Loading AI tools
น้ำตาลผลิตจากพืชวงศ์ปาล์ม จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
น้ำตาลปี๊บ หรือ น้ำตาลปึก เป็นส่วนผสมในอาหารและขนมที่ใช้กันทั่วในเอเชีย[1] ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ[2] ซึ่งให้รสหวานเหมือนน้ำตาล ทำมาจากน้ำเลี้ยงจากงวงเกสรตัวผู้หรือ"จั่น" ของพืชวงศ์ปาล์ม ในประเทศไทยส่วนใหญ่ผลิตจากงวงมะพร้าว ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าน้ำตาลมะพร้าว ส่วนน้ำตาลที่ผลิตจากงวงตาลเรียกน้ำตาลโตนด ประเทศไทยมีการผลิตน้ำตาลปี๊บในหลายจังหวัดทางภาคกลาง เช่น เพชรบุรี และภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี
ปาล์มที่เป็นแหล่งที่มาสำคัญของน้ำตาลปี๊บได้แก่ ตาล อินทผลัม จาก ตาว และ มะพร้าว [3]
ต้นตาล (Borassus spp.) มีปลูกในแอฟริกา เอเชีย และนิวกินี พืชนิดนี้ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น สานหมวก วัสดุสำหรับเขียนหนังสือ และทำอาหาร น้ำตาลปี๊บผลิตจากของเหลวที่ปาดได้จากช่อดอก
อินทผลัมมี 2 สปีชีส์ คือ อินทผลัม ( Phoenix dactylifera) และ อินทผลัมไทย (P. sylvestris) ซึ่งใช้ผลิตน้ำตาลปี๊บได้ทั้งสองชนิด อินทผลัมนิยมปลูกในแถบเมดิเตอร์เรเนียน และตะวันออกกลาง อินทผลัมไทยเป็นพืชท้องถิ่นในเอเชีย ส่วนใหญ่ปลูกในอินเดียและปากีสถาน
จาก (Nypa fruticans) เป็นพืชท้องถิ่นตามแนวชายฝั่งเขตร้อนของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นปาล์มชนิดเดียวที่พบในป่าชายเลน
ตาว (Arenga pinnata) เป็นพืชท้องถิ่นของเอเชียเขตร้อน พบมากในจีนและอินโดนีเซีย น้ำตาลที่ใช้ผลิตน้ำตาลปี๊บนี้เป็นที่รู้จักในอินเดียว่า กูร์ และ อินโดนีเซียเรียก กูลา อาเริน
มะพร้าว (Cocos nucifera) ผลิตน้ำตาลปี๊บได้จากช่อดอก พบตามแนวชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก แหล่งผลิตหลักอยู่ที่ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
กระบวนการผลิตน้ำตาลปี๊บเริ่มจากการใช้มีดปาดงวงมะพร้าว รองด้วยกระบอกที่ใส่ไม้เชื้อ เช่น ไม้พยอม เพื่อป้องกันการบูดเน่า จากนั้น นำน้ำตาลที่ได้มาเคี่ยวจนเดือด และน้ำงวดลง ยกลงจากเตา ใช้ไม้พายหรือขดลวดกระทุ้งให้น้ำตาลทำปฏิกิริยากับอากาศจนเป็นสีเหลืองนวล เร่งให้น้ำตาลแห้งและแข็งตัวเร็วขึ้น จากนั้น ถ้านำไปบรรจุใส่ปี๊บจะเรียกน้ำตาลปี๊บ ถ้าเทใส่ถ้วยตะไลหรือพิมพ์ที่มีลักษณะกลมจะเรียกน้ำตาลปึก[4]
น้ำตาลปี๊บที่ได้จากมะพร้าวจะมีรสหวานมัน ต่างจากน้ำตาลทรายที่มีรสหวานแหลม แต่เนื่องจากน้ำตาลปี๊บที่ผลิตโดยกระบวนการดั้งเดิมมีน้ำผสมอยู่มาก จึงเยิ้มง่าย ในขณะที่ผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการน้ำตาลปี๊บที่มีความคงตัว จึงต้องผสมน้ำตาลทรายในระหว่างการผลิต ซึ่งถ้าผสมน้ำตาลทรายมากเกินไป จะทำให้น้ำตาลปี๊บที่ได้มีรสหวานแหลมแบบน้ำตาลทราย[5]
กูลา เมอลากา (Gula melaka) เป็นน้ำตาลปี๊บชนิดหนึ่งที่ผลิตจากมะพร้าว[6] มีความข้นและเหนียว ในภาษาอังกฤษเรียกว่า "malacca sugar" แปลตรงตัวคือ น้ำตาลมะละกา[6] อาจจะเป็นเพราะมีจุดกำเนิดใน รัฐมะละกา, มาเลเซีย,[7] ซึ่งในภาษามาเลย์ออกเสียงว่าเมอลากา ตามกรรมวิธีดั้งเดิม กูลาเมอลากาทำมาจากการสกัดน้ำหวานจากตาดอกของต้นมะพร้าว[7] โดยใช้มีดตัดและใช้หม้อรองน้ำหวาน นำน้ำหวานที่ได้มาต้มจนเหนียว เทลงในกระบอกไม้ไผ่ยาว 3-5 นิ้ว lและทิ้งไว้ให้แข็งตัวเป็นทรงกระบอก[8][7] เพราะกระบวนการผลิตใช้แรงงานมาก จึงมีราคาแพงกว่าน้ำตาลทราย นิยมใช้ในขนมพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พุดดิงสาคูกูลาเมอลากาเป็นของหวานที่ทำจากกูลาเมอลากา[9]เป็นอาหารเปอรานากัน ตัวอย่างอื่นได้แก่ ลอดช่อง และโอนเดะห์โอนเดะห์ ขนมรูปร่างกลมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ไส้ทำจากกูลาเมอลากา คลุกด้วยมะพร้าวขูด
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.