ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น (ญี่ปุ่น: スーパーロボット大戦, ซูปาโรบ็อตโตะไทเซ็น; อังกฤษ: Super Robot Wars) หรือในชื่อย่อว่า SRW เป็นตระกูลเกมซิมูเลชันอาร์พีจี (วางแผนการรบ + พัฒนาตัวละคร) พัฒนาโดยบริษัทแบนเพรสโต ออกวางจำหน่ายในรูปแบบเกมสำหรับเครื่องเล่นเกมแทบทุกชนิด เช่น แฟมิคอม, ซูเปอร์แฟมิคอม, เกมบอย, เพลย์สเตชัน, เกมบอยแอดวานซ์ ฯลฯ เป็นการจับเอาตัวละครและหุ่นจากอนิเมะแนวหุ่นยนต์ยอดฮิตหลายๆ เรื่องมายำรวมกัน และร้อยเรียงเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่ให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน โดยในเกมจะมีการแบ่งประเภทหุ่นออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ซูเปอร์โรบ็อต และ เรียลโรบ็อต ซึ่งหุ่นทั้ง 2 ประเภท ต่างก็มีจุดเด่นและประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมกันไปคนละแบบ ให้ผู้เล่นสามารถเลือกใช้ได้ตามแต่สถานการณ์และความถนัดของตนเอง

Thumb
ภาพปกเกม ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ภาคอัลฟาไกเด็น สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน

อย่างไรก็ตาม แม้ในข้างต้นจะบอกว่าเกมซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น จะนำตัวละครและหุ่นจากอนิเมะแนวหุ่นยนต์หลายเรื่องมาใช้ แต่ปัจจุบัน ตัวละครจากอนิเมะที่ไม่ใช่แนวหุ่นยนต์อย่าง เทคก้าแมนเบลด กับ เบ็ตเตอร์แมน รวมไปถึง มังงะ และ เกม อย่าง ครอสโบนกันดั้ม และ เวอร์ชวลออน ก็ได้มามีบทบาทอยู่ในเกมด้วยแล้วเช่นกัน

รูปแบบเกม

เกมในตระกูลส่วนใหญ่มีรูปแบบคล้ายๆ กัน กล่าวคือ ตอนเริ่มเกมผู้เล่นสามารถเลือกตัวละครเอกของเกม (อย่างไรก็ดีบางเกมผู้เล่นไม่สามารถเลือกตัวละคร) ซึ่งตัวละครนี้มักเป็นตัวละครที่บันเพรสโตสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับเกมนั้นๆ ไม่ได้มาจากอนิเมะเหมือนตัวละครส่วนใหญ่ เนื้อเรื่องของเกมนำเอาเนื้อเรื่องของอนิเมะแนวหุ่นยนต์ต่างๆ มาผสมผสาน โดยมีเรื่องราวการต่อสู้ของตัวละครเอก และกองทัพใหญ่ๆ หนึ่งหรือหลายฝ่าย เป็นตัวรวมเนื้อเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ใน ซูเปอร์โรบอตไทเซ็น อัลฟา กองทัพไวท์แฟงจากกันดั้มวิงรวมตัวกับกองทัพกบฏจากเซต้ากันดั้มเป็นกองทัพศัตรูขนาดใหญ่ เป็นต้น

