พระอภิธรรมปิฎก (บาลี: Abhidhammapiṭaka) เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกซึ่งประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ) คือ
- ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ
- วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
- ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
- ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้น
- กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ 3
- ยมก (ภาค 1, ภาค 2) ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
- ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ (ภาค 1, ภาค 2, ภาค 3, ภาค 4, ภาค 5, ภาค 6) อธิบายปัจจัย 24 แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร[1]
คำสอนของพระพุทธเจ้า เดิมเรียกว่า "ธรรมวินัย" ทั้งหมด ยังมิได้แยกเป็นปิฎกสามปิฎก ดังพระพุทธวจนะว่า "ธรรมและวินัยใดที่เราตถาคตแสดงไว้แล้วบัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว"[2] ต่อมาในการสังคายนาครั้งที่สามในศาสนาพุทธ พระธรรมวินัยได้รับการแบ่งแยกออกเป็นปิฎกสามปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก[ต้องการอ้างอิง]
อรรถกาอัตถสาลินี อันเป็นอรรถกาที่อธิบายคัมภีร์สังคณีแห่งพระอภิธรรมปิฎก และอรรถกาธัมมปทัฏฐกา อันเป็นอรรถกถาที่อธิบายคัมภีร์ธรรมบทแห่งพระสุตตันตปิฎก ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นไปเทศน์พระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 หลังจากทรงตรัสรู้ และได้ทรงถ่ายทอดพระอภิธรรมนั้นแก่พระสารีบุตรในเวลาต่อมา[3]
มีผู้สันนิษฐานว่าพระอภิธรรมปิฎกนี้เป็นของแต่งขึ้นใหม่[4] โดยมีเหตุผล ได้แก่
- สำนวนในการเขียนพระอภิธรรมปิฎกเป็น ภาษาหนังสือ แตกต่างจากสำนวนภาษาในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก
- หลักมหาปเทสให้สาวกเทียบเคียงความถูกต้องกับพระสูตรและพระวินัย ไม่ปรากฏว่าให้เทียบเคียงกับพระอภิธรรมปิฎกเลย
- ข้ออ้างเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาที่ดาวดึงส์ ไม่ปรากฏในพระสูตรและพระวินัย
- คำว่า อภิธมฺเม ที่ปรากฏในพระสูตรบางแห่งหมายถึง โพธิปักขิยธรรม
- พระพุทธเจ้าตรัสกับสาวกว่า ธมฺโม จ วินโย จ หมายถึงพระธรรมกับพระวินัยเท่านั้น (ที่ให้เป็นศาสดาแทนต่อไป)
- ยญฺจ โข ภควตา ชานตา ปสฺสตา ซึ่งแปลว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่" และ วุตฺตญฺเจตํ ภควตา ซึ่งแปลว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังนี้ เป็นสำนวนของพระสังคีติกาจารย์
- นิกายสรวาสติวาทิน (นิกายอภิธรรม) ถือว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นสาวกภาษิต
พระอภิธรรมปิฎก 12 เล่ม
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 34 ธัมมสังคณี
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 35 วิภังค์
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 36 ธาตุกถา และปุคคลบัญญัติ
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 37 กถาวัตถุ
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 38 ยมก ภาค 1
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 39 ยมก ภาค 2
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 40 ปัฏฐาน ภาค 1
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 41 ปัฏฐาน ภาค 2 อนุโลมติกปัฏฐาน
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 42 ปัฏฐาน ภาค 3 อนุโลมทุกปัฏฐาน
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 43 ปัฏฐาน ภาค 4 อนุโลมทุกปัฏฐาน
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 44 ปัฏฐาน ภาค 5 อนุโลม
- พระไตรปิฎกเล่มที่ 45 ปัฏฐาน ภาค 6 ปัจจนียปัฏฐาน
สำหรับพระอภิธรรมปิฎกนั้นแบ่งออกเป็นเจ็ดคัมภีร์ ซึ่งเรียกย่อว่า สํ. วิ. ธา. ปุ. ก. ย. และ ป. ตามลำดับ ประกอบไปด้วย
- ธัมมสังคณี (เรียกโดยย่อว่า "สํ.") - รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท
- วิภังค์ (เรียกโดยย่อว่า "วิ.") - ยกหมวดธรรมขึ้นตั้งเป็นหัวข้อเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
- ธาตุกถา (เรียกโดยย่อว่า "ธา.") - สังเคราะห์หรือจัดประเภทข้อธรรมต่าง ๆ เข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ดังต่อไปนี้ คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุ
- ปุคคลบัญญัติ (เรียกโดยย่อว่า "ปุ.") - บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่าง ๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่
- กถาวัตถุ (เรียกโดยย่อว่า "ก.") - แถลงและวินิจฉัยทัศนะที่ขัดแย้งกันของนิกายต่าง ๆ ในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 โดยเน้นความถูกต้องของฝ่ายเถรวาท คัมภีร์นี้เป็นบทนิพนธ์ของพระโมคคลีบุตรติสสเถระ
- ยมก (เรียกโดยย่อว่า "ย.") - ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ
- ปัฏฐาน หรือมหาปกรณ์ (เรียกโดยย่อว่า "ป.") - อธิบายปัจจัย 24 และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมทั้งหลายอย่างละเอียด
พระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ฉบับภาษาไทย, เล่ม 10/ข้อ 141/หน้า 178.
พระไตรปิฎก พระอภิธรรม ฉบับภาษาไทย, เล่ม 9/ข้อ 67.