Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แวมไพร์ ทไวไลท์ (อังกฤษ: Twilight) เป็นภาพยนตร์อเมริกันปี พ.ศ. 2551 ซึ่งในส่วนของนิยาย Twilight ภาษาไทยก็ใช้ชื่อว่า แรกรัตติกาล เป็นงานเขียนของสเตเฟนี เมเยอร์
แวมไพร์ ทไวไลท์ | |
---|---|
กำกับ | แคเธอรีน ฮาร์ดวิก |
เขียนบท | นวนิยาย: สเตเฟนี เมเยอร์ บทภาพยนตร์: เมลิซซา โรเซนเบิร์ก |
อำนวยการสร้าง | มาร์ก มอร์แกน เกร็ก มัวราเดียน วิก ก็อดเฟรย์ |
นักแสดงนำ | คริสเตน สจ๊วต โรเบิร์ต แพตตินสัน |
กำกับภาพ | เอลเลียต เดวิส |
ตัดต่อ | แนซี ริชาร์ดสัน |
ดนตรีประกอบ | คาร์เทอร์ เบอร์เวลล์ |
ผู้จัดจำหน่าย | Summit Entertainment (USA) Entertainment One Ltd. (UK)[1] |
วันฉาย | November 21, 2008 (USA, CAN, MEX) December 11, 2008 (AUS) December 19, 2008 (UK) |
ความยาว | 121 min.[2] |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
ภาษา | อังกฤษ |
ทุนสร้าง | $37 ล้าน[3] |
ทำเงิน | $392,616,625 |
ต่อจากนี้ | แวมไพร์ ทไวไลท์ 2 นิวมูน |
ข้อมูลจากสยามโซน |
เนื้อเรื่องว่าด้วย เบลล่า สวอน นางเอกของเรื่อง ที่ไม่เหมือนเด็กสาววัยรุ่นทั่วไป เธอไม่สนใจวัตถุนิยม ไม่ตามเทรนด์ ซึ่งพ่อแม่ได้หย่าร้างกัน โดยเธอได้อาศัยอยู่กับแม่ ต่อมา แม่ของเธอได้แต่งงานใหม่ เบลล่าคิดว่านี่จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับแม่ของเธอ เธอจึงย้ายไปอยู่กับพ่อที่ฟอร์คส, สหรัฐอเมริกา ที่ฟอร์คสเป็นเมืองที่ฝนตกตลอดปี ไม่มีแดด มีต้นไม้เขียวชอุ่ม เธอจำใจย้ายมาอยู่ เพราะสามีใหม่ของแม่เป็นนักเบสบอลและต้องเดินทางบ่อย และแม่ต้องคอยดูแลเธออยู่ที่บ้าน เธอคิดว่ามันทำให้แม่ไม่มีความสุขนัก เมื่อวันแรกที่เธอได้ย้ายเข้ามาโรงเรียนไฮสคูลใหม่ เธอคิดว่ามันก็คงไม่ต่างอะไรจากโรงเรียนเก่าของเธอ แต่นั่นทำให้เธอได้พบกับนักเรียนชายผู้เพอร์เฟ็ค เขาทั้งรูปงาม แข็งแรง และฉลาดมากต่างจากนักเรียนชายทั่วๆไป เขามีนามว่า เอ็ดเวิร์ด คัลเลน ในตอนเช้า เธอเห็นเขาจ้องเธอตลอดอย่างไม่ละสายตา แต่เมื่อเธอและเขาต้องมานั่งใกล้กันตอนเรียนวิชาชีววิทยาเนื่องจากเหลือที่นั่งข้างเขาเพียงที่เดียว เขากลับไม่สนใจเธอแม้แต่น้อย และทำท่าทางเหมือนรังเกียจเธอ ภายหลัง เขาได้หายตัวไปเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และกลับมาใหม่
เอ็ดเวิร์ดเคยช่วยชีวิตเบลล่าจากรถตู้ที่จะชนเธอด้วยการที่เขาหยุดมันด้วยมือเปล่า ทำให้เบลล่าตกตะลึงเป็นอย่างมาก และอีกหลายครั้งที่เขาช่วยเธอจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เขาอ่านใจทุกคนได้ แต่มันใช้ไม่ได้กับเธอ ต่อมา เบลล่าได้รู้ว่าเอ็ดเวิร์ดเป็นแวมไพร์และครอบครัวของเขาต่างจากแวมไพร์ทั่วไป ครอบครัวเขาละเว้นการดื่มเลือดมนุษย์แต่ล่าสัตว์ใหญ่บนภูเขาสูงแทน ก่อนหน้านั้นเอ็ดเวิร์ดสงสัยในตัวเบลล่า จึงแอบเข้าไปที่ห้องนอนเธอในขณะที่เธอหลับ เขาได้ยินเธอพึมพำเรียกชื่อเขาออกมา เขาจึงได้รู้ว่าทั้งเธอและเขาต่างตกหลุมรักซึ่งกันและกัน แต่ทุกอย่างไม่ได้ดีเสมอไป เมื่อเจมส์, วิคตอเรีย และ ลอเรนท์ คู่ปรับของเอ็ดเวิร์ดได้เดินทางมาฟอร์คส พวกเขาคิดว่าการที่เอ็ดเวิร์ดสูญเสียคนรัก จะทำให้เขาต้องเจ็บปวดในชีวิตที่เป็นอมตะของตนเอง ความรัก ความเป็นอมตะ แวมไพร์ มนุษย์ นิรันดรกาล การสูญเสีย ยามแรกรัตติกาล จะทำให้เขาและเบลล่ารักกันได้หรือ