เกมทุกเกมถูกแบ่งออกเป็นด่านๆ ตอนเริ่มต้นด่านจะมีการแสดงบทสนทนาระหว่างตัวละครเป็นการดำเนินเรื่อง หลังจากนั้นการต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์จึงเริ่มขึ้น เกมแบ่งออกเป็นตาๆ ในแต่ละตา ผู้เล่นควบคุมหุ่นยนต์ของฝั่งตนทีละตัวๆ ให้ไปโจมตีหุ่นยนต์ฝั่งตรงข้ามผ่านทางเมนู โดยสามารถบังคับให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังจุดที่ตนเองต้องการ เลือกเป้าโจมตี เลือกอาวุธหรือท่าไม้ตายที่จะใช้โจมตี นอกจากนี้ยังมีคำสั่งพิเศษที่เรียกว่า เซชิน (精神; แปลตรงตัวว่า "จิต") ที่ผู้เล่นสามารถใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการโจมตี การรับการโจมตี หรือการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ได้ เมื่อสั่งการหุ่นทุกตัวเสร็จแล้ว ผู้เล่นสามารถเลือกเมนูเพื่อจบการเล่นในตานั้น เป็นการส่งสัญญาณหุ่นยนต์ฝ่ายตรงข้ามซึ่งควบคุมโดยซอฟต์แวร์เกมโจมตีบ้าง ตาจบเมื่อการโจมตีของหุ่นยนต์ฝ่ายตรงข้ามเสร็จสิ้น การต่อสู้ในด่านหนึ่งๆ จะจบลงเมื่อผู้เล่นบรรลุจุดประสงค์ของด่านนั้นๆ ซึ่งจุดประสงค์ส่วนใหญ่มักจะเป็นการทำลายหุ่นยนต์ของฝ่ายตรงข้าม หรือการเคลื่อนพลหุ่นยนต์ฝ่ายของตนไปยังบริเวณหนึ่งบนสนามรบ หลายๆ เกมมีจุดประสงค์เพิ่มเติมซึ่งบรรลุได้ยากขึ้น แต่ถ้าทำได้จะได้รับคะแนนทักษะการรบ (熟練度 จุคุเร็นโดะ) ซึ่งถ้าสะสมได้มากพอจะมีด่านพิเศษให้เล่น หลังจากการต่อสู้จะมีบทสนทนาของตัวละครอีกรอบ เมื่ออ่านจบแล้วผู้เล่นจะสามารถปรับแต่งหุ่นยนต์และอาวุธ เปลี่ยนตัวละครที่บังคับหุ่นยนต์ต่างๆ เพิ่มคุณสมบัติของตัวละคร และบันทึกการเล่นเกม ก่อนที่จะเริ่มด่านต่อไป

นอกเหนือจากคำลั่งพื้นฐาน เช่น เคลื่อนที่ โจมตี ใช้เซชิน หุ่นยนต์บางตัวมีคำสั่งพิเศษซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัว เช่น MSZ-006 เซต้ากันดั้ม สามารถแปลงร่างเป็นเครื่องบินได้(เวฟไรเดอร์) และหุ่นยนต์ อาร์-1 อาร์-2 และอาร์-3 จาก ซูเปอร์โรบอตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชัน สามารถรวมร่างเป็นหุ่นยนต์ยักษ์เอสอาร์เอ็กซ์ เป็นต้น

สนามรบถูกแบ่งออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละช่องสามารถจุหุ่นยนต์ได้หนึ่งตัว (หรือหนึ่งกลุ่มในเกมภาคหลังๆ) โดยแต่ละช่องจะมีสมบัติซึ่งส่งผลกระทบต่อหุ่นยนต์ที่อยู่ในช่องนั้นต่างๆ กันไป เช่น ความน่าจะเป็นที่หุ่นยนต์ในช่องที่เป็นป่าจะถูกยิงจะน้อยกว่าหุ่นยนต์ที่อยู่ในที่โล่ง, หุ่นยนต์กันดั้มไม่สามารถยิงปืนเลเซอร์หากมันอยู่ในช่องที่เป็นน้ำ, มาชินก้าแซดไม่สามารถใช้ท่ารัสต์เฮอริเคน ซึ่งเป็นการโจมตีด้วยลม ในอวกาศได้

เกมในตระกูลส่วนใหญ่นำเนื้อเรื่องมาจากอนิเมะหุ่นยนต์ที่นำมาใช้โดตรง ด้วยเหตุนี้เหตุการณ์ของด่านหลายๆ ด่านจึงสอดคล้องกับเนื้อเรื่องของอนิเมะนั้นๆ เช่น ด่านหนึ่งของ ซูเปอร์โรบอตไทเซ็น อัลฟา 3 มีฉากเป็นการต่อสู้ที่ยาคินดูเอะจากเรื่องกันดั้มซี้ด โดยผู้เล่นต้องบังคับหุ่นยนต์ไปต่อสู้กกับโพรวิเดนซ์กันดั้มซึ่งควบคุมโดย ราอูล เลอ ครูเซ เป็นต้น ในบางเกมเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ในบางเกมเหตุการณ์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เล่นได้ทำตามเงื่อนไขบางอย่าง โดยทั่วไปแล้วเกมเกือบทุกเกมจะมีเนื่อเรื่องให้เลือกเล่นอย่างน้อยสองแบบ ซึ่งเกิดจากกองทัพของฝั่งผู้เล่นแบ่งออกเป็นสองทีมเพื่อไปต่อสู้กับศัตรูคนละที่กัน โดยผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะติดตามทีมไหน

หากหุ่นยนต์ตัวหนึ่งของผู้เล่นถูกทำลายในด่านๆ หนึ่ง ในด่านต่อไปนักบินยังมีชีวิตและหุ่นยนต์จะถูกซ่อมแซมและสามารถนำไปเล่นได้ตามปกติ หุ่นยนต์จะถูกทำลายหรือตัวละครจะตายก็ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง และหลายครั้งผู้เล่นยังสามารถเลือกที่จะช่วยชีวิตตัวละครที่ต้องตายตามเนื้อเรื่องได้โดยทำตามเงื่อนไขบางอย่าง นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถชักชวนให้ศัตรูบางคนเข้ามาเป็นพวก ทำให้ผู้เล่นสามารถสร้างกองทัพที่ไม่ปรากฏในอนิเมะต้นฉบับได้

เกมในตระกูลมีหุ่นยนต์พิเศษซึ่งผู้เล่นสามารถนำเข้ามาเสริมกองทัพของตนได้หากทำตามเงื่อนไขที่เกมกำหนด เงื่อนไขดังกล่าวมักเกี่ยวกับการดำเนินเรื่องตามเนื้อเรื่องของอนิเมะต้นฉบับอย่างเคร่งครัด การพยายามชักชวนศัตรูบางคนหลายๆ ครั้ง การเอาชนะหุ่นยนต์ศัตรูบางตัวดัวยหุ่นยนต์ตัวหนึ่งๆ ฯลฯ หุ่นยนต์พิเศษเหล่านี้มักเป็นหุ่นยนต์ของศัตรูที่ฝ่ายของผู้เล่นนำมาใช้ แต่บางครั้งก็เป็นหุ่นยนต์ใหม่ที่ไม่ปรากฏในอนิเมะใดๆ เลย

ตั้งแต่ภาคซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 4 เป็นต้นมา เกมในตระกูลนี้หลายๆภาคจะมีฐานข้อมูลของตัวละครและยูนิตทั้งหมดในเกมมาให้ด้วย ซึ่งข้อมูลในฐานข้อมูลจะอ้างอิงจากเนื้อเรื่องเดิมของตัวละครหรือยูนิตนั้นไม่ว่าเนื้อเรื่องจะถูกเปลี่ยนแปลงในเกมอย่างไร โดยทั่วไปแล้วผู้เล่นจะสามารถดูรายละเอียดของฐานข้อมูลได้เฉพาะตัวละครหรือยูนิตที่ได้พบเข้าระหว่างเล่นไปแล้วเท่านั้น

หุ่นยนต์

หุ่นยนต์ในเกมซุปเปอร์โรบอตไทเซ็นแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ ซูเปอร์โรบ็อต และเรียลโรบ็อต ซูเปอร์โรบ็อตคือหุ่นยนต์ที่มีพลังชีวิตสูง สามารถรับการโจมตีได้หลายๆ ครั้ง แต่ขาดความว่องไวทำให้โดนโจมตีบ่อยๆ ซูเปอร์โรบ็อตมีอาวุธหรือท่าไม้ตายสำหรับโจมตีระยะใกล้ที่มีพลังทำลายสูง แต่ความแม่นยำต่ำ ตัวอย่างหุ่นยนต์ซูเปอร์โรบ็อต ได้แก่ มาชินก้าแซด เก็ตเตอร์โรโบ เป็นต้น เรียลโรบ็อตเป็นหุ่นยนต์ที่มีความว่องไว สามารถหลบการโจมตีของคู่ต่อสู้ได้บ่อยกว่าซูเปอร์โรบ็อต แต่มีพลังชีวิตน้อยและพลังป้องกันต่ำ จึงถูกทำลายได้ง่ายโดยการโจมตีเพียงไม่กี่ครั้ง อาวุธของเรียลโรบ็อตส่วนใหญ่เป็นอาวุธระยะไกลซึ่งมีความแม่นยำสูง แต่พลังโจมตีต่ำ ทำให้ต้องโจมตีศัตรูหลายครั้งก่อนจะเอาชนะได้ ตัวอย่างเรียลโรบ็อต ได้แก่ หุ่นยนต์กันดั้มเกือบทั้งหมด และวาลคิรีจากเรื่องมาครอส เป็นต้น อย่างไรก็ดีหุ่นยนต์บางตัวก็มีลักษณะไม่เป็นไปตามกฎข้างต้น เช่น ไรดีนเป็นซูเปอร์โรบ็อตที่อาวุธส่วนใหญ่เป็นอาวุธระยะไกล และดันไบน์เป็นเรียลโรบ็อตที่ถนัดการต่อสู้ระยะประชิตตัว

