สภาแห่งชาติ (ลาว: ສະພາແຫ່ງຊາດ; อังกฤษ: National Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศลาว[1] สภานี้มีสถานะเหมือนตรายางรับรองความชอบธรรมของพรรค[1] แต่ก็มีความพยายามจะเพิ่มขีดความสามารถของสภา เพื่อให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ควบคุมการบริหาร และเป็นผู้แทนปวงชนได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น[2]

ข้อมูลเบื้องต้น สภาแห่งชาติ ສະພາແຫ່ງຊາດ, ประเภท ...
สภาแห่งชาติ

ສະພາແຫ່ງຊາດ
ประเภท
ประเภท
ผู้บริหาร
ประธานสภาแห่งชาติ
รองประธานสภาแห่งชาติ
สูนทอน ไซยะจัก
จะเลิน เยียปาวเฮอ
คำใบ ดำลัด
สมมาด พนเสนา
พลโท สุวอน เลืองบุนมี, พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
ตั้งแต่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564
โครงสร้าง
สมาชิก164
กลุ่มการเมือง
  พรรคประชาชนปฏิวัติลาว (158)
  อิสระ (6)
การเลือกตั้ง
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด
21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
เว็บไซต์
www.na.gov.la
ปิด

ลาวเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียว โดยมีพรรคปฏิวัติประชาชนลาวเป็นพรรคที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงพรรคเดียวในประเทศ

ประวัติ

สภาแห่งชาติก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1991 เพื่อแทนที่สภาประชาชนสูงสุด[3]

ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2016 พรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้ที่นั่ง 144 ที่จากทั้งหมด 149 ที่ ที่เหลือเป็นของผู้สมัครอิสระ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เปิดให้เลือกตั้งสมาชิกสภามากถึงราวร้อยละ 73[4]

ใน ค.ศ. 2017 สำนักงานแห่งใหม่ของสภาเริ่มก่อสร้างด้วยการอุดหนุนทางการเงินจากเวียดนาม[5]

องค์ประกอบ

สภา ประกอบด้วย สมาชิกสภา ประธานสภา รองประธานสภา คณะประจำสภา คณะกรรมาธิการ ห้องว่าการสภา

สมาชิก

สมาชิกสภาอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ต้องเป็นพลเมืองลาวที่ได้รับเลือกตั้งมาตามกฎหมาย การเลือกตั้งสมาชิกชุดใหม่ต้องเสร็จสิ้นใน 60 วันก่อนชุดเก่าจะหมดวาระ

ในคราวสงคราม หรือเมื่อมีสาเหตุอื่นซึ่งทำให้เลือกตั้งไม่สะดวก สภาอาจต่อวาระของตนได้ แต่ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 6 เดือนหลังสภาพการณ์เป็นปรกติ และในกรณีที่มีความจำเป็น จะจัดการเลือกตั้งก่อนสมาชิกหมดวาระดำรงตำแหน่งก็ได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาไม่น้อยว่าสองในสาม

สมาชิกเลือกประธานและรองประธานติ และสมาชิกเลือกคณะกรรมาธิการที่ตนจะสังกัดได้โดยความเห็นชอบของที่ประชุมสภา จากนั้นสมาชิกแต่ละคณะกรรมาธิการเลือกและแต่งตั้งหัวหน้าและรองหัวหน้าคณะกรรมาธิการ สมาชิกสภาแห่งชาติเลือกและแต่งตั้งสมาชิก 1 คน เพื่อทำหน้าที่หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ ส่วนรองหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาตินั้นอาจแต่งตั้งจากสมาชิกสภาแห่งชาติหรือไม่ก็ได้ ประธานสภาแห่งชาติ รองประธานสภาแห่งชาติ หัวหน้าคณะกรรมาธิการ และหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ (หรืออาจแต่งตั้งเพิ่มเติมได้ แต่โดยปกติมักไม่แต่งตั้งเพิ่มเติม) โดยตำแหน่งประกอบกันเป็นคณะประจำ สภาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่แทนสภาแห่งชาติเต็มองค์คณะในระหว่างนอกสมัยประชุมสภาแห่งชาติ โดยศักดิ์ของตำแหน่งแล้ว ในทางการบริหารนั้น ประธานสภาแห่งชาติ ศักดิ์เทียบเท่ากับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะกรรมาธิการหรือหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ ศักดิ์เทียบเท่ากับตำแหน่ง รัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนบทบาททางการบริหารและอำนาจที่ค่อนข้างสูงของตำแหน่งทางการเมืองของสภาแห่งชาติ

คณะประจำสภา

คณะประจำสภาแห่งชาติ (หรือคณะกรรมการประจำสภาแห่งชาติ) คือ คณะสมาชิกสภาแห่งชาติจำนวนหนึ่งซึ่งสมาชิกสภาแห่งชาติแต่งตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติงานประจำของสภาแห่งชาติ โดยเฉพาะระหว่างที่มิได้เปิดสมัยประชุมเป็นโครงสร้างและระบบเฉพาะพิเศษของสภาแห่งชาติลาว ซึ่งจัดองค์ประกอบและโครงสร้างตามแบบของประเทศสังคมนิยม - คอมมิวนิสต์ ระบบของไทยไม่มีหน่วยงานหรือสถาบันหรือองค์กรระดับนี้หรือองค์การเทียบเท่า เหตุผลหนึ่งเพราะสมัยประชุมของรัฐสภาไทยค่อนข้างยาว (สมัยประชุมสามัญรัฐสภาไทย 120 วัน 1 ปี มี 2 สมัยประชุมสามัญ) จึงไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานขึ้นมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนที่มีศักดิ์และสิทธิ (เกือบ) เทียบเท่า สภาแห่งชาติ แต่สภาแห่งชาติลาวมีสมัยประชุมค่อนข้างสั้น (หนึ่งปีมีสมัยประชุมสามัญ 2 สมัย ระยะเวลา 1 สมัยประชุม ประมาณ 7 - 15 วัน ทั้งนี้เปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม) จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของสภาแห่งชาติในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งสภาแห่งชาติก็ได้ทำการเลือกตั้งคณะประจำสภาแห่งชาติของตน ขึ้นมา

คณะประจำสภาแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และกรรมการจำนวนหนึ่งประธานและรองประธานสภาแห่งชาติ เป็นประธานและรองประธานคณะประจำสภาแห่งชาติโดยตำแหน่ง[6] และกรรมการอื่นประกอบด้วยหัวหน้าคณะกรรมมาธิการทุกคณะกรรมาธิการและหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ ซึ่งกรรมการคณะประจำสภาแห่งชาติ ต้องเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติในวาระนั้นด้วย (ตามกฎหมายประธานและรองประธานสภาแห่งชาติเป็นประธานและรองประธานคณะประจำสภาแห่งชาติโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอื่นแต่งตั้งจากสมาชิกสภาแห่งชาติโดยที่ประชุมสภาแห่งชาติ แต่โดยธรรมเนียมของสภาแห่งชาติลาวโดยเฉพาะในชุดหลัง ๆ นั้น มักแต่งตั้งจากหัวหน้าคณะกรรมาธิการทุกคณะกรรมาธิการและหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติเท่านั้น)[7] โดยปกติคณะประจำสภาแห่งชาติประกอบด้วยประธาน รองประธาน หัวหน้าคณะกรรมาธิการ และ หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากการจัดองค์กรและบทบาท อำนาจ และหน้าที่คณะประจำสภาแห่งชาติจึงมีฐานะเป็น “รัฐบาลเงา” ของสภาแห่งชาติ เพื่อคอยตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดด้วยในที่สุด

คณะประจำสภาแห่งชาติเป็นองค์กรประจำการหรือคณะสมาชิกผู้ปฏิบัติงานของสภาแห่งชาติเป็นงานประจำ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนสภาแห่งชาติในระยะเวลาที่สภาแห่งชาติมิได้เปิดสมัยประชุม

คณะประจำสภาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่[8] ดังนี้

  1. เตรียมการประชุมและเรียกสมาชิกเพื่อร่วมประชุมสภาแห่งชาติ
  2. วินิจฉัยตีความและอธิบาย รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  3. ให้การศึกษา อบรมประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงและพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจน เคารพต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  4. เสนอให้ประธานประเทศออกรัฐบัญญัติหรือรัฐดำรัส
  5. กำกับและตรวจสอบ การดำเนินงานและการปฏิบัติงานของ องค์การบริหารและองค์การตุลาการ
  6. พิจารณาข้อตัดสินใจและปัญหาสำคัญของประเทศ (ในเวลาที่สภาแห่งชาติมิได้เปิดสมัยประชุม)
  7. แต่งตั้งหรือถอดถอน รองประธานศาลประชาชนสูงสุด รองอัยการประชาชนสูงสุด และผู้พิพากษาของศาลประชาชน
  8. ชี้นำและนำพา การปฏิบัติงานของ คณะกรรมาธิการ
  9. รับรองให้การปฏิบัติหน้าที่ของสภาแห่งชาติ ครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
  10. สนับสนุน ให้สมาชิกสภาแห่งชาติได้ดำเนินงานตามภารกิจ บทบาท และหน้าที่
  11. ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของสภาแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาที่มิได้อยู่ในสมัยการประชุม คณะประจำสภาแห่งชาติมีสิทธิตัดสินใจและดำเนินการทุกประการได้เหมือนกับสภาแห่งชาติเต็มองค์คณะ (ถือว่าเป็นผู้แทนที่สมาชิกสภาแห่งชาติทั้งหมดไว้วางใจเลือกตั้งให้มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนสภาแห่งชาติเต็มองค์คณะได้ในระยะเวลาและกิจการตามที่กฎหมายกำหนด) และให้ถือเป็นตัวแทนของสภาแห่งชาติในกิจการทั้งปวงในช่วงระยะเวลาตามกล่าวข้างต้น