นิยายของสเตเฟนี เมเยอร์ เรื่อง แรกรัตติกาล ได้รับความสนใจจากเอ็มทีวีฟิล์มสในเครือพาราเมาท์พิกเจอร์ส ตั้งแต่เดือนเมษายน 2004 แต่บทภาพยนตร์และการพัฒนาบทค่อนข้างแตกต่างไปจากต้นฉบับ[3][4] ทำให้เมเยอร์ไม่ตกลงที่จะทำ อย่างเช่นเบลล่าจะมีกล้องส่องในความมืดเป็นอุปกรณ์ และเธอยังเป็นนักวิ่งลมกรดสุดฮ็อตประจำโรงเรียน แต่นิยายเขียนไว้ว่า ความสามารถทางด้านกีฬาของเธอต่ำ เป็นต้น[5] ต่อมาซัมมิตเอนเตอร์เทนเมนต์เข้ามาติดต่อหาเมเยอร์ และเริ่มพัฒนาบทในเดือนเมษายน 2007[6] ทางบริษัทเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นโอกาสที่พวกเขาจะได้ออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ จากการประสบความสำเร็จของนิยายและในภาคต่อ[7][8] ในฤดูร้อนปีเดียวกัน แคเธอรีน ฮาร์ดวิกได้รับการว่าจ้างให้มากำกับภาพยนตร์และเมลิซซา โรเซนเบิร์กมาเขียนบท[9]
โรเซนเบิร์กพัฒนาโครงเรื่องเสร็จในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และร่วมกับฮาร์ดวิกในการเขียนบทภาพยนตร์ในเดือนถัดมา แต่เนื่องจากการประท้วงของกลุ่มนักเขียนในอเมริกาที่ใกล้จะเข้ามาถึงทำให้โรเซนเบิร์กทำงานเต็มเวลาในการเขียนบทภาพยนตร์ให้เสร็จก่อน 31 ตุลาคม[10] ในการดัดแปลงนิยายเรื่องนี้ ฮาร์ดวิกก็ยอมรับว่าถึงแม้จะพยายามซื่อตรงต่อต้นฉบับเพียงใด ก็ไม่สามารถถ่ายทอดทุกอย่างที่อยู่ในหนังสือลงบนแผ่นฟิล์มได้หมด บางตัวละครในบทประพันธ์ไม่ปรากฏในบทภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างเช่น ลอเรน มัลลอรี เพื่อนร่วมชั้นของเบลล่า [5]
ฮาร์ดวิกได้ใช้การเล่าเรื่องจากมุมมองของเบลลา โดยใช้เสียงวอยซ์โอเวอร์ของนางเอก[10] และเธอยังได้เขียนสตอรีบอร์ดตั้งแต่ขึ้นพรี-โปรดักชันอีกด้วย[11]
ฮาร์ดวิกได้เยี่ยมกองถ่ายทำอย่างไม่เป็นทางการในเรื่อง Adventureland ขณะที่คริสเตน สจ๊วตกำลังเข้าฉาก โดยเธอได้ทำการทดสอบบทซึ่งก็ทำให้ผู้กำกับหลงใหลในตัวเธอ[3] ในเริ่มแรกฮาร์ดวิกไม่ได้จะเลือกโรเบิร์ต แพตตินสันให้รับบทเอ็ดเวิร์ด คูลเลน แต่หลังจากที่มาร่วมทดสอบบทที่บ้านของเธอ โดยเข้าบทเลิฟซีนกับสจ๊วตที่เตียงบ้านฮาร์ดวิก ก็ทำให้เขาตัดสินใจเลือกแพตตินสัน[3] ตัวแพตตินสันเองไม่รู้จักนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่แรกแต่หลังจากนั้นก็เอาหนังสือมาอ่าน[12] เมเยอร์ยังอนุญาตให้เขาเห็นต้นฉบับที่ยังไม่เสร็จของ Midnight Sun ที่เป็นเหตุการณ์ในเรื่องจากมุมมองของเอ็ดเวิร์ด[13] กระแสตอบรับของแฟนนิยายเมื่อรู้ว่าแพตตินสันมารับบทเป็นเอ็ดเวิร์ดในตอนแรกเป็นในทางต่อต้าน เมเยอร์กล่าวว่าเธอมีภาพเอ็ดเวิร์ดและเบลลาในหัวอยู่ชัดเจนมาก และยังกล่าวติดตลกว่า แต่พอเห็นคนที่มารับบทโดยเฉพาะโรเบิร์ต แพตตินสัน นั้นมันยากที่จะหาใครมารับบทนี้ และไม่แน่ใจว่าจะออกมาอย่างไร แต่พอเห็นรูปแพตตินสันแล้ว เขาก็พอรับเอ็ดเวิร์ดได้ เพราะพอจะดูมีอะไรเป็นแวมไพร์ได้
