Loading AI tools
จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลย เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ตั้งอยู่ในแอ่งสกลนครและอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (กลุ่มจังหวัดสบายดี) ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 540 กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศที่งดงาม อากาศหนาวเย็น เป็นแหล่งเพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง
จังหวัดเลย | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Loei |
จากซ้ายไปขวาและบนลงล่าง : พระธาตุศรีสองรัก - วัดศรีโพธิ์ชัย - เชียงคาน - ผีตาโขน - ภูลมโล - สกายวอร์คพระใหญ่ภูคกงิ้ว | |
คำขวัญ: เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดเลยเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ชัยพจน์ จรูญพงศ์[1] (ตั้งแต่ พ.ศ. 2566) |
พื้นที่[2] | |
• ทั้งหมด | 11,424.612 ตร.กม. (4,411.067 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 14 |
ประชากร (พ.ศ. 2566)[3] | |
• ทั้งหมด | 635,142 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 41 |
• ความหนาแน่น | 55.59 คน/ตร.กม. (144.0 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 71 |
รหัส ISO 3166 | TH-42 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | ชุมชนแฮ่ |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดเลย ถนนมลิวรรณ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย 42000 |
• โทรศัพท์ | 0 4281 2142 |
• โทรสาร | 0 4281 1746 |
เว็บไซต์ | http://www.loei.go.th |
ดินแดนที่เป็นที่ตั้งจังหวัดเลยในปัจจุบัน เป็นชุมชนมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานทางโบราณคดี อาทิเช่น เครื่องมือหินซึ่งเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีขวานหินขัด กําไลหินขัด แถบอําเภอเชียงคาน ซึ่งเชื่อกันว่ากลุ่มชนแถบนี้ดํารงชีวิตภายใต้สังคมเกษตรกรรม มีการกําหนดอายุไว้ประมาณ 9,000 ปี 4,000 – 2,000 ปี ยุคสัมฤทธิ์ พบหลักฐานที่ทําให้สันนิษฐานได้ว่า มีการขุดแร่เหล็กและทองแดงใน บริเวณอําเภอปากชม และอําเภอเมืองเลย ขึ้นมาใช้
พบหลักฐานใบเสมาในพื้นที่อําเภอวังสะพุง อายุประมาณ 1,000-1,200 ปี ซึ่งเป็นยุคทวารวดี และแหล่งโบราณคดีในพื้นที่อําเภอภูหลวง คาดว่ามีอายุใกล้เคียงกัน และในพื้นที่นี้มีชุมชนซึ่งมีความเจริญ จนมีสภาพเป็นเมือง อาทิ เมืองด่านซ้าย เมืองเชียงคาน เมืองท่าลี่ ส่วนเมืองเลย ได้ยกฐานะจากชุมชนบ้านแฮ่ ที่ตั้งอยู่ริมห้วยน้ําหมานซึ่งไหลจากภูเขาชื่อภูผาหมาน เป็นเมือง ในปี พ.ศ. 2396 โดยตั้งชื่อเมืองตามแม่น้ำใหญ่ ว่า“ เมืองเลย ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้ขึ้นกับเมืองหล่มสัก พร้อมทั้งแต่งตั้งหลวงศรีสงคราม (ท้าวคําแสน) เป็นเจ้าเมืองคนแรก
นักสํารวจชาวฝรั่งเศส ชื่อ เอเจียน แอมอนิเย ได้เดินทางมาค้นหาศิลาจารึกและมาถึงเมืองเลย เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2426 บรรยายสภาพเมืองเลยและอ้างบันทึกของมูโฮร์ (Mouhot) นักสํารวจชาวฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาถึงเมืองเลย ปี 2404 ว่า
“ ...สภาพบ้านแฮ่ ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งห้วยน้ําหมาน ประกอบด้วยกระท่อมประมาณ 200 หลัง บนพื้นที่สูง น้ำไม่ท่วมถึง หมู่บ้านตั้งเรียงรายอยู่ใต้ร่มไม้ผล ใกล้กับทุ่งนา แม่น้ําเลยสามารถเดินเรือได้ในฤดูน้ําหลาก...”
