เฟรนช์เกียนา
จังหวัดในประเทศฝรั่งเศส จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฟรนช์เกียนา[6] (อังกฤษ: French Guiana) หรือ กุยยาน[7] (ฝรั่งเศส: Guyane) เป็นจังหวัดโพ้นทะเล (département d'outre-mer) ของประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ทิศเหนือจรดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับประเทศบราซิล และทางทิศตะวันตกติดกับประเทศซูรินาม
เฟรนช์เกียนา | |
---|---|
ดินแดนโพ้นทะเลเฟรนช์เกียนา Collectivité territoriale de Guyane (ฝรั่งเศส) | |
คำขวัญ: Fert Aurum Industria | |
เพลง: ลามาร์แซแยซ | |
พิกัด: 4°N 53°W | |
ประเทศ | ฝรั่งเศส |
เมืองหลัก | กาแยน |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าาการจังหวัด | Thierry Queffelec[1] |
• ประธานสมัชชา | Gabriel Serville (Guyane Kontré pour avancer) |
• สภานิติบัญญัติ | Assembly of French Guiana |
พื้นที่[2][3] | |
• ทั้งหมด | 83,846 ตร.กม. (32,373 ตร.ไมล์) |
• พื้นดิน | 83,534 ตร.กม. (32,253 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับ 2 ของแคว้น และอันดับ 1 ของจังหวัด |
ประชากร (มกราคม ค.ศ. 2022)[4] | |
• ทั้งหมด | 294,436 คน |
• ความหนาแน่น | 3.5 คน/ตร.กม. (9.1 คน/ตร.ไมล์) |
เขตเวลา | UTC-3:00 (BRT) |
รหัส ISO 3166 |
|
จีดีพี (2019)[5] | อันดับที่ 17 |
รวม | 4.41 พันล้านยูโร (4.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) |
ต่อหัว | 15,521 ยูโร (17,375 ดอลลาร์สหรัฐ) |
ภูมิภาค NUTS | FRA |
เว็บไซต์ | Territorial Collectivity Prefecture |
เช่นเดียวกับจังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศสจังหวัดอื่น ๆ เฟรนช์เกียนายังมีฐานะเป็นแคว้นโพ้นทะเล (région d'outre-mer) ซึ่งเป็น 1 ใน 18 แคว้นของประเทศฝรั่งเศสด้วย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับประเทศฝรั่งเศสในทวีปยุโรปและใช้สกุลเงินยูโรเช่นกัน
ประวัติศาสตร์
เฟรนช์เกียนาเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองอเมริกันจำนวนมาก มีชาวฝรั่งเศสเข้ามาตั้งถิ่นฐานระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของนักโทษซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อว่าเกาะเดวิลส์ (Devil's Island) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395)-ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) ต่อมาข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับบราซิลเกิดขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในพื้นที่ป่าอันกว้างขวางทางภาคใต้ นำไปสู่การประกาศรัฐเอกราชนิยมฝรั่งเศสที่มีชื่อว่ากูนานี (Counani) ในเขตที่เกิดเป็นข้อพิพาทรวมทั้งเกิดการต่อสู้ระหว่างผู้ตั้งถิ่นฐานด้วยกันเอง ก่อนที่ข้อพิพาทจะยุติลงโดยการตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้บราซิลได้รับผลประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ จากนั้นเฟรนช์เกียนาได้กลายเป็นจังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) ในคริสต์ทศวรรษ 1970 มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยชาวม้งจากประเทศลาว การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองมากขึ้นจากฝรั่งเศสเริ่มขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1970 และ 1980 การต่อต้านโดยกลุ่มที่เรียกร้องการปกครองตนเองนั้นก็มีเสียงเรียกร้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่การเดินขบวนในปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) และ ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ทั้งหมดจบลงด้วยความรุนแรง
การเมือง