คณะกรรมาธิการ

สภาแห่งชาติ ชุดที่ 4 มีคณะกรรมาธิการ 6 คณะ[9] (จำนวนคณะกรรมาธิการของสภาแห่งชาติเป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยสภาแห่งชาติ ส่วนของไทยกำหนดจำนวนตามข้อบังคับการประชุมสภาจึงเปลี่ยนแปลงจำนวนเพิ่ม ลดได้ง่าย) ดังนี้

  1. คณะกรรมาธิการกฎหมาย
  2. คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ แผนงาน และการเงิน
  3. คณะกรรมาธิการวัฒนธรรม - สังคม
  4. คณะกรรมาธิการกิจการชนเผ่า
  5. คณะกรรมาธิการป้องกันชาติ - ป้องกันความสงบ
  6. คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ

คณะกรรมาธิการ (ต่าง ๆ) มีสิทธิและหน้าที่ ดังนี้

  1. ติดตาม ตรวจสอบ และสนับสนุนการปฏิบัติ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม และแผนงบประมาณแห่งรัฐ
  2. ค้นคว้าเพื่อเสนอความเห็นประกอบ ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม และแผนงบประมาณแห่งรัฐ
  3. ค้นคว้าเพื่อเสนอความเห็นประกอบ ร่างกฎหมาย ร่างรัฐบัญญัติ ร่างดำรัส และร่างนิติกรรม ที่รัฐบาลและองค์การจัดตั้งเสนอต่อคณะประจำสภาแห่งชาติ
  4. ติดตาม ตรวจสอบ และสนับสนุนการปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญและระเบียบกฎหมาย
  5. ประสานความร่วมมือ กับองค์การจัดตั้งพรรค รัฐ องค์การจัดตั้งมหาชน และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูล

ในกรณีจำเป็นอาจเชิญภาคส่วนดังกล่าวมาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานได้

  1. สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ภายใต้ความเห็นชอบของคณะประจำสภาแห่งชาติ
  2. เสนอปัญหาอันเกี่ยวกับงาน ต่อสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติเพื่อพิจารณา
  3. ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามการมอบหมายของประธานสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติ

ห้องว่าการสภาแห่งชาติ

ห้องว่าการสภาแห่งชาติเป็นองค์การฝ่ายธุรการ สำนักงาน และเลขานุการของสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติห้องว่าการสภาแห่งชาติจัดตั้ง (องค์การและคณะบริหาร) ขึ้นในที่ประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติแต่ละชุด[10] (พร้อมกับคณะประจำสภาแห่งชาติและคณะกรรมาธิการ) ห้องว่าการสภาแห่งชาติมีหน้าที่ค้นคว้า สรุป วิเคราะห์ ตลอดจนบริหาร วางแผน งานการเงิน - การงบประมาณ และอำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมาธิการของสภาแห่งชาติในการดำเนินงานและปฏิบัติหน้าที่ของตนปัจจุบัน หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ คือ ท่าน ทองเติน ไซยะเสม เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานของห้องว่าการสภาแห่งชาติ

อำนาจหน้าที่ของห้องว่าการสภาแห่งชาติ

ห้องว่าการสภาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. บังคับบัญชาพนักงาน - รัฐกร ให้รับผิดชอบงานการเมือง แนวคิด - อุดมการณ์ และการบริหารงานของห้องว่าการสภาแห่งชาติ ปฏิบัติงานตามนโยบายและการมอบหมายของสภาแห่งชาติต่อสมาชิกสภาแห่งชาติพนักงาน และรัฐกรของสภาแห่งชาติ
  2. จัดตั้งและปฏิบัติงานโครงการประจำเดือน ไตรมาส ครึ่งปี และ ประจำปี ของสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติ สรุปและวิเคราะห์สถานการณ์และการปฏิบัติงาน ของสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติในแต่ละช่วงเวลา
  3. สรุปและวิเคราะห์เกี่ยวกับการปฏิบัติ ตามระเบียบกฎหมาย แผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมและงบประมาณแห่งรัฐ เพื่อรายงานให้สภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติ
  4. จัดเตรียมการประชุม (ทุกด้าน) ของการประชุมสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติ
  5. จัดทำและบริหารงานงบประมาณและงานพัสดุ ของสภาแห่งชาติ
  6. บริหารงาน เอกสาร - ธุรการ งานสำนักงาน งานเลขานุการ งานห้องสมุด งานพิธีการ งานการบริหารยานพาหนะ งานเทคโนโลยีการพิมพ์ งานอาคารสถานที่
  7. บริหารงาน ป้องกันความสงบและรักษาความปลอดภัย ของ (อาคารและบริเวณของ) สำนักงานสภาแห่งชาติ
  8. ติดตาม ตรวจสอบ และสนับสนุนการปฏิบัติงาน ของ ห้องว่าการสภาแห่งชาติประจำเขตเลือกตั้ง
  9. ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ของสภาแห่งชาติ
  10. สร้างความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือ กับ คณะกรรมาธิการแต่ละคณะของสภาแห่งชาติ
  11. สร้างความสัมพันธ์และประสานความร่วมมือ กับ ห้องว่าการศูนย์กลางพรรค ห้องว่าการประธานประเทศ ห้องว่าการนายกรัฐมนตรี และองค์กรอื่น ที่เกี่ยวข้อง
  12. สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ โดยความเห็นชอบของคณะประจำสภาแห่งชาติ
  13. ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามการมอบหมายของประธานสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติ

รายนามประธานสภาแห่งชาติลาว

รายพระนาม/รายนามประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสมัชชาประชาชนสูงสุด

ข้อมูลเพิ่มเติม ลำดับ, ประธานสภา ...
ลำดับ ประธานสภา ระยะเวลา พรรคการเมือง
ภาพ ชื่อ
(อายุขัย)
เริ่ม สิ้นสุด รวมระยะเวลา
1 Thumb เจ้า
สุภานุวงศ์

ສຸພານຸວົງ
(1909–1995)
2 ธันวาคม
1975
25 พฤศจิกายน
1986
10 ปี 358 วัน พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
2 Thumb สีสมพอน ลอวันไช
ສີສົມພອນ ລອວັນໄຊ
(1916–1993)
25 พฤศจิกายน
1986
1988 2 ปี 5 วัน พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
3 Thumb หนูฮัก พูมสะหวัน
ໜູຮັກ ພູມສະຫວັນ
(1910–2008)
1 มิถุนายน
1986
25 พฤศจิกายน
1992
3 ปี 177 วัน พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
ปิด

รายนามประธานสภาแห่งชาติลาว

ข้อมูลเพิ่มเติม ลำดับ, ประธานสภา ...
ลำดับ ประธานสภา ระยะเวลา พรรคการเมือง
ภาพ ชื่อ
(อายุขัย)
เริ่ม สิ้นสุด รวมระยะเวลา
1 Thumb สะหมาน วิยาเกด
ສະໝານ ວິຍາເກດ
(1927–2016)
25 กุมภาพันธ์
1993
2005 12 ปี 279 วัน พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
2 Thumb ทองสิง ทำมะวง
ທອງສິງ ທຳມະວົງ
(เกิดใน ค.ศ.1944)
8 มิถุนายน
2006
23 ธันวาคม
2010
4 ปี 198 วัน พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
3 Thumb ปานี ยาท่อตู้
ປານີ ຍາທໍ່ຕູ້
(เกิดใน ค.ศ. 1951)
23 ธันวาคม
2010
22 มีนาคม
2021
10 ปี 89 วัน พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
4 Thumb ไซสมพอน พมวิหาน
ໄຊສົມພອນ ພົມວິຫານ
22 มีนาคม
2021
ดำรงตำแหน่ง 3 ปี 230 วัน พรรคประชาชนปฏิวัติลาว
ปิด

การเงิน

สภาแห่งชาติได้รับงบประมาณแยกต่างหากจากรัฐบาลและหน่วยงานอื่น

โครงสร้างของห้องว่าการสภาแห่งชาติ

ห้องว่าการสภาแห่งชาติ มีหัวหน้าห้องว่าการและรองหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและรัฐกรของสภาแห่งชาติโครงสร้างระบบการบริหารงานและการปฏิบัติงานของห้องว่าการสภาแห่งชาติ ประกอบด้วย กรมแผนก และห้องว่าการสภาแห่งชาติประจำเขตเลือกตั้ง

หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติ ส่วนรองหัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติได้รับการแต่งตั้งจากคณะประจำสภาแห่งชาติ (ซึ่งรองหัวหน้าห้องว่าการอาจจะเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติด้วยหรือไม่ก็ได้)

ข้อสังเกตเกี่ยวกับกรมฝ่ายวิชาการและข้อมูลทั้ง 6 กรม นั้น คือ ทุกกรมมีรายชื่อตรงกับคณะกรรมาธิการทั้ง 6 คณะ เพราะกรมฝ่ายวิชาการและข้อมูลนั้นถือเป็นกรมที่สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะโดยตรง และในทางการบริหารกรมฝ่ายวิชาการและข้อมูลขึ้นตรง 2 ส่วน คือ แต่ละคณะกรรมาธิการและห้องว่าการสภาแห่งชาติ โดยในทางการบริหารขึ้นตรงต่อห้องว่าการสภาแห่งชาติ แต่ในทางการปฏิบัติงานนั้นขึ้นตรงต่อคณะกรรมาธิการแต่ละคณะ[11]

