Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การรับรู้อากัปกิริยา[1] หรือการรู้ตำแหน่งข้อและการเคลื่อนไหว[2] (อังกฤษ: proprioception มาจากคำว่า "proprius" ซึ่งแปลว่า "ของตน" หรือ "แต่ละบุคคล" และคำว่า "perception" ซึ่งแปลว่า "การรับรู้") เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่ง (limb position sense) และเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของอวัยวะในร่างกาย (kinesthesia หรือ motion sense) ที่ไม่สืบเนื่องกับการมองเห็น[3][4] เป็นกระบวนการที่ต่างจาก exteroception ซึ่งเป็นการที่บุคคลรับรู้ตัวกระตุ้นภายนอกร่างกาย และ interoception ซึ่งเป็นการที่บุคคลรับรู้ความรู้สึกเป็นต้นว่า ความเจ็บปวดและความหิว และการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายใน
ควมรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้รับการพรรณนาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1557 โดยจูเลียส ซีซาร์ สคาลิเกอร์ ว่าเป็น "การรับรู้ความเคลื่อนไหว" (sense of locomotion)[5] ในปี ค.ศ. 1826 ชาลส์ เบ็ลล์ พรรณนาความคิดของเขาในเรื่องของการรับรู้ในกล้ามเนื้อ[6] ซึ่งได้รับเครดิตว่า เป็นงานวิจัยงานแรกที่พรรณนาถึงกลไกที่ส่งข้อมูลทางกายภาพแบบป้อนกลับไปยังสมอง[7] ความคิดของเบ็ลล์ก็คือการสั่งงานเกิดขึ้นในสมองแล้วส่งไปที่กล้ามเนื้อ และรายงานเกี่ยวกับสภาพกล้ามเนื้อก็จะส่งกลับไปที่สมอง
ในปี ค.ศ. 1880 เฮ็นรี ชาลส์ตัน บาสเชียน เสนอว่าคำว่า "การรับรู้การเคลื่อนไหว (kinaesthesia)" แทนคำว่า "การรับรู้ในกล้ามเนื้อ (muscle sense)" เพราะเหตุว่า ข้อมูลที่ส่งไปทางใยประสาทนำเข้ากลับไปยังสมอง มาจากโครงสร้างอื่น ๆ นอกจากกล้ามเนื้อ รวมทั้งเส้นเอ็น ข้อต่อ และผิวหนัง[8]
ในปี ค.ศ. 1889 แอลเฟร็ด โกลด์เชเดอร์ เสนอการแบ่งประเภทของการรับรู้การเคลื่อนไหวออกเป็น 3 อย่างรวมทั้ง ความรู้สึกในกล้ามเนื้อ ความรู้สึกในเส้นเอ็น และความรู้สึกเกี่ยวกับข้อต่อ[9]
ในปี ค.ศ. 1906 ชาลส์ สก็อตต์ เชอร์ริงตัน พิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญที่เสนอศัพท์ของกระบวนการรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ รวมทั้งคำว่า "proprioception"[3] "interoception" และ "exteroception" exteroceptor เป็นอวัยวะมีหน้าที่สร้างข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะภายนอกร่างกายรวมทั้ง ตา หู ปาก และผิวหนัง ส่วน interoceptor สร้างข้อมูลเกี่ยวกับอวัยวะภายใน ในขณะที่คำว่า proprioception (คือการรับรู้อากัปกิริยา) หมายถึงความสำนึกรู้การเคลื่อนไหวที่ได้มาจากข้อมูลทางกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อ เพราะการแบ่งประเภทโดยวิธีนี้ นักสรีรวิทยาและนักกายวิภาคศาสตร์จึงได้สืบต่อการค้นหาปลายประสาทที่มีกิจหน้าที่โดยเฉพาะในการส่งข้อมูลเกี่ยวกับข้อต่อและความตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ (เช่นปลายประสาทที่เรียกว่า muscle spindle[10] และ Pacinian corpuscles[11] เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า