมษายน นักบินชาวเวียดนามใต้ และสายลับให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์เหวน ตันห์ ตรุง ได้ทำการลอบวางระเบิดทำเนียบประธานาธิบดี และหลบหนีไปทางลานบินของกองทัพเวียดนามเหนือ ปธน.เตี่ยนไม่ได้รับบาดเจ็บ[38]
คนจำนวนมากในคณะทูตของอเมริกา โดยเฉพาะมาร์ติน และบุคลากรสำคัญบางคนจากวอชิงตัน เชื่อว่าการเจรจากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ยังเป็นไปได้ โดยเฉพาะถ้าไซ่ง่อนยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางการทหารเอาไว้ได้ ท่านทูตมาร์ตินยังหวังไว้ว่าผู้นำของเวียดนามเหนือจะยินยอมให้ทหารอเมริกันค่อยๆ ถอนกำลังออกไปเป็นระยะๆ ซึ่งรวมไปถึงการอพยพชาวอเมริกันทั้งหมด และชาวเวียดนามที่มีประโยชน์ออกไป และถอนกำลังทหารทั้งหมดออกไป ภายในระยะเวลาหลายเดือน
มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับผลที่เตี่ยวในฐานะผู้นำรัฐบาลมีต่อการแก้ปัญหาทางการเมือง[39] รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลปฏิวัติเฉพาะกาลกล่าวในวันที่ 2 เมษายน ว่ารัฐบาลเฉพาะกาลอาจจะยอมเจรจากับรัฐบาลไซง่อนถ้ารัฐบาลนั้นไม่มีเตี่ยวอยู่ ทำให้แรงกดดันที่จะขับไล่เตี่ยวออกจากตำแหน่งเพิ่มขึ้น แม้แต่ในเหล่าผู้สนับสนุนของเตี่ยวเอง[40]
ประธานาธิบดีเตี่ยวประกาศลาออกในวันที่ 21 เมษายน โดยถ้อยแถลงลาออกของเขานั้นมีท่าทีที่ตำหนิรัฐบาลสหรัฐฯ มากเป็นพิเศษ โดยโทษสหรัฐฯ ที่บีบให้เวียดนามใต้ยอมลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีส และล้มเหลวในการสนับสนุนเวียดนามใต้ หลังจากที่เวียดนามใต้ยอมรับข้อตกลง ในขณะที่เรียกร้องให้เวียดนามใต้ "ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนให้เอาหินไปถมทะเล"[41] ตำแหน่งประธานาธิบดีถูกส่งต่อไปให้กับรองประธานาธิบดีตรัน วัน เฮือง ความเห็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการกระจายเสียงผ่านวิทยุฮานอย กล่าวว่ารัฐบาลใหม่ก็แค่รัฐบาลหุ่นกระบอกอีกชุดหนึ่งเท่านั้น[42]
ในวันที่ 27 เมษายน ไซง่อนถูกโจมตีจากจรวดของกองทัพเวียดนามเหนือ 3 ลูก เป็นจรวดชุดแรกในระยะกว่า 40 เดือน[23]
ก่อนรุ่งสางของวันที่ 29 เมษายน ท่าอากาศยานเตินเซินเญิ้ตถูกโจมตีจากจรวดและกระสุดปืนใหญ่หนัก ในการระดมยิงชุดแรก เครื่องบิน C-130R แห่งกองบินขนส่งทางอากาศเชิงกลยุทธที่ 314 ที่ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่จากกองบินขนส่งทางอากาศเชิงกลยุทธที่ 374 ที่บินมาจากฐานทัพอากาศคลาร์คในฟิลิปปินส์ถูกจรวดทำลายในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ไปบนลานบินเพื่อรับผู้อพยพ นักบินและเจ้าหน้าที่สามารถอพยพออกมาจากเครื่องบินที่กำลังลุกไหม้ได้ทันเวลา และขึ้นเครื่องบิน C-130 อีกลำหนึ่งที่ลงจอดก่อนหน้านี้ออกจากสนามบิน การระดมยิงจรวดอย่างต่อเนื่องและเศษซากบนลานบินทำให้พลเอกโฮเมอร์ ดี. สมิธ ผู้ประสานงานกลาโหมในไซ่ง่อน แนะนำให้ท่านทูตมาร์ตินทราบว่าลานบินไม่เหมาะกับการใช้ และให้ดำเนินการอพยพฉุกเฉินทางเฮลิคอปเตอร์แทน[43]
