กรรม (ศาสนาพุทธ)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ในพระพุทธศาสนา กรรม (สันสกฤต: कर्म กรฺม, บาลี: กมฺม) แปลว่า "การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา" ได้แก่ กระทำทางกาย เรียก กายกรรม ทางวาจา เรียก วจีกรรม และทางใจ เรียก มโนกรรม
วิบากกรรม หมายถึง การให้ผลของกรรมหรือการกระทำ และการรับผลของกรรมหรือการกระทำนั้น วิบากกรรมแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ 1.ให้ผลตามเหตุปัจจัย เช่น ฟังธรรมย่อมได้ปัญญาและปฏิภาณ 2.ให้ผลสะท้อนกลับตามที่ได้ทำลงไป เช่น ด่าเขา ก็จะถูกด่า
วิบากกรรม จะให้ผลเมื่อสมบูรณ์ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ 1.สร้างเหตุมากพอสมควรแก่ผล 2.สร้างเหตุถูกทางที่จะได้ผลเช่นนั้น 3.ถึงเวลาที่สามารถให้ผลนั้นเกิดขึ้นมาได้จริง
กรรม เป็นส่วนหนึ่ง วัฏฏะ 3 คือ กิเลส กรรม วิบาก คือ เมื่อมีกิเลสจึงสร้างกรรมต่อมาก็รับผลจากการกระทำนั้น และผลจากการกระทำก็จะทำให้กิเลสใหม่ขึ้นมา วนเวียนไปเช่นนี้ ในปฏิจจสมุปบาท อวิชชา ตัณหา อุปาทาน จัดเข้าในกิเลส, สังขาร ภพ จัดเข้าในกรรม, และข้ออื่นๆที่เหลือจัดเข้าในวิบาก
กรรมวิบาก เป็นหนึ่งในอจินไตย 4 อาจกล่าวได้ว่าอำนาจแห่งผลกรรมนั้น ทำให้เกิดอจินไตยข้ออื่นๆ ทั้งพุทธวิสัย ที่เกิดจากการสั่งสมบารมีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งฤทธิ์จากฌาน หรือการไปเกิดในภพสวรรค์และนรก การมีอยู่ของสังสารวัฏ ก็ล้วนเกิดขึ้นจากความอัศจรรย์ของวิบากกรรม ที่ให้ผลตามกรรมดีและกรรมชั่ว นอกจากสั่งสมได้ ยังให้ผลข้ามภพข้ามชาติ ตามคติความเชื่อของศาสนาพุทธอีกด้วย จัดเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะทั่วไป เช่น ในคติพุทธ จะมีความเชื่อว่าการกราบไหว้พระพุทธเจ้าหรือการทำบุญอุทิศให้แก่บิดามารดา แม้จะพระพุทธเจ้าทรงนิพพานไปแล้วหรือพ่อแม่ไปเกิดใหม่ที่ไหนแล้ว ผู้ที่ทำย่อมได้ผลบุญ เหมือนท่านยังดำรงค์อยู่ เพราะกฎแห่งกรรมจะตัดสินที่เจตนาและการกระทำ เปรียบคนตีกลอง กลองไม่รับรู้ แต่ผู้ตีก็ย่อมได้อานิสงค์จากเสียงกลองที่ตีลงไป
ดังนั้น กฎแห่งกรรม จึงยังจัดเข้าใน ศรัทธา 4 คือ สิ่งที่ชาวพุทธควรเชื่อ เพราะกฎแห่งกรรม คือสิ่งที่อธิบายได้ยาก ถึงการมีอยู่จริงของกฎแห่งกรรม ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ด้วยเพียงคำพูดเท่านั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ศาสนาพุทธยังต้องใช้ความเชื่อเฉพาะในเรื่องนี้
กฎแห่งกรรม จัดเป็นหนึ่งใน ติตถายตนะ 3 คือ ประชุมแห่งลัทธิ หรือ แดนเกิดลัทธิ ซึ่งหมายถึง แม้จะมีลัทธิความเชื่อมากมาย แต่สามารถก็จัดเข้าในกลุ่มความเชื่อ 3 กลุ่มนี้เท่านั้น คือ 1.อิสรนิมมานรเหตุวาท คือกลุ่มความเชื่อที่เชื่อว่า โลกนี้พระเจ้าสร้างโลก และทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของพระผู้สร้าง ศาสนาพุทธปฏิเสธแนวคิดนี้ เนื่องจากศาสนาพุทธเชื่อในเหตุปัจจัย เช่น ถ้ามีพระเจ้าสร้างโลก แล้วใครสร้างพระเจ้า หรือถ้าพระเจ้าเกิดเองได้ โลกนี้น่าจะเกิดเองได้โดยไม่ต้องมีผู้สร้างได้เหมือนกัน 2.