การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infection; ตัวย่อ UTI) เป็น การติดเชื้อ จากแบคทีเรีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อส่วนของ ทางเดินปัสสาวะ หากติดเชื้อที่บริเวณทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง จะถือว่าเป็น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (การติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ) ทั่ว ๆ ไป ในขณะที่หากติดเชื้อที่บริเวณทางเดินปัสสาวะส่วนบน จะถือว่าเป็น โรคกรวยไตอักเสบ (การติดเชื้อที่ไต) อาการของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนล่างคือ รู้สึกเจ็บปวดขณะที่ ปัสสาวะ และถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้งหรือจำเป็นต้องปัสสาวะทันที (หรือทั้งคู่) ในขณะที่อาการที่เกิดจากโรคกรวยไตอักเสบนั้น นอกจากจะเหมือนกับที่พบในทางเดินปัสสาวะส่วนล่างแล้ว ผู้ป่วยยัง มีไข้ และ เจ็บที่บริเวณข้างลำตัว เพิ่มเติมอีกด้วย ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้เยาว์ อาการอาจไม่ชัดเจนและเจาะจงประเภทไม่ได้ แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อทั้งสองประเภทคือ Escherichia coli แต่แบคทีเรีย ไวรัสหรือ เชื้อรา อื่นอาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน แม้ไม่บ่อยก็ตาม
Urinary tract infection | |
---|---|
ชื่ออื่น | Acute cystitis, simple cystitis, bladder infection, symptomatic bacteriuria |
พบเซลล์สีขาวจำนวนมากในปัสสาวะของบุคคลที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ | |
สาขาวิชา | โรคติดเชื้อ, วิทยาทางเดินปัสสาวะ |
อาการ | ปวดปัสสาวะ, ปัสสาวะบ่อย, รู้สึกอยากปัสสาวะทั้ง ๆ ที่กระเพาะปัสสาวะว่าง[1] |
สาเหตุ | ส่วนใหญ่มักจะเป็น Escherichia coli[2] |
ปัจจัยเสี่ยง | Catheterisation (foley catheter), female anatomy, เพศสัมพันธ์, โรคเบาหวาน, โรคอ้วน, ประวัติครอบครัว[2] |
วิธีวินิจฉัย | ตามอาการ, urine culture[3][4] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | Vulvovaginitis, urethritis, pelvic inflammatory disease, interstitial cystitis,[5] โรคนิ่วไต[6] |
การรักษา | ยาปฏิชีวนะ (nitrofurantoin หรือ trimethoprim/sulfamethoxazole)[7] |
ความชุก | 152 ล้าน (2015)[8] |
การเสียชีวิต | 196,500 (2015)[9] |
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะมักจะเกิดในกลุ่มประชากรหญิงมากกว่าประชากรชาย ครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้หญิงทั้งหมดมักจะติดเชื้ออย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต และมักจะมีอาการซ้ำอีก ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้แก่ สรีระของสตรี การมีเพศสัมพันธ์ และประวัติการติดเชื้อภายในครอบครัว ปกติแล้ว โรคกรวยไตอักเสบมักจะเกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ แต่อาจมีสาเหตุมาจาก การติดเชื้อทางเลือด ได้เช่นกัน การวินิจฉัยโรคในกลุ่มหญิงสาวสุขภาพแข็งแรงสามารถใช้อาการป่วยเป็นข้อมูลอ้างอิงเดียวได้ แต่หากผู้ป่วยมีอาการไม่ชัดเจน การวินิจฉัยโรคอาจเป็นไปได้ยาก เพราะแบคทีเรียที่พบอาจไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ ในกรณีที่ซับซ้อนหรือบำบัดรักษาได้ไม่สำเร็จ การเพาะเชื้อจากปัสสาวะ อาจเป็นทางเลือกที่เป็นประโยขน์ สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อบ่อย การบำบัดด้วย ยาปฏิชีวนะ ในปริมาณต่ำอาจใช้เป็นวิธีการป้องกันอย่างหนึ่งได้
