Remove ads
ความละเอียดมาตรฐานของโทรทัศน์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โทรทัศน์ความละเอียดสูง (อังกฤษ: High-definition television - HDTV) เป็นการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ ที่มีความละเอียดของภาพ มากกว่าระบบถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์แบบดั้งเดิม (คือระบบเอ็นทีเอสซี, ซีแคม และพาล) โดยสัญญาณดังกล่าวจะแพร่ภาพด้วยระบบดิจิทัล
การถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ความละเอียดสูง สามารถให้ความละเอียดสูงสุด 1920x1080 จุดภาพ (Pixel) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า โทรทัศน์ความละเอียดสูงเต็มรูปแบบ (Full HD) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่สัญญาณภาพจะสามารถรองรับ ระบบการออกอากาศสัญญาณโทรทัศน์ความละเอียดสูง (High-Definition Broadcast) สำหรับความละเอียดของภาพ ที่สามารถแสดงบนจอโทรทัศน์ความละเอียดสูง ในปัจจุบันสูงถึง 3840x2160 จุดภาพ หรือที่เรียกว่า Quad HD ซึ่งเกินจากความสามารถที่สัญญาณโทรทัศน์จะส่งได้ แต่ใช้เฉพาะกับการแสดงภาพความละเอียดสูงจากช่องทางอื่น
บริษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งชาติสหรัฐ เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของโลกที่ถ่ายทอดโทรทัศน์ความละเอียดสูงด้วยระบบแอนะล็อก ตั้งแต่ราวคริสต์ทศวรรษ 1980[1] จากนั้นมีการแพร่หลายไปยังทวีปยุโรปในเวลาไม่นานนัก ซึ่งปัจจุบันการออกอากาศในรูปแบบนี้ นับเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว วัดจากที่ประมาณการว่า ร้อยละ 90 ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ออกอากาศโทรทัศน์ในระบบนี้ทั้งหมด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 รวมทั้งมีข้อบังคับให้เครื่องรับโทรทัศน์ ที่ผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ต้องมีอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ความละเอียดสูงในตัว โดยอาจต้องต่ออุปกรณ์เสริมบ้างเล็กน้อย และกำหนดให้สัดส่วนของจอภาพเป็น 16:9 ทั้งหมด
สถานีโทรทัศน์ของบริษัทกระจายเสียงแห่งอังกฤษ (BBC) ทำการทดลองออกอากาศโทรทัศน์ ด้วยความละเอียดขนาด 7680x4320 จุดภาพ หรือ 4K โดยเพิ่มความละเอียดขึ้นด้านละ 4 เท่า รวมทั้งหมด 16 เท่าจากโทรทัศน์ความละเอียดสูงเต็มรูปแบบ ถ่ายทำด้วยกล้องพิเศษชื่อ ซูเปอร์ ไฮ-วิชัน (Super Hi-Vision) ซึ่งปัจจุบันมีสามชุดในโลก สำหรับข้อมูลภาพที่ได้จากกล้องชุดนี้ มีขนาด 24 จิกะไบต์ต่อวินาที หากบันทึกวิดีโอดังกล่าวด้วยจานบันทึกแบบแข็งขนาด 1 เทเลไบต์ จะได้ระยะเวลาประมาณ 5 นาที แต่ใช้อุปกรณ์ส่งข้อมูลเฉพาะ ผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อไปแสดงผลด้วยจอภาพพลาสมาขนาด 103 นิ้ว ซึ่งเอ็นเอชเคผลิตขึ้นเฉพาะการนี้ และบีบีซีมีโครงการจะทดลองออกอากาศด้วยระบบนี้ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ที่กรุงลอนดอน ส่วนเอ็นเอชเคคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 จะออกอากาศจริงด้วยระบบนี้ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ประเทศไทยเป็นชาติที่สามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เริ่มออกอากาศโทรทัศน์ความละเอียดสูงผ่านดาวเทียม โดยทรูวิชันส์ ทำการทดลองออกอากาศเป็นแห่งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2553 ด้วยระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม DVB-S2 (MPEG-2/HD) ผ่านดาวเทียมไทยคม 5 ในระบบ KU-Band[2] และโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล DVB-C2 ใน 3 ช่องรายการ คือทรูสปอร์ต เอชดี, เอชบีโอ เอชดี และทรูเรียลิตี เอชดี[3]