การถ่ายภาพส่วนใหญ่ใช้เวลา 44 วัน[14] หลังจากการซ้อมมากกว่า 1 สัปดาห์[15] จนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2008[16] เช่นเดียวกับผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของฮาร์ดวิกเรื่อง thirteen ใช้กล้องแบบกล้องแบบมือถือถ่าย เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนจริง[17][18] เมเยอร์ผู้เขียนนิยายได้เข้ามาร่วมกองถ่าย 3 ครั้ง และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิ่งที่แตกต่างไปของเนื้อเรื่อง[19] เธอยังได้มีบทเล็ก ๆ ในภาพยนตร์[20] นักแสดงที่แสดงเป็นแวมไพร์ได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงแสงแดดเพื่อให้มีสีผิวซีด และยังมีเมคอัพบ้าง และใส่คอนแทคเลนส์ ส่วนตาของครอบครัวคูลเลนใส่ตาสีทอง เพราะดื่มเลือดสัตว์ และจะกลายเป็นสีดำเมื่อกระหายเลือด[17] พวกเขายังได้ร่วมซ้อมกับนักเต้นและไปสังเกตการเคลื่อนไหวของเสือดาวเพื่อให้การเคลื่อนไหวของพวกเขาดูสง่างาม[17][21][22]
การถ่ายทำส่วนใหญ่ ถ่ายทำในพอร์ตแลนด์ รัฐโอรีกอน[23] และตัวละครส่วนใหญ่แสดงบทเสี่ยงด้วยตัวเอง[24] ในฉากในห้องบัลเล่ต์ระหว่างไจกันเดต์และแพตตินสัน ถ่ายทำในสัปดาห์แรกของการถ่ายทำ ที่มีการใช้สายสลิงจำนวนมาก เพราะเป็นการแสดงเรื่องที่แวมไพร์เป็นยอดมนุษย์ที่ทั้งพละกำลังและความเร็ว[22]
แทนที่จะถ่ายทำที่โรงเรียนฟอร์กสไฮสคูล แต่ได้ไปถ่ายทำที่คาลามาไฮสคูล[25] และเมดิสันไฮสคูล[26] และฉากอื่นถ่ายทำที่ St. Helens ในโอรีกอน[27] และฮาร์ดวิกถ่ายทำบางฉากใหม่ที่แพซาดีนา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในเดือนสิงหาคม[14][28]
เพลงบรรเลงประกอบเรื่องนี้ประพันธ์โดย คาร์เตอร์ เบอร์เวลล์ [29][30] และส่วนที่เหลือของเพลงประกอบเลือกโดยอเล็กซานดรา แพ็ตซาวาส[31] เมเยอร์แนะนำเรื่องเพลงประกอบให้ใช้เพลงอย่างของวงมิวส์, ลิงคินพาร์ก วงที่เธอฟังขณะเขียนบทประพันธ์[32][33] อัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ออกขายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน โดยช็อปช็อปเรกคอร์ดส ในเครือแอตแลนติกเรคคอร์ด อัลบั้มเข้าอันดับ 1 ในสัปดาห์แรกของชาร์ทบิลบอร์ด 200 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน[34]
แวมไพร์ ทไวไลท์ มียอดซื้อตั๋ว 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการขายรอบเที่ยงคืนอย่างเดียวเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008[35] และยังเป็นที่ 3 ของทั้งหมดจากการขายตั๋วออนไลน์ล่วงหน้า เป็นรองเพียง สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 3: ซิธชำระแค้น และ แบทแมน อัศวินรัตติกาล[35] โดยทำรายได้รวมในวันเปิดตัวที่ 35.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นหนังที่ทำรายได้เปิดตัวมากที่สุดสำหรับหนังที่ไม่ใช่ภาคต่อและหนังซัมเมอร์[36] และทำรายได้ในสัปดาห์เปิดตัวในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่ 69.6 ล้านเหรียญ จากจำนวนโรงฉาย 3,419 โรง มีรายได้เฉลี่ยต่อโรงที่ 20,368 ดอลลาร์สหรัฐ[37]
จากข้อมูลวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2009 ภาพยนตร์ทำรายได้อยู่ที่ 191,368,384 ดอลลาร์สหรัฐ ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และอีก 181,986,225 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับพื้นที่อื่น รวมรายได้ที่ 392,616,625 ดอลลาร์สหรัฐ ทั่วโลก[38]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.