บิชอป[1] (อังกฤษ: Bishop) หรือ มุขนายก[2][3] เป็นตำแหน่งการปกครองในคริสตจักรที่มีการจัดระเบียบองค์การแบบอิปิสโคปัล เช่น โรมันคาทอลิก อีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ออเรียนทัลออร์ทอดอกซ์ หรือแม้แต่ในนิกายโปรเตสแตนต์บางคณะ เช่น แองกลิคัน ลูเทอแรน เมทอดิสต์
ประวัติ
ในศาสนาคริสต์ยุคแรก คริสต์ศาสนิกชนในแต่ละเมืองจะรวมกลุ่มกันเป็นประชาคม เรียกว่าคริสตจักร แต่ละคริสตจักรมีผู้ปกครองดูแลคนหนึ่งหรือเป็นคณะผู้ปกครอง จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 2 ผู้ปกครองดูแลคริสตจักรเริ่มมีบทบาทหน้าที่ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ เป็นประธานในการโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ แก้ไขความขัดแย้ง และดูแลการเงินภายในคริสตจักร ในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ฝ่ายอาณาจักรได้รับรองสถานะของคริสต์ศาสนา ทำให้มุขนายกเริ่มมีบทบาทในทางโลกด้วย เมื่อคริสตชนมีมากขึ้น ทำให้มีมุขนายกใหม่แต่งตั้งขึ้นเพื่อปกครองแต่ละเขต ซึ่งต่อมาเรียกว่า "มุขมณฑล" มุขนายกประจำมุขมณฑลแต่งตั้งบาทหลวงให้ปกครองดูแลโบสถ์คริสต์แต่ละแห่ง โดยมีพันธบริกรเป็นผู้ช่วย[4]
นิกายคาทอลิก
คริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกในประเทศไทยเรียกมุขนายกว่าพระสังฆราชกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเลียนแบบการเรียกประมุขสงฆ์ของชาวไทยซึ่งใช้มาก่อนตั้งแต่สมัยสุโขทัย[5] ชาวคาทอลิกเชื่อว่ามุขนายกเป็นตำแหน่งที่สืบมาจากอัครทูตผู้ติดตามพระเยซูอย่างใกล้ชิดในสมัยที่พระองค์ยังคงดำรงพระชนม์ในโลกเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว มุขนายกทำหน้าที่เป็นประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก เป็นหัวหน้าปกครองคณะบาทหลวง คณะนักบวชคาทอลิกชาย-หญิง และคริสต์ศาสนิกชนชาวคาทอลิกภายในเขตปกครองของตน[6] ซึ่งเรียกว่ามุขมณฑล โดยมุขมณฑลในประเทศไทยเรียกว่าเขตมิสซัง และแบ่งออกเป็น 11 เขตมิสซัง
ผู้จะรับศีลอนุกรมเป็นมุขนายกจะต้องบวชเป็นบาทหลวงมาก่อน และต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาโดยมีพิธีการอภิเษกเป็นมุขนายกซึ่งถือเป็นศีลอนุกรมขั้นสูงสุด
ประเภทของมุขนายก
ตามประมวลกฎหมายพระศาสนจักรได้แบ่งมุขนายกออกเป็น 2 ประเภท[7] ดังนี้
- มุขนายกประจำมุขมณฑล (diocesan bishop) คือบิชอปโดยทั่วไป เป็นมุขนายกที่พระสันตะปาปาแต่งตั้งให้เป็นประมุขปกครองมุขมณฑลแห่งใดแห่งหนึ่ง มุขนายกประเภทนี้แบ่งออกเป็น
- มุขนายกมหานคร (metropolitan bishop) คือมุขนายกประจำมุขมณฑลที่ได้รับแต่งตั้งให้ปกครองภาคคริสตจักรด้วย ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองที่รวมหลายมุขมณฑลไว้ด้วยกัน โดยมุขมณฑลหลักจะเรียกว่าอัครมุขมณฑล (archdiocese) มุขนายกมหานครจึงเป็นอัครมุขนายกด้วยเพราะเป็นประมุขอัครมุขมณฑล
- มุขนายกปริมุขมณฑลหรือปริมุขนายก (suffragan bishop) หรือซัฟฟรากันบิชอป คือมุขนายกที่ปกครองมุขมณฑลที่เป็นบริวารของอัครมุขมณฑล
- มุขนายกเกียรตินาม (Titular bishop) หรือทิทิวลาร์บิชอป คือมุขนายกที่ไม่มีมุขมณฑลในปกครอง แต่ได้รับแต่งตั้งเป็นมุขนายกเพื่อเป็นเกียรติในการทำงานให้คริสตจักร มุขนายกประเภทนี้ได้แก่
