Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ หนึ่งในเรือพระราชพิธี ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษกแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยกองทัพเรือ ร่วมกับกรมศิลปากร ได้นำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับศิลปกรรมของเรือทั้งหมด
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ในช่วงซ้อมพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 | |
ประวัติ | |
---|---|
ประเทศไทย | |
ชื่อ |
|
ตั้งชื่อตาม | เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ |
มูลค่าสร้าง | 11.9 ล้านบาท[1] |
ปล่อยเรือ | 5 กันยายน พ.ศ. 2537 |
เดินเรือแรก | 5 เมษายน พ.ศ. 2539 |
สัญลักษณ์ | |
ลักษณะเฉพาะ | |
ประเภท: | เรือพระที่นั่งกิ่ง |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): | 20 ตัน |
ความยาว: | 44.3 เมตร |
ความกว้าง: | 3.2 เมตร |
กินน้ำลึก: | 0.4 เมตร |
ความลึก: | 1.1 เมตร |
ลูกเรือ: | 64 |
หมายเหตุ: |
ฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน |
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ลำเดิมสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อว่า “มงคลสุบรรณ” หัวเรือเป็นรูป พระครุฑพ่าห์ มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ มีความยาว 17 วา 3 ศอก กว้าง 5 ศอก 5 นิ้ว ลึก 1 ศอก 6 นิ้ว กำลัง 6 ศอก 6 นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอก ทาสีแดง ฝีพาย 65 คน ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชดำริให้เสริมรูปพระนารายณ์ยืนประทับบนหลังครุฑ เพื่อความเป็นสง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ต้องตามคติในศาสนาพราหมณ์ เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 4 นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกองค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตา ภรณ์และมงกุฎยอดชัยพระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) มี 4 พระกร ทรงเทพศาสตราคือ ตรี คทา จักร สังข์ ตามคติของพราหมณ์ซึ่งปรากฏในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ของรัชกาลที่ 1 ตอนกุมภกรรณต้องศรพระรามสิ้นชีวิต[2]
แลเห็นพระองค์ทรงลักษณ์ ผ่องพระพักตร์จำรัสรัศมี
สีเขียวดั่งนิลมณี มีกายปรากฏเป็นสี่กร
ทรงเทพอาวุธจักร สังข์ ทั้งตรี คทา ศิลป์ศรจึงรู้ว่านารายณ์ฤทธิรอน จากเกษียรสาครเสด็จมา
แล้วขนานนามว่า “เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ” ต่อมาเรือได้เสื่อมสภาพลงคงเหลือแต่โขนเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ[3]
ในปี พ.ศ. 2539 กองทัพเรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กรมอู่ทหารเรือ และกรมศิลปากร ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้าง พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือว่า "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9" เรือลำดังกล่าวมีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรองทอดบัลลังก์กัญญา[3]
ขั้นตอนการจัดสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 แบบเรือได้คงขนาดและลักษณะของลวดลายแกะสลักทั้งหลายไว้ตามแบบเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณลำเก่า แต่ได้ปรับปรุงให้โขนเรือมีความสูงเพิ่มขึ้น และส่วนที่เป็นรูปพระครุฑพ่าห์ก็ออกแบบให้มีความงดงามยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้ขยายพื้นที่ของลำเรือให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่ทอดบัลลังก์กัญญาและประดับเครื่องสูงทั้งหลาย เริ่มดำเนินการสร้างตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2537 กรมอู่ทหารเรือรับเป็นผู้จัดสร้างตัวเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลการออกแบบแกะสลักลวดลายตลอดจนการลงรักปิดทองประดับกระจก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางกระดูกงูเรือ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2537 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลงน้ำเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2539[4] การสร้างพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 11.7 ล้านบาท[5]
ลักษณะโขนเรือ โขนเรือทำจากไม้สักทอง[6]ลงรักปิดทองประดับกระจก จำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คทา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และ มงกุฎยอดชัย ประทับยืนบนหลังครุฑ ลายบริเวณหัวเรือมีลักษณะเป็น ก้านขดใบเทศมีครุฑประกอบที่กัวก้านขด
ส่วนท้ายเรือ มีลักษณะคล้าย ท้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แต่ส่วนเหนือมาลัยท้าย เป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑ
ลำเรือ ทำจากไม้ตะเคียนทอง[6] แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำเรือ มีลวดลายเป็นลายพุดตาน สีพื้นเรือหรือสีท้องเรือเป็นสีแดงชาด ใช้ตัวบัลลังก์กัญญาเรือ เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นลวดลายแกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก
แผงพนักพิง แกะสลักลวดลาย เป็นรูปครุฑยุดนาค ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายในเหมือนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลูกแก้วรับขื่อ เป็นไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก เสาสองต้นทาสีดำ
ส่วนพายกับฉาก ลงรักปิดทอง การวางฉัตร ให้เว้น 2 กระทง ต่อ 1 ฉัตร ผ้าดาดหลังคากัญญาเรือ เป็นทองแผ่ลวด ลายโคมแย่ง ลงรักปิดทอง ประดับกระจก พื้นแดงลายจั่ว และลายผ้าม่านโดยรอบ ประดับด้วยทองแผ่ลวด
ขนาดของเรือ มีความยาว 44.3 เมตร ความยาวแนวน้ำหนักบรรทุกเต็มที่ 34.6 เมตร ความกว้าง 3.2 เมตร ความลึก 1.1 เมตร กินน้ำลึก 0.4 เมตร ระวางน้ำบรรทุกขับเต็มที่ 20 ตัน มีฝีพาย 50 นาย สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ 11.9 ล้านบาท[1]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.