muscle spindle มีบทบาทที่สำคัญในการรับรู้อากัปกิริยา เพราะ ปลายประสาทที่สำคัญที่สุดของ muscle spindle ตอบสนองต่อระดับความเปลี่ยนแปลงของความยาวและความเร็วในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ดังนั้น จึงมีบทบาทในการรับรู้ทั้งตำแหน่งทั้งการเคลื่อนไหวของอวัยวะ[12] ส่วนปลายประสาทที่สำคัญรองลงมา ตรวจจับความเปลี่ยนแปลงความยาวของกล้ามเนื้อ และดังนั้น จึงส่งข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ตำแหน่งของอวัยวะเพียงเท่านั้น[12] โดยย่อ ๆ แล้ว muscle spindle ก็คือ ปลายประสาทรับรู้การขยายออกของกล้ามเนื้อ[13] นอกจากนั้นแล้ว ก็เป็นที่ยอมรับว่า ปลายประสาทรับความรู้สึกที่ผิวหนังคือ cutaneous receptor ก็มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับรู้อากัปกิริยา โดยให้ข้อมูลการรับรู้ที่แม่นยำเกี่ยวกับตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของข้อต่อ รวมเข้าไปกับข้อมูลที่มาจาก muscle spindle[14]
การรับรู้การเคลื่อนไหว (อังกฤษ: kinesthesia หรือ kinaesthetic หรือ motion sense) ซึ่งเป็นองค์ประกอบแรกในการรับรู้อากัปกิริยา เป็นความสำนึกรู้การเคลื่อนไหวรวมทั้งตำแหน่งของอวัยวะในร่างกาย โดยใช้อวัยวะรับรู้ความรู้สึกที่เรียกว่า ปลายประสาทรับรู้อากัปกิริยา[1] หรือ ตัวรู้อากัปกิริยา (อังกฤษ: proprioceptor) ในข้อต่อและกล้ามเนื้อ การค้นพบการรับรู้การเคลื่อนไหว เป็นส่วนเบื้องแรกของศึกษาการรับรู้อากัปกิริยา และถึงแม้ว่าคำว่า การรับรู้อากัปกิริยา (proprioception) และการรับรู้ความเคลื่อนไหว (kinesthesia) มักจะใช้แทนกันและกัน แต่ว่า ตามความเป็นจริงแล้ว กระบวนการเหล่านั้นมีองค์ประกอบที่ต่างกันหลายอย่าง[15]
อย่างแรกก็คือ การรับรู้การเคลื่อนไหวไม่รวมการรับรู้การทรงตัวหรือความสมดุล (equilibrium หรือ balance) ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากหูชั้นใน เป็นองค์ประกอบ ต่างจากการรับรู้อากัปกิริยาซึ่งรวมข้อมูลเช่นนี้[3] ตัวอย่างเช่น ความอักเสบของหูชั้นในอาจจะทำความรู้สึกความสมดุลให้เสียหาย ดังนั้น ก็ทำให้การรับรู้อากัปกิริยาให้เสียหาย แต่ไม่ทำการรับรู้ความเคลื่อนไหวให้เสียหาย (เพราะนิยามของการรับรู้ความเคลื่อนไหว ไม่รวมการรับรู้การทรงตัวว่าเป็นองค์ประกอบ) ผู้ที่มีความเสียหายอย่างนี้ สามารถจะเดินได้โดยต้องอาศัยการเห็นเพื่อทรงตัว คือบุคคลนั้นจะไม่สามารถเดินได้โดยปิดตา
ความแตกต่างอีกอย่างก็คือ การรับรู้การเคลื่อนไหวพุ่งความสนใจไปที่การเคลื่อนไหวของร่างกาย ในขณะที่การรับรู้อากัปกิริยาเป็นความสำนึกในการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของร่างกาย ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การรับรู้การเคลื่อนไหวเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม (behavioral) มากกว่า ในขณะที่การรับรู้อากัปกิริยาเกี่ยวข้องกับการรับรู้ (cognitive) มากกว่า[15]
การรับรู้การเคลื่อนไหวหมายเอาการเคลื่อนไหวทั้งที่ทำเองและคนอื่นทำให้ (เช่นขยับแขนขาให้ไปที่อื่น)[2]