อเหตุกอปัจจยวาท คือกลุ่มที่เชื่อว่าโลกนี้เกิดขึ้นเองด้วยความบังเอิญ ตายไปก็สูญ หายไปพร้อมกาย ไม่ไปเกิดใหม่หรือไปที่ไหนทั้งนั้น การสร้างกรรมไม่มีจริง เป็นเพียงวัตถุกระทบวัตถุ เท่านั้น ( เช่น การฆ่าคนด้วยมีดก็เป็นเพียงโลหะวิ่งผ่านเศษเนื้อเท่านั้น ) ศาสนาพุทธปฏิเสธแนวคิดนี้เช่นกัน ถ้าโลกนี้เกิดขึ้นจากความบังเอิญไม่อาศัยเหตุปัจจัย ความน่าจะเป็นที่เกิดเป็นมนุษย์และโลกเช่นนี้ แทบจะเป็นไปไม่ได้ เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งในล้านของความเป็นไปได้ และจะบังเอิญที่จะมีมนุษย์และโลกเช่นนี้เหมือนเดิมอีกยิ่งไปเป็นได้ยากมากขึ้นอีกหลายเท่า และเราเพิ่งบังเอิญมาเกิดเจอเป็นครั้งแรกเชียวหรือ 3.ปุพเพตกเหตุวาท กลุ่มที่เชื่อว่าโลกนี้เกิดขึ้นจากกรรมเก่า กลุ่มนี้จะเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและกฎแห่งกรรม เชื่อว่าอำนาจของกฎแห่งกรรมจะแทรกแซงความน่าจะเป็น เพราะแรงกรรมจึงทำให้เกิดมนุษย์ขึ้นมาอีก เกิดโลกแบบนี้ขึ้นมาได้อีก วนเวียนไป โดยกฎแห่งกรรมทำหน้าที่คล้ายพระเจ้าผู้สร้าง แต่กฎแห่งกรรมเพราะเป็นเพียงแค่กฎที่ทำหน้าที่ร่วมกับเหตุปัจจัย ซึ่งบางลัทธิความเชื่อ เช่น ศาสนาฮินดู มีทั้งพระเจ้าและกฎแห่งกรรม คือพระเจ้าสร้างกฎแห่งกรรมขึ้นมา เป็นต้น ศาสนาพุทธเองนั้นก็ไม่ได้จัดว่าเป็นลัทธิปุพเพกตวาทเหตุอย่างแท้จริง เนื่องจากว่าลัทธิปุพเพกตวาทเหตุ มีอะไรเกิดขึ้นก็จะโทษว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจากกรรมเก่าแค่นั้น หรือที่เรียกว่าลัทธิกรรมเก่า เช่น ศาสนาเชน แต่ศาสนาพุทธเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นจะต้องพิจารณากฎแห่งกรรมร่วมกับกฎธรรมชาติ(นิยาม)ข้ออื่นร่วมด้วย หรือพิจารณาปัจจัยข้ออื่นๆของมหาปัฏฐานนอกจากกรรมปัจจัยและวิปากปัจจัยเสมอ
ศาสนาพุทธนั้น กฎแห่งกรรมอยู่ในฐานะหนึ่งในกฎธรรมชาติ 5 อย่าง หรือ นิยาม 5 คือ 1.อุตุนิยาม กฎแห่งวัตถุที่เป็นไปตามอุณหภูมิร้อนเย็น 2.พีชนิยาม กฎแห่งการสืบพันธุ์ที่เป็นไปตาม สมตา วัฏฏตา และชีวิตา 3.จิตนิยาม กฎแห่งการทำงานของจิตและเจตสิก 4.กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม 5.ธรรมนิยาม กฎทั่วไปคือสามัญญลักษณะ มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และปฏิจจสมุปบาท ในคติพุทธกฎแห่งกรรมจะไม่มีอำนาจเหนือกฎข้ออื่นๆ เพราะกฎนิยามทุกข้อต่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากกฎแห่งกรรม ในมิติกฎธรรมชาตินั้น ย่อมหมายถึงความเป็นเหตุเป็นผล คือทำอะไรก็ต้องได้อย่างนั้น อย่างตรงไปตรงมา กฎแห่งกรรมจึงไม่ให้ผล ตามค่านิยม หรือความเชื่อ และหลักการของใครหรือสังคมไหน เพราะเพียงแค่กฎๆหนึ่งเท่านั้น
กฎแห่งกรรม ยังเป็น กรรมปัจจัยและวิปากปัจจัย สองใน 24 ปัจจัยของมหาปัฏฐานที่แสดงให้เห็นว่ากฎแห่งกรรมนั้น เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยจำนวนมหาศาลของทุกวาระเจตนาของทุกสรรพชีวิต ทำให้เกิดมหาเหตุสัพพปัจจัยขึ้นมาอย่างมากมาย ทุกเหตุปัจจัยต่างก็จะทำหน้าที่ให้ผล เพราะมีเหตุต้องมีผล แต่แม้กระนั้นต่อให้เหตุปัจจัยมีจำนวนมากเท่าใด สุดท้ายก็ต้องมีลำดับก่อนหลังการให้ผลขึ้นมาอยู่ดีตามธรรมชาติ ซึ่งผู้ที่จะเข้าใจลำดับเหล่านั้นอย่างกระจ่างแจ้ง คติพุทธเชื่อว่ามีเพียงพระพุทธเจ้าและสาวกที่มีบารมีมากบางรูปเท่านั้น เพราะมีความสลับซับซ้อน
กรรม 2
สรุป
มุมมอง
กรรม 2 (การกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม - Kamma: action; deed) [1]