ในกรณีที่ไม่ซับซ้อน การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะอาจรักษาได้ง่ายด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ถึงแม้ว่าอัตราอาการดื้อยา ต่อยาหลากชนิดที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยนี้จะเพิ่มขึ้นก็ตาม ในกรณีซับซ้อน ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานขึ้นหรือต้องฉีดยาเข้าเส้นเลือด และถ้าหากอาการไม่ทุเลาขึ้นภายในเวลา 2-3 วัน อาจต้องมีการทดสอบวินิจฉัยเพิ่มเติม ในหมู่ประชากรหญิง การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะถือเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด โดยมีอัตราอยู่ที่ 10% ต่อปี
ลักษณะบ่งชี้และอาการ
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างเรียกได้เช่นกันว่าเป็นการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ และอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ รู้สึกแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ และต้องปัสสาวะบ่อยครั้ง (หรือจำเป็นต้องปัสสาวะทันที) โดยไม่มี ตกขาว หรืออาการเจ็บปวดอย่างมาก[4] ความรุนแรงของอาการเหล่านี้จะแตกต่างกันไป[10] และในกลุ่มผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงจะมีอาการโดยเฉลี่ยนานถึง 6 วัน[11] อาจมีอาการปวดเหนือ กระดูกเชิงกราน หรือ หลังช่วงล่าง ได้ด้วย ผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน หรือกรวยไตอักเสบ อาจ เจ็บที่บริเวณข้างลำตัว มีไข้ หรือคลื่นไส้ และ อาเจียน เพิ่มเติมจากอาการทั่วไปจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง[10] แม้ว่าลักษณะต่อไปนี้อาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในปัสสาวะอาจมีเลือด[7] หรือ น้ำหนอง (น้ำหนองในปัสสาวะ) ปรากฏเจือปน[12]
ในกลุ่มเด็ก
ในกลุ่มเด็กเล็ก อาการเดียวที่พบจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) คือมีไข้ ฉะนั้นด้วยสาเหตุที่ขาดอาการอื่น ๆ ที่จะช่วยชี้บ่งโรคนี้เอง เมื่อทารกหญิงอายุน้อยกว่า 2 ปีหรือทารกชายอายุน้อยกว่า 1 ปีที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศมีไข้ สมาคมแพทย์จำนวนมากจึงแนะนำให้มีการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ ในกลุ่มเด็กทารก เด็กอาจรับประทานได้ไม่ดี อาเจียน หลับมากขึ้น หรือมีอาการของ โรคดีซ่าน ในกลุ่มเด็กโต อาจเริ่มมีภาวะ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะไม่ได้) [13]
ในกลุ่มผู้สูงอายุ
อาการทางเดินปัสสาวะอักเสบพบได้น้อยลงในหมู่ ผู้สูงอายุ[14] อาการที่พบอาจคลุมเครือและครอบคลุมเพียงการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางจิต หรืออาการเหนื่อยล้าเท่านั้น[10] อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจเข้าพบผู้ให้บริการด้านสุขภาพด้วย ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ หรือการติดเชื้อในเลือดเป็นอาการแรก [7] การวินิจฉัยโรคอาจเป็นไปได้ยากเนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนมากมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อยู่ก่อนหน้าแล้วหรือประสบ ภาวะสมองเสื่อม[14]
สาเหตุ