องค์ประกอบสำคัญรองลงมาของการรับรู้อากัปกิริยาก็คือ การรับรู้ตำแหน่งข้อต่อ (อังกฤษ: joint position sense ตัวย่อ JPS) ซึ่งวัดได้โดยการให้ผู้รับการทดสอบจับคู่ตำแหน่งของข้อต่อ[16] ที่จะกล่าวถึงต่อไป
บ่อยครั้ง มักเข้าใจว่า ความสามารถในการรับรู้ความเคลื่อนไหวและในการรับรู้ตำแหน่งข้อต่อ ทั้งสองอย่างนั้นมีความสัมพันธ์กัน แต่จริง ๆ แล้ว หลักฐานแสดงว่า ความสามารถทั้งสองอย่างนั้น ไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างสำคัญ[ต้องการอ้างอิง] นี้บอกเป็นนัยว่า แม้ความสามารถเหล่านั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับการรับรู้อากัปกิริยาเหมือนกัน แต่ก็เกิดจากระบบทางกายภาพที่ต่างกัน[17]
การรับรู้ความเคลื่อนไหว มีองค์ประกอบที่สำคัญของทักษะการเคลื่อนไหวกายด้วยกล้ามเนื้อ (muscle memory) และทักษะการประสานงานระหว่างมือและตา การฝึกหัด (หรือการหัดซ้อม) สามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ อีกอย่างหนึ่ง ความสามารถในการหวดไม้กอล์ฟหรือในการรับลูกบอล ขาดการรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดีไม่ได้ นั่นก็คือ การรับรู้อากัปกิริยาต้องทำให้เป็นอัตโนมัติผ่านการฝึก เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้บุคคลใส่ใจในเรื่องอื่น เช่นการรักษากำลังใจของตน หรือการเห็นว่าคนอื่น ๆ อยู่ที่ไหน (แทนที่จะต้องมากังวลเหมือนกับตอนเริ่มฝึกใหม่ ๆ ว่า มีท่าทางเหมาะสมถูกต้องในการทำกิจกรรมนั้นไหม)
การรับรู้อากัปกิริยาเริ่มต้นที่การทำงานของปลายประสาทรับรู้อากัปกิริยา (proprioceptor) ในระบบประสาทส่วนปลาย[18] เป็นกระบวนการซึ่งเชื่อว่าได้รับข้อมูลมาจากเซลล์ประสาทรับความรู้สึกในหูชั้นใน (ซึ่งบอกการเคลื่อนไหวและการทรงตัว[3]) จากปลายประสาทรับรู้การขยายออก (stretch receptor) ในกล้ามเนื้อ และจากเส้นเอ็นรั้งข้อต่อ (ซึ่งบอกตำแหน่งของกาย) มีปลายประสาทที่ทำหน้าที่การรับรู้อย่างนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่า ปลายประสาทรับรู้อากัปกิริยา[1] (proprioceptor) เหมือนกับมีปลายประสาทรับความรู้สึกเฉพาะอย่างสำหรับแรงกด แสง อุณหภูมิ เสียง และความรู้สึกทางประสาทอื่น ๆ
TRPN ซึ่งเป็นประตูไอออนอย่างหนึ่งในตระกูล transient receptor potential channel ได้รับการวิจัยว่ามีหน้าที่รับรู้อากัปกิริยาในแมลงวันทอง[19] ในหนอนนีมาโทดา[20] ใน Xenopus laevis[21][22] และในปลาม้าลาย[23] แต่ว่า ยังไม่มีการค้นพบหน่วยรับรู้อากัปกิริยาเช่น TPRN ในมนุษย์
ถึงแม้ว่า จะเป็นที่รู้กันว่าการรับรู้การเคลื่อนไหวของนิ้วมืออาศัยความรู้สึกที่ผิวหนัง แต่ว่างานวิจัยเร็ว ๆ นี้พบว่า การรู้จำวัตถุโดยสัมผัส (haptic perception) ที่อาศัยการรับรู้ความเคลื่อนไหวเหมือนกัน ก็ต้องอาศัยแรงกลต่าง ๆ ที่ประสบในขณะสัมผัสด้วย[24] ผลงานวิจัยนี้เป็นปัจจัยในการสร้างรูปร่างต่าง ๆ แบบเสมือน (virtual คือไม่มีอยู่จริง ๆ เหมือนกับ virtual realitiies) รู้ได้ทางสัมผัสที่มีลักษณะต่าง ๆ กัน[25]
ในมนุษย์ การรับรู้อากัปกิริยาแยกออกเป็นแบบที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจและที่นอกอำนาจจิตใจ
