Loading AI tools
สกุลพืช จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุก หรือ สกุลบุก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Amorphophallus) เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปีหลากชนิด ในวงศ์บอน (Araceae) มีหัวใต้ดินขนาดใหญ่ ออกดอกในช่วงต้นฤดูฝน ขณะบานส่งกลิ่นเหม็นมาก เมื่อดอกโรยแล้วใบจะงอกตามออกมาเพียงใบเดียว ก้านดอกและก้านใบกลมยาว และพักตัวในฤดูแล้ง ลำต้นเหี่ยวแห้งและเหลือหัวอยู่ใต้ดิน[2] มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเขตร้อนในทวีปเอเชีย แอฟริกา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรต่าง ๆ[3][4] ไปจนถึงเขตอบอุ่นตอนกลาง ของประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งในประเทศไทย
บุก | |
---|---|
ดอกบุกยักษ์ (Titan arum หรือ Amorphophallus titanum) บุกที่มีช่อดอกใหญ่ที่สุด | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophytes |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงเดี่ยว Monocots |
อันดับ: | อันดับขาเขียด Alismatales |
วงศ์: | วงศ์บอน Araceae |
วงศ์ย่อย: | Aroideae Aroideae |
เผ่า: | Thomsonieae Thomsonieae |
สกุล: | บุก Amorphophallus Blume ex Decne. |
ชนิดต้นแบบ | |
Amorphophallus paeoniifolius | |
Species | |
ดูในบทความ | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
พืชในสกุลบุกบางชนิดกินได้ และจัดเป็น "อาหารในภาวะทุพภิกขภัย" โดยส่วนของก้านใบ ก้านดอกอ่อน และหัวใต้ดิน มาบริโภคได้ซึ่งต้องผ่านการเตรียมอาหารอย่างระมัดระวังเพื่อขจัดสารเคมีที่ก่อความระคายเคือง[5] หัวบุกบางชนิดยังนำมาแปรรูปเป็นผงบุกซึ่งนำไปสกัดได้สารกลูโคแมนแนน ซึ่งมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ชนิดที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักได้แก่ ดอกบุกยักษ์ (A. titanum) ในอินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในพืชชนิดที่มีช่อดอกที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ดอกซากศพ" จากกลิ่นฉุนที่เกิดขึ้นในช่วงดอกบาน[6] และอีกชนิดคือคอนยัค ที่รู้จักดีในการใช้เป็นอาหารญี่ปุ่นเรียก คนเนียกุ (บุกก้อนและบุกเส้น)
บันทึกที่เก่าที่สุดของการจัดระบบอนุกรมวิธานพืชบุก คือในปี 1692 เมื่อเฮนดริค ฟาน รีเดอ (Van Rheede tot Drakenstein) ตีพิมพ์ระบุชนิดพืช 2 ชนิดในสกุล โดยชื่อสกุล "Amorphophallus" ถูกระบุเป็นครั้งแรกโดยคาร์ล บรูเมอ (Carl Ludwig Blume) นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ในปี 1834[7] ต่อมาระหว่างปี 1876 ถึง 1911 อดอล์ฟ เองเกลอร์ (Engler) ได้รวมสกุลอื่น ๆ จำนวนหนึ่งเข้าใน Amorphophallus และลงในบทความเกี่ยวกับสกุลนี้ซึ่งระบุเป็นเอกสารฉบับสุดท้าย ตีพิมพ์ในปี 1911[7] ด้วยสีและกลิ่นของดอกจึงมักถูกเรียกว่า "purple aki" (ชื่ออาชญากรในอังกฤษช่วงปี 1995–2000)
ชื่อสกุล Amorphophallus มาจากภาษากรีกโบราณ amorphos "ไม่มีรูปร่าง" หรือ "ผิดรูป" + phallos "องคชาต" จากรูปร่างของช่อดอกเชิงลดแบบมีกาบ (spadix) ที่โดดเด่น
