Loading AI tools
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แอนน์ โบลีน (อังกฤษ: Anne Boleyn; /ˈbʊlɪn, bʊˈlɪn/)[1][2][3] เป็นบุตรีของทอมัส บุลิน เอิร์ลที่ 1 แห่งวิลต์เชอร์ กับเอลิซาเบธ บุลิน เคาน์เตสแห่งวิลต์เชอร์ และเป็นพระมเหสีพระองค์ที่ 2 ในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ และเป็นพระราชมารดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ
แอนน์ บุลิน | |
---|---|
มาร์เชอเนสแห่งเพมโบรก | |
สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ | |
ดำรงพระยศ | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2076 (ค.ศ. 1533) — 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2079 (ค.ศ. 1536) |
ราชินยาภิเษก | 1 มิถุนายน 1533 |
พระราชสมภพ | ประมาณปี พ.ศ. 2050 (ค.ศ. 1507) ศาลาบลิกลิง หรือ ปราสาทเฮฟเวอร์ อังกฤษ |
สวรรคต | 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2079 (ค.ศ.1536) หอคอยแห่งลอนดอน อังกฤษ |
คู่อภิเษก | พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ |
พระราชบุตร | เจ้าชายเฮนรี ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ (ที่ 3) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ พระราชโอรสไม่ปรากฏพระนาม |
ราชวงศ์ | ทิวดอร์ (สมรส) |
พระราชบิดา | ทอมัส บุลิน เอิร์ลที่ 1 แห่งวิลต์เชอร์ |
พระราชมารดา | เลดีเอลิซาเบธ ฮอเวิร์ด |
ลายพระอภิไธย |
พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 กับสมเด็จพระราชินีแอนน์เป็นจุดเริ่มต้นแห่งเรื่องราว พระราชอำนาจหลังพระราชบัลลังก์ฉายเด่นชัดจากสมเด็จพระราชินีพระองค์นี้ ข้าราชการแบ่งฝักฝ่ายเป็นสองพวกคือ "คนของพระราชา" และ "คนของพระราชินี" แม้จนเมื่อท้ายที่สุดแล้วสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 จะทรงมีชัยชนะเหนือพระมเหสี สามารถสำเร็จโทษพระนางได้ ด้วยการกล่าวหาว่าพระนางสมสู่กับน้องชายแท้ ๆ ของพระนางเอง แต่ความแตกร้าวก็ยังคงมีอยู่ไม่รู้จบ พระองค์ถูกกล่าวขานถึงว่า "ราชินีแห่งอังกฤษที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมี"
แอนน์ บุลินเป็นบุตรีของเซอร์ทอมัส บุลิน กับ เลดีเอลิซาเบธ บุลิน แอนน์พระราชสมภพราว พ.ศ. 2050 (ค.ศ. 1507)เซอร์ทอมัส บุลินเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ ผู้ส่งเขาไปทำหน้าที่การทูตระหว่างประเทศ แอนน์ บุลินมีพระพี่น้องอยู่ 5 คน เสียชีวิตแต่เล็ก 2 คน เชษฐภคินีของแอนน์คือ แมรี บุลิน และพระอนุชาของแอนน์คือ จอร์จ บุลิน
บิดาของแอนน์ บุลินได้ทำงานทางการทูตอย่างต่อเนื่อง ในยุโรป ทอมัส บุลินเป็นที่นับถือมาก รวมทั้งอาร์ชดัชเชสมาร์กาเร็ตแห่งออสเตรีย พระราชธิดาของจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระนางได้เสด็จไปประเทศเนเธอร์แลนด์ในนามของพระบิดาและพระนางทรงประทับใจในทอมัส บุลินพระนางเสนอให้แอนน์ บุลินมาเป็นครอบครัวเดียวกัน แอนน์ บุลินเป็นที่รักใคร่ เอ็นดูต่ออาร์ชดัชเชสมาก กิริยาท่าทางของแอนน์สร้างความประทับใจในเนเธอร์แลนด์ได้มากและนางอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2056 (ค.ศ. 1513) หลังจากนั้นพระบิดาก็ให้นางไปคอยรับใช้พระขนิษฐภคินีของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 คือ แมรี ทิวดอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสในฤดูหนาว พ.ศ. 2057 (ค.ศ. 1514)