การตอบสนองนอกอำนาจจิตใจเห็นได้ในรีเฟล็กซ์การรับรู้อากัปกิริยาในมนุษย์ที่เรียกว่า righting reflex คือ เมื่อกายเอียงไปทางด้านไหนก็ตาม บุคคลนั้นก็จะตั้งหัวให้ตรง เป็นการปรับระดับตาให้เสมอกับแนวนอน[29] ปฏิกิริยานี้เห็นได้แม้ในเด็กทารกเมื่อเด็กเริ่มควบคุมกล้ามเนื้อคอได้ การควบคุมกล้ามเนื้อคอได้มีซีรีเบลลัมเป็นเหตุ ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่อิทธิพลในการทรงตัว[3]
มีการทดสอบที่ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจงที่ทดสอบความสามารถในการรับรู้อากัปกิริยาของสัตว์ที่รับการทดสอบ เป็นการวินิจฉัยโรคทางประสาท (neurological disorder) รวมการทดสอบที่ตรวจสอบรีเฟล็กซ์โดยใช้ตาหรือสัมผัสเป็นต้นว่า placing reflexes[30] ซึ่งเป็นการทดสอบการรับรู้อากัปกิริยาโดยสัมผัสในสัตว์โดยเฉพาะของแมวและสุนัข
เพื่อการวินิจฉัยรักษาพยาบาลในมนุษย์ การทดสอบต่อไปนี้วัดความสามารถของบุคคลในการรับรู้อากัปกิริยาโดยไม่ใช้ตาช่วย
การจับคู่ตำแหน่งข้อต่อ (อังกฤษ: joint position matching) เป็นวิธีการวัดการรับรู้อากัปกิริยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการวัดความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งข้อต่อ โดยที่ไม่อาศัยข้อมูลจากตาหรือระบบการทรงตัว (vestibular system) เป็นตัวช่วย[31] เพื่อทำการทดสอบนี้ พึงให้ผู้รับการทดสอบปิดตา แล้วเคลื่อนข้อต่อหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่งเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็นำข้อต่อนั้นกลับมาที่เดิม หลังจากนั้น ก็ให้ผู้รับการทดสอบเคลื่อนข้อต่อไปยังตำแหน่งนั้น โดยวัดความผิดพลาด ความสามารถในการบ่งชี้มุมของข้อต่อในสถานการณ์ต่าง ๆ ก็จะวัดได้ วิธีการนี้เป็นวิธีการที่แม่นยำที่สุดในปัจจุบันในการวัดการรับรู้อากัปกิริยา (โดยที่ไม่วัดความสามารถอย่างอื่นร่วมด้วย)
งานวิจัยเร็ว ๆ นี้พบว่า ความถนัดซ้ายขวา อายุ การเคลื่อนไหวเองหรือให้ผู้อื่นเคลื่อนให้ และระยะเวลาที่ให้ข้อต่อดำรงอยู่ในมุมเป้าหมาย มีอิทธิพลต่อความสามารถในการจับคู่ตำแหน่งข้อต่อ[32] การจับคู่ตำแหน่งข้อต่อใช้ในการวินิจฉัยรักษาทั้งในอวัยวะเบื้องบนและเบื้องล่าง
เพื่อทดสอบนิ้วมือ[2][33]หรือข้อมือ หรือนิ้วโป้งเท้า[33] ให้คนไข้หลับตา แล้วขยับนิ้วมือหรือข้อมือหรือนิ้วโป้งเท้าของคนไข้ขึ้นหรือลง โดยที่ไม่ต้องขยับเกิน 1-2 มิลลิเมตร[33] ปกติคนไข้จะสามารถบอกทิศทาง[2][33] ความเร็ว และมุมของการเคลื่อนไหวนั้นได้[2]
เพื่อทดสอบข้อต่อที่สะโพกและหัวเข่า ให้คนไข้นอนหงายแล้วปิดตา แล้วขยับขาของคนไข้ไปยังตำแหน่งใหม่ แล้วให้คนไข้บอกทิศทางของการเคลื่อนไหว[33]
เพื่อทดสอบไหล่และข้อศอก ให้คนไข้หลับตา แล้วเอานิ้วชี้มาวางที่ปลายจมูกของตน[33]
สามารถใช้ Roberg's test ซึ่งเป็นวิธีทดสอบการทรงตัวในการทดสอบอากัปกิริยาได้ ให้คนไข้ยืนขาชิดกันแล้วปิดตา ผลการทดสอบเป็นบวกถ้าคนไข้ยืนส่ายไปมาหรือล้มเมื่อปิดตา[34] ซึ่งอาจจะบ่งถึงรอยโรคที่ dorsal column ความบกพร่องของหูชั้นใน รอยโรคที่ซีรีเบลลัม หรือภาวะ sensory ataxia[35] ซึ่งเกิดจากรอยโรคใน dorsal column เช่นกัน[33]
