Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราจาเปอเริมปวนเบอซาร์ เติงกูบูเดรียะฮ์ บินตี อัลมาร์ฮุม เติงกูอิซมาอิล[หมายเหตุ ก] (มลายู: Raja Perempuan Besar Tengku Budriah binti Almarhum Tengku Ismail; ยาวี: راج ڤرمڤوان بسر تڠكو بدرية بنت المرحوم تڠكو إسماعيل; 28 มีนาคม พ.ศ. 2468 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551)[1] เป็นพระอัครมเหสีในรายาปูตราแห่งปะลิส และเป็นรายาประไหมสุหรีอากงพระองค์ที่สามของประเทศมาเลเซีย
สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ | |
---|---|
รายาประไหมสุหรีอากง | |
ดำรงพระยศ | 21 กันยายน 2503 – 20 กันยายน 2508 |
ราชาภิเษก | 4 มกราคม 2504 |
ก่อนหน้า | เจอมาอะฮ์ บินตี ราจาอะฮ์มัด |
ถัดไป | อินตัน ซาฮาราะฮ์ บินตี เติงกูฮีตัม โอมาร์ |
สมเด็จพระราชินีวิธวาแห่งปะลิส | |
ดำรงพระยศ | 16 เมษายน 2543 – 28 พฤศจิกายน 2551 |
สมเด็จพระราชินีแห่งปะลิส | |
ดำรงพระยศ | 19 มกราคม 2489 – 16 เมษายน 2543 |
ราชาภิเษก | 12 มีนาคม 2492 |
ถัดไป | เติงกูเฟาซียะฮ์ บินตี เติงกูอับดุล ราชิด |
พระราชสมภพ | 28 มีนาคม พ.ศ. 2468 กัวลาไกร รัฐกลันตัน อสหพันธรัฐมลายู |
สวรรคต | 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 (83 ปี) โรงพยาบาลกัวลาลัมเปอร์ กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย |
ฝังพระศพ | 29 พฤศจิกายน 2551 สุสานหลวงปะลิส อาเรา |
พระราชสวามี | รายาปูตราแห่งปะลิส (พ.ศ. 2484–2543) |
พระราชบุตร | 10 พระองค์ รวม รายาซีราจุดดินแห่งปะลิส |
ราชวงศ์ | ลงยูนุซ (พระราชสมภพ) จามาลูไลล์ (อภิเษกสมรส) |
พระราชบิดา | เติงกูอิซมาอิล บิน ตวนเบอซาร์แห่งปัตตานี |
พระราชมารดา | เติงกูเบอซาร์ซูไบดะฮ์ บินตี เติงกูอับดุล กาดีร์ |
ศาสนา | อิสลามนิกายซุนนี |
สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2468 ณ เมืองกัวลาไกร รัฐกลันตัน เป็นพระธิดาเติงกูอิซมาอิล บิน ตวนเบอซาร์แห่งปัตตานี กับเติงกูเบอซาร์ซูไบดะฮ์ บินตี เติงกูอับดุล กาดีร์ (หรือเอกสารไทยเรียก ตนกูซูไบด๊ะ) โดยพระราชชนกเป็นพระโอรสของราจาตวนเบอซาร์ อิบนี ตวนลงปูเตะฮ์ (หรือ ตนกูบือซาร์) เป็นอดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่ 5 และตวนลงปูเตะ (หรือ ตนกูปูเต๊ะ) เป็นอดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่ 4 ส่วนพระราชชนนีเป็นพระธิดาของเติงกูอับดุล กาดีร์ (หรือ ตนกูอับดุลกอร์เดร์กามารุดดีน) เจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้าย[2]
บรรพชนของพระองค์ปกครองเมืองปัตตานีมายาวนาน และเป็นพระญาติวงศ์ห่าง ๆ กับเจ้าผู้ครองรัฐกลันตัน ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกเลิกการปกครอง 7 หัวเมือง ใน พ.ศ. 2445 โดยให้ข้าหลวงใหญ่ชาวสยามรับผิดชอบเมืองปัตตานีภายใต้การดูแลจากเมืองสงขลา[3] เติงกูอับดุลกาดีร์จึงอพยพครอบครัวลี้ภัยไปยังรัฐกลันตันมาตั้งแต่นั้น
สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์อย่างเรียบง่าย มีอุปนิสัยส่วนพระองค์สุภาพอ่อนโยน ทรงเข้าศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนที่สอนด้วยภาษามลายูเมื่อพระชนมายุ 7 พรรษา จากนั้นทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนอังกฤษกัวลาไกร แล้วทรงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสตรีอังกฤษ-จีน เมืองอีโปะฮ์ พระองค์มีความสนพระทัยกิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบราวนีและเนตรนารี และทรงเข้าร่วมการชุมนุมเนตรนารีที่แจมโบรี ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2493 นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นตัวแทนโรงเรียนในการแข่งขันกีฬาแบดมินตันและฮอกกี้ นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยด้านการเย็บปักถักร้อย ประกอบพระกระยาหาร จัดดอกไม้ และทรงม้า[4]
สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์อภิเษกสมรสกับรายาปูตราแห่งปะลิส ใน พ.ศ. 2484 ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา ซึ่งขณะนั้นพระราชสวามียังดำรงพระอิสริยยศเป็นรัชทายาทแห่งปะลิส ทั้งสองมีพระราชโอรส-ธิดาทั้งหมด 10 พระองค์ เป็นพระราชโอรส 5 พระองค์ และเป็นพระราชธิดา 5 พระองค์
ครอบครัวของพระองค์ทรงลี้ภัยหลังกองทัพญี่ปุ่นยึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ทรงแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการเปิดร้านขายเค้กและร้านขายของชำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในโกตาบารู หลังญี่ปุ่นปราชัยต่อสงครามโลกครั้งที่สองใน พ.ศ. 2488 พระองค์และครอบครัวประทับรถไฟเพื่อเสด็จกลับรัฐปะลิสจนถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ จากนั้นทรงโยกรถไฟด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองไปจนถึงสถานีรถไฟบูกิตเกอเตอรี เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีรถไฟเปิดให้บริการ[4]
ครั้น พ.ศ. 2488 รายาปูตราแห่งปะลิสขึ้นเสวยราชสมบัติเป็น รายาแห่งปะลิส และพระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น ราจาเปอเริมปวน หรือสมเด็จพระราชินี และใน พ.ศ. 2503 รายาปูตรา และสมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ยังดีเปอร์ตวนอากง และ รายาประไหมสุหรีอากง
สมเด็จพระราชินีบูเดรียะฮ์เสด็จสวรรคตอย่างสงบขณะบรรทมที่โรงพยาบาลกัวลาลัมเปอร์เมื่อเวลา 03.47 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 สิริพระชนมายุ 83 พรรษา[5]
สุลต่านมีซัน ไซนัล อาบีดิน ยังดีเปอร์ตวนอากง และอับดุลละฮ์ อะฮ์มัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เข้าไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนอัญเชิญพระบรมศพจากท่าอากาศยานสุลต่านอับดุลอาซิซชะฮ์ ไปยังท่าอากาศยานอับดุลฮาลิมในอาโลร์เซอตาร์โดยกองทัพอากาศมาเลเซีย จากนั้นได้อัญเชิญหีบพระบรมศพด้วยรถยนต์ไปยังเมืองอาเรา อนุญาตให้ประชาชนเฝ้ารับเสด็จและร่วมไว้อาลัยเพียงหนึ่งชั่วโมง โดยมีสุลต่านและสุลต่านหญิงแห่งเกอดะฮ์เสด็จมาในพิธี ก่อนจะนำหีบพระบรมศพฝังลงในสุสานหลวงในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน[6]
หมายเหตุ ก ราชกิจจานุเบกษาระบุพระนามไว้ว่า "สมเด็จพระราชินีบาดริอาห์ บินติ อับ-มาร์ฮูม เต็งกู อิสไมล์ ราชาประไหมสุหรี อะกง"[7]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.