บุกเป็นสกุลขนาดใหญ่ของพืชสมุนไพรที่มีหัวในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนประมาณ 200 ชนิดจากวงศ์บอน (Araceae)
บุก (Amorphophallus) เป็นพืชพืชล้มลุก อายุหลายปี หลายชนิดมีขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ เจริญจากหัวใต้ดิน หัวบุกมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละชนิด ตั้งแต่หัวทรงกลมสม่ำเสมอของบุกคอนยัค (A. konjac) หัวยาวของ A. longituberosus และทรงกระบอก A. macrorhizus หรือลักษณะคล้ายหัวมันแกว หรือหน่อรอบหัว ไปจนถึงหัวที่มีลักษณะกระจุก ๆ ของ A. coaetaneus[2][9]
ใบเดี่ยว เป็นใบประกอบแตกแขนง สองชั้น สามชั้น หรือหลายแขนง ก้านใบเป็นลำกลมตั้งตรง เกิดขึ้นมาจากกลางหัวบุก ใบแฉกและปลายใบแหลมลักษณะคล้ายใบมะละกอ ลักษณะคล้ายลำต้นซึ่งเรียกว่า ลำต้นเทียม ผิวลำต้นมีสีเขียวเข้ม บางชนิดมีลายเป็นเส้นตรง ลายกระ ลายด่าง มีสีเขียวสลับขาวหรือน้ำตาลอ่อน บางชนิดสีเขียวล้วน น้ำตาลล้วน มีทั้งชนิดที่ผิวเรียบ บางชนิดก้านใบมีหนามอ่อนทั่วทั้งก้านใบ โดยทั่วไปออกใบหลังจากดอกโรยแล้วจากกลางหัว[2][9]
ดอก คล้ายดอกหน้าวัว (เป็นพืชวงศ์เดียวกัน) คือมีกาบและฝักดอกตรงกลาง เป็นดอกไม้แบบดอกรวมที่ไม่มีกลีบดอก ดอกบุกแต่ละชนิดมีขนาด สี และรูปทรงต่างกัน บางชนิดมีดอกขนาดใหญ่มากสูงได้หลายเมตรและมีกลิ่นเหม็นเหมือนเนื้อสัตว์เน่า บุกบางชนิดมีดอกเล็ก บางชนิดมีกลิ่นหอม ก้านดอกงอกโผล่ขึ้นตรงจากกลางหัวบุกเช่นเดียวกับก้านใบ ช่อดอกบุกมีกาบหุ้มช่อ ภายในช่อดอกแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกด้านบนสุดเป็นส่วนของจะงอยเกสรเพศผู้ ลักษณะคล้ายดอกบัวตูม, กลมป้อม, ยาวรี หรือทรงกระบอก ส่วนที่สองเป็นดอกเพศผู้ลักษณะคล้ายไข่ปลาเรียงชิดติดกันแน่น บางชนิดจะมีส่วนของดอกเพศผู้ที่เป็นหมันปนอยู่ ส่วนใหญ่มักเป็นสีน้ำตาลอมม่วงหรือขาวอมเขียว ข้างในมีสันหรือหูดซึ่งทำหน้าที่เป็นกับดักแมลง ส่วนที่สามด้านล่างสุดคือ ดอกเพศเมีย ประกอบด้วยยอดแกสรเพศเมีย ก้านเกสรเพศเมีย และรังไข่[2][9]
ดอกตัวเมียที่โตเต็มที่มักจะบานเปิดรับเกสรเพศผู้ได้เพียง 1 วัน หลายชนิดช่อดอกส่งกลิ่นของเนื้อเน่าเพื่อดึงดูดแมลงผสมเกสร (แม้ว่าบางชนิดอาจมีกลิ่นหอม) ให้เดินผ่านกับดักแมลงซึ่งมีลักษณะทางเดียวคือ กาบดอกที่เรียวแคบลง แมลงผสมเกสรต้องเดินผ่านดอกตัวผู้จำนวนมากที่เจริญเต็มที่และปล่อยละอองเรณู ซึ่งตกลงบนตัวและขนของแมลงเหล่านี้ จากนั้นจะตามกลิ่นที่ปล่อยออกจากดอกเพศเมียที่ด้านล่างและเกิดการผสมเกสร ดอกของบุกยังใช้เป็นพืชอาหารโดยหนอนผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืน (Lepidoptera) บางชนิดเช่น Palpifer sexnotatus และ Palpifer sordida
ผลอ่อนของบุกเป็นแบบผลเบอร์รี่ทรงกลมมีสีขาวอมเหลือง เมื่อสุกแก่เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม สีม่วง สีส้ม หรือสีแดง แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิด มักมีจุกดำที่ปลายคล้ายผลกล้วย ผลของบุกส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน แต่เมล็ดภายใน แตกต่างกัน บางชนิดมีเมล็ดรูปกลม[9] แต่ส่วนมากมีเมล็ดเป็นรูปทรงกลมรี บุกบางชนิดมีเมล็ดจำนวนมากกว่าพันเมล็ด ในขณะที่บุกชนิดที่มีขนาดเล็กชนิดอื่น มีเมล็ดจำนวนไม่เกินร้อยเมล็ด[2]