แบคทีเรียE. coli ถือเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะถึง 80–85% และแบคทีเรีย Staphylococcus saprophyticus ประมาณ 5–10%[4] สาเหตุจาก viral หรือ เชื้อราพบได้ไม่บ่อยนัก[15] แบคทีเรียอื่นที่อาจเป็นสาเหตุได้แก่:Klebsiella, Proteus, Pseudomonas และ Enterobacter ซึ่งพบได้ไม่บ่อยและมักจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะหรือ การสวนปัสสาวะ[7] การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเนื่องจาก Staphylococcus aureus มักจะเกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อทางเลือด[10]
เพศสัมพันธ์
ในหมู่หญิงสาววัยประจำเดือน เพศสัมพันธ์ถือเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะถึง 75 – 90% โดยที่ความเสี่ยงของการติดเชื้อผันแปรตามความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์[4] ดังนั้นสำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงมีคำศัพท์เฉพาะที่บรรยายโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงแรกหลังจากการแต่งงาน คือ "กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน" ในหมู่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน การมีเพศ สัมพันธ์ไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบแต่อย่างใด แต่การใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งเพียงใดก็ตาม ถือเป็นปัจจัยในการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ[4]
ผู้หญิงมักมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบมากกว่าผู้ชาย เพราะท่อปัสสาวะ ของผู้หญิงนั้นสั้นกว่า และใกล้กว่าทวารมาก[16] ฉะนั้นเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนในหมู่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนลดระดับลง ความเสี่ยงที่จะได้รับการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจึงเพิ่มขึ้น เพราะร่างกายขาด แบคทีเรียที่สร้างกรดอ่อนๆ ในช่องคลอด ซึ่งปกติแล้วเป็นปัจจัยช่วยป้องกันการติดเชื้อ[16]
สายสวนปัสสาวะ
การสวนปัสสาวะ เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อัตราความเสี่ยงของ แบคทีเรียในปัสสาวะ (ภาวะแบคทีเรียในปัสสาวะ) มีค่าอยู่ที่ 3 - 6% ต่อวัน และยาปฏิชีวนะป้องกันมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะช่วยลดระดับลักษณะหลักของการติดเชื้อ[16] ความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เกิดขึ้นจะลดลงได้ หากสวนปัสสาวะเมื่อจำเป็นเท่านั้น โดยใช้ เทคนิคต้านจุลินทรีย์ ในการสอดสายและคงระบบปิดในการระบายสายสวนไม่ให้มีการกีดขวาง [17][18][19]
อื่น ๆ
แนวโน้มในการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะอาจมาจากพันธุกรรม ปัจจัยความเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่โรคเบาหวาน[4] การไม่ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะ และอาการ ต่อมลูกหมากโต[10]ปัจจัยที่ซับซ้อนมักแสดงอาการให้เห็นไม่เด่นชัด และครอบคลุมถึงความผิดปกติทางสรีระ การปฏิบัติงานของร่างกาย และการเผาผลาญอาหารที่มีอยู่ก่อนแล้ว โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบที่มีความซับซ้อนนั้นรักษาได้ลำบากกว่าและมักจะต้องใช้การประเมินผล การบำบัดรักษา และการติดตามผลที่รุนแรงและเคร่งครัดกว่า[20] ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบมักจะเชื่อมโยงกับ ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ (การเคลื่อนตัวที่ไม่ปกติของ ปัสสาวะ จาก กระเพาะปัสสาวะ เข้าสู่ ท่อไต หรือ ไต) และ อาการท้องผูก[13]