เฟรนช์เกียนาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป (เนื่องจากมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส) เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรปนอกทวีปยุโรป โดยมีหนึ่งในเขตแดนภายนอกของสหภาพยุโรปที่ยาวที่สุด และเป็นหนึ่งในดินแดน 3 แห่งนอกทวีปยุโรปของสหภาพยุโรปที่ไม่ได้เป็นเกาะ (อีก 2 แห่งคือเมืองเซวตาและเมืองเมลียาของสเปนในทวีปแอฟริกา)
ประมุขแห่งรัฐคือประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งจะแต่งตั้งผู้ว่าการ (prefect - ผู้สำเร็จราชการที่ประจำอยู่ที่ศาลากลางแคว้นในเมืองกาแยน) เป็นผู้แทนของตน เฟรนช์เกียนามีองค์กรนิติบัญญัติ 2 ส่วน คือ สภาทั่วไป (General Council) มีสมาชิก 19 คน และสภาแคว้น (Regional Council) มีสมาชิก 34 คน มาจากการเลือกตั้งทั้ง 2 สภา
เฟรนช์เกียนาจะส่งผู้แทน 2 คนไปยังสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส โดยคนแรกจะเป็นตัวแทนจากเทศบาลเมืองกาแยนและเทศบาลเมืองมากูรียา ส่วนอีกคนหนึ่งจะเป็นตัวแทนจากพื้นที่ที่เหลือทั้งหมดของเฟรนช์เกียนา ซึ่งเขตหลังนี้ถือเป็นเขตเลือกตั้งที่มีเนื้อที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐฝรั่งเศส นอกจากนี้เฟรนช์เกียนายังมีสมาชิกวุฒิสภา 1 คนในวุฒิสภาฝรั่งเศสด้วย
ประเด็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อเฟรนช์เกียนาได้แก่ การทะลักของผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและผู้ลักลอบสำรวจทองคำจากประเทศบราซิลและประเทศซูรินาม และยังมีปัญหาเกี่ยวกับแม่น้ำมาโรนี (Maroni) ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างเฟรนช์เกียนากับซูรินามก็ไหลผ่านป่าดงดิบ ทำให้ยากต่อการเข้าไปสำรวจของทหารฝรั่งเศส ดังนั้น แนวพรมแดนระหว่างประเทศทั้งสองจึงยังเป็นที่ขัดแย้งอยู่
การแบ่งเขตการปกครอง
เฟรนช์เกียนาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 เขต (arrondissements), 19 อำเภอ (cantons - ไม่แสดงในที่นี้) และ 22 เทศบาล (communes) ได้แก่
เขตแซ็ง-โลร็อง-ดูว์-มารอนี | เขตแซ็ง-ฌอร์ฌ | เขตกาแยน |
---|---|---|
|
|
|
ภูมิศาสตร์
แม้เฟรนช์เกียนาจะมีความเกี่ยวข้อง
ทางวัฒนธรรมกับดินแดนที่พูดภาษาฝรั่งเศสในแถบแคริบเบียน แต่ก็ไม่สามารถจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคแห่งนั้นได้ เนื่องจากทะเลแคริบเบียนนั้นตั้งอยู่ห่างเฟรนช์เกียนาไปทางทิศตะวันตกหลายร้อยกิโลเมตร และอยู่ถัดจากส่วนโค้งของหมู่เกาะเลสเซอร์แอนทิลลีสเข้าไปอีก
เฟรนช์เกียนาประกอบด้วยเขตภูมิศาสตร์สองเขต คือ เขตชายฝั่งซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ และเขตป่าดงดิบหนาทึบและเข้าถึงได้ยากซึ่งค่อย ๆ ไล่ระดับความสูงขึ้นไปถึงยอดเขาต่าง ๆ ของทิวเขาตูมัก-อูมักตามแนวพรมแดนที่ติดกับบราซิล จุดสูงสุดของเฟรนช์เกียนาคือ แบลวูว์เดอลีนีนี (Bellevue de l'Inini) มีความสูง 851 เมตร ภูเขาอื่น ๆ ได้แก่ มงมาชาลู (782 เมตร) ปิกกูโดร (711 เมตร) และมงแซ็งมาร์แซล (635 เมตร) มงฟาวาร์ (200 เมตร) และมงตาญดูว์มาอูว์รี (156 เมตร) มีเกาะ 3 เกาะตั้งอยู่ใกล้กับชายฝั่ง ได้แก่ อีลดูว์ซาลูว์ หรือหมู่เกาะแซลเวชันซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะเดวิลส์ และที่อาศัยของนกบนอีลดูว์กอเนตาบล์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งไปทางบราซิล
เขื่อนเปอตี-โซ (Barrage de Petit-Saut) ทางตอนเหนือของเฟรนช์เกียนาก่อให้เกิดทะเลสาบเทียมขึ้นและแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ มีแม่น้ำหลายสายในเฟรนช์เกียนา
เศรษฐกิจ