เจ้าหน้าที่ตำรวจชาวอเมริกันทดสอบความมึนเมาจากสุรา โดยใช้วิธีทดสอบการรับรู้อากัปกิริยาที่เรียกว่า "การทดสอบความไม่เมาในสนาม (field sobriety test)" คือให้ผู้รับการทดสอบแตะจมูกในขณะที่ปิดตา ผู้ที่มีการรับรู้อากัปกิริยาที่เป็นปกติจะทำการไม่พลาดเกินกว่า 20 มิลลิเมตร ในขณะที่ผู้ที่มีการรับรู้อากัปกิริยาในระดับที่ลดลง (ซึ่งเป็นอาการของคนเมาสุรา) จะสอบไม่ผ่าน เพราะความยากลำบากในการกำหนดตำแหน่งของแขนขาโดยสัมพันธ์กับจมูกของตน
เพราะมีการรับรู้อากัปกิริยา เราจึงสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อจะเดินในที่มืดสนิดโดยไม่เสียการทรงตัว และในขณะที่กำลังเรียนทักษะ เรียนการเล่นกีฬา หรือเรียนวิธีการสร้างศิลปะใหม่ ๆ ปกติแล้วจะขาดความคุ้นเคยเกี่ยวกับอากัปกิริยาของร่างกายที่มีในการทำกิจกรรมนั้น ๆ ไม่ได้ ถ้าไม่มีการประสานข้อมูลเกี่ยวกับอากัปกิริยาของร่างกายที่เหมาะสม นักวาดรูปย่อมไม่สามารถป้ายสีที่ผ้าใบโดยที่ไม่แลดูมือของตนที่กำลังเคลื่อนพู่กันไปที่ส่วนต่าง ๆ ของผ้าใบได้ คนขับรถก็จะไม่สามารถขับรถ เพราะไม่สามารถมองดูพวงมาลัย ดูคันเร่ง และดูถนนหนทางที่อยู่ข้างหน้าไปพร้อม ๆ กันได้ ผู้พิมพ์คีย์บอร์ดก็จะไม่สามารถพิมพ์แบบสัมผัสโดยไม่ต้องแลดูแป้นพิมพ์ได้ นักเต้นบัลเล่ย์ก็จะไม่อาจเต้นให้งดงามได้ และคนโดยทั่ว ๆ ไปก็จะไม่สามารถแม้แต่จะเดินโดยไม่มองดูที่ที่ตนต้องวางเท้าได้
น.พ. โอลิเว่อร์ แซกส์[36] ครั้งหนึ่งได้รายงานกรณีของหญิงสาวผู้สูญเสียการรับรู้อากัปกิริยาเพราะการติดเชื้อไวรัสที่ไขสันหลัง[37] เมื่อเริ่มมีปัญหานี้ใหม่ ๆ เธอไม่สามารถแม้แต่จะเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นปกติ ไม่สามารถจะควบคุมน้ำเสียงของเธอ เพราะการควบคุมเสียงอาศัยการรับรู้อากัปกิริยา ต่อมา เธอต้องฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ ใหม่โดยใช้ตากับระบบรับรู้การทรงตัว (vestibular system) ในหูชั้นใน ในการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่มีข้อมูลจากระบบการรับรู้อากัปกิริยา และใช้หูเพื่อช่วยควบคุมน้ำเสียงของเธอ ในที่สุด เธอจึงจะสามารถทำการเคลื่อนไหวที่แข็ง ๆ และช้า ๆ และใช้คำพูดด้วยน้ำเสียงที่เกือบเป็นปกติ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นความสำเร็จผลดีที่สุดที่เป็นไปได้ในกรณีที่ขาดการรับรู้อากัปกิริยาอย่างนี้ เธอไม่สามารถแม้จะรู้ระดับกำลังที่ต้องใช้ในการหยิบจับวัถถุ ดังนั้น เธอจึงจับวัตถุต่าง ๆ เกินกำลังจนกระทั่งรู้สึกเจ็บปวด เพื่อให้แน่ใจว่า เธอจะไม่ทำวัตถุเหล่านั้นตก
การรับรู้อากัปกิริยาสามารถฝึกได้โดยหลายวิธี การโยนของสลับมือในการเล่นกล เป็นวิธีฝึกการตอบสนองให้ว่องไวขึ้น ฝึกการกำหนดตำแหน่งของอวัยวะในปริภูมิ และฝึกการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพไม่สิ้นเปลืองความพยายาม[ต้องการอ้างอิง] ส่วนการใช้กระดานทรงตัว[38]สามารถฟื้นฟูหรือเพิ่มความสามารถในการรับรู้อากัปกิริยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยเป็นวิธีฟื้นฟูบำบัดความบาดเจ็บที่ข้อเท้าหรือเข่า ส่วนการยืนบนขาเดียว หรือวิธีดัดกายอย่างอื่น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของกายบริหารแบบโยคะ หวิงชุน และไท่เก็ก ที่สามารถใช้พัฒนาการรับรู้อากัปกิริยาเช่นเดียวกัน[39]