หุ่นยนต์ส่วนใหญ่สามารถโจมตีหุ่นยนต์ได้เพียงหนึ่งตัวต่อการโจมตีหนึ่งครั้ง แต่หุ่นยนต์บางตัวมีอาวุธที่สามารถโจมตีหุ่นยนต์ทั้งหมดในบริเวณบริเวณหนึ่งของแผนที่ได้(อาวุธMap) เช่น ไฮเมก้าแคนน่อนของดับเบิ้ลเซต้ากันดั้ม อย่างไรก็ดีอาวุธเหล่านี้จะไม่ทรงพลังเท่าอาวุธธรรมดา ในเกมใหม่ๆ ยังมีอาวุธที่ไม่เน้นทำลายพลังชีวิตของศัตรู แต่ทำให้ศัตรูอ่อนแอลงในทางอื่น เช่น ลดพลังป้องกัน ลดพลังงาน หรือทำให้ศัตรูเคลื่อนที่ไม่ได้ เป็น

หุ่นยนต์บางตัวทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนการรบมีหน้าที่เติมพลังชีวิตและพลังงานให้หุ่นยนต์ตัวอื่นๆ หุ่นยนต์เหล่านี้มักจะเป็นคู่หูของหุ่นยนต์ตัวเอกในอนิเมะเรื่องต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น อะโฟรไดท์เอ และบอสโบรอท จากมาชินก้าแซด, เมธัส จากเซต้ากันดั้ม, และกินเรโรโบ จากไจแอนท์โรโบ นอกจากนี้ หุ่นยนต์ของพระเอกจากเรื่อง มาครอส 7 ยังสามารถเล่นดนตรี ซึ่งช่วยให้หุ่นยนต์ในฝั่งเดียวกันโจมตีมีประสิทธิภาขึ้นอีกด้วย

ในเกมยังมียานรบขนาดใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่ขนส่งและเติมพลังให้หุ่นยนต์ หุ่นยนต์ที่อยู่ใกล้ยานรบจะหลบการโจมตีได้ดีขึ้นและโจมตีได้แม่นยำขึ้น ตัวอย่างยานรบที่ปรากฏในเกม ได้แก่ ไวท์เบส จาก โมบิลสูทกันดั้ม, ราไคลัม จาก ชาร์ เคาน์เตอร์แอทแทค, เอสดีเอฟ-1 และ มาครอส จาก มาครอส, และเอ็กซ์เซลเลียน จาก กันบัสเตอร์

หุ่นยนต์จะทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อได้นักบินที่เหมาะสม เนื่องจากนักบินแต่ละคนมีระดับความเชี่ยวชาญในการโจมตีระยะใกล้ ระยะไกล และมีความสามารถในการหลบการโจมตีเฉพาะตัว นักบินบางคนยังมีทักษะพิเศษซึ่งทำให้เขาสามารถใช้ท่าไม้ตายของหุ่นยนต์บางตัวที่นักบินคนอื่นไม่สามารถใช้ได้ เช่น นักบินจากเรื่องกันดั้มที่เป็นนิวไทป์เท่านั้นที่สามารถใช้ฟันเนลของหุ่นยนต์ในตระกูลกันดั้มได้ เป็นต้น

ความนิยม

เกมซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็นส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อธุรกิจแอนิเมชัน โดยทำให้ผู้เล่นหลายคนสนใจอนิเมะหุ่นยนต์ที่เห็นในเกมเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ แบนเพรสโตยังได้ออกเกม ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชัน ซึ่งนำเอาแบนเพรสโตออริจินัลสำหรับเกมซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็นภาคต่างๆ มารวมไว้ในหนึ่งเกม ออริจินัลเจเนเรชันได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง และสามารถสร้างกลุ่มผู้ติดตามขนาดใหญ่ของหุ่นยนต์ดังกล่าว

เพลงที่ใช้ในซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็นยังได้รับความนิยมมาก กลุ่มนักตนตรีชื่อ แจมโปรเจกต์ (JAM Project) ซึ่งประกอบด้วยนักดนตรีแนวอนิเมะที่มีชื่อเสียงหลายคน เป็นผู้สร้างเพลงเปิดและเพลงปิดสำหรับเกมซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็นหลายเกม นอกจากนี้ยังมีคอนเซิร์ต ซูเปอร์โรบ็อตสปิริตส์ ซึ่งนักร้องเพลงอนิเมะมาขับร้องเพลงเปิดของอนิเมะหุ่นยนต์ต่างๆ