ก่อนหน้านี้ ท่านทูตมาร์ตินตั้งใจเต็มที่ ที่จะใช้เครื่องบินปีกตรึงในการอพยพออกจากฐานทัพ แผนนี้ต้องเปลี่ยนอย่างกะทันหันระหว่างช่วงเวลาวิกฤต เมื่อนักบินเวียดนามใต้คนหนึ่งตัดสินใจที่จะเปลี่ยนฝ่าย และทิ้งระเบิดลงมาบนทางขึ้นเครื่องบินที่ยังไม่ถูกทำลายจากการระดมยิง
ภายใต้แรงกดดันจากคิสซิงเจอร์ มาร์ตินสั่งบังคับให้นาวิกโยธินที่คุ้มกันเขาอยู่พาเขาไปยังฐานทัพอากาศระหว่างที่มีการระดมยิงอยู่ เพื่อที่เขาสืบให้แน่ใจด้วยตนเอง หลังจากที่เห็นแล้วว่าการอพยพโดยใช้เครื่องบินปีกตรึงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม (เป็นสิ่งที่มาร์ตินไม่อยากตัดสินใจ โดยที่ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงเสียก่อน ในกรณีที่การอพยพโดยเฮลิคอปเตอร์ล้มเหลว) มาร์ตินจึงอนุญาตให้การอพยพโดยเฮลิคอปเตอร์เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง
มีรายงานเข้ามาจากรอบนอกเมืองว่าฝ่ายเวียดนามกำลังเคลื่อนทัพเข้ามา[44] ในเวลา 10.48 น. มาร์ตินชี้แจงกับคิสซิงเจอร์ว่าเขาต้องการให้เริ่มดำเนินตามแผนอพยพฟรีเควียนท์วินด์ อีก 3 นาที คิสซิงเจอร์จึงออกคำสั่ง สถานีวิทยุอเมริกันเริ่มเล่นเพลงไวท์คริสต์มาส ของเออร์วิง เบอร์ลินต่อเนื่องกัน เพื่อเป็นสัญญาณให้บุคลากรอเมริกันเดินทางไปยังจุดอพยพในทันที[45]
ในแผนนี้ เฮลิคอปเตอร์รุ่น CH-53 และ CH-46 จะถูกใช้ในการอพยพคนอเมริกันและคนเวียดนามที่เป็นมิตรไปยังเรือ ซึ่งรวมไปถึงเรือในกองเรือรบที่ 7 ที่อยู่ในทะเลจีนใต้[46] ศูนย์อพยพหลักอยู่ที่สำนักงาน DAO ที่เตินเซินเญิ้ต รถโดยสารวิ่งตัดเมืองเพื่อรับผู้โดยสารและพาผู้โดยสารไปยังสนามบิน รถโดยสารชุดแรกมาถึงเตินเซินเญิ้ตก่อนเที่ยงตรงไม่นานนัก เฮลิคอปเตอร์ CH-53 ลำแรกลงจอดที่สำนักงาน DAO ในตอนบ่าย และเมื่อถึงตอนเย็น ชาวอเมริกัน 395 คน และชาวเวียดนามกว่า 4,000 คนได้รับการอพยพ เมื่อถึงเวลา 23.00 น. นาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ให้การคุ้มกัน เริ่มถอนกำลังออกและจัดการเตรียมระเบิดทะลายสำนักงาน DAO รวมไปถึงอุปกรณ์, เอกสาร, และเงินของฝ่ายอเมริกัน เฮลิคอปเตอร์ UH-1 ของสายการบินแอร์อเมริกายังมีส่วนร่วมในการอพยพอีกด้วย.[47]
แผนการอพยพดั้งเดิมนั้นไม่ได้รวมการอพยพขนานใหญ่ที่สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงไซ่ง่อน แต่มอบหมายให้เฮลิคอปเตอร์และรถโดยสารขนย้ายคนจากสถานทูตไปยังสำนักงาน DAO อย่างไรก็ตาม ระหว่างการอพยพ มีคนติดอยู่สถานทูตอยู่หลายพันคน ซึ่งมีรวมไปถึงชาวเวียดนามเป็นจำนวนมาก และยังมีพลเรือนชาวเวียดนามที่อยู่ข้างนอกสถานทูตพยายามปีนกำแพงเข้ามา โดยหวังที่จะได้สถานะผู้ลี้ภัย พายุฝนที่กระหน่ำลงทำให้ปฏิบัติการโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ยุ่งยากขึ้นไปอีก แต่การอพยพคนจากสถานทูตก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเย็นและกลางคืน