ผู้ที่มี อาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง มีอัตราความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการใช้สายสวนปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำงานที่ผิดปกติของ การถ่ายปัสสาวะ[21] ซึ่งเป็นสาเหตุการติดเชื้อที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้ และเป็นสาเหตุที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยที่สุด[21]นอกจากนั้นแล้ว การบริโภค น้ำแครนเบอร์รี่ หรืออาหารเสริมที่มีแครนเบอร์รี่เป็นส่วนประกอบ ไม่ปรากฏผลว่าช่วยป้องกันหรือบำบัดกลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้แต่อย่างใด[22]
การเกิดโรค
แบคทีเรีย ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะมักจะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้ออาจแพร่ผ่านทางทางกระแสเลือดหรือ น้ำเหลือง ก็ได้ เป็นที่เชื่อกันว่าปกติแล้วแบคทีเรียจะเข้าสู่ท่อปัสสาวะผ่านทางลำไส้ ซึ่งในกรณีนี้ผู้หญิงจะมีอัตราความเสี่ยงสูงกว่าเนื่องจากลักษณะทางสรีระ หลังจากที่แบคทีเรียเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะแล้ว แบคทีเรีย E. Coli จะยึดติดกับผนังกระเพาะปัสสาวะและสร้าง แผ่นชีวะ ที่ต้านทานการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย[7]
การป้องกัน
มาตรการป้องกันหลากประการยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีผลต่อความถี่ในการเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เช่น การใช้ ยาคุมกำเนิด หรือ ถุงยาง, การถ่ายปัสสาวะทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์, ประเภทของกางเกงชั้นในที่ใช้, วิธีการดูแลสุขอนามัยหลังจากการถ่ายปัสสาวะหรือ การขับถ่ายของเสีย หรือบุคคลนั้นๆ ปกติแล้วเลือกอาบน้ำโดยแช่ในอ่างหรือจากฝักบัว[4] เช่นเดียวกับกรณีของการกลั้นปัสสาวะ การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด และสวนล้างช่องคลอดซึ่งก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์เช่นกัน[16]
สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้งและใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิหรือหมวกครอบปากมดลูกในการคุมกำเนิด ควรใช้วิธีอื่นแทน[7] การบริโภคแครนเบอร์รี่ (ในรูปแบบน้ำผลไม้หรือแคปซูล) อาจช่วยลดความถี่ในการติดเชื้อได้[23][24] แต่ที่ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่คือประสิทธิผลในการต้านทานระยะยาว[25] และปัญหาต่อระบบทางเดินอาหารถึงกว่า 30%[26] การรับประทานสองครั้งต่อวันน่าจะดีกว่าวันละครั้ง ตามข้อมูลจากปี 2544 ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ จุลินทรีย์เพื่อสุขภาพ ในช่องคลอด เพื่อยืนยันให้แน่ชัดว่าจุลินทรีย์ดังกล่าวมีประโยชน์หรือไม่[7] การใช้ถุงยางโดยไม่ใช้ ยาฆ่าเชื้ออสุจิ หรือการใช้ยาคุมกำเนิดไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับการติดเชื้อในท่อปัสสาวะแบบไม่ซับซ้อน[27]
ยาที่ใช้รักษา
สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อบ่อยครั้ง การใช้ยาปฏิชีวนะทุกวันเป็นระยะเวลานานขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา[4]ยาที่มักจะใช้ได้แก่ nitrofurantoin และ trimethoprim/sulfamethoxazole[7]Methenamine เป็นตัวยาอีกชนิดที่นำมาใช้บ่อย เพราะในกระเพาะปัสสาวะซึ่งมีภาวะเป็นกรดต่ำนั้น ตัวยาสามารถผลิตก๊าซ formaldehyde ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการดื้อยา[28] ในกรณีของการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ การรับประทานยาปฏิชีวนะภายหลังการมีเพศสัมพันธ์อาจช่วยได้[7] ในหมู่หญิงวัยหมดประจำเดือนพบว่าการใช้ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ในช่องคลอด เฉพาะที่ สามารถช่วยลดการติดเชื้อซ้ำ การใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่องคลอดจาก วงแหวนพยุงในช่องคลอด ซึ่งไม่เหมือนกับการใช้ครีมเฉพาะจุด ไม่ก่อให้เกิดผลเท่ากับยาปฏิชีวนะปริมาณต่[29] ตามข้อมูลจากปีพ.ศ. 2554 มีการพัฒนาวัคซีนขึ้นเป็นจำนวนมาก[7]
ในกลุ่มเด็ก
หลักฐานที่ว่ายาปฏิชีวนะแบบป้องกัน สามารถลดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในกลุ่มเด็ก ยังมีไม่เพียงพอ[30] อย่างไรก็ตาม โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบที่เกิดขึ้นซ้ำแทบจะไม่เป็นสาเหตุของปัญหาในไต หากไม่ได้มีความผิดปกติที่ไตอยู่ก่อนหน้าแล้ว ทำให้การเกิดโรคไตเรื้อรังในกลุ่มผู้ใหญ่มีอัตราน้อยกว่า 0.33%[31]
การวินิจฉัยโรค
ในกรณีที่ไม่ซับซ้อน สามารถวินิจฉัยโรคและให้การรักษา โดยอิงจากอาการที่พบเท่านั้นและไม่ต้องรอการยืนยันเพิ่มเติมจากห้องวิจัยได้ ในกรณีที่ซับซ้อนหรือน่าสงสัย การรอคำยืนยันการวินิจฉัยโรคด้วย การวิเคราะห์ค่าปัสสาวะ จาก ไนไตรทในปัสสาวะ เม็ดเลือดขาว (leukocytes) หรือ leukocyte esteraseน่าจะมีประโยชน์กว่า การทดสอบอีกวิธีหนึ่งซึ่งก็คือ การตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการตรวจหา เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือแบคทีเรียที่ปรากฏ การเพาะเชื้อ ปัสสาวะจะถือว่าเป็นผลบวกหากนับกลุ่มแบคทีเรียที่ขยายตัวได้มากกว่าหรือเท่ากับ 103 หน่วยที่ขยายตัวได้ ต่อหนึ่ง mL ของระบบทางเดินปัสสาวะทั่วไป ความไวต่อยาปฏิชีวนะอาจทดสอบได้ด้วยการเพาะเชื้อเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกวิธีการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ผลการเพาะเชื้อมีค่าติดลบอาจมีอาการดีขึ้นได้ ด้วยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ[4] สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ด้วยเหตุที่ว่าอาการที่ปรากฏอาจไม่ชัดเจนและขาดการทดสอบที่เชื่อถือได้ สำหรับการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การวินิจฉัยโรคจึงอาจทำได้ลำบาก[14]
การจัดประเภท
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะอาจส่งผลต่อทางเดินปัสสาวะส่วนล่างเท่านั้น ซึ่งเรียกว่าการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ หรืออาจส่งผลต่อทางเดินปัสสาวะส่วนบน ซึ่งเรียกว่ากรวยไตอักเสบ หากในปัสสาวะมีแบคทีเรียอยู่แต่ไม่แสดงอาการใด ๆ จะเรียกลักษณะดังกล่าวว่าภาวะแบคทีเรียในปัสสาวะที่ไม่แสดงอาการ[10] หากมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน และบุคคลนั้นเป็นโรคเบาหวาน ตั้งครรภ์ เป็นเพศชาย หรือ มีระบบภูมิต้านทานที่ผิดปกติ จะถือว่าเป็นกรณีที่ซับซ้อน[11][7] แต่ถ้าหากเกิดขึ้นในกลุ่มผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงและ อยู่ในช่วงก่อนวัยหมดประจำเดือน จะถือว่าเป็นการติดเชื้อที่ไม่ซับซ้อน[11] สำหรับเด็กแล้ว หากติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและมีไข้ มักจะสันนิษฐานว่าเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน[13]
