Remove ads
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
14 ตุลา สงครามประชาชน (อังกฤษ: The Moonhunter) เป็นภาพยนตร์ไทยแนวการเมือง ระทึกขวัญ อิงประวัติศาสตร์ ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2544 กำกับโดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล นำแสดงโดย ภาณุ สุวรรณโณ พิมพรรณ จันทะ เกรียงไกร ฟูเกษม ศุภลักษณ์ เชาวยุทธ์ และ ภคชนก์ โวอ่อนศรี เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 และจิระนันท์ พิตรปรีชา ภรรยา ที่ต้องหนีภัยจากการกวาดล้างของรัฐบาลไทย เข้าป่าไปร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนกระทั่งออกจากป่าในปี พ.ศ. 2524
14 ตุลา สงครามประชาชน | |
---|---|
ใบปิดภาพยนตร์ | |
กำกับ | บัณฑิต ฤทธิ์ถกล |
เขียนบท | เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บัณฑิต ฤทธิ์ถกล |
อำนวยการสร้าง | เจริญ เอี่ยมพึ่งพร ธนิตย์ จิตนุกูล |
นักแสดงนำ | ภาณุ สุวรรณโณ พิมพรรณ จันทะ เกรียงไกร ฟูเกษม ศุภลักษณ์ เชาวยุทธ์ ภคชนก์ โวอ่อนศรี |
กำกับภาพ | ธีระวัฒน์ รุจินธรรม |
ตัดต่อ | สุนิตย์ อัศวินิกุล ธานินทร์ เทียนแก้ว |
ผู้จัดจำหน่าย | ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น บีอีซี เทโร |
วันฉาย | 12 ตุลาคม พ.ศ. 2544 |
ความยาว | 122 นาที |
ประเทศ | ไทย]] |
ภาษา | ไทย |
ทุนสร้าง | 20 ล้านบาท (ไม่รวมประชาสัมพันธ์) [1] |
ข้อมูลจาก IMDb | |
ข้อมูลจากฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย | |
ข้อมูลจากสยามโซน |
โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ลงมือเขียนบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองในยุคนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวที่สร้างจากเรื่องจริงของชีวิตทั้งคู่ ทำให้ ผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ใช้เวลาเฟ้นหานักแสดงนำที่มีรูปร่าง หน้าตาเหมือน เสกสรรค์-จีระนันท์ มากที่สุด ทำให้ขั้นตอนในการคัดเลือกนักแสดง ในของภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน ต้องใช้เวลาในการคัดเลือกกว่า 6 เดือน ซึ่งในที่สุด ก็ได้สองนักแสดงหน้าใหม่ ที่ได้รับการลงความเห็นจากทุกฝ่ายว่า มีความเหมือน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จีระนันท์ พิตรปรีชา มากที่สุด
ผู้รับบทเป็น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คือ ภาณุ สุวรรณโณ และส่วนผู้ที่รับบทเป็น จิระนันท์ พิตรปรีชา คือ พิมพ์พรรณ จันทะ เพราะที่มีรูปร่าง หน้าตาเหมือน เสกสรรค์-จีระนันท์ มากที่สุด
ภาพยนตร์ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ส่งเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 74 แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย[2][3]
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ประจำปี พุทธศักราช 2566 โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเกิดจากพลังแรงกล้า ของการใฝ่หาเสรีภาพ โดยการนำของนิสิตนักศึกษา ได้สร้างภาพยิ่งใหญ่ตราไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงตลอดแนวถนนราชดำเนิน จากผู้คนเรือนล้านที่ออกจากบ้านและสถานศึกษา มาด้วยวิญญาณประชาธิปไตย ถึงร่างเปื้อนเลือด ซึ่งนอนทอดนิ่งอยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ ท่ามกลางควันปืน และเสียงร่ำไห้ของเพื่อนพ้องผู้ใกล้ชิด
ขณะประชาธิปไตยเริ่มผลิบานอีกครั้งหนึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ภาณุ สุวรรณโณ) หนึ่งในผู้นำนักศึกษา ซึ่งยืนหยัดเป็นศูนย์กลางของฝูงชน ตลอดวันคืนอันยาวนานของเดือนตุลาฯ กลับพบว่าสภาพรอบตัวของเขา เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่ากลัว อันตราย และเต็มไปด้วยความขัดแย้งคุกคาม หลังจากเพื่อนพ้องคนรู้จักโดนลอบสังหารต่อเนื่อง เขาตัดสินใจชวน จิระนันท์ พิตรปรีชา (พิมพ์พรรณ จันทะ) คนรักซึ่งเป็นดาวจุฬาฯ หันหลังให้กับกิจกรรมความงาม มาเข้าร่วมอยู่ในขบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม พากันหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งก็เหมือนเพื่อนพ้องนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องจำนวนมาก ทั้งเดินทางเข้าไปก่อนหน้า และติดตามไปภายหลัง
ทั้งสองใช้ชีวิตอย่างอยากลำเค็ญ ท่ามกลางป่าเขาบนภูร่องกล้า เฝ้าฝันว่าสักวันจะได้กลับเมือง พร้อมชัยชนะตามอุดมการณ์ที่ตั้งหวัง แต่แล้วเขากับจีระนันท์ก็เริ่มพบว่า สภาพแบบที่ทำให้เข้าต้องหนีออกจากเมือง ได้ย้อนกลับมาเป็นปัญหาให้ต้องเผชิญอีกครั้งในป่า ความขัดแย้งทางความคิด การขาดความเป็นประชาธิปไตยและการยอมรับ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ระบบญาติมิตรอุปถัมภ์ ตลอดจนการทำตัวเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ในป่า เหมือนๆ กับที่มันมีอยู่ในเมือง เขาพยายามเพื่อหาแนวทางเพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไข แต่ไม่รับการสนองตอบ ในทางตรงข้ามเขากลับถูกจับตามองโดยฝ่ายนำจำนวนหนึ่ง และถูกวิพากษ์ว่าเป็นพวกค้านพรรค
ชีวิตของเขาและเธอ ต้องเร่ร่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยการบงการของพรรค ซึ่งเฝ้าติดตามดูพฤติกรรม ในที่สุด ความอดกลั้นของเสกสรรค์ก็ระเบิดออก เขารวบรวมเพื่อนนักศึกษา เตรียมประกาศสงครามกับฝ่ายนำ ก่อนจะพบว่า มันคือสงครามที่ไม่มีวันได้รับชัยชนะ เสกสรรค์ จิระนันท์ และเพื่อนๆ ตัดสินใจทยอยกันออกจากป่า ขณะฝ่ายนำส่งมือสังหารตามล่า ทว่าโดยการคุ้มกันของเพื่อนๆ เขาสามารถพาคนรักข้ามสะพาน ไต่เหนือสายน้ำเชี่ยว หนีรอดออกมาได้อย่างจวนเจียน
ภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน บอกเล่าเรื่องราวชีวิตจริง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จิระนันท์ พิตรปรีชา ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งสร้างโดย ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และ บีอีซี เทโร เป็นเหตุการณ์อันเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับเป็นการเรียกร้องเสรีภาพของประชาชน ที่ได้รับชัยชนะเป็นครั้งแรกของโลก หนึ่งในแกนนำของการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยนี้ก็คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และนิสิตสาวดาวจุฬาฯ จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ต้องพลิกผันชีวิตตัวเองหนีเข้าสู่ป่า ไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เหมือนกับเพื่อนพ้องนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องจำนวนมาก
ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับภาพยนตร์โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือเยี่ยม ที่เคยมีผลงานที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านรายได้ และด้านคุณภาพ มาแล้วหลายเรื่อง อาทิ คาดเชือก, ด้วยเกล้า, บุญชู, ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44, อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป, กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้, สตางค์ เป็นต้น
ผู้รับบทเป็น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คือ ภาณุ สุวรรณโณหนุ่มวิศวะฯ ผู้ไม่เคยผ่านงานแสดงหนัง และละครเรื่องใดมาก่อน โดยทุกคนลงความเห็นว่า ภาณุ มีหน้าตาและบุคลิกท่าทาง คล้ายคลึงกับอ.เสกสรรค์ เป็นอย่างมาก ส่วนผู้ที่รับบทเป็น จิระนันท์ พิตรปรีชา คือ พิมพ์พรรณ จันทะ สาวหน้าใส นักเรียนการแสดงของบางกอกการละคร เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของครูงัด สุรพล วิเชียรฉาย
ภาพยนตร์เขียนบทร่างโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2542 [1] เริ่มต้นถ่ายทำเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 โดยผู้กำกับได้เพิ่มเติมบทเกี่ยวกับเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
เมื่อเริ่มเขียนบท เสกสรรค์ตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า สหายไท ซึ่งเป็นชื่อจัดตั้งของตัวเขาเมื่ออยู่ในป่า ต่อมาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ได้ตั้งชื่อว่า คนล่าจันทร์ ตามฉากหนึ่งในเรื่อง [note 1] โดยสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างอุดมคติ หรือจุดมุ่งหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง [1] ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Moonhunter" ซึ่งคล้ายคลึงกับชื่อภาพยนตร์อเมริกัน The Deer Hunter [1]
ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ถ่ายทำที่ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยจำลองจากสถานที่จริง ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่ถ้ำผาจิ จังหวัดพะเยา และที่ประเทศลาว ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทางไปถ่ายทำ นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังถ่ายทำที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดเลย ส่วนฉากการปะทะกันระหว่างนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริเวณคูน้ำหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ถ่ายทำที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ภาพยนตร์ใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้น 9 เดือน โดยใช้นักแสดงหน้าใหม่ทั้งหมด
ภาพยนตร์ใช้เทคนิกคอมพิวเตอร์กราฟิก ในฉากการชุมนุมของประชาชนนับแสนคน ที่ถนนราชดำเนิน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างสรรค์โดยบริษัท เร็นเดอร์ ฮาร์ท ของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว
เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย ฝ่ายโฆษณาได้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น 14 ตุลา สงครามประชาชน เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ [note 2] เนื่องจากภาพยนตร์ออกฉายในเวลาใกล้เคียงกับพิธีเปิดอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ในโอกาสครบรอบ 28 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา และครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา
ผู้มอบรางวัล | สาขารางวัล | ผู้ได้รับรางวัล |
---|---|---|
รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี | ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น |
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บัณฑิต ฤทธิ์ถกล | |
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล | |
กำกับภาพยอดเยี่ยม | ธีระวัฒน์ รุจินธรรม | |
บันทึกเสียงยอดเยี่ยม | ชาย คงสิระวัฒน์ | |
รางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง | ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น |
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม | บัณฑิต ฤทธิ์ถกล | |
ลำดับภาพยอดเยี่ยม | สุนิตย์ อัศวินิกุล | |
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.