นอกจากนี้มีอนิเมะหลายเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นจากตัวละครหรือหุ่นยนต์ในเกม ยกตัวอย่างเช่น เก็ตเตอร์โรโบ อาร์มาเกดดอน, ชินเก็ตเตอร์โรโบ ปะทะ นีโอเก็ตเตอร์โรโบ, และมาชินไคเซอร์ ชินเก็ตเตอร์โรโบปรากฏตัวครั้งแรกใน ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 4 ภายหลังถูกรวมเข้ากับเรื่องราวในมังงะโดย เค็น อิชิคาวะ นักเขียนการ์ตูนผู้สร้างเก็ตเตอร์โรโบ มาชินไคเซอร์ปรากฏตัวครั้งแรกใน ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น เอฟ ในปี พ.ศ. 2540 โดยเป็นหุ่นยนต์ตัวที่สองของ โคจิ คาบุโตะ นักบินของมาชินก้าแซด โก นากาอิ ผู้วาดมาชินก้าแซดได้รวมมาชินไคเซอร์เข้าในมังงะในฐานะหุ่นต้นแบบของมาชีนก้าแซด อนิเมะเรื่อง มาโซคิชินไซบัสเตอร์ นำเอาหุ่นยนต์ไซบัสเตอร์ ซึ่งปรากฏตัวเป็นครั้งแรกใน ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 2 มาสร้างเป็นอนิเมะความยาว 26 ตอน โดยมีตัวละครซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนของ มาซากิ อันโด นักบินของไซบัสเตอร์ในเกม นอกจากนี้ยังมีมังงะเรื่อง โจคิชิน ริวโคเด็นคิ ซึ่งเล่าความเป็นมาของหุ่นยนต์ริวโคโอและโคริวโอ ใน ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น อัลฟา 2 และซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชัน 2

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 แบนเพรสโตออกโอวีเอเรื่อง ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชัน: ดิ แอนิเมชัน ซึ่งเล่าเรื่องราวภาพหลังเกมซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชัน 2 และภายหลังได้ออกภาพยนตร์การ์ตูนโทรทัศน์ชุด ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชัน: ดีไวน์วอร์ส ซึ่งเล่าเรื่องของเกมออริจินัลเจเนเรชันภาคแรก