- อกุศลกรรม (กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ - Akusala-kamma: unwholesome action; evil deed; bad deed) เป็นบาป กรรมชั่ว ความชั่วร้าย ความเสียหาย ความไม่ถูกต้อง ซึ่งให้ผลเป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรเว้น การกระทำบาป กระทำความชั่ว เรียกว่าทำอกุศลกรรม เรียกย่อว่า ทำอกุศล หรือเรียกว่า ทำบาปอกุศล อกุศลกรรมเกิดมาจากอกุศลมูลอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่างคือ โลภะ โทสะ โมหะ เพราะเมื่อเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุชักนำใจให้คิดทำอกุศลกรรม เช่นเมื่อโลภะเกิดขึ้นก็เป็นเหตุให้คิดอยากได้ เมื่ออยากได้ก็แสวงหา เมื่อไม่ได้ตามต้องการด้วยวิธีสุจริต ก็เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอื่นต่อไป เช่น ลักขโมย ปล้น จี้ ฉ้อโกง เป็นต้น[2]
- กุศลกรรม (กรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี, การกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คืออโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ -Kusala-kamma: wholesome action; good deed) เป็นบุญ ความดี ความถูกต้อง ซึ่งให้ผลเป็นความสุขโดยส่วนเดียว การทำบุญ การทำความดี เรียกว่า ทำกุศลกรรม หรือเรียกย่อว่าทำกุศล กุศลกรรมที่ควรทำเป็นประจำได้แก่ ให้ทาน เสียสละ รักษาศีล อบรมจิตใจ เจริญภาวนา เรียกย่อว่าบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ซึ่งสามารถทำได้โดยบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลงให้น้อยลง เพราะถ้ายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงเต็มจิตอยู่ ก็ไม่สามารถทำกุศลกรรมอะไรได้[2]
การจำแนกประเภทของกรรม
สรุป
มุมมอง
กรรมดี หรือ กรรมชั่วก็ตาม กระทำทางกาย วาจา หรือทางใจก็ตาม สามารถจำแนกอีก เป็นประเภทต่าง ๆ ได้หลายแบบ ดังนี้
- กรรมจำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม (ปากกาลจตุกะ) 4 อย่าง
- กรรมจำแนกตามหน้าที่ของกรรม (กิจจตุกะ) 4 อย่าง
- กรรมจำแนกตามลำดับการให้ผลของกรรม (ปากทานปริยายจตุกะ) 4 อย่าง
- กรรมจำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม (ปากฐานจตุกะ) 4 อย่าง
จำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม
การกระทำทางกาย วาจา ใจ ทั้งที่เป็นฝ่ายดีหรือไม่ดีก็ตาม ย่อมตอบสนองแก่ผู้กระทำ ไม่เร็วก็ช้า เวลาใดเวลาหนึ่ง กรรมจำแนกตามเวลาการให้ผลของกรรม (ปากกาลจตุกะ) แสดงกำหนดเวลา แห่งการให้ผลของกรรม มี 4 อย่าง คือ
- ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้
- อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
- อปราปริเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป
- อโหสิกรรม หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก
จำแนกตามหน้าที่ของกรรม
กรรมจำแนกตามหน้าที่การงานของกรรม (กิจจตุกะ) กรรมมีหน้าที่ ที่จะต้องกระทำสี่อย่าง คือ
- ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด กรรมแต่งให้เกิด
- อุปัตถัมภกกรรม หมายถึง กรรมสนับสนุน กรรมที่ช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติม ต่อจากชนกกรรม
- อุปปีฬกรรม หมายถึง กรรมบีบคั้น กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน
- อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมตัดรอน กรรมที่แรงฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมทั้งสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว
