Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ช้างอินเดีย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Elephas maximus indicus) เป็นหนึ่งในสามสปีชีส์ย่อยที่ได้รับการยอมรับของช้างเอเชีย และอาศัยอยู่ในเอเชียแผ่นดินใหญ่[3]
ช้างอินเดีย ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลโอซีน – ปัจจุบัน[1] | |
---|---|
ช้างอินเดียตัวผู้ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประเทศไทย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | อันดับช้าง Proboscidea |
วงศ์: | วงศ์ช้าง Elephantidae |
สกุล: | สกุลช้างเอเชีย Elephas |
สปีชีส์: | E. maximus |
สปีชีส์ย่อย: | E. m. indicus |
Trinomial name | |
Elephas maximus indicus Cuvier, 1798 | |
ชื่อพ้อง | |
E. m. bengalensis de Blainville, 1843 |
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1986 ช้างเอเชียถูกจัดอยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแดงไอยูซีเอ็น เนื่องจากประชากรในป่าลดลงอย่างน้อย 50% นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 ถึงคริสต์ทศวรรษ 1940 ช้างเอเชียถูกคุกคามจากการทำลาย, การเสื่อมโทรม และการแตกกระจายถิ่นฐานธรรมชาติ[2]
เป็นชนิดย่อยของช้างเอเชีย (E. maximus) ชนิดหนึ่ง นับเป็นช้างเอเชียชนิดที่มีการกระจายพันธุ์และจำนวนประชากรมากที่สุด พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย ตั้งแต่เอเชียใต้จนถึงภูมิภาคอินโดจีน นับจากภูฏาน, กัมพูชา, มณฑลยูนนานของจีน, อินเดีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, เนปาล, ไทย, และเวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ในป่าทุกภูมิภาค โดยพบมากที่สุด ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีทั้งหมดประมาณ 300 ตัว[4] โดยสถานที่ ๆ มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก คือ อุทยานแห่งชาติกาจิรังคา ในอินเดีย[5] ขณะที่ในป่าสงวนของเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีจำนวนช้างอินเดียประมาณ 300 ตัว นับเป็นประเทศเดียวที่จำนวนประชากรช้างอินเดียในธรรมชาติมีการเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการอนุรักษ์[6]
ช้างอินเดีย มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับช้างเอเชียชนิดอื่น ๆ เพียงแต่มีสีผิวที่สว่างกว่าช้างเอเชียชนิดอื่น แต่คล้ำกว่าช้างสุมาตรา (E. m. sumatranus) [7] มีความสูงประมาณ 2-4 เมตร (จากเท้าถึงหัวไหล่) และมีน้ำหนักประมาณ 3,000-5,000 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่จะกินอาหารวันหนึ่งประมาณ 200 กิโลกรัม และดื่มน้ำมากถึงวันละ 50 แกลลอนต่อวัน อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยมีช้างตัวเมียที่มีอายุมากที่สุดเป็น จ่าฝูง เรียกว่า "แม่แปรก" ตัวเมียจะไม่มีงา ขณะที่ช้างตัวผู้หากมีงาสั้น ๆ จะเรียกว่า "ช้างสีดอ" มีอายุการตั้งท้องนานถึง 22 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว มักอาศัยอยู่ในป่าโปร่ง หรือทุ่งหญ้า มากกว่าป่าดิบ นับเป็นช้างชนิดที่มนุษย์ผูกพันและนำมาใช้งานมากที่สุด [8] [9]
ปัจจุบัน ช้างเอเชียตัวที่เชื่อว่าใหญ่ที่สุดในโลก เป็นช้างอินเดียตัวผู้ ชื่อ "บีมกาส" อาศัยอยู่ในป่าลึกของอุทยานแห่งชาติบาเดียทางตะวันตกของเนปาล มีความสูง 10 ฟุตครึ่ง หรืออาจจะถึง 11 ฟุต มีอายุมากกว่า 25 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางของรอยเท้าถึง 22 นิ้ว เป็นช้างที่ไม่ค่อยจะได้มีผู้พบเห็นตัว และมีภาพถ่ายอย่างเป็นทางการยืนยันได้แค่ภาพเดียวเท่านั้น ซึ่งในยุคทศวรรษ 1980 ก็มีช้างตัวผู้ลักษณะใหญ่โตแบบนี้เช่นเดียวกัน คือมีส่วนสูง 11 ฟุต วัดจากเท้าถึงหัวไหล่ 3.5 เมตร เท่ากับว่าใหญ่กว่าช้างเอเชียทั่วไปเท่าตัว และมีส่วนหัวขนาดใหญ่กว่าช้างทั่วไป จึงมีข้อสันนิษฐานว่าช้างอินเดียในแถบนี้อาจมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสเตโกดอน ช้างในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 20,000 ปีก่อน และมีลักษณะเช่นนี้ แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว จากหลักฐานที่ค้นพบว่าสเตโกดอนได้อพยพจากไซบีเรียลงมาสู่อนุทวีปอินเดีย[10]
จากการล่าช้างเพื่อเอางา ทำให้ช้างอินเดียตัวผู้ในธรรมชาติ ปัจจุบันกลายเป็นช้างไม่มีงา หรือช้างสีดอมากถึงร้อยละ 4 โดยครึ่งหนึ่งนั้นเป็นประชากรช้างที่อาศัยอยู่ในจีน[11]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.