งานวิจัยหลายงานแสดงว่า การดัดกายเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถ้าปิดตาทำ[ต้องการอ้างอิง] เพราะว่า ข้อมูลจากตาเป็นข้อมูลป้อนกลับสำคัญที่ใช้ในการทรงตัว (และดังนั้น เมื่อปิดตาจึงต้องอาศัยการรับรู้อากัปกิริยามากขึ้นในการทรงตัว)
มีอุปกรณ์อย่างอื่นที่ใช้เพิ่มการรับรู้อากัปกิริยาโดยเฉพาะ เช่นลูกบอลเพื่อออกกำลังกาย[40] ซึ่งช่วยการทรงตัวและบริหารกล้ามเนื้อท้องและหลัง
การสูญเสียหรือความบกพร่องของการรับรู้อากัปกิริยาแบบชั่วคราว อาจจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในช่วงพัฒนาการ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น การเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่อาจจะมีผลต่อความบกพร่องของการรับรู้อากัปกิริยา คือ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วของน้ำหนักตัวหรือขนาดตัว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นลดลงอย่างรวดเร็วของไขมัน เช่นโดยการดูดไขมันออกเป็นต้น และ/หรือ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วของกล้ามเนื้อ เพราะการเพาะกาย การใช้อะนาบอลิกสเตอรอยด์ และความอดอยากเป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีความอ่อนตัว (flexibility) ความยืดหยุ่นได้ (stretching) และความบิดตัวได้ (contortion) ที่สูงขึ้น อวัยวะที่สามารถเคลื่อนไหวได้ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือว่าไม่สามารถทำได้หลังจากวัยเด็ก อาจจะทำความสับสนให้กับความรู้สึกเกี่ยวกับตำแหน่งของอวัยวะต่าง ๆ อาการที่จะเกิดขึ้นได้แก่ เกิดความรู้สึกอย่างเฉียบพลันว่า เท้าหรือขาของตนหายไป เกิดความจำเป็นในการดูแขนขาของตนเพื่อจะให้แน่ใจว่ายังอยู่ และมีการหกล้มในขณะที่เดินโดยเฉพาะเมื่อกำลังใส่ใจในสิ่งอื่นนอกจากการเดิน
การรับรู้อากัปกิริยาบางครั้งอาจมีความบกพร่องขึ้นมาเฉย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเหนื่อย กายของตนอาจจะรู้สึกใหญ่เกินหรือเล็กเกิน หรืออวัยวะบางส่วนอาจจะเหมือนกับมีขนาดผิดไป ปรากฏการณ์ที่คล้ายกันอาจจะเกิดขึ้นในขณะชัก หรือในขณะมีสัญญาณบอกเหตุไมเกรน (migraine auras[41]) ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้รับสันนิษฐานว่าเกิดจากการกระตุ้นแบบผิดปกติของส่วนในสมองกลีบข้าง ซึ่งมีหน้าที่ประสานข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย[42]
ยังมีเทคนิคหลอกระบบการรับรู้อากัปกิริยาอีกด้วย เช่นการหลอกด้วย Pinocchio illusion[43]
