Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (อังกฤษ: allergic rhinitis) เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อจมูก ซึ่งเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาไวเกินกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ[6] ผู้ป่วยอาจมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก จาม ตาแดง คันตา น้ำตาไหล และตาบวม[1] น้ำมูกของผู้ป่วยมักเป็นน้ำมูกใส[2] อาการมักเริ่มกำเริบภายในไม่กี่นาทีหลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ อาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อการนอน การทำงาน และการเรียนได้[2] ผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรมักมีอาการในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี[3] ผู้ป่วยโรคนี้หลายรายจะมีโรคอื่น ๆ ในกลุ่มภูมิแพ้ร่วมด้วย ได้แก่ โรคหืด เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ และผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้[2]
เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) | |
---|---|
ชื่ออื่น | "โรคภูมิแพ้", ไข้ละอองฟาง (Hay fever), pollinosis |
ภาพขยาย 500 เท่า ของละอองเกสร ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบเป็นสาเหตุของเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้บ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง | |
สาขาวิชา | วิทยาภูมิคุ้มกัน |
อาการ | คัดจมูก, จาม, ตาแดง, คันตา, น้ำตาไหล, ตาบวม[1] |
การตั้งต้น | อายุ 20-40 ปี[2] |
สาเหตุ | พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม[3] |
ปัจจัยเสี่ยง | โรคหืด, เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้, ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้[2] |
วิธีวินิจฉัย | วินิจฉัยจากอาการ, การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง, การตรวจเลือดดูแอนติบอดีแบบจำเพาะ[4] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | โรคหวัด[3] |
การป้องกัน | การสัมผัสสัตว์ตั้งแต่วัยเด็ก[3] |
ยา | ยาสเตอรอยด์แบบฉีดพ่นเข้าจมูก, ยาต้านฮิสตามีน เช่น ไดเฟนไฮดรามีน, โครโมลินโซเดียม, ยาต้านลิวโคไทรอีน เช่น มอนทีลูคาสท์, การทำภูมิคุ้มกันบำบัดต่อสารก่อภูมิแพ้[5][6] |
ความชุก | ~20% (กลุ่มประเทศตะวันตก)[2][7], 23-30% (ประเทศไทย)[8] |
ผู้ป่วยมักถูกกระตุ้นให้มีอาการเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม เช่น ละอองเกสร ขนสัตว์เลี้ยง ฝุ่น หรือเชื้อรา[3] การเกิดภูมิแพ้เหล่านี้เป็นผลจากทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมประกอบกันทำให้เกิดโรค[3] ปัจจัยบางอย่างช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ เช่น การใช้ชีวิตวัยเด็กในฟาร์ม การมีพี่น้องหลายคน เป็นต้น[2] กลไกของการเกิดโรคที่สำคัญอยู่ที่สารภูมิคุ้มกันชนิดไอจีอี ซึ่งสามารถจับกับสารก่อภูมิแพ้และกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสารการอักเสบหลาย ๆ อย่างออกมาภายในร่างกาย เช่นมีการปล่อยฮิสตามีนออกมาจากเม็ดเลือดขาวชนิดแมสท์เซลล์[2] การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากประวัติผู้ป่วย ร่วมกับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือตรวจเลือดหาไอจีอีที่จำเพาะต่อการก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ[4] การทดสอบเหล่านี้บางครั้งอาจให้ผลบวกลวง (ผลการทดสอบบ่งชี้ว่าเป็นโรค แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นโรค) ได้[4] อาการของเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะคล้ายคลึงกับโรคหวัด แต่ต่างกันตรงนี้ภูมิแพ้จะเป็นนานกว่าคือเป็นมากกว่า 2 สัปดาห์ และมักจะไม่มีไข้[3]
การได้มีโอกาสสัมผัสสัตว์ในวัยเด็กอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยโรคนี้ในตอนโตได้[3] ยาที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคได้มีหลายอย่าง เช่น สเตอรอยด์ ยาต้านฮิสตามีน เช่น ไดเฟนไฮดรามีน โครโมลินโซเดียม และยาต้านลิวโคไทรอีน เช่น มอนทีลูคาสท์[5] ผู้ป่วยบางรายอาจใช้ยาแล้วลดอาการได้ไม่ดีนัก หรือใช้แล้วมีผลข้างเคียง[2] การทำภูมิคุ้มกันบำบัดต่อสารก่อภูมิแพ้เป็นวิธีหนึ่งที่อาจได้ผล ทำโดยค่อย ๆ ให้สารก่อภูมิแพ้ในขนาดน้อยแก่ผู้ป่วย แล้วค่อย ๆ เพิ่มขนาดขึ้นไปตามแนวทางที่กำหนด[6] อาจให้ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือเป็นเม็ดอมใต้ลิ้นก็ได้[6] ผลการรักษามักคงอยู่ได้ 3-5 ปี และอาจมีประโยชน์อื่นคงอยู่นานกว่านั้น[6]
เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุด[9] ในประเทศตะวันตกพบว่าปีหนึ่ง ๆ จะมีผู้ป่วยถึง 10-30% ในประชากร[2][7] ส่วนในไทยพบ 23-30%[8] พบบ่อยที่สุดในคนอายุ 20-40 ปี[2] โรคนี้ถูกบรรยายไว้อย่างถูกต้องเป็นครั้งแรกเมื่อคริสตศตวรรษที่ 10 โดยแพทย์และปราชญ์ชาวเปอร์เซียชื่อมุฮัมหมัด อัล-รอสี[10] ต่อมา ค.ศ. 1859 นายแพทย์ชาร์ลส์ แบล็คลีย์ชาวอังกฤษจึงได้พบว่าละอองเกสรเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการในโรคไข้ละอองฟางเมื่อ ค.ศ. 1859[11] ส่วนกลไกที่ทำให้เกิดอาการของโรคนั้นค้นพบโดยแพทย์เคลเมนส์ ฟอน เปอร์เกต์ ชาวออสเตรีย[9] ชื่อโรค "ไข้ละอองฟาง" (Hay Fever) มีที่มาจากทฤษฎีเก่าที่เคยเชื่อว่าอาการของโรคนี้เกิดจากการสูดดมกลิ่นของฟางใหม่เข้าไป ซึ่งทฤษฎีนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง[12][13]
อาการตามแบบฉบับของผู้ป่วยเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ได้แก่ น้ำมูกไหล คัน จาม คัดจมูก จมูกตัน[14] อาการแสดงตามแบบฉบับได้แก่ เยื่อตาบวมแดง หนังตาบวม ขอบตาดำ (allergic shiner) เยื่อจมูกบนปุ่มกระดูกเทอร์บิเนตบวม และมีน้ำขังในหูชั้นกลาง[15]
นอกจากอาการทางกายเหล่านี้แล้วผู้ป่วยยังอาจมีอาการทางพฤติกรรมได้ เช่น อาจขยี้จมูกโดยเอามือดันสันจมูก (allergic salute, nasal salute) บางรายอาจทำบ่อยจนเกิดเป็นรอยที่ดั้งจมูก (transverse nasal crease) หากทำบ่อยมากรอยนี้อาจคงอยู่ถาวรได้[16]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.