- มุขนายกผู้ช่วย (auxiliary bishop) หรืออ๊อกซิเลียรีบิชอป คือมุขนายกที่พระสันตะปาปาแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยของมุขนายกประจำมุขมณฑล เพื่อช่วยปกครองมุขมณฑลหนึ่ง ๆ และจะได้รับแต่งตั้งจากมุขนายกประจำมุขมณฑลนั้นให้เป็นอุปมุขนายก (vicar general) หรืออย่างน้อยก็เป็นผู้ช่วยมุขนายก (episcopal vicar) ในมุขมณฑลที่ตนประจำอยู่
- มุขนายกรอง (coadjutor bishop) หรือโคแอดจูเตอร์บิชอป คือมุขนายกผู้ช่วยที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเกือบเท่ามุขนายกประจำมุขมณฑล และยังมีสิทธิ์สืบตำแหน่งเป็นมุขนายกประจำมุขมณฑลองค์ต่อไป
- มุขนายกกิตติคุณ (bishop emeritus) หรือบิชอปอิเมริทัส คือมุขนายกประจำมุขมณฑลที่ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว (คือเกษียณตนเอง)
นอกจากนี้เหล่าประมุขมิสซังและเอกอัครสมณทูตก็ได้รับตำแหน่งเป็นมุขนายกเกียรตินามด้วย เพื่อให้มีเกียรติเสมือนมุขนายกประจำมุขมณฑล ตัวอย่างเช่น มุขนายก ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว ประมุขมิสซังสยามได้เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งมาลลอส
ในประเทศไทย
เมื่อพระสันตะปาปาประกาศตั้งมิสซังสยามในปี พ.ศ. 2212 แล้ว ก็ได้ส่งมุขนายกเกียรตินามซึ่งล้วนแต่เป็นมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสมาเป็นประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย จนกระทั่ง วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 จึงประกาศแต่งตั้งมุขนายกเกียรตินามคนไทย คือ พระคุณเจ้ายาโกเบ แจง เกิดสว่าง ประมุขมิสซังจันทบุรี เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่ง Barcusus[8] นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งมุขนายก[9]
ในปัจจุบันประเทศไทยมีมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ (ที่ยังไม่เกษียณ) 9 ท่าน ได้แก่[10]
- เขตมิสซังกรุงเทพฯ - ว่าง
- เขตมิสซังเชียงใหม่ - พระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์
- เขตมิสซังนครสวรรค์ - พระคุณเจ้าเปาโล ธวัช สิงห์สา[11]
- เขตมิสซังราชบุรี - พระคุณเจ้าซิลวีโอ สิริพงษ์ จรัสศรี
- เขตมิสซังจันทบุรี - ว่าง
- เขตมิสซังสุราษฎร์ธานี - พระคุณเจ้าเปาโล ไตรรงค์ มุลตรี[12]
- เขตมิสซังเชียงราย - พระคุณเจ้ายอเซฟ วุฒิเลิศ แห่ล้อม
7 เขตมิสซังนี้อยู่สังกัดภาคคริสตจักรเดียวกัน โดยมีอัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯเป็นมุขนายกมหานคร
- เขตมิสซังท่าแร่-หนองแสง - พระคุณเจ้าอันตน วีระเดช ใจเสรี
- เขตมิสซังอุบลราชธานี - พระคุณเจ้าสเตเฟน บุญเลิศ พรหมเสนา
- เขตมิสซังอุดรธานี - พระคุณเจ้ายอแซฟ ลือชัย ธาตุวิสัย
- เขตมิสซังนครราชสีมา - พระคุณเจ้ายอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์
4 เขตมิสซังนี้อยู่ในสังกัดภาคคริสตจักรเดียวกัน โดยมีอัครมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสงเป็นมุขนายกมหานคร
และมีมุขนายกกิตติคุณ 8 ท่าน ได้แก่[13]
- เขตมิสซังกรุงเทพฯ - พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู
- เขตมิสซังกรุงเทพฯ - พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
- เขตมิสซังจันทบุรี - พระคุณเจ้าลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต
- เขตมิสซังราชบุรี - พระคุณเจ้ายอห์น บอสโก ปัญญา กฤษเจริญ
- เขตมิสซังท่าแร่-หนองแสง - พระคุณเจ้าหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์
