คำถามยอดนิยม
ไทมไลน์
แชท
มุมมอง
กรมแพทย์ทหารบก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Remove ads
กรมแพทย์ทหารบก เป็นหน่วยงานในประเทศไทย ที่ศึกษาวิจัย ฝึกอบรมบุคลากรเหล่าทหารแพทย์ ในการให้บริการแก่ กำลังพลของกองทัพบก และครอบครัว รวมถึงประชาชน โดยให้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก จำนวน 37 แห่ง
Remove ads
เริ่มก่อตั้งเป็นกองกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ และโรงพยาบาลกลางกรมแพทย์ทหารบก บริเวณฝั่งทิศเหนือปากคลองหลอด ในปี พ.ศ. 2443 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมแพทย์ทหารบก ในปี พ.ศ. 2485 เปลี่ยนชื่อเป็น กรมเสนารักษ์ทหารบก และต่อมายกระดับเป็น กองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่ 1 และกรมเสนารักษ์ ในปี พ.ศ. 2489 ได้ย้ายกลับมาปากคลองหลอด และ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมแพทย์ทหารบก อีกครั้งนับแต่นั้นมา ในปี พ.ศ. 2495 ได้ก่อตั้งโรงเรียนเสนารักษ์
กรมแพทย์ทหารบกเป็นหนึ่งใน 3 กรมแพทย์ของกองทัพไทย และ เป็นหนึ่งใน 9 กรมฝ่ายยุทธบริการ ของกองทัพบกไทย กรมแพทย์ทหารบกมีหน้าที่วางแผนอำนวยการประสานงาน แนะนำกำกับการดำเนินการวิจัย และ พัฒนาเกี่ยวกับการผลิต, จัดหา, ส่งกำลัง, ซ่อมบำรุง, บริการ, พยาธิวิทยา, เวชกรรมป้องกัน, ทันตกรรมและการรักษาพยาบาล กำหนดหลักนิยม และ ทำตำรา ตลอดทั้งการฝึกศึกษา ทั้งนี้เกี่ยวกับกิจการ และ สิ่งอุปกรณ์ของเหล่าทหารแพทย์
กรมแพทย์ทหารบกตั้งอยู่บนถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร[3]ปัจจุบัน (1 ตุลาคม 2567) พลโท เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ เป็น เจ้ากรมแพทย์ทหารบก พลตรี โชคชัย ขวัญพิชิต [4] และ พลตรี สุรชัย รัศมีจิวานนท์[5] เป็น รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก
ด้วยค่านิยม "อนุรักษ์กำลังรบ"
ปัจจุบันมีศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) บริเวณชั้น 4 อาคารกองบัญชาการ กรมแพทย์ทหารบก เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน อาทิ ห้องประชุมทางไกลผ่านระบบจอภาพ ห้องปฏิบัติงานของฝ่ายเลขานุการสำนักงานของประเทศสมาชิกทั้ง 18 ชาติ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมทางด้านการแพทย์ทหารอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังจะสร้างการยอมรับในฐานะที่ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นพัฒนาความร่วมมือ เพื่อความมั่นคงและความผาสุกของประชาชนในภูมิภาค รวมทั้งจะเป็นช่องทางที่ขยายผลสู่ความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 - 11 กันยายน พ.ศ. 2559 ประเทศสมาชิกทั้ง 18 ชาติจะเข้าร่วมการฝึกร่วมผสมเน้นการบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ประเทศไทย
Remove ads
ประวัติ
สรุป
มุมมอง
กรมแพทย์ทหารบก
ตั้งแต่เป็นสยามประเทศ หลายร้อยปีมาแล้ว หมอหรือแพทย์ดูจะเป็น ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญคู่กับสังคมมานานช้าไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ทวยทหาร หรือไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยแพทย์ด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งในยามศึกสงครามด้วยแล้วไพร่พลที่บาดเจ็บย่อมมีมากขึ้นตามสถานการณ์ จึงสันนิษฐานได้ว่ากิจการแพทย์ทหารน่าจะมีคู่กับกองทัพมาทุกยุคสมัย อย่างไรก็ดี ไม่สามารถค้นหาหลักฐาน จุดเริ่มต้นได้ชัดเจน จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบัญชีกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองพระตะบอง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา) เมื่อเดือนยี่ ปีกุน เอกศก จุลศักราช 1201 ร.ศ. 58 (ตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2382) ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวณในประชุมพงศาวดารภาคที่ 67 กล่าวไว้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 อัตรากองทัพมีหน่วยหมอขนาดกรม ทั้งหมด 6 กรม คือ