ในเวลา 3.45 น. ของวันที่ 30 เมษายน การอพยพผู้ลี้ภัยหยุดชะงักลง ก่อนหน้านี้ท่านทูตมาร์ตินยังคงสั่งให้ชาวเวียดนามใต้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกับคนอเมริกัน แต่คิสซิงเจอร์และฟอร์ดสั่งให้มาร์ตินอพยพเฉพาะคนอเมริกันเท่านั้นจากจุดนี้ไป
มาร์ตินประกาศอย่างไม่เต็มใจว่าให้อพยพเฉพาะคนอเมริกันตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เนื่องจากกังวลว่าฝ่ายเวียดนามเหนือจะยึดเมืองได้เสียก่อน และเนื่องจากรัฐบาล ปธน. ฟอร์ดต้องการให้ดำเนินการอพยพชาวอเมริกันให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว[48] ฟอร์ดยังสั่งให้มาร์ตินขึ้นเฮลิคอปเตอร์อพยพด้วย
รหัสเรียกเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นคือ "เลดี้เอซ 09" โดยเจรี เบอร์รี นักบินเฮลิคอปเตอร์ได้รับคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดีฟอร์ด ให้พาเอกอัครราชทูตมาร์ตินขึ้นมาบนเครื่องให้ได้ โดโรธี ภรรยาของท่านทูตมาร์ตินถูกอพยพไปก่อนหน้านี้แล้ว และทิ้งกระเป๋าเอกสารส่วนตัวของเธอเพื่อให้ผู้หญิงชาวเวียดนามใต้เบียดขึ้นมาบนเครื่องได้
เลดี้เอซ 09 จากกองบินโรเตอร์เอียงขนาดกลางแห่งนาวิกโยธินที่ 165 ที่มีเบอร์รีเป็นนักบิน ออกบินเวลาประมาณ 5.00 น. ถ้ามาร์ตินปฏิเสธที่จะขึ้นเครื่อง ทหารนาวิกโยธินได้รับคำสั่งพิเศษให้จับกุมเขาและพาเขาออกไปเพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะปลอดภัย[49] การอพยพสถานทูตสามารถอพยพชาวอเมริกัน 978 คน และชาวเวียดนามอีก 1,100 คน นาวิกโยธินที่คุ้มกันสถานทูตตามออกมาเมื่อรุ่งสาง โดยเฮลิคอปเตอร์ลำสุดท้ายออกมาตอน 7.53 น. มีคนเวียดนาม 420 คนถูกทิ้งไว้ในสถานทูต[50] และยังมีฝูงชนที่รวมตัวกันอยู่นอกกำแพงอีก
ชาวอเมริกันและผู้ลี้ภัยที่ถูกพาออกไป สามารถอพยพออกไปได้โดยไม่ถูกแทรกแซงจากทั้งเวียดนามเหนือและใต้ นักบินเฮลิคอปเตอร์ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังเตินเซินเญิ้ตทราบดีว่าปืนต่อสู้อากาศยานของกองทัพเวียดนามเหนือกำลังจับเป้าอยู่แต่ไม่ยิง เนื่องจากฝ่ายบริหารจากฮานอยรู้ว่าความสำเร็จของการอพยพจะช่วยลดความเสี่ยงที่ฝ่ายอเมริกันจะกลับมาแทรกแซง และได้ให้คำสั่งกับจุ๋งอย่างชัดเจนว่าไม่ให้โจมตีการอพยพทางอากาศ[51] ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในไซ่ง่อนได้รับการสัญญาว่าจะถูกอพยพออกเพื่อแลกเปลี่ยนกับการคุ้มกันรถโดยสารที่ขนผู้อพยพของอเมริกา และควบคุมฝูงชนภายในเมืองระหว่างการอพยพ[52]
แม้ว่านี่จะเป็นจุดสิ้นสุดของปฏิบัติการอพยพของอเมริกา ชาวเวียดนามยังคงพยายามออกนอกประเทศทางเรือและทางอากาศถ้าเป็นไปได้ นักบินชาวเวียดนามใต้ที่สามารถเข้าถึงเฮลิคอปเตอร์ได้บินออกนอกชายฝั่งไปยังกองเรือรบอเมริกัน ที่ๆ เขาสามารถลงจอดได้ คนที่หนีออกจากเวียดนามใต้ยังด้วยวิธีนี้รวมไปถึงพลเอกเหวน เกา เก่ เฮลิคอปเตอร์ของเวียดนามใต้ส่วนใหญ่ที่ลงจอดบนเรืออเมริกันถูกทิ้งลงทะเลเพื่อเปิดทางบนดาดฟ้าเรือให้กับเฮลิคอปเตอร์ลำอื่น[52] นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินขนาดเล็กอื่นๆ ที่ลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันอีกด้วย[53]
