บ้านสาทร
อาคารอนุรักษ์ในเขตสาทร ปัจจุบันเป็นอาคารหนึ่งในโรงแรมดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาคารอนุรักษ์ในเขตสาทร ปัจจุบันเป็นอาคารหนึ่งในโรงแรมดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บ้านสาทร หรือ บ้านหลวงสาทรราชายุตก์ ปัจจุบันเรียกว่า เดอะเฮ้าส์ออนสาทร เป็นอาคารอนุรักษ์แห่งหนึ่งของไทย ตั้งอยู่บนถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร หลวงสาทรราชายุตก์ (ยม พิศลยบุตร) หรือเจ้าสัวยม เศรษฐีผู้รับเหมาขุดคลองในพระนครรวมถึงคลองสาทร สร้างบ้านนี้ขึ้นในราว พ.ศ. 2432
บ้านสาทร | |
---|---|
บ้านสาทรในปี พ.ศ. 2561 | |
ชื่ออื่น | บ้านหลวงสาทรราชายุตก์ เดอะเฮ้าส์ออนสาทร Sathon Mansion |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดให้บริการ |
ประเภท | คฤหาสน์ สำนักงานสถานทูต โรงแรม |
สถาปัตยกรรม | คลาสสิกใหม่ตอนปลาย |
ที่อยู่ | 106 ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก |
เมือง | กรุงเทพมหานคร 10500 |
พิกัด | 13°43′20″N 100°31′44″E |
ผู้เช่าในปัจจุบัน | โรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ |
แล้วเสร็จ | พ.ศ. 2432 |
ปรับปรุง | พ.ศ. 2549–2557 |
เจ้าของ | สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | คอนกรีตเสริมเหล็ก |
พื้นที่ | 12,140 ตารางเมตร (7.59 ไร่) |
บ้านเปลี่ยนมือหลายครั้ง ทั้งเป็นที่อยู่เดิมของหลวงสาทรราชายุตก์ ต่อมาใช้เป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำประเทศไทย (สหพันธรัฐรัสเซีย ในปัจจุบัน) ก่อนจะขายให้แก่โรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ (W Hotel) ในปัจจุบัน อาคารได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี ท่ามกลางอาคารสูงในย่านสาทรโดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เดอะเฮ้าส์ออนสาทร (The House on Sathon) ในปี พ.ศ. 2559 บ้านสาทรได้ปรากฏเป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์ พรจากฟ้า[1]
อาคารบ้านสาทรสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2432-2433 โดยหลวงสาทรราชายุตก์ หรือ "เจ้าสัวยม" ผู้รับเหมาขุดคลองในพระนคร ก่อนจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสาทรราชายุตก์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาตกเป็นของหลวงจิตร์จำนงค์วานิช (ประมาณ พ.ศ. 2439-2459) ซึ่งมีศักดิ์เป็นบุตรเขย ช่วง พ.ศ. 2453 กิจการโรงสีของหลวงจิตร์จำนงค์วานิชก็ต้องถึงแก่ล้มละลาย จึงได้นำบ้านมาจำนองกับพระคลังข้างที่ (ชื่อเดิมของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ภายหลังบ้านและที่ดินดังกล่าวได้ตกเป็นของกรมพระคลังข้างที่ใน พ.ศ. 2459
ใน พ.ศ. 2467 ตัวอาคารแปลงสภาพเป็นโรงแรม "โฮเต็ล รอแยล" ต่อมาราว พ.ศ. 2477 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงแรมไทยแลนด์" ในช่วง พ.ศ. 2491-2542 สถานเอกอัครราชทูตสหภาพแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (ปัจจุบันใช้ชื่อว่าสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย) ได้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโรงแรมไทยแลนด์ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อใช้เป็นสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2543 กรมศิลปากร โดยฝ่ายทะเบียนโบราณสถานฯ ได้เข้าทำการสำรวจอาคารและพื้นที่ โดยจัดให้เป็นอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมของกรมศิลปากร
ปัจจุบันอาคารดังกล่าวได้กลับมาใช้งานเป็นโรงแรมอีกครั้ง โดย บริษัท นอร์ท สาธร เรียลตี้ จำกัด ทุนจดทะเบียน 638,600,000 บาท ได้เช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อปรับปรุงบ้านสาทรเป็น "เดอะ เฮ้าส์ ออน สาทร" ร้านอาหารและบาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบัน บ้านสาทรตั้งอยู่ระหว่างตัวโรงแรมและสาทรสแควร์
อาคารใหญ่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางลานบ้าน มีด้วยกัน 3 ชั้น ตกแต่งสไตล์นีโอคลาสสิก โถงหน้าทางเข้าเป็นห้องเพดานสูงรูปทรง 6 เหลี่ยม ประตูและหน้าต่างชั้นล่างเป็นซุ้มโค้งบานยาวประดับกระจกด้านบน ตกแต่งด้วยขอบไม้เนื้อแข็งแกะสลัก พร้อมตราสัญลักษณ์คล้าย ตัว จ. คาดว่าเป็นชื่อย่อของ "หลวงจิตร์จำนงค์วานิช (ถมยา รงควนิช)" ลูกเขยเจ้าสัวยม
ในอาคารยังมีเสาหินสลักเชิงลายใบไม้ฝรั่ง มีมุมโค้งริมเสาตามแบบวิหารกรีก พร้อมด้วยหัวเสาทรงเหลี่ยมเชื่อมต่อกับคิ้วและบัวเพดาน ประดับแผ่นฝ้าโลหะดีบุกสลักลายคล้ายศิลปะในยุควิกตอเรีย ด้านข้างเยื้องไปทางหน้าตึก มีบันไดไม้สลักเสลาลายสวยงามทอดตัวขึ้นสู่ชั้นบน หัวเสาทำลายพานพุ่มชูช่อกลีบดอกไม้ ส่วนราวบันไดใช้ลูกกรงไม้ลายเถา ดูกลมกลืนรับกับผนังบุฉากไม้ระหว่างบานหน้าต่าง[2]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.