- 1. กรมหมอยา ทำการรักษาด้วยยาไทย
- 2. กรมหมอนวด ทำการรักษาด้วยการบีบนวด จับเส้นสาย ตามตำราหมอนวดไทยโบราณ
- 3. กรมหมอประสาน ทำการรักษาจัดกระดูก ประสานกระดูกที่หักให้เข้าที่
- 4. กรมหมอยาตา รักษาโรคตาทั้งหลาย
- 5. กรมหมอฝรั่ง
- 6. กรมหมอฝี ทำการรักษาโรคหนองฝี ทั้งโดยยาและการบ่ง ผ่าฝี (น่าจะเทียบได้กับการผ่าตัดในปัจจุบัน)
ความสำคัญของแพทย์ทหารในสมัยนั้นมีความสำคัญอยู่ที่โรคทางยาเป็นหลัก เพราะการเดินทัพยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก มักเกิดโรคต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น ไข้หวัด ไข้จับสั่น (มาเลเรีย) โรคอุจจาระร่วง ฯลฯ การจัดอัตรากำลังในกรมหมอยาจึงจัดให้มีมากกว่ากรมอื่น
สำหรับกรมหมอฝรั่งนั้นเป็นข้อยืนยันว่าในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 หมอฝรั่งเข้ามามีบทบาทในการรักษาพยาบาลทหารด้วยแล้ว จนถึงกับตั้งเป็นกรมหนึ่งและไทยเราใช้แพทย์ฝรั่งการแพทย์แผนปัจจุบันในราชการทหารมานานกว่า 165 ปีแล้ว
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2414 และ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งแพทย์ประจำกรมขึ้นด้วยตำแหน่งหนึ่ง ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพตรวจ และ รักษาโรคให้กับทหาร และ ได้พระราชทานแพทย์ประจำพระองค์ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มาดำรงตำแหน่งแพทย์ประจำกรมทหารนี้
ขณะนั้นมีแพทย์ไทยคนหนึ่งได้รับทุนของมิชชันนารีเพรสไบทีเรียน ไปศึกษาวิชาแพทย์ปริญญาที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กจบกลับมา คือ นายแพทย์เทียนฮี้[6] หมอเฮาส์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เคยสอนนายแพทย์เทียนฮี้ และเป็นผู้ส่งนายแพทย์เทียนฮี้ไปอเมริกา ได้พานายแพทย์เทียนฮี้ไปฝากกับจมื่นสราภัยสฤษดิ์การ (เจิม แสงชูโต) นายพันโทผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กฯ
ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กฯ ได้พานายแพทย์เทียนฮี้เข้าถวายตัว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยนายแพทย์ รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2415 เป็นต้นมา นับได้ว่านายแพทย์เทียนฮี้ เป็นแพทย์ไทยที่เป็นแพทย์ปริญญาและจบวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันคนแรกที่เข้ารับราชการทหาร
ต่อมาปี พ.ศ. 2422 จมื่นสราภัยสฤษดิ์การ ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กฯ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารหน้า ครองบรรดาศักดิ์เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ได้ทูลขอนายแพทย์เทียนฮี้ ซึ่งขณะนั้นมียศนายร้อยเอก มาเป็นนายแพทย์ประจำกรมทหารหน้าด้วย
สรุปได้ว่า ในช่วงเวลานั้นตำแหน่งนายแพทย์ประจำกรมทหารเริ่มเป็นตำแหน่งที่มีอัตราบรรจุชัดเจนตามกรมทหารต่างๆ แต่คงเป็นแพทย์แผนโบราณเสียทั้งสิ้น นอกจากที่กรมทหารหน้าเท่านั้นมี นายร้อยเอกเทียนฮี้ นายแพทย์ประจำกรม เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน
ที่กรมทหารหน้านี้ นายร้อยเอกเทียนฮี้ได้ริเริ่มจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่รักษาพยาบาลแก่บรรดาข้าราชการทหาร นับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลทหารแห่งแรกของประเทศไทย มีที่ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนตรีเพชร ข้างสถานีตำรวจนครบาลพาหุรัด (ปัจจุบันคือกองตำรวจจราจร) เป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง มีแพทย์แผนโบราณเป็นผู้ช่วย
ระหว่างปี พ.ศ. 2428 - 2433 เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ได้รับพระบรมราชโองการฯ ให้เป็นแม่ทัพไปปราบจีนฮ่อที่รุกรานเข้ามาทางหลวงพระบางที่ทุ่งหลวงเชียงคำสองครั้ง นายร้อยเอกเทียนฮี้ได้ไปราชการสงครามสองครั้งนี้ด้วย ได้ปฏิบัติหน้าที่แพทย์สนาม ตรากตรำดูแลกำลังพลที่เจ็บป่วยและบาดเจ็บอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เมื่อกลับจากสงคราม เจ้าหมื่นไวยวรนาถ แม่ทัพได้รับพระราชทานเลื่อนยศและบรรดาศักดิ์เป็นนายพลโทพระยาสุรศักดิ์มนตรี นายร้อยเอกเทียนฮี้ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายพันตรี เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ 5 และ เหรียญปราบฮ่อเป็นบำเหน็จ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบก ซึ่งเป็นตำแหน่งอัตราที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่โดยที่ยังมิได้มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์และงานสายแพทย์ขึ้น ให้นายแพทย์ใหญ่ขึ้นตรงกับกรมยกกระบัตรทหารบกใหญ่ ตามพระราชบัญญัติจัดการกรมยุทธนาธิการปี พ.ศ. 2433 จึงนับได้ว่านายพันตรีเทียนฮี้เป็นนายแพทย์ใหญ่ทหารบกคนแรก อย่างไรก็ดี ผลจากการไปราชการสงครามเป็นเวลานานทำให้กิจการโรงพยาบาลทหารหน้าไม่มีผู้ดูแล จึงเสื่อมความนิยมและเลิกล้มไป
ต่อมาในปี พ.ศ. 2435 เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้บังคับบัญชาเก่าของนายพันตรีเทียนฮี้ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้ขอโอนย้ายนายพันตรีเทียนฮี้ไปเป็นล่ามประจำกระทรวง และในปีเดียวกันนี้ นายพันตรีเทียนฮี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงดำรงแพทยาคุณ ต่อมาท่านได้ย้ายไปรับราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระมนตรีพจนกิจ ในปี พ.ศ. 2443 ในปี พ.ศ. 2444 ได้ขอลาออกจากราชการด้วยสุขภาพไม่สมบูรณ์ แต่ยังช่วยเหลือราชการด้วยดีตลอดมา จึงได้รับพระราชทานยศเป็นอำมาตย์โท ในปี พ.ศ. 2454 และ พระยาสารสินสวามิภักดิ์ในปี พ.ศ. 2460 ตามลำดับ
ตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบกว่างอยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2437 จนเมื่อหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ บุตรชายคนโตของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ (อดีตนายแพทย์ประจำพระองค์ และอดีตนายแพทย์ประจำกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์) สำเร็จวิชาแพทย์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอเรอ ประเทศอังกฤษ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สุวพรรณเป็นนายแพทย์ใหญ่ทหารบก มียศนายพันตรี
ปี พ.ศ. 2440 นายพันตรีหม่อมราชวงศ์สุวพรรณกราบถวายบังคมลาออก ด้วยเหตุผลการปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างมิค่อยราบรื่นมากนัก ด้วยเหตุที่ยังมีความขัดแย้งระหว่างวิทยาการแพทย์สมัยใหม่ และความเชื่อของการแพทย์แผนโบราณประกอบกับที่ไม่มีกิจราชการอะไรให้ทำสมแก่เงินเดือนที่ทรงพระราชทาน หลังจากนั้นก็ไม่มีการแต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบก จนปี พ.ศ. 2443 จึงยุบอัตราโดยกรมยุทธนาธิการ[7] ใช้วิธีจัดแพทย์จากกรมกองต่าง ๆ หมุนเวียนกันไปเป็นแพทย์เวรประจำศาลายุทธนาธิการสำหรับคอยช่วยเหลือทหารตามหน่วยต่าง ๆ ด้านการรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการตามแต่หน่วยนั้น ๆ จะขอมา ส่วนผู้ที่ป่วยเจ็บเกินความสามารถ ก็จัดส่งไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลพลเรือน เช่น ศิริราชพยาบาล และ โรงพยาบาลของสภาอุณาโลมแดง
สำหรับยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในยามปกติต้องเบิกจากกรมยกกระบัตรฯ แต่เนื่องจากปัญหาความล่าช้าและยาเก่าทำให้มีผู้ร้องเรียนกันมาก จนทางกรมยกกระบัตรเปลี่ยนมาจัดงบสรรยาและเวชภัณฑ์ให้หน่วยทหารระดับกรมในอัตรา 1 ชั่งต่อเดือน
กิจการแพทย์ของทหารเริ่มมีผู้เห็นความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมียุทธการเกิดขึ้น เช่น สงครามปราบเงี้ยว ณ มณฑลพายัพ ระหว่างปี พ.ศ. 2440 ถึง พ.ศ. 2443 ทหารที่ไปรบนอกจากที่บาดเจ็บจากการสงครามแล้ว ยังมีทหารที่ป่วยเป็นไข้จับสั่นและเกิดโรคไข้ทรพิษระบาดในหน่วยทหารบางหน่วยอีกด้วย แพทย์ที่ไปในกองทัพต้องมีภารกิจในการรักษาพยาบาล และปลูกฝีให้ทั้งทหารฝ่ายไทยและเชลยเงี้ยว
กรมยุทธนาธิการเห็นความสำคัญในกิจการสายแพทย์ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ขอจัดตั้ง “กองแพทย์” ขึ้นให้เป็นหน่วยในอัตราของกรมยุทธนาธิการ โดยในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุพันธุวงษ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ตามคำกราบทูลปรึกษาแนะนำของ นายพันเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช ปลัดทัพบก เพื่อจัดให้มีกองแพทย์พยาบาลขึ้นไว้ในกรมยุทธนาธิการ และจัดศาลายุทธนาธิการให้เป็นโรงพยาบาลกลางสัก 1 แห่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสตอบลงมาในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 ว่าทรงเห็นด้วยที่จะให้จัดมีกองแพทย์ขึ้นอีกกองหนึ่งสำหรับตรวจตราและทำการรักษาพยาบาลทหารบกทั่วไป มีตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่เป็นหัวหน้า และให้มีตำแหน่งนายแพทย์เอก โท ตรี ขึ้นในกองแพทย์กลางนั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการจัดตั้งกองแพทย์กลางขึ้นแล้วก็ยังหาแพทย์ปริญญามาบรรจุในตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ไม่ได้ อัตราดังกล่าวจึงว่างอยู่ จนต่อมาในปี พ.ศ. 2443 นายพันเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ได้มีหนังสือที่ 3/1020 ลงวันที่ 13 มิถุนายน ร.ศ.119 (ตรงกับ พ.ศ. 2443) กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองแพทย์กรมกลางขึ้นตามอัตรา และให้หม่อมเจ้ากำมสิทธิ์ แพทย์แผนโบราณ ดำรงตำแหน่งนายแพทย์เอก และมีหน้าที่กำกับดูแลบังคับบัญชากองแพทย์นี้ไปพลางก่อน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชกระแสเห็นชอบ และโปรดเกล้าฯ ตามเสนอ
ระหว่างนั้น นายพันโท พระยาพหลพลพยุหเสนา ยกกระบัตรทหารบก ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลกลางของกองแพทย์กรมยุทธนาธิการขึ้นจนเป็นที่เรียบร้อย โดยตั้งอยู่ที่วังเก่าของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ประทานให้แก่พระองค์เจ้าวิไลวรวิลาศและพระองค์เจ้าไชยรัตนวโรภาส ณ บริเวณฝั่งทิศเหนือของคลองหลอด ซึ่งทางราชการทหารจัดซื้อไว้สำหรับเป็นโรงทหารของกรมทหารบกราบที่ 3 และ ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2443 (ก่อน พ.ศ. 2484 ประเทศสยามถือว่าเดือนเมษายนเป็นต้นปี และเดือนมีนาคมเป็นปลายปี) ได้มีพิธีเปิดโรงพยาบาลทหารบกแห่งแรก โดยนายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการเป็นองค์ประธาน และหม่อมเจ้ากำมสิทธิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้ากองแพทย์ เป็นผู้ถวายรายงาน มีทหารป่วยรับรักษาไว้ในโรงพยาบาลกลางในวันพิธีเปิดรวม 20 คน กับที่ต้องดูแลรักษาในกรมกองทหารต่าง ๆ อีกรวมเป็นจำนวน 153 คน นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์และมีอัตรากำลังอย่างเป็นทางการ