เกมภาคต่างๆ

  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 2 สำหรับเครื่องแฟมิคอม จำหน่ายเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เป็นเกมแรกที่ผู้เล่นสามารถชักชวนศัตรูมาเป็นพวกได้ และเป็นเกมแรกที่มีหุ่นยนต์และตัวละครที่แบนเพรสโตสร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับแกม คือ ไซบัสเตอร์ ขับโดย มาซากิ อันโด อนิเมะที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ หุ่นยนต์ยูเอฟโอ เกรนไดเซอร์
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 3 สำหรับเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม จำหน่ายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 เป็นเกมแรกที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นเกมแรกที่ฉายฉากหลังเวลาหุ่นยนต์ต่อสู้กัน และอนุญาตให้ผู้เล่นสามารถปรับแต่งหุ่นได้ นอกจากนี้ยังเป็นเกมแรกที่ใช้หุ่นยนต์นอกเหนือจากกันดั้ม และหุ่นยนต์จากไดนามิกโปรดักชันส์ อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ ไรดีน, คอมแบตเทลอร์ วี, ไดทาร์น 3, โมบิลสูทกันดั้ม 0080: สงครามฉบับกระเป๋า
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น อีเอ็กซ์ สำหรับเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม จำหน่ายเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2537 เป็นเกมแรกที่เนื้อเรื่องเน้นหุ่นยนต์และตัวละครของแบนเพรสโตเอง และเป็นเกมแรกที่ผู้เล่นสามารถปรับแต่งอาวุธของหุ่นยนต์ได้ เกมนี้มีจุดเด่นคือลำดับที่ผู้เล่นเลือกเล่นด่านต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อเนื้อเรื่องในเกม อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ ดันไบน์, โกโชกุน
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 4 สำหรับเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม จำหน่ายเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2538 เป็นเกมแรกที่ตัวละครเอกของเกมเป็นตัวละครของแบนเพรสโต ่มีเนื้อเรื่องแยกเป็นแบบเน้นซูเปอร์โรบ็อตและแบบเน้นเรียลโรบ็อต มีอุปกรณ์ที่ผู้เล่นสามารถนำไปติดตั้งเพื่อเพิ่มสมรรถนะให้กับหุ่นต์ มีของซ่อนอยู่ในด่านซึ่งสามารถเก็บได้โดยนำหุ่นยนต์ไปยืนบนช่องที่กำหนด นอกจากนี้ยังเป็นเกมแรกที่ผู้เล่นสามารถกำหนดวิธีการรับการโจมตีของศัตรูได้ด้วยตัวเอง อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ ชินเก็ตเตอร์โรโบ, ดันคูการ์, กันดั้มเซนทิเนล, แอล-ไกม์, แซมบอท 3
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 2 จี สำหรับเครื่องเกมบอย จำหน่ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2538 นำเอาซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 2 มาสร้างใหม่ โดยทำให้อินเตอร์เฟสเหมือนกับของซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 4 อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ โมบิลสูทวีกันดั้ม และโมบิลไฟเตอร์จีกันดั้ม
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 4 สกรัมเบิล สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน จำหน่ายเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2539 นำซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 4 มาสร้างใหม่ เป็นเกมแรกที่มีเสียงพากย์และภาพยนตร์แอนิเมชัน
  • มาโซคิชิน เดอะลอร์ดออฟดิเอเลเมนท้ล สำหรับเครื่องซูเปอร์ฟามิคอม จำหน่ายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2539 เป็นเกมแรกที่ใช้แต่หุ่นยนต์และตัวละครของแบนเพรสโตเอง และเป็นเกมแรกที่หุ่นยนต์ถูกวาดด้วยสัดส่วนจริง ไม่อยู่ในรูปแบบซูเปอร์ดีฟอร์ม(SD)เหมือนเกมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นเกมเดียวที่ทิศทางและเพดานบินของหุ่นยนต์มีผลต่อการโจมตีและการป้องกันการโจมตี
  • ชินซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน จำหน่ายเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2539 เป็นอีกเกมหนึ่งที่หุ่นยนต์ถูกวาดด้วยสัดส่วนจริง อนิเมะที่ถูกใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ เอสพีทีเลย์สเนอร์, โวลเทส วี, ไกคิง, ไทเดอร์ จีเซเว่น, และกันดั้มวิง
  • ซูเปอร์โรบ็อตสปิริตส์ สำหรับเครื่องนินเทนโด 64 จำหน่ายเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม, พ.ศ. 2540 เป็นเกมต่อสู้ที่มีตัวละครเป็นหุ่นยนต์จากซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น เอฟ ไฟนอล สำหรับเครื่องเซก้าแซทเทิร์นและเครื่องเพลย์สเตชัน สำหรับเครื่องเซก้าแซทเทิร์นจำหน่ายเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2541 สำหรับเครื่องเพลย์สเตชันจำหน่ายเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2542 เป็นภาคต่อของซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น เอฟ อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ มาชินไคเซอร์, กันบัสเตอร์, โมบิลสูทกันดั้มวิง: เอ็นด์เลสวอลทซ์, อีเดียน