ท่านทูตมาร์ตินบินออกจากสถานทูตไปยังเรือ ยูเอสเอส บลูริดจ์ ที่ซึ่งเขาขอร้องให้เฮลิคอปเตอร์กลับไปยังสถานทูตเพื่อรับผู้ที่ยังหวังจะลี้ภัยอีกสองสามร้อยคน แต่คำร้องของเขาถูกประธานาธิบดีฟอร์ดปฏิเสธ ถึงกระนั้น มาร์ตินยังสามารถโน้มน้าวให้กองเรือรบที่เจ็ดอยู่กับที่อีกหลายวันเพื่อรอคนเวียดนามที่อาจหนีมาได้ทางเรือหรือเครื่องบิน เพื่อให้ทหารอเมริกันที่รออยู่ช่วยเหลือ
ชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากที่อพยพออกมาได้รับอนุญาตให้เข้ามาอาศัยในสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบัญญัติช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและการอพยพจากอินโดจีน
หลายทศวรรษต่อมา เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังมาสานความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามอีกครั้ง สถานทูตประจำกรุงไซ่ง่อนก็ถูกส่งคืนให้กับสหรัฐฯ ขั้นบันไดที่นำไปสู่เฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าถือเป็นวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และถูกนำไปจัดแสดงอย่างถาวรที่พิพิธภัณฑ์ประธานาธิบดีเจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ดในเมืองแกรนด์แรพิดส์ รัฐมิชิแกน
ในเวลา 6.00 น. ของวันที่ 29 เมษายน พลเอกจุ๋งได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ (โพลิตบูโร) "ให้โจมตีด้วยความมุมานะสูงสุดเพื่อเข้าไปสู่ฐานที่มั่นสุดท้ายของศัตรู"[54]
ในตอนเช้าของวันที่ 29 เมษายน ยังมีเฮลิคอปเตอร์ของสายการบินแอร์อเมริกาเป็นจำนวนมากที่ยังอยู่ในเตินเซินเญิ้ต หลังเวลา 7.35 น. ไม่นานนัก เฮลิคอปเตอร์ UH-1 เป็นจำนวนเริ่มบินออกจากลานจอดบนดาดฟ้ารอบเมือง ไปยังเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่อยู่นอกชายฝั่ง เครื่องบินปีกตรึงแต่ละลำมีนักบินประจำเครื่อง แต่เพราะเกิดความสับสน นักบินเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถเดินไปถึงสนามบินได้ เรืออากาศเอกอี.จี. อะดัมส์ได้รับมอบหมายให้เป็นนักบินของเครื่องบินที่ชื่อว่าโวลพาร์ บีช และจะเป็นนักบินคนที่สุดท้ายที่จะออกจากลานจอดของแอร์อเมริกา (บุคลากรคนอื่นอพยพไปยังศูนย์บัญชาการช่วยเหลือทางทหารหมดแล้ว) และยังมีเครื่องบิน C-46 ที่เต็มไปด้วยผู้อพยพจอดอยู่ อะดัมส์ขึ้นเครื่องบินและเป็นเครื่องบินปีกตรึงลำสุดท้ายที่บินออกจากไซ่ง่อนในการอพยพ