สมาชิกและฐานะของสมาชิกสภาแห่งชาติ

คุณสมบัติของสมาชิกสภาแห่งชาติ

  1. มีน้ำใจรักชาติ รักระบอบประชาธิปไตยประชาชน มีความจงรักภักดีตามแนวทางการเปลี่ยนแปลงใหม่ของพรรค มีความตั้งใจที่ดีต่อประเทศชาติอย่างบริสุทธิ์ใจและรับใช้ผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มความสามารถ[12]
  2. มีความรู้ความเข้าใจต่อแนวทางและผลประโยชน์ของพรรคและข้อระเบียบกฎหมายของรัฐ สามารถเผยแพร่ ปลุกระดม ให้ความรู้ และอบรมประชาชนให้เข้าร่วมกันสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมอย่างแท้จริง
  3. มีทัศนะต่อส่วนรวมและสังคมอันถูกต้อง เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของประชาชนทุกเผ่าชน มีแนวทางในการปฏิบัติงานที่ใกล้ชิดและร่วมมือกับประชาชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท) ตลอดจนต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
  4. มีความรู้ความสามารถทางวิชาการเพื่อให้สามารถค้นคว้าและเสนอความเห็นประกอบการปฏิบัติหน้าที่ตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาแห่งชาติ
  5. มีสุขภาพแข็งแรงเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยดีสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาแห่งชาติ

สมาชิกสภาแห่งชาติมีสิทธิและหน้าที่ดังนี้

  1. เป็นบุคคลตัวอย่าง (ใน) การค้นคว้าใฝ่รู้และปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางและแผนนโยบายของพรรคระเบียบกฎหมายของรัฐ และมติที่ประชุมของสภาแห่งชาติ
  2. เผยแพร่ นโยบายของพรรค ระเบียบกฎหมายของรัฐ และมติที่ประชุม ของสภาแห่งชาติ ปลุกระดมประชาชน (ใน) การปกป้องคุ้มครองรัฐ เศรษฐกิจ และสังคม
  3. เข้าร่วมการประชุมของสภาแห่งชาติ เสนอความเห็นและลงคะแนนเสียงอย่างเสมอภาพต่อข้อพิจารณาหรือ “บันหา” หรือญัตติหรือการขอมติของสภาแห่งชาติในกรณีที่สมาชิกท่านใดไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้ สมาชิกท่านนั้นจะต้องแจ้งให้คณะประจำสภาแห่งชาติทราบก่อนที่จะเปิดการประชุม
  4. เข้าร่วมงานการพัฒนา (ในระดับชุมชนชนบท) อย่างใกล้ชิดกับประชาชน ภายใต้การติดตามประเมินผล และตรวจสอบ (สุขทุกข์ของ) ประชาชน สรุปความคิดเห็นและแนวความคิดของประชาชน (ต่อกรณีต่าง ๆ) เสนอต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติ
  5. รับคำเสนอหรือคำร้องของประชาชน เพื่อปรึกษากับองค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาและแก้ไข อย่างเหมาะสมต่อไป
  6. รายงานการปฏิบัติงาน ของตน ต่อประชาชนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  7. รายงานการปฏิบัติงาน ของตน ต่อคณะประจำสภาแห่งชาติอย่างสม่ำเสมอ
  8. เข้าร่วมการประชุมและพิธีการสำคัญ ขององค์การจัดตั้งพรรค องค์การจัดตั้งรัฐ และองค์การจัดตั้งมหาชนในเขตเลือกตั้งของตน
  9. ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบและข้อบังคับของสภาแห่งชาติ

ฐานะทางด้านนิติบัญญัติของสมาชิกสภาแห่งชาติ

สมาชิกสภาแห่งชาติเป็นตัวแทนแห่งจิตปรารถนาและความมุ่งมั่นตั้งใจของประชาชนลาวทุกเผ่าชน โดยพลเมืองลาวเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติตามหลักการที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติสมาชิกสภาแห่งชาติได้รับ เอกสิทธิ์ ที่จะไม่ถูกดำเนินคดีหรือกักขัง หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติ (ในเวลาที่สภาแห่งชาติมิได้เปิดสมัยการประชุม) ในกรณีที่มีการกระทำผิดซึ่งหน้าหรือรีบด่วน หน่วยงานที่กักขังสมาชิกสภาแห่งชาติต้องรายงานต่อสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติ (ในเวลาที่สภาแห่งชาติมิได้เปิดสมัยการประชุม) เพื่อพิจารณาอนุมัติการจับกุมทันที การสืบสวน - สอบสวนไม่อาจเป็นสาเหตุให้สมาชิกสภาแห่งชาติที่ถูกดำเนินคดีนั้นขาดการประชุมสภา แห่งชาติได้[13]

อำนาจหน้าที่ของสภาแห่งชาติ

อำนาจหน้าที่ของสภาแห่งชาติ

รัฐแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นรัฐประชาธิปไตยประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สภาแห่งชาติเป็นองค์การอำนาจรัฐที่มีสิทธิ อำนาจ พิจารณาและรับรองข้อตัดสินใจหรือปัญหาพื้นฐานของประเทศ ตลอดจนเป็นองค์การนิติบัญญัติและองค์การกำกับตรวจสอบการดำเนินงานของคณะรัฐบาลและองค์การตุลาการ (ศาลประชาชนและองค์การอัยการประชาชน) สภาแห่งชาติจัดตั้งและดำเนินงานตามหลักการประชาธิปไตยประชาชนแบบรวมศูนย์อำนาจ สภาแห่งชาติดำเนินงานตามระเบียบการประชุมและพิจารณาข้อตัดสินใจหรือ “บันหา” หรือญัตติตามหลักการเสียงข้างมาก (Majority Vote)

สิทธิและหน้าที่[14] ของสภาแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญ มีดังนี้

  1. จัดทำ รับรอง หรือแก้ไข รัฐธรรมนูญ
  2. พิจารณา รับรอง แก้ไข หรือยกเลิก กฎหมาย
  3. พิจารณา รับรอง กำหนด แก้ไข หรือยกเลิก ภาษีและส่วยอากร
  4. พิจารณา รับรอง แผนยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม (แผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐ) และ แผนงบประมาณแห่งรัฐ
  5. แต่งตั้งหรือถอดถอน ประธานประเทศ และ รองประธานประเทศ ตามการเสนอของคณะประจำสภาแห่งชาติ
  6. พิจารณารับรองการเสนอแต่งตั้งหรือถอดถอน สมาชิกคณะรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย หัวหน้าองค์การเทียบเท่ากระทรวง เจ้าแขวง และเจ้าผู้ครองนคร) ตามการเสนอของประธานประเทศ
  7. แต่งตั้งหรือถอดถอน ประธานศาลประชาชนสูงสุด และ อัยการประชาชนสูงสุด ตามการเสนอของประธานประเทศ
  8. พิจารณาจัดตั้งหรือยุบ กระทรวง องค์การเทียบเท่ากระทรวง แขวง และ นคร รวมทั้ง พิจารณาเขตของ แขวงและนคร ตามการเสนอของนายกรัฐมนตรี
  9. พิจารณา นิรโทษกรรม
  10. พิจารณารับรองสัตยาบันหรือลบล้าง สนธิสัญญา หรือ สัญญาที่รัฐบาลได้ลงนามกับต่างประเทศตามกฎหมาย
  11. พิจารณา ประกาศสงครามหรือประกาศยุติสงคราม
  12. ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติและดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
  13. พิจารณาข้อตัดสินใจและปัญหาสำคัญอื่นที่มีความสำคัญต่อประเทศหรือผลประโยชน์สำคัญของประชาชน
  14. ดำเนินงานตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย

อำนาจหน้าที่ของประธานและรองประธานสภาแห่งชาติ

อำนาจหน้าที่ของประธานสภาแห่งชาติ

ประธานสภาแห่งชาติ เป็น “ผู้ชี้นำและนำพา” การปฏิบัติงานตามภารกิจของสภาแห่งชาติ ตลอดจน เป็น “ผู้แทน” ของสภาแห่งชาติ ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและระหว่างประเทศ[15]

ประธานสภาแห่งชาติมีสิทธิและหน้าที่[16] ดังนี้

  1. เป็นประธานการประชุมของสภาแห่งชาติ
  2. “ชี้นำ” และตรวจสอบการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ
  3. รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสภาแห่งชาติ
  4. “ชี้นำและนำพา” การปฏิบัติงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  5. ลงนามนิติกรรม หนังสือ เอกสาร หรือกฎหมาย ที่ได้รับรองแล้วในที่ประชุมสภาแห่งชาติ
  6. ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

อำนาจหน้าที่ของรองประธานสภาแห่งชาติ

รองประธานสภาแห่งชาติ มีหน้าที่ช่วยเหลือประธานสภาแห่งชาติในการปฏิบัติงานทั่วไป และอาจรับผิดชอบการปฏิบัติงานด้านหนึ่งด้านใดตามการมอบหมายของประธานสภาแห่งชาติกรณีที่ประธานสภาแห่งชาติไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภาแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่แทนตามการมอบหมายของสภาแห่งชาติ[17]