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น คอมแพ็กต์ สำหรับเครื่องวันเดอร์สวอนและวันเดอร์สวอนคัลเลอร์ สำหรับเครื่องวันเดอร์สวอนจำหน่ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2542 สำหรับเครื่องวันเดอร์สวอนคัลเลอร์จำหน่ายเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2544
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น คอมพลีตบอกซ์ สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน จำหน่ายเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2542 นำเอาซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 2, 3, และอีเอ็กซ์ มาสร้างใหม่โดยใช้ระบบคล้ายกับภาคเอฟ มีระบบให้ผู้เล่นสองคนเล่นแข่งกันได้ และมีแผ่นซีดีบรรจุเสียงพากย์และภายนตร์แอนิเมชันในเกมเป็นของแถม
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 64 สำหรับเครื่องนินเทนโด 64 จำหน่ายเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2542 หุ่นยนต์เป็นภาพสองมิติ แต่ฉากเป็นภาพสามมิติ บันทึกเกมภาพลิงก์แบตเทลอร์ที่เล่นจบแล้วสามารถนำมาใช้เปิดหุ่นยนต์พิเศษในเกมนี้ได้ เกมนี้เป็นเกมแรกที่มีการโจมตีผสานของหุ่นยนต์มากกว่าหนึ่งตัวเข้าด้วยกัน อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ ไจแอนท์โรโบ และก็อดมาร์ส
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น คอมแพ็กต์ 2: บทจิโจเกคิโด สำหรับเครื่องวันเดอร์สวอน จำหน่ายเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2543 อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ ดันไกโอ และนินจาอวกาศโทบิคาเกะ
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น อัลฟา สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน เป็นเกมแรกที่มีระบบคะแนนทักษะการรบและมีแอนิเมชันการโจมตี อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ ดิเอ็นด์ออฟอีวานเกเลียน, โมบิลสูทกันดั้ม เอฟ 90, มาครอส, มาครอส: เธอจำความรักได้ไหม, และมาครอสพลัส
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น คอมแพ็กต์ 2: บทอุจูเกคิชิน สำหรับเครื่องวันเดอร์สวอน จำหน่ายเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2543 อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ แมชชีนโรโบ
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น คอมแพ็กต์ 2: บทกิงกะเค็สเซ็น สำหรับเครื่องวันเดอร์สวอน จำหน่ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2544
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ดีซี สำหรับเครื่องเซก้าดรีมแคสต์ จำหน่ายเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2544 นำซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น อัลฟา มาสร้างใหม่ โดยเพิ่มแอนิเมชันสามมิติและทำให้ด่านหลายๆ ด่านยากขึ้น อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ จีเบรกเกอร์
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น แอดวานซ์ สำหรับเครื่องเกมบอยแอดวานซ์ จำหน่ายเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2544 เป็นเกมแรกที่ผู้เล่นสามารถเลือกหุ่นยนต์ให้ตัวเอกของเรื่องโดยไม่มีผลกระทบต่อเนื้อเรื่อง อนิเมะที่ใช้เป็นเรื่องแรก ได้แก่ ดราโกนาร์, ยานรบตะลุยจักวาล นาเดชิโกะ
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น อิมแพกต์ สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 จำหน่ายเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2545 นำเอาซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น คอมแพ็กต์ 2 ทั้งสามบทมาสร้างใหม่
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น รีเวอร์ซอล สำหรับเครื่องเกมบอยแอดวานซ์ จำหน่ายเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2545 อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ เกียร์ไฟเตอร์เด็นโด, ชินเก็ตเตอร์โรโบปะทะนีโอเก็ตเตอร์โรโบ, และอุจูเซ็นคันนาเดชิโกะ: เดอะพรินซ์ออฟดาร์กเนส
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชัน สำหรับเครื่องเกมบอยแอดวานซ์ จำหน่ายเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 เป็นเกมสำหรับเครื่องเล่นเกมมือถือเกมแรกที่มีแอนิเมชันการโจมตีและมีระบบการติดตั้งอุปกรณ์ให้กันหุ่นยนต์ นอกจากนี้ยังเป็นเกมแรกที่วางจำหน่ายนอกประเทศญี่ปุ่น (จำหน่ายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2549) หุ่นยนต์และตัวละครในเรื่องเป็นหุ่นยนต์และตัวละครที่แบนเพรสโตสร้างเองทั้งหมด
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น อัลฟา 2 สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 จำหน่ายเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2546 เป็นเกมแรกที่ใช้ระบบทีม ซึ่งอนุญาตให้ผู้เล่นสร้างทีมหุ่นยนต์ ทีมละไม่เกิน 4 ตัว ซึ่งสามารถสู้รบพร้อมๆ กันได้ อนิเมะและมังงะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ เบรนเพาเวอร์ด ครอสโบนกันดั้ม สตีลจีค และกาโอไกการ์
