Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซาซัก (อินโดนีเซีย: Suku Sasak) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเกาะลมบกในประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรราว 3,600,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมดบนเกาะดังกล่าว ชาวซาซักมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับชาวบาหลีไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติและภาษา แต่ต่างกันเพียงศาสนาที่ส่วนใหญ่ชาวบาหลีนับถือศาสนาฮินดู ส่วนชาวซาซักส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
ขบวนแห่เจ้าสาวชาวซาซักในพิธีสมรส | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
---|---|
จังหวัดนูซาเติงการาตะวันตก | 3,000,000 คน |
ภาษา | |
ซาซัก, อินโดนีเซีย | |
ศาสนา | |
ส่วนใหญ่นับถืออิสลาม (ลัทธิเวอตูลีมา • ลัทธิเวอตูเตอลู) ส่วนน้อยนับถือฮินดูและพุทธปนนับถือผี[1] | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
บาหลี, ซุมบาวา |
ประวัติศาสตร์เบื้องต้นของชาวซาซักนั้นไม่ใคร่ปรากฏนัก ปรากฏแค่ในช่วงที่เกาะลมบกอันเป็นที่อาศัยของชาวซาซักนั้นถูกกาจะฮ์ มาดา (Gajah Mada) นายกรัฐมนตรีแห่งจักรวรรดิมัชปาหิตเข้าปกครอง ครั้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงต้นศตวรรษที่ 17 ชาวซาซักถูกบังคับให้เข้ารีตศาสนาอิสลาม หลังอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าชายปราเปิน (Pangeran Prapen) หรือ ซูนันปราเปิน (Sunan Prapen) พระโอรสของระเด่นปากู (Raden Paku) หรือซูนันกีรี (Sunan Giri)[2][3] ซึ่งซูนันกีรีและชาวมุสลิมจากเกาะมากัสซาร์มาเผยแผ่ศาสนา แต่ชาวซาซักเองมักผสานความเชื่อ โดยนำหลักศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐานมาผสานกับความเชื่อของศาสนาฮินดู-พุทธ เข้ากับการนับถือผี จนเกิดเป็นลัทธิเวอตูเตอลู (Wetu Telu) หรือลัทธิสามเวลาขึ้น[4][5]
ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เกาะลมบกถูกอาณาจักรเกิลเกิล (Gelgel) จากเกาะบาหลีเข้ายึดครอง[6] จึงมีการอพยพชาวบาหลีเข้าไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะลมบกจำนวนมาก ปัจจุบันยังมีผู้สืบเชื้อสายชาวบาหลีอาศัยบนเกาะลมบกราว 300,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10-15 ของประชากรบนเกาะ ซึ่งชาวบาหลีเหล่านี้ยังส่งอิทธิพลฮินดูแก่ลัทธิเวอตูเตอลูของลมบกด้วย[7]
ภาษาซาซักมีความเชื่อมโยงและใกล้เคียงกับภาษาบาหลี ซุมบาวา และภาษาของอินโดนีเซียฝั่งตะวันตกอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งภาษาซาซักออกเป็นสำเนียงต่าง ๆ ได้แก่ สำเนียงเหนือ หรือกูโต-กูเต (Kuto-Kute), สำเนียงกลาง หรือเมอโน-เมอเนอ (Meno-Mene), สำเนียงกลางตอนใต้ หรือมรียัก-มรีกู (Mriak-Mriku), สำเนียงกลางฝั่งตะวันออกและตะวันตก หรือเงอโน-เงอเนอ (Ngeno-Ngene) สำเนียงตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเงอโต-เงอเตอ (Ngeto-Ngete) และสำเนียงย่อยอื่น ๆ[8]
ชาวซาซักส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามลัทธิเวอตูลีมา (Wetu Lima) หรือวักตูลีมา (Waktu Lima) หรือลัทธิห้าเวลา ที่หมายถึงการละหมาดห้าครั้งอันเป็นวัตรปฏิบัติที่ชาวมุสลิมพึงปฏิบัติ แต่ชาวซาซักอีกส่วนหนึ่งนับถือลัทธิเวอตูเตอลู (Wetu Telu) หรือวักตูเตอลู (Waktu Telu) หรือลัทธิสามเวลา ที่ศาสนิกชนจะละหมาดเพียงแค่สามครั้งเท่านั้น ต่างจากมุสลิมอื่น ๆ ที่ละหมาดห้าเวลา
อิสลามิกชนที่ปฏิบัติตามแนวทางของลัทธิเวอตูเตอลูนั้นสามารถพบได้ทั่วไปบนเกาะ โดยเฉพาะที่เมืองบายันอันเป็นที่กำเนิดลัทธิ นอกจากนี้ยังมีชุมชนต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่นับถือลัทธิเวอตูเตอลู เช่น มาตารัม (Mataram), ปูจุง (Pujung), เซิงกล (Sengkol), รัมบีตัน (Rambitan), ซาเด (Sade), เตอเตอบาตู (Tetebatu), บุมบุง (Bumbung), เซิมบาลุน (Sembalun), เซอนารู (Senaru), โลยก (Loyok) และปาซูกูลัน (Pasugulan)
นอกจากนี้ยังมีชาวซาซักจำนวนหนึ่งที่เรียกว่าโบดา (Bodha) จำนวน 8,000-12,533 คน[9] ส่วนใหญ่อาศัยที่หมู่บ้านเบินเติก (Bentek) เชิงเขารินจานี (Gunung Rinjani) ยังคงนับถือเทพเจ้าต่าง ๆ และไม่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม[10] แต่รับอิทธิพลด้านพิธีกรรมและภาษาจากศาสนาฮินดูและพุทธ พวกเขามีความเชื่อด้านเวทมนตร์เช่นเดียวกับเวอตูเตอลูเพียงแต่ไม่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม โบดาจะนับถือเทพเจ้าทั้งหมดห้าพระองค์ คือ บาตารากูรู (Batara Guru) เป็นเทพเจ้าสูงสุด ส่วนบาตาราซักตี (Batara Sakti) และบาตาราเจอเนิง (Batara Jeneng) เป็นเทพเจ้ารองลงมา และมีเทวสตรีอีกสองพระองค์คืออีดาดารีซักตี (Idadari Sakti) และอีดาดารีเจอเนิง (Idadari Jeneng) ซึ่งเป็นพระชายาของเทพเจ้ารองทั้งสองดังกล่าว แม้ว่าพวกเขายังนับถือผี แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธที่เข้มข้นขึ้นจากการเผยแผ่ศาสนาจากพระธรรมทูตในยุคหลังมานี้[11] ปัจจุบันจึงมีทั้งพระสงฆ์และหมอผีปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อ[12]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.