ความรู้สึกถึงการรับรู้อากัปกิริยามักจะไม่ปรากฏเพราะว่ามนุษย์โดยมากจะปรับตัวต่อตัวกระตุ้นที่มีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า "habituation (ความเคยชิน)", "desensitization (การลดความรู้สึก)", หรือ "adaptation (การปรับตัว)" ผลก็คือความรู้สึกเกี่ยวกับการรับรู้อากัปกิริยาย่อมอันตรธานไป เหมือนกับกลิ่นที่อันตรธานไปเมื่อเคยชิน จุดดีอย่างหนึ่งก็คือ กิจกรรมหรือความรู้สึกที่ไม่ได้รับการสังเกต สามารถดำเนินต่อไปเป็นเบื้องหลัง ในขณะที่บุคคลนั้นใส่ใจในเรื่องอื่น
บุคลลผู้มีการตัดแขนขาอาจจะมีความรู้สึกที่สับสนเกี่ยวกับความมีอยู่ของอวัยวะนั้น ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการหลงผิดว่าแขนขายังคงอยู่ (phantom limb syndrome) ความรู้สึกเกี่ยวกับอวัยวะแฟนตอม (คืออวัยวะที่ไม่มีแต่รู้สึกเหมือนว่ามี) อาจเกิดขึ้นเป็นความรู้สึกทางอากัปกิริยาว่า มีอยู่ โดยไม่มีการเคลื่อนไหว หรือความรู้สึกว่า มีการเคลื่อนไหว มีแรงกด มีความเจ็บปวด มีความคัน หรือความรู้สึกร้อนเย็น มีทฤษฎีหลายอย่างเกี่ยวกับสมุฏฐานของความรู้สึกและประสบการณ์อื่น ๆ เกี่ยวกับอวัยวะแฟนตอม แจ็ค เซ้า ผู้เป็นนายแพทย์ประจำ ร.พ. วอลเตอร์ รีด ในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เสนอทฤษฎีบนพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับ "ความทรงจำในการรับรู้อากัปกิริยา" (proprioceptive memory) ทฤษฎีนี้เสนอว่า สมองดำรงความทรงจำเกี่ยวกับตำแหน่งเฉพาะที่ ๆ ของอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อมีการตัดอวัยวะออก ก็จะมีข้อมูลขัดแย้งกันระหว่างระบบสายตา ซึ่งเห็นความที่อวัยวะนั้นไม่มีอยู่จริง ๆ และระบบความทรงจำซึ่งยังจำว่าอวัยวะนั้นเป็นส่วนประกอบที่ยังมีอยู่ในร่างกาย[44] ความรู้สึกและความเจ็บปวดในอวัยวะแฟนตอม อาจเกิดขึ้นหลังจากตัดอวัยวะอื่น ๆ นอกจากแขนขาในร่างกาย เช่นการตัดเต้านม การถอนฟัน (มีผลเป็นกลุ่มอาการหลงผิดว่าฟันยังคงอยู่) และการตัดตาออก (มีผลเป็นกลุ่มอาการหลงผิดว่าตายังคงอยู่)
ความบกพร่องแบบชั่วคราวของระบบรับรู้อากัปกิริยา สามารถเกิดจากการใช้วิตามิน B6 (pyridoxine และ pyridoxamine) เกินขนาด ความบกพร่องจะกลับไปสู่ภาวะปกติหลังจากที่การบริโภควิตามินกลับไปสู่ระดับปกติ นอกจากนั้น ความบกพร่องอาจเกิดขึ้นเพราะเกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxicity) เช่นเพราะเคมีบำบัด (การให้คีโม)
มีการเสนอว่า แม้อาการมีเสียงในหู (tinnitus) และการไม่ได้ยินเสียงในความถี่บางระดับ ก็อาจจะก่อให้เกิดข้อมูลอากัปกิริยาที่ผิดพลาด ซึ่งเมื่อศูนย์สมองที่ประมวลผลได้รับแล้ว อาจจะก่อให้เกิดความสับสนอย่างอ่อน ๆ
การรับรู้อากัปกิริยาอาจจะมีความเสียหายอย่างถาวรในคนไข้ที่มีโรคเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวข้อต่อเกินขนาด หรือ Ehlers-Danlos Syndrome ซึ่งเป็นโรคพันธุกรรมมีผลให้เนื้อเยื่อยึดต่อ (connective tissue) ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่แข็งแรง[45] หรืออาจจะเกิดขึ้นเพราะการติดเชื้อไวรัสดังที่รายงานโดย น.พ. แซกส์[36] (ดูด้านบน) ส่วนผลของการสูญเสียการรับรู้อากัปกิริยาที่มีความเสียหายอย่างร้ายแรงได้รับการตรวจสอบโดย โรเบรส์-เดอ-ลา-ทอร์ ในปี ค.ศ. 2006[46]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.