จำแนกลำดับการให้ผลของกรรม
กรรมจำแนกตามลำดับการให้ผลของกรรม (ปากทานปริยายจตุกะ) จำแนกตามความยักเยื้อง หรือ ลำดับความแรงในการให้ผล 4 อย่าง
- ครุกรรม หรือ ครุกกรรม (หนังสือพุทธธรรมสะกดครุกกรรม หนังสือกรรมทีปนีสะกดครุกรรม) หมายถึง กรรมหนัก ให้ผลก่อน เช่น ฌานสมาบัติ 8 หรือ อนันตริยกรรม จัดเป็นกรรมที่หนักที่สุด ให้ผลเร็วและแรง มีทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลคือฝ่ายดีและฝ่ายที่เป็นอกุศลคือฝ่ายไม่ดี ครุกรรมที่เป็นกุศลได้แก่ฌานสมาบัติ ๘ ผู้ได้ฌานสมาบัติชื่อว่าได้ทำกรรมฝ่ายกุศลที่ดีที่สุด เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมได้เกิดในพรหมโลกทันที ส่วนครุกรรมที่เป็นอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม ๕ มี ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา เป็น ผู้ทำอนันตริยกรรมชื่อว่าได้ทำกรรมฝ่ายอกุศลที่ร้ายแรงที่สุด เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมเกิดในนรกทันที ครุกรรมย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่นเสมอ อุปมาเหมือนวัวแก่มีกำลังน้อย แต่ยืนอยู่ตรงปากประตูคอกพอดี ย่อมจะออกจากคอกได้ก่อนวัวหนุ่มอื่นๆ ทั้งหลาย ฉะนั้น[2]
- พหุลกรรม หรือ อาจิณกรรม หมายถึง กรรมที่ทำมาก หรือ ทำจนเคยชิน ให้ผลรองจากครุกรรม
- อาสันนกรรม หมายถึง กรรมจวนเจียน หรือ กรรมใกล้ตาย คือกรรมที่ทำเมื่อจวนจะตาย จับใจอยู่ใหม่ ๆ ถ้าไม่มีสองข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น
- กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม (กตตฺตา-สิ่งที่เคยทำไว้, วา ปน-ก็หรือว่า, กมฺม-กรรม) หมายถึง กรรมอื่นที่เคยทำไว้แล้ว นอกจากกรรม 3 อย่างข้างต้น, ฏีกากล่าวว่า กรรมนี้ให้ผลในชาติที่ 3 เป็นต้นไป กรรมนี้จึงจะให้ผล เป็นกรรมทั้งฝ่ายดีและไม่ดีที่ทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีเจตนาจะให้เป็นอย่างนั้น กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ภาษาวินัยว่าเป็นอจิตตกะ ทำไปก็สักแต่ว่าทำ แม้มีโทษก็ไม่รุนแรง ถือว่าเป็นกรรมที่มีโทษเบาที่สุดในบรรดากรรมทั้งหลาย ถ้าไม่มีกรรมที่หนักกว่าเช่นพหุลกรรม หรือต่อเมื่อไม่มีกรรมอันอื่นให้ผลแล้ว กรรมนี้จึงจะให้ผล กรรมข้อนี้ ท่านเปรียบเหมือนคนบ้ายิงลูกศร เพราะคนปกติที่ไม่มีฤทธิ์จะไม่รู้เลยว่า เป็นกรรมอะไรที่จะมาให้ผลนำเกิด เนื่องจากทำไว้ในอดีตชาตินั่นเอง[2]
จำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม
กรรมจำแนกตามฐานที่ให้เกิดผลของกรรม (ปากฐานจตุกะ) แสดงที่ตั้งแห่งผลของกรรมสี่อย่าง เป็นการแสดงกรรมโดยอภิธรรมนัย (ข้ออื่น ๆ ข้างต้นเป็นการแสดงกรรมโดยสุตตันตนัย)
- อกุศลกรรม
- กามาวจรกุศลกรรม
- รูปาวจรกุศลกรรม
- อรูปาวจรกุศลกรรม
จำแนกตามการกระทำ
- กายกรรม หมายถึง การกระทำทางกาย คือทำกรรมด้วยกาย ไม่ว่าจะทำกรรมชั่วหรือกรรมดี กายกรรมทางชั่ว มี 3 อย่าง คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กายทุจริต แปลว่า ประพฤติชั่วทางกาย กายกรรมทางดี มี 3 อย่างคือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กายสุจริต แปลว่า ประพฤติชอบทางกาย[2]
- วจีกรรม หมายถึง การกระทำทางวาจา วจีกรรมที่เป็นกุศล มี4 อย่าง.คือ.ไม่พูดเท็จ,ไม่พูดส่อเสียด,ไม่พูดคำหยาบคาย และไม่พูดเพ้อเจ้อ..ส่วนวจีกรรมที่เป็นอกุศลจะตรงกันข้าม.