เฟรนช์เกียนาพึ่งพิงฝรั่งเศสอย่างมากทั้งในด้านเงินอุดหนุนและด้านสินค้า อุตสาหกรรมหลักได้แก่ อุตสาหกรรมการประมง (มีส่วนแบ่ง 3 ใน 4 ส่วนของสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ) การทำเหมืองทองคำ และการป่าไม้ นอกจากนี้ ศูนย์อวกาศเกียนาที่เมืองกูรูยังสามารถว่าจ้างคนได้ประมาณ 1,700 คนและมีส่วนแบ่งร้อยละ 25 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อุตสาหกรรมการผลิตมีน้อยมากและเกษตรกรรมส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการพัฒนา การท่องเที่ยว (โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ) กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ การว่างงานเป็นปัญหาสำคัญ โดยมีอัตราประมาณร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 30
การขนส่ง
ท่าอากาศนานาชาติหลักของเฟรนช์เกียนาคือ ท่าอากาศยานกาแยน-โรช็องโบ (Cayenne-Rochambeau) ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลมาตูรี ชานเมืองทางทิศใต้ของเมืองกาแยน มีเที่ยวบินหนึ่งเที่ยวต่อวันไปกรุงปารีส (ท่าอากาศยานออร์ลี) และมีเที่ยวบินหนึ่งเที่ยวต่อวันมาจากกรุงปารีสเช่นกัน เที่ยวบินจากจากเมืองกาแยนไปกรุงปารีสใช้เวลา 8 ชั่วโมง 25 นาที ส่วนจากกรุงปารีสมาที่เมืองกาแยนใช้เวลา 9 ชั่วโมง 10 นาที และนอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินสู่เมืองฟอร์-เดอ-ฟร็องส์ ปวงตาปิทร์ ปอร์โตแปรงซ์ ไมแอมี มากาปา เบเลง และโฟร์ตาเลซาอีกด้วย
ท่าเรือหลักของเฟรนช์เกียนาคือท่าเรือของเมืองเดกราเดกาน (Dégrad des Cannes) ตั้งอยู่บนชะวากทะเลของแม่น้ำมาอูว์รี ในเขตเทศบาลเรอมีร์-มงฌอลี ชานเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกาแยน ท่าเรือเดกราเดกานสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2512 เพื่อใช้แทนท่าเรือเก่าของกาแยนซึ่งคับแคบและไม่สามารถรับมือกับการจราจรในสมัยใหม่ได้ ปัจจุบันสินค้านำเข้าและสินค้าส่งออกเกือบทั้งหมดของเฟรนช์เกียนาจะต้องผ่านท่าเรือแห่งนี้
ถนนยางมะตอยจากเมืองเรชีนาไปยังเมืองแซ็ง-ฌอร์ฌ-เดอ-ลัวยาป็อก (Saint-Georges-de-l'Oyapock) เปิดใช้ในปี พ.ศ. 2547 ถือเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางจากกาแยนไปสู่ชายแดนที่ติดกับประเทศบราซิลได้อย่างสมบูรณ์ โดยปัจจุบันนี้เราสามารถขับรถบนถนนลาดยางอย่างดีจากเมืองแซ็ง-โลร็อง-ดูว์-มารอนีที่ชายแดนซูรินามไปยังเมืองแซ็ง-ฌอร์ฌ-เดอ-ลัวยาป็อกที่ชายแดนบราซิล และจากสัญญาที่มีการลงนามระหว่างฝรั่งเศสกับบราซิลเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 สะพานข้ามแม่น้ำออยาพ็อก (Oyapock) ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติด้านตะวันออกของเฟรนช์เกียนากำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยมีกำหนดเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2553 โดยสะพานแห่งนี้จะเป็นที่ข้ามดินแดนแห่งแรกที่เคยเปิดใช้ขึ้นระหว่างฝรั่งเศสกับบราซิลและระหว่างเฟรนช์เกียนากับดินแดนส่วนอื่น ๆ ของโลก เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีสะพานแห่งอื่นที่สร้างข้ามแม่น้ำออยาพ็อก และยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำมาโรนีซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติด้านตะวันตกด้วย โดยมีเพียงเรือข้ามฟากไปยังเมืองอัลบีนาของซูรินามเท่านั้น เมื่อสะพานที่เปิดใช้ เราก็จะสามารถขับรถได้อย่างต่อเนื่องจากกาแยนไปยังเมืองมากาปา เมืองหลักของรัฐอามาปาของบราซิล
ประชากรศาสตร์
1790 ประมาณการ | 1839 ประมาณการ | 1857 ประมาณการ | 1891 ประมาณการ | 1946 สำมะโนประชากร | 1954 สำมะโนประชากร | 1961 สำมะโนประชากร | 1967 สำมะโนประชากร | 1974 สำมะโนประชากร | 1982 สำมะโนประชากร | 1990 สำมะโนประชากร | 1999 สำมะโนประชากร | 2006 สำมะโนประชากร | 2007 ประมาณการ | 2008 ประมาณการ |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
14,520 | 20,940 | 25,561 | 33,500 | 25,499 | 27,863 | 33,505 | 44,392 | 55,125 | 73,022 | 114,678 | 157,213 | 205,954 | 213,500 | 221,500 |
ใช้ปีค.ศ., ข้อมูลทางการจากการสำรวจสำมะโนประชากรและการประมาณการของ INSEE |
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.