Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาการแสบร้อนกลางอก[1] (อังกฤษ: heartburn, cardialgia) เป็นความรู้สึกแสบร้อนตรงกลางหน้าอกหรือตรงยอดอก (epigastrium)[2][3][4] ซึ่งอาจกระจายไปที่คอ ปกติจะเกิดจากการไหลย้อนของกรดกระเพาะอาหารกลับเข้าไปในหลอดอาหาร และเป็นอาการหลักของโรคกรดไหลย้อน[5] แต่ในคนไข้ 0.6% นี่จะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ[6]
คำภาษาอังกฤษว่า indigestion (อาหารย่อยไม่ดี) จะหมายถึงอาการนี้บวกกับอาการอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง[7] และบางครั้งก็นิยามว่าเป็นการปวดกลางท้องด้านบนบวกกับอาการนี้[8] แต่คำภาษาอังกฤษว่า heartburn ก็ใช้แลกเปลี่ยนกับคำว่าโรคกรดไหลย้อนได้เหมือนกัน โดยไม่ได้หมายแค่เป็นอาการหนึ่งของโรค[9]
อาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดและอาการทางหลอดอาหารต่าง ๆ อาจคล้ายกันมาก เพราะหัวใจและหลอดอาหารมีเส้นประสาทกลุ่มเดียวกัน[6]
การมองข้ามเรื่องหัวใจวายเป็นเรื่องอันตราย ดังนั้น แพทย์จึงพิจารณาปัญหาโรคหัวใจก่อนอื่นสำหรับผู้ที่เจ็บที่หน้าอกโดยยังไม่รู้สาเหตุ คนไข้ที่เจ็บหน้าอกเนื่องกับโรคกรดไหลย้อนแยกจากผู้เจ็บหน้าอกเนื่องจากโรคหัวใจได้ยาก และภาวะแต่ละอย่าง ก็ยังเลียนอาการของอีกสภาวะหนึ่ง การตรวจโดยวิธีอื่น ๆ เช่นการถ่ายดูภาพ บ่อยครั้งจึงจำเป็น
อาการแสบร้อนกลางอกอาจสับสนกับการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด (MI) ฉับพลันหรืออาการปวดเค้นหัวใจได้ง่าย[10] ความรู้สึกแสบร้อนหรือเจ็บปวดแบบอาหารไม่ย่อยก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ (ACS) ด้วย แต่ไม่ถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติ[11] เช่น ในบรรดาคนไข้ที่มาโรงพยาบาลและมีอาการของโรคกรดไหลย้อน 0.6% จะเกิดจากโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (IHD)[6] ส่วนคนไข้ที่เจ็บหน้าอกและกำลังตรวจรักษาด้วยสายสวนหลอดเลือดหัวใจประมาณ 30% จะพบว่า ไม่สามารถอธิบายการเจ็บหน้าอกได้ และบ่อยครั้งจะจัดว่า มีอาการปวดเจ็บหน้าอกที่ไม่ตรงแบบหรือไม่ทราบสาเหตุ[12] งานศึกษาหลายงานที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นกรดด่างในหลอดอาหารในชีวิตประจำวันและการวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร ประเมินว่า 25%-50% ของคนไข้เหล่านี้มีหลักฐานว่า มีโรคกรดไหลย้อนที่อาการไม่ตรงแบบ
โรคกรดไหลย้อนเป็นเหตุสามัญที่สุดของอาการนี้ เพราะกรดที่ไหลย้อนขึ้นทำหลอดอาหารให้อักเสบ[3]
คำภาษาอังกฤษว่า functional heartburn หมายถึงอาการแสบร้อนกลางอกที่ไม่ทราบสาเหตุ[13] ซึ่งสัมพันธ์กับโรคทางเดินอาหารที่ไม่ทราบสาเหตุ (FGID) อื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น (IBS) และเป็นเหตุหลักของอาการที่ไม่ดีขึ้นหลังรักษาด้วยยายับยั้งการหลั่งกรดแล้ว (PPI)[13] แต่ยานี้ก็ยังเป็นการรักษาลำดับแรกของอาการเช่นนี้ซึ่งคนไข้จะดีขึ้นในอัตราร้อยละ 50[13] โดยเป็นการวินิจฉัยแบบกำจัดเหตุตามเกณฑ์วินิจฉัย Rome III คือ