บุกเป็นพืชหัวล้มลุกที่มีช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นต่างปีกับที่เจริญเติบโตเป็นดอก ส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตทางลำต้นเพียงอย่างเดียวนาน 4–6 ปี จึงเข้าสู่ช่วงออกดอก บุกซึ่งมีดอกส่วนใหญ่จะไม่มีการเจริญเติบโตทางลำต้น โดยธรรมชาติจะเริ่มงอกและเจริญเติบโตในช่วงปลายฤดูแล้งต่อฤดูฝน หัวที่งอกและเจริญเติบโตเป็นดอกจะงอกได้เร็วกว่าหัวที่เจริญเติบโตเป็นต้น โดยมีลักษณะการเจริญเติบโตแบบถ่ายหัว หัวที่เกิดใหม่จะซ้อนอยู่ด้านบนของหัวเดิม หัวเก่าจะฝ่อและเหี่ยวแห้งไปเมื่อต้นและใบเหี่ยวเฉาหรือผลสุกแก่เต็มที่ หัวก็เริ่มเข้าสู่ระยะพักตัวรอเวลาและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่องอกเป็นต้นหรือเป็นดอกในปีต่อไป
บุกเป็นพืชในที่ลุ่มทั่วไป เติบโตในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของพื้นที่เขตร้อนของแอฟริกา, เอเชีย และ โอเชียเนีย (Paleotropical Kingdom) ไม่พบในทวีปอเมริกา แม้ว่าจะมีสกุล Dracontium คล้ายคลึงกันมากแต่ไม่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกัน บุกส่วนใหญ่เป็นชนิดพืชเฉพาะถิ่น บุกเติบโตได้ดีบนพื้นที่รกร้างเช่น ป่าทุติยภูมิ[11]
ในประเทศไทยพบ 68 ชนิด เป็นบุกพื้นเมือง 64 ชนิด โดยพบทางภาคเหนือของไทยมากกว่า 41 ชนิด จากการสำรวจพบบุกบนพื้นที่สูงในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน[12]
ปลูกในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใช้ประโยชน์จากหัวที่เป็นพืชแป้งขนาดใหญ่ ใช้ทำแป้งและวุ้นก้อนในชื่อ คนเนียกุ (อาหารญี่ปุ่น), โหมยฺวี่โต้วฟู (魔芋豆腐) ในอาหารจีนเสฉวน นอกจากนี้ยังใช้แทนเจลาตินในอาหารมังสวิรัติ ในประเทศไทยใช้บุกคางคกและบุกเนื้อทราย
หัวบุกคอนยัคแห้ง มีสารสำคัญคือ สารเหนียวกลูโคแมนแนนประมาณร้อยละ 40 สารพอลิแซ็กคาไรด์นี้ทำให้บุกก้อนมีความหนืดสูงที่ละลายน้ำได้ และอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ในยาจีนโบราณสำหรับการล้างพิษ, การควบคุมเนื้องอก, การบรรเทาอาการเลือดชะงักงัน, การจัดการโรคหอบหืด, การรักษาโรคผิวหนัง และการทำให้เสมหะเหลว[14] ใยอาหารจากหัวบุกใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเสริมลดน้ำหนัก[15]
โดยทั่วไปยางที่พบในหัวบุกสด ลำต้นและใบ (ในบุกหลายชนิดเช่น บุกคอนยัค (A. konjac), บุกคนโท (A. muelleri), A. oncophyllus, บุกคางคก (A. paeoniifolius)) ประกอบด้วยสารแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) หากสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน[16] หากเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการแสบตาอย่างรุนแรงและอาจทำให้ตาบอดได้[17]
หัวบุกออกรสเผ็ด เป็นยาร้อน มีพิษออกฤทธิ์ต่อม้าม ตับ และระบบทางเดินอาหาร ในกลุ่มคนที่ม้าม ตับ และระบบทางเดินอาหารไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงและหรือไม่กินมากเกินไป[18][19]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.