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น คอมแพ็กต์ 3 สำหรับเครื่องวันเดอร์สวอน จำหน่ายเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2546 อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ อโครบันช์ เบ็ตเตอร์แมน วิชันออฟเอสคาโฟลว์น และเมคันเดอร์โรโบ
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น สกรัมเบิลคอมมานเดอร์ สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 จำหน่ายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 เป็นเกมวางแผนการรบแบบเรียลไทม์ หุ่นยนต์อยู่ในรูปแบบสามมิติสมส่วน
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น เอ็มเอ็กซ์ สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 จำหน่ายเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 เป็นเกมแรกที่มีระบบการ์ตูนเรื่องโปรด (Favourite Series system) ซึ่งทำให้หุ่นยนต์ในการ์ตูนที่ผู้เล่นเลือกได้รับคะแนนประสบการณ์สูงกว่าและสามารปรับแต่งได้มากกว่าเรื่องอื่น อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ ซีโอไรเมอร์ และราเซฟอน
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น จีซี สำหรับเครื่องเกมคิวบ์ จำหน่ายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2547 นำซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น อัลฟา มาสร้างใหม่ โดยเพิ่มแอนิเมชันสามมิติ เป็นเกมแรกที่ผู้เล่นสามารถเลือกโจมตีหัว แขน ขา หรือตัวของหุ่นยนต์ศัตรู และสามารถเก็บหุ่นยนต์ศัตรูมาขายหรือมาใช้ได้ อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ บาซิงเกอร์, ซาซุไรเกอร์, ไดโอจา, มาชินไคเซอร์ โอวีเอ, และไรจินโอ
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น เอ็กซ์โอ สำหรับเครื่องเอ็กซ์บ็อกซ์ 360 จำหน่ายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 นำเอาซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น จีซี มาสร้างใหม่ เป็นเกมแรกที่ผู้เล่นสามารถเล่นผ่านอินเทอร์เน็ตได้
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชันส์ สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 จำหน่ายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 นำเอาซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชัน สำหรับเครื่องเกมบอยแอดวานซ์ทั้งสองภาคมาสร้างใหม่
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ไอ สำหรับโทรศัพท์มือถือโฟมา ขณะนี้กำลังพัฒนาอยู่ นำเอาซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น แอ็ดวานซ์ มาสร้างใหม่
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น สกรัมเบิลเกเธอร์ เป็นเกมการ์ดที่มีการ์ดหุ่นยนต์จากซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น 4 ถึงอัลฟาไกเด็น
  • มุเก็น โนะ ฟรอนเทียร์ ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น ออริจินัลเจเนเรชัน ซากา สำหรับเครื่องนินเทนโด ดีเอส จำหน่ายเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 มีความแตกต่างจากภาคที่ผ่านๆ มา เนื่องจากรูปแบบของเกมเป็นแนวอาร์พีจี โดยใช้ตัวละครที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวละครในชุดออริจินัลเจเนเรชัน และมีตัวละครจากเกมNamco × Capcomกับซีโนซาก้าปรากฏตัวด้วย
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น แซด สำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 จำหน่ายเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551 และเป็นเกมแรกที่จัดจำหน่ายในชื่อแนมโค-บันไดแทนแบนเพรสโต อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ ซูเปอร์ดิเมนชันเซนจูรี ออกัส, กราเวียน, กราเวียน ซไว, อควอเรียน, ยูเรก้าเซเวน, โอเวอร์แมน คิงไกเนอร์, บัลดิออส และ ก็อดซิกมา
  • ซูเปอร์โรบ็อต กัคคุเอ็น สำหรับเครื่องนินเทนโด ดีเอส เป็นภาคที่เปลี่ยนเนื้อหาเป็นชีวิตในโรงเรียนและเป็นเกมผจญภัย ลักษณะการเล่นที่เปิดเผยแล้วมีลักษณะคล้ายกับภาคลิงก์แบทเลอร์
  • ซูเปอร์โรบ็อตไทเซ็น เนโอ สำหรับเครื่องนินเทนโด วี เป็นภาคที่ใช้3Dอีกครั้ง โดยมีระบบฉากแบบใหม่เปลี่ยนจากการเดินเป็นตารางหมากรุก เป็นการเดินอย่างอิสระในรัศมีที่กำหนด ซึ่งรวมไปถึงการโจมตีด้วย ภาคนี้ขนาดตัวของหุ่นยนต์มีผลอย่างมาก และมีการล้มกรอบศัตรูเพื่อเพิ่มความแม่นยำและพลังโจมตี อนิเมะที่ใช้เป็นครั้งแรก ได้แก่ เทพสมิงไรก้า, ผู้กล้ารามูเนส, ริวไนท์, ไออ้อนลีคเกอร์, กัมบารูเกอร์, โกซาวเรอร์, ไดเทโอ, ชินนิวเกตเตอร์

แหล่งข้อมูลอื่น

Wikiwand in your browser!

Seamless Wikipedia browsing. On steroids.

Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.

Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.