- หม่อมเจ้ากำมสิทธิ์รักษาการในตำแหน่งแพทย์ใหญ่ทหารบกอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2444 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งนายแพทย์ทรัมป์ แพทย์ชาวเยอรมัน ให้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบก เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2444
- ตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารบก เป็นตำแหน่งที่มีมาก่อนการจัดตั้งหน่วยแพทย์
- หน่วยแพทย์ที่มีการจัดตั้งและมีอัตรากำลังอย่างเป็นทางการก็คือ กองแพทย์กรมยุทธนาธิการ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นกรมแพทย์ทหารบกในปัจจุบัน
- ต่อมาทางราชการได้ถือว่าวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2443 (ซึ่งเป็นเพียงวันเปิดโรงพยาบาลทหารบก ในการกำกับดูแลของกองแพทย์กรมยุทธนาธิการ) เป็นวันสถาปนากรมแพทย์ทหารบก และยกย่องว่า นายแพทย์เทียนฮี้ ซึ่งเป็นนายแพทย์ใหญ่ทหารบกท่านแรกในขณะที่ยังไม่มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์นั้น เป็นผู้บังคับบัญชาสายแพทย์ท่านแรก
ปี พ.ศ. 2559 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) ที่กรมแพทย์ทหารบก โดยมีนายเล เลือง มินห์ (H.E. Le Luong Minh) เลขาธิการอาเซียน รวมทั้งผู้บัญชาการระดับสูงของเหล่าทัพและผู้เกี่ยวข้อง ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้แทนรัสเซีย ในฐานะประเทศคู่เจรจาที่ให้การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าว และนางสาวภาสพร สังฆสุบรรณ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมในพิธีอย่างพร้อมเพรียง การเปิดศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนอย่างเป็นทางการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในด้านการแพทย์ทหารในภูมิภาคอาเซียน แสดงบทบาทเชิงรุกและความพร้อมของไทยในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ในสถานการณ์ต่าง ๆ และให้สามารถสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาคได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ความมั่นคงทางทะเล การรักษาสันติภาพ การต่อต้านการก่อการร้าย การปฏิบัติการทุ่นระเบิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในด้านการแพทย์ทหารในอาเซียน
Remove ads
การจัดหน่วย กรมแพทย์ทหารบก
หน่วยขึ้นตรง กองบัญชาการกรมแพทย์ทหารบก
- กองกำลังพล
- กองยุทธการและการข่าว
- กองส่งกำลังบำรุง
- กองกิจการพลเรือน
- กองโครงการและงบประมาณ
- กองคลังแพทย์
- กองทันตแพทย์
- กองวิทยาการ
- กองส่งเสริมสุขภาพและเวชกรรมป้องกัน
- สำนักยุทธศาสตร์
- แผนกประชาสัมพันธ์
- กองบริการ
- สำนักงานการเงิน
- ฝ่ายพระธรรมนูญ
- โรงเรียนเสนารักษ์
หน่วยขึ้นตรง
- ศูนย์อํานวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า
- โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
- สถาบันพยาธิวิทยา
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร
- โรงพยาบาลอานันทมหิดล
หน่วยฝากการบังคับบัญชา
หน่วยเวชกรรมป้องกัน กองทัพบก
ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM)
- ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน
Remove ads
รายนามเจ้ากรมแพทย์ทหารบก/ผู้บัญชาการโรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก
Remove ads
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand - on
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Remove ads