การดำเนินงานของสภาแห่งชาติ

การประชุมของสภาแห่งชาติ

สภาแห่งชาติมีการประชุม 4 ประเภท[18] ดังนี้

  1. การประชุมปฐมฤกษ์
  2. การประชุมสมัยสามัญ
  3. การประชุมสมัยวิสามัญ
  4. การประชุมสมัยพิเศษ[19]

การประชุมปฐมฤกษ์ คือ การประชุมครั้งแรกของสภาแห่งชาติชุดใหม่ จะมีขึ้นไม่เกิน 60 วัน หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติชุดนั้น ประธานสภาแห่งชาติชุดเดิมจะทำหน้าที่ประธานการประชุมปฐมฤกษ์จนกว่าจะได้เลือกตั้งประธานสภาแห่งชาติชุดใหม่

ที่ประชุมปฐมฤกษ์มีภารกิจ[20] ดังนี้

  1. รับรองรายงานของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้ง และสมาชิกภาพของสมาชิกสภาแห่งชาติชุดใหม่
  2. แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาแห่งชาติ กรรมการคณะประจำสภาแห่งชาติ หัวหน้า รองหัวหน้าและกรรมาธิการประจำคณะกรรมาธิการ หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ และผู้แทนประจำคณะรัฐสภาระหว่างประเทศของสภาแห่งชาติ
  3. แต่งตั้งประธานและรองประธานประเทศ กำหนดองค์คณะของรัฐบาล แต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนสมาชิกคณะรัฐบาล
  4. แต่งตั้งประธานศาลประชาชนสูงสุดและอัยการประชาชนสูงสุด[21]
  5. พิจารณาและรับรองโครงการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ

สภาแห่งชาติเปิด การประชุมสมัยสามัญ ปีละ 2 ครั้ง โดยมีคณะประจำสภาแห่งชาติเป็นผู้เรียกประชุม[22]ครั้งที่ 1 มีขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และครั้งที่ 2 ระหว่างเดือนกันยายน หนึ่งสมัยประชุมของสภาแห่งชาติมีระยะเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ โดยมีการกำหนดวาระที่ชัดเจนก่อนจะเริ่มการประชุมแล้วการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 พิจารณากฎหมาย ข้อตัดสินใจหรือปัญหาทั่วไปของสภาแห่งชาติ ส่วนการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 นั้น มีหน้าที่รับฟังคำนำเสนอและพิจารณาบทรายงาน (ผลการปฏิบัติงาน) ประจำปีของรัฐบาล พิจารณารับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมและแผนงบประมาณแห่งรัฐ รับฟังคำนำเสนอและพิจารณาบทรายงาน (ผลการปฏิบัติงาน) ประจำปีของประธานศาลประชาชนสูงสุดและอัยการประชาชนสูงสุดนอกจากนี้ อาจพิจารณากฎหมาย ข้อตัดสินใจ หรือปัญหาสำคัญอื่นเพิ่มเติมได้สภาแห่งชาติอาจเปิด การประชุมสมัยวิสามัญ หรือ การประชุมสมัยพิเศษ ได้ ตามมติของคณะประจำสภาแห่งชาติโดยการเสนอของประธานประเทศหรือนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาแห่งชาติจำนวน 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมดการประชุมสมัยวิสามัญ ของสภาแห่งชาติเปิดขึ้นในระหว่างที่มิได้มีการประชุมสมัยสามัญ เพื่อพิจารณาตัดสินและรับรองปัญหาที่มีความจำเป็นการประชุมสมัยพิเศษ ของสภาแห่งชาติอาจเปิดขึ้นเพื่อพิจารณาตัดสินและรับรองปัญหาเฉพาะหน้าหรือ ปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศการประชุมของสภาแห่งชาติให้ดำเนินงานอย่างเปิดเผย โดยในกรณีจำเป็นคณะประจำสภาแห่งชาติจะตกลงให้ประชุมลับตามการเสนอของประธานประเทศหรือนายกรัฐมนตรีก็ได้การประชุมของสภาแห่งชาติจะเปิดประชุมได้ก็ต่อเมื่อมีสมาชิกเข้าร่วมการประชุมมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และมติของที่ประชุมสภาแห่งชาติจะบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม (เว้นแต่กรณีที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 54, 66 และ 97 ของรัฐธรรมนูญ)[23]

แผน โครงการ และการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ

การดำเนินงานของในสภาแห่งชาติแต่ละชุดนั้นจะเป็นไปตามแผนการปฏิบัติงาน 5 ปี และแผนปฏิบัติงานประจำปีของสภาแห่งชาติองค์ประกอบของแผนการปฏิบัติงาน 5 ปี และแผนปฏิบัติงานประจำปี นั้น มีองค์ประกอบเนื้อหาด้านต่าง ๆ อาทิ การตราหรือการปรับปรุงกฎหมาย การพัฒนาทรัพยากรบุคคลและองค์กร ความสัมพันธ์กับรัฐสภาต่างประเทศและองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ นโยบายและแผนหรือ ทิศทางการดำเนินงาน การบริหารและการเงิน ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ ซึ่งแผนการปฏิบัติงาน 5 ปีนี้ จะได้มีการจัดทำร่างขึ้นก่อนที่สภาแห่งชาติชุดเดิมจะหมดวาระ และรับรองในที่ประชุมการประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติชุดใหม่ซึ่งถือเป็นการส่งต่อและส่งมอบงานที่เป็นระบบ ถ่ายทอดและสืบทอดงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งจากแผนการปฏิบัติงาน 5 ปี ข้างต้น คณะประจำสภาแห่งชาติจะเป็นผู้ “ผันขยาย” (ปรับ) แผนปฏิบัติงาน 5 ปี ไปสู่แผนการปฏิบัติงานประจำปี ซึ่งในด้านกฎหมาย (รวมทั้งด้านอื่นด้วยนั้น) จะมีวาระว่าแต่ละปีนั้นจะมีกฎหมายใดเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งชาติบ้างซึ่งแผนการทั้ง 2 ระดับนั้น คือ ทั้งแผนปฏิบัติงาน 5 ปี และแผนการปฏิบัติงานประจำปี จะจัดทำขึ้นโดย

  1. ตามความต้องการและนโยบายการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล ศาลประชาชน องค์การอัยการ ประชาชน และสภาแห่งชาติ
  2. ตามรัฐธรรมนูญ และ
  3. ตามหลักกฎหมายสากล

เฉพาะในด้านการตรากฎหมายนั้น ให้พิจารณาตามแผนการปฏิบัติงานประจำปี โดยองค์การและบุคคลผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายจะได้ค้นคว้าข้อมูลประกอบพร้อมกับจัดทำร่างกฎหมายเสนอต่อสภาแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้รวบรวมความเห็นเสนอ (ปกติร่างกฎหมายที่จะผ่านที่ประชุมสภาแห่งชาติชุดนั้น จะต้องเสนอความเห็นผ่านที่ประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติชุดนั้นก่อนเท่านั้น ดังนั้น ขั้นรับร่างกฎหมายตามกระบวนการพิจารณากฎหมายไทย จึงอาจนับว่าเริ่มมีขึ้นตั้งแต่การประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติชุดนั้น)

การตรากฎหมาย

ลำดับขั้นหรือศักดิ์ของกฎหมายของ สปป.ลาว นั้น ประกอบด้วย ดังนี้

  1. รัฐธรรมนูญ (Constitution)
  2. “กฎหมาย” (Law)
  3. รัฐบัญญัติ (Decree) (เทียบเท่ากับ พระราชกำหนด ลาวเรียก “กฎหมายน้อย”)
  4. รัฐดำรัส (หรือดำรัสประธานประเทศ) (Presidential Edict) (กฎหมายซึ่งประกาศบังคับใช้โดยประธานประเทศ และนายกรัฐมนตรี โดยมิต้องผ่านการพิจารณาของสภาแห่งชาติ ศักดิ์ของกฎหมายเทียบเท่ากับ พระราชกฤษฎีกา[24]) ซึ่งการศึกษานี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “กฎหมาย” เท่านั้น เนื่องจากกระบวนการตราและการบังคับใช้ “กฎหมาย” เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายหลักของลาว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระบบกฎหมายของไทยแล้ว “กฎหมาย” นี้ อาจเทียบกับศักดิ์กฎหมายได้กับ “พระราชบัญญัติ

ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สปป.ลาว องค์การจัดตั้งและบุคคลที่มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้สภาแห่งชาติพิจารณา[25] มีดังนี้

  1. ประธานประเทศ
  2. คณะประจำสภาแห่งชาติ
  3. รัฐบาล
  4. ศาลประชาชนสูงสุด
  5. องค์การอัยการประชาชนสูงสุด และ
  6. แนวลาวสร้างชาติหรือองค์การจัดตั้งมหาชนขั้นศูนย์กลางอื่น (ศูนย์กลางชาวหนุ่มลาวสหพันธ์กรรมบาลลาว ศูนย์กลางสหพันธ์แม่หญิงลาว)

งานระบบกฎหมายและการออกกฎหมายของ สปป.ลาว นั้น แบ่งพิจารณาได้เป็น 2 ด้านหลัก ซึ่งหลักการนี้ได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและให้ความสำคัญมากเท่า ๆ กันทั้ง 2 ด้าน และเป็นหลักการที่ประเทศซึ่งปกครองตามระบอบประชาธิปไตยประชาชนหรือสังคมนิยม - คอมมิวนิสต์ถือปฏิบัติ แบ่งได้ดังนี้

  1. การตราและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย
  2. งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การบังคับใช้กฎหมาย

การตราและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย

กระบวนการตราและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจะดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงาน 5 ปี ของสภาแห่งชาติ ซึ่งจะกำหนดว่าจะมีการตราหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใดบ้าง ทั้งในรอบ 5 ปี ซึ่งครบตามวาระของสภาแห่งชาติชุดนั้นและโครงการในแต่ละปีเมื่อจะมีการพิจารณาเสนอกฎหมายใด รัฐบาลโดยหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายนั้นหรือหน่วยงาน (เจ้าของ) ผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นจะมีการประสานงานรวบรวมความเห็นและข้อมูลเพื่อประกอบความเห็นต่อร่างกฎหมายนั้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายนั้นขึ้น เมื่อได้จัดทำร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเสนอกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณารับรอง แล้วจึงเสนอต่อรัฐบาล เมื่อคณะรัฐบาลลงมติรับรองแล้วจึงเสนอต่อสภาแห่งชาติก่อนที่สมัยประชุมสภาแห่งชาติจะเปิดขึ้นไม่น้อยกว่า 60 วันต่อไป

เมื่อสภาแห่งชาติรับร่างกฎหมายไว้พิจารณาแล้ว สภาแห่งชาติจะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องพิจารณาร่วมกันเพื่อทำความเห็น ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อ “การประชุมเปิดกว้าง” (เป็นการประชุมที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจน ตัวแทนประชาชน รวมทั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ และส่วนท้องถิ่น สามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในที่ประชุมได้ ซึ่งประเด็นในที่ประชุมเปิดกว้างนั้นก็เป็นประเด็นเปิดกว้างที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและการบริหารงานภาพรวมทั้งหมดของชาติด้วย) เพื่อนำความเห็นมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมาย เมื่อปรับปรุงแล้วจึงเสนอให้คณะประจำสภาแห่งชาติอนุมัติ กรณีเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ (ได้เสีย) ของประชาชนหรือผลประโยชน์แห่งชาติก่อนเสนอเพื่อให้คณะประจำสภาแห่งชาติพิจารณาอนุมัติ ต้องมีการขอความเห็นหรือ “ประชาพิจารณ์” จาก ประชาชนก่อนด้วย (กระบวนการเสนอความเห็นและประชาพิจารณ์กฎหมายลาวนั้น เรียกว่า “การทาบทาม”กระบวนการนี้ สมาชิกสภาแห่งชาติจะลงพื้นที่เพื่อขอความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ตามแขวงต่าง ๆ แล้วสรุปความเห็นที่เกี่ยวข้องเสนอต่อคณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อนำมาปรับปรุงอีกครั้งตามความเหมาะสม เมื่อปรับร่างกฎหมายแล้วจึงเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะประจำสภาแห่งชาติ)

เมื่อคณะประจำสภาแห่งชาติเห็นเหมาะสมแล้วจึงเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาแห่งชาติ ถ้าคณะประจำสภาแห่งชาติเห็นว่ายังไม่ครบถ้วนเพียงพออาจเสนอให้คณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับปรุงให้ครบถ้วนสมบูรณ์และเสนอใหม่อีกครั้งได้

ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายในการประชุมสภาแห่งชาตินั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบนำเสนอร่างกฎหมายร่วมกับคณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐมนตรีทำหน้าที่เสนอจุดประสงค์ของกฎหมายต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติ กรรมาธิการผู้รับผิดชอบร่างกฎหมายนั้นนำเข้าสู่การพิจารณารายมาตรา (อ่านและพิจารณาเรียงตามรายมาตรา) ถ้ามีข้อคิดเห็นหรือมีการขอแปรญัตติเพิ่มเติมให้ประธานสภาแห่งชาติหรือสมาชิกเสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมาธิการกฎหมายและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ชี้แจง กรณีกฎหมายใดพิจารณาได้ง่าย คือ ไม่ซับซ้อนหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอาจผ่านความเห็นหรือขอมติเป็นรายหมวดหรือรายภาค ถ้ากฎหมายฉบับใดยากหรือซับซ้อนหรือเกี่ยวข้องกับสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน อาจพิจารณาผ่านความเห็นหรือขอมติเป็นรายมาตราการลงคะแนนเสียงให้ลงคะแนนเสียงแบบปิดลับ (ลงคะแนนเสียงโดยลับ) การผ่านความเห็นหรือมติจะมีผลบังคับใช้เมื่อได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมเมื่อกฎหมายนั้นได้รับมติเห็นชอบจากสภาแห่งชาติแล้ว ให้คณะกรรมาธิการกฎหมายปรับปรุงตามความเห็นและคำนำเสนอ แล้วนำกลับเข้าที่ประชุมสภาแห่งชาติอีกครั้งในวันสุดท้ายของสมัยการประชุมนั้นเพื่อรับรองให้ประกาศบังคับใช้ต่อไป

งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กฎหมาย

เมื่อกฎหมายใดได้รับการลงมติบังคับใช้จากสภาแห่งชาติแล้ว กระทรวงผู้รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายจะต้องเสนอให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายนั้นต่อหน่วยงานขึ้นตรงและเกี่ยวข้องของตนก่อนจากตั้งแต่ส่วนกลางถึงท้องถิ่น ซึ่งเป็นการให้ความรู้เพื่อการบังคับใช้กฎหมายและปฏิบัติงานได้

กระบวนการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กฎหมายนั้นมีความหลากหลายนับแต่การประชาสัมพันธ์และโฆษณาทางสื่อ ตลอดจน การจัดทำเอกสารทางวิชาการ อาทิ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เอกสาร หนังสือ นอกจากนี้ อาจมีการจัดสอนในชั้นเรียนหรือสัมมนาตามสถาบันการศึกษาด้วย กฎหมายบางฉบับอาจจะจัดเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนภาคบังคับด้วย ซึ่งทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของกฎหมายนั้นเป้าหมายของงานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กฎหมาย คือ จะเร่งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายนั้นก่อน จึงขยายสู่กลุ่มพนักงาน (ข้าราชการ) ทั่วไป และสู่ภาคประชาชน เป็นการกระจายสู่ทุกระดับตั้งแต่จากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นตามลำดับ

ในการพิจารณาร่างกฎหมายและร่างรัฐบัญญัติ สภาแห่งชาติจะแต่งตั้งกรรมาธิการเพื่อจัดทำความเห็นเสนอต่อคณะประจำสภาแห่งชาติและประธานประเทศ[26] นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการแต่ละคณะยังมีหน้าที่สนับสนุนสภาแห่งชาติและคณะประจำสภาแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินงานของคณะรัฐบาล ศาลประชาชน และองค์การอัยการประชาชน อันจะเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนการจัดทำร่างกฎหมายในอนาคตด้วย (รายละเอียดเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการโปรดพิจารณาตามหัวข้อ “คณะกรรมาธิการของสภาแห่งชาติ” หน้า 28 - 29) กฎหมายที่สภาแห่งชาติได้รับรองแล้วนั้นประธานประเทศต้องประกาศบังคับใช้ภายในไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรอง

ในระยะเวลาดังกล่าวนั้น ประธานประเทศมีสิทธิเสนอกลับคืนให้สภาแห่งชาติพิจารณาใหม่ได้ กฎหมายที่พิจารณาใหม่นั้น ถ้าหากสภาแห่งชาติมีมติยืนยันตามเดิมแล้ว ประธานประเทศต้องประกาศใช้ภายในกำหนดสิบห้าวัน[27]โดยปกติ 1 ปี สภาแห่งชาติจะผ่านกฎหมายประมาณ 12 ฉบับ (มากสุดอาจถึง 14 ฉบับ) สมัยประชุมละประมาณ 6 - 7 ฉบับ

ญัตติ

“ญัตติ[28]” หรือข้อพิจารณา ในภาษาลาวหรือตามกฎหมายของลาวนั้น เรียกว่า “บันหา” หรือ “ปัญหา” “บันหา” คือ ข้อเสนอที่มีความมุ่งหมายเพื่อให้สภาแห่งชาติลงมติหรือวินิจฉัยว่าจะปฏิบัติอย่างไร ซึ่งการเสนอเรื่องหรือข้อพิจารณาเพื่อให้ที่ประชุมสภาแห่งชาติพิจารณานั้นจะต้องเสนอเป็น “ญัตติ” หรือ “บันหา” “บันหา” จึงเป็นกลไกหนึ่ง ในการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ เพราะ “บันหา” ทุกเรื่องย่อมมีจุดมุ่งหมาย อันทำให้รู้ถึงประโยชน์หรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น “บันหา” จึงมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของสภาแห่งชาติ 3 ประการ ดังนี้

  1. เป็นกลไกในการตรากฎหมาย
  2. เป็นกลไกในการควบคุมการบริหาร
  3. เป็นกลไกในการประชุมสภา

โดยทั่วไปลักษณะการเสนอ “บันหา” แบ่งออก 2 ประเภท คือ 1. “บันหา” ที่เสนอด้วยวาจา และ 2. “บันหา” ที่เสนอเป็นหนังสือ

“บันหา” ที่เสนอโดยถูกต้องแล้วประธานสภาแห่งชาติจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมตามกระบวนการพิจารณา กระบวนการพิจารณา “บันหา” มี 3 ขั้นตอน คือ 1. การอภิปราย 2. การแปร “ญัตติ” หรือการอภิปราย “บันหา”และ 3. การลงมติ “บันหา” หรือ “ญัตติ” หรือข้อตัดสินใจที่เกี่ยวกับ “ชะตากรรม” ของชาติและผลประโยชน์อันสำคัญของประชาชนต้องผ่านการพิจารณาของสภาแห่งชาติหรือคณะประจำสภาแห่งชาติกรณีสภาแห่งชาติมิได้เปิดการประชุม[29] เท่านั้น