หลังจากทำการยิงถล่มและค่อยๆ รุกคืบเข้าไปเป็นเวลาหนึ่งวัน ฝ่ายเวียดนามเหนือก็พร้อมที่จะทำการบุกตะลุยครั้งใหญ่เข้าไปในเมือง ในช่วงเช้าของวันที่ 30 เมษายน จุ๋งได้รับคำสั่งจากโพลิตบูโรให้โจมตี เขาจึงสั่งให้ผู้บัญชาการภาคสนามเคลื่อนทัพตรงไปยังสาธารณูปโภคสำคัญและจุดยุทธศาสตร์ในเมือง[55] หน่วยของกองทัพเวียดนามเหนือหน่วยแรกที่เข้าไปในเมืองคือกองร้อยที่ 324[56] ประธานาธิบดีดูง วัน มินห์แห่งเวียดนามใต้ ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งมาได้สามวัน ออกแถลงการณ์ยอมจำนนเมื่อเวลา 10.24 น. และขอให้กองกำลังเวียดนามใต้ "หยุดต่อสู้ อยู่ในความสงบ และไม่เคลื่อนพลไปไหน" และเชิญรัฐบาลปฏิวัติเฉพาะกาลมาร่วม "พิธีถ่ายโอนอำนาจอย่างเป็นระเบียบเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อของประชากรอย่างไม่จำเป็น"[57]
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเวียดนามเหนือไม่สนใจที่จะเจรจาเพื่อครอบครองเมืองอย่างสันติ และใช้กำลังเข้ายึดเมือง และจับกุมมินห์ ประตูทำเนียบอิสรภาพถูกทำลายโดยรถถังของกองทัพเวียดนามเหนือขณะที่กำลังเข้าไป และธงเวียดกงถูกเชิญขึ้นเหนือทำเนียบในเวลา 11.30 น. ในเวลา 15.30 น. มินห์กระจายเสียงไปทางวิทยุ โดยแถลงว่า "ข้าพเจ้าประกาศรัฐบาลไซ่ง่อนสิ้นสุดลงในทุกระดับขั้น" การล่มสลายของรัฐบาลเวียดนามใต้จึงถือเป็นการยุติสงครามเวียดนามอย่างมีประสิทธิผล
ฝ่ายคอมมิวนิสต์เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นนครโฮจิมินห์ ตามชื่อของอดีตประธานาธิบดีเวียดนามเหนือ แต่ตัวชื่อเองไม่ค่อยถูกใช้นัก นอกจากในธุระทางการ[58] ความสงบค่อยๆ กลับคืนมา แม้ว่ากิจการและธุรกิจเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงสถานทูตสหรัฐฯ ที่ถูกทิ้งร้างจะถูกปล้นไปหมดแล้ว ในขณะการติดต่อสื่อสารสู่โลกภายนอกถูกตัด ฝ่ายคอมมิวนิสต์พบว่า กลไกของพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้นั้นอ่อนแอลงไป ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากโครงการฟีนิกซ์ของ CIA ที่กำจัดเวียดกงไปเป็นจำนวนมาก กองทัพเวียดนามเหนือจึงทำหน้าที่ในการรักษาความสงบแทน พลเอกเตรียน วัน ตรา รองของพลเอกจุ๋ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการชั่วคราว[56] ทางการคอมมิวนิสต์ใหม่จัดงานเดินขบวนฉลองชัยชนะในวันที่ 7 พฤษภาคม[59]
ตามข้อมูลของรัฐบาลฮานอย ชาวเวียดนามใต้มากกว่า 200,000 คน ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและทหารถูกส่งไปยัง "ค่ายอบรมใหม่" ที่ๆ พวกเขาต้องเผชิญกับทารุณกรรม, โรคภัยไข้เจ็บและความอดอยาก[60]
จุดมุ่งหมายอีกข้อหนึ่งของรัฐบาลคอมมิวนิสต์คือการลดจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในไซ่ง่อน ซึ่งกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยคนที่เพิ่งเข้ามาอาศัยอยู่ระหว่างช่วงสงครามเป็นจำนวนมาก ทำให้มีมีปัญหาประชากรหนาแน่นเกินไปและมีอัตราการว่างงานสูง รัฐบาลทำการจัดตั้งชั้นเรียนเพื่ออบรมใหม่ให้กับอดีตทหารเวียดนามใต้ ที่ระบุให้นักเรียนย้ายออกจากเมืองไปทำกสิกรรมเพื่อแลกกับการได้รับสถานะพลเมืองของสังคมคืนมา มีการแจกข้าวให้กับคนยากจนเพื่อแลกกับสัญญาที่จะออกจากไซ่ง่อนไปยังชนบท ตามข้อมูลของรัฐบาล ภายในสองปีของการยึดเมือง มีคนย้ายออกจากไซ่ง่อนหนึ่งล้านคน[58]