- มโนกรรม หมายถึง การกระทำทางใจ คือ ทำกรรมด้วยการคิด ไม่ว่าจะทำกรรมชั่วหรือกรรมดี มโนกรรมทางชั่ว มี 3 อย่าง คือ โลภ อยากได้ของเขา พยาบาทปองร้ายเขา เห็นผิดจากคลองธรรม เรียกอีกอย่างว่า มโนทุจริต (แปลว่า ประพฤติชั่วด้วยใจ) มโนกรรมทางดี มี 3 อย่าง คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา เห็นชอบตามคลองธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มโนสุจริต (แปลว่า ประพฤติชอบด้วยใจ)[2]
กรรมดำ กรรมขาว
สรุป
มุมมอง
นอกจากเรื่องของกรรมดีกรรมชั่วแล้ว ยังมีการอธิบายกรรมอีกนัยหนึ่ง โดยอธิบายถึงกรรมดำกรรมขาว จำแนกเป็นกรรม 4 ประการ คือ
- กรรมดำมีวิบากดำ ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีความเบียดเบียนบุคคลอื่น ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เช่น เป็นผู้ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ มีจิตประทุษร้ายต่อพระตถาคต ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา
- กรรมขาวมีวิบากขาว ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีไม่ความเบียดเบียนบุคคลอื่น ย่อมได้เสวยเวทนาที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เช่น เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากไปด้วยความเพ่งเล็งอยากได้ มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ
- กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ได้แก่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมปรุงแต่งกาย วาจา ใจ อันมีความเบียดเบียนบุคคลอื่นบ้าง ไม่ความเบียดเบียนบุคคลอื่นบ้าง ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่ความเบียดเบียนบ้าง มีทั้งสุขและทั้งทุกข์ระคนกัน
- กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ เจตนาใดเพื่อละกรรมดำอันมีวิบากดำ เจตนาใดเพื่อละกรรมขาวอันมีวิบากขาว และเจตนาใดเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เช่น ผู้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด โพชฌงค์เจ็ด
กฎแห่งกรรม
กฎแห่งกรรม คือ กฎธรรมชาติ ข้อหนึ่ง ที่ว่าด้วยการกระทำ และผลแห่งการกระทำ ซึ่ง การกระทำและ ผลแห่งการกระทำนั้น ย่อมสมเหตุ สมผลกัน คือ บุคคลทำกรรมเช่นไรย่อมได้รับ"ผลของกรรม"เช่นนั้น เป็นต้น
- กรรมใดใครก่อ ตนเองเท่านั้นที่จะได้รับผลของสิ่งที่กระทำ
- ผลกรรมในปัจจุบันเป็นกรรมคือเจตนาที่ทำมาในอดีต และกรรมคือเจตนาที่ก่อไว้ในปัจจุบันเป็นเหตุที่จะส่งผลสืบเนื่องต่อไปยังอนาคต
- กรรมเกิดจากผัสสะ ดับกรรมดับที่ผัสสะ
"กรรมที่ทำให้ส่งผลมีอยู่ กรรมที่ช่วยสนันสนุนมีอยู่ กรรมที่ผ่อนหนักให้เบามีอยู่ กรรมที่ส่งผลแรงตรงกันข้ามตัดกรรมที่จะส่งผลเดิมมีอยู่"
"กรรมไม่ได้เกิดจากผู้อื่นดลบันดาล ไม่ได้เกิดจากตนเองดลบันดาล ไม่ได้เกิดจากทั้งตนเองและผู้อื่นดลบันดาล ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ"
"ขันธ์5คือกายนี้ กายนี้คือกรรมเก่า กายนี้ไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย อารมไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย ความจำไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย การปรุงแต่งทั้งหลายไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย ใจนี้ไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย ผู้ไม่ยึดเอาว่ากรรมนี้หรือขันธ์5นี้ว่าเป็นของเรา ใครเล่าจะรับผลของกรรมนั้น"
สัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้ [3]
กมฺมุนา วตฺตตี โลโก โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
— พุทธสุภาษิต
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.