ในกลุ่มเด็ก
เพื่อให้สามารถวินิจฉัยการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในกลุ่มเด็กได้ จำเป็นจะต้องมีการเพาะเชื้อปัสสาวะที่เป็นบวก การปนเปื้อนถือเป็นประเด็นที่ท้าทายอยู่บ่อย ซึ่งขึ้นกับวิธีการในการเก็บรวบรวมปัสสาวะ ฉะนั้นการจำกัดค่าที่ 105 CFU/mL จึงถือเป็นมาตรฐานสำหรับตัวอย่างปัสสาวะส่วนกลาง ("clean-catch") 104 CFU/mL สำหรับตัวอย่างที่รวบรวมผ่านสายสวนปัสสาวะ และ 102 CFU/mL สำหรับ การเจาะเก็บตัวอย่างจากบริเวณเหนือหัวหน่าว (ตัวอย่างที่เก็บจากกระเพาะปัสสาวะโดยตรงโดยการใช้เข็มฉีดยา) องค์การอนามัยโลก ไม่แนะนำให้ใช้ "ถุงเก็บปัสสาวะ" เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่าง เนื่องจากอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนเมื่อมีการเพาะเชื้อ และการใช้สายสวนปัสสาวะเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าในเด็กที่ยังไม่เข้าห้องน้ำเองไม่ได้ บางสถาบัน เช่น สถาบันกุมารแพทย์ของอเมริกา แนะนำวิธี การตรวจอัลตราซาวด์ที่ไต และ voiding cystourethrogram (การตรวจเอ็กซเรย์สดเพื่อดูการทำงานของกระเพาะปัสสาวะในการขับปัสสาวะ) ในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและมีอายุน้อยกว่าสองปี อย่างไรก็ดี เนื่องจากที่ขาดแคลนวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพเมื่อพบต้นปัญหา สถาบันอื่น เช่น สถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ จึงแนะนำวิธีการถ่ายภาพอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น ในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือนหรือที่แสดงผลการตรวจสอบที่ไม่ปกติ[13]
การวินิจฉัยแยกโรค
ในหมู่ผู้ป่วยหญิงที่เป็นโรค ปากมดลูกอักเสบ (อาการอักเสบที่ปากมดลูก) หรือ ช่องคลอดอักเสบ (อาการอักเสบที่ช่องคลอด) และในหมู่ผู้ป่วยชายที่มีอาการของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ Chlamydia trachomatis หรือ Neisseria gonorrheae[10][32] โรคช่องคลอดอักเสบอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากยีสต์[33] กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง (อาการปวดกระเพาะปัสสาวะอย่างเรื้อรัง) อาจเป็นกรณีของผู้ป่วยที่มีอาการของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบบ่อยครั้งแต่ผลของการเพาะเชื้อปัสสาวะเป็นลบและยาปฏิชีวนะไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น[34] โรคต่อมลูกหมาก (อาการอักเสบที่ต่อมลูกหมาก) อาจนำมาเป็นสันนิษฐานหนึ่งในการวินิจฉัยโรคแยกโรคได้<[35]
การรักษา
วิธีการรักษาหลักคือการใช้ ยาปฏิชีวนะ บางครั้งอาจมีการจ่ายยา Phenazopyridine ควบคู่ไปกับยาปฏิชีวนะในช่วงสองสามวันแรก เพื่อช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนและความจำเป็นที่จะต้องปัสสาวะทันที ระหว่างที่ติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ[36] อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้จ่ายยาในลักษณะดังกล่าวเป็นประจำ เนื่องจากข้อกังวลด้านความปลอดภัยในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความเสี่ยงที่สูงขึ้นที่จะเป็นโรค methemoglobinemia(ระดับ methemoglobinในเลือดสูงเกินปกติ)[37] หากมีไข้ สามารถใช้ Acetaminophen (พาราเซตามอล) ได้[38]