กระทู้ถาม

การทู้ถาม[30] คือ คำถามที่สมาชิกสภาแห่งชาติตั้งเพื่อถามนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล (รัฐมนตรีและหัวหน้าองค์กรเทียบเท่ากระทรวง) ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ในเรื่องอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่หรือนโยบายการบริหารงาน

สมาชิกสภาแห่งชาติมีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด บุคคลที่ถูกซักถามนั้น ต้องชี้แจงต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร[31]แต่นายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด อัยการประชาชนสูงสุด หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีสิทธิที่จะยังไม่ตอบกระทู้นั้นก็ได้ ถ้าผู้เกี่ยวข้องนั้นเห็นว่าเรื่องหรือกรณีนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะอาจเกี่ยวกับความปลอดภัย หรือประโยชน์สำคัญของประเทศกระทู้ถามที่สมาชิกตั้งถามนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

  1. คำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่จะถามเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบนั้น
  2. คำถามเกี่ยวกับนโยบายการบริหารของนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ซึ่งเป็นคำถามที่สมาชิกสภาแห่งชาติตั้งขึ้น เมื่อเห็นว่าการบริหารงานแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐบาล ประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุด ไม่เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาแห่งชาติ หรือดำเนินการบริหารงานผิดพลาดไม่ตรงตามนโยบาย

กระทู้ถามนับเป็นวิธีการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญอย่างหนึ่งของสภาแห่งชาติ เพราะทำให้ฝ่าย ปฏิบัติงานมีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดียิ่งขึ้น มิฉะนั้น อาจถูกสมาชิกสภาแห่งชาติตั้งกระทู้ถามอันแสดง ให้เห็นถึงความผิดพลาดหรือบกพร่องในการปฏิบัติงานได้ กระทู้ถามมี 2 ประเภท คือ 1. กระทู้ถามสด และ 2. กระทู้ถามทั่วไป

การเปิดอภิปรายทั่วไป

การเปิดอภิปราย[32]ทั่วไปเป็นมาตรการควบคุมการบริหารงานวิธีหนึ่ง ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพมาก เพราะสามารถเป็นเครื่องมือเหนี่ยวรั้ง ถ่วงดุลอำนาจ และควบคุมการบริหารงานของฝ่ายต่าง ๆ จากสภาแห่งชาติให้อยู่ในภาวะสมดุลได้ดีที่สุด แม้สภาแห่งชาติจะมิได้มีการใช้มาตรการการเปิดอภิปรายทั่วไปนี้มากนัก (ตามสถิติสภาแห่งชาติลาวเปิดอภิปรายทั่วไปทั้งกรณีการลงมติและไม่ลงมติน้อยมาก ระบอบการปกครองของลาว คือ ระบอบประชาธิปไตยประชาชนหรือ “สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์” นั้น เป็นระบบที่เน้นทั้ง “พรรค” และ “รัฐ” “พรรค-รัฐ” ควบคู่และเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมักแก้ปัญหากันเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ภายใน “พรรค” แล้ว ซึ่งถือเป็น “หลังฉาก” ขณะที่ระดับ “รัฐ” หรือ “หน้าฉาก” นั้น การบริหารงานมักเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย “ใสสะอาด” และปราศจากความขัดแย้ง)

ลักษณะของการอภิปรายทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยมีการลงมติ และ 2. การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติกรณีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยมีการลงมตินั้น รัฐบาลหรือสมาชิกคณะรัฐบาลอาจถูกสภาแห่งชาติ “พิจารณา”และ “ลงมติ” ไม่ไว้วางใจได้ตามการเสนอของคณะประจำสภาแห่งชาติหรือสมาชิกสภาแห่งชาติอย่างน้อยหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในระยะเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากที่สภาแห่งชาติได้ลงมติไม่ไว้วางใจ ประธานประเทศมีสิทธิเสนอให้สภาแห่งชาติพิจารณาใหม่การพิจารณาครั้งที่สองต้องห่างจากการพิจารณาครั้งที่หนึ่งสี่สิบแปดชั่วโมง ถ้าการลงมติครั้งใหม่ไม่ได้รับความไว้วางใจ รัฐบาลหรือสมาชิกคณะรัฐบาลผู้นั้นต้องลาออก[33]

ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

ภารกิจและบทบาท

รัฐแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นรัฐประชาธิปไตยประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนสภาแห่งชาติเป็นองค์การอำนาจรัฐที่มีอำนาจพิจารณาและรับรองข้อตัดสินใจหรือปัญหาพื้นฐานของประเทศ ตลอดจนเป็นองค์การนิติบัญญัติและองค์การกำกับตรวจสอบการดำเนินงานทั้งขององค์การบริหารและองค์การตุลาการ

เชิงความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารนั้น ตามระบอบของ สปป.ลาว สมาชิกสภาแห่งชาติกับสมาชิกคณะรัฐบาลนั้นเป็นคนละส่วนที่แยกต่างหากออกจากกัน ประชาชนทำหน้าที่เลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ สมาชิกสภาแห่งชาติทำหน้าที่เลือกตั้งรัฐบาล ตลอดจน โครงสร้างการบริหารงานของประเทศในองค์กรอื่นด้วย อาทิ ประธานและรองประธานประเทศ ประธานศาลประชาชนสูงสุด อัยการประชาชนสูงสุด

ตามกฎหมายของ สปป.ลาว นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือตำแหน่งสำคัญอื่นของรัฐบาลและของประเทศไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาแห่งชาติ เพียงแต่ต้องได้รับการแต่งตั้งหรือรับรองการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาแห่งชาติเท่านั้นสภาแห่งชาติกับรัฐบาล (ในเชิงโครงสร้างและองค์ประกอบ) จึงแยกจากกันโดยเด็ดขาดโดยมิได้มีความสัมพันธ์กัน (แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เดียวกัน คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว) โดยนัยยะทางการตรวจสอบการบริหารงานแล้ว (ตลอดจนนัยยะทางการบริหารงานด้วย) คล้ายสภาแห่งชาติจะมีอำนาจกว่ารัฐบาล[34] เนื่องจากเป็นฝ่ายตรวจสอบที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต เปลี่ยนแปลง ระงับ หรือสั่งยุติการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร หรือ รัฐบาลได้

นอกจากนี้ ยังมีการจัดองค์กรที่มีลักษณะควบคู่กันกับฝ่ายบริหารเพื่อให้สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานได้อย่างทั่วถึง อาทิ ส่วนกลางมี รัฐบาล - คณะประจำสภาแห่งชาติ ห้องว่าการคณะรัฐบาล - ห้องว่าการสภาแห่งชาติ ระดับแขวงมีคณะแขวง (เจ้าแขวง) - คณะสมาชิกสภาแห่งชาติประจำเขตเลือกตั้ง (แขวง) (หัวหน้าหน่วยคณะสมาชิกสภาแห่งชาติประจำเขตเลือกตั้ง) ห้องว่าการแขวง - ห้องว่าการคณะสมาชิกสภาแห่งชาติประจำเขตเลือกตั้ง (แขวง) ตลอดจน การจัดโครงสร้างในรายละเอียดที่ค่อนข้างสอดคล้องกัน รวมทั้ง การตรวจสอบการบริหารงานในด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด จึงทำให้สภาแห่งชาติโดยคณะประจำสภาแห่งชาตินั้น (รวมตลอดทั้ง โครงสร้างในระดับแขวง) ทำหน้าที่เสมือน “รัฐบาลเงา” ไปในตัวด้วย

นอกจากนี้ วาระของรัฐบาลยังเท่ากับวาระของสภาแห่งชาติด้วย ดังนั้น สภาแห่งชาติแต่ละชุดจึงมีหน้าที่ทำงานควบคู่กับรัฐบาลแต่ละชุดเท่านั้น โดยกลุ่มบุคคลแยกจากกันเด็ดขาดปกติแล้วคณะรัฐบาลและคณะประจำสภาแห่งชาติจะประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ประมาณช่วงก่อนเปิดสมัยประชุมสภาแห่งชาติ เพื่อเป็นการพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อนในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ร่างกฎหมายหรือข้อพิจารณาต่าง ๆ ก่อนที่จะเข้าสู่ที่ประชุมของสมาชิกสภาแห่งชาติ

เชิงความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหารนั้น สภาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. พิจารณารับรอง กำหนด เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกอัตราภาษีและส่วยอากร
  2. พิจารณารับรองแผนยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม (แผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐ) และแผนงบประมาณแห่งรัฐแผนยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคม หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐนั้น แต่ละฉบับมี ระยะเวลาการปฏิบัติ 5 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับวาระหรืออายุการของคณะรัฐบาลและสภาแห่งชาติแต่ละชุด แผนพัฒนา เศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐนั้นจะถูกปรับให้เป็นแผนปฏิบัติงาน 5 ปี ของรัฐบาลและสภาแห่งชาติ เพื่อให้การปฏิบัติงานในทุก ๆ ด้านสอดคล้องกันและเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐนี้จะถูกร่างและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาแห่งชาติก่อนที่สมาชิกสภาแห่งชาติชุด เดิมจะหมดวาระและให้สภาแห่งชาติชุดเดิมเป็นผู้รับรองแผนสำหรับอนาคต 5 ปี ข้างหน้า (ก่อนที่จะหมดวาระ) เพื่อให้ รัฐบาลและสภาแห่งชาติชุดใหม่ได้มีทิศทางเบื้องต้นอันจะปรับไปสู่การปฏิบัติงานของรัฐบาลและสภาแห่งชาติชุดใหม่นั้น ซึ่งแผนนี้เป็นความร่วมมือกันอย่างสอดคล้องและเป็นระบบยิ่งระหว่างรัฐบาล สภาแห่งชาติ และภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม และระหว่างคณะผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนชุดเก่าและคณะผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนชุดใหม่ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น สมาชิกสภาแห่งชาติมีบทบาทอย่างยิ่งทั้งในการให้ความเห็นและการตรวจสอบนับแต่การจัดทำแผนจนถึงการบริหารงาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องแถลงนโยบายการบริหารงาน แผนปฏิบัติงาน 5 ปี และแผนปฏิบัติงานประจำปี รวมทั้งแผนงบประมาณแห่งรัฐ ชุดของตน ให้สมาชิกสภาแห่งชาติรับทราบเพื่อเป็นทิศทางและกำกับทิศทางในการบริหารงานร่วมกันทั้งก่อนเข้ารับตำแหน่งและระหว่างแต่ละปีอีกด้วย
  3. พิจารณาแต่งตั้งหรือถอดถอนนายกรัฐมนตรีตามการเสนอของประธานประเทศ รวมทั้ง รับรองการแต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนสมาชิกคณะรัฐบาลตามการเสนอของนายกรัฐมนตรี รัฐบาลประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หัวหน้าองค์กรเทียบเท่ากระทรวง รัฐบาลมีวาระ เท่ากับวาระของสภาแห่งชาติ[35] ประธานประเทศเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีภายหลังที่สภาแห่งชาติได้รับรองแล้ว[36]รัฐบาลหรือสมาชิกรัฐบาลอาจถูกสภาแห่งชาติพิจารณาและลงมติไม่ไว้วางใจได้ ถ้าคณะประจำสภาแห่งชาติหรือ สมาชิกสภาแห่งชาติอย่างน้อยหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเสนอเพื่อขอให้อภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ ถ้าการลงมติไม่ได้รับความไว้วางใจ รัฐบาลหรือสมาชิกรัฐบาลนั้นต้องลาออก[37]
  4. พิจารณาจัดตั้งหรือยุบกระทรวง องค์การเทียบเท่ากระทรวง แขวง นคร หรือเขตพิเศษ พิจารณาเขตของแขวงนคร หรือเขตพิเศษ ตามการเสนอของนายกรัฐมนตรีในกรณีจำเป็นจะต้องตั้งเขตพิเศษ (เขตพิเศษมีฐานะเทียบเท่าแขวง) หรือปรับเปลี่ยนเขตแดนของแขวง ให้เป็นไปตามการพิจารณาของสภาแห่งชาติ[38]
  5. พิจารณาให้นิรโทษกรรม
  6. พิจารณาให้สัตยาบันหรือลบล้างสนธิสัญญา สัญญา ที่ได้ลงนามกับต่างประเทศตามกฎหมาย
  7. พิจารณาประกาศสงครามหรือยุติสงคราม

นอกจากนี้ สภาแห่งชาติอาจมีหน้าที่อื่น อาทิ จัดตั้งศาลเฉพาะด้านขึ้นตามการพิจารณาของคณะประจำสภาแห่งชาติ[39] รวมทั้ง การแต่งตั้งประธานและรองประธานประเทศ การแต่งตั้งบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางตุลาการ ซึ่งประธานประเทศจะเป็นผู้แต่งตั้งหรือถอดถอนรองประธานศาลประชาชนสูงสุดตามการเสนอของประธานศาลประชาชนสูงสุด คณะประจำสภาแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนผู้พิพากษาประจำศาลประชาชนสูงสุด ประธาน รองประธาน และผู้ พิพากษาประจำศาลอุทธรณ์ ประธาน รองประธาน และผู้พิพากษาประจำศาลประชาชนแขวง นคร เมือง หัวหน้า รองหัวหน้าและผู้พิพากษาประจำศาลทหารตามการเสนอของประธานศาลประชาชนสูงสุด[40] ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ต่างเป็นตำแหน่งที่ตรวจสอบและ “ถ่วงดุลอำนาจ” กับฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรทางอำนาจหลักของ สปป.ลาว ทั้งสิ้น

หน้าที่ของสภาแห่งชาติต่อรัฐบาลนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ด้านหลัก ดังนี้

การสนับสนุนการบริหารงานของรัฐบาล

เพื่อให้เป็นไปตามแผนและนโยบาย สภาแห่งชาติโดยสมาชิกสภาแห่งชาติจะต้อง

  1. ค้นคว้า ประสานงาน จัดตั้ง การปฏิบัติ สร้างแนวทางปฏิบัติ ระเบียบ กฎหมาย ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของพรรค - รัฐ
  2. โฆษณา ประชาสัมพันธ์ แนวทางการบริหารและนโยบายของพรรค ระเบียบกฎหมายของรัฐให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจ
  3. “ปลุกระดม” ให้ประชาชนเข้าร่วมการปฏิบัติงานและกิจกรรมของรัฐ
  4. เข้าร่วมกับองค์การภาครัฐทุกระดับตั้งแต่ส่วนกลางถึง ท้องถิ่นเพื่อให้ความเห็นประกอบการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ - สังคมแห่งรัฐ และแผนงบประมาณแห่งรัฐ
  5. เข้าร่วมการ ประชุม อาทิ การประชุมสภาแห่งชาติ การประชุมเปิดกว้าง เพื่อร่วมให้ความเห็นในการจัดตั้งปฏิบัติงานของรัฐ

การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล

เพื่อกำกับมิให้รัฐบาลปฏิบัติงานคลาดเคลื่อนจากแผนและนโยบายที่ได้กำหนดไว้ สภาแห่งชาติโดยสมาชิกสภา แห่งชาติสามารถ

  1. ตั้งกระทู้ถามประธานประเทศ รองประธานประเทศ ประธานศาลประชาชนสูงสุด อัยการประชาชนสูงสุด นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล
  2. การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกคณะรัฐบาล
  3. จัดทำรายงานความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและการตรวจสอบการปฏิบัติงาน (ด้านต่าง ๆ) ต่อสภาแห่งชาติอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ สภาแห่งชาติถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจยิ่งในการบริหารงานและตรวจสอบการบริหารภาครัฐของ สปป.ลาวและถือเป็น “ต้นทาง” ของการบริหารงานของประเทศในทุกด้าน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ

หลักการของการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ

พลเมืองลาวหญิงชายต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม - วัฒนธรรม และครอบครัว ซึ่ง หมายรวมถึง สิทธิในการเลือกตั้งด้วยผู้มีสิทธิเลือกตั้งและมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ พลเมืองลาวทุกคนโดยไม่จำแนกเพศ เผ่าชน ศาสนา ฐานะทางสังคม ภูมิลำเนา อาชีพ[41] ที่มีอายุตั้งแต่ สิบแปดปีขึ้นไปล้วนมีสิทธิเลือกตั้ง และพลเมืองลาวอายุ ยี่สิบเอ็ดปีขึ้นไปล้วนมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ


ผู้ที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง[42] มีดังนี้

  1. ผู้ที่เป็นบ้าหรือวิกลจริต
  2. ผู้ที่ถูกศาลประชาชนถอดถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือตัดอิสรภาพ (ถูกจับกุม คุมขัง โดยชอบด้วยกฎหมาย)

การเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นการปฏิบัติตามหลักการ 4 ประการ[43] ดังนี้

  1. หลักการทั่วไป (เป็นการกว้างขวางและเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง)
  2. หลักการเสมอภาพ
  3. หลักการโดยตรง
  4. หลักการ (ลงคะแนนเสียง) โดยลับ

การเลือกตั้งของลาว

การเลือกตั้งในลาวนั้นจัดขึ้นทุก 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ โดยให้พลเมืองทุก 50,000 คน (ในแต่ละแขวง) สามารถมีผู้แทนหรือสมาชิกสภาแห่งชาติได้ 1 คน แขวงที่มีพลเมืองน้อยกว่า150,000 คน ให้มีผู้แทนหรือสมาชิกสภาแห่งชาติ 3 คน ตามนโยบายของพรรค - รัฐ การจัดการเลือกตั้งนั้นจะต้องรับประกันได้ว่า สมาชิกสภาแห่งชาติจะต้องประกอบด้วยกลุ่มบุคคลทุกชนชั้น เพศ และเผ่าชน ในอัตราส่วนและจำนวนที่เหมาะสม[44]การเลือกตั้งของลาวนั้น ดังจะสอดคล้องกับสโลแกนที่ว่า “พรรคเลือกคน คนเลือกพรรค” อย่างมาก พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวของลาว[45] จะทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมัครของพรรคซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนใหญ่มาเสนอให้ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคนี้มักมีโอกาสจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่ามาก

ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคนั้นจะไม่มีสิทธิเสนอชื่อของตนเองเป็นผู้สมัคร แต่จะต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์การจัดตั้งพรรค[46] หรือองค์การจัดตั้งอื่น ๆ เท่านั้น เมื่อองค์การจัดตั้งนั้นเสนอรายชื่อผู้สมัครในนามองค์การจัดตั้งของตน แล้ว (โดยไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามความเหมาะสม) คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคจะทำหน้าที่คัดเลือกและคัดสรรผู้ได้รับการเสนอชื่อเหล่านั้นให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคนอกจากนั้น อาจมีผู้สมัครอิสระที่เสนอตนเองเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย แต่มักไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนนัก อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครอิสระนี้จะสมัครในนามอิสระได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพรรคแล้วเท่านั้น[47] (ถ้าคุณสมบัติไม่โดดเด่นพอ อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง) และมักไม่ค่อยมีใครกล้าจะลงเป็นผู้สมัครอิสระเนื่องจากเสี่ยงต่อการตรวจสอบและการเสื่อมเสียชื่อเสียงถ้าไม่ได้รับการเลือกตั้งสูง (อาทิ ข้อหา “อยากดัง” หรือต้องการแสวงหาผลประโยชน์) ผู้สมัครรับเลือกตั้งในลาว (ทั้งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคและผู้สมัครอิสระ) จึงมักจะต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างละเอียดและเข้มงวด หลักคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้ของลาวนั้น ลาวมองว่าผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้งนั้นควรจะเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง มีความซื่อสัตย์ และแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์จนผู้คนยอมรับและร่วมกันเสนอให้เป็นผู้สมัครเพื่อรับการคัดเลือกและ กลั่นกรองจากพรรค ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคนี้จึงเป็นผู้ที่มีฐานต้นทุนทางสังคมสูงและมีผู้รับรองการเสนอชื่อจำนวนมาก มิใช่ใครจะมาสมัครหรือได้รับการเสนอชื่อก็ได้ ทัศนคติของคนลาวต่อผู้ที่มาสมัครโดยที่ไม่มีใครเสนอชื่อ ไม่มีผู้ชื่นชมในความรู้ความสามารถหรือความซื่อสัตย์ ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ย่อมสันนิษฐานเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่าอาจเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น ผู้สมัครอิสระจึงมักไม่ได้รับความสนใจและมักไม่ได้รับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ หลักคิดนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ดังนั้น จึงอาจมีผู้สมัครอิสระบางท่านที่สามารถพิสูจน์ความสามารถได้เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติแล้ว และมักแสดงความคิดเห็นได้อิสระโดยไม่ขึ้นต่อพรรค

การเลือกตั้งในลาวเป็น “การกาออก” (กาหมายเลขที่จะไม่เลือก) ซึ่งผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุดและถัดลงไปจนครบจำนวนที่ต้องเลือกออกจะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกแบบนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของลาว แม้อาจสร้างความสับสนบ้างในเขตที่มีผู้สมัครจำนวนมากแต่มีผู้แทนน้อย (อาทิ เขตเลือกตั้งที่ 1 กำแพงนครเวียงจันทน์ มีผู้แทน 15 ท่าน แต่มีผู้สมัคร 21 ท่าน จึงจำเป็นจะต้องกาออก 6 ท่าน) แต่ก็นับว่าสมเหตุผล เพราะบางครั้งการตัดสินใจกาออกก็ตัดสินใจง่ายกว่าเลือกเข้า โดยเฉพาะเขตที่มีจำนวนผู้สมัครใกล้เคียงกับจำนวนผู้แทน

คณะกรรมการการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งของ สปป.ลาว เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นชั่วคราวเพื่อจัดการเลือกตั้ง ก่อนวัน (ที่คาดว่าจะมีการ) เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 120 วัน และอายุการหรือวาระของคณะกรรมการการเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงหลังการประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติชุดใหม่ (เมื่อได้จัดการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย รวมทั้ง รายงานผลการเลือกตั้งต่อสภาแห่งชาติชุดเก่า และสภาแห่งชาติชุดเก่าได้รับรองผลการเลือกตั้งนั้นแล้ว) คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมติของกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค[48] และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ ประธานสภาแห่งชาติ โดยตำแหน่ง ประธานคณะประจำสภาแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับชาติ และมีผลภายหลังประกาศรัฐดำรัสของประธานประเทศคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่ในการเตรียม จัดตั้ง ปฏิบัติ แบ่งภาระความรับผิดชอบ จัดตั้งองค์กรและบุคลากรช่วยดำเนินงาน เพื่ออำนวยการและควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นองค์กรกลางที่เข้ามาประสานงานให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งองค์การจัดตั้งพรรค องค์การจัดตั้งรัฐ องค์การจัดตั้งมหาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกันในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อเป็นการรับประกันว่าการเตรียมและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติจะเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประธานคณะประจำสภาแห่งชาติจะแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง จำนวนประมาณ15 - 17 คน[49] ประกอบด้วยประธาน 1 คน และรองประธาน 2 - 3 คน[50] คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่าง ๆ ทั้งด้านการอำนวยการและการจัดการ งบประมาณ การรักษาความสงบ การประสานงาน งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ งานมวลชนและชุมชนสัมพันธ์ อาทิ ประธานสภาแห่งชาติ รองประธานประเทศ รองประธานสภาแห่งชาติ หัวหน้ากรรมาธิการ (ที่เกี่ยวข้อง) หัวหน้าห้องว่าการสภาแห่งชาติ ประธานคณะกำกับและตรวจสอบกลางแห่งรัฐ ประธานศูนย์กลางสหพันธ์แม่หญิงลาว หัวหน้าคณะโฆษณาและอบรมศูนย์กลางพรรค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันความสงบ (ทั้งนี้อาจมีหน่วยงานอื่นเพิ่มเติมอีกตามความเหมาะสม) โดยองค์ประกอบและลักษณะการดำเนินงานสะท้อนให้เห็นได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งของลาวมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสภาแห่งชาติอย่างยิ่ง นอกจากกรรมการส่วนใหญ่จะมาจากสภาแห่งชาติแล้ว พนักงานผู้ปฏิบัติงาน (ในองค์กรชั่วคราวนี้) ส่วนใหญ่ยังมาจากสภาแห่งชาติด้วย (ประกอบกับพนักงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น)[51]

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (สมาชิกสภาแห่งชาติ) ของ สปป.ลาว ประกอบด้วย[52] ดังนี้

  1. คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับชาติ
  2. คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับแขวง กำแพงนคร และเขตพิเศษ
  3. คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับเมือง
  4. คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

องค์ประกอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ละระดับนั้น ให้มีตัวแทนจากคณะพรรค ฝ่ายอำนาจการปกครอง (เจ้าแขวง เจ้าเมือง นายบ้าน) และองค์การจัดตั้งมหาชนด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับแขวงกำแพงนคร เขตพิเศษ และระดับเมืองจะต้องมีผู้แทน (ตัวแทน) จากสภาแห่งชาติหรือห้องว่าการสภาแห่งชาติด้วยเสมอ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ละระดับนี้สามารถจัดองค์กรและแต่งตั้งบุคลากรเพื่อช่วยการดำเนินงานตามความเหมาะสม

องค์ประกอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ละระดับนั้น ให้มีตัวแทนจากคณะพรรค ฝ่ายอำนาจการปกครอง (เจ้าแขวง เจ้าเมือง นายบ้าน) และองค์การจัดตั้งมหาชนด้วย นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับแขวงกำแพงนคร เขตพิเศษ และระดับเมืองจะต้องมีผู้แทน (ตัวแทน) จากสภาแห่งชาติหรือห้องว่าการสภาแห่งชาติด้วยเสมอ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ละระดับนี้สามารถจัดองค์กรและแต่งตั้งบุคลากรเพื่อช่วยการดำเนินงานตามความเหมาะสม

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ระดับชาติ) มีอำนาจหน้าที่[53] ดังนี้

  1. แนะนำต่อแขวง กำแพงนคร และเขตพิเศษ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งตามระดับขั้นนั้น[54]
  2. จัดการศึกษาอบรมเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองให้ประชาชนเพื่อยกระดับความเข้าใจต่อสิทธิประชาธิปไตยของประชาชน รวมทั้ง เพื่อสร้างเอกภาพเกี่ยวกับการปฏิบัติงานการเลือกตั้งให้ประสบความสำเร็จด้วยดี
  3. จัดตั้งการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สนับสนุน และประชาสัมพันธ์กระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งรวมทั้ง แนะนำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเคารพกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ ตลอดจน กฎหมายเกี่ยวข้องอื่น
  4. จัดเตรียมและจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
  5. ตรวจสอบ ค้นคว้า และพิจารณา (ประวัติ) แบบคำร้องขอสมัครรับเลือกตั้ง เพื่ออนุมัติและประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
  6. ตรวจสอบ ค้นคว้า และพิจารณาแก้ไขข้อร้องเรียนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง (อันอาจเกิดจากความบกพร่องหรือผิดพลาด) เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  7. “ชี้นำ นำพา” และติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับต่าง ๆ
  8. รวบรวมและประกาศผลการเลือกตั้ง
  9. ออกใบรับรอง (ชั่วคราว) ให้ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ
  10. สรุป ประเมินผล และ “ถอดบทเรียน” เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้ง ประกาศเกียรติคุณต่อองค์การจัดตั้ง[55] และบุคคลที่มีผลงาน (ช่วยเหลือการเลือกตั้ง) ดีเด่น
  11. รายงานผลการเลือกตั้งและผลการจัดการเลือกตั้งต่อที่ประชุมปฐมฤกษ์ของสภาแห่งชาติชุดใหม่

ดูเพิ่ม

  • รายชื่อประธานสภาแห่งชาติลาว
  • รัฐสภาราชอาณาจักรลาว
  • การเมืองลาว

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.