อาการแสบร้อนกลางอกมีเหตุหลายอย่าง และการวินิจฉัยเป็นโรคกรดไหลย้อนในขั้นต้นก็จะต้องขึ้นกับอาการอื่น ๆ อีกด้วย ความเจ็บปวดหน้าอกของโรคกรดไหลย้อนจะเป็นแบบแสบร้อน เกิดหลังทานอาหารหรือในเวลากลางคืน ซึ่งแย่ลงเมื่อนอนลงหรือก้มลง[14] เป็นโรคสามัญในหญิงมีครรภ์ และอาจจุดชนวนเมื่อทานอาหารมาก หรืออาหารบางอย่างที่มีเครื่องเทศบางชนิด มีไขมันสูง หรือมีกรดสูง[14][15]
ถ้าการเจ็บหน้าอกสันนิษฐานว่าเป็นอาการแสบร้อนกลางอก โดยคนไข้มีอาการเรอเปรี้ยวเรอขม และไม่มีอาการน่าเป็นห่วงอื่น ๆ แพทย์ก็อาจเริ่มรักษาด้วยยาได้เลย ซึ่งถ้าอาการดีขึ้นภายในสองอาทิตย์ก็อาจวินิจฉัยฟันธงได้ว่า เป็นโรคกรดไหลย้อน[16] ถ้าคนไข้ไม่ดีขึ้นเมื่อทานยาและเปลี่ยนอาหารพร้อมพฤติกรรมแล้ว อาจจะต้องตรวจเพิ่มขึ้น โดยแพทย์อาจแนะนำให้ไปหาแพทย์เฉพาะทาง เช่น แพทย์โรคทางเดินอาหาร[17]
ส่วนอาการแสบร้อนกลางอกหรือเจ็บปวดหน้าอกหลังทานอาหารหรือดื่มน้ำบวกกับปัญหาการกลืนลำบาก ก็อาจบ่งชี้ภาวะหลอดอาหารกระตุก[18]
ถ้าอาการบรรเทาภายใน 5-10 นาทีหลังได้ยาน้ำเป็นยาชาเฉพาะที่คือ ลิโดเคนบวกกับยาลดกรดก็จะเพิ่มโอกาสว่า ความเจ็บมีเหตุจากหลอดอาหาร[19] ถึงกระนั้น ก็ยังไม่สามารถกันเหตุเกี่ยวกับหัวใจออกได้[20] เพราะความเจ็บหน้าอกเหตุหัวใจในคนไข้ 10% จะบรรเทาเมื่อทานยาลดกรด[21]
แพทย์สามารถวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหารโดยส่งสายยางบาง ๆ ผ่านจมูกลงไปในหลอดอาหารส่วนล่าง เพราะความเป็นกรดด่างที่ต่าง ๆ กันถึงระดับหนึ่งก็ปกติ และการไหลย้อนแบบน้อย ๆ ก็เป็นเรื่องค่อนข้างสามัญ การวัดความเป็นกรดด่างก็จะช่วยให้เห็นเหตุการณ์กรดไหลย้อนในเวลาจริงได้
ในการวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร (manometry) แพทย์จะใส่สายบาง ๆ ผ่านเข้าจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหาร ซึ่งคนไข้จะทำการกลืนเมื่อแพทย์ค่อย ๆ ดึงสายออกมากสู่หลอดอาหาร โดยเครื่องคอมพิวเตอร์จะบันทึกแรงบีบของกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของหลอดอาหาร[17]
การส่องกล้องสามารถทำให้เห็นเยื่อเมือกหลอดอาหารได้โดยตรง ซึ่งทำโดยส่งเส้นใยนำแสงบาง ๆ ประกอบด้วยกล้องส่องเข้าไปผ่านปากเพื่อตรวจหลอดและกระเพาะอาหาร โดยวิธีนี้ ก็จะสามารถได้หลักฐานว่าหลอดอาหารอักเสบและสามารถตัดเนื้อออกตรวจได้ถ้าจำเป็น เพราะวิธีนี้ทำให้แพทย์สามารถตรวจทางเดินอาหารส่วนบนได้ จึงอาจช่วยกำหนดความเสียหายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรู้ไดโดยวิธีอื่น ๆ
แพทย์สามารถตัดเนื้อชิ้นเล็ก ๆ ออกเมื่อกำลังส่องกล้อง แล้วตรวจดูการอักเสบ เซลล์มะเร็ง และปัญหาอื่น ๆ
ยาลดกรด เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต บ่อยครั้งจะสามารถใช้แก้ปัญหาในเบื้องต้น[22] แต่การรักษาต่อ ๆ ไปจะขึ้นอยู่กับเหตุ ยาเช่น สารต้านตัวรับเอช2หรือยายับยั้งการหลั่งกรด มีประสิทธิผลต่อกระเพาะอักเสบและกรดไหลย้อน ซึ่งเป็นเหตุสามัญที่สุดของอาการนี้ โดยจะใช้ยาปฏิชีวนะถ้าติดเชื้อแบคทีเรีย H. pylori
ประชากรประมาณ 42% ในสหรัฐจะประสบกับอาการแสบร้อนกลางอกในช่วงชีวิต[23]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.