ผู้ป่วยหญิงที่เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบไม่ซับซ้อนบ่อยครั้งอาจรักษาได้ด้วยตนเอง โดยการติดตามผล โดยที่การรักษาครั้งแรกต้องไม่ประสบผลเท่านั้น สามารถออกใบสั่งยาปฏิชีวนะกับทางเภสัชกรผ่านทางโทรศัพท์ได้[4]
กรณีไม่ซับซ้อน
การติดเชื้อแบบไม่ซับซ้อนสามารถใช้เฉพาะอาการที่แสดงเป็นข้อมูลเพื่อวินิจฉัยและรักษาได้[4]ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน เช่น trimethoprim/sulfamethoxazole (TMP/SMX) cephalosporin nitrofurantoin หรือ fluoroquinolone สามารถร่นระยะเวลาการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน[39] ปกติแล้วการรักษาด้วย trimethoprim, TMP/SMX, หรือ fluoroquinolone เป็นเวลาสามวันถือว่าเพียงพอ ในขณะที่หากต้องการรักษาด้วย nitrofurantoin จำเป็นต้องรับประทานยาถึง 5–7 วัน[4][40] เมื่อได้รับการรักษาอาการจะดีขึ้นภายในเวลา 36 ชั่วโมง[11] อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยประมาณ 50% จะมีอาการดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วันหรือกี่สัปดาห์ แม้จะไม้ได้รับการรักษาเลย[4] สถาบัน สมาคมโรคติดเชื้อแห่งอเมริกา ไม่แนะนำให้ใช้ fluoroquinolones เป็นวิธีการรักษาแรก เพราะกังวลว่าอาจทำให้เกิด อาการดื้อยา ต่อยาประเภทนี้ได้[40] แต่ถึงแม้ว่าจะมีคำแนะนำนี้ตักเตือนล่วงหน้า ก็ยังมีอาการดื้อยาบางประเภท ขึ้นอยู่กับความนิยมใช้[4] เช่น ในบางประเทศถือกันว่าตัวยา Trimethoprim เพียงอย่างเดียวก็เปรียบได้กับ TMP/SMX แล้ว[40] สำหรับโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบไม่ซับซ้อน เด็ก ๆ แสดงอาการที่ดีขึ้นต่อการให้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 3 วัน[41]
กรวยไตอักเสบ
กรวยไตอักเสบต้องได้รับการรักษาที่เข้มงวดกว่าการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะโดยทั่วไป โดยการจ่ายยาปฏิชีวนะแบบรับประทานเป็นเวลานานขึ้นหรือยาปฏิชีวนะ แบบฉีดเข้าเส้นเลือด[3] การรับประทาน ciprofloxacin กลุ่ม fluoroquinolone เป็นเวลา 7 วันเป็นวิธีรักษาอย่างแพร่หลายสำหรับบริเวณของร่างกายที่มีอัตราดื้อยาน้อยกว่า 10%หากอาการดื้อยาที่อวัยวะหนึ่งๆ มีอัตราที่สูงกว่า 10% ผู้ป่วยมักจะต้องรับการฉีด ceftriaxone เข้าเส้นเลือดหนึ่งครั้ง สำหรับผู้ป่วยที่มีการรุนแรงกว่านั้น อาจต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลและรับยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง[3] อาจสันนิษฐานได้ว่าผู้ป่วยมีโรคซับซ้อน เช่น การอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ จาก นิ่วในไต หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากที่รับการรักษาเป็นเวลาสองสามวัน[10][3]
ต้นกำเนิดและการพัฒนาของเชื้อโรค
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่พบบ่อยที่สุดในหมู่ประชากรหญิง[11] และเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในช่วงอายุระหว่าง 16 ถึง 35 ปี โดยที่ 10% ของจำนวนผู้หญิงทั้งหมดติดเชื้อดังกล่าวทุกปี ในขณะที่อีก 60% อาจติดเชื้อเพียงครั้งเดียวเมื่อใดก็ได้[4][7] การติดเชื้อซ้ำถือเป็นเรื่องปกติ และผู้หญิงเกือบครึ่งมักจะติดเชื้อครั้งที่สองภายในระยะเวลาหนึ่งปี การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะนี้เกิดขึ้นในหมู่ประชากรหญิงบ่อยกว่าในประชากรชายถึง 4 เท่า[7] โรคกรวยไตอักเสบพบได้น้อยกว่า 20–30 เท่า[4] แต่เป็นสาเหตุของ การติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบบ่อยที่สุด โดยมีอัตราโดยประมาณอยู่ที่ 40%[42] อัตราแบคทีเรียในปัสสาวะที่ไม่แสดงอาการจะเพิ่มขึ้นตามอายุของผู้ป่วย จากอัตรา 2-7% ในประชากรหญิงวัยประจำเดือนขึ้นถึง 50% ในกลุ่มหญิงสูงอายุในสถาบันดูแลผู้สูงอายุ[16]ส่วนอัตราแบคทีเรียในปัสสาวะที่ไม่แสดงอาการในหมู่ประชากรชายที่มีอายุมากกว่า 75 ปีอยู่ที่ 7-10%[14]