- เขตมิสซังนครสวรรค์ - พระคุณเจ้ายอแซฟ พิบูลย์ วิสิฐนนทชัย
- เขตมิสซังสุราษฎร์ธานี - พระคุณเจ้าโยเซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล
- เขตมิสซังอุบลราชธานี - พระคุณเจ้าฟิลิป บรรจง ไชยรา
นิกายออร์ทอดอกซ์
ในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ ลำดับมุขนายกจะอยู่ 3 ลำดับขั้น โดยไม่นับอัครบิดร ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของคริสตจักร โดยผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นมุขนายกนั้นจำเป็นบาทหลวงที่ถือโสดเท่านั้น ในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์จะมีมุขนายกอยู่ 3 ขั้น โดยบางครั้งมุขนายกในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ก็จะไม่มีเขตมุขมณฑลปกครอง โดยถือว่าทำงานให้กับคริสตจักรเพียงอย่างเดียว
- อัครมุขนายก
- ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของมุขนายกในคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ (ในคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์, โรมาเนียออร์ทอดอกซ์ และบัลแกเรียออร์ทอดอกซ์ อัครมุขนายกไม่ถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูงสุด) โดยในตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งที่ดูแลอัครมุขมณฑล (Archdiocese) แต่ในบางคริสตจักรที่ไม่มีอัครบิดร จะเป็นตำแหน่งที่ดูแลคริสตจักร เช่นคริสตจักรออร์ทอดอกซ์แห่งไซปรัส สำหรับในบางคริสตจักร ตำแหน่งนี้สามารถได้รับเลือกเป็นอัครบิดรได้
- มุขนายกมหานคร
- หรือ เมโตรโปลิตัน (Metropolitan) เป็นตำแหน่งที่รองลงมาจากตำแหน่งอัครมุขนายก (ในคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์, โรมาเนียออร์ทอดอกซ์ และบัลแกเรียออร์ทอดอกซ์ จะถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูงกว่าอัครมุขนายก) สำหรับในตำแหน่งนี้ปกครองดูแลเขตมุขมณฑลมหานคร (Metropolis) ในคริสตจักรที่ถือว่าเมโตรโปลิตันเป็นตำแหน่งสูงสุด ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้อาจได้รับเลือกให้เป็นอัครบิดรได้
- มุขนายก
- เป็นตำแหน่งแรกของระบบอิปิสโคปัล ในตำแหน่งนี้จะมีหน้าที่ดูแลมุขมณฑล (Diocese) สำหรับในตำแหน่งนี้อาจจะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นเมโตรโปลิตัน หรืออัครมุขนายกตามเห็นควร
นิกายโปรเตสแตนต์
คริสต์ศาสนิกชนโปรเตสแตนต์ในประเทศไทยเรียก bishop โดยทับศัพท์ว่าบิชอป[14] ในนิกายลูเทอแรนและแองกลิคันถือว่าบิชอปเท่านั้นที่มีอำนาจในการสถาปนาบิชอป ปุโรหิต และดีกัน
ในนิกายลูเทอแรน บิชอปมาจากการเลือกตั้งโดยสมัชชาซีนอดซึ่งสมาชิกมีทั้งฆราวาสและนักบวช บิชอปแต่ละท่านมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี และดำรงตำแหน่งต่อไปได้ตามแต่ข้อกำหนดในธรรมนูญของคริสตจักรนั้น ๆ
นิกายแองกลิคัน บิชอปมีลักษณะคล้ายกับมุขนายกโรมันคาทอลิกคือทำหน้าที่เป็นประมุขของมุขมณฑล ต่างกันเฉพาะนิกายแองกลิคันอนุญาตให้บิชอปสมรสได้ นอกจากนี้บางภาคคริสตจักรยังอนุญาตให้สถาปนาสตรีเป็นบิชอปได้[15][16] สตรีคนแรกที่ได้สถาปนาบิชอปคือศาสนาจารย์บาร์บารา ฮาร์ริส[17] บิชอปซัฟฟรากันประจำมุขมณฑลอีปิสโคปัลแมสซาชูเซตส์ ได้รับสถาปนาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989
อ้างอิง
Wikiwand in your browser!
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.