วันที่ 30 เมษายนถูกจัดให้เป็นวันรวมประเทศ หรือวันปลดแอก (Ngày Giải Phóng) ซึ่งถือเป็นวันนักขัตฤกษ์ในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม วันที่เวียดนามรวมประเทศกันอย่างเป็นทางการคือวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2519
มีการถกเถียงกันว่าการอพยพถือเป็นความสำเร็จหรือไม่ หลังจากสิ้นสุดสงคราม ปฏิบัติการฟรีเควียนท์วินด์ได้รับการประเมินโดยทั่วว่าเป็นความสำเร็จในระดับน่าพึงพอใจ แม้แต่หวั่น เตี๋ยง จุ๋งยังยอมรับในหนังสือบันทึกความทรงจำของเขา และหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สกล่าวว่าการอพยพถูกจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและกล้าหาญ[61] แต่ก็มีการตำหนิว่าการอพยพทางอากาศนั้นช้าเกินไปและไม่เด็ดขาด ทำให้อพยพประชาชนและทหารชาวเวียดนาม ที่ร่วมงานกับสหรัฐฯ ได้ไม่มากพอ
เอกอัครราชทูตมาร์ตินไม่สนใจคำตำหนิและกล่าวโทษ และไม่อธิบายแรงจูงใจใดๆ ของสิ่งที่เขาทำไปให้สื่อรับฟัง การกระทำของมาร์ตินสามารถตีผลออกได้สองด้าน ด้านหนึ่งเขาคือคนที่ยอมให้คนเวียดนามใต้ที่อาจจะหนีไม่พ้น หนีไปได้ แต่อีกด้านหนึ่ง เขาก็เป็นคนที่ทิ้งให้ชาวเวียดนามอีกหลายพันคนที่เหลือไม่สามารถหนีรอดไปได้ การอพยพอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียชีวิตคนอเมริกัน หรืออาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ตอนเริ่มการอพยพ ประธานาธิบดีฟอร์ดและเฮนรี คิสซิงเจอร์คำนึงถึงเพียงแค่การอพยพบุคลากรอเมริกันที่สำคัญอยู่แล้ว
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประมาณการว่ามีลูกจ้างชาวเวียดนามที่ทำงานให้กับสถานทูตสหรัฐฯ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยรวมครอบครัวของพวกเขาไปด้วย มีจำนวนถึง 90,000 คน ในคำให้การของมาร์ตินต่อรัฐสภา เขายืนยันว่ามีการอพยพลูกจ้างเหล่านั้นออกไปเพียง 22,294 คนเท่านั้นในช่วงปลายเดือนเมษายน[62] มีผู้ร่วมงานชาวเวียดนามเป็นหมื่นๆ คน ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ, CIA, กองทัพ รวมไปถึงนายทหารอีกจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการล้างแค้น และชะตากรรมของพวกเขานั้น ไม่มีผู้ใดทราบ
วันที่ 30 เมษายน เป็นวันปลดแอก หรือ วันรวมประเทศ และถือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในเวียดนาม โดยผู้ทำงานจะได้หยุดควบกับวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงานสากล และจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองทั่วประเทศ
แต่สำหรับผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ แล้ว สัปดาห์ของวันที่ 30 ถูกเรียกว่าเมษาฯ ทมิฬ และถือว่าวันนี้เป็นรำลึกถึงการเสียกรุงไซ่ง่อน[63] มีการตีความเมษาฯ ทมิฬในหลายรูปแบบ บ้างก็บอกว่าเป็นวันที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการทอดทิ้งของชาวอเมริกัน[64] หรือเป็นวันที่เป็นอนุสรณ์แห่งสงครามและการอพยพครั้งใหญ่ที่ตามมา
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.