“...ประชาชนครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกร และอีกครึ่งหนึ่งเป็นกรรมกรทํางานอุตสาหกรรม ผลิตอุปกรณ์การไถนา และมีดอีโต้ เพื่อจําหน่ายไปทั่วจังหวัดข้างเคียง จนถึงจังหวัดที่อยู่เลยโคราชขึ้นไปอีก แต่ว่าไม่มีโรงงาน ไม่มีเครื่องจักรไอน้ํา แล้วก็เป็นที่น่าสนใจ เมื่อเห็นว่าการตั้งเตาที่จะตีเหล็กนั้นมีราคาต่ำที่สุด คือ จะมีการขุดหลุมกว้าง 1 เมตรครึ่ง ที่ตีนเขา แล้วช่างเหล็กจะเอาก้อนแร่ใส่เข้าไปในหลุมนั้น แล้วเผาด้วยถ่านไฟ ที่มีความร้อนสูง เมื่อร้อนได้ที่แล้ว เหล็กก็จะไหลลงไปในหลุมที่พื้นดิน หลังจากนั้นก็จะนําเอาเหล็กเป็นก้อนออกจากหลุมดังกล่าวไปทําการตีเป็นเครื่องมือที่โรงตีเหล็ก ...”
“...ที่นี่ก็จะมีหลุมในดินอีก และมีไฟเผา ซึ่งจะมีเด็กคอยสูบลมด้วยท่อลมแฝด 2 ท่อ ซึ่งทําด้วยท่อนไม้กลวง โดยเอาปลายด้านหนึ่งฝังลงในดิน ภายในท่อสูบลมนี้จะมีลูกสูบทําด้วยสําลีจากตัวท่อสูบลมนี้จะมีหลอดไม้ไผ่ 2 หลอด ต่อไปที่เตาเผาเหล็ก เพื่อนําอากาศเข้าไปในเตาเผาซึ่งจะทําให้ไฟลุกกล้าเป็น...”
“...คนเมืองเลยไปคล้องช้างป่าแถบภาคใต้ของจังหวัดในเขตภูหลวงและภูเขียว เวลาออกเดินทางพวกเขาจะทําการบวงสรวงวิญญาณด้วยเชือกยาวซึ่งมีบ่วงคล้องเอาช้างด้วยข้าว เหล้า เป็ด และไก่เสียก่อน นอกจากนั้นนายพรานจะให้คําแนะนําว่า ห้ามภรรยาทําการตัดผม หรือรับแขกต่างบ้านให้พักค้างคืนในบ้านเด็ดขาด ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามเหล่านี้ จะทําให้ช้างที่คล้องมาได้นั้นหลุดมือไป...”
ปี 2434 (รศ.110) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสังเกตเห็นว่าฝรั่งตั้งท่าจะรุกรานพระราชอาณาเขต จึงได้จัดการปกครองพระราชอาณาเขตเป็นมลฑล และ ปี 2435 กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้จัดระบบการปกครองใหม่ เมืองเลยจึงแยกจากเมืองหล่มสัก ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองโดยให้ขึ้นกับ มลฑลลาวพวน ที่ตั้งบัญชาการที่เมืองหนองคาย ก่อนที่จะย้ายมาตั้งที่บ้านหมากแข้งใน ปี 2436 (รศ.116) และเปลี่ยนชื่อเป็นมลฑลอุดรภายหลัง และยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 มีอําเภอ ดังนี้
1. อําเภอกุดป่อง ( อําเภอเมืองเลย ในปัจจุบัน )
2. อําเภอท่าลี่
3. อําเภอด่านซ้าย ( โอนมาจากเมืองพิษณุโลก )
4. อําเภอวังสะพุง ( โอนมาจากเมืองหล่มสัก )
5. อําเภอเชียงคาน ( โอนมาจากเมืองพิชัย )
ก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้มีผู้คนอพยพจากอาณาจักรโยนกเชียงแสนที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา ซึ่งมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย) ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย ต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคู และได้นำนามหมู่บ้านด่านซ้าย มาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่ เป็น "เมืองด่านซ้าย" อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางในที่สุด โดยมีพ่อขุนผาเมืองอพยพผู้คนติดตามไปตั้งเมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) และตั้งเมืองด่านซ้าย เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของเมืองบางยาง
นอกจากนี้แล้ว ยังมีชาวโยนกอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขต ล้านนา ต่อแดนล้านช้างอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้งเมืองเซไลขึ้น (สันนิษฐานว่าอยู่ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง) จากหลักฐานในสมุดข่อยที่มีการค้นพบ เมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตก จึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลถึงบริเวณที่ราบระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นขนานนามว่า "บ้านแห่" (บ้านแฮ่) ส่วนลำห้วยให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน"
ในปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่า หมู่บ้านแฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมืองเรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า เมืองเลย ขึ้นต่อเมืองเพชรบูรณ์อีกทีหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. 2440 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ ร.ศ. 116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ (เดิมตำบลอาฮีเป็นอำเภอ แต่ถูกลดบทบาทลงเป็นตำบลเพราะอยู่ใกล้กับแม่น้ำเหือง เป็นผลมาจากการเสียดินแดนให้ลาวโดยประเทศฝรั่งเศส) อำเภอนากอก (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว) อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง ต่อมา พ.ศ. 2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น บริเวณลำน้ำเลย พ.ศ. 2449-2450 เปลี่ยนชื่อบริเวณลำน้ำเลยเป็นบริเวณลำน้ำเหือง และใน พ.ศ. 2450 ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะ "เมืองเลย" โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น "อำเภอเมืองเลย"
ในปี พ.ศ. 2445 กรมมหาดไทย นำใบบอกพระยาสุริยวงษา เจ้าเมืองหล่มศัก กราบบังคมทูลว่ามีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ขึ้นไปว่า เมืองเลย เมืองแก่นท้าว เมืองขึ้นเมืองเพชรบูรณ ร้องกล่าวโทษเมืองเพชรบูรณ จึงโปรดให้เมืองหล่มศักดูแลเมืองเลย เมืองแก่นท้าว ไปจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ ในกรณีนี้พระยาสุริยวงษา เห็นว่าพระศรีสงคราม เจ้าเมืองเลย ชราภาพ อายุ 80 ปี เกรงจะรับราชการต่อไปไม่ได้ จึงได้ขอพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นจางวางกำกับดูแลราชการ และได้ขอพระราชทานท้าววรบุตร ว่าที่อุปฮาด เป็นพระศรีสงครามเจ้าเมืองเลย รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป[5]
ในปี พ.ศ. 2567 นาย ชัยธวัช เนียมศิริ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลยนับเป็นอดีตผู้ว่าคนแรกของจังหวัดที่ได้รับตำแหน่งนายกอบจ.
จังหวัดเลย ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บนพื้นที่ราบสูงโคราช หรือที่เรียกกันว่า แอ่งสกลนคร มีเนื้อที่ประมาณ 11,424 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 7,140,382 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.77 ของพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาในแนวทางทิศเหนือใต้ และจะมีพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาที่ไม่ใหญ่มากนัก สลับกันอยู่ในแนวเทือกเขา มีภูเขาสูงกระจัดกระจาย โดยเฉพาะทางตะวันตกและทางด้านใต้ของจังหวัด มีแหล่งน้ำสำคัญคือ แม่น้ำเลยที่ไหลผ่านตัวจังหวัด และแม่น้ำโขงในบริเวณตอนบนของจังหวัด มีระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 520 กม. มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ในแต่ละทิศดังนี้
จังหวัดเลย มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับแขวงไซยะบูลี และแขวงเวียงจันทร์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ความยาว 197 กิโลเมตร มีแม่น้ำโขง แม่น้ำเหือง และแนวสันเขาเป็นพรมแดน[6]
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป ของจังหวัดเลย มีภูเขาล้อมรอบตัวเมือง ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ สูงจากระดับน้ําทะเล เฉลี่ยประมาณ 250 เมตร ณ สถานีอุตุนิยมวิทยา ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกเป็น 3 เขต ดังนี้คือ
จังหวัดเลย อยู่ใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จะมีลมมรสุมหรือแนวปะทะโซนร้อน (Inter Tropical Convergence Zone : ITCZ) พาดผ่านทำให้มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน และบางครั้งจะมีพายุหมุนเขนร้อน (Tropical Cycloen) เคลื่อนเข้ามาผ่านเป็นครั้งคราวซึ่งจะมีฝนตกหนัก
จังหวัดเลย เคยมีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ -1.3 องศาเซลเซียส (2 มกราคม พ.ศ. 2517) อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 43.5 องศาเซลเซียส (25 เมษายน พ.ศ. 2517) อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 25.5-26.5 องศาเซลเซียส และจะมีอุณหภูมิที่หนาวจัดในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 5.5 องศาเซลเซียส (พ.ศ. 2557)
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.