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552 เครือข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมเอ็มคอท ดำเนินการทดลองถ่ายทอดสดโทรทัศน์ความละเอียดสูง ผ่านดาวเทียมและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 38 จากจังหวัดตรัง และในราวกลางปี พ.ศ. 2554 ทรูวิชันส์ออกอากาศเพิ่มอีก 9 ช่องโทรทัศน์ความละเอียดสูงคือ ทรู สปอร์ต เอชดี 2, เนชันแนล จีโอกราฟิก แชนแนล เอชดี, ดิสคัฟเวอรี เวิลด์ เอชดี, สตาร์ มูฟวีส์ เอชดี, ฟ็อกซ์ แฟมิลี มูฟวีส์ เอชดี, เอเอ็กซ์เอ็น เอชดี, เคเอ็มทีวี เอชดี, ไอ-คอนเสิร์ตส์ เอชดี และทีเอ็นเอ็น 24 เอชดี[3] โดยสมาชิกต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ เพื่อรองรับระบบโทรทัศน์ความละเอียดสูง จึงจะสามารถรับชมได้ ต่อมา ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นโทรทัศน์ภาคพื้นดินแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรับชมช่องแรกที่ออกอากาศโทรทัศน์ความละเอียดสูง โดยออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม 5 ในระบบซีแบนด์ โดยต้องใช้กล่องรับสัญญาณที่รองรับระบบ DVB-S2[4] และผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในเว็บไซต์ของไทยพีบีเอส[5]
ต่อมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ร่วมกันทดลองออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัล โดยมอบหมายให้ ททบ.เป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่เวลา 13:00 น. ของวันศุกร์ที่ 25 มกราคม จนถึงเวลา 12:59 น. ของวันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในย่านความถี่ยูเอชเอฟ ช่องสัญญาณที่ 36 ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 ช่องรายการ โดยในจำนวนนี้มี 2 ช่องรายการ ที่ดำเนินการทดลองออกอากาศโทรทัศน์ความละเอียดสูง กล่าวคือช่องหนึ่งจะกระจายเสียงและแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ความละเอียดสูงซึ่งผลิตโดย ททบ. ส่วนอีกช่องหนึ่งจะทวนสัญญาณ จากช่องรายการของไทยพีบีเอส ซึ่งออกอากาศในระบบความละเอียดสูงผ่านดาวเทียมอยู่แต่เดิม โดยมีรัศมีรอบเสาส่งสัญญาณบนยอดอาคารใบหยก 2 เป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร ครอบคลุมเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล[6]
สำหรับบริการโทรทัศน์ความละเอียดสูง เปิดผ่านระบบบอกรับเป็นสมาชิก บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทรีบรอดแบนด์ โดยสามารถเชื่อมต่อกล่องรับสัญญาณ เข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ซึ่งสามารถรองรับ โทรทัศน์ดิจิทัลและไอพีทีวี[7][8]
หลังจากสิ้นสุดการทดลองไปไม่นาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้จัดการประมูลระบบโทรทัศน์ดิจิทัลขึ้น โดยในหมวดโทรทัศน์ดิจิทัลความละเอียดสูงมีทั้งหมด 7 ช่องรายการ และมีในหมวดอื่นๆ อีก 17 ช่องโดยใช้ความละเอียดปกติ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สามารถทำรายได้เข้ารัฐบาลจากการประมูลระบบโทรทัศน์ดิจิทัลทีวีได้สูงถึง 50,862 ล้านบาท โดย 23,700 ล้านบาทเป็นรายได้รวมทั้งหมดของระบบโทรทัศน์ความละเอียดสูง
สิงคโปร์เป็นประเทศแรก ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์ความละเอียดสูง ตั้งแต่ราวต้นปี พ.ศ. 2551 ตามด้วยมาเลเซีย ไทย ลาว ซึ่งเริ่มออกอากาศในระบบนี้เป็นครั้งแรก ผ่านการถ่ายทอดสด แอลทีวีซัมเมอร์ จากโรงเรียนแห่งชาติลาว ระหว่างวันที่ 3 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09:00 - 15:30 น. หลังจากนั้น ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ก็ดำเนินการตามมา นอกจากนี้ ยังดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์ความละเอียดสูง ในโอกาสพิเศษต่างๆ อาทิ ถ่ายทอดสดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 จากโรงแรมดุสิตธานี ระหว่างวันที่ 23 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ผ่านดาวเทียมเอเชียแซต-5 เพื่อแพร่ภาพสู่ประเทศสมาชิก[9][10]
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.