พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง เมื่อ พ.ศ. 2499 มีพระราชประสงค์ที่จะทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชภาระสนองพระเดชพระคุณในการทรงผนวชในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
ภูมิพโลภิกขุ | |
วันที่ | 22 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 |
---|---|
สถานที่ | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ผนวช) วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (ประทับ) |
ที่ตั้ง | จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
ผู้เข้าร่วม | พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร |
ผล | สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ |
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนาเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ดังตามลำดับเหตุการณ์ในระหว่างทรงประทับพระผนวช ดังนี้[1]
วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูต เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช
อีกทั้งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เพื่อมีพระราชดำรัสแก่ประชาราษฎร ความตอนหนึ่งว่า
"ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทให้บรรดาอาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน"
วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499
เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศา โดยสมเด็จพระราชชนนีทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล” ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงรับประเคนผ้าไตรจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงรับไทยธรรมจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ตามลำดับ
จากนั้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทำทัฬหิกรรม ณ พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[2] จากนั้นทรงประกอบพิธีตามขัตติยราชประเพณี แล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัยนอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น
วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2499
เสด็จฯ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์
วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2499
เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2499
เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาต ณ วังสระปทุม
วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
ได้เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ 2499
เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตรจากประชาชนทั้งในบริเวณถนนพระสุเมรุ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี อีกด้วย
วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงลาผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร รวมเวลาทรงผนวชทั้งสิ้น 15 วัน
- พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชปฏิสันถารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
รายพระนามและรายนามพระเถระที่นั่งหัตถบาส
ในพระราชพิธีนี้ มีพระเถระ 30 รูป นั่งหัตถบาส มีรายนามดังนี้[3]
- สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
- สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย)
- พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (โสม ฉนฺโน)
- พระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)
- พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)
- พระธรรมโกศาจารย์ (ปลอด อตฺถการี)
- พระธรรมดิลก (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
- พระธรรมปาโมกข์ (วาสน์ วาสโน)
- พระธรรมไตรโลกาจารย์ (วน ฐิติญาโณ)
- พระธรรมธีรราชมหามุนี (ธีร์ ปุณฺณโก)
- พระธรรมปิฎก (พิมพ์ ธมฺมธโร)
- พระมงคลเทพมุนี (สาลี อินฺทโชโต)
- พระมงคลทิพยมุนี (เซ็ก พฺรหฺมสโร)
- พระรัชชมงคลมุนี (เทศ นิทฺเทสโก)
- พระเทพเวที (ฟื้น ชุตินฺธโร)
- พระเทพเมธี (ชอบ อนุจารี)
- พระเทพมุนี (ทรัพย์ โฆสโก)
- พระเทพโมลี (วิน ธมฺมสาโร)
- พระอมราภิรักขิต (ทองดำ จนฺทูปโม)
- พระอมรมุนี (จับ ฐิตธมฺโม)
- พระโศภนคณาภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระอภิบาล
- พระกิตฺติวงศเวที (สุวรรณ สุวณฺณโชโต)
- พระมหานายก (เติม โกสลฺโล)
- พระจุลนายก (แก้ว อตฺตคุตฺโต)
- พระไตรสรณธัช (แก้ว โกลิโต)
- พระปัญญาภิมณฑมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม)
- พระสาธุศีลสังวร (สนธิ์ กิจฺจกาโร)
- พระอุดมญาณมุนี (ยศ โกสิโต)
สถาปนาฐานันดรศักดิ์และสมเด็จพระสังฆราช
อนึ่ง ในการทรงผนวชครั้งนี้ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ขึ้นเป็น พระบรมราชินีนาถ และวันที่ 20 ธันวาคม ปีเดียวกันนี้ (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และถวายฐานันดรศักดิ์เป็นกรมหลวง
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.