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะอาจเกิดขึ้นในประชากรวัยเยาว์ได้ถึง 10%[7] ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในทารกชายอายุน้อยกว่า 3 เดือนที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ รองลงมาคือในหมู่ทารกหญิงอายุน้อยกว่าหนึ่งปี[13] อย่างไรก็ตามอัตราความถี่โดยประมาณที่พบในกลุ่มเด็กไม่มีความคงที่ จากกลุ่มผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีไข้ตั้งแต่เกิดจนถึง 2 ปี การวินิจฉัยโรคมักจะแสดงให้เห็นว่า 2-20% มีอาการของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ[13]
สังคมและวัฒนธรรม
ในสหรัฐอเมริกา การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์ถึงเกือบ 7 ล้านครั้งต่อปี เข้าแผนกฉุกเฉิน 1 ล้านครั้งต่อปี และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึง 100,000 ครั้งต่อปี[7] การติดเชื้อก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง ทั้งในแง่ของเวลาการทำงานที่เสียไปและค่าใช้จ่ายในการรักษา ในสหรัฐอเมริกาได้มีการประมาณค่ารักษาโดยตรงที่ 1.6 พันล้าน เหรียญสหรัฐต่อปี[42]
ประวัติ
มีการเอ่ยถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะมาตั้งแต่สมัยโบราณ เอกสารชิ้นแรกบันทึกลงใน กระดาษปาปิรุสเอแบส เมื่อ 1,550 ปีก่อนคริสต์ศักราช[43] ซึ่งชาวอียิปต์โบราณได้บรรยายถึงอาการว่า "กระจายความร้อนจากกระเพาะปัสสาวะ"[44] ในสมัยโบราณจนถึงยุคของการพัฒนาและจ่ายยาปฏิชีวนะในช่วงปี 1930 ไม่มีวิธีการรักษาที่ให้ผล ก่อนหน้านั้นวิธีที่แนะนำ คือ การใช้สมุนไพร การเจาะเอาเลือดออก และการพักผ่อนร่างกาย[43]
ระหว่างที่ตั้งครรภ์
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นปัญหาที่น่ากังวลมากขึ้นระหว่างที่ ตั้งครรภ์ เนื่องจากอัตราความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ไตจะเพิ่มขึ้น ระหว่างที่ตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมน โปรเจสเตอโรน ที่สูง ทำให้ความเสี่ยงของกล้ามเนื้อที่ลดความตึงตัวลงในท่อไตและกระเพาะปัสสาวะมีอัตราสูงขึ้น และจะก่อให้เกิดแนวโน้มของการไหลย้อนของปัสสาวะกลับเข้าสู่ท่อไตจนถึงไตมากขึ้น ในขณะที่หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่เผชิญปัญหาความเสี่ยงที่สูงขึ้นในเรื่องภาวะแบคทีเรียในปัสสาวะที่ไม่แสดงอาการ หญิงเหล่านั้นอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ไตถึง 25-40% หากพบภาวะแบคทีเรียในปัสสาวะ [16] ฉะนั้นหากการตรวจปัสสาวะบ่งถึงอาการติดเชื้อ แม้ว่าจะไม่แสดงอาการก็ตาม ผู้ป่วยควรต้องได้รับการรักษาปกติแล้วแพทย์มักจะจ่าย Cephalexin หรือ nitrofurantoin เพราะถือว่าเป็นตัวยาที่ปลอดภัยสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์[45] ส่วนการติดเชื้อที่ไตระหว่างที่ตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ คลอดก่อนกำหนด หรือมี ภาวะครรภ์เป็นพิษ (ภาวะความดันโลหิตสูง และการทำงานที่ผิดปกติของไตระหว่างที่ตั้งครรภ์อาจทำให้ เป็นลมชัก)ได้[16]
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.