ในประเทศฝรั่งเศสแอนน์ได้เป็นนางสนองโอษฐ์ของพระราชินีแมรี ซึ่งพระนางแมรีทรงไม่โปรดแอนน์ หลังจากนั้นได้เป็นนางสนองโอษฐ์ของพระนางโกลด สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส พระนางโกลดทรงเอ็นดูแอนน์มากและทรงเรียกแอนน์ว่า "แม่บุลินตัวน้อย" แอนน์ได้เรียนภาษาฝรั่งเศส, การแต่งกาย และศาสนา ปรัชญา แอนน์ บุลินได้รับความรู้อย่างละเอียด และได้สอนพระขนิษฐาของพระราชาคือพระนางมาร์เกอริตแห่งอองกูแลมแอนน์ได้สนใจด้านกวีและวรรณกรรม การเรียนรู้ในฝรั่งเศสทำให้แอนน์ได้เป็นนางสนองโอษฐ์ของพระนางแคเธอรีนแห่งอารากอน พระราชินีแห่งอังกฤษ คนทั่วไปมักพูดถึงความงดงาม มีเสน่ห์ของแอนน์ ประสบการณ์ในฝรั่งเศสทำให้ชื่นชอบในโปรแตสแตนต์ ในปี พ.ศ. 2064(ค.ศ. 1521)นางได้ถูกเรียกกลับไปอังกฤษโดยพระบิดา
แอนน์ได้ถูกเรียกกลับมาเพื่อแต่งงานกับญาติของพระนางคือ เจมส์ บัตเลอร์ เอิร์ลแห่งออร์มอนด์ที่ 5 แต่เจมส์ก็เสียชีวิตเสียก่อน น้องสาวของแอนน์ แมรี บุลินได้เป็นสตรีรับใช้พระราชา แอนน์ บุลินได้ถูกส่งเข้าราชสำนักเพื่อรับใช้พระนางแคเธอรีนแห่งอารากอน
พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษได้ทรงเบื่อพระนางแคทเทอรีนแห่งอรากอนเนื่องจากโดยเวลานี้พระนางแคทเทอรีนประสบปัญหาจากการมีบุตร และพระนางแคทเทอรีนนั้นมีพระชนมายุสูงวัยกว่าพระเจ้าเฮนรี
ในปี พ.ศ. 2068 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ได้ตกหลุมรักแอนน์ บุลินนางสนองโอษฐ์ในพระราชินีแคทเทอรีน แห่งอรากอนและพระเจ้าเฮนรีต้องการนาง พระเจ้าเฮนรีเริ่มเชื่อว่าการสมรสครั้งนี้ต้องคำสาปและหาคำยืนยันจากคัมภีร์ไบเบิล และเอาสาเหตุที่ว่าพระนางแคทเทอรีนเคยอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอาเทอร์แล้วซึ่งเป็นการผิดบัญญัติแห่งพระเจ้า พระองค์ต้องการหย่ากับพระนางแคทเทอรีน แห่งอรากอนพระองค์ได้ส่งคำร้องไปยังพระสันตปาปา แต่พระสันตปาปาทรงไม่ยินยอม เนื่องจากพระนางแคทเทอรีนเป็นพระปิตุจฉาของสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตอนนี้พระสันตปาปาได้ถูกครอบงำโดยพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ถ้ายินยอมไปตัวพระสันตปาปาเองอาจไม่ปลอดภัย
พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษได้ตั้งนิกายโปรเตสแตนต์นิกายหนึ่งคือคริสตจักรแห่งอังกฤษ โดยมีพระองค์เองเป็นประมุข 1 ปีต่อมาพระนางแคทเทอรีนทรงถูกขับไล่ออกไปจากพระราชวัง ห้องของพระองค์ตกเป็นของแอนน์ บุลิน เมื่อวิลเลียม วอร์แฮม อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี มรณภาพ ทอมัส แครนเมอร์ อนุศาสนาจารย์ของตระกูลบุลินได้รับการแต่งตั้งเป็นอาร์ชบิชอปต่อมา เครนเมอร์ได้ประกาศว่า การอภิเษกสมรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 กับพระนางแคเธอรีนแห่งอารากอนถือเป็นโมฆะ
ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2075 (ค.ศ. 1532) แอนน์ บุลินได้รับการแต่งตั้งเป็นมาชันเนสเพมโบรค และกลายเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์เป็นที่เคารพนับถือ ทั้งๆที่ตำแหน่งเพมโบรคนั้นสำหรับเชื้อพระวงศ์ทิวดอร์เท่านั้น แอนน์ บุลินได้อภิเษกสมรสแบบลับ ๆ กับพระเจ้าเฮนรี และมีพระประสูติกาลและได้อภิเษกสมรสเป็นครั้งที่ 2 ที่ลอนดอนในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2076 (ค.ศ. 1533) ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2076 (ค.ศ. 1533) ทอมัส แครนเมอร์ได้พิพากษาการอภิเษกสมรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 กับพระนางแคทเทอรีนแห่งอรากอนเป็นสิ่งไม่ถูกต้องและต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม ได้ประกาศว่าการสมรสกับแอนน์ บุลินเป็นอันถูกต้อง
พระนางแคทเทอรีนต้องสูญเสียตำแหน่งราชินีให้แก่แอนน์ บุลิน พระนางแอนน์ บุลินได้ทำพิธีสวมมงกุฎราชินีในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2076 พระสันตปาปากรุงโรมได้ทำตัดพระเจ้าเฮนรีและทอมัส แครนเมอร์ พระนางแคทเทอรีนต้องถูกขับไล่ไปจากพระราชวังเนื่องจากทรงศรัทธาในโรมันคาทอลิก คริสตจักรแห่งอังกฤษนั้นควบคุมโดยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 มิใช่สันตปาปาแห่งโรม พระนางแอนน์ บุลินนั้นฝักใฝ่นิกายนี้มาก
หลังจากพิธีสวมมงกุฎมีพระประสูติกาลที่พระราชวังกรีนิช ได้ทรงคลอดก่อนกำหนดในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2076 พระนางได้ให้กำเนิดพระธิดา พระเจ้าเฮนรีทรงให้พระนามว่า เอลิซาเบธ ตามพระนามของพระมารดาของพระเจ้าเฮนรี คือพระนางเอลิซาเบธแห่งยอร์ก
พระธิดานั้นทรงเป็นโปรแตสแตนต์ แต่พระนางทรงหวั่นพระทัยว่าพระธิดาอาจถูกข่มขู่โดยเจ้าหญิงแมรี พระธิดาของพระนางแคทเทอรีนแห่งอรากอนซึ่งเป็นโรมันคาทอลิก พระเจ้าเฮนรีจึงส่งเจ้าหญิงแมรีไปที่อื่นเพื่อให้พระนางแอนน์สบายพระทัย
พระนางแอนน์ทรงมีบ่าวรับใช้จำนวนมากซึ่งมาจากพระนางแคทเทอรีนแห่งอรากอน มีบ่าวรับใช้มากกว่า 250 คน และนางสนองโอษฐ์มากกว่า 60 คน พระนางมักจะจ้างอนุศาสนาจารย์มามาก
ในช่วงแรกชีวิตคู่ก็มีความสุข แต่พอนาน ๆ เข้าความสัมพันธ์เริ่มตึงเครียด พระเจ้าเฮนรีทรงไม่ชอบท่าทางของแอนน์ที่ทำเพื่อตนเองและชอบโต้แย้งกับพระองค์ หลังจากการล้มเหลวจากการได้บุตรในปี พ.ศ. 2077 (ค.ศ. 1534) พระเจ้าเฮนรีมองการล้มเหลวจากการให้บุตรชายของแอนน์ซึ่งเป็นการทรยศพระองค์ ในวันคริสต์มาสพระเจ้าเฮนรีได้สนทนากับทอมัส เครนเมอร์ และ ทอมัส ครอมเวลล์ในเรื่องการขับไล่พระนางแอนน์ บุลิน และให้พระนางแคทเทอรีน แห่งอรากอนกลับมา
พระนางแอนน์ไม่เกรงกลัวต่ออันตรายใดๆทรงใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย พระนางพยายามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ข้าราชการแบ่งฝักฝ่ายเป็นสองพวกคือ "คนของพระราชา" และ "คนของพระราชินี" และได้มีการสั่งประหารศัตรูของพระนางคือ บิชอปแห่งโรเชสเตอร์, จอห์น ฟริชเชอร์ และ ทอมัส มอร์ ผู้ซึ่งต่อต้านคริสตจักรแห่งอังกฤษ
ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2079 (ค.ศ. 1536) ข่าวการสวรรคตของพระนางแคทเทอรีนก็ได้ทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าเฮนรีและพระนางแอนน์ ทั้งคู่ได้ทรงฉลองพระองค์สีเหลืองซึ่งเป็นสีที่ไม่เป็นมงคลสำหรับสเปนจัดงานเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ หลังจากมีการชันสูตรพระบรมศพของพระนางแคทเทอรีน แห่งอรากอนได้พบว่าพระหฤทัยของพระนางกลายเป็นสีดำ บางคนเชื่อว่าไม่พระเจ้าเฮนรีก็พระนางแอนน์ได้ลอบวางยาพิษพระนางแคทเทอรีน แต่บ้างก็ว่าพระเจ้าเฮนรีทรงเสียพระทัยในการจากไปของพระนางแคทเทอรีนอย่างมาก
พระนางแอนน์ทรงพระครรภ์อีกครั้ง ในเดือนต่อมาพระเจ้าเฮนรีได้ทรงตกม้าจากการแข่งขันทำให้ทรงบาดเจ็บมาก ดูเหมือนว่าพระองค์อาการหนักมาก เมื่อข่าวล่วงรู้ถึงพระนางแอนน์ ทำให้พระนางตกพระทัยเป็นอันมากจนถึงขนาดทรงแท้งพระโอรสในพระครรภ์ที่มีอายุเพียง 15 สัปดาห์ เหตุการณ์ครั้งนี้บังเกิดขึ้นในวันฝังพระบรมศพของพระนางแคทเทอรีน แห่งอรากอน วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2079 (ค.ศ. 1536) พระนางแอนน์จึงมีพระราชธิดาพระองค์เดียวที่ดำรงพระชนม์ชีพ คือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ เหตุการ์ณเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อนางเจน เซมัวร์ นางสนองโอษฐ์ในพระราชาเข้ามาอยู่ในราชวัง
ในวันสุดท้ายของเดือนเมษายน นักดนตรีชาวเฟลมมิชที่พระนางแอนน์เรียกไปรับใช้ชื่อว่า มาร์ก สเมียตัน ได้ถูกจับกุมและทรมานร่างกาย เพราะได้ถูกตั้งข้อหาว่าคบชู้กับพระราชินีแต่ระหว่างการทรมานเขาได้สารภาพผิด ต่อมาชาวต่างชาติ เฮนรี นอร์ริส ได้ถูกจับในเดือนพฤษภาคมแต่เนื่องจากเขาเป็นชนชั้นสูงจึงไม่ถูกทรมาน เขาได้ปฏิเสธและสาบานว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ 2 วันต่อมาเซอร์ฟรานซิส เวสตันได้ถูกจับกุมในข้อกล่าวหาเดียวกัน วิลเลียม แบร์ตันบ่าวรับใช้ของพระเจ้าเฮนรีก็ถูกจับกุมในข้อกล่าวหานี้เช่นกัน สุดท้ายก็มีการจับกุมพระอนุชาของพระนางแอนน์ จอร์จ บุลินในข้อหาคบชู้กับสายเลือดเดียวกัน
วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2079 (ค.ศ. 1536) พระนางแอนน์ได้ถูกจับกุมและส่งไปหอคอยแห่งลอนดอน นักโทษคนอื่นได้รับการปลดปล่อยเหลือแต่พระนางแอนน์และจอร์จ บุลิน 3 วันต่อมาแอนน์ได้ถูกกล่าวหาว่าได้คบชู้สู่ชายกับสายเลือดเดียวกัน และทรงเป็นผู้ทรยศ
หลังจากการตัดสิน จอร์จ บุลินพระอนุชาได้ถูกประหารในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2079 (ค.ศ. 1536) แอนโทนี คิงส์ตันผู้เป็นยามเฝ้าประตูได้บันทึกไว้ว่า พระนางแอนน์นั้นดูมีความสุขและเตรียมตัวเตรียมใจที่จะได้รับการประหาร พระเจ้าเฮนรีได้ทำตามคำขอของพระนางแอนน์เป็นครั้งสุดท้ายโดยได้จ้างเพชรฆาตชาวฝรั่งเศสมาทำการประหารโดยใช้ดาบตามธรรมเนียมฝรั่งเศส เนื่องจากพระนางแอนน์กลัวการประหารด้วยขวานทื่อๆตามธรรมเนียมอังกฤษ ในเช้าของวันที่ 19 ทหารได้มาเชิญพระนางเข้ารับการประหาร แอนโทนี คิงส์ตันได้เขียนบันทึกเป็นภาษาอังกฤษว่า
พระนางแอนน์ได้ทรงฉลองพระองค์สีแดง พระเกศารวบด้วยผ้าลินินสีขาวซึ่งเป็นธรรมเนียมฝรั่งเศส พระนางทรงมีนางสนองโอษฐ์ 4 คนเดินตามจนถึงแท่นประหาร พระนางได้ทรงกล่าวประโยคสั้นๆก่อนถูกประหารว่า
พระนางแอนน์รู้สึกดีขึ้นกับการประหารในแบบฝรั่งเศส พระนางได้สวดครั้งสุดท้ายว่า "แด่พระเยซูคริสต์ ข้ายินดีที่จะมอบวิญญาณของข้า องค์เยซูโปรดรับวิญญาณข้า" นางสนองโอษฐ์ได้นำผ้ามาปิดพระเนตรของพระนาง เพชรฆาตนั้นตื่นเต้นและพบว่าการประหารครั้งนี้สำเร็จยากเนื่องจากพระศอของพระนางนั้นสั้น เพื่อเป็นการเบนความสนใจพระนาง เพชรฆาตได้ตะโกนเสียงดังว่า "ดาบข้าอยู่ไหน" และได้ทำการบั่นพระเศียรของพระนางโดยที่พระนางไม่รู้ตัวว่าดาบมาเมื่อไร การประหารนี้เป็นการประหารอย่างรวดเร็วและเป็นการประหารในดาบเดียว
อเล็กซานเดอร์ อารส์ และทอมัส เครนเมอร์ได้เดินอยู่ในสวนของพระราชวังเลมเบิร์ธ เมื่อทั้ง 2 ได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงขึ้นจากหอคอยแห่งลอนดอนซึ่งเป็นสัญญาณในการสวรรคตของแอนน์ บุลิน อาร์คบิชอปได้มองและพูดขึ้นว่า"พระนางผู้ซึ่งเป็นราชินีแห่งพื้นแผ่นดิน วันนี้ได้กลายเป็นราชินีแห่งสรวงสวรรค์" เขาได้นั่งลงบนม้านั้งและร้องไห้
พระเจ้าเฮนรีไม่สามารถหาหีบพระบรมศพที่ดีเยี่ยมให้แอนน์ บุลินได้ ดังนั้นจึงต้องนำร่างและพระเศียรของพระนางใส่หีบ และฝังโดยมิได้สวมหน้ากากให้ ฝังไว้ในห้องสวดมนต์ของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ แอด วินคิวลา ร่างของพระนางได้มีการระบุชื่อในระหว่างการปฏิสังขรณ์โบสถ์ในสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร และได้มีการสวมหน้ากากให้พระศพของพระนาง ปัจจุบันหลังจากการสวรรคตของพระนางแอนน์ไปเกือบ 500 ปี มีคนเสนอให้รัฐบาลอังกฤษยกโทษให้พระนางแอนน์อย่างเป็นทางการเพื่อจะได้เคลื่อนย้ายพระบรมศพจากโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ แอด วินคิวลา ไปยังมหาวิหารเวสมินเตอร์เหมือนพระราชวงศ์อื่นๆแต่ได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาล อ้างว่าคดีนี้เก่าจนไม่สามารถหาหลักฐานมาได้ว่าพระนางทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ พระบรมศพจึงถูกฝังที่โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ แอด วินคิวลา เช่นเดียวกับพระบรมศพของ สมเด็จพระราชินีแคทเธอรีน ฮาวเวิร์ดและสมเด็จพระราชินีนาถเจน เกรย์ ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตเช่นกัน
กล่าวกันว่าหลังจากที่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ประหารชีวิตพระนางแอนน์ บุลิน ด้วยการตัดพระเศียร (ทรงจ้างเพชรฆาตมือหนึ่งและดาบที่คมที่สุดจากฝรั่งเศสตามคำขอของพระนางแอนน์ บุลิน ซึ่งโดยปรกติแล้วการประหารชีวิตในอังกฤษจะใช้ขวานทื่อๆในการตัดคอ) แล้วที่Tower Green ดวงวิญญาณของพระนางก็ยังคงสิงสถิตอยู่ที่นั่น กล่าวคือ มีทหารยามพบเป็นสตรีสวมผ้าคลุมศีรษะออกมาเดินเล่นริมระเบียงที่ถูกปิดตาย เพียงแต่สตรีผู้นั้นได้ถือศีรษะของตนออกมาเล่นด้วย ไม่ก็พระนางจะลากโซ่ตรวนในห้องประหารแล้วกรีดร้องเสียงดัง และเห็นพระนางแอนน์ บุลิน นำทหารในสมัยนั้นและเลดีหรือสตรีระดับสูงเข้ามาในโบสถ์ที่หอคอยแห่งลอนดอน จนเงาพวกนั้นค่อย ๆ หายไป แล้วปล่อยให้โบสถ์นั้นเงียบสงัดไปดื้อ ๆ เป็นต้น จนบัดนี้เหตุการณ์แปลกๆที่ว่านี้ก็ยังมีให้เห็นทุกที่
Seamless Wikipedia browsing. On steroids.
Every time you click a link to Wikipedia, Wiktionary or Wikiquote in your browser's search results, it will show the modern Wikiwand interface.
Wikiwand extension is a five stars, simple, with minimum